วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ภาค ๑๓ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔๘) MO Memoir : Sunday 28 July 2562

ผมเพิ่งรู้ว่ามีหัวรถจักรลากไม้ของบริษัทศรีมหาราชาอีกหัวหนึ่งตั้งไว้ที่วัดหัวกุญแจก็ตอนไปร่วมงานเสวนากับทางชมรมคนรักศรีราชาเพื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ก็คิดว่าถ้ามีโอกาสก็จะไปถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก เพราะปรกติจะมีโอกาสผ่านไปทางด้านนั้นก็ช่วงเทศกาลเช็งเม้งที่จะพาภรรยาและลูก ๆ ไปไหว้สุสานบรรพบุรุษ (ฝ่ายภรรยา) ที่แถวบ้านบึง แต่บังเอิญว่าปีนี้ไม่สามารถไปได้ เพิ่งจะมีโอกาสผ่านไปทางนั้นก็เมื่อวันพุธที่ ๒๔ กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ต้องไปตรวจเยี่ยมนิสิตฝึกงานที่ฝึกงานที่โรงงานทำไบโอดีเซลแห่งหนึ่งที่อำเภอหนองใหญ่ ขากลับก็เลยแวะถ่ายรูปเสียหน่อย
 
วันที่ไปถึงนั้นดูเหมือนเขากำลังปรับปรุงภูมิทัศน์อยู่ มีการทาสีชิงช้าและม้านั่ง แม้แต่ตัวหัวรถจักรเองก็ดูเหมือนว่าเพิ่งจะทาสีใหม่ได้ไม่นาน ยังมีกระป๋องสีวางอยู่ท้ายหัวรถจักร Name plate ของหัวรถจักรคันนี้บอกว่าสร้างโดยบริษัท Orenstein & Koppel AG, Berlin-Drewitz ในปีค.ศ. ๑๙๒๘ (พ.ศ. ๒๔๗๑) หมายเลข N211780 (รูปที่ ๑๓) พยายามหารูปหัวรถจักรรุ่นนี้ในอินเทอร์เน็ตแล้วแต่ไม่พบ เจอแต่ที่หน้าตาคล้าย ๆ กันแต่ใช้ขนาดรางกว้างต่างกัน
 
หลังจากหมดยุคทำไม้ก็เป็นยุคการทำไร่อ้อย รถไฟสายนี้ก็เปลี่ยนจากรถไฟลากไม้กลายเป็นรถไฟบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลแทน ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยรถบรรทุกในเวลาต่อมา

รูปที่ ๑ ป้ายบอกชื่อถนนทางรถไฟเก่า ป้ายนี้อยู่ตรงตำแหน่ง (4) ในรูปที่ ๒ และ ๓ ถนนทางรถไฟเก่านี้บริเวณตำแหน่ง (7) มีอาคารตลาดตั้งขวางอยู่ เหลือเพียงช่องทางเล็ก ๆ ด้านข้างอาคารให้รถวิ่งผ่านได้ แม้ว่าป้ายจะบอกว่าเป็นถนนที่เดินรถไดทั้งสองทาง แต่ในความเป็นจริงมันแคบแบบรถยนต์ไม่น่าจะสวนกันได้ ต้องใช้วิธีเลี้ยวเข้าซอยย่อยเพื่ออ้อมตลาดแทน
  
ทำไมที่แห่งนี้จึงมีชื่อว่าบ้านหัวกุญแจ ก็เพราะมันมีสถานีที่ให้รถไฟสับหลีกกันได้ มีผู้สันนิญฐานว่าน่าจะเป็นการเพี้ยนมาจากคำว่า "ประแจ" ประแจสับรางนี้อเมริกาจะเรียกว่า "switch" ส่วนอังกฤษจะเรียกว่า "point"
 
สัปดาห์หน้าก็คงจะหายตัวไปสักพัก เพราะต้องไปราชการต่างประเทศ หวังว่าพอกลับมาก็คงจะมีเรื่องราวที่ไม่ใช่วิชาการมาเล่าสู่กันฟัง เพราะเขียนพวกวิชาการไปเยอะแล้ว อยากเขียนเรื่องอื่นบ้าง สวัสดี

รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลหัวกุญแจ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๐ ตอนที่ ๒๖ วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๐๖ หน้า ๖๙๗-๖๙๘ ตัวเลข 1-6 ที่เติมลงไปก็เพื่อระบุตำแหน่งเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมในรูปที่ ๓ เทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมแล้ว ผ่านไปกว่า ๕๐ ปีก็ดูเหมือนว่าชุมชนแห่งนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใดนัก ถ้าจะมีการเปลี่ยนก็น่าจะเป็นบริเวณรอบนอกมากกว่าที่มีอาคารต่าง ๆ เพิ่มขึ้น (รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์) แต่ในตัวเขตสุขาภิบาลเองนั้นไม่ได้มีความหนาแน่นมากขึ้นเลย

รูปที่ ๓ ภาพถ่ายดาวเทียมจาก google map ช่วงจุด (3)-(4) เป็นถนนเล็ก ๆ ในวันที่ไปถ่ายรูปนั้นถนนเส้นนี้ปิดอยู่ ดูเหมือนจะมีงานออกร้านอยู่ เส้นหลักที่เข้าตัวชุมชนคือจุด (2) ที่เป็นสามแยกมีสัญญาณไฟจราจร

รูปที่ ๔ ภาพด้านซ้ายของหัวรถจักรที่จอดอยู่ที่วัดหัวกุญแจ รถไฟรุ่นนี้ใช้ขนาดรางกว้าง ๗๕๐ มิลลิเมตร (ความกว้างของรางรถไฟวัดจากขอบรางด้านในฝั่งหนึ่งถึงขอบรางด้านในของอีกฝั่งหนึ่ง)

รูปที่ ๕ ป้ายที่ติดไว้ทีท้ายรถ 

รูปที่ ๖ มองเฉียงจากทางด้านหน้าซ้าย เสียดายที่มีการนำเอาม้านั่งไปตั้งไว้ข้าง ๆ ทำให้ไม่สามารถถ่ายรูปได้โดยไม่โดนบัง

รูปที่ ๗ ข้างหน้าคือปล่องควัน ส่วนตัวเล็ก ๆ ดำ ๆ ๒ ตัวข้างบนเดาว่าน่าจะเป็นวาล์วระบายความดัน

รูปที่ ๘ มองภาพหน้าตรงหน่อย

รูปที่ ๙ มองเฉียงจากทางด้านหน้าขวา

รูปที่ ๑๐ มองเฉียงจากทางด้านหลังขวา ดูเหมือนวันที่ไปดูนั้นเป็นช่วงที่เขากำลังปรับปรุงด้วยการทาสี ก็เลยมีกระป๋องสีวางอยู่ท้ายรถเต็มไปหมด 

รูปที่ ๑๑ ป้ายคำรำพึงที่ติดไว้ท้ายหัวรถจักรด้านขวา 

รูปที่ ๑๒ มองเฉียงจากทางด้านหลังซ้าย 

รูปที่ ๑๓ Name plate ของตัวรถบอกว่าสร้างโดยบริษัท Orenstein & Koppel AG, Berlin-Drewitz ในปีค.ศ. ๑๙๒๘ (พ.ศ. ๒๔๗๑) หมายเลข N211780 (หวังว่าคงอ่านตัวเลขไม่ผิดนะ)

รูปที่ ๑๔ ภาพด้านซ้ายของหัวรถจักร 

รูปที่ ๑๕ ป้ายประวัติวัดหัวกุญแจที่ตั้งไว้บริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งหัวรถจักร

ไม่มีความคิดเห็น: