วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ไต้ฝุ่น Gay และเรือ Seacrest MO Memoir : Thursday 2 November 2560

เอกสาร "ภัยธรรมชาติในประเทศไทย" ที่กรมอุตุนิยมวิทยาเผยแพร่ไว้บนหน้าเว็บ กล่าวถึงการเปิดพายุหมุนเขตร้อนเอาไว้ว่า (https://tmd.go.th/info/risk.pdf
  
"พายุหมุนเขตร้อนเริ่มต้นการก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ากําลังแรงซึ่งอยู่เหนือผิวน้ำทะเลในบริเวณเขตร้อนและเป็นบริเวณที่กลุ่มเมฆจํานวนมากรวมตัวกันอยู่โดยไม่ปรากฏการหมุนเวียนของลม หย่อมความกดอากาศต่ำกําลังแรงนี้ เมื่ออยู่ในสภาวะที่เอื้ออํานวยก็จะพัฒนาตัวเองต่อไป จนปรากฏระบบหมุนเวียนของลมอย่างชัดเจน
  
พอปรากฏระบบหมุนเวียนของลมอย่างชัดเจน ก็จะเรียกว่าเป็นพายุแล้ว
 
การจำแนกชนิดพายุหมุนเขตร้อน อาศัยความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลางเป็นหลัก กล่าวคือ
 
ความเร็วลมสูงสุดไม่เกิน 33 นอต (17 เมตร/วินาที หรือ 62 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เรียกว่าเป็นพายุดีเปรสชั่น (Depression) ชื่อย่อ TD สัญญลักษณ์ D พายุดีเปรสชั่นนี้ยังไม่มีชื่อตั้งให้
 
ความเร็วลมสูงสุดอยู่ในช่วง 34-63 นอต (17-32 เมตร/วินาที หรือ 63-117 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เรียกว่าเป็นพายุโซนร้อน (Tropical Storm) ชื่อย่อ TS สัญญลักษณ์ S พอมาถึงขั้นนี้ก็จะมีการกำหนดชื่อให้กับพายุแล้ว
 
ความเร็วลมสูงสุดอยู่ในช่วง 64-129 นอต (17 เมตร/วินาที หรือ 118-239 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เรียกว่าเป็นพายุไต้ฝุ่น (Typhoon) ชื่อย่อ TY


รูปที่ ๑ ข้อความส่วนหนึ่งจาก Executive summary เหตุการณ์ที่เกิดกับเรือขุดเจาะ Seacrest ในอ่าวไทย เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ (จากเอกสาร INVESTIGATION OF EVENTS SURROUNDING THE CAPSIZE OF THE DRILLSHIP SEACREST จัดทำโดยหน่วยงาน Failure Analysis Associates®, Inc. ให้กับบริษัท Unocal)
 
การเกิดลมหมุนเข้าสู่ศูนย์กลางจำเป็นต้องพึ่งพาแรงโคริออริส (Coriolis force) ดังนั้นบริเวณที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากเกินไปจะไม่เกิดพายุหมุน (เพราะแรงโคริออริสมีค่าน้อย) ด้วยเหตุนี้ ในบริเวณแถบบ้านเราการก่อตัวจนถึงระดับความแรงที่เป็นพายุได้จึงมักเกิดที่ตำแหน่งเส้นรุ้งสูงเกินกว่า 5 องศาเหนือ
  
วัตถุดิบที่สำคัญสำหรับการก่อตัวเป็นพายุคือไอน้ำที่ระเหยขึ้นมาจากพื้นน้ำ ท้องทะเลที่มีอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงและพื้นน้ำที่กว้าง (เช่นในมหาสมุทรเปิด) จะทำให้พายุก่อตัวได้ง่าย เช่นในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ในบริเวณพื้นทะเลที่แคบกว่านั้น (เช่นในอ่าวไทยหรือในทะเลจีนใต้) การก่อตัวเป็นพายุขนาดใหญ่ที่มีกำลังแรงนั้นมีโอกาสเกิดได้น้อย แต่ใช่ว่าจะไม่มีซะทีเดียว และพายุลูกหนึ่งที่มีกำลังแรงระดับไต้ฝุ่น ที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในอ่าวไทยคือพายุไต้ฝุ่นเกย์ (Gay) ที่ก่อตัวขึ้นในอ่าวไทยในระหว่างวันที่ ๓ และ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ก่อนขึ้นฝั่งที่บริเวณจังหวัดชุมพร-ประจวบคีรีขันธ์ และข้ามต่อไปยังมหาสมุทรอินเดียก่อนที่จะทวีกำลังแรงขึ้นอีกครั้งและไปสิ้นสุดเมื่อขึ้นฝั่งที่ประเทศอินเดีย


รูปที่ ๒ ตำแหน่งร่องความกดอากาศต่ำ ทิศทางมรสุม และทางเดินพายุหมุนเขตร้อน ในช่วงเวลาต่าง ๆ ของรอบปี จากเอกสาร "ภัยธรรมชาติในประเทศไทย" จัดทำโดยกรมอุตุนิยมวิทยา

รูปที่ ๓ เส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุ Gay (จากขวามาซ้าย) และกำลังของพายุตั้งแต่เริ่มก่อตัวเป็นหย่อมความกดอาศต่ำ (สีน้ำเงิน) ทางใต้แหลมญวน จนเป็นพายุดีเปรสชั่น (สีเขียว) พายุโซนร้อน (สีเหลือง) และพายุไต้ฝุ่น (สีแดง) ก่อนขึ้นฝั่งบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ (ภาพจาก http://agora.ex.nii.ac.jp/digital-typhoon/)


รูปที่ ๔ กราฟการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศ (หน่วย hPa) ณ เวลาต่าง ๆ ค่าความกดอากาศยิ่งต่ำ ความเร็วลมยิ่งสูง (ภาพจาก http://agora.ex.nii.ac.jp/digital-typhoon/) จะเห็นว่าพายุลูกนี้เพิ่มกำลังจากพายุดีเปรสชั่น (จุดสีเขียว) ถึงระดับไต้ฝุ่น (จุดสีแดง) ได้ในเวลาไม่ถึง ๑ วัน

Gay เป็นพายุที่มีการทวีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียกว่าภายในเวลาไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมงสามารถเปลี่ยนตัวเองจากพายุดีเปรสชั่นที่เพิ่งจะก่อตัวได้เพียง ๑ วันกลายเป็นพายุไต้ฝุ่น และบังเอิญว่าบริเวณที่ทวีกำลังแรงขึ้นนั้น มีเรือขุดเจาะน้ำมันชื่อ Seacrest กำลังปฏิบัติหน้าที่ขุดเจาะน้ำมันอยู่ใกล้เคียงกับแนวทางการเคลื่อนที่ของศูนย์กลางของพายุ

รูปที่ ๕ ภาพถ่ายดาวเทียมพายุไต้ฝุ่น Gay ขณะมีกำลังแรงสูงสุดก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งทางใต้ของประเทศไทย (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Typhoon_Gay_(1989))

อ่าวไทยไม่ได้มีบริเวณพื้นน้ำที่กว้างใหญ่ การที่หย่อมความกดอากาศต่ำที่อยู่ในอ่าวไทยจะเพิ่มกำลังจนถึงระดับพายุไต้ฝุ่นได้นั้น จะเรียกว่าเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงก็ได้ แถมยังทวีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็ว การทวีกำลังของพายุดีเปรสชั่นเป็นพายุโซนร้อน Gay ในวันศุกร์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ และทวีกำลังแรงเป็นระดับไต้ฝุ่นในวันเดียวกันนั้นเอง ทำให้ผู้ที่ปฏิบัติงานบนเรือ Seacrest ไม่ทันตั้งตัว ประกอบกับตำแหน่งที่อยู่ของเรือนั้นอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางของพายุและอยู่ในแนวทางเดินของจุดศูนย์กลาง ทำให้เรือพลิกคว่ำอย่างรวดเร็ว แบบที่เรียกได้ว่าลูกเรือไม่ทันที่จะได้หนี ในบรรดาลูกเรือทั้งหมด ๙๗ คนในเวลานั้น มีรอดชีวิตมาได้เพียง ๖ คน (หลังจากลอยคออยู่กลางทะเลท่ามกลางพายุเป็นเวลาหลายวัน เพราะความรุนแรงของพายุทำให้หน่วยกู้ภัยไม่สามารถออกไปช่วยเหลือได้

รูปที่ ๖ พ้นจากประเทศไทยแล้ว พายุ Gay พอเคลื่อนเข้าสู่ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียก็ทวีกำลังแรงขึ้นใหม่ ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ฝั่งตะวันออกของประเทศอินเดีย) (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Typhoon_Gay_(1989))


รูปที่ ๗ เส้นทางเดินของพายุ Harriet ที่ขึ้นฝั่งที่ฝั่งประเทศไทยที่แหลมตะลุมพุก จ. นครศรีธรรมราช ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/1962_Pacific_typhoon_season)

ช่วงปลายเดือนตุลาคม หย่อมความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะทวีกำลังแรงและเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน และยังแผ่ออกไปทางตะวันออกทางด้านทะเลจีนใต้ด้วย ลักษณะเช่นนี้ทำให้พายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกที่สามารถเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์เข้าสู่ทะเลจีนใต้ได้นั้น แทนที่จะเคลื่อนที่ขึ้นเหนือเข้าสู่เวียดนามตอนบนหรือจีนตอนใต้ดังเช่นช่วงเวลาก่อนหน้า กลับถูกกดให้เคลื่อนต่ำลงล่าง ซึ่งถ้าเคลื่อนขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามตอนใต้ ก็มักจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ประเทศกัมพูชา แต่ก็มีเหมือนกันที่หย่อมความกดอากาศสูงนั้นกดพายุให้เคลื่อนต่ำลงมาก จนสามารถอ้อมใต้แหลมญวนได้ กล่าวคือแทบจะเคลื่อนที่อยู่ในทะเลตลอดเวลา ถ้าเป็นเช่นนี้จะทำให้พายุสามารถรักษาความแรงเอาไว้ได้ (เพราะได้ความชื้นจากทะเลหล่อเลี้ยงเอาไว้) และพายุลูกหนึ่งที่มีรูปแบบการเคลื่อนที่แบบนี้คือพายุโซนร้อน Harriet ที่เคลื่อนที่ขึ้นฝั่งประเทศไทยที่แหลมตะลุมพุก จ. นครศรีธรรมราช ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (รูปที่ ๗)
 
พายุอีกลูกหนึ่งที่มีลักษณะการเคลื่อนที่รูปแบบเช่นนี้ได้แก่พายุทุเรียน (Durian) แต่ด้วยการที่แนวทางของพายุนั้นมีการพาดผ่านแหลมญวน ทำให้พายุมีการอ่อนกำลังลงก่อนเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยในรูปของหย่อมความกดอากาศต่ำ และไม่ได้มีการทวีกำลังแรงขึ้นเป็นระดับพายุอีกเมื่อเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งทางภาคใต้ของประเทศไทย (รูปที่ ๘)


รูปที่ ๘ เส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุไต้ฝุ่นทุเรียน ที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่โดนความกดอากาศสูงจากประเทศจีนกดให้เคลื่อนที่ต่ำลงล่าง จนสามารถอ้อมผ่านแหลมญวนได้ ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Typhoon_Durian)

รายละเอียดการสอบสวนเหตุที่เกิดกับเรือ Seacrest หาอ่านได้ทางอินเทอร์เน็ตจากรายงานที่มีชื่อว่า "INVESTIGATION OF EVENTS SURROUNDING THE CAPSIZE OF THE DRILLSHIP SEACREST" ที่จัดทำโดยหน่วยงาน Failure Analysis Associates®, Inc. เพื่อรายงานให้กับบริษัท Unocal (ถ้าสนใจก็ลองค้นโดยใช้ google ดูก็แล้วกัน)
 
พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันครบรอบ ๒๘ ปีของการเกิดเหตุการณ์หายนะดังกล่าวในอ่าวไทย เรียกว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมขุดเจาะปิโตรเลียมของบ้านเราก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น: