วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แค่เปลี่ยนเต้ารับก็สิ้นเรื่อง (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๖๐) MO Memoir : Friday 20 December 2556

"ระวังท่อแก๊สแถวนั้นหน่อยนะ เดี๋ยวจะโดนไฟดูด"
เสียงรุ่นพี่เตือนรุ่นน้องขณะที่สอนให้ใช้เครื่อง ChemiSorb 2750 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
 
ผมได้ยินคำเตือนดังกล่าวก็เลยไปหยิบเอาไขควงเช็คไฟมาตรวจสอบ (ควรจะมีเป็นอุปกรณ์ประจำตัวสำหรับแต่ละคนที่ทำการทดลอง) พบว่าไม่ว่าจะจิ้มไปที่ท่อทองแดง regulator ที่หัวถังแก๊ส หรือที่ตำแหน่งโลหะที่ไม่มีสีหุ้ม (เช่นหัวนอต) ของเครื่องวัดพื้นที่ผิว BET ก็พบไฟรั่วทั่วไปหมด (รูปที่ ๑)
เวลาใช้ไขควงเช็คไฟก็ต้องเอานิ้วแตะที่หัวด้านที่มีหลอดไฟด้วยนะ ไม่ใช่แค่เอาไปจิ้มเฉย ๆ ถ้ามีไฟรั่วหลอดไฟจึงจะติด เพราะถ้าไม่เอานิ้วแตะ (ดูรูปที่ ๑) แม้ว่าจะมีไฟรั่ว หลอดไฟก็จะไม่ติด

รูปที่ ๑ (บนซ้าย) ไฟรั่วจากเครื่องผ่านระบบท่อแก๊สที่เป็นท่อทองแดงมาถึงหัวถังแก๊ส (บนขวา) การตรวจวัดที่นอตที่ตัวเครื่องวัดพื้นที่ผิว BET Micromeritics ASAP 2020 ก็พบไฟรั่วเช่นเดียวกัน (ล่างซ้าย) ในวงแดงคือปลั๊กของจอคอมพิวเตอร์ที่ย้ายไปเสียบยังเต้ารับตัวใหม่ที่มีสายดิน (ล่างขวา) ไฟรั่วที่ตรวจพบที่เครื่อง Thermogravimetric analysis
 
ไฟที่จ่ายเข้ามายังเต้ารับของห้องนี้มี ๒ ระบบ ระบบแรกเป็นระบบเดิมของอาคารซึ่งเป็นระบบที่มีสายดินอยู่แล้ว แต่เนื่องจากระบบนี้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการของอุปกรณ์ที่นำมาติดตั้ง จึงได้มีการเดินสายระบบที่สองเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือระบบที่สองที่เดินใหม่นั้น "ไม่มีสายดิน"
  
เครื่องที่เกิดปัญหาคือ Micromeritics ASAP 2020 ที่ควบคุมด้วยไมโครคอมพิวเตอร์ ในวันที่ผมทราบปัญหานั้นเครื่องก็ยังอยู่ระหว่างการทำงานที่คาดว่ากว่าจะเสร็จก็คงจะอีกนาน ในบ่ายวันนั้นจึงได้ทำการทดสอบอย่างง่าย ๆ ให้กับสมาชิกของกลุ่มได้ดู (ที่บังเอิญอยู่ที่แลปตอนบ่าย ๓ คนคือสาวน้อยจากบ้านสวน สาวน้อยจากเมืองโอ่งมังกร สาวน้อยจากเมืองขุนแผน ส่วนสาวน้อยจากเมืองวัดป่ามะม่วงเดาว่าคงนอนอยู่บ้านเอาแรงหลังจากทำการทดลองข้ามคืน)
 
สิ่งที่ผมทำก็คือตรวจสอบดูก่อนว่ามีเต้ารับตัวไหนบ้างในบริเวณนั้นที่มีสายดิน จากนั้นก็นำเอาเครื่องพิมพ์ (ยืมของกลุ่ม DeNOx มาชั่วคราว) มาเสียบสายต่อเข้ากับเต้ารับตัวนั้น จากนั้นก็ต่อเครื่องพิมพ์เข้ากับคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมเครื่อง ASAP 2020 ที่กำลังทำงานอยู่ผ่านสาย USB จากนั้นก็เอาไขควงเช็คไฟตรวจสอบตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่เคยพบการรั่วไหลอีกที ก็พบว่าทีนี้หลอดไฟของไขควงเช็คไฟไม่ติดแล้ว แสดงว่าปัญหาเรื่องไฟดูดก็หมดไป ผมสาธิตให้สมาชิกของกลุ่มดูด้วยการถอดสาย USB ของเครื่องพิมพ์ออกก่อน จากนั้นก็ให้เขาใช้ไขควบเช็คไฟตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่ามีไฟรั่ว แต่พอเสียบสาย USB หลอดไฟของไขควงที่สว่างอยู่ก็ดับ แต่ถ้าดึงสาย USB ออกมันก็สว่างใหม่ (ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องพิมพ์นะ)

อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิดเวลาที่กำลังทำงานนั้นถ้าเราเอาไขควงเช็คไฟไปตรวจสอบก็จะพบว่ามีไฟติด ตรงนี้มันไม่ใช่ข้อบกพร่องของอุปกรณ์ แต่เกิดจากวิธีการทำงานของอุปกรณ์หรือการออกแบบอุปกรณ์ (เช่นเกิดจากการเหนี่ยวนำ การใช้ตัวถังเป็นระบบกราวน์ (สายดิน)) และโดยปรกติเวลาใช้อุปกรณ์พวกนี้ก็ควรจะต้องใช้กับปลั๊กและเต้ารับที่มีระบบสายดิน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสายพ่วงเพื่อการส่งผ่านข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นมักจะมีสายดินอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเสียบอุปกรณ์เหล่านี้เข้าด้วยกัน ถ้าไม่มีอุปกรณ์ตัวใดมีการต่อลงระบบสายดินเลย และถ้ามีอุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียวมีไฟรั่ว ไฟฟ้าก็จะไหลไปยังอุปกรณ์ทุกตัวหมด อย่างเช่นในกรณีนี้มันออกไปจนตามท่อแก๊สที่เป็นท่อทองแดงไปจนถึงถังแก๊ส
 
ในทางกลับกันถ้ามีอุปกรณ์ชิ้นใดชิ้นหนึ่งนั้นมีการต่อลงระบบสายดิน อุปกรณ์ตัวอื่นแม้ว่าจะไม่ได้เสียบเข้ากับเต้ารับที่มีสายดิน ก็จะถูกต่อลงระบบสายดินไปด้วย (แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดคืออุปกรณ์ทุกตัวควรต้องเสียบเข้ากับเต้ารับที่มีระบบสายดิน)
 
ในกรณีที่เล่ามาข้างต้นเป็นการต่อลงระบบสายดินผ่านสาย USB ของเครื่องพิมพ์และสายไฟของเครื่องพิมพ์ที่เสียบเข้ากับเต้ารับที่มีระบบสายดิน
 
การแก้ปัญหาที่ได้กระทำไปเมื่อวันศุกร์ก็คือทำการย้ายปลั๊กของจอคอมพิวเตอร์ให้ไปเสียบยังเต้ารับอีกตัวหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ ที่มันมีสายดิน (ปลั๊กนี้ต่อพ่วงมาจากเต้ารับเดิมของอาคารที่มีระบบสายดิน) ที่เลือกย้ายปลั๊กจอคอมพิวเตอร์ก็เพราะเวลาปิดจอมันไม่รบกวนการทำงานของเครื่อง ASAP 2020 พอย้ายปลั๊กจอเสร็จเรียบร้อยก็ตรวจสอบไฟรั่วอีกครั้ง ก็พบว่าปัญหาดังกล่าวก็หายไป
 
เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับเครื่อง centrifuge ตอนนั้นผมก็บอกให้เขาไปเปลี่ยนสายไฟใหม่ จากของเดิมที่ปลั๊กตัวผู้เป็นแบบมี ๒ ขาให้เปลี่ยนเป็นแบบที่ปลั๊กตัวผู้มีขา ๓ ขาทน เพราะเต้ารับที่ใช้อยู่มันก็มีสายดินอยู่แล้ว ปัญหาเรื่องไฟรั่วก็หมดไป

ตอนนี้อุปกรณ์ในห้องนั้นอีกชิ้นหนึ่งที่เห็นมียังปัญหาอยู่ก็คือเครื่อง Thermogravimetric analysis แต่บังเอิญเครื่องนี้เขาใช้ท่อพลาสติกต่อจากถังแก๊สมายังเครื่อง จึงทำให้ไม่มีการรั่วไหลของไฟฟ้าไปยังถังแก๊ส และเครื่องมันก็เคลือบสีไว้อย่างดี แถมบริเวณที่เป็นผิวโลหะเปิด (เช่นข้อต่อท่อแก๊ส) ก็ไปอยู่ในบริเวณที่ปรกติจะต้องเข้าไปยุ่งอะไร ก็เลยคงทำให้ไม่มีใครรู้ว่ามันก็มีปัญหาอยู่เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: