วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปลั๊กและเต้ารับชนิด Explosion proof MO Memoir 2557 Mar 26 Wed

สัปดาห์ที่แล้วไปรื้อตู้เก็บอุปกรณ์ไฟฟ้า เห็นมีปลั๊กไฟและเต้ารับชนิด Explosion proof แอบหลบซ่อนอยู่ในตู้ ก็เลยถือโอกาสเอามาแกะเล่นดูว่าข้างในมันประกอบด้วยอะไรบ้าง ปลั๊กและเต้ารับชนิดนี้เป็นชนิดที่ติดตั้งมากับตัวอาคารเมื่อสร้างอาคารเสร็จ (รวมทั้งโคมไฟแสงสว่างด้วย) ส่วนที่ว่ามันมาได้อย่างไรนั้นตอนที่ได้รับฟังเหตุผลเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วผมถึงกับส่ายหัว
  
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เรียกว่า "Explosion proof" นั้นคืออะไร ใช้เมื่อใดนั้น เคยเล่าเอาไว้เมื่อ ๔ ปีที่แล้วใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๔๐ วันพุธที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง "Electricalsafety for chemical processes
   
คำว่า "Explosion proof" ที่เราแปลออกมาว่า "กันระเบิด" นั้นทำให้คนจำนวนไม่น้อย (ไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอง) เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของอุปกรณ์ประเภทนี้ เพราะว่าไปแล้วคำว่า "proof" นั้นแปลเป็นไทยได้เป็น "ผ่านการตรวจสอบ" หรือ "ซึ่งต้านทานได้" มันไม่ได้แปลว่า "ไม่"
  
ปลั๊กและเต้ารับชนิด Explosion proof จะมีหน้าตาอย่างไรนั้นมันขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อ ที่เอามาให้ดูเป็นยี่ห้อที่ติดตั้งมากับอาคารที่เราใช้เป็นห้องปฏิบัติการ การใช้งานปลั๊กพวกนี้มันมีความแตกต่างไปจากปลั๊กทั่วไปที่เราใช้กันอยู่เล็กน้อย เพราะเคยมีคนเอาปลั๊กสามขาแบบธรรมดา (สายดินที่เป็นขากลม ส่วนอีกสองขาเป็นชนิดขาแบน) ไปเสียบมันก็เสียบได้ เพราะรูขาด้านหนึ่งนั้นมันออกแบบให้รับได้ทั้งขาแบนที่วางนอนและขาแบนที่วางตั้ง (รูปที่ ๒) แต่ไม่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าเพราะเมื่อเสียบปลั๊กตัวผู้แล้วต้องมีการบิดเล็กน้อย (ดูรูปที่ ๑)
   
รูปที่ ๑ ซ้ายคือตัวเต้ารับ ส่วนตัวกลางและขวาคือตัวปลั๊ก เวลาใช้งานเมื่อเสียบปลั๊กเข้าไปแล้วก็ต้องมีการบิดตัวปลั๊กไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ด้วย ไม่งั้นมันไม่จ่ายไฟฟ้า และเวลาจะถอดปลั๊กก็ต้องบิดกลับด้วย ไม่งั้นมันดึงไม่ออก พึงสังเกตนะว่าทั้งเต้ารับและปลั๊กต่างมีหมายเลขประจำเฉพาะแต่ละอัน
   
รูปที่ ๒ รูปร่างของรูของเต้ารับและขาของปลั๊ก จะเห็นว่ามีการใช้รูปร่างที่แตกต่างกัน
     
รูปที่ ๓ ขา ground ไม่ได้ต่อกับสายดิน แต่ต่อเข้ากับลำตัวเต้ารับ ซึ่งต้องต่อลงดินผ่านระบบท่อร้อยสายไฟ

รูปที่ ๔ รื้อปลั๊กออกมาดูเล่น ว่าข้างในมีอะไรพิเศษไหม ก็ไม่เห็นมีอะไร
  
รูปที่ ๕ รูปขณะใช้งาน

ปลั๊กตัวผู้ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Plug" ส่วนปลั๊กตัวเมียเรียกว่า "Socket" หรือ "Receptacle" ของบ้านเราเองมันไม่มีมาตรฐานอยู่นานว่าปลั๊กตัวผู้และปลั๊กตัวเมียควรจะเป็นรูปแบบไหน ผลก็คืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในบ้านเราและนำเข้าจากต่างประเทศเต็มไปด้วยปลั๊กตัวผู้หน้าตาต่าง ๆ เต็มไปหมด แถมเราก็มีปลั๊กตัวเมียแบบมีรูที่ปลั๊กตัวผู้ไม่ว่าจะมีรูปทางไหนเสียบได้เกือบหมด (จะยกเว้นก็พวกขาแบนแบบเฉียง) ประเทศเราเองเพิ่งจะมีมาตรฐานกำหนดรูปร่างหน้าตาปลั๊กตัวผู้ได้ไม่นานนี้เอง

วันนี้นำเสนอเรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงต่ำก่อน คราวถัดไปจะนำเสนอเรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น: