วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ภาพรถไฟในหนังสือพงศาวดารชาติไทย (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๗๔) MO Memoir : Wednesday 18 June 2557

"..... การศึกษาประวัติศาสตร์ คือการเหลียวหลังดูอดีตนั่นเอง เราเหลียวเห็นอดีตที่ดี เราก็จะได้จดจำไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าเหลียวพบสิ่งชั่ว ก็จะได้จดจำไว้ว่าเราจะไม่ทำเช่นนั้นอีก และจักได้ศึกษาต่อไปว่าอะไรเป็นเหตุทำให้ชั่ว เราจักได้ตัดต้นเหตุนั้นเสีย และอะไรเป็นเหตุที่ทำให้ดี เราจักได้ถือเอาเหตุนั้นเพื่อก่อสานต่อไป ....."

นั่นคือส่วนหนึ่งของข้อความในจดหมายที่เขียนโดยหลวงรณสิทธิ์พิชัย อธิบดีกรมศิลปากรแห่งชาติ (ในขณะนั้น) ต่อการจัดทำหนังสือ "พงศาวดารชาติไทย ความเป็นมาของชาติ แต่ยุคดึกดำพรรพ์" หนังสือชุดนี้มีทั้งสิ้น ๕ เล่ม ที่น่าสนใจก็คือมีได้มีการรวบรวมภาพถ่ายเก่า ๆ เอาไว้ประมาณ ๓๐๐๐ ภาพ แต่ที่น่าเสียดายก็คือด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ในยุคนั้น ทำให้ภาพที่พิมพ์ลงหนังสือนั้นมีขนาดเล็กและยังขาดความคมชัด สีของภาพที่ปรากฏในแต่ละหน้าก็แตกต่างกันไป ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสีของหมึกพิมพ์หรือเป็นเพราะหนังสือนี้พิมพ์มานานแล้ว (นับถึงปัจจุบันก็เข้าปีที่ ๖๑ แล้ว)
  
ผมไปพบหนังสือชุดนี้ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยในหมวดหนังสือประวัติศาสตร์ (ภาษาไทย) ชั้นหนังสือตั้งอยู่ที่ซอกมุมห้องที่ปรกติมักจะไม่มีคนเดินเข้าไปดูหนังสือ (แต่ก็มีคนเข้าไปใช้ซอกมุมดังกล่าวในการอ่านหนังสือเงียบ ๆ)
  



หนังสือชุดนี้จัดทำโดยคุณสม พ่วงภักดี และคุณทัศนีย์ พ่วงภักดี (รูปของทั้ง ๒ ท่านตีพิมพ์ในหนังสือดังกล่าวด้วย) หนังสือมีขนาดประมาณกระดาษ A5 แต่ว่าแต่ละเล่มก็หนาอยู่เหมือนกัน กระดาษในบางหน้าก็เริ่มเหลืองกรอบแล้ว ไม่รู้ว่าจะได้อยู่บนชั้นหนังสือได้อีกนานเท่าใด และต่อจากนั้นจะเป็นยังไงต่อไป เนื้อหาในหนังสือแบ่งได้เป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นบทความข้อความ และส่วนที่เป็นการรวบรวมรูปภาพ หรือการเล่าเรื่องด้วยรูป
  
เนื่องด้วยผมเองได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรถไฟของบ้านเราเอาไว้บ้าง และในหนังสือชุดนี้ก็มีรูปภาพเกี่ยวกับกิจการรถไฟปรากฏอยู่ ๖ ภาพ (จากภาพทั้งหมดร่วม ๓๐๐๐ ภาพ) ก็เลยคัดเอาเฉพาะภาพที่เกี่ยวกับรถไฟมาลงใน Memoir นี้ รายละเอียดของแต่ละภาพก็ปรากฏอยู่ที่ภาพเหล่านั้นแล้ว





ความคมชัดของแต่ละภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือก็เป็นดังที่เห็น น่าจะเป็นเพราะเทคโนโยลีการพิมพ์ในยุคนั้นและการที่หนังสือมีขนาดเล็กจึงทำให้ขนาดภาพเล็กลงไปด้วย บางหน้ามีภาพถึง ๒ ภาพพร้อมคำบรรยาย ขนาดภาพจึงเล็กลงไปอีก แม้จะพยายามขยายรูปให้ใหญ่ขึ้น (ดังที่เอามาแสดงในที่นี้) ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติมมากนัก 
 



แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือภาพจำนวนมากที่ปรากฏในหนังสือชุดนี้ ผมไม่เคยเห็นปรากฏในหนังสืออื่นใด ๆ อีกที่ออกมาทีหลังหนังสือนี้ ทำให้น่าสงสัยว่าต้นฉบับภาพเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้เก็บรักษาเอาไว้ และยังอยู่ในสภาพที่ดีหรือเปล่า และน่าจะมีการนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันและถัดไปได้ศึกษาหาความรู้ต่อไป

ขอปิดท้าย Memoir ฉบับนี้ด้วยข้อความที่ปรากฏในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้


หนังสือเล่มนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์ ส.ธรรมภักดี

ถนนข้าวสาร พระนคร

นายสม พ่วงภักดี ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา

วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๖

ไม่มีความคิดเห็น: