วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วรรณกรรมคำผวน MO Memoir : Wednesday 29 July 2558

"เป็นครูไม่มีรวยด้วยจนยาก
ยอมลําบากบางครั้งอยู่แบบครูป่วย
ถือคติไม่เป็นดังครูหวังรวย 
แต่บางครั้งแอบเล่นหวยด้วยมีคีย์

ครูคิดลึกศึกษาหาความรู้
กลับเป็นครูห่วยจนคนเมินหนี
เรียนจนจบด้วยหวังหันมั่งมี 
เกียรติศักดิ์ศรีครูถ้วยด้วยรางวัล
 
การกีฬาครูเล่นเห็นดีอยู่
ครูเล่นลู่ครูเล่นลานด้วยการหมั่น
นาฏศิลป์ครูต้องรําทําท่ากัน 
ไม่ห่างหันการดีศักดิ์ศรีครู"

กลอนสุภาพ ๓ บทข้างบนผมไม่ได้แต่งเองหรอกครับ เป็นบทประพันธ์ รวี วรวิสุทธิ์ ที่ปรากฏในจุลสารลายไทยฉบับพิเศษ วันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ในบทความเรื่อง "ควนผำ ... ควรศึกษา" ที่เขียนโดย สันเสก ผะวัดทะนน (ผวนกลับเป็น เสกสันต์ ผลวัฒนะ) ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ http://www.tu.ac.th/org/arts/tha/thai/journal45.pdf

อ่านกลอนข้างบนแล้วเห็นเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ไหมครับ ถ้ามองไม่เห็นก็ลองอ่านกลอนข้างล่างใหม่อีกครั้ง

"เป็นครูไม่มีรวยด้วยจนยาก
ยอมลําบากบางครั้งอยู่แบบครูป่วย
ถือคติไม่เป็นดังครูหวังรวย 
แต่บางครั้งแอบเล่นหวยด้วยมีคีย

ครูคิดลึกศึกษาหาความรู์
กลับเป็นครูห่วยจนคนเมินหนี
เรียนจนจบด้วยหวังหันมั่งมี 
เกียรติศักดิ์ศรีครูถ้วยด้วยรางวัล

การกีฬาครูเล่นเห็นดีอยู่
ครูเล่นลู่ครูเล่นลานด้วยการหมั่น
นาฏศิลป์ครูต้องรําทําท่ากัน 
ไม่ห่างหันการดีศักดิ์ศรีครู"

ผมเน้นข้อความตามที่บทความที่ปรากฏในจุลสารเขาเน้นให้นะครับ ถ้าท่านใดอ่านแล้วยังไม่เข้าใจอีกก็คิดว่าส่วนที่เหลือของ Memoir ฉบับนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อแล้วครับ โดยขอแนะนำให้ไปดาวน์โหลดบทความข้างต้นมาศึกษาก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจหลักการในการผวนคำ แล้วค่อยมาอ่านเนื้อหาส่วนที่เหลือต่อ

เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ Memoir ฉบับนี้ก็เลยขอเขียนเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยสักหน่อย ถือว่าเป็นการแนะนำหนังสือหรือบทความน่าสนใจให้อ่านก็แล้วกัน ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องนี้หรอกครับ บังเอิญเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหยิบหนังสือเรื่อง "ผูกนิพพานโลกีย์ ตำรากามสูตรสัญชาติไทย" เขียนโดยอภิลักษณ์ เกษมผลกูล ที่ผมซื้อเก็บไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วขึ้นมาอ่าน อ่านบทนำไปได้แค่สองหน้าก็ไปสะดุดเข้ากับหมายเหตุที่เขามีคำอธิบายไว้ในส่วนเชิงอรรถของหนังสือ เห็นเป็นเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง "พระเอ็ดยง" และบังเอิญจังหวะเวลามันกำลังจะถึงวันภาษาไทยแห่งชาติพอดี ก็เลยขอนำเรื่อง "คำผวน" นี้ขึ้นมานำเสนอ ส่วนเรื่อง "พระเอ็ดยง" เป็นยังไงนั้น ปรากฏเรื่องย่อในส่วนเชิงอรรถของหนังสือดังกล่าวดังนี้
  
รูปที่ ๑ (ซ้าย) "ผูกนิพพานโลกีย์ ตำรากามสูตรสัญชาติไทย" โดยอภิลักษณ์ เกษมผลกูล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ (กลาง) "วรรณกรรมปักษ์ใต้ - สรรพลี้หวน" หนังสือรวบรวม วรรณกรรมคำผวน วรรรกรรมพื้นบ้าน บทกล่อมลูก ปริศนาคำทาย ของเก่า รวบรวมโดย เพชร พุมเรียง จัดพิมพ์โดย ชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๕ (ขวา) "เรื่อง สรรพลี้หวน" โดยผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เขียนนำและชำระ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มายิก พิมพ์ครั้งที่ ๑ ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ แต่ห้องสมุดรับเข้ามาพ.ศ. ๒๕๔๘

"เรื่องย่อมีอยู่ว่า พระเอ็ดยงมีพระมเหสี ๒ องค์ คือ นางแหงดี และนางแต่งแวด พระเอ็ดยงไปเลียบเมือง ได้นางโหตีมาเป็นมเหสี สร้างความไม่พอใจให้แก่โลตึง (เนื้อเรื่องไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นใคร) จึงขับพระเอ็ดยงและพระมเหสีทั้งสามออกจากเมือง ขณะที่เดินไปกลางป่า ก็ได้พบกับนายเจ็ดโยนเป็นโจรป่า มีสมุน ๕๐๐ คน นายเจ็ดโยนพาสมุนมาสวามิภักดิ์กับพระเอ็ดยง พระเอ็ดยงจึงนำทัพเหล่าโจรป่าไปตีเมืองคีหันบุรี เพื่อแก้แค้นแก่โลตึง เนื้อเรื่องจบเพียงพระเอ็ดยงไปตั้งค่ายหน้าเมืองคีหัน"
  
เรื่อง "พระเอ็ดยง" นี้ผู้รู้ท่านก็ว่าเป็นบทประพันธ์ของ คุณสุวรรณ กวีหญิงมีชื่อในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง "พระมะเหลเถไถ" ด้วย แต่บางท่านก็บอกว่าหลักฐานยังไม่ชัดเจนว่าใครกันแน่ที่แต่ง พอผมลองค้นเรื่องนี้ดูมันก็นำไปสู่บทความที่ปรากฏในจุลสารลายไทยที่เล่ามาข้างต้น และบทกลอนเรื่อง "สรรพลี้หวน"
  
รูปที่ ๒ เรื่องย่อ "พระเอ็ดยง" ที่ปรากฏในเชิงอรรถของหนังสือ "ผูกนิพพานโลกีย์ ตำรากามสูตรสัญชาติไทย"
  
อันที่จริงบทกลอนเรื่อง "สรรพลี้หวน" นี่ผมเคยได้ยินอาจารย์ผู้ใหญ่บางท่านเล่าให้ฟัง เฉพาะท่อนแรก ๆ เท่านั้น ตอนแรกผมยังคิดว่าเป็นกลอนร้องกันเล่น ๆ ในวงเหล้าเสียอีก แต่พอค้นดูก็พบว่ามันเป็นบทประพันธ์เก่าที่เป็นวรรณกรรมของทางภาคใต้ อายุอานามก็กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว เรื่องนี้ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แต่ง และเรื่องก็แต่งไม่จบซะด้วย (ไม่รู้ว่าหัวใจวายตายก่อนเพราะบทประพันธ์ที่ตัวเองแต่งหรือเปล่า หนังสือในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยก็มีเรื่องนี้อยู่ ๒ เล่ม
  
บทกลอนเรื่อง "สรรพลี้หวน" (อ่าน สับ-ลี้-หวน) สามบทแรกเป็นอย่างไรก็ลองดูในรูปที่ ๓ ข้างล่างก่อนก็แล้วกัน ผมนำมาจากหนังสือ "เรื่อง - สรรพลี้หวน" ทางซ้ายเป็นสำนวนภาษาปักษ์ใต้ ส่วนทางขวาเป็นสำนวนภาษาภาคกลาง เพื่อความปลอดภัย ผมแนะนำว่ากรุณาอ่านในใจนะครับ อย่าอ่านออกเสียงเลย เว้นแต่จะมีความมั่นใจสูงมากพอ
  
รูปที่ ๓ บทกลอนเรื่อง "สรรพลี้หวน" ในหน้าแรกจากหนังสือ "เรื่อง - สรรพลี้หวน" รูปบนเป็นบทกลอนต้นฉบับสำเนียงปักษ์ใต้ ส่วนรูปล่างนั้นผู้เขียนหนังสือแปลงมาเป็นสำเนียงภาคกลางให้

ดูเหมือนว่าเรื่อง "คำผวน" หรือ "การผวนคำ" เป็นลักษณะเฉพาะของภาษาเพียงไม่กี่ภาษาในโลก นอกเหนือจากภาษาไทยแล้วในหนังสือ "เรื่องสรรพลี้หวน" ที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เขียนนำและชำระนั้น ในส่วนเริ่มเรื่องที่ผู้พิมพ์ (เขาขอเรียกตนเองว่าผู้พิมพ์) ได้เล่าประสบการณ์ของท่านนั้น ก็ทำให้ทราบว่าภาษาเขมรก็มีคำผวนเหมือนกัน (คำผวนในภาษาเขมรเรียกว่า "เปี๊ยะก้วยลัวะ")
  
หลักเกณฑ์ในการผวนคำหรือสร้างคำผวนก็พอมีอยู่ เรื่องนี้ สันเสก ผะวัดทะนน เขียนอธิบายไว้ในบทความของเขาแล้ว เชิญไปดาวน์โหลดอ่านกันเองนะครับ และในบทความดังกล่าวผู้เขียนก็ยังได้ยกตัวอย่างคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะว่าไปแล้วเราก็ใช้กันประจำโดยไม่คิดอะไร (ซึ่งก็ดีแล้ว) แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงใช้คำอื่นแทนได้ (เพื่อให้มันคิดไม่ได้) เช่น
  
ตากแดด      ให้ใช้เป็น     ผึ่งแดด กรําแดด
คนป่วย       ให้ใช้เป็น     คนเจ็บ คนไข้ ผู้ป่วย
เจ็ดอย่าง       ให้ใช้เป็น     เจ็ดประการ เจ็ดสิ่ง
เห็นควรด้วย     ให้ใช้เป็น     เห็นด้วย เห็นควรเช่นกัน
หอพักสตรี      ให้ใช้เป็น     หอพักหญิง
คนสวย      ให้ใช้เป็น     คนงาม หญิงสวย สาวสวย
ถอยห่าง      ให้ใช้เป็น     ถอยไปหน่อย
หูไม่ดี      ให้ใช้เป็น     หูไม่ได้ยิน หูตึง

ปิดท้ายฉบับนี้ก็ขอนำเอา "สรรพลี้หวน" สองบทครึ่งสุดท้ายมาปิดท้ายก็แล้วกัน เพราะเรื่องนี้ยังแต่งไม่จบ เผื่อว่าจะมีใครอยากจะประพันธ์ต่อไปจนจบ อ่านมาถึงจุดนี้ผมคงไม่ต้องไฮไลต์คำใดแล้วนะครับ น่าจะเข้าใจเองได้อยู่แล้ว :) :) :)

เดินริมฝั่งหังหยีไม่หมีเห็น
จำปอเด็นตามเฝ้าหาวลูกสี
ถ้าสีหวนจวนศพเอาหบกี
พร้อมไหหยีโบตักเที่ยวดักรอ

ถึงเวลาสายัณห์หันดังหวี
ชวนเห็กหลีกลับไปเถอะใดหยอ
ไม่พีพบหลบกันดันทุกออ
ดังกลับรอฟังข่าวอยู่อ่าวใด

พอเย็นย่ำค่ำดีจะคลีหำ
ชวนงามขำเห็กหลีเข้าสีไห


(ต้นฉบับเดิมมีเพียงเท่านี้)

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รูระบายของเหลวที่ท่อด้านขาออกของ Safety valve MO Memoir 2558 July 28 Wed

การทำงานของวาล์วระบายความดัน (Safety หรือ Relief valve) นั้นขึ้นอยู่กับความดันด้านขาออกของวาล์ว เพราะวาล์วจะเปิดก็ต่อเมื่อผลต่างระหว่างความดันด้านขาเข้าและด้านขาออกนั้นสูงถึงค่าที่ออกแบบไว้ ถ้าความดันในท่อด้านขาออกนั้นสูงกว่าค่าที่ออกแบบไว้ วาล์วจะเปิดก็ต่อเมื่อความดันด้านขาเข้าสูงเกินกว่าความดันที่แท้จริงที่ต้องการให้เปิด ตัวอย่างเช่นถ้าเราต้องการให้วาล์วเปิดเมื่อความดันในระบบสูงถึง 5 barg โดยด้านขาออกมีความดัน 0 barg (หรือความดันบรรยากาศ) แต่ถ้าความดันด้านขาออกนั้นสูงกว่า 0 barg เช่นสมมุติให้เป็น 0.2 barg ในกรณีนี้วาล์วจะเปิดเมื่อความดันด้านขาเข้านั้นสูงถึง 5.2 barg
  
ถ้าเป็นการระบายความดันเข้าสู่ระบบท่อรวม เช่นท่อ header ของระบบ flare ที่มีท่อระบายความดันจากวาล์วระบายความดันหลายตัวต่อเชื่อมเข้ามายังท่อหลักเดียวกัน เพื่อนำแก๊สที่ระบายออกมาไปเข้าสู่ระบบกำจัดก่อนที่จะปล่อยออกสู่บรรยากาศนั้น ผลของความดันด้านขาออกมักจะถูกรวมเอาไว้ในการคำนวณอยู่แล้ว เพราะตัวระบบกำจัดเองก็ทำให้เกิดแรงต้านการไหล และการระบายความดันจากวาล์วระบายความดันหลาย ๆ ตัวพร้อมกัน (เช่นในกรณีเพลิงไหม้หรือต้องหยุดเดินเครื่องฉุกเฉิน) ก็จะทำให้ความดันในท่อ header นี้สูงกว่าความดันบรรยากาศ และปัจจัยเหล่านี้มักจะถูกรวมเอาไว้ในการคำนวณเพื่อหาขนาดที่เหมาะสมของวาล์วอยู่แล้ว
  
รูปที่ ๑ ตัวอย่างการติดตั้งวาล์วระบายความดันโดยระบายออกสู่บรรยากาศโดยตรง (พวกถังเก็บอากาศหรือแก๊สไม่อันตราย (เช่นไนโตรเจน) หรือระบบท่อไอน้ำ มักจะเป็นแบบนี้ ในกรณีเช่นนี้ควรต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะมีไอน้ำควบแน่นสะสมในท่อระบายด้านขาออกของวาล์ว และมักจะมีการเจาะรูเล็ก ๆ ที่ตัดต่ำสุด (ในกรอบสี่เหลี่ยมเส้นประ) เพื่อระบายน้ำที่อาจสะสมในระบบท่อออกไป (รูปจาก http://www2.spiraxsarco.com/resources/steam-engineering-tutorials/safety-valves/safety-valve-installation.asp)
  
แต่ก็มีหลายกรณีด้วยกันที่การระบายความดันนั้นระบายออกสู่บรรยากาศโดยตรง กรณีเช่นนี้มักใช้กับการระบายความดันจากระบบกักเก็บสารที่ไม่เป็นอันตราย ที่เห็นได้ชัดทั่วไปในโรงงานคือถังเก็บอากาศและระบบไอน้ำ สิ่งที่ทำก็คือหันท่อทางออกนั้นไปในทิศทางที่ปลอดภัย แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันสำหรับสารที่เป็นเชื้อเพลิง เช่นวาล์วระบายความดันจากถังลูกโลก (spherical tank) ที่ใช้เก็บแก๊สปิโตรเลียมเหลม (LPG) ที่มีการระบายออกสู่บรรยากาศโดยตรง แต่นั้นเป็นกรณีเมื่อมีเหตุการณ์ไฟไหม้ลุกครอกถังดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้การยอมให้มีการระบายแก๊สนั้นออกสู่บรรยากาศโดยตรง (ซึ่งแก๊สที่ออกมาก็จะลุกติดไฟตรงปากทางออก) ถือว่าปลอดภัยว่าการปล่อยให้ความดันในถังสูงขึ้นจนถังระเบิด การออกแบบระบบระบายกรณีนี้เรียกว่า Fire relief ซึ่งมีแนวความคิดที่แตกต่างไปจาก Pressure relief ในขณะใช้งานตามปรกติ
  
ท่อระบายความดันออกสู่บรรยากาศนั้นไม่มีปัญหาเรื่องความดันบรรยากาศเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ความดันด้านขาออกของวาล์วระบายความดันนั้นสูงจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของวาล์วระบายความดัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสที่ความดันด้านขาออกของวาล์วระบายความดันจะสูงจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของวาล์วระบายความดัน มันมีอยู่เหมือนกัน นั่นคือเมื่อมี "ของเหลว" โดยเฉพาะ "น้ำ" สะสมอยู่ในท่อทางออกของวาล์วระบายความดัน
  
วาล์วระบายความดันนั้นจะติดตั้งโดยท่อทางเข้านั้นไหลขึ้นในแนวดิ่ง และท่อทางออกไหลออกในแนวนอนตั้งฉากกับทิศทางไหลเข้า การออกแบบท่อทางออกนี้ต้องคำนึงไม่ให้น้ำมีโอกาสสะสมในท่อได้ น้ำที่สะสมนี้อาจเป็นน้ำฝน (ถ้าติดตั้งนอกอาคาร) หรือน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำในอากาศ (ตามฤดูกาล) หรือน้ำที่เกิดจากการระบายความดัน (เช่นในระบบไอน้ำ)
  
รูปที่ ๒ วาล์วระบายความดันของระบบท่อไอน้ำระบบหนึ่ง เป็นการระบายออกสู่บรรยากาศ ตอนที่ถ่ายรูปนั้นระบบอยู่ระหว่างการติดตั้ง ก็เลยยังไม่มีการเจาะรูสำหรับระบายไอน้ำควบแน่นที่อาจสะสมในท่อทางออกได้ ส่วนเมื่อติดตั้งเสร็จแล้วจะช่างจะทำการเจาะรูหรือไม่นั้นก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
  
ถ้าตำแหน่งวาล์วระบายความดันนั้นอยู่สูงพอ (เรียกว่าไม่อยู่ในระดับที่คนเดินผ่านไปผ่านมา) ท่อทางออกก็จะเดินออกไปข้าง ๆ ได้โดยตรง โดยอาจให้มีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อให้ของเหลว (ถ้าเกิดขึ้นในท่อ) ไหลออกทางปลายท่อ แต่ถ้าจำเป็นต้องยกปลายด้านขาออกให้สูงขึ้นเพื่อให้ปลายท่อนั้นระบายความดันออกไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย ในกรณีหลังนี้จำเป็นที่ต้องพิจารณาตำแหน่งที่ของเหลวสามารถสะสมได้ในระบบท่อ และต้องหาทางระบายของเหลวดังกล่าวออก (ถ้ามีการสะสมเกิดขึ้น) และวิธีการทั่วไปที่กระทำกันก็คือ "การเจาะรูระบายเล็ก" ไว้ตรงตำแหน่งต่ำสุดของท่อนั้น
  
รูปที่ ๓ อีกตัวอย่างการติดตั้งวาล์วระบายความดันที่ระบายออกสู่บรรยากาศ ในกรณีนี้จะเจาะรูระบายของเหลวที่ตำแหน่งต่ำสุดของข้องอ (ในกรอบสี่เหลี่ยมประ) (รูปจาก http://www.pipingguide.net/2010/08/piping-layout.html)
  
รูปที่ ๑ และ ๓ เป็นตัวอย่างการเจาะรูระบายของเหลวที่อาจสะสม โดยในรูปที่ ๑ นั้นจะมีท่อสั้น ๆ ต่อออกมาจากวาล์วระบายความดันก่อนที่จะเข้าข้องอ ดังนั้นในกรณีนี้จะทำการเจาะรูตรงท่อสั้น ๆ เส้นนั้น ส่วนในรูปที่ ๓ นั้นเป็นการต่อข้องอโดยตรงกับด้านขาออกของวาล์วระบายความดัน ในกรณีนี้จำเป็นต้องเจาะรูระบายไว้ที่ตัวข้องอ รูปที่ ๒ เป็นตัวอย่างการติดตั้งจริงของโรงงานแห่งหนึ่งที่ผมไปถ่ายรูปมา เป็นวาล์วระบายความดันของระบบท่อไอน้ำระบบหนึน่ง (ตอนถ่ายรูปนั้นอยู่ระหว่างการติดตั้งวาล์วระบายความดันตัวดังกล่าว) จะเห็นว่ารูปแบบการติดตั้งเป็นการต่อข้องอเข้ากับวาวล์วระบายความดันโดยตรงดังรูปที่ ๓
  
แน่นอนว่าเมื่อเกิดการระบายความดันนั้นจะต้องมีแก๊สบางส่วนรั่วไหลออกทางรูระบายนี้ แต่ด้วยการที่รูไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก (แค่ให้น้ำไหลออกได้) และไม่ได้อยู่ในแนวทิศทางการไหล (เพราะอยู่ตั้งฉาก) ประกอบกับแก๊สที่ระบายออกมานั้นไม่ใช่แก๊สอันตราย การรั่วไหลที่รูระบายนี้จึงถือว่ายอมรับได้
อีกประเด็นที่ต้องคำนึงในการวางท่อระบายความดันด้านขาออกก็คือ แรงกระทำที่เกิดจากการไหลของแก๊สที่ระบายออก โดยเฉพาะท่อระบายที่มีการโค้งงอเปลี่ยนทิศทาง (ดูรูปที่ ๔) จำเป็นต้องนำเอาแรงที่เกิดขึ้นนี้มาพิจารณาออกแบบระบบยึดตรึงท่อให้มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับแรงดังกล่าวได้ เพราะเคยมีเหตุการณ์บันทึกเอาไว้ว่าท่อที่ถูกแรงกระทำดังกล่าวดัดจนพับพาดลงมานั้นก่อให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์รอบข้างและผู้ปฏิบัติงานจนเสียชีวิตมาแล้ว
  
รูปที่ ๔ แรงที่กระทำต่อระบบท่อเมื่อมีแก๊สระบายออก ปรกติความยาวท่อเมื่อออกจากวาล์วระบายความดันไปในแนวนอนมักจะเป็นท่อสั้นอยู่แล้ว ตัวที่อาจก่อเรื่องได้คือส่วนที่อยู่ในแนวดิ่ง (L) เพราะเมื่อแก๊สพุ่งออกทางปลายท่อก็จะทำให้เกิดแรงดัดและโมเมนต์บิดในระบบท่อได้ ถ้าแนวพุ่งออกนั้นอยู่ในระนาบเดียวกันกับทิศทางการพุ่งออกจากวาล์วระบายความดัน (เช่นในรูปซ้าย) ก็จะมีแต่โมเมนต์ดัดที่เกิดขึ้น แต่ถ้าแนวพุ่งออกนั้นอยู่ในระนาบที่ตั้งฉากกับทางทิสทางการพุ่งออกจากวาล์วระบายความดัน (เช่นในรูปขวา) ในกรณีนี้ต้องคำนึงถึงโมเมนต์บิดที่เกิดขึ้นด้วย

รูปที่สุดท้ายในหน้าถัดไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกแบบท่อด้านขาออกของวาล์วระบายความดัน เพียงแค่บังเอิญเห็นมันอยู่ใกล้ ๆ กับวาล์วดังกล่าว อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการป้องกันไม่ให้ใครมาหมุนวาล์วเล่น (ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) วิธีการของเขาก็คือถ้าเป็นพวก gate valve หรือ globe valve ที่เป็นตัวเล็ก ก็จะถอดล้อหมุน (wheel) ออกซะเลย แต่ถ้าเป็นตัวใหญ่ก็จะใช้การใช้โซ่คล้องและเอากุญแจมาล๊อคเอาไว้ ถ้าเป็น ball valve ก็จะใช้วิธีการถอดก้านหมุนวาล์วออก พวก ball valve ตัวเล็กนี่ยิ่งต้องระวัง เพราะแค่เดินชนหรือเผลอเอาอะไรไปกระแทกก้านวาล์ว มันก็เปลี่ยนจากตำแหน่งเปิดเต็มที่เป็นปิดเต็มที่ หรือจากปิดเต็มที่เป็นเปิดเต็มที่ได้ทันที
  
รูปที่ ๕ วาล์วตัวซ้ายเป็นของระบบท่อที่ต่อไปยังอุปกรณ์วัดที่ส่งสัญญาณไปยังระบบควบคุม มีการติดตั้งวาล์วเอาไว้เผื่อเวลาที่อุปกรณ์วัดนั้นเสียจะได้ถอดไปซ่อมหรือเปลี่ยนตัวใหม่ได้ แต่ในขณะใช้งานนั้นไม่ต้องการให้ใครมาปิดวาล์วตัวดังกล่าว เพราะถ้ามีการปิดเมื่อใด อุปกรณ์วัดจะไม่สามารถตรวจพบความผิดปรกติได้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก็เลยต้องถอดตัวล้อหมุนวาล์ว (wheel) ออก เป็นการป้องกันไม่ให้ใครมือซนไปหมุนเล่น (จะโดยจงใจหรือไม่จงใจก็ตาม)

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ถั่วแขก MO Memoir : Sunday 26 July 2558

บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับหลังที่คุณพ่อคุณแม่ผมมาซื้อเมื่อปี ๒๕๒๑ (จำได้ว่าย้ายเข้ามาเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๑) บ้านผมกับบ้านหลังนี้อยู่สุดซอยทั้งคู่ แต่ต่อมาเข้าของเขาย้ายออก คุณพ่อคุณแม่ก็เลยไปซื้อต่อมา ตอนผมกลับจากอังกฤษในปี ๒๕๓๗ ก็ได้ย้ายมานอนที่บ้านหลังนี้จนกระทั่งย้ายขึ้นบ้านใหม่ที่สร้างบนที่ดินผืนติดกันก่อนน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๕๔ เพียงแค่สัปดาห์เดียว
  
เดิมบ้านนี้มีน้องชายผมเขามานอนอยู่ก่อนแล้ว แต่ก็แทบจะไม่ได้เจอหน้ากันทั้ง ๆ ที่อยู่ห้องนอนติดกัน เพราะผมทำงานตอนกลางวัน กลางคืนก็เข้านอน ส่วนเขาเข้าเวรตอนกลางคืน กลางวันกลับมานอน มันก็เลยเหมือนกับว่าบ้านนี้มีคนอยู่คนเดียว ตอนมาอยู่บ้านนี้ใหม่ ๆ คุณแม่ก็เคยมาถามว่าจะให้มานอนอยู่เป็นเพื่อนเอาไหม ผมตอบกลับไปว่าไม่เป็นไร แต่ก็แปลกใจกับคำถามดังกล่าวว่าบ้านนี้มันมีอะไรหรือเปล่า ซักถามไปมาก็เลยทำให้ทราบว่าคนอื่นที่เขามานอนก่อนหน้านี้เขาเคยเจอกันมาบ้าง (ทำนองเป็นแบบมาให้เห็นหรือให้รู้แต่ไม่ได้ทำอะไร) ส่วนผมเองนั้นตั้งแต่ย้ายเข้ามาอยู่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยเจออะไร
  
รูปที่ ๑ ซุ้มถั่วแขกที่สร้างจากราวตากผ้าที่พังแล้ว เดิมมันเป็นซุ้มไม้เลื้อยสารพัดอย่าง ทั้งถั่วฝักยาวและอัญชัน แต่หลัง ๆ เหลือเพียงแค่อัญชัน ตอนนี้ถั่วแขกขึ้นปกคลุมไปหมด ทำเอาอัญชันไม่ได้รับแดดและกำลังจะเหี่ยวตาย
  
รูปที่ ๒ ใบของต้นถั่วแขก จะเห็นว่าเป็นไม้เลื้อยที่มีใบใหญ่มาก จากกิ่งย่อยจะมีใบแยกออกมา ๓ ใบ ขนาดของใบที่โตเต็มที่แต่ละใบก็ประมาณครึ่งหน้ากระดาษ A4

ต้นมะม่วงหน้าบ้านนี้เจ้าของเดิมเขาปลูกเอาไว้ นับอายุจนถึงปัจจุบันก็น่าจะกว่า ๓๐ ปีแล้ว แต่ก็ยังมีผลออกให้สอยกินเกือบทุกปี มันรอดจากน้ำท่วมใหญ่ที่ท่วมอยู่กว่า ๓ สัปดาห์มาได้ แต่เมื่อสักสองปีที่แล้วมีลมพัดกรรโชกแรง ดูเผิน ๆ ก็เหมือนกับว่ามันไม่เป็นอะไร แต่พอดูที่โคนต้นรู้สึกว่าดินด้านหนึ่งจะโปนขึ้นมาเล็กน้อย ก็เลยตัดสินใจหาคนมาตัดแต่งกิ่งให้กับมัน เรียกว่าตัดออกไปเยอะเหมือนกัน เพราะของเดิมมันพุ่มใหญ่มากจนเรียกได้ว่าหน้าบ้านนี่ร่มตลอดทั้งวัน แต่นั่นก็ทำให้ไม้เล็ก ๆ ที่อยู่รอบ ๆ โคนต้นนั้นขาดแสงแดดไปด้วย แม้แต่หญ้าก็ยังตาย
  
พอตัดแต่งกิ่งเสร็จก็มีแดดส่องลงมายังพื้น (แต่ถึงกระนั้นทุกวันนี้ก็ยังต้องคอยตัดแต่งกิ่งมะม่วงและมะเฟืองที่มันงอกออกมาบังแดดมากเกินไป เพื่อให้แดดส่องถึงแปลงผักแปลงนี้บ้าง) ตอนนั้นก็เลยถือโอกาสเอามุมหนึ่งทำแปลงปลูกผักเล่นเสียเลย เริ่มจากแปลงปลูกผักก่อน จากนั้นก็เอาราวตากผ้าอะลูมิเนียมที่มันเสียแล้วมาตั้งแทน ใช้เป็นนั่งร้านสำหรับไม้เลื้อย ส่วนใหญ่ก็เป็นประเภทถั่วต่าง ๆ ถั่วฝักยาวก็เคยปลูก แต่ผมไม่ชอบมันอยู่อย่างก็คือที่บ้านมักจะมีงูเขียวหางไหม้เข้ามาเป็นประจำ และมันก็ชอบอยู่บนต้นไม้ซะด้วย เวลาไปดูถั่วฝักยาวที่มันงอกก็ต้องดูให้ดีว่ามันเป็นถั่วฝักยาวหรือเขียวหางไหม้  อันที่จริงแปลงนี้ผมก็ไม่ได้ไปปลูกอะไรหรอก ภรรยาและลูกสาวคนเล็กมันจะเป็นคนหาอะไรไปปลูกมากกว่า ผมทำเพียงแค่รดน้ำให้เท่านั้นเอง (ปรกติก็เอาน้ำซักผ้าที่ระบายออกจากเครื่องซักผ้าไปราด) แม้ว่ามันจะเป็นซุ้มเล็ก ๆ แต่ก็พอมีผักสดให้เก็บกินทุกสัปดาห์ รอบบ้านผมเองตอนนี้ทั้งตำลึงและชะพลูขึ้นเต็มไปหมด เมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาเลยต้องมีการกวาดล้างครั้งใหญ่ เพราะมีงูเขียวหางไหม้ (แขกเจ้าประจำ) มานอนยิ้มทักทายถึงใกล้ประตูห้องครัว
  
รูปที่ ๓ ก่อนที่จะกลายเป็นดอก

ก่อนหน้านี้ก็เห็นมีแต่อัญชันเลื้อยเต็มไปหมด ต่อมาก็เห็นมีไม้เลื้อยพันธุ์ใหม่มีใบใหญ่ ๆ เริ่มโผล่ขึ้นมา ตอนแรกก็คิดว่าเป็นวัชพืชหรือเปล่า แต่พอถามภรรยาแล้วเขาบอกว่าเป็นถั่วแขก ก็เลยรอดูว่าเมื่อมันโตขึ้นหน้าตามันจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่ามันโตซะคลุมนั่งร้านหมดเลย ทำเอาอัญชันเจ้าถิ่นเดิมค่อย ๆ ตายไป แต่ผมไม่ได้เดือดร้อนเรื่องอัญชันจะตาย เพราะรอบบ้านยังมีอีกหลายพุ่มที่มันเที่ยวไปพันต้นไม้มั่วไปหมด (ร่วมกับตำลึง) จนต้องคอยรื้อทิ้งออกเป็นระยะ เพราะมันทำให้ต้นไม้ที่มันไปอาศัยยืดกิ่งขึ้นสูงไม่ได้ น้ำหนักของไม้เลื้อยมันกดเอาไว้ และยังไปบังแดดซะเกือบหมดอีก ทำเอาต้นไม้ที่มันไปอาศัยนั้นเกือบตายเพราะขาดแสงแดด
  
ส่วนเจ้าถั่วแขกนี้ ประมาณปลายเดือนที่แล้วมันก็เริ่มออกดอก ก็เลยไปถ่ายรูปเก็บเอาไว้ ตอนนี้มันเป็นฝักแล้ว คิดว่าสัปดาห์หน้าก็คงจะเก็บได้แล้ว (คงเอาไว้ปลูกใหม่มั้ง เพราะมีไม่กี่ฝัก ไม่พอทำอาหารกิน) ก็คิดว่าได้เวลานำมันรูปที่ถ่ายเอาไว้มาลง blog สักที เผื่อมีเด็กนักเรียนอยากได้รูปใช้ทำงาน (ค้น google ดูเห็นมีแต่รูปฝักถั่ว แทบไม่มีรูปใบและดอกเลย)
  

รูปที่ ๔ (บน) ดอกของถั่วแขก (ล่าง) ฝักถั่วแขกที่ได้จากพุ่มดอกทางซ้าย

ดอกที่ออกตอนแรกกก็เป็นสีขาว ตอนนี้จากดอกก็กลายเป็นฝักแล้วหน้าตาของดอกและฝักเป็นอย่างไรก็ดูในรูปเอาเองก็แล้วกัน ตอนที่ยังเป็นดอกอยู่ก็มีแมลงมาตอมเยอะเหมือนกัน พอมีแมลงมาก็จะมีนกกินแมลงตามมาอีก นกที่มาเฝ้าประจำเห็นจะได้แก่นกกางเขน ตรงไหนมีดอกไม้ ก็จะมีแมลงมากินเกสร และก็จะมีนกกินแมลงมาจับแมลงเหล่านั้นกินอีกที ที่บ้านก็เลยไม่จำเป็นต้องเลี้ยงนก เพราะมีทั้งไม้ดอกที่ล่อแมลงมาเป็นอาหารนก และไม้ผลเล็ก ๆ เช่นตะขบ ที่นกพวกกินผลไม้นั้นกินได้ ที่แปลกก็เห็นจะได้แก่มะเฟือง ที่มีแต่นกแก้วเท่านั้นมาเก็บกิน ไม่เห็นนกชนิดอื่นหรือกระรอกมาเก็บกินบ้างเลย

เมื่อคืนก่อนตีสี่มีฝนตกลงมาหน่อย ทำให้โชคดีที่วันนี้ไม่ต้องรดน้ำต้นไม้ แต่ก็ทำเอาอากาศยามเช้ามันครึ้ม ๆ ไม่ชวนให้ลุกจากที่นอนมาทำโน่นทำนี่เลย แม้ว่าปีนี้จะแล้งมากแต่ต้นไม้ใหญ่ที่บ้านก็ดูไม่เดือดร้อน คงเป็นเพราะรอบบ้านที่เป็นพื้นดินเปิดโล่ง ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาไม่ว่าครั้งไหน ๆ จะซึมลงไปในพื้นดินก่อนจนกว่าจะซึมไม่ทันนั่นแหละ จึงค่อยล้นไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ ไม้ใหญ่จึงไม่เดือดร้อนเพราะน้ำที่สมสมไว้ในชั้นดินยังมีอยู่อีกเยอะพอใช้ได้ทั้งปี พวกที่เดือดร้อนมากกว่าจากภัยแล้งเห็นจะได้แก่พวกที่รากตื้นเช่นพวกไม้เล็กต่าง ๆ หรือพวกพืชไร่แปลงผัก พวกนี้ดูดซับได้แต่น้ำที่อยู่ผิวดินชั้นบนที่แห้งได้ง่ายเวลาโดนแดดส่อง สาเหตุหนึ่งที่ผมเชื่อว่ามีส่วนทำให้ระบบระบายน้ำของกรุงเทพมีปัญหาคือเราพยายามที่จะผลักน้ำฝนทั้งหมดที่ตกลงมานั้นลงสู่ท่อระบาย ทำให้เกินความสามารถของท่อระบายน้ำที่จะรับได้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วพื้นดินมันสามารถดูดซับน้ำฝนที่ตกลงมานั้นได้ในระดับหนึ่ง ส่วนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าพื้นดินตรงนั้นเป็นอะไร ดินรอบบ้านผมที่โคนต้นไม้บางต้นเอาน้ำทิ้งจากเครื่องซักผ้าร่วมเกือบ ๒๐๐ ลิตรเทลงไปก็ซึมหายลงไปหมด

ปิดท้ายนี้ก็ไม่มีอะไร ก็ขอเอารูปลูกสาวคนเล็กกำลังสนุกกับชิงช้าที่ผูกไว้กับกิ่งมะม่วงมาลงปิดท้ายก็แล้วกัน

รูปที่ ๕ ลูกสาวคนเล็กขณะกำลังสนุกกับชิงช้าที่ผูกไว้กับกิ่งมะม่วงข้างซุ้มถั่วแขก

วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิศวกรรมเคมี ใช่ว่าภาคนี้ไม่มีตำนาน MO Memoir : Saturday 25 July 2558

หลายรายบอกให้ผมเอาเรื่องที่เขียนลง blog พิมพ์เป็นเล่มได้แล้ว ผมก็ตอบกลับไปว่าเนื้อหาบางเรื่องมันก็ค่อนข้างเฉพาะทาง และหลายต่อหลายเรื่องมันก็สะเปะสะปะไปหมด ถ้าจะเอามารวมเล่มก็ไม่รู้ว่าจะให้ชื่อหนังสือว่าอะไร และใครจะมาซื้ออ่าน แต่ผมก็บอกเขาว่าถ้าจะพิมพ์ก็คงจะพิมพ์แจก แต่คงเป็นเรื่อง "ผี" ที่กะว่าจะเขียนให้ได้มากพอที่จะพิมพ์เป็นเล่มแจกวันเกษียณอายุ
  
แต่จะเขียนออกมาทำนองไหน ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน เอาเป็นว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บังเอิญไปโหลด app แต่งภาพผีมาลงโทรศัพท์ ก็เลยเดินถ่ายรูปเล่นในภาควิชา ไม่ว่าจะเป็นบริเวณรอบห้องทำงานของตัวเองหรือห้องทดลองวิทยาศาสตร์ แล้วทดลองแต่งภาพเล่นดู พร้อมทั้งเขียนคำบรรยายภาพไว้สั้น โดยเขียนขึ้นเองจากจินตนาการ และบางส่วนก็มาจากประสบการณ์ในระหว่างการทำงานและที่ได้ฟังนิสิตเล่าให้ฟัง เอาไว้เตือนความจำ เผื่อว่ามีเวลาว่างเมื่อใดจะได้มาเขียนให้เป็นเรื่องเป็นราวสักที
  
รูปที่แต่งนั้นก็เอาลง facebook ไปเมื่อวาน ก็ได้เสียงตอบรับกลับมา วันนี้ก็เลยถือโอกาสเอาสิ่งที่โพสลง facebook มารวบรวมไว้ใน memoir ฉบับนี้ เผื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปจะได้ค้นย้อนหลังได้ง่ายหน่อยว่าเคยคิดอะไรไว้
  
ลองอ่านดูเล่น ๆ อย่าคิดอะไรมากก็แล้วกันนะครับ


"ผู้อยู่อีกฟากด้านของบานประตู"

เสียงลูกบิดประตูขยับเหมือนมีใครสักคนพยายามจะเปิดประตู
 
อาจารย์เจ้าของห้องก็เลยเงยหน้าจากโต๊ะทำงานขึ้นมองดู
 
แล้วพอบานประตูห้องเขาเปิดออก สิ่งที่เขาเห็นก็คือ .......

จะว่าไปอาคารที่ผมห้องทำงานของผมตั้งอยู่แต่ละชั้นมันก็ไม่ได้กว้างอะไรเท่าใดนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามันแตกต่างไปจากอาคารสำนักงานทั่วไปคือที่นี่มีการกั้นห้องเป็นห้องส่วนตัว แม้แต่ประตูก็ไม่ไม่กระจกให้มองเห็นคนเดินผ่านไปมาหน้าห้อง จะมีก็แต่ได้ยินเสียง มีเฉพาะบานกระจกที่อยู่เหนือประตูเท่านั้น
  
มีบ้างเหมือนกันบางครั้งที่มีงานที่ทำให้ต้องมานั่งทำงานอยู่เพียงคนเดียวทั้งชั้น บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าเสียงที่ดังอยู่ภายนอกห้องนั้นมันเป็นเสียงอะไร

 
"ประธานในห้องประชุม"
 

แลปนี้มีห้องที่เป็นทั้งห้องสมุดและห้องประชุม แถมตอนกลางคืนก็ยังมีนิสิตเข้ามาใช้เป็นห้องนอนอีก เพราะมันมืดและแอร์เย็นดี
 
ว่าแต่เคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไมพี่ ๆ ป.โท ป.เอก บางคน ยินดีที่จะนอนค้างในห้องอื่นที่มีแต่พัดลม แทนที่จะมานอนตากแอร์เย็น ๆ ในห้องนี้

ชีวิตนิสิตป.โท ป.เอก นี่บางทีมันต้องทำการทดลองกันข้ามวันข้ามคืน ถึงแม้ว่าบางครั้งจะไม่ต้องมีการเก็บตัวอย่าง แต่ก็ต้องมานอนเฝ้าเผื่อว่าการทดลองที่รอคอยเวลาอยู่นั้นจะเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าดับ น้ำไม่ไหล หรือด้วยสาเหตุใดก็ตาม สถานที่จะปูที่นอนหรือกางเก้าอี้นอนต่างก็เลือกกันตามมุมสบายของตน บางรายนั้นจะนอนที่ไหนก็ได้ ขอให้แอร์เย็น มืด และไม่มียุงหรือหนูมารบกวนก็พอ
  
แต่ก็มีบางที่ที่แม้จะเข้าเกณฑ์ดังกล่าว แต่ก็มีบางคนไม่อยากไปนอนพักในห้องนั้นตอนกลางคืน


"เพื่อนร่วมรุ่น"



นิสิตรายหนึ่งหันไปถามเพื่อนที่เดินมาด้วยกัน
 
"ยายนั่นทำแลปที่ตึกนี้ด้วยเหรอ ทำซีเนียร์โปรเจคกับใครล่ะ"
 
"เฮ้ย เธอตายไปแล้วตอนปิดเทอมปี ๒ ไม่ใช่เหรอ"

ด้วยจำนวนนิสิตในภาควิชาที่เพิ่มขึ้น จนทำให้การเรียนแม้แต่วิชาบรรยายนั้นนิสิตถูกแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ประกอบกับสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยที่นิสิตเองจะไปจับกลุ่มรู้จักกันเฉพาะกับผู้ที่อยู่ใน group เดียวกันเป็นหลัก ทำให้แม้ว่าจะเรียนชั้นปีเดียวกัน ภาควิชาเดียวกัน ก็ไม่รู้จักกัน เพราะไม่มีโอกาสเรียนหนังสือในตอนเรียนเดียวกัน ทำให้แม้แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมรุ่นนั้น ก็ไม่เป็นที่ทราบกัน


"ห้องสุดทางเดิน"

 
"พวกพี่ ๆ ป.โท เขาทำงานกันไม่หลับไม่นอนนะ ดึก ๆ อย่างนี้ยังแต่งชุดแลปออกมาเดินเล่นอีก"
 
แล้วพี่คนนั้นก็เดินหายเข้าไปในห้องสุดทางเดิน
 
โดยที่ประตูยังคงปิดอยู่

เรื่องแบบนี้จัดว่าเป็นเรื่องคลาสสิกเรื่องหนึ่งของภาควิชาเราก็ได้ เรื่องห้องสุดทางเดินนี่นิสิตป.โทของผมเคยโดนมา ตอนราว ๆ ปี ๓๘ หรือ ๓๙ ที่ตึกแลปเคมีชั้น ๓ ตอนนี้มุมนั้นเขากั้นห้องกันใหม่ กลายเป็นแลปของป.โทกลุ่มอื่นไปแล้ว ก็เลยไม่สามารถถ่ายรูปสถานที่จริงมาให้ได้ ได้แต่ถ่ายรูปห้องที่อยู่ใกล้กับห้องที่เกิดเหตุมาประกอบ เหตุการณ์นี้เคยเล่าเอาไว้ใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๓๐ วันพฤหัสบดีที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "เหตุเกิดตอนทำแลปกลางคืน"
  

"ห้องส้วมที่ว่างอยู่"

เวลาเข้าห้องน้ำ เคยชำเลืองดูประตูห้องที่มันเปิดอยู่บ้างหรือเปล่าครับ

เรื่องนี้ไม่รู้ว่าจะเขียนอธิบายอย่างไรดี แต่คิดว่าคงจะพอจินตนาการกันเองได้นะครับ

 
"น้ำเย็น ๆ ที่สุดปลายระเบียง"
 

ยังดีที่ภาควิชาติดตั้งเครื่องทำน้ำเย็นสำหรับดื่มไว้ที่ห้องสุดปลายระเบียง
 
ว่าแต่คุณเคยเข้าไปกดน้ำเย็นในห้องดังกล่าวกินตอนกลางคืนบ้างไหม

ตึกทำงานตึกนี้ได้งบประมาณมาก่อสร้างแบบกระชั้นชิด ทำให้การออกแบบกระทำไปโดยไม่สามารถระบุได้ว่าจะให้อาคารแต่ละชั้นเป็นห้องสำหรับกิจกรรมใด ๆ สิ่งที่ตามมาก็คือการออกแบบระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะก๊อกน้ำและท่อรองรับน้ำทิ้ง
 
พอจะทำการติดตั้งเครื่องทำน้ำเย็นสำหรับดื่มก็เลยมีปัญหา เพราะต้องหาสถานที่ที่มีทั้งท่อน้ำดีและสามารถระบายน้ำทิ้งได้ และสถานที่ดังกล่าวก็อยู่ในห้องเก็บของที่อยู่ปากทางเข้าห้องเครื่องปรับอากาศ เป็นห้องที่อยู่ในซอกสุดทางของระเบึยง

 
"ตัวอย่างที่ต้องทิ้งไว้ข้ามคืน"
 

"นี่คุณ ตัวอย่างตะกอนของคุณเพื่อนคุณเขาเอาไปชั่งน้ำหนักตั้งแต่ตอนเช้าแล้วนะ"

การสอนแลปนิสิตปี ๒ นี่ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง รวมทั้งเหตุการณ์ที่นิสิตที่เข้าภาควิชามานั้นมาเรียนปี ๒ ได้เพียงปีเดียวก็เสียชีวิต มีทั้งการเสียชีวิตในขณะที่อยู่ระหว่างภาคการศึกษา (ประเภทที่เรียกว่าสัปดาห์นี้ยังสอนแลปกันอยู่ พอสัปดาห์หน้าต้องไปงานศพแทน) และที่เสียชีวิตก่อนที่จะขึ้นปี ๓ (อาจารย์ที่ไม่ได้สอนนิสิตปี ๓ ก็เลยมักจะไม่รู้จักนิสิตที่ไม่ได้ขึ้นเรียนปี ๓)
 
การทดลองของนิสิตปี ๒ บางการทดลองนั้นก็ต้องทิ้งตัวอย่างไว้ข้ามคืน เช่นการอบตัวอย่างให้แห้งก่อนนำไปชั่งน้ำหนักและบันทึกผลการทดลอง เช่นการหาน้ำหนักตะกอน แล้ววันรุ่งขึ้นค่อยมาเก็บผล ตอนทำแลปก็ทำกันเป็นกลุ่ม แต่ตอนชั่งน้ำหนักตัวอย่างนั้นส่งเฉพาะแค่ตัวแทนมาเพียงคนเดียวก็พอ