วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๖) MO Memoir : Saturday 8 July 256

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความชุดนี้อิงจากมาตราฐาน API 2000 7th Edition, March 2014. Reaffirmed, April 2020 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจ ดังนั้นถ้าจะนำไปใช้งานจริงควรต้องตรวจสอบกับมาตรฐานฉบับล่าสุดที่ใช้ในช่วงเวลานั้นก่อน

ตอนนี้จะเป็นส่วนของข้อย่อย 3.2.5.4 ถึง 3.2.5.16 ซึ่งจะเป็นการจบหัวข้อ 3.2.5

หัวข้อ 3.2.5.4 เป็นเรื่องของการถ่ายเทความร้อนที่ผิดปรกติ จะว่าไปกันที่ละย่อหน้า (รูปที่ ๑)

ย่อหน้าแรกกล่าวว่า ไอน้ำ, น้ำร้อน, และน้ำมันร้อน เป็นสื่อกลางส่งผ่านความร้อนให้กับถังที่บรรจุสารที่ต้องคงอุณหภูมิให้สูงกว่าอุณหภูมิแวดล้อม ในบางกรณีจะใช้อุปกรณ์ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า ความเสียหายของ วาล์วควบคุมการป้อนสื่อกลางให้ความร้อนแก่ถังเก็บ, อุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ หรือระบบควบคุม สามารถทำให้ความดันในถังสูงเกินได้เนื่องจากความร้อนที่ป้อนเข้าไปเพิ่มขึ้นและการระเหยของของเหลวที่เพิ่มสูงขึ้น

ถ้าใช้การให้ความร้อนด้วย ไอน้ำ, น้ำร้อน, และน้ำมันร้อน อุณหภูมิสูงสุดของของเหลวที่บรรจุอยู่ในถังจะไม่มีทางเกินอุณหภูมิของ ไอน้ำ, น้ำร้อน, และน้ำมันร้อน ที่ใช้เป็นตัวให้ความร้อน (เพราะความร้อนต้องถ่ายเทจากแหล่งที่มีอุณหภูมิสูงไปยังแหล่งที่มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า) แต่ในกรณีของอุปกรณ์ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้านั้นต่างกัน เพราะตัวชิ้นส่วนที่เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน (อาจเป็นขดลวดหรือแท่งโลหะ) มันจะมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของ ไอน้ำ, น้ำร้อน, และน้ำมันร้อน ที่ใช้กันอยู่ในโรงงานมาก ส่วนจะสูงแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่ามันสามารถระบายความร้อนให้กับแหล่งรับความร้อนได้ดีแค่ไหน ถ้ามันถ่ายเทความร้อนออกไปไม่ได้ มันอาจร้อนจนชิ้นส่วนให้ความร้อนหลอมขาดได้

รูปที่ ๑ หัวข้อ 3.2.5.4

ย่อหน้าที่สองกล่าวว่า ถ้าถังที่ได้รับความร้อนนั้นมีเฟสของเหลวอยู่สองเฟสที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระเหยอย่างรวดเร็วถ้าหากเฟสที่อยู่ต่ำกว่านั้นได้รับความร้อนจนถึงจุดที่มีความหนาแน่นต่ำกว่าความหนาแน่นของเฟสของเหลวที่อยู่เหนือขึ้นไป ดังนั้นจึงควรแนะนำให้ต้องกำหนดวิธีการออกแบบและขั้นตอนการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะเหล่านี้

ตัวอย่างหนึ่งของกรณีนี้คือน้ำกับน้ำมัน น้ำมีความหนาแน่นสูงกว่าน้ำมันและมีจุดเดือดต่ำกว่า (ไฮโดรคาร์บอนตั้งแต่ C7 ขึ้นไปมีจุดเดือดอยู่ที่ประมาณ 100ºC และสูงกว่า) และไม่ละลายเข้ากับน้ำมัน ถ้าชั้นน้ำด้านล่างได้รับความร้อนจนอุณหภูมิสูงขึ้น (สามารถสูงกว่าอุณหภูมิจุดเดือดปรกติได้เพราะมีความดันเนื่องจากชั้นน้ำมันที่อยู่เหนือขึ้นไปกดทับ) ความหนาแน่นของน้ำก็จะลดต่ำลง ทำให้น้ำที่มีอุณหภูมิสูงลอยขึ้นผิวบนและเดือดกลายเป็นไออย่างรวดเร็ว

ย่อหน้าที่สามกล่าวว่า ถ้าถังที่ทำงานที่อุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิห้องนั้นถูกระบายของเหลวออกจนหมด เมื่อทำการป้อนของเหลวเข้ามาใหม่จะเกิดการระเหยกลายเป็นไอในปริมาณมากเกินได้ และถ้าระบบควบคุมอุณหภูมินั้นทำงานโดยตัวตรวจวัดอุณหภูมิอยู่ในส่วนที่เป็นไอ (คือไม่จมอยู่ใต้ผิวของเหลว) ก็จะเกิดการป้อนตัวกลางให้ความร้อนด้วยอัตราการป้อนสูงสุดโดยที่อุณหภูมิผนังถังจะมีค่ามากที่สุด การเติมของเหลวเข้าถังในสภาวะดังกล่าวสามารถทำให้สารที่ป้อนเข้ามาระเหยกลายเป็นไอมากผิดปรกติ การระเหยกลายเป็นไอมากผิดปรกติจะหยุดเมื่อผนังของถังเย็นลงและของเหลวนั้นท่วมตัวตรวจวัดอุณหภูมิ

การออกแบบระบบให้ความร้อนเพื่อให้ของเหลวที่อยู่ในถังนั้นมีอุณหภูมิสูงกว่าสภาพแวดล้อมจะใช้ปริมาตรของเหลวที่ถังนั้นบรรจุได้เต็มถังในการออกแบบ (มิฉะนั้นจะป้อนความร้อนได้ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการสูญเสีย) เมื่อตัวตรวจวัดอุณหภูมิอยู่ที่บริเวณผนังถัง และอุปกรณ์ให้ความร้อน (เช่นท่อไอน้ำ ท่อน้ำมันถ่ายเทความร้อน) ไม่จมอยู่ใต้ผิวของเหลว ความร้อนจากตัวอุปกรณ์ให้ความร้อนจะระบายให้แก่เฟสแก๊สที่อยู่เหนือมัน ซึ่งเมื่อแก๊สดังกล่าวร้อนก็จะลอยตัวขึ้น (ไม่ได้เคลื่อนไปข้าง ๆ ไปหาตัวตรวจวัดอุณหภูมิ) ตัวตรวจวัดอุณหภูมิจะเห็นอุณหภูมิในถังต่ำกว่า set point (อุณหภูมิที่ต้องการให้เป็น) ก็จะทำให้อุปกรณ์ควบคุมเพิ่มอัตราการป้อนตัวกลางให้ความร้อนให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนสูงสุด แต่เมื่อของเหลวท่วมตัวตรวจวัดอุณหภูมิ การไหลเวียนของของเหลวจะทำให้ตัวตรวจวัดอุณหภูมิเห็นอุณหภูมิเพิ่มมากขึ้น ก็จะลดการป้อนตัวกลางให้ความร้อน

ย่อหน้าที่สี่กล่าวว่าถ้าหากถังมีขดท่อหรือผนังหุ้มที่ทำหน้าที่หล่อเย็น ควรคำนึงการระเหยของของเหลวเมื่อเกิดการสูญเสียสารหล่อเย็นด้วย

รูปที่ ๒ หัวข้อ 3.2..5.5 และ 3.2.5.6

หัวข้อ 3.2.5.5 กล่าวถึงกรณีที่อุปกรณ์ถ่ายเทความร้อนที่ติดตั้งอยู่ในถังนั้นเกิดความเสียหายทางกล ที่อาจทำให้ตัวกลางที่ทำหน้าที่ให้ความร้อนหรือหล่อเย็นนั้นรั่วไหลเข้าไปในถัง ควรพิจารณาถึงความเข้ากันได้ของสารเคมีในถังและตัวกลางที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความร้อนด้วย อาจจำเป็นต้องติดตั้งระบบระบายความดันที่เกิดจากตัวกลางถ่ายเทความร้อน

ขดท่อของตัวกลางที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความร้อนจะอยู่ทางด้านล่างของถัง ความดันสูงสุดทางด้านนอกของขดท่อคือความดันที่เกิดจากความสูงของของเหลวที่อยู่เหนือมันเมื่อบรรจุของเหลวเต็มถัง ถ้าความดันภายในขดท่อแลกเปลี่ยนความร้อนนั้นสูงพอ ถ้าท่อเกิดการรั่ว ตัวกลางแลกเปลี่ยนความร้อนก็จะรั่วออกจากท่อและเข้าไปในถัง นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึงต้องพิจารณาด้วยว่าสารที่เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนความร้อนและสารที่บรรจุอยู่ในถังนั้นทำปฏิกิริยากันได้หรือไม่ และถ้าทำปฏิกิริยากันจะเกิดผลอย่างไร (เช่นเกิดแก๊สมากขึ้นและ/หรือความร้อนด้วยหรือไม่) ในกรณีถ้าตัวกลางนั้นเป็นไอน้ำ ความดันในถังอาจเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วจากไอน้ำที่รั่วออกมา ทำให้อาจต้องติดตั้งระบบระบายความดันถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น

ประเด็นที่น่าจะพิจารณาเพิ่มก็คือ สมมุติว่าพบว่าเกิดการรั่วไหลของท่อตัวกลางแลกเปลี่ยนความร้อน และทำการปิดการป้อนตัวกลางแลกเปลี่ยนความร้อนเข้าไปในท่อดังกล่าว ความดันในท่อก็จะลดลง ทำให้ของเหลวที่บรรจุอยู่ในถังสามารถรั่วไหลเข้ามาในท่อตัวกลางแลกเปลี่ยนความร้อนนั้นได้ (เช่นถ้าตัวกลางที่ใช้คือไอน้ำ เมื่อไอน้ำในท่อเย็นลงก็จะเกิดสุญญากาศในท่อ) และจะป้องกันหรือแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพื่อที่จะไม่ให้ของเหลวที่บรรจุอยู่ในถังที่รั่วเข้ามานั้น ไหลเวียนไปยังต้นทางของแหล่งที่ป้อนตัวกลางแลกเปลี่ยนความร้อนนั้น (ถ้าเป็นไอน้ำ ก็คงออกไปทางกับดักไอน้ำ (steam trap) ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่านำเอาไอน้ำที่ควบแน่นนั้นไปทำอะไรต่อ ถ้าเป็นน้ำหล่อเย็นก็คงไหลไปยังหอทำน้ำหล่อเย็น (cooling tower))

หัวข้อ 3.2.5.6 กล่าวถึงระบบบำบัดไอที่ระบายออก กล่าวคือในกรณีที่ไม่ได้ทำการระบายไอระเหยของของเหลวที่ออกมาจากถังนั้นออกสู่บรรยากาศโดยตรง แต่ต้องผ่านระบบดักจับเพื่อป้องกันไม่ให้ไอระเหยของสารที่บรรจุอยู่ในถังรั่วไหลออกสู่ภายนอก ให้พิจารณาถ้าเกิดเหตุที่ระบบดักจับนี้ไม่ทำงานด้วย ความเสียหายที่ส่งผลต่อคีวามปลอดภัยถังประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของความดันต้านทางการไหล (back pressure) ที่เกิดขึ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นใน ท่อ (เช่นเกิดการอุดตันเนื่องจากมีของเหลวท่วมท่อส่วนที่เป็นกระเปาะหรือมีการสะสมของแข็ง), อุปกรณ์ระบายความดันตัวอื่น, การระบายความดันเข้าไปในระบบท่อร่วม (header), หรือการอุดตันเนื่องจากอุปกรณ์ชำรุด ในกรณีเช่นนี้อาจติดตั้งระบบระบายความดันฉุกเฉิน (ติดตั้งไว้ระหว่างถังกับระบบบำบัดไอ) ถ้าจำเป็น โดยให้ความดันทำงานของระบบระบายความดันฉุกเฉินนี้สูงกว่าความดันของระบบบำบัดไอ (แต่ต้องไม่สูงกว่าความดันที่ถังรับได้นะ)

รูปที่ ๓ หัวข้อ 3.2.5.7 และ 3.2.5.8

หัวข้อ 3.2.5.7 การสูญเสียระบบสาธารณูปโภค กล่าวคือควรนำเอาการสูญเสียระบบพลังงานไฟฟ้า (ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะท้องที่หรือกินบริเวณกว้าง) มาพิจาณาว่าส่งผลต่อการทำให้เกิดความดันสูงเกินหรือสุญญากาศ การสูญเสียพลังงานไฟฟ้าส่งผลต่อการทำงานของวาล์วที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าหรือระบบควบคุม และหยุดการทำงานของแหล่งจ่ายอากาศสำหรับอุปกรณ์วัดคุม (instrument air) นอกจากนี้การที่ไฟฟ้าดับยังอาจทำให้สูญเสียตัวกลางรับความร้อนหรือให้ความร้อน

ในโรงงาน อากาศอัดความดันที่ได้จากเครื่องอัดอากาศเรียกว่า plant air อากาศตัวนี้จะยังมีความชื้นหลงเหลืออยู่ ถ้านำเอาอากาศนี้ผ่านระบบกำจัดความชื้นให้หมดไป ก็จะได้อากาศสำหรับอุปกรณ์วัดคุมที่เรียกว่า instrument air

ปรกติแล้วโรงงานจะมีถังเก็บอากาศอัดความดันเพื่อให้มีอากาศอัดความดันสำหรับใช้งานฉุกเฉินถ้าหากไฟฟ้าดับ และในกรณีฉุกเฉินเช่นนี้ก็อาจนำเอา plant air ไปใช้แทน instrument air ได้

หัวช้อ 3.2.5.8 กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของไอน้ำที่ป้อนเข้าถัง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดจากการสูญเสียระบบระบายความร้อน หรือการป้อนความร้อนที่เพิ่มขึ้น อุณหภูมิของไอน้ำที่ป้อนเข้ามาที่ต่ำเกินไปทำให้เกิดการควบแน่นของไอ ทำให้เกิดสุญญากาศในถังได้

ไอน้ำที่ใช้ให้ความร้อนคือไอน้ำอิ่มตัว (saturated steam) แต่ไอน้ำนี้เมื่อเกิดการสูญเสียความร้อน (เช่นผ่านผนังท่อที่แม้ว่าจะมีการหุ้มฉนวนก็ตาม) จะควบแน่นเป็นของเหลวทันที ในกรณีที่แหล่งผลิตไอน้ำและแหล่งที่ต้องการใช้นั้นอยู่ไกลกัน ก็สามารถทำการส่งไอน้ำในรูปของไอน้ำร้อนยวดยิ่ง (superheated steam) แล้วใช้การฉีดน้ำ (ที่ได้จากไอน้ำควบแน่น) เข้าไปผสมโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า desuperheater ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของไอน้ำร้อนยวดยิ่งลดต่ำลงกลายเป็นไอน้ำอิ่มตัว ส่วนที่ว่าจะได้ไอน้ำอิ่มตัวที่มีอุณหภูมิเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าไอน้ำร้อนยวดยิ่งที่ส่งไปนั้นมีอุณหภูมิและความดันเท่าใด

รูปที่ ๔ หัวข้อ 3.2.5.9-3.2.5.11

หัวข้อ 3.2.5.9 เป็นเรื่องของการเกิดปฏิกิริยาเคมี ย่อหน้าแรกกล่าวว่าสารที่บรรจุอยู่ในถังอาจเกิดปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้เกิดความร้อนและ/หรือไอระเหย ตัวอย่างของการเกิดปฏิกิริยาเคมีได้แก่ การเติมน้ำเข้าไปในถังบรรจุกรดหรือกรดใช้แล้วโดยไม่ตั้งใจ ทำให้เกิดไอน้ำและ/หรือการระเหยของไฮโดรคาร์บอนเบา, ปฏิกิริยาเร่งตนเองจนไม่สามารถควบคุมได้ (runaway reaction) ในถังที่บรรจุ cumene hydroperoxide ฯลฯ ในบางกรณีสารที่บรรจุอยู่ในถังอาจทำให้เกิดโฟม ก่อให้เกิดการระบายสารที่เป็นสองเฟส

ย่อหน้าที่สองกล่าวว่ามีเทคโนโลยีของสถาบัน Desing Institute for Emergency Relief Systems (DIERS) Users Group ของ American Institute of Chemical Engineers (AICHE) หรือจากกลุ่ม DIERS ของยุโรป ที่สามารถนำมาใช้ประเมินสาเหตุเหล่านี้ได้

ในย่อหน้าแรกอาจทำให้หลายคนสงสัย ว่าทำไมการมีน้ำรั่วไหลเข้าไปในถังบรรจุกรด/กรดใช้แล้วจึงทำให้มี "ไฮโดรคาร์บอนเบา" ระเหยออกมาได้ ตรงนี้ขอยกตัวอย่าง alkylation process ที่เป็นกระบวนการต่อไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลเล็กเข้าด้วยกันเพื่อให้กลายเป็นโมเลกุลรูปร่างโซ่กิ่งที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มเลขออกเทนของน้ำมันเบนซิน

รูปที่ ๕ ตัวอย่างแผนผัง alkylation process ที่ใช้กรดกำมะถัน (H2SO4) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

คือในกระบวนการ alkylation นี้มีการใช้กรดไฮโดรฟลูออริก (Hydrofluoric HF) หรือกรดกำมะถัน (Sulphuric acid H2SO4) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (รูปที่ ๕) ในกระบวนการนี้มีการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างน้ำกรดที่ใช้กับไฮโดรคาร์บอนที่ทำปฏิกิริยา ทำให้มีไฮโดรคาร์บอนบางส่วนละลายเข้ามาในน้ำกรดที่ผ่านการใช้งานแล้ว ดังนั้นถังเก็บน้ำกรดที่ผ่านการใช้งานแล้วจะมีไฮโดรคาร์บอนเบาละลายปนอยู่ ถ้าหากมีน้ำรั่วเข้าไป ความร้อนที่เกิดจากการผสมกันระหว่างน้ำและน้ำกรดจะทำให้ไฮโดรคาร์บอนเบาระเหยออกมา

Cumene hydroperoxide ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นเป็นสารตัวกลางในการผลิตฟีนอล (phenol) และอะซีโตน (acetone) ที่เมื่อสลายตัวแล้วจะคายความร้อนสูง

หัวข้อ 3.2.5.10 กล่าวถึงการเติมจนล้นถัง ระบบที่ออกแบบมาเพื่อระบายความดันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในถังนั้นไม่ได้ออกแบบมาให้ระบายของเหลวที่ไหลจนเต็มถัง ที่สภาวะนี้ถ้าอัตราการไหลเข้าของของเหลวสูงกว่าอัตราการไหลออกผ่านรูระบายความดันที่ออกแบบมาสำหรับไอ ความดันในถังก็จะสูงเกินกว่าที่ถังจะรับได้ สำหรับการป้องกันเหตุการณ์นี้ให้ดูที่มาตรฐาน API 2510, API 2350 และ EN 13616

หัวข้อ 3.2.5.11 เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศ ในหลายประเทศนั้นจะดูลมฟ้าอากาศจากความกดอากาศ เช่นถ้าหากความกดอากาศลดต่ำลง ก็จะมีพายุแรง (ดูรูปที่ ๖ ประกอบ)

ต่อไปเป็นหัวข้อ 3.2.5.12 การชำรุดของวาล์วควบคุม (รูปที่ ๗) ผลของการที่วาล์วควบคุมค้างที่ตำแหน่งเปิดหรือปิดควรนำมาพิจารณาว่าจะก่อให้เกิดความดันสูงเกินหรือสุญญากาศ อันเป็นผลจากความไม่สมดุลของมวลสารและพลังงานที่ไหลเข้า-ออกถัง ตัวอย่างเช่นความชำรุดของวาล์วควบคุมสายป้อนของเหลวเข้าถังก่อให้เกิดการป้อนความร้อนเข้าถังเพิ่มขึ้นหรือลดการระบายความร้อนออกจากถังหรือไม่ที่เป็นผลจากการป้อนสารที่ร้อนเข้าไปในถัง วาล์วควบคุมอาจทำให้ระดับของเหลวในถังความดันลดต่ำลงกว่าช่องทางออก ทำให้แก๊สความดันสูงไหลเข้าไปในถังได้ (ดูหัวข้อ 3.2.5.2 ประกอบ)

รูปที่ ๖ ตัวอย่าง Barometer ที่ใช้ทำนายสภาพอากาศ ความดันปรกติอยู่ที่ประมาณ 1000 hPa (hecto Pascal หรือ 100

Pascal) หรือ 100000 Pascal ถ้าความดันลดต่ำลงก็มีแนวโน้มจะเกิดฝนตก ยิ่งต่ำลงก็จะยิ่งกลายเป็นพายุที่แรงขึ้น ในขณะที่ความดันที่สูงมีแนวโน้มที่จะทำให้ท้องฟ้าแจ่มใส เข็มเล็กด้านล่างซ้ายเป็นตัวบอกอุณหภูมิ ส่วนตัวขวาเป็นบอกความชื้น

หัวข้อ 3.2.5.13 การควบแน่นของไอน้ำ ถ้าหากถังที่ไม่มีการหุ้มฉนวนนั้นถูกเติมด้วยไอน้ำ (เช่นในการใช้ไอน้ำไล่สิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในถัง เช่นของเหลวที่ตกค้างอยู่ในถัง หรือการไล่ไอน้ำมันออกจากถังเพื่อเตรียมการเข้าไปตรวจสอบ/ซ่อมแซมภายใน) อัตราการควบแน่นเนื่องจากการระบายความร้อนให้กับสภาพแวดล้อมสามารถสูงกว่าอัตราการระบายแก๊สเข้าไปในถังที่กำหนดโดยสภาวะการทำงานมาตรฐานได้ บ่อยครั้งที่จำเป็นที่ต้องมีขั้นตอนการทำงานเช่น การเปิดช่องทางเข้าออกสำหรับคน การควบคุมอัตราการเย็นตัวลงของถัง หรือการเติมแก๊สที่ไม่ควบแน่นเข้าไปในถัง (เช่นไนโตรเจนหรืออากาศ) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสุญญากาศในถังมากเกินไป

รูปที่ ๗ หัวข้อ 3.2.5.12-3.2.5.14

หัวข้อ 3.2.5.14 ถังร้อนที่ไม่มีการหุ้มฉนวน ถังชนิดนี้ที่มีไอสารที่ร้อนอยู่ในที่ว่างด้านบนอาจต้องการการระบายอากาศภายนอกเข้าในถังด้วยอัตราที่สูงกว่าปรกติในช่วงที่เกิดพายุฝน (เพราะเกิดการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว) การหดตัวและ/หรือการควบแน่นของไอสามารถทำให้เกิดสุญญากาศมากเกินไปในถังได้ ควรมีการทบวนกรณีของถังให้ความร้อนที่ไม่มีการหุ้มฉนวนถ้าหากอุณหภูมิของส่วนที่ว่างสำหรับไอเหนือผิวของเหลวมีอุณหภูมิสูงเกิน 48.9ºC (120ºF)

รูปที่ ๘ หัวข้อ 3.2.5.15 และ 3.2.5.16

ต่อไปเป็นสองหัวข้อสุดท้ายของหัวข้อ 3.5 นี้ (รูปที่ ๘)

หัวข้อ 3.2.5.15 การเกิดการระเบิด/เปลวไฟลุกไหม้ภายในถัง ถ้าหากไอในที่ว่างเหนือผิวของเหลวนั้นกลายเป็นส่วนผสมที่ลุกติดไฟได้และเกิดการลุกติดไฟ การขยายตัวของแก๊สจะทำให้ความดันในถังเพิ่มสูงเกินกว่าที่ระบายระบายความดันจะระบายได้ทัน มาตรฐาน API 937 ยอมให้ใช้แนวรอยเชื่อมที่ฉีกขาดได้ตรงระหว่างฝาถังกับตัวถังเพื่อระบายความดันที่เกิดจากการลุกไหม้ภายใน (ยอมให้ฝาถังเปิดออก) ดูมาตรฐาน API 650 สำหรับรายละเอียดที่ต้องมีในการออกแบบถังที่การยึดระหว่างฝาถังกับส่วนลำตัวนั้นเป็นส่วนที่แยกออกจากกันได้ มาตรฐาน NFPA 68 และ EN 13237 เป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการลดความเสียหายจากการลุกไหมภายในถัง การป้องกันการระเบิด/เปลวไฟลุกไหม้ภายในถังทำได้ด้วยการใช้แก๊สเฉื่อยที่เหมาะสมปกคลุม (ดูภาคผนวก F สำหรับคำแนะนำในการใช้แก๊สเฉื่อยปิดคลุมถัง)

ปฏิกิริยาการเผาไหม้เป็นปฏิกิริยาที่เร่งตนเอง (เพราะความร้อนที่คายออกมาทำให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาเพิ่มขึ้น) ถ้าความเร็วของเปลวไฟที่เกิดนั้นต่ำกว่าความเร็วเสียง จะเรียกว่า deflagration แต่ถ้าขึ้นไปถึงความเร็วเสียงเมื่อใดจะเรียกว่า detonation หรือการระเบิด ที่จะมีอำนาจทำลายล้างสูงกว่ามาก

หัวข้อสุดท้าย 3.2.5.16 การผสมกันของผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบต่างกัน การป้อนสารที่ระเหยได้ง่ายกว่าเดิมเข้าไปในถังเก็บอาจเกิดได้จากความผิดปรกติของกระบวนการผลิตหรือความผิดพลาดของผู้ทำงาน สิ่งนี้สามารถทำให้ความดันในถังเพิ่มสูงเกินได้

ไม่มีความคิดเห็น: