วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลว(ศัพท์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม) MO Memoir : Thursday 25 March 2553

Memoir ฉบับนี้เป็นตอนต่อจากฉบับเมื่อวานนี้ โดยฉบับนี้จะกล่าวถึงศัพท์ที่พบในวงการกลั่นน้ำมัน เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการ (ซึ่งอาจเป็นวิศวกรสาขาอื่นหรือบุคคลทั่วไป) เข้าใจความหมายของคำที่ใช้ในวงการ

ก่อนอื่นลองมาดูกันก่อนว่าในการแยกน้ำมันดิบออกเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ นั้นกระทำกันอย่างไร


รูปที่ 1 แผงผังแสดงการกลั่นแยกน้ำมันดิบออกเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างง่าย


ก่อนอื่นน้ำมันดิบจะถูกนำไปให้ความร้อนก่อนที่จะป้องเข้าหอกลั่นหอที่หนึ่ง ซึ่งทำงานที่ความดันบรรยากาศ (atmospheric column) ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากหอกลั่นแรกนี้ขึ้นอยู่กับสายที่ป้อนเข้ามา ถ้าเป็นน้ำมันเบาก็อาจได้แก๊สหุงต้ม (LPG) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เบาที่สุดที่ออกทางยอดหอ ถัดลงไปจะเป็นน้ำมันเบนซิน (gasoline) น้ำมันก๊าด (kerosene) น้ำมันดีเซล (diesel) และผลิตภัณฑ์ก้นหอ (distillate)

ผลิตภัณฑ์ก้นหอนี้จะถูกนำไปกลั่นในหอกลั่นที่สองที่ทำงานที่สุญญากาศ (ใช้ steam ejector ทำสุญญากาศ ดูรายละเอียดได้ใน memoir ฉบับวันอังคารที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) เหตุที่ต้องทำการกลั่นในสุญญากาศก็เพื่อให้น้ำมันหนักเหล่านี้ระเหยกลายเป็นไอได้ง่าย เพราะถ้าให้ความร้อนแก่น้ำมันหนักเหล่านี้ที่ความดันบรรยากาศ มันจะไม่ระเหยแต่จะเกิดการแตกตัวออกเป็นโมเลกุลเล็กลงแทน

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากหอกลั่นหอที่สองนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ บางพวกเรียกว่า distillate บางพวกเรียก gas oil และบางพวกเรียก fuel oil เรื่องเรียกชื่อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในโรงกลั่นน้ำมันนี้ต้องทำใจนิดนึง เพราะเป็นเรื่องปรกติที่ผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกันใช้ชื่อเรียกต่างกัน ที่เคยเจอมาแม้ว่าจะเป็นพนักงานในบริษัทเดียวกันแท้ ๆ ยังเรียกต่างกัน อาจเป็นเพราะต่างถือตำราคนละเล่ม หรือมีที่ปรึกษาหรือหัวหน้าหน่วยงานที่ย้ายมาจากที่ทำงานอื่น และที่ทำงานนั้นเรียกชื่อที่แตกต่างออกไป ด้วยเหตุนี้ memoir ฉบับนี้จึงขอถือโอกาสรวมรวมความหมายของชื่อย่อและชื่อต่าง ๆ มาอธิบายเพื่อให้ทราบตรงกัน

ชื่อที่จะอธิบายนั้นไม่ได้เรียงตามลำดับตัวอักษร แต่จะเป็นแบบนึกอะไรออกก็พิมพ์ลงไปเลย

คำว่า gas ในภาษาอังกฤษนั้น ในภาษาไทยเขียนได้ ๒ แบบคือ "ก๊าซ" หรือ "แก๊ส" บางบริษัทจะใช้คำว่า "ก๊าซ" แต่บางบริษัทใช้คำว่า "แก๊ส" ดังนั้นจะสมัครงานบริษัทไหนก็อย่าลืมชำเลืองดูด้วยว่าที่บริษัทนั้นเขาเลือกใช้คำไหน

เวลาที่ใช้คำว่า "หนักกว่า" หรือ "เบากว่า" กับน้ำมัน หมายถึงจุดเดือดของน้ำมัน น้ำมันที่หนักกว่าคือมีจุดเดือดสูงกว่า และน้ำมันที่เบากว่ามีจุดเดือดต่ำกว่า คำนี้มาจากการกลั่น เพราะน้ำมันที่มีจุดเดือดต่ำจะออกทางยอดหอ (ซึ่งเหมือนกับว่ามันเบา เลยลอยขึ้นข้างบนได้) ส่วนน้ำมันที่มีจุดเดือดสูงจะออกทางก้นหอ (ซึ่งเหมือนกับว่ามันหนัก เลยตกลงข้างล่าง)

คำว่า "ข้น" กับ "ใส" ก็เป็นคำอธิบายความหนืดของน้ำมัน น้ำมันที่ใสคือน้ำมันที่มีความหนืดต่ำ และน้ำมันที่ข้นก็คือน้ำมันที่มีความหนืดสูง


CNG - Compressed natural gas

แปลตรงตัวก็คือแก๊สธรรมชาติอัดความดัน แก๊สตัวนี้ก็คือมีเทน (methane - CH4) นั่นเอง เชื้อเพลิงที่เป็นแก๊สมีเทนที่ใช้เติมรถยนต์ รถเมล์ และรถบรรทุกต่าง ๆ ที่วิ่งกันอยู่ในบ้านเราในปัจจุบัน ชื่อเรียกที่ถูกต้องตามหลักสากลคือ CNG แม้แต่กฎหมายที่ออกมาก็ยังระบุว่าเป็น "รถที่ใช้ CNG เป็นเชื้อเพลิง" หรือบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตรถก็ยังบอกว่าเป็นรถที่ใช้ CNG เป็นเชื้อเพลิง

สาเหตุที่ต้องใช้ความดันสูงในการเก็บก็เพราะเราไม่สามารถอัดมีเทนให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ ดังนั้นเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนรถยนต์ ถังเก็บก็เลยต้องใช้ความดันสูง (ประมาณ 200 bar)


NGV - Natural gas vehicle

แปลตรงตัวก็คือยานพาหนะ (รถนั่นแหละ) ที่ใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ชื่อย่อและความหมายนี้เป็นชื่อย่อและความหมายสากลที่ทั้งโลกใช้กัน (ยกเว้นบริษัทหนึ่งของประเทศไทย) กล่าวให้ถูกต้องคือรถยนต์ที่ใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเรียกว่า NGV ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์ที่เป็น NGV คือ CNG การบอกว่าให้รถยนต์ไปใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงนั้นมันจะเป็นไปได้อย่างไร ก็ในเมื่อ NGV ไม่ใช่เชื้อเพลิงแต่เป็นรถ ที่ถูกคือต้องบอกว่าให้รถยนต์ไปใช้ CNG เป็นเชื้อเพลิง

เรื่องมันเกิดจากการมีนักการเมืองระดับสูงผู้หนึ่ง (ซึ่งไม่รู้เรื่องปิโตรเลียมดี) ไปออกความคิดว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำมันแพงก็ควรสนับสนุนให้รถใช้ "NGV" เป็นเชื้อเพลิง (ที่ถูกคือต้องใช้ "CNG" เป็นเชื้อเพลิง) แต่โดยวัฒนธรรมบางอย่างของไทยที่ผู้ใหญ่ต้องถูกเสมอ (แทนที่จะไปบอกว่าท่านพูดผิด) ก็เลยมีการแก้คำเต็มของคำย่อ NGV ว่าย่อมาจาก "Natural gas for vehicle" พึงสังเกตนะว่ามีการเติมคำว่า "for" เข้าไป แต่คำย่อนี้ให้ใช้กับบริษัทนี้บริษัทเดียวเท่านั้นนะ อย่าไปพูดกับคนอื่นนอกประเทศไทย เพราะเดี๋ยวจะขายหน้าไปทั้งโลก


LPG - Liquified petroleum gas

แปลตรงตัวก็คือแก๊สปิโตรเลียมเหลว ซึ่งได้แก่โพรเพน (propane - C3H8) และบิวเทน (C4H10) องค์ประกอบของ LPG นั้นเป็นได้ตั้งแต่โพรเพน 100% ไปจนถึงบิวเทน 100%

มาตรฐานแก๊สหุงต้มใช้ในบ้านเรานั้นไม่ได้ระบุว่าต้องประกอบด้วยโพรเพนและบิวเทนในสัดส่วนเท่าใด แต่ระบุเป็นความดันไอสูงสุด ณ อุณหภูมิที่กำหนดแทน แก๊สหุงต้มในบ้านเราเคยใช้สัดส่วน โพรเพน:บิวเทน ตั้งแต่ 50:50 แล้วก็ไปเป็น 70:30 แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันจะอยู่ที่ 60:40

แก๊สที่เห็นเป็นของเหลวอยู่ในไฟแช็คแก๊ส (แบบราคาถูกที่เป็นพลาสติกใส) ก็คือ LPG ตัวนี้

แก๊สที่ขึ้นมาจากอ่าวไทยนั้นมีโพรเพนและบิวเทนเป็นองค์ประกอบในปริมาณที่จัดว่ามาก ทำให้คุ้มค่าที่จะแยกโพรเพนส่วนหนึ่งออกเป็นสารบริสุทธิ์และขายเป็นสารตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี (เอาไปผลิตเป็นโพรพิลีน) นอกเหนือจากที่นำมาขายเป็นแก๊สหุงต้ม


NGL - Natural gasoline

Natural gasoline หรือแก๊สโซลีนธรรมชาติคือสารประกอบไฮโดรคาร์บอนช่วงประมาณ C5-C8 ที่ได้มาจากหลุมแก๊สธรรมชาติ สำหรับในประเทศไทยนั้นแก๊สธรรมชาติที่ขึ้นมาจากหลุมจะถูกแยกเอาส่วนที่ไม่เป็นแก๊สออกมาก่อน (เช่น น้ำ ไฮโดรคาร์บอนตั้งแต่ C5 ขึ้นไปที่เรียกว่า NGL นี้) และส่งเฉพาะส่วนที่เป็นแก๊สมาตามท่อใต้ทะเลขึ้นบกไปยังโรงแยกแก๊ส

เข้าใจว่า NGL ที่ได้จากหลุมเจาะนี้จะบรรจุลงเรือบรรทุก เพื่อนำไปส่งยังโรงงานบนฝั่ง (ไม่ได้ส่งทางท่อ)

ในบางครั้งถ้าคุยกับคนที่เขาทำงานเกี่ยวกับการขุดเจาะหาน้ำมัน เขาก็อาจเรียก NGL นี้ว่า Condensate แต่ถ้าจะระบุให้ชัดก็ต้องเรียกว่า natural gas condensate

แต่ได้ยินคำว่า condensate ก็ต้องดูก่อนว่าคุยอยู่กับใคร คุยเรื่องอะไร เช่นถ้าคุยกันเรื่องไอน้ำ คำว่า condensate นี้จะหมายถึงไอน้ำที่ควบแน่นเป็นน้ำ (ถ้าจะระบุให้ชัดก็ต้องเรียกว่าเป็น steam condensate)


Gasoline (น้ำมันแก๊สโซลีน)/Keroesene (น้ำมันก๊าด)/Naphtha (แนฟทา)

ไฮโดรคาร์บอนส่วนที่เป็นของเหลวคือส่วนที่มีคาร์บอนตั้งแต่ 5 อะตอมขึ้นไป (C5 ขึ้นไป) น้ำมันตัวแรกสุดในกลุ่มนี้คือน้ำมันแก๊สโซลีน ซึ่งก็คือน้ำมันที่เราเรียกว่า "น้ำมันเบนซิน" นั่นเอง

น้ำมันเบนซินที่ใช้กับรถยนต์บางก็มีการระบุลงไปว่าเป็น Motor gasoline หรือย่อว่า MOGAS

ในทำนองเดียวกัน น้ำมันเบนซินที่ใช้กับเครื่องบิน (เครื่องยนต์ลูกสูบ) ก็มีการระบุลงไปว่าเป็น Aviation gasoline หรือ AVGAS

พวกถัดไปที่มีจุดเดือดสูงกว่าแก๊สโซลีนก็คือน้ำมันก๊าด ซึ่งนำไปใช้ในการจุดตะเกียง และใช้ผลิตเป็นน้ำมันสำหรับเครื่องบินไอพ่นต่าง ๆ เช่น Jet A-1 JP-5 และ JP-8 เป็นต้น

แนฟทานั้นเป็นคำเรียกไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในช่วงน้ำมันแก๊สโซลีนและน้ำมันก๊าด บางคนแทนที่จะเรียกว่าแก๊สโซลีนก็จะเรียกว่า light naphtha แทน และไปเรียกน้ำมันก๊าด (หรือบางทีก็คร่อมช่วงบนของดีเซล) ว่า heavy naphtha แทน แต่เอาเป็นว่าถ้าได้ยินคำว่าแนฟทาก็ให้นึกถึงน้ำมันในช่วงแก๊สโซลีนและน้ำมันก๊าดเอาไว้ก่อน


MTBE (Methyl tertiary-butyl ether)

MTBE เป็นสารประกอบออกซิจิเนตหลักที่ใช้ในการเพิ่มเลขออกเทนของน้ำมันเบนซินสำหรับรถยนต์ในบ้านเราในปัจจุบัน แต่น้ำมันเบนซินสำหรับบางงานหรือในบางประเทศก็ยังยอมให้ใช้สารตะกั่ว (TEL - Tetra Ethyl Lead) เป็นสารเร่งออกเทนอยู่


Diesel

คำว่า "น้ำมันดีเซล" ที่คนทั่วไปพูดถึงกันในประเทศไทยจะหมายถึงน้ำม้นดีเซลที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลหมุนเร็ว หรือ High speed diesel ที่ย่อว่า HSD น้ำมันนี้คือน้ำมันดีเซลที่ใช้กับรถยนต์และเครื่องยนต์เรือขนาดเล็กทั่วไป

แต่ยังมีน้ำมันดีเซลอีกชนิดหนึ่งที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลหมุนช้าหรือ Low speed diesel ที่ย่อว่า LSD ซึ่งบางคนเรียกว่า "น้ำมันขี้โล้" ที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ (เช่นเครื่องยนต์เรือเดินสมุทร)

ช่วงจุดเดือดต่ำของน้ำมันที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้จะคร่อมกับช่วงที่เป็นน้ำมันก๊าด (ส่วนที่มีจุดเดือดสูง) ดังนั้นอย่าแปลกใจว่าทำไมกองทัพของบางประเทศจึงใช้น้ำมันเครื่องยนต์ไอพ่นเติมรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการส่งกำลังบำรุง

ส่วนช่วงที่เป็นจุดเดือดสูงของน้ำมันดีเซลจะคร่อมอยู่กับช่วงที่เป็นจุดเดือดต่ำของน้ำมันเตา แต่เนื่องจากน้ำมันยิ่งมีจุดเดือดสูงมาก็จะมีกำมะถันปนเปื้อนมากขึ้น ดังนั้นเพื่อจำกัดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลจึงได้มีการกำหนดจุดเดือดสูงสุดของน้ำมันดีเซลไว้ที่ 357 องศาเซลเซียส (น้ำมันที่มีจุดเดือดสูงกว่านี้ก็นำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ แต่จะให้ไอเสียที่มีกำมะถันสูงขึ้น)

แต่ราคาขายของน้ำมันดีเซลจะแปรเปลี่ยนตามการปั่นราคาของตลาด ในขณะที่ราคาขายของน้ำมันเตาจะขึ้นอยู่กับค่าความร้อน (พลังงานที่ได้จากการเผาน้ำมันเตานั้น) ซึ่งราคาจะต่ำกว่า ดังนั้นในช่วงหนึ่งที่ราคาน้ำมันดีเซลสูงมากจึงมีการเสนอให้เพิ่มจุดเดือดของน้ำมันดีเซล (เพื่อที่จะเอาส่วนที่ต้องไปขายเป็นน้ำมันเตาในราคาต่ำมาขายเป็นน้ำมันดีเซล ราคาเฉลี่ยของดีเซลจะได้ลดลง) แต่วิธีการดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับ สุดท้ายดูเหมือนว่าจะมีการผลิตน้ำมันดังกล่าวแต่จะไปขายให้กับเรือประมงในทะเล เพื่อช่วยเหลือชาวประมง โดยน้ำมันดังกล่าวจะผสมสีม่วง จึงมีการเรียกว่า "น้ำมันม่วง"


Gas oil/Distillate/Fuel Oil

3 ชื่อนี้เป็นชื่อที่เรียกน้ำมันส่วนที่หนักกว่าดีเซล เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ได้จากหอกลั่นสุญญากาศ ตัวที่เบากว่าก็จะเรียกว่า Light เช่น Light Gas Oil หรือ Light Distillate เป็นต้น ส่วนตัวที่อยู่ตรงกลางก็จะใช้คำว่า Middle เติมเข้าไปข้างหน้า และตัวที่หนักอยู่ล่างก็จะใข้คำว่า Heavy เติมไปหน้าชื่อ

น้ำมันส่วนนี้บางส่วนก็นำไปกลั่นแยกเพื่อผลิตเป็นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน บางส่วนนำไปขายเป็นน้ำมันเตา บางส่วนนำไปผ่านกระบวนการ catalytic cracking เพื่อเปลื่ยนเป็นน้ำมันเบา (พวกเบนซิน) ที่มีราคาดีกว่า


Residual

คือส่วนที่หนักที่สุดที่ออกทางก้นหอของหอกลั่นสุญญากาศ บางทีส่วนนี้อาจเป็น Asphalt หรือยางมะตอยที่นำไปใช้ทำผิวจราจร หรืออาจนำไปเข้ากระบวนการ cracking เพื่อผลิตเป็นน้ำมันเบา


Straight Run

หมายถึงที่ออกมาโดยตรง เช่น Straight Run Gasoline (SRG) หมายถึงน้ำมันที่มีจุดเดือดในช่วงน้ำมันแก๊สโซลีนที่ได้มาจากหอกลั่นบรรยากาศ (หอกลั่นหอแรก) SRG นี้มีเลขออกเทนต่ำ (น่าจะประมาณ 30-40) จนไม่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ทันที ต้องนำไปผ่านกระบวนการอื่นเพื่อเพิ่มค่าเลขออกเทนก่อน


Reformate/Aromatics/BTX

ในโรงกลั่นหรือโรงแอโรแมติกนั้น จะมีการนำไฮโดรคาร์บอนโซ่ตรงในช่วง C6-C8 ไปเข้ากระบวนการที่เรียกว่า Platinum reforming หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า Platforming เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลจากโซ่ตรงให้เป็นวงแหวนแอโรแมติก ผลิตภัณฑ์หลักแอโรแมติกที่ได้จะเป็น เบนซีน (Benzene) โทลูอีน (Toluene) และสารผสมของไซลีน (mixed-Xylene) ทั้ง 3 ไอโซเมอร์ (ortho- meta- และ para-) โดยอาจมีเอทิลเบนซีน (Ethyl benzene) ร่วมอยู่ด้วย

ผลิตภัณฑ์ที่ออกจากกระบวนการ Platorming จะเรียกว่า Reformate หรือ BTX (ซึ่งเป็นชื่อย่อของสารประกอบแอโรแมติกหลัก 3 ตัวในผลิตภัณฑ์นั้น) Reformate นี้ถูกนำไปใช้เป็นสารเร่งออกเทนในน้ำมันเบนซิน (ซึ่งอาจสูงถึง 35% ในเนื้อน้ำมัน) หรือนำไปแยกออกเป็น เบนซีน โทลูอีน และไซลีน บริสุทธิ์ และขายเป็นตัวทำละลายหรือสารตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อไป

เอทิลเบนซีนไม่ได้ผลิตจากกระบวนการ reformate แต่ได้จากปฏิกิริยาระหว่างเบนซีนกับเอทิลีน


Biodiesel/B2/B5/B100

ไบโอดีเซลที่เคยมีการทำใช้ในบ้านเรานั้นมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกเป็นแบบที่ชาวบ้านทำกันเองก่อนโดยการนำเอาน้ำมันพืชไปผสมกับน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันดีเซลโดยตรง และแบบที่สองเป็นการนำเอาน้ำมันพืชไปผ่านกระบวนการทางเคมีก่อนเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลเป็นเมทิลเอสเทอร์ (methyl ester) หรือเอทิลเอสเทอร์ (ethyl ester) ของกรดไขมัน ไบโอดีเซลที่บริษัทน้ำมันต่าง ๆ พูดถึงและขายกันเป็นแบบที่สองนี้

น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลผสมอยู่จะมีตัวอักษร B และตัวเลขกำกับ B2 ก็คือน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลผสมอยู่ 2% โดยส่วนที่เหลือเป็นน้ำมันดีเซล B5 ก็คือน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลผสมอยู่ 5% โดยส่วนที่เหลือเป็นน้ำมันดีเซล ส่วน B100 ก็คือน้ำมันไบโอดีเซลบริสุทธิ์ ข้อกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ประกาศไว้นั้น ในส่วนของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา จริง ๆ แล้วคือ B2 (เพราะกำหนดให้ต้องมีเมทิลเอสเทอร์ 1.5-2%) ส่วนอีกตัวหนึ่งเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5


Gasohol/E10/E20/E85

แก๊สโซฮอล์คือน้ำมันเบนซินที่ใช้เอทานอลเป็นสารเร่งออกเทน แก๊สโซฮอล์ที่ขายในบ้านเรามี 3 ชนิดคือ E10 ซึ่งมีเอทานอลผสมอยู่ 10% (ส่วนที่เหลือเป็นน้ำมันเบนซิน) E20 ก็มีเอทานอลอยู่ 20% (ตัวนี้หาเติมยากหน่อย) และ E85 ก็มีเอทานอลอยู่ 85% (ตัวนี้หาเติมยากสุด)

แก๊สโซฮอล์ E10 นั้นมีทั้งออกเทน 91 และ 95 ส่วน E20 และ E85 นั้นมีแต่ชนิดออกเทน 95

เครื่องยนต์ที่ออกแบบมาใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิงนั้น สามารถใช้ E10 ได้โดยไม่มีปัญหาใด (ในเรื่องของการจุดระเบิดและกำลังนะ ไม่ใช่ส่วนของชิ้นส่วนสัมผัสน้ำมัน) แต่ถ้าจะใช้น้ำมัน E20 หรือ E85 ได้การออกแบบเครื่องยนต์จะแตกต่างออกไป ดังนั้นรถที่ใช้น้ำมัน E10 อย่าเผลอไปเติม E20 ทั้ง ๆ ที่เลขออกเทนมันเท่ากันหรือสูงกว่า แต่รถที่ใช้น้ำทัน E20 สามารถเติม E10 ได้


ผมเคยตั้งคำถามเล่น ๆ ว่า เห็นพวกวิศวกรเคมีพยายามหาทางผลิตเอทานอลบริสุทธิ์เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการมากมายเพื่อขายในราคาแค่ลิตรละ 20 กว่าบาท ส่วนพวกเรียนทางด้านอาหารนั้นเขาทำเอทานอลเข้มข้น 5-15% ในน้ำและขายเป็นไวน์ขวดละ 150-200 บาท (ต่อขวดขนาดบรรจุ 0.75 ลิตรเอง) ซึ่งได้ราคาดีกว่าร่วม 10 เท่าและก็มีต้นทุนต่ำกว่าด้วย

ดังนั้นถ้าเทียบระหว่างการพัฒนาการผลิตเอทานอลเพื่อนำมาทดแทนน้ำมันที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และการพัฒนาการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อทดแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แบบไหนจะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศได้ดีกว่ากัน

ไม่มีความคิดเห็น: