วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564

นานาสาระเรื่องการเปิดวาล์ว (๒) MO Memoir : Wednesday 2 June 2564

ผมเขียนเรื่องนี้ครั้งแรกลง blog เอาไว้เมื่อเกือบ ๗ ปีที่แล้ว (วันเสาร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗) ตอนนั้นจะเน้นไปที่คำขยายต่าง ๆ (ภาษาอังกฤษ) ที่เกี่ยวข้องกับการเปิด-ปิดวาล์ว เช่นการเปิดเพียงเล็กน้อย การเปิดเพียงแค่รู้สึกว่าวาล์วเปิดแล้ว การค่อย ๆ เปิด-ปิด ฯลฯ เพราะว่ามันจำเป็นเมื่อต้องเขียนคู่มือการทำงานเป็นลายลักษณ์อักษร มาวันนี้จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งคือ จากวาล์วที่เห็นติดตั้งอยู่ในระบบนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่าวาล์วตัวนั้นเปิดหรือปิดอยู่

คำตอบสั้น ๆ ก็คือ มันไม่มีสูตรลัดพิเศษ เพราะมันขึ้นอยู่กับการออกแบบ "Stem"

"Stem" ของวาล์วคือชิ้นส่วนที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่าง ชิ้นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการไหลผ่านวาล์ว (ที่อาจเป็น disk, plug หรือ ball) และกลไกที่ใช้ในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของชิ้นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการไหลผ่านวาล์ว (ที่กลไกนี้อาจเป็น hand wheel, handle หรือระบบ actuator ต่าง ๆ ที่ใช้กับวาล์วควบคุม) ในกรณีของ gate valve และ globe valve นั้น การทำให้ตัว disk หรือ plug ที่ปิดกั้นช่องทางการไหลนั้นเคลื่อนที่ขึ้น (เพื่อเปิด) หรือเคลื่อนที่ลง (เพื่อปิด) อาจใช้ การเคลื่อนที่ "ขึ้น-ลง" หรือการ "หมุน" ตัว stem ก็ได้ ส่วนในกรณีของ ball valve, plug valve และ butterfly valve นั้นจะใช้การ "หมุน" ตัว stem เพื่อไปทำให้ตัว ball, plug หรือ disk เปิดหรือปิดช่องทางการไหล

รูปที่ ๑ เป็น gate valve ชนิด rising stem with outside screw เวลาที่เราหมุน hand wheel นั้น ตัว hand wheel จะอยู่ที่เดิม แต่ตัวสกรูที่อยู่ตรงกลางตัว hand wheel จะยื่นออกมาหรือหดตัวเข้าไปก็ขึ้นอยู่กับว่าเราหมุนเพื่อเปิดหรือปิดวาล์ว ถ้ามันโผล่ยื่นออกมา วาล์วก็จะเปิด แต่มันหดหายเข้าไปข้างใน วาล์วก็จะปิด วาล์วแบบนี้มันดูง่ายว่าเปิดหรือปิดอยู่ แต่มันก็มีข้อเสียข้อหนึ่งคือใช้พื้นที่มากหน่อยในการติดตั้ง (ต้องมีที่ว่างให้ตัว stem เคลื่อนที่)

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ เวลาที่เราเปิดวาล์วนั้น เราจะหมุน hand wheel จนกระทั่งหมุนต่อไม่ได้ คือเห็นตัว stem โผล่ยื่นออกมาจนไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อได้แล้ว ซึ่งตรงนี้แม้ว่าวาล์วจะเปิด "เกือบเต็มที่" ในขณะที่เราต้องการให้มันเปิด "เต็มที่" มันก็ไม่ส่งผลอะไรกับการทำงานของระบบนั้น แต่สำหรับการปิดวาล์วนั้นเราจำเป็นต้องรู้ว่าต้องเห็นตัว stem หดตัวเข้าไปจนถึงตำแหน่งไหนจึงจะทำให้วาล์ว "ปิดสนิท" โดยเฉพาะกรณีของ gate valve ที่อาจมีสิ่งสกปรกที่เป็นของแข็งค้างอยู่ในร่องสำหรับให้ตัว disk เคลื่อนที่ ทำให้ตัว disk ไม่สามารถเคลื่อนตัวจนปิดวาล์วได้สนิท ของไหลในระบบยังสามารถไหลผ่านช่องว่างเล็ก ๆ นี้ได้ อุบัติเหตุหนึ่งที่เกิดจากการที่วาล์วปิดไม่สนิทนี้ (คือโอเปอร์เรเตอร์หมุน hand wheel จนกระทั่งมันปิดไม่ได้อีกแล้ว ก็เลยคิดว่าวาล์วปิดสนิทแล้ว แต่ในความเป็นจริงมีสิ่งสกปรกขวางอยู่ในร่อง) เคยเล่าไว้ในบทความชุด "เพลิงไหม้และการระเบิดที่ BP Oil (Grangemouth) Refinery 2530 (1987) Case 1-4 เพลิงไหม้ที่ระบบ Flare" ที่เขียนไว้ในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ การป้องกันได้ด้วยการติดตั้งตัวชี้บอกระดับการเปิดของวาล์วเพื่อให้รู้ว่าวาล์วปิดสนิทแล้วหรือยัง

รูปที่ ๒ เป็น globe valve ชนิด rising stem เช่นกัน แต่เป็นชนิด inside screw เวลาที่เราหมุน hand wheel ตัว hand wheel ก็จะเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงก็ขึ้นอยู่กับว่าเราหมุนเพื่อเปิดหรือปิดวาล์ว ถ้าเห็น hand wheel ยกตัวขึ้นสูงก็อาจเดาได้ว่าวาล์วตัวนั้นเปิดอยู่ แต่ถ้าเห็น hand wheel อยู่ที่ระดับต่ำ ๆ มันก็ยากที่จะบอกว่าวาล์วตัวนั้นเปิดอยู่เล็กน้อยหรือปิดอยู่ (เว้นแต่ว่าเคยทำงานกับวาล์วตัวนั้นจนจำตำแหน่งปิดสนิทได้) ต้องใช้การทดลองหมุน hand wheel เอา ส่วนหมุนด้านไหนเพื่อเปิดหรือปิด ก็ให้นึกถึงเวลาที่เราหมุนก็อกน้ำที่บ้านหรืออ่างล้างมือ มันหมุนในทิศทางเดียวกัน

รูปที่ ๑ Rising stem with outside screw gate valve ตัวที่ ๑ และ ๒ นั้นเปิดอยู่ ส่วนตัวที่ ๓ และ ๔ นั้นปิดอยู่


รูปที่ ๒ Rising stem with inside screw globe valve ตัวที่ ๑ และ ๒ นั้นเปิดอยู่ ส่วนตัวที่ ๓ นั้นปิดอยู่ ตัว steam trap ในรูปนั้นติดผิดทิศทาง ตัวนี้มันต้องเอาด้านที่มี name plate อยู่ด้านบน

วาล์วที่ดูจากภายนอกไม่ได้ว่าเปิดหรือปิดอยู่คือวาล์วชนิด non-rising stem ในกรณีของ non-rising stem นั้นการหมุน hand wheel คือการหมุนตัว stem ที่จะทำให้ตัว disk หรือ plug เคลื่อนขึ้นหรือลงโดยที่ตัว stem ไม่ได้มีการโผล่ยื่นออกมาเหนือตัว hand wheel และตัว hand wheel ก็ยังคงอยู่ที่ระดับเดิม ไม่มีการเคลื่อนที่ขึ้นหรือลง ข้อดีของ stem แบบนี้ก็คือใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยกว่า แต่ข้อเสียก็คือดูด้วยตาเปล่าไม่ได้ว่าวาล์วปิดหรือเปิดอยู่ ต้องใช้การลองหมุนวาล์วดูเอาเอง ถ้าสงสัยว่าวาล์วแบบนี้เป็นอย่างไร ลองดูได้ที่มิเตอร์ประปาหน้าบ้าน

อุบัติเหตุหนึ่งที่เกิดจากการใช้วาล์ว non-rising stem คือกรณีของการรั่วไหลของน้ำมันผ่านวาล์วระบายน้ำฝนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติที่คลังน้ำมัน Caribbean Petroleum Corporation (CAPECO) ที่เมือง Bayamón, Puerto Rico ในคืนวันศุกร์ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ (ค.ศ. ๒๐๐๙) จนทำให้เกิดการระเบิดที่รุนแรงตามมา (รายละเอียดอยู่ในเรื่อง "UVCE case 6 Puerto Rico 2552(2009) MO Memoir : Sunday 17 February 2562") สาเหตุเป็นเพราะวาล์วระบายน้ำฝนตัวหนึ่งเป็นชนิด non-rising stem เมื่อโอเปอร์เรเตอร์ตรวจด้วยการขับรถผ่านแล้วไม่เห็น stem โผล่ออกมา ก็เข้าใจว่าวาล์วปิดอยู่ ทั้ง ๆ นี้ในความเป็นจริงวาล์วมันเปิดอยู่ (วาล์วระบายตัวฝนตัวอื่นใช้แบบ rising stem ยกเว้นวาล์วตัวนี้)

ดังนั้นการจำว่าให้ดูตำแหน่งของ stem เพื่อที่จะบอกว่า gate valve นั้นเปิดหรือปิดอยู่ มันใช้ได้กับกรณีของ rising stem มันใช้ไม่ได้ถ้าไปเจอกับ gate valve ที่เป็น non-rising stem

ต่อไปจะมาดูกรณีของ ball valve กันบ้าง

รูปที่ ๓ ball valve ตัวนี้ด้านบนของ stem เป็นหัวสี่เหลี่ยมจตุรัส (ที่สามารถถอด handle ออกแล้วสวมใหม่ในทิศทางตั้งฉากกับทิศเดิมได้) โดยมีการบากร่องเพื่อให้รู้ว่า ball อยู่ในตำแหน่งเปิดหรือปิด

Ball valve ตัวเล็ก ๆ จะมี handle ยึดติดมากับตัววาล์ว การดูว่า ball valve เปิดหรือปิดก็ดูว่า handle นั้นอยู่ในแนวเดียวกับท่อหรืออยู่ขวางท่อ ถ้าอยู่ในแนวเดียวกับท่อมันก็เปิดอยู่ ถ้าขวางท่อมันก็ปิดอยู่ แต่ก็เคยเจอเหมือนกันกรณีที่มีการถอด handle ออกมาแล้วใส่ผิด (เช่นในระหว่างการติดตั้ง) ทำให้มันสลับกัน

ball valve ตัวใหญ่จะสามารถถอดตัว handle ออกจากวาล์วได้ หรือไม่ก็ไม่ได้ยึดติดมากับตัววาล์ว โดยส่งมาแยกชิ้นอยู่ พอจะหมุนเปิดหรือปิดก็จะเอา handle มาสวมเข้ากับหัว stem บนตัววาล์ว (คือพอวาล์วตัวใหญ่ขึ้น handle มันจะยาวเกะกะมาก บางทีเขาก็เอาโซ่แขวนห้อย ๆ ไว้อยู่ข้าง ๆ ตัววาล์ว ball valve ขนาด 4" ความยาว handle ก็จะอยู่ที่ประมาณ 60 cm แล้ว) ดังนั้นการดูว่าวาล์วเปิดหรือปิดก็ต้องไปดูว่า stem อยู่ที่ตำแหน่งใด อย่างเข่นในรูปที่ ๓ ด้านบนของ stem เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูสำหรับสวมบนตัว handle ก็จะมีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเช่นกัน ทำให้เราสามารถสวม handle เข้ากับ stem ได้สองทิศทาง ส่วนที่ว่าการหมุนนั้นจะเป็นการเปิดหรือปิดวาล์วก็ให้ดูที่ร่องบากบนหัว stem ว่ามันอยู่ในแนวท่อ (คือเปิด) หรือขวางแนวท่อ (คือปิด)

รูปที่ ๔ ball valve ตัวนี้ด้านบนของตัว stem ทำเป็นรูป Double "D" ที่เห็นได้ชัดจากรูปร่างรูของด้ามจับข้างล่าง

วาล์วของบางบริษัทแก้ปัญหาว่ามองทิศทางของร่องบากยาก ก็ใช้วิธีทำให้รูปร่างส่วนหัวของ stem มันมีรูปทรงที่บ่งบอกตำแหน่งวาล์วเลยว่าเปิดหรือปิดอยู่ ดังเช่นตัวอย่างที่ยกมาในรูปที่ ๔ ที่เขาทำให้ส่วนด้านบนของ stem มีรูปร่างที่เขาเรียกว่า Double "D" คือเปรียบเสมือนสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ฝั่งด้านกว้างแทนที่จะเป็นเส้นตรงกลับเป็นเส้นโค้งนูนออกแทน โดยที่เมื่อหันแนวยาวไปตามแนวท่อก็แสดงว่าวาล์วเปิดอยู่ และถ้าแนวยาวมันหันขวางแนวท่อก็แสดงว่าวาล์วปิดอยู่

เรื่องสุดท้ายสำหรับวันนี้คือสามารถติดตั้ง swing check valve เข้ากับท่อในแนวดิ่งได้ แต่ต้องเป็นแบบไหลจากล่างขึ้นบน แต่ถ้ากังวลว่ามันอาจจะเปิดค้างได้ ก็อาจติดตั้ง counter weight ช่วยครับ (ถ้าวาล์วที่ใช้มันยอมให้ติดตั้งได้) แต่ถ้ากังวลเรื่องมันจะเปิดค้างก็หันไปใช้พวกที่ออกแบบสำหรับติดตั้งกับท่อในแนวดิ่งเลยก็แล้วกัน (เช่น vertical lift check valve)

รูปที่ ๕ swing check valve ตัวนี้ติดตั้งในแนวดิ่ง โดยทิศทางการไหลเป็นจากล่างขึ้นบน ตัวนี้ทำหน้าที่เป็น vacuum breaker กล่าวคือถ้าความดันในระบบต่ำกว่าความดันบรรยากาศ มันจะยอมให้อากาศภายนอกไหลเข้าไปข้างในระบบได้

ไม่มีความคิดเห็น: