วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ทำไมไดโนเสาร์จึงสูญพันธุ์ MO Memoir : Monday 26 November 2555

Octave Levenspiel เกิดในเมือง Shanghai ประเทศจีนในปีค.ศ. ๑๙๒๖ (พ.ศ. ๒๔๖๙) จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเคมีในปีค.ศ. ๑๙๕๒ Prof. Levenspiel เป็นผู้เขียนตำรา Chemical Reaction Engineering รุ่นแรกของสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี (สมัยผมเรียนป.ตรีก็ใช้ตำราเล่มนี้)

ในปีค.ศ. ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖) Prof. Levenspiel ได้เขียนบทความลงในวารสาร "Chemical Engineering Research and Design : Transcations of the Institiute of Chemical Engineers Part A" ซึ่งเป็นวารสารวิชาการของสมาคมวิชาชีพวิศวกรรมเคมีของสหราชอาณาจักร ในบทความเรื่อง "Anomaly Hunters" ตีพิมพ์ในวารสารฉบับพิเศษประจำเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. ๑๙๙๓ หรือเมื่อ ๑๙ ปีที่แล้ว

ในบันทึกนี้ผมเอามาลงให้ดูเพียง ๓ หน้าแรก ซึ่งก็คงจะทำให้พวกคุณแปลกใจว่าทำไมวารสารวิชาการทางด้านวิศวกรรมเคมีจึงมีเรื่องไดโนเสาร์เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วอยู่ดี ๆ ก็เลี้ยวไปเป็น Fluidised bed 
 
ส่วนตอนจบจะเป็นอย่างไรนั้นก็ลองไปอ่านในบทความฉบับเต็มที่ผมส่งแยกมาเป็นไฟล์ต่างหาก

ถ้าสนใจติดตามเรื่องนี้ต่อ ก็ลองไปอ่านที่เว็บ http://www.levenspiel.com/octave/dinosaurs.htm ซึ่งเป็นเว็บของ Prof. Levenspiel เอง และในเว็บนี้คุณก็สามารถดาวน์โหลดบทความเรื่องไดโนเสาร์ในรูปแบบ pdf ได้เองด้วย โดยต้องอาศัยความรู้เรื่อง Bernoulli's equation ร่วมด้วย

ผมบอกกับนิสิตที่จะมาเรียนป.โทกับผมเสมอว่า ถ้าเรียนแล้วไม่สามารถพูดคุยเรื่องอะไรได้นอกจากเรื่องที่ตัวเองทำวิจัยก็อย่ามาเรียนเลย แสดงว่ายิ่งเรียนยิ่งโง่ คนที่เรียนสูงขึ้นไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้ลึกในด้านศาสตร์ที่ตัวเองเรียนแล้ว ยังควรที่จะต้องมีความรู้ที่กว้างขวางมากขึ้นในด้านอื่น ๆ รอบตัวด้วย แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าทั้งอาจารย์ นักวิจัย และนิสิตจำนวนไม่น้อยมองว่าการศึกษาหาความรู้ด้านอื่นนอกเหนือจากงานที่ตัวเองทำวิจัยนั้นเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า เพราะมันไม่ได้ช่วยให้มีผลงานที่เอาไปขอผลตอบแทนได้

บทความของ Prof. Levenspiel ที่ผมเอามาให้ดูนั้นเขียนด้วยภาษาอังกฤษที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนอะไร แต่ใช่ว่าจะอ่านแล้วเข้าใจว่าเขาเขียนถึงเรื่องอะไร เพราะจำเป็นต้องมีความรู้รอบตัวในเรื่องต่าง ๆ หลายด้านมาก โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในวงการต่าง ๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในหน้าแรก

ผมสงสัยอยู่เหมือนกันว่าบทความฉบับนี้จะมีสักกี่คนในวงการวิศวกรรมเคมีในบ้านเราที่จะอ่านแล้วเข้าใจ