วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

คลองอรชร (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๔๐) MO Memoir : Tuesday 30 April 2556

ลองนี้ผมได้ยินชื่อตั้งแต่ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ว่าถนนข้างรั้วเดิมนั้นเป็นคลองชื่อ "อรชร"

ในมาตรา ๓ ของพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๖ หน้า ๑๓๖๔ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ (รูปที่ ๑) ระบุชื่อ "คลองอรชร" ไว้ว่าเป็นขอบเขตด้านทิศตะวันออกของที่ดินแปลงที่ ๑ ที่โอนกรรมสิทธิ์ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในแผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ (รูปที่ ๒) ก็มีการระบุชื่อคลองอรชรในแผนที่ (แผนที่ที่ดาวน์โหลดมาจากเว็บของราชกิจจานุเบกษาไม่ค่อยชัดเท่าไร แต่เมื่อขยายแล้วก็พออ่านออกได้ว่าเป็นคลองอรชรกับถนนสนามม้า)


รูปที่ ๑ มาตรา ๓ ของพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๒ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๖ หน้า ๑๓๖๔ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒) ที่ดินแปลงที่ ๑ คือที่ฝั่งหอประชุมจุฬาฯ ที่ดินแปลงที่สองคือฝั่งด้านสนามกีฬาและตลาดสามย่านไปจนจรดถนนบรรทัดทอง ที่ดินแปลงที่ ๓ คือแปลงอีกฟากของถนนบรรทัดทอง ที่ปัจจุบันเป็นตึกแถว และด้านหลังเป็นคลอง

แต่ในแผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติโอนคลองไผ่สิงห์โต ให้สภากาชาดไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๙ ตอนที่ ๘๑ หน้า ๒๕๘๙ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (รูปที่ ๓) ที่แสดงรูปด้านถนนพระราม ๔ เรียกคลองนี้ว่าคลองสนามม้า ส่วนถนนที่ขนานไปกับคลองดังกล่าวยังเรียกว่าถนนสนามม้า
  
คลองไผ่สิงห์โตตามรูปที่ ๓ ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งไม่มีร่องรอยของคลองหลงเหลือแล้ว ส่วนปลายคลองไผ่สิงห์โตด้านถนนสนามม้า น่าจะตรงกับบริเวณโรงอาหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน
   
รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๒ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๖ หน้า ๑๓๖๔ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒) ในกรอบแดงคือชื่อที่ระบุคลองอรชรและถนนสนามม้า

ปัจจุบันถนนสนามม้ากลายเป็นถนนอังรีดูนังต์ ส่วนคลองอรชรเลียบรั้วจุฬานั้นก็คือถนนอังรีดูนังต์ด้านฝั่งรั้วจุฬานั่นเอง ที่ยังพอมีอนุสรณ์ให้เห็นอยู่เห็นจะได้แก่สะพานเฉลิมเผ่า ๕๒ (บูรณะปีพ.ศ. ๒๕๐๖) ที่อยู่สุดถนนอังรีดูนังต์ด้านถนนพระราม ๑ โดยอยู่ระหว่างห้างพารากอนและวัดสระปทุม (รูปที่ ๔) ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าไรและจะมีสักกี่คนที่จะสังเกตเห็นว่าที่ตรงนั้นเคยมีสะพานข้ามคลองอยู่

อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะถึงวันฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีของคณะแล้ว ก็เลยเขียนเรื่องเกี่ยวกับคณะซักหน่อย

รูปที่ ๓ แผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติโอนคลองไผ่สิงห์โต ให้สภากาชาดไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๙ ตอนที่ ๘๑ หน้า ๒๕๘๙ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕) ในกรอบแดงคือชื่อที่ระบุคลองสนามม้า (คลอรอรชร) และถนนสนามม้า


รูปที่ ๔ สามแยกแยกเฉลิมเผ่า สุดสายถนนอังรีดูนังต์ด้านถนนพระราม ๑ ยังเหลือส่วนที่เคยเป็นสะพานเฉลิมเผ่า ๕๒ บูรณะ ๒๕๐๖ เอาไว้ให้เห็น (ในกรอบสีแดง) ส่วนตัวคลองอรชรยังคงพอเหลืออยู่ (ในกรอบสีเหลือง) ด้านที่เชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ

ไม่มีความคิดเห็น: