วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รถไฟหัตถกรรม (ลากไม้) อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๔๔) MO Memoir : Tuesday 21 May 2556

กิจการป่าไม้ในภาคเหนือน่าจะเป็นกิจการแรก ๆ ที่ชาติตะวันตกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในช่วงรัชกาลที่ ๕ โดยได้ทำการตัดโค่นไม้สักจากป่าทางภาคเหนือ ชักลากลงสู่แม่น้ำ เพื่อให้ไหลต่อมายังปากอ่าวไทย การนำไม้มาสู่แม่น้ำนั้นมีการใช้ช้างลาก ซึ่งอาจเป็นการใช้ช้างลากไม้โดยตรง หรือใช้ช้างลากรถรางที่บรรทุกไม้อีกที หรือไม่ก็ใช้รถไฟบรรทุกไม้ 
   
ในหนังสือ The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia ของ B.R. Whyte (หน้า ๑๐๑-๑๐๕) กล่าวไว้ว่าการสร้างทางรถไฟชักลากไม้เหล่านี้เริ่มก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ และมายุติการใช้งานไปราว ๆ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในบรรดาเส้นทางรถไฟชักลากไม้ที่กล่าวไว้ในหนังสือนี้ (เฉพาะในภาคเหนือ) เส้นทางที่มีความยาวมากที่สุดเห็นจะได้แก่เส้นทางของบริษัท Anglo-Siam Corporation ที่มีระยะทางยาวประมาณ ๗๙ กิโลเมตร โดยเปิดดำเนินการในช่วงปีค.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๒๗ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๗๐ ที่ใช้คำว่าประมาณก็เพราะในช่วงนั้นไทยขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายน ดังนั้นตัวเลขปีค.ศ. กับปีพ.ศ. มันมีสิทธิคร่อมกันอยู่ เช่นปีค.ศ. ๑๙๑๓ มันคร่อมระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖) 
   
สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายคือแผนที่เส้นทางรถไฟชักลากไม้ในภาคเหนือเหล่านี้ไม่รู้ว่ามีปรากฏอยู่ที่ไหนบ้าง แม้แต่ในหนังสือของ Whyte เองก็ไม่มีแสดงไว้ มีแต่บันทึกที่เป็นข้อความ อาจเป็นเพราะประกาศต่าง ๆ ที่ลงในราชกิจจานุเบกษาช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองไม่ค่อยมีแผนที่แนบท้ายประกาศ ที่ผมพอจะค้นได้คือเส้นทางของบริษัท Anglo-Siam Corporation ที่มีปรากฏในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๘๐ ตอนที่ ๘๓ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เรื่อง "กฎกระทรวง (ฉบับที่ ๑๗๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช ๒๔๘๑ กำหนดให้ป่าห้วยดอกเข็ม และป่าแม่อิงฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลห้วยลาน ตำบลดอกคำใต้ และตำบลปิน อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ภายใต้แนวเขตตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นป่าสงวน" ดังที่แสดงในรูปที่ ๑ ในหน้าถัดไป
 
แต่เส้นทางที่ปรากฏในแผนที่ก็เป็นเฉพาะช่วงด้านเหนือของเส้นทาง และมีระยะทางยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเท่านั้น โดยระบุว่าเป็น "ทางรถไฟเก่า" ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนทำแผนที่นั้นทางรถไฟยังเหลืออยู่หรือเปล่าหรือว่าถูกรื้อทิ้งไปแล้ว Whyte เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่าเส้นทางสายรถไฟสายนี้น่าจะเป็นแนวถนนสาย ๑๐๙๑ ต่อไปยังถนนสาย ๑๐๒๑ และส่วนปลายด้านเหนือของถนนสาย ๑๒๕๑ แต่เมื่อเทียบกับแผนที่ปัจจุบันแล้ว (รูปที่ ๒) แนวทางรถไฟเท่าที่สามารถยืนยันได้ควรจะเป็นแนวถนน พย ๕๐๓๒ ตามแนวเส้นประสีแดงในปัจจุบัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ ๖๐ กิโลเมตรอยู่ในแนวไหนคงต้องค้นหากันต่อไป


รูปที่ ๑ แผนที่แนบท้าย "กฎกระทรวง (ฉบับที่ ๑๗๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช ๒๔๘๑ กำหนดให้ป่าห้วยดอกเข็ม และป่าแม่อิงฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลห้วยลาน ตำบลดอกคำใต้ และตำบลปิน อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ภายใต้แนวเขตตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นป่าสงวน" ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๘๐ ตอนที่ ๘๓ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

รูปที่ ๒ เทียบกับแผนที่ปัจจุบัน บริเวณนี้ควรจะเป็นบริเวณที่ปรากฏในแผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษา แนวทางรถไฟเก่าควรจะอยู่ในแนวถนนเส้นประสีแดง ส่วนเส้นประสีน้ำเงินคือแนวทางรถยนต์ที่ปรากฏในแผนที่

ไม่มีความคิดเห็น: