วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2564

สถานีรถไฟวัดสุวรรณ MO Memoir : Sunday 4 April 2564

ก็แค่บันทึกภาพเอาไว้ ก่อนที่บรรยากาศแบบเดิม ๆ มันจะหายไปหมด (คือจะว่าไปมันก็หายไปเยอะแล้วเหมือนกัน)

คลองมหาสวัสดิ์มันมีมาก่อนทางรถไฟ การสร้างทางรถไฟขนานไปกับเส้นทางน้ำมันก็มีข้อดีเหมือนกันคือสามารถใช้เส้นทางน้ำที่มีอยู่เดิมนั้นลำเลียงทั้งแรงงาน วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างที่จำเป็นต่าง ๆ ได้ แถมยังมีชุมชนริมน้ำ ที่ต่อไปก็จะได้กลายมาเป็นผู้ใช้บริการ

คงเป็นเพราะมีวัด ก็เลยมีชุมชนอยู่ใกล้ ๆ ที่วัดสุวรรณฯ นี้มีบริการเรือนำเที่ยวคลองมหาสวัสดิ์ เป็นบริการเช่าเหมาลำ ค่าบริการจะรวมเอาค่าเช่าเรือและค่าเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ ของชาวบ้านริมน้ำ จะเรียกว่าเป็นการทำธุรกิจร่วมกันแบ่งปันรายได้ให้แก่กันก็ได้ คือคนมีเรือก็ได้ค่าเช่าเรือ คนมีสวนก็ได้ค่าเข้าชม (และอาจรวมถึงของฝากด้วย)

ถึงแม้ว่าทางรถไฟสายใต้ช่วงนี้จะเป็นรางคู่แล้ว แต่บางสถานีเช่นสถานีวัดสุวรรณนี้ก็มี ๓ ราง คงเป็นเพราะเอาไว้ให้จอดรอ ที่สถานีวัดงิ้วรายก็เป็นแบบเดียวกัน วันที่ไปนั้นมีรถสินค้ามาจอดรออยู่ขบวนหนึ่ง ถามเจ้าหน้าที่สถานีเขาก็บอกว่าเป็นช่วงตอนเย็นชั่วโมงเร่งด่วน ก็เลยให้รถสินค้าจอดรอก่อน (คงกลัวไปทำให้กลางกรุงรถติดมากขึ้นไปอีก) สำหรับวันนี้ก็ถือว่าดูรูปเล่น ๆ แล้วกัน แล้วอีกสัก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีก็ค่อยกลับมาดูใหม่ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

รูปที่ ๑ ด้วยการที่มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งมาตั้งที่ศาลายาและบริเวณใกล้เคียง ต่อไปพื้นที่บริเวณนี้ที่เคยเป็นนาข้าวเดิมก็คงกลายเป็นชุมชนและหมู่บ้านจัดสรร

รูปที่ ๒ แผนที่ที่กองทัพอังกฤษในอินเดียจัดทำไว้เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จุดดำ ๆ คือที่ตั้งชุมชนต่าง ๆ จะเห็นว่าจะอยู่ตามริมคลองและแม่น้ำท่าจีนเป็นหลัก เส้นทางรถไฟสายใต้ช่วงนี้ก็วิ่งคู่ขนานไปกับคลองมหาสวัสดิ์

รูปที่ ๓ สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ที่วัดสุวรรณฯ สะพานนี้มอเตอร์ไซค์วิ่งข้ามได้แต่รถยนต์ผ่านไม่ได้ วัดจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ รูปนี้มองไปทางทิศทางไปแม่น้ำท่าจีน

รูปที่ ๔ ขึ้นมาถ่ายรูปบนสะพาน มองไปทางทิศทางไปแม่น้ำเจ้าพระยา วัดจะอยู่ทางขวามือ

 

รูปที่ ๕ จากบนสะพาน มองไปทางทิศทางไปแม่น้ำท่าจีน

 
รูปที่ ๖ ศาลาที่พักริมน้ำ แต่เดิมคงใช้เป็นที่พักผู้โดยสารที่เดินทางโดยอาศัยเรือเป็นหลัก

รูปที่ ๗ ทางเข้าสถานีรถไฟอยู่คนละฟากถนนกับวัดสุวรรณฯ

รูปที่ ๘ ตัวอาคารสถานียังเป็นแบบเก่าอยู่ (ไม่รู้เหมือนกันว่าจะโดนรื้อเมื่อไร)

 
รูปที่ ๙ ป้ายบอกชื่อสถานีข้างเคียง อันที่จริงแบบเดิมนั้นจะมีบอกด้วยว่าสถานีถัดไปนั้นอยู่ห่างออกไปกี่กิโลเมตร

รูปที่ ๑๐ มองไปยังเส้นทางที่มาจากสถานีศาลายา

 

รูปที่ ๑๑ มองไปทางเส้นทางที่มุ่งหน้าไปยังสถานีคลองมหาสวัสดิ์

 
รูปที่ ๑๒ ช่องจำหน่ายตั๋ว ที่ยังคงรูปแบบเดิม ๆ
 
รูปที่ ๑๓ แม้ว่าหัวรถจักรจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่รูปบนป้ายเตือนรถไฟก็ยังคงเป็นหัวรถจักรไอน้ำเหมือนเดิม

ไม่มีความคิดเห็น: