วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๒๙ การทิ้งระเบิดประตูน้ำคลองภาษีเจริญ MO Memoir : Thursday 1 November 2555

รูปที่ ๑ เวลา : ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) สถานที่ : ประตูน้ำคลองภาษีเจริญ
(รูปจาก http://www.iwm.org.uk)

รูปที่ ๑ ในหน้าที่แล้วผมไปพบในเว็บของ Imperial War Museum มีคำบรรยายภาพกำกับดังนี้

"Low-level oblique photograph taken from a Consolidated Liberator B Mark VI showing a bomb exploding on on the east end of the lock gates of the Klong Phasi Charoen canal, Thailand, during a daylight raid by aircraft of No. 356 Squadron RAF on the Bangkok canal system, which was being used by the Japanese as an alternative communications route to the city.

Label : Photograph taken from a Consolidated Liberator B Mark VI of No. 356 Squadron showing a bomb exploding on lock gates on the Khlong Phasi Charoen canal near Bangkok in Thailand, 18 April 1945"

ก่อนหน้านี้เคยเล่าถึงการทิ้งระเบิดสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำสายต่าง ๆ ในประเทศไทยของกองกำลังฝ่ายพันธมิตร การขนส่งทางรถไฟนั้นสามารถที่จะขนทั้งคนและสิ่งของเป็นจำนวนมาก เดินทางเป็นระยะทางไกล ได้ในเวลาอันสั้น ดังนั้นในช่วงสงคราม เส้นทางรถไฟจึงเป็นเป้าหมายหลักเป้าหมายหนึ่งของการโจมตี

ในช่วงแรกที่กองทัพอังกฤษต้องถอยร่นไปตั้งหลักอยู่ในอินเดีย ประเทศไทยยังอยู่นอกรัศมีทำการของเครื่องบินทิ้งระเบิด แต่เมื่อกองทัพญี่ปุ่นในพม่าเริ่มถอยร่นมาทางตะวันออก สนามบินที่เคยอยู่ไกลไปทางตะวันตกก็สามารถย้ายมาทางตะวันออกได้มากขึ้น ประกอบกับเครื่องบินรุ่นใหม่ที่มีรัศมีทำการไกลขึ้น ทำให้ประเทศไทยอยู่ในรัศมีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตร และเป้าหมายหลักเป้าหมายหนึ่งของฝ่ายพันธมิตรคือเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัยไปยังประเทศพม่า ซึ่งก็คือเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพ มุ่งไปยังชุมทางหนองปลาดุก แยกไปกาญจนบุรี และเข้าไปยังพม่าทางด้านด่านเจดีย์สามองค์

วัสดุหลักที่ใช้ในการสร้างทางรถไฟคือเหล็ก ทั้งเหล็กที่นำมาสร้างเป็นรางและสร้างเป็นสะพาน เหล็กที่ใช้สร้างรางและสะพานในประเทศไทยนั้นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่นนำมาจากอังกฤษ ในช่วงสงครามเมื่อการนำเข้าเหล็กถูกปิดกั้น กองทัพญี่ปุ่นจึงต้องใช้การรื้อรางและสะพานจากเส้นทางต่าง ๆ ที่ไม่มีความสำคัญทางทหารจากประเทศอื่นที่เข้าไปยึดครอง มาใช้ในการสร้างทางรถไฟและสะพานเหล็กในประเทศไทย 
 
ทีนี้พอเส้นทางถูกทิ้งระเบิดเรื่อย ๆ เส้นทางที่สามารถรื้อมาซ่อมแซมได้ก็ลดลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ไม่มีวัสดุที่จะนำมาซ่อมแซมระบบรางและสะพาน การขนส่งทางรถไฟก็เกิดปัญหา ก็เลยต้องหาทางอื่นแทน และเส้นทางสัญจรหลักที่ประเทศไทยมีมานานแล้วคือระบบคลองและแม่น้ำ

เส้นทางน้ำเส้นทางหนึ่งที่สามารถใช้เดินทางจากกรุงเทพ (แม่น้ำเจ้าพระยา) ไปกาญจนบุรีได้คือใช้เส้นทางคลองบางกอกใหญ่ เข้าคลองภาษีเจริญ ไปออกแม่น้ำท่าจีน จากนั้นเข้าคลองดำเนินสะดวก เพื่อไปออกแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งก็จะสามารถเดินทางต่อไปยังจังหวัดกาญจนบุรีได้

หลังจากเส้นทางรถไฟมุ่งหน้าจากกรุงเทพไปภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ถูกทำลาย ทำให้กองทัพญี่ปุ่นต้องหันมาพึ่งพาการขนส่งทางเรือแทน ในเอกสาร 10th Air Force Report ฉบับประจำวันที่ ๑ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) กล่าวไว้ว่า จากการตรวจการในเดือนมีนาคม (ค.ศ. ๑๙๔๕) พบว่ากองทัพญี่ปุ่นใช้การลำเลียงทหารและยุทธปัจจัยโดยใช้เส้นทางน้ำ (รูปที่ ๒) ดังนั้นในวันที่ ๑๘ เมษายนปีเดียวกัน จึงได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด Liberator จำนวน ๖ ลำเข้าโจมตี "Damneun Saduak-Phareon Chaisri canal locks"

locks ในที่นี้ก็คือประตูกั้นน้ำนั่นเอง ชื่อคลองแรกก็ตรงตัวดีคือคลองดำเนินสะดวก แต่ชื่อคลองที่สองผมสงสัยว่าฝรั่งคงเรียกชื่อเพี้ยนไป ชื่อที่ถูกต้องควรจะเป็นคลองภาษีเจริญ ซึ่งจะไปตรงกับข้อมูลในรูปที่ ๑ ที่ระบุว่าเป็นการทิ้งระเบิดประตูน้ำที่คลองภาษีเจริญในวันที่ ๑๘ เมษายนปีเดียวกัน

รูปที่ ๒ ข้อมูลการทิ้งระเบิดประตูน้ำคลองภาษีเจริญที่มีการกล่าวถึงในเอกสาร 10th Air Force Report ฉบับประจำวันที่ ๑ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ (ตรงที่ขีดเส้นใต้สีแดง)

ตรวจสอบจากแผนที่ปัจจุบันทำให้สรุปได้ว่ามุมมองในรูปที่ ๑ เป็นมุมมองประตูน้ำบริเวณวัดปากน้ำในปัจจุบัน (เพราะมีเกาะกลางอยู่ตรงกลางคลอง มีประตูน้ำทั้งด้านซ้ายและด้านขวา) โดยเป็นการมองจากตะวันออกไปทางตะวันตก (เครื่องบินบินมาจากทิศตะวันตก ทิ้งระเบิดและบินเลยต่อไปทางทิศตะวันออก) รูปที่ถ่ายนั้นเป็นการถ่ายรูปจากทางด้านท้ายเครื่องบินมองย้อนหลังกลับไป