วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รังนกปรอดบนปลายกิ่งมะเฟือง MO Memoir : Sunday 27 July 2557

พื้นที่บริเวณที่ผมอาศัยอยู่มันก็ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าพื้นที่ของหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ ต้นไม้ขนาดใหญ่ก็มีจำนวนน้อยกว่า แต่กลับมีสัตว์หลากหลายชนิดมากกว่า นั่นคงเป็นเพราะมีต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์มากกว่า
  
นกแถวบ้านผมไม่ต้องหากินโดยการเก็บเศษอาหารที่คนกินเหลือไว้ที่โรงอาหาร กระรอกกับกระแตก็ไม่ต้องรอผลไม้ที่มีคนใจดีมาแขวนไว้ตามต้นไม้เพื่อเป็นอาหารเหมือนดังเช่นที่ทำงานของผม มองจากหน้าต่างข้างโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่ผมนั่งทำงานที่บ้าน มันก็วิ่งไต่รั้วกลับไปกลับมาให้เห็นอยู่ทั้งวัน เดี๋ยวก็ไปกระโดดขึ้นต้นมะตูมบ้าง กระถินบ้าง ต้นไผ่บ้าง เวลามันนึกสนุกวิ่งไล่กันก็กระโจนข้ามไปมาระหว่างต้นประดู ต้นไผ่ และต้นมะพร้าว
  
ช่วงประมาณกลางเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้เดินทางไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์อีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ใช่ครั้งแรกและห่างจากครั้งสุดท้ายที่ผมได้ไปประเทศทั้งสองเกือบสิบปี แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยก็คือ แม้ว่าประเทศทั้งสองจะดูมีต้นไม้เยอะ แต่ลักษณะต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นไม้ปลูกใหม่ เพราะมันมีขนาดเล็กและมีการวางแนวการปลูกเป็นเส้นตรง แต่ที่สำคัญก็กลับไม่เห็นสัตว์จำพวกนกหรือกระรอกเลย นั่งรถผ่านภูเขาในมาเลเซียมองไม่เห็นนกบินไปมาตลอดการเดินทางเป็นชั่วโมง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในการปลูกต้นไม้ของเขานั้นเขาอาจเน้นไม้โตเร็ว หรือเลือกปลูกเฉพาะต้นไม้สายพันธุ์เดียวเพื่อที่ (คนส่วนใหญ่มักคิดเช่นนี้) จะได้ดูเป็นระเบียบสวยงาม
  
และการปลูกนั้นก็มักจะเน้นไม้ที่ให้ดอกสวยงาม (จะได้หากินกับการท่องเที่ยว) หรือไม่ก็ไม้โตเร็วที่คาดหวังจะใช้ประโยชน์จากลำต้น แต่ไม่ค่อยคำนึงถึงต้นไม้ที่สัตว์ใช้เป็นอาหารได้


รูปที่ ๑ นกปรอดคู่หนึ่งเริ่มทำรังบนปลายกิ่งมะเฟือง (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗) วัน-เวลา ที่ถ่ายรูปปรากฏอยู่ที่มุมของรูปทุกรูปอยู่แล้ว
  
"ปรับปรุงภูมิทัศน์" ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ใครต่อใครที่ได้เข้ามาบริหารหน่วยงานมักจะลงมือทำเป็นอย่างแรก การปรับปรุงนี้ไม่ใช่ว่าภูมิทัศน์ของเดิมมันไม่ดี แต่มักทำด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นสิ่งที่คนที่เดินผ่านไปมาภายนอกหน่วยงานมองเห็นว่าเขาได้มีการทำงาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (แม้ว่าคนเหล่านั้นเพียงแต่เดินผ่าน ไม่ได้มาติดต่อกับหน่วยงานนั้นเลย) และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ที่เห็นชอบทำกันก็คือ ตัดต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิม ปลูกต้นไม้ใหม่ โดยต้นไม้ที่นำมาปลูกใหม่มักเน้นไปที่ "ชื่อ" ต้นไม้ที่ตนเองคิดว่าปลูกแล้วจะช่วยเสริมบารมี ทำให้บริหารงานในหน่วยงานนั้นได้สบาย จะทำอะไรก็ได้ ตรงไหนเป็นสนามหญ้าก็ปูอิฐ ตรงไหนเป็นพื้นปูอิฐก็เทปูน จนผมคิดเล่น ๆ ว่าสงสัยผู้บริหารในยุคถัดไปคงต้อง "ปูพรม" ให้คนเดินกันในมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะพื้นที่ที่เป็นดินหรือสนามหญ้าที่จะเหลือให้ปูอิฐและเทปูนคงไม่เหลือแล้ว
  
แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นเป็นประจำที่ผู้บริหารมักจะไม่ใส่ใจ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ทำงานในหน่วยงานเหล่านั้นก็คือ "ห้องน้ำ" ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สถานที่ราชการกับบริษัทเอกชนมองตรงข้ามกัน ในขณะที่สถานที่ราชการจะเน้นไปที่ภาพลักษณ์ปรากฏข้างนอกเป็นหลัก แต่สภาพในห้องน้ำเองกลับไม่ได้เรื่อง แต่ในส่วนของบริษัทเอกชนที่ได้แวะไปหลายแห่งกลับพบว่า แม้ว่าการจัดสวนด้านนอกอาคารจะดูไม่เลิศเลอเหมือนกับสถานที่ราชการ แต่การดูแลห้องน้ำของเขานั้นไม่ว่าจะเป็นด้านความสะอาด หรืออุปกรณ์ที่ใช้การได้นั้น เหนือกว่าสถานที่ราชการมาก
  
สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการปลูกต้นไม้ในบ้านตัวเองและจากสวนที่อยู่รอบ ๆ บ้านก็คือ ความหลากหลายของสายพันธุ์พืชนั้นส่งผลต่อสัตว์ที่จะมาใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนั้น การมีไม้ดอกที่ออกดอกตลอดทั้งปีหรือออกดอกสลับกันแต่มีดอกออกทั้งปี จะเป็นอาหารให้กับแมลงหรือนกที่กินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เหล่านั้น และแมลงเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอาหารให้กับนกที่กินแมลงอีกทีหนึ่ง พืชบางชนิดก็มีใบที่ผีเสื้อชอบมาวางไข่และเพราะมันใช้เป็นอาหารของหนอนผีเสื้อได้ ไม้ผลขนาดเล็ก (เช่นลูกตะขบ ลูกไทร) ก็เป็นอาหารของนกขนาดเล็ก แต่ดูเหมือนถ้าเป็นพวกกระรอก กระแต มันจะนิยมผลไม้ที่ลูกใหญ่กว่า เช่น มะม่วง มะละกอ และกล้วย (ที่บ้านโดนมันมาแย่งกินเป็นประจำ) หรือไม่ก็ขโมยไข่นกกิน และเวลากลางคืนก็ต้องพยายามทำให้บริเวณรอบบ้านตรงส่วนที่ไม่จำเป็นนั้นให้มีความมืดให้มากที่สุด จะได้ไม่รบกวนหิ่งห้อยที่ออกมาบินเล่นตอนหัวค่ำ
  
รูปที่ ๒ รังนกขณะที่เริ่มสร้างรัง (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗)

รูปที่ ๓ ตำแหน่งที่ตั้งของรังนกอยู่ในกรอบสีเหลืองในรูป (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗)


รูปที่ ๔ เจ้าของรังขณะที่กำลังสร้างรัง (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗)

รูปที่ ๕ เพียงแค่สองวันถัดมา นกคู่นี้ก็สร้างรังเสร็จแล้ว ที่นี้ก็เหลือเพียงแค่การวางไข่ รูปนี้เป็นรูปด้านบนของรังที่สร้างเสร็จแล้ว (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอังคารที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗)


รูปที่ ๖ รูปด้านล่างของรังที่สร้างเสร็จแล้ว จะเห็นว่านกไม่ได้เก็บเพียงแค่กิ่งไม้เล็ก ๆ (อันที่จริงคือก้านของใบไม้) มาทำรัง มันเจออะไรที่เป็นเส้นเล็ก ๆ ที่มันคาบได้มันก็คาบเอามาหมด เส้นสีฟ้า ๆ ในรูปคือเชือกพลาสติกที่มันเอาทำทำรังด้วย (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอังคารที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗)



รูปที่ ๗ สร้างรังเสร็จก็มาวางไข่ วันนี้เห็นเพียงแค่ฟองเดียว แต่ไม่กี่วันถัดมามาแอบดูตอนแม่นกไม่อยู่ ก็พบว่ามันมีการวางไข่เพิ่มอีกเป็นสองฟอง (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗)

ที่บ้านมีมะเฟืองอยู่สองต้น ออกผลเป็นประจำ แต่ก็ไม่มีใครกินมะเฟือง ก็เลยปล่อยให้มันสุกและร่วงหล่นลงสู่พื้น วันดีคืนดีก็เห็นมีนกแก้วมาเก็บกินดังที่เคยถ่ายภาพและวิดิโอมาให้ดูก่อนหน้านี้ (Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๘๗ วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ เรื่อง "นกแก้วกินมะเฟือง") มะเฟืองนี่ดีอยู่อย่างก็คือมันมีใบเขียวทั้งปี และใบมันก็เล็ก ใบร่วงหล่นลงมาก็เอาไปกองใส่โคนต้นไม้อื่นให้มันเป็นปุ๋ยได้ง่าย ไม่เหมือนใบใหญ่ ๆ เช่นมะม่วงหรือการเวก
  
เมื่อปลายเดือนที่แล้วมีนกปรอดคู่หนึ่งแวะเวียนมาทำรังอยู่ที่ปลายกิ่งต้นมะเฟือง ต้นเดียวกับที่มีนกแก้วมาเก็บมะเฟืองกิน ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ก็เห็นมันมาทำรังอยู่บนต้นมะตูมแขกหลังบ้าน แต่ไม่รู้ตัวอะไรมาแอบขโมยไข่กินไปก่อน แม่นกก็เลยต้องทิ้งรังไป คราวนี้ก็เลยต้องเฝ้าดูหน่อยว่าจะมีตัวอะไรมาขโมยกินไข่อีกหรือเปล่า กิ่งมะเฟืองที่มันเลือกทำรังนั้นก็ไม่ใช่กิ่งใหญ่อะไร ไม่ได้อยู่สูงจากพื้นมากนัก เวลาลมพัดแรงก็แกว่งไปมา แต่รังนกก็ยังคงอยู่ได้
  
รูปที่ถ่ายมาก็คัดมาบางรูป เป็นรูปตั้งแต่วันที่เห็นนกคู่นี้มาสร้างรัง จนกระทั่งออกไข่ ตอนแรกก็ออกมาฟองเดียวก่อน จากนั้นก็ออกเพิ่มอีกเป็นสองฟอง แม่นกก็จะมานั่งกกไข่อยู่เกือบตลอดเวลา เว้นแต่เวลาที่บินออกไปหาอาหาร ส่วนตัวผู้นั้นก็เห็นแวะเวียนมาหาบ้างเหมือนกัน เวลาจะเข้าไปถ่ายรูปก็ต้องหาจังหวะเวลาที่แม่นกไม่อยู่ที่รัง เอาบันไดพับมากางแล้วปีนขึ้นไปถ่ายรูป พยายามจะไม่ไปยุ่งกับกิ่งที่มันทำรังอยู่ แต่บังเอิญช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาต้องไปต่างประเทศซะหลายวัน ไม่ได้กลับมาดูเพียงแค่ ๕-๖ วันก็ปรากฏว่าหายไปทั้งรังแล้ว หวังว่าช่วงเวลาดังกล่าวไข่คงฟักออกเป็นตัวและลูกนกก็คงจะโตพอที่จะบินออกไปหากินเองได้แล้ว
  
ในเวลาเดียวกันที่อีกมุมหนึ่งของบ้าน ตรงหน้าต่างห้องนอนลูกสาวคนเล็กบนชั้นสอง หน้าต่างมุมนี้เป็นบานเลื่อนที่ไม่ค่อยได้เปิดเท่าใดนัก และมีผ้าม่านบังอยู่อีก ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาก็ไปพบรังนกอีกรังพร้อมไข่อีกฟองหนึ่งอยู่ที่ขอบหน้าต่าง (ดูรูปที่ ๑๐) แต่พออ้อมไปดูอีกมุมหนึ่งก็เห็นว่าไข่ฟองดังกล่าวถูกเจาะเป็นรูเรียบร้อยแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวอะไรมาเจาะกิน แต่ที่รู้สึกสงสัยก็คือนกอะไรมาทำรังในที่แบบนี้ ไม่มีการหลบซ่อนสายตาจากสัตว์อื่นเลย และตัวอะไรที่มาเจาะกินไข่นกฟองดังกล่าว

รูปที่ ๘ หลังออกไข่แล้ว แม่นกก็มานั่งเฝ้ารังกกไข่ (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗)


รูปที่ ๙ ท้ายสุดพบว่าออกไข่ไว้ ๒ ฟอง แสดงว่าแม่นกไม่ได้ออกไข่ทีเดียว ๒ ฟอง แต่ออกทีละครั้ง ครั้งละ ๑ ฟอง เสียดายที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เลยไม่ได้อยู่เฝ้าดูเพียงแค่ ๕-๖ วัน ทั้งแม่นกและไข่นกก็หายไปหมดแล้ว ไม่รู้ว่าฟักออกเป็นตัวหรือโดนขโมยไปกิน เพราะบริเวณรอบข้างและในรังเองก็ไม่เห็นมีเปลือกไข่ตกอยู่ (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗)


รูปที่ ๑๐ อันนี้เป็นรังนกอีกรังหนึ่ง มาพบทีหลัง มาทำรังอยู่ริมขอบหน้าต่างห้องนอนลูกสาวคนเล็ก ปรกติหน้าต่างบานนี้ก็ไม่ค่อยได้เปิด และมีผ้าม่านบังอยู่อีก ก็เลยไม่รู้ว่ามีนกอะไรมาทำรังเอาไว้เมื่อใด แต่พอดูให้ดีก็พบว่าไข่ถูกเจาะกินเรียบร้อยไปแล้ว รูที่เจาะอยู่อีกด้านหนึ่ง ชำเลืองดูจะมองเห็นแต่ถ่ายรูปไม่ได้ ในรูปจะเห็นคราบเหลือง ๆ (ตรงลูกศรสีเหลืองชี้) ที่คิดว่าเกิดจากการที่มีสัตว์บางชนิดมาเจาะไข่นกกิน (ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗)

คลิปที่แนบมาเป็นคลิปที่ถ่ายไว้ในวันที่เห็นนกคู่นี้มาทำรัง (วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗) เนื่องจากนกเลือกมุมทำรังที่ค่อนข้างจะหลบซ่อนสายตาสักหน่อย ก็เลยเห็นรังมันไม่ค่อยชัด

 
ระหว่างที่นั่งพิมพ์ Memoir ฉบับนี้ก็ได้ยินเสียงนกร้องอยู่รอบ ๆ บ้าน ฟังจากเสียงก็บอกได้ว่าคงไม่ต่ำกว่า ๔-๕ ชนิด เดี๋ยวพอหัวค่ำก็คงมีตุ๊กแกออกมาร้องอีก ช่วงนี้มีอยู่ตัวหนึ่งมันหากินอยู่รอบ ๆ ตัวบ้านข้างนอก พอกลางวันมันก็หลบไปซุกอยู่ตรงซอกระหว่างชายคากับตัวบ้าน พอตกค่ำมันก็ออกมาซ่อนอยู่หลังประตู เวลาดี ๆ มันก็ส่งเสียงร้องออกมาทีหนึ่ง นี่ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าอีกสองสัปดาห์จะมีนักเรียนแลกเปลี่ยนมาค้างที่บ้านหนึ่งคืน ไม่รู้ว่าเขาจะกลัวตุ๊กแกหรือเปล่า เพราะห้องที่คิดว่าจะจัดให้เขาพักนั้นมันอยู่ตรงมุมที่ตุ๊กแกชอบมาอยู่ซะด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: