วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๑ License key MO Memoir : Wednesday 1 September 2564

ตอนไปอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนสิงหาคา ๒๕๖๒ นั้น ทางผู้จัดได้จัดให้เป็นเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย Tohoku เพื่อเข้ารับฟังการควบคุมการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทางของทางมหาวิทยาลัย เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยดังกล่าวมีเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (Supercomputer) และเปิดโอกาสให้เข้าเยี่ยมชม ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาหลายคำถาม เช่น การเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงเครื่องนี้ ที่ผู้ใช้นั้นสามารถล็อกอินเข้าใช้งานจากที่ใดในโลกก็ได้ถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงเครื่องนั้นต่ออยู่กับระบบอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้งานมีรหัสเข้าใช้งาน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ที่กำลังใช้งานอยู่นั้นเป็นผู้ที่มีสิทธิเข้าใช้งาน ไม่ใช่ผู้อื่นเข้าใช้แทน (จะยืนยันตัวตนด้วยวิธีการใด)

ตอนที่กลับมาทำงานเมื่อปี ๒๕๓๗ นั้นเป็นช่วงรอยต่อระหว่าง PC รุ่น 80386 และ 80486 เริ่มมีการย้ายโปรแกรมที่เดิมต้องคำนวณบนเรื่องระดับ mini หรือ super mini มาลงใน PC แล้ว (เพราะสมรรถนะของ PC สูงพอแล้ว) แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อโปรแกรมนั้นซื้อเพียงชุดเดียวแล้วนำไปลงในหลาย ๆ เครื่อง ผู้ขายก็จะจัดให้มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า "hard lock" ที่ต้องนำไปเสียบกับ parallel port ของเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เปิดใช้งานโปรแกรมนั้นได้ และต้องเสียบ hard lock เอาไว้กับเครื่องตลอดเวลาที่ใช้โปรแกรม

ตัวอย่างที่นำมาเล่าในวันนี้ก็คงจะเป็นแบบเดียวกัน เพียงแต่อยู่ในรูปของกุญแจรหัสที่เสียบ USB port เพื่อมีสิทธิเข้าใช้โปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่อาจเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นเอง หรือเชื่อมต่อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยเป็นกรณีของโปรแกรมการออกแบบเครื่องยนต์ดีเซล

รูปที่ ๑ License key ที่เป็นกุญแจรหัสบรรจุอยู่ในหน่วยความจำ USB ที่ต้องใช้เพื่อเข้าถึงโปรแกรมที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์หลักที่อยู่อีกสถานที่แห่งหนึ่ง ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต

ใน EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ มีเรื่องของเครื่องยนต์ดีเซลอยู่หลายที่ในหมวด 9E003 แต่พอลองใช้คำค้นหา "gasoline" (เพื่อหาข้อความที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์เบนซิน) ปรากฏว่าพบเพียงแค่ที่เดียว และเป็นเรื่องของเชื้อเพลิง ไม่ใช่เครื่องยนต์ คือไปอยู่ในหมวดการออกแบบระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงที่สามารถทำงานกับเชื้อเพลิงที่มีความหนืดหลากหลายรวมทั้งน้ำมันแก๊สโซลีนหรือที่เราเรียกว่าน้ำมันเบนซิน

รูปที่ ๒ การตีความของบริษัท Mitsubishi Electric พบว่า แม้ว่าซอร์ฟแวร์การพัฒนาและผลิตเครื่องยนต์ดีเซลจะเป็นสินค้าควบคุมในหมวด 9E003.e แต่หมวดนี้ไม่ได้ครอบคลุม License key การเข้าใช้โปรแกรม และแม้ว่า License key การเข้าใช้โปรแกรมจะเป็นสินค้าควบคุมในหมวด 3E225, 5E002.b และ 6E203 แต่หมวดเหล่านี้ไม่ครอบคลุมโปรแกรมการออกแบบเครื่องยนต์ดีเซล

ถ้าเทียบที่ค่าอัตราส่วนการอัด (compression ratio) เท่ากัน เครื่องยนต์เบนซินจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์ดีเซล แต่ในขณะที่ค่าอัตราส่วนการอัดของเครื่องยนต์เบนซินมักจะไปได้ราว ๆ 10 ต้น ๆ (ปัญหาเรื่องการ knock ของเครื่องยนต์ที่เกิดจากการชิงจุดระเบิดของเชื้อเพลิงในจังหวะที่ไม่เหมาะสม) ในขณะที่ของเครื่องยนต์ดีเซลสามารถเพิ่มไปได้ถึงราว ๆ 20 ต้น ๆ (เพราะเป็นการอัดอากาศอย่างเดียว) จึงทำให้สามารถออกแบบเครื่องยนต์ดีเซลให้มีประสิทธิภาพ (ถ้าเป็นรถก็คือระยะทางที่วิ่งได้ต่อน้ำมัน 1 ลิตร) สูงกว่าเครื่องเบนซินได้ (เปรียบเทียบแบบเครื่องยนต์ขนาดใกล้กันนะ) แต่เครื่องเบนซินก็มีข้อดีตรงที่สำหรับเครื่องยนต์ที่มีแรงม้าเท่ากัน เครื่องบนต์เบนซินจะมีขนาดเล็กกว่าและน้ำหนักเบากว่า

ในทางทหารจะมีอีกเรื่องหนึ่งเข้ามาในการเลือกพิจารณาว่าจะใช้เครื่องยนต์แบบไหน นั่นก็คือความปลอดภัยเมื่อถูกยิงจากอาวุธ ซึ่งตรงนี้น้ำมันดีเซลจะปลอดภัยกว่าเพราะมันไวไฟน้อยกว่าน้ำมันเบนซิน ปัญหานี้เคยเป็นปัญหาหลักที่ผู้ออกแบบรถถังช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และหลังสงครามต้องนำมาพิจารณา

อัตราส่วนกำลังต่อน้ำหนักรถของรถถังเป็นปัจจัยหนึ่งที่บ่งบอกถึงความคล่องตัวของรถถัง สำหรับเครื่องยนต์ที่แรงม้าเท่ากัน เครื่องเบนซินจะมีขนาดเล็กและเบากว่า ทำให้รถถังมีความคล่องตัวมากขึ้น หรือไปเพิ่มเกราะป้องกันให้มากขึ้นได้ แต่น้ำมันเบนซินที่ไวไฟมากกว่า ก็จะก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่าเมื่อถูกยิงด้วยอาวุธ ดังนั้นจะเห็นว่ารถถังหลักในปัจจุบันมักจะใช้เครื่องยนต์ดีเซลในการขับเคลื่อน เว้นบางรายที่ไปใช้เครื่องยนต์กังหันแก๊ส (เครื่องดีเซลกำลังขนาด 750 kW เนี่ยแรงขนาดขับเคลื่อนรถถังหนัก 40 ตันได้สบาย) แต่เพื่อให้ลดโอกาสที่จะถูกยิง การใช้เครื่องดีเซลขนาดเล็กที่ให้กำลังสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญ

จุดเด่นอย่างหนึ่งของเครื่องดีเซลคือใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลายมากกว่า (ถ้าจำเป็น) เพียงแต่สมรรถนะอาจจะตกลงไปบ้างถ้าใช้เชื้อเพลิงที่แตกต่างไปจากที่ออกแบบไว้ คำว่าหลากหลายในที่นี้หมายถึงคุณสมบัติของเชื้อเพลิงที่จะว่าไปแล้วมันสามารถอยู่ในช่วงตั้งแต่น้ำมันเบนซิน (ที่เลขออกเทนต่ำ) ไปจนถึงน้ำมันเตาเบา (ที่จุดเดือดต่ำและยังเป็นของเหลวอยู่) ด้วยเหตุนี้ EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ หมวด 9E003.f จึงควบคุมเทคโนโลยีการออกแบบระบบฉีดเฃื้อเพลิงของเครื่องยนต์ที่ทำงานได้ทั้งช่วงน้ำมันเบนซินไปจนถึงดีเซล

ที่เล่ามาข้างต้นก็เพื่อจะทำให้มองเห็นภาพว่าทำไมเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ดีเซลจึงเป็นสินค้าควบคุม

การตีความของตัวอย่างนี้ดูแล้วก็รู้สึกแปลก คือถ้าตามรูปที่ ๒ จะพบว่า license key สำหรับเข้าถึงโปรแกรมการออกแบบเครื่องยนต์ดีเซลไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม ในขณะที่ตามรูปที่ ๑ บอกว่าโปรแกรมออกแบบเครื่องยนต์ดีเซล (ที่มีสมรรถนะตามที่กำหนด) เป็นสินค้าควบคุม แต่ไม่รวม license key ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าการส่งออก license key (ที่จำเป็นสำหรับการเข้าถึงโปรแกรมที่เป็นสินค้าควบคุมนั้น) ไม่จัดว่าเป็นสินค้าควบคุม และจะป้องกันไม่ให้ผู้ได้รับ license key (ที่อาจเป็นผู้มีรายชื่อปรากฏใน black list) เข้าถึงการใช้งานโปรแกรมที่เป็นสินค้าควบคุมได้อย่างไร

อันที่จริงเรื่องการเข้าถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงยังมีอีกหลายประเด็นให้พิจารณาคือ ในกรณีที่ผู้ใช้นั้นขอใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงนั้นเพื่อทำการพัฒนาโปรแกรม จะมีแนวทางป้องกันอย่างไรในการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ (ที่อาจเป็นผู้ที่ไม่ได้มีรายชื่อปรากฏอยู่ใน white list) พัฒนาโปรแกรมเพื่อการ ออกแบบ/พัฒนา/ควบคุมการทำงาน ของสินค้าควบคุม

ไม่มีความคิดเห็น: