วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561

รถไฟ ไปเรื่อย ๆ (๔) ล่องทักษิณด้วย metre gauge MO Memoir : Monday 5 March 2561

"ชาญ เย็นแข ซึ่งนั่งรถไฟมากกว่าใครเพื่อน เพราะเขาเป็นนักพากย์หนังภูธรมาเมื่อสมัยหนุ่ม ๆ เขาคุยให้ฟังถึงชื่อสถานีต่าง ๆ สนุกนัก เช่นเมื่อกินเหล้าแล้วก็มีสถานนี 'ควนเมา' สถานี 'ควนพอ' ฉะนั้นจะถึงสถานี 'หนองวิวาท' สถานี 'หนองโดน' เจ็บเข้าก็ไปสถานี 'ศาลายา' หากสาหัสจนเหลือกำลังหมอก็ต้องไปสถานี 'ศาลาธรรมศพ' นั่น … "
 
จากเรื่อง "บ้านผีที่สงขลา" ในหนังสือ "ผีกระสือ ที่บางกระสอ" โดย สง่า อารัมภีร ฉบับจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า พิมพ์ครั้งที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ (ชื่อสถานี 'ศาลาธรรมศพ' สะกดตามต้นฉบับในหนังสือ)

ผมเองสงสัยอยู่เหมือนกันว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สยามรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกมาได้ก็เพราะการเปิดประเทศค้าขายกับประเทศต่าง ๆ อย่างไม่กีดกัน จึงส่งผลให้ประเทศทางยุโรปที่เข้ามาค้าขายกับสยามนั้นไม่ต้องการให้สยามกลายเป็นของผู้ใดผู้หนึ่งผู้เดียว อังกฤษได้ครอบครองอินเดียมาจนถึงพม่า ส่วนฝรั่งเศสก็ได้ครอบครองเวียดนาม ลาว และกัมพูชา และเพื่อป้องกันไม่ให้อังกฤษและฝรั่งเศสเกิดการกระทบกระทั่งกันเอง สองประเทศนี้จึงได้ทำข้อตกลงระหว่างกันเอง โดยซีกตะวันตกนั้นให้อยู่ในเขตอิทธิพลของอังกฤษ และซีกตะวันออกนั้น (คือด้านภาคอีสาน) ให้เป็นเขตอิทธิพลของฝรั่งเศส ดูเหมือนว่าการตกลงนี้เป็นการตกลงที่มหาอำนาจจัดสรรกันเองโดยที่สยามไม่ได้เข้าไปรับรู้อะไรด้วยเลย
 
การศึกษาบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างทางรถไฟในสยามและสภาพการเมืองในสมัยนั้นระบุว่าวัตถุประสงค์หลัก (ที่ไม่ได้มีการกล่าวออกมาตรง ๆ) ของการสร้างทางรถไฟของสยามนั้นก็เพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะการลำเลียงทหารไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ลักษณะภูมิประเทศเปิดช่องให้ทางฝรั่งเศสยกกองทัพเข้ามาได้ง่าย (เพียงแค่นั่งเรือข้ามลำน้ำโขงมา) ในขณะที่การขนทหารจากภาคกลางทำได้ยากกว่า (เพราะต้องผ่านดงพญาไฟ)
 
และขนาดรางที่สยามคิดจะสร้างก็คือ metre gauge (คงเป็นเพราะประหยัดค่าใช้จ่าย) แต่มีการเปลี่ยนเป็น standard gauge หลังจากที่ได้ให้วิศวกรชาวเยอรมันเข้ามาสำรวจเส้นทางและคาดการณ์ผลตอบแทนที่จะได้ ส่วนที่มีการเชื่อกันว่าเหตุผลที่สยามสร้างรางขนาด standard gauge นั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ชาติมหาอำนาจนั้น (ที่สร้างทางในประเทศอาณานิคมข้าง ๆ) เข้ามาใช้ทางรถไฟของสยามได้ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะในเวลานั้นเส้นทางรถไฟในประเทศเพื่อนบ้านนั้นยังมีอยู่จำกัดและยังอยู่ห่างไกลจากพรมแดนของสยาม
 
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสยามมีปัญหาเรื่องการลงทุนสร้างทางรถไฟก็คือการที่สยามต้องกู้เงินจากอังกฤษเพื่อมาสร้างทางรถไฟสายใต้ (รางยิ่งกว้าง ค่าใช้จ่ายในการสร้างก็สูงขึ้น) ในขณะที่เริ่มมีการพิจารณาสร้างทางรถไฟสายใต้นั้นการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือและอีสานก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี สิ่งที่สยามต้องแลกมาเพื่อให้ได้เงินกู้จากอังกฤษก็คือการที่ต้องยกการอ้างสิทธิในดินแดน ๔ รัฐตอนเหนือของมาเลเซียโดยให้อังกฤษมีสิทธิขาดในการปกครอง และยังต้องให้บริษัทของอังกฤษเข้ามามีส่วนร่วมในการทำการก่อสร้างเส้นทางรถไฟอีก
 
การสร้างทางรถไฟสายใต้นั้นแตกต่างไปจากการสร้างทางสายอีสาน กล่าวคือการสร้างทางรถไฟสายใต้นั้นมีการแยกสร้างเป็นส่วน ๆ พร้อมกัน กล่าวคือหลังจากที่เปิดเส้นทางกรุงเทพ-เพชรบุรีแล้ว (โดยจุดเริ่มต้นของเส้นทางนั้นอยู่ที่สถานีรถไฟธนบุรีที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อยฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราชยึดพื้นที่บริเวณชานชลาสถานีเดิมเอาไปสร้างเป็นอาคารแล้ว) การสร้างเส้นทางส่วนขยายก็เริ่มจาก ๓ จุดด้วยกันคือเพชรบุรี กันตัง และสงขลา ทั้งนี้เพื่อให้ใช้เวลาก่อสร้างสั้นลง ส่วนไหนเสร็จก่อนก็เปิดใช้ก่อน (ดูแผนที่ในรูปที่ ๑ และ ๒) เดิมนั้นเส้นทางรถไฟสายใต้นี้แยกไปยังตัวเมืองสงขลาและมาเลเซียที่สถานี "ชุมทางอู่ตะเภา" (ก่อนย้ายมาเป็นหาดใหญ่ในปัจจุบัน) 

รูปทื่ ๑ แผนที่เส้นทางรถไฟสายใต้ช่วงต้น ในส่วนที่เปิดให้ดำเนินการแล้ว (จากกรุงเทพถึงเกาะหลัก) และที่วางรางแล้ว (แต่ยังไม่เปิดให้ดำเนินการ) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอยู่ระหว่างการสำรวจเส้นทาง แผนที่นี้เป็นแผ่นพับแนบมากับหนังสือ "Royal Siamese State Railway Southern LIne 1917" ที่จัดพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์ White Lotus ในปีค.ศ. ๒๐๑๖ (พ.ศ. ๒๕๕๙) เสียดายที่ผมหาไม่เจอว่าแผนที่ฉบับนี้เป็นข้อมูลของปีใด แต่ข้อมูลในหนังสือของ Ichiro Kakizaki ให้ไว้ว่าเส้นทางจากกรุงเทพถึงสงขลาเสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ. ๑๙๑๖ และถึงพรมแดนมาเลเซียในปีค.ศ. ๑๙๒๑


รูปที่ ๒ ส่วนต่อจากรูปที่ ๑ เส้นทางสายใต้นี้เส้นเชื่อมสงขลา ตรัง และนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการก่อนเส้นทางเชื่อมเข้ากรุงเทพ ส่วนเส้นทางสายใต้จากปัตตานีไปยังสุไหงโกลกนั้นอยู่ระหว่างการสำรวจ


รูปที่ ๓ ตัวอาคารสถานีรถไฟธนบุรีเดิม (ถ่ายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๖) ตอนเด็ก ๆ เวลาคุณพ่อคุณแม่พาไปเยี่ยมญาติทางใต้ก็มาขึ้นรถเร็วขบวนธนบุรี-สุไหงโกลกที่สถานีนี้ ยังจำได้ว่ารถออกตอนทุ่มเศษ


รูปที่ ๔ ป้ายบอกสถานที่ตั้งโรงรถจักรธนบุรี แต่ก่อนบริเวณนี้จะมีหัวรถจักรไอน้ำจอดทิ้งไว้

รูปที่ ๕ มองย้อนไปยังสะพานอรุณอัมรินทร์ อาคารสีขาวทางมุมขวาบนคืออาคารของโรงพยาบาลศิริราชที่สร้างขึ้นบนที่ตั้งสถานีรถไฟเดิม


รูปที่ ๖ จากตัวสถานีเดิมที่อยู่ริมแม่น้ำ ปัจจุบันถูกย้ายออกมาเสียไกล


รูปที่ ๗ จากสถานีใหญ่ พอถูกย้ายออกมาข้างนอก ก็เหลือเพียงเท่านี้

แผนการเดิมนั้นมีทั้งการสร้างทางแยกจากชุมพรไปยังระนอง (ที่ท้ายที่สุดกองทัพญี่ปปุ่นมาสร้างให้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และก็รื้อทิ้งไปตอนถอยร่นจากพม่า ด้วยเกรงว่าอังกฤษจะใช้เป็นทางลัดได้) และจากพุนพินไปยังภูเก็ตด้วย เส้นทางสายหลังนี้สร้างได้แค่คีรีรัฐนิคมก็ถูกยกเลิกแผนการไป
 
ก่อนที่จะมีการตัดถนนบรมราชชนนีนั้น เส้นทางหลักที่ชาวสวนผู้หาเลี้ยงชีพอยู่ริมทางรถไฟสายใต้ย่านตลิ่งชันและพุทธมณฑลจะเข้าถึงกลางกรุงเทพได้อย่างรวดเร็วก็ด้วยการโดยสายรถไฟมายังสถานีรถไฟธนบุรี (ถ้าเป็นเส้นทางถนนก็ต้องใช้ถนนพุทธมณฑลสายต่าง ๆ ไปออกยังถนนเพชรเกษมก่อน) ตอนเด็ก ๆ ยังจำได้ว่าผู้ใหญ่เล่าว่ารถขบวนเช้ามืดที่มาถึงสถานีรถไฟธนบุรีจะเต็มไปด้วยชาวสวนชาวไร่ที่นำผลิตผลทางการเกษตรที่ปลูกได้นั้น ขนขึ้นรถไฟมา พอลงรถก็วางขายกันที่ตามชานชลาที่รถไฟจอด ช่วงเวลานี้สินค้าจะมีราคาถูกที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่จะมีคนกลางมารับซื้อต่อเพื่อนำไปขายเอากำไรอีกทอดหนึ่ง สถานีรถไฟในช่วงเวลานั้นถ้าจะเข้าไปในเขตชานชาลาสถานีก็ต้องตีตั๋วชานชาลาเข้าไปด้วย แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่ายกเลิกไปตั้งแต่เมื่อใด

ไม่มีความคิดเห็น: