ช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสบดีที่
๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เวลาประมาณ
๐๓.๐๐
น ได้เกิดแก๊สรั่วที่โรงงานของบริษัท
LG Polymers
ที่ผลิตพอลิสไตรีน ณ
เมือง Venkatapuram
ประเทศอินเดีย
ผลจากอุบัติเหตุครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่า
๑๐ ราย
โดยแก๊สที่ระบุว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตคือสไตรีน
(styrene
C6H5-CH=CH2)
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุนั้นคงต้องรอผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการ
ซึ่งจะแล้วเสร็จเมื่อใดและจะมีเผยแพร่ออกสู่สาธารณะหรือไม่นั้น
ณ เวลานี้ก็คงจะยังบอกอะไรไม่ได้
ข้อมูลที่มีเผยแพร่กันก็เป็นเพียงแค่จากผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวต่าง
ๆ ที่ได้จากการสอบถามผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น
สิ่งที่ต้องการบอกในที่นี้ก็คือ
ถ้าเราพิจารณาโดยใช้ความรู้ที่มีอยู่
และข้อมูลความรู้พื้นฐานที่มีการเผยแพร่
เราก็จะสามารถมองเห็นความไม่ลงรอยกันของข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าว
ดังนั้นถ้าจะเอาข่าวที่ปรากฏไปบอกเล่าต่อ
ก็คงต้อย้ำว่าข่าวนี้
"เขาบอกว่า"
เกิดอย่างนั้นอย่างนี้
แต่ความเป็นจริงจะเป็นอย่างที่ข่าวนั้นบอกหรือไม่
เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
และก็ไม่ควรนำไปเผยแพร่ต่อในรูปแบบที่ทำให้ผู้รับนั้นคิดว่าข่าวนั้น
"มันถูกต้อง"
ผมขอไม่เอาข่าวจากสำนักพิมพ์ต่างประเทศมาลง
แต่ขอไปเอาข้อความที่ปรากฏใน
wikipedia
ที่มีผู้ไปเขียนไว้
(รูปที่
๑)
โดยกล่าวว่าเพื่อความปลอดภัยแล้ว
การเก็บสไตรีนควรต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิระหว่าง
20-22ºC
ซึ่งถ้าอุณหภูมิสูงเกินนี้ก็จะระเหยกลายเป็นไออย่างรวดเร็ว
โดยตรงนี้มีการอ้างอิงไปยังเอกสาร
[9] ซึ่งก็คือ
"Safe handling
and storage of styrene monomer" ของบริษัท
Chevron Phillips
Chemical
และถ้าอุณหภูมิสูงเกินนี้ก็จะทำให้สไตรีนเกิดการระเหยกลายเป็นไอ
(อ้างอิงไปยังเอกสาร
[10]
ซึ่งเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์)
และในวันนั้นสไตรีนได้รั่วไหลไปเป็นรัศมีกว่า
๓ กิโลเมตร
รูปที่ ๑
เหตุการณ์ที่มีผู้เขียนเอาไว้ใน
wikipedia (ข้อมูล
ณ วันอังคารที่ ๑๒ พฤษภาคม
๒๕๖๓)
เอาเรื่องแรกก่อนเลยที่เขาบอกว่า
"การเก็บสไตรีนควรต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิระหว่าง
20-22ºC
ซึ่งถ้าอุณหภูมิสูงเกินนี้ก็จะระเหยกลายเป็นไออย่างรวดเร็ว"
ซึ่งจะว่าไปแล้วประโยคนี้มี
"ความไม่ถูกต้อง"
ปะปนอยู่ ตารางที่ ๑
แสดงจุดเดือดของ น้ำ โทลูอีน
และสไตรีน เปรียบเทียบกัน
จะเห็นนะครับว่าจุดเดือดของสไตรีนสูงกว่าน้ำมาก
ขนาดบ้านเราที่มีอากาศร้อนที่อุณหภูมิห้องสูงเกินกว่า
20-22ºC
ก็ไม่เคยเห็นน้ำที่ใส่ไว้ในภาชนะมีการระเหยอย่างรวดเร็วเลย
รูปที่ ๒
กราฟความดันไอ (bar)
ของน้ำ โทลูอีน และสไตรีน
ในช่วงอุณหภูมิ 20-120ºC
คำนวณโดยใช้ค่าคงที่ในตารางที่
๑
รูปที่
๒ เป็นกราฟความดันไอของ น้ำ
โทลูอีน และสไตรีน เปรียบเทียบกัน
จะเห็นว่าความดันไอของสไตรีนนั้นต่ำกว่าของโทลูอีนและน้ำอยู่อย่างเห็นได้ชัด
และใน ref
[9] ก็ไม่ได้มีประโยคที่เขาอ้างอิงถึงปรากฏ
ข้อความที่น่าจะถูกต้องมากกว่าคือควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิ
"ไม่สูงเกิน
...."
เพราะถ้าสูงเกินนี้มันจะเกิดปัญหาได้
ด้วยการที่สไตรีนมีจุดเดือดที่สูง
ดังนั้นจึงสามารถเก็บไว้ในถังที่ความดันบรรยากาศได้
แต่ถังประเภทนี้มักจะมีช่องทางให้อากาศไหลเข้าหรือไอเหนือผิวของเหลวระบายออกเวลาที่อุณหภูมิหรือระดับของเหลวในถังเปลี่ยนแปลง
เพื่อไม่ให้ความดันในถังลดต่ำหรือสูงขึ้นมากเกินไป
ซึ่งทำให้บริเวณที่เป็นไอเหนือผิวของเหลวมีออกซิเจนปะปนอยู่ได้
สไตรีนสามารถเกิดการพอลิเมอร์ไรซ์ได้ด้วยตัวกระตุ้น
(initiator)
หลากหลายชนิด
ออกซิเจนก็สามารถทำปฏิกิริยากับสไตรีนเกิดเป็นสารประกอบที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์ได้
เนื่องจากปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซฅ์เป็นปฏิกิริยาคายความร้อน
และถ้าไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ทัน
ปฏิกิริยาก็จะเร่งจนเองมากขึ้นเรื่อย
ๆ จนถึงระดับที่เรียกว่าไม่สามารถควบคุมได้
(runaway)
ซึ่งข้อมูลใน ref
[9]
ระบุไว้อุณหภูมิที่ทำให้ปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์สามารถเลี้ยงตนเองได้นั้นอยู่ที่ประมาณตั้งแต่
65ºC
ขึ้นไป และเมื่อใดที่ปฏิกิริยาเกิดการ
runaway
ความร้อนที่ปลดปล่อยออกมาก็สามารถทำให้สไตรีนเดือดกลายเป็นไอและไหลระบายออกจากถังได้อย่างต่อเนื่อง
(คือจนกว่าสไตรีนในถังจะหมด)
ด้วยเหตุนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สไตรีนเกิดการพอลิเมอร์ไรซ์จึงจำเป็นต้องมีการเติมสารยับยั้ง
(inhibitor)
ผสมเข้าไปในถังเก็บ
ตัวอย่างของสารยับยั้งเช่น
4-tert-butylcatechol
แต่สารยับยั้งตัวนี้มันอยู่ในเฟสของเหลว
มันไม่ได้ระเหยเป็นไอตามสไตรีนขึ้นไปด้วย
ดังนั้นแม้ว่าจะมีการเติมสารยับยั้งแล้ว
สไตรีนในส่วนที่เป็นไอก็ยังสามารถเกิดการพอลิเมอร์ไรซ์ได้
รูปที่ ๓
ข้อมูลอันตรายของโทลูอีนและสไตรีน
(จาก
en.wikipedia.com)
ดังนั้นถ้าความผิดพลาดในการทำงานของระบบทำความเย็นเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหา
การที่สไตรีนกลายเป็นไอรั่วไหลออกมาจากถังนั้นมันจึงไม่น่าที่จะเกิดจากการที่ตัวมันสามารถระเหยได้อย่างรวดเร็ว
แต่น่าจะเกิดจากการเกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์ของสไตรีนในถัง
และความร้อนที่คายออกมานี้เป็นตัวทำให้สไตรีนเดือดและระเหยออกมา
เหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์การรั่วไหลของ
dioxin ที่เมื่อ
Seveso
ประเทศอิตาลีในปีพ.ศ.
๒๕๑๙ ตรงนี้มีการหยุดการทำงาน
ทำให้ไม่มีคนดูแลโรงงาน
และความร้อนที่ทำให้ของเหลวในถังเดือดจนรั่วไหลก็คือความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาที่
runaway
ที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในถังสูงเกินไป
และยังคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมือง
Bhopal
ประเทศอินเดียเองเมื่อปีพ.ศ.
๒๕๒๗
ที่เกิดการรั่วไหลในช่วงเวลากลางคืนที่คนในชุมชนที่อยู่
"ติด"
โรงงานนั้นนอนหลับอยู่
และการรั่วไหลเกิดจากปฏิกิริยาการรวมตัวเป็นโมเลกุลใหญ่ขึ้น
(ซึ่งเป็นปฏิกิริยาคายความร้อนออกมา)
ที่เร่งตนเองจนเกิดการ
runaway
ประกอบกับการที่ระบบทำความเย็นเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในถังเก็บสารสูงเกินไปนั้นไม่ทำงาน
เรื่องถัดมาที่ควรพิจารณาคือสาเหตุของการเสียชีวิต
แก๊สทำให้คนเราเสียชีวิตได้สองรูปแบบ
รูปแบบแรกคือการที่มันเข้าไปเจือจางอากาศจนออกซิเจนไม่เพียงพอสำหรับการหายใจ
แก๊สพวกนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นพิษต่อร่างกาย
เช่น ไนโตรเจน อาร์กอน
รูปแบบที่สองเกิดจากความเป็นพิษ
คือแม้ว่ามันจะมีความเข้มข้นที่ต่ำในอากาศ
(คือยังมีออกซิเจนมากเพียงพอสำหรับการหายใจ)
ก็สามารถทำให้คนเสียชีวิตได้
เช่นแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์
(H2S)
และคาร์บอนไดออกไซด์
(CO2)
ที่เป็นตัวการทำให้มีผู้เสียชีวิตจนเป็นข่าวหลายครั้งแล้วในบ้านเรา
ในกรณีของสไตรีนนี้ผมมีบางประการที่ยังติดใจอยู่
คือจากข้อมูลความเป็นพิษที่หามา
(รูปที่
๓)
ความเข้มข้นต่ำสุดที่มีรายงาน
(คือหลากหลายรายงานก็ให้ความเข้มข้นต่ำสุดแตกต่างกัน)
คือ 10,000
ppm (1 vol%) นาน 30
นาที
กล่าวคือถ้าอยู่ในบรรยากาศที่มีสไตรีนเข้มข้น
1% นาน
30
นาทีก็จะเสียชีวิตได้
แต่ความเข้มข้นนี้สูงกว่า
Lower Explosive
Limit คือ 0.9%
สิ่งที่คาใจคือผู้เสียชีวิตนั้นสูดหายใจเอาแก๊สที่มีความเข้มข้นเท่าใดและเป็นเวลานานเท่าใด
(ต้องพึงระลึกว่าแก๊สเกิดการรั่วในขณะที่คนในชุมชนติดโรงงานนั้นนอนหลับกันอยู่)
และถ้าเป็นแก๊สที่มีความเข้มข้นสูง
ทำไมมันจึงไม่เกิดการระเบิด
ทั้ง ๆ ที่มันน่าจะมีโอกาสระเบิดที่สูง
ที่เอาโทลูอีนมาเปรียบเทียบก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ
เพราะพอเห็นข่าวนี้แล้วนึกถึงการระเบิดที่มาบตาพุดเมื่อวันที่
๕ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕
ที่กรณีนั้นเขาบอกว่าโทลูอีนรั่วออกมา
ข้อเท็จจริงของการสอบสวนได้ยินว่าออกมาแล้ว
แต่เปิดเผยเฉพาะเป็นการภายใน
(คิดว่าอาจเป็นแค่วงแคบ
ๆ เท่านั้นเอง)
สิ่งที่ได้ยินใครต่อใครเขาพูดกันก็คือโทลูอีนรั่วออกมา
แต่พอถามกลับว่าสามารถอธิบายได้ไหมว่า
โทลูอีนมีจุดเดือดสูงกว่าน้ำ
และค่อนข้างเฉื่อย
(ไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์เหมือนสไตรีน)
แล้วทำไมมันจึงสามารถทำให้เกิดการระเบิดแบบ
UVCE (ที่ย่อมาจาก
Unconfined Vapour
Cloud Explosion) ได้
ซึ่งมันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมันเป็นของเหลวได้เมื่อยู่ภายใต้ความดัน
แต่ถ้ารั่วออกมาที่ความดันบรรยากาศก็จะกลายเป็นไอฟุ้งไปทั่ว
(แบบแก๊สหุงต้ม)
และในขณะนั้นก็เป็นช่วงที่ทำการล้างถังอยู่
ซึ่งคำถามนี้ผมเองก็ยังไม่มีคำตอบ
แต่ในกรณีของสไตรีนที่เป็นข่าวนี้
พอจะอธิบายได้ว่าความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์นั้น
น่าจะเป็นตัวต้มให้สไตรีนเดือดกลายเป็นไอรั่วไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือ
ข่าวต่าง ๆ นั้นรับฟังได้
แต่อย่างเพิ่งด่วนเชื่อตามนั้นทันที
เพราะจะว่าไปแล้วถ้าเราตั้งสติและใช้ความรู้ที่มีอยู่แล้วพิจารณา
เราก็อาจจะมองเห็นความไม่สมเหตุสมผลของรายงานได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น