วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เมื่อลูกลอยก่อปัญหา MO Memoir : Wednesday 24 June 2563

ลูกลอยเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจวัดระดับของเหลวที่อาศัยการลอยอยู่บนผิวของเหลว ที่ใช้กันในบ้านเรือนทั่วไปก็คือลูกลอยที่อยู่ในถังพักน้ำของโถส้วมชักโครกและถังเก็บน้ำตามบ้าน (ที่รับน้ำประปาเข้ามาเก็บก่อนทำการสูบจ่ายด้วยปั๊มน้ำอีกที) โดยลูกลอยเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมการปิดเปิดน้ำ เมื่อระดับน้ำลดลงลูกลอยจะตก วาล์วเปิดให้น้ำไหลเข้าถังก็จะเปิด และเมื่อลูกลอยลอยสูงขึ้น วาล์วก็จะปิด แต่ถ้าหากลูกลอยมีปัญหา เช่นค้างอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรือหลุดออกจากก้านที่ยึดมันไว้ ก็จะก่อปัญหาน้ำไม่ไหลเข้าถังเก็บหรือไหลเข้าไม่หยุดได้
  
ในอุตสาหกรรมก็มีการใช้ลูกลอยทั้งในการ วัดระดับของเหลว วัดระดับรอยต่อของของเหลวสองชนิดที่ไม่ละลายเข้าด้วยกัน (เช่นน้ำกับน้ำมัน) ใช้เป็นสวิตช์ควบคุมการเปิดปิดการจ่ายของเหลว ฯลฯ ในอดีตก็เคยมีเหตุการณ์การระเบิดที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับที่ใช้ลูกลอยเป็นตัววัดและการแปลผลการอ่านผิดอันได้แก่กรณีการระเบิดที่หน่วย Hydrocracker ที่โรงกลั่นน้ำมัน BP Oil Refinery (Grangemouth) เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๐ (ดูเรื่อง "เพลิงไหม้และการระเบิดที่ BP Oil (Grangemouth) Refinery 2530(1987) Case 2 การระเบิดที่หน่วย Hydrocraker ตอนที่ ๓" ใน Memoir ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑) และในบ้านเราก็เคยมีเหตุการณ์การระเบิดที่เกี่ยวข้องกับการอ่านค่าผิดพลาดของระดับลูกลอยที่ใช้วัดระดับรอยต่อระหว่างน้ำกับน้ำมัน (ดูเรื่อง "UVCE case 2 TOC 2539(1996)" ใน Memoir ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๑)
  
สำหรับวันนี้ก็จะเป็นการนำเอาสองเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้ใน ICI Safety Newsletter ที่เกี่ยวข้องกับการที่ลูกลอยหลุดออกจากตัวอุปกรณ์วัดระดับ และลอยไปอุดท่อของระบบ แต่โชคดีที่ทั้งสองเหตุการณ์นั้นตรวจพบก่อนจะเกิดเหตุร้ายแรงตามมา

เรื่องที่ ๑ ลูกลอยไปอุดท่อระบายไปยัง relief valve

การเลือกถังสำหรับเก็บแก๊สที่สามารถทำให้เป็นของเหลวได้ด้วยการเพิ่มความดันที่อุณหภูมิห้องขึ้นอยู่กับปริมาตรที่ทำการเก็บ ถ้าเป็นการเก็บในปริมาตรไม่มากก็มักจะเก็บในถังทรงกระบอก (ที่เรียกว่า bullet หรือ cylindrical type) วางนอน ถ้าเก็บในปริมาตรที่มากขึ้นก็จะใช้ถังเก็บแบบลูกโลก (ที่เรียกว่า spherical type) แต่ถ้าเก็บในปริมาณที่มากขึ้นไปอีกก็จะเปลี่ยนไปใช้การลดอุณหภูมิเพื่อให้กลายเป็นของเหลวที่ความดันบรรยากาศแทน (ใช้ระบบ cryogenic เข้าช่วย)

รูปที่ ๑ เหตุการณ์ลูกลอยหลุดและลอยไปอุดท่อระบายความดันของถังเก็บแก๊ส LPG
  
ในกรณีของการเก็บในรูปแบบทำให้เป็นของเหลวด้วยการใช้ความดันนั้น ตราบเท่าที่ในถังนั้นยังมีที่ว่างเหนือผิวของเหลวอยู่ ความดันในถังจะคงที่ ไม่ขึ้นกับระดับของเหลวในถัง (ณ อุณหภูมิหนึ่ง ของเหลวจะมีความดันไอคงที่ที่ค่าหนึ่งเท่านั้น) เพราะถ้าระดับของเหลวในถังลดต่ำลง ของเหลวจะระเหยกลายเป็นไอขึ้นมามากขึ้น แต่ถ้าระดับของเหลวในถังเพิ่มสูงขึ้น ส่วนที่เป็นไอบางส่วนจะควบแน่นกลายเป็นของเหลว ดังนั้นความดันในถังจะเพิ่มสูงขึ้นได้ก็ต่อเมื่อในถังนั้นมีของเหลวบรรจุอยู่เต็มจนไม่มีที่ว่างสำหรับให้เกิดไอ
  
เรื่องแรกนี้นำมาจาก ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๑๔ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๙ (พ.ศ. ๑๕๑๒) เป็นเหตุที่เกิดขึ้นกับถังเก็บแก๊สโพรเพน เมื่อลูกลอยที่ติดตั้งอยู่ภายในถังนั้นหลุดออกมา และไปอุด relief pipe หรือท่อระบายความดัน (ซึ่งน่าจะเป็นท่อที่ต่อไปยัง relief valve) รายงานไม่ได้ระบุว่าเป็นถังที่เกิดเหตุเป็นถังเก็บชนิดไหน แต่ดูจากขนาดของถังที่พองขึ้นถึง ๖ นิ้ว (โดยที่ยังไม่เกิดความเสียหาย) และการมีขั้นบันได้สำหรับปีนขึ้นไป ก็เดาว่าถังนั้นน่าจะเป็นถังแบบลูกโลก
  
ย่อหน้าสุดท้ายของเรื่องดังกล่าวยังกล่าวไว้ว่า เหตุการณ์นี้อาจเป็นเหตุการณ์ประเภทที่มีโอกาสเกิด ๑ ในล้าน แต่กระนั้นก็ได้ขอให้ช่วยกันตรวจสอบดูแลว่ามันจะไม่เกิดขึ้น
 
แต่เอาเข้าจริงไม่ต้องรอถึงหนึ่งล้านปี เพราะแค่สิบปีต่อมาก็มีเรื่องทำนองเดียวกันอีก

เรื่องที่ ๒ เมื่อลูกลอยไปอุดท่อ vapour return line

คำว่า "still" เราอาจชินกับความหมายว่า "ยังคง ... อยู่" (เช่น still busy ที่แปลว่ายังคงยุ่งอยู่) หรือ "อยู่นิ่ง" (เช่นในคำว่า stand still ที่แปลว่ายืนนิ่ง ๆ) แต่คำนี้ก็ยังมีอีกความหมายหนึ่งก็คือ "หม้อต้ม" ที่เป็นศัพท์ที่ใช้กันในวงการต้มเหล้า ที่ต้องมีการกลั่นแยกน้ำและแอลกอฮอล์ออกจากกันเพื่อให้ได้ความเข้มข้นแอลกอฮอล์สูงขึ้น ทำให้คำนี้ลากเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการกลั่นที่ต้องมีการต้มของเหลวบางส่วนให้กลายเป็นไอและป้อนกลับเข้าไปในหอใหม่ โดยเรียกอุปกรณ์ตัวนี้ว่า "still" หรือ "reboiler" ที่มีคนแปลเป็นไทยว่า "หม้อต้มซ้ำ"
  
ในหอกลั่นนั้นจะมีการสัมผัสกับระหว่างของเหลวที่ไหลลงล่างและไอที่ลอยขึ้นบน การเพิ่มพื้นที่สัมผัสระหว่างของเหลวและไอทำได้ด้วยการติดตั้งสิ่งที่เรียกว่า "plate" หรือ "tray" หรือวัสดุที่เรียกว่า "packing" ตัว packing นั้นอาจเป็นวัสดุชิ้นใหญ่ (เช่นแบบที่เราจะเห็นได้ในหอทำน้ำเย็นของเครื่องปรับอากาศที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่) หรือเป็นวัสดุชิ้นเล็ก (ที่อาจมีขนาดเพียงไม่กี่เซนติเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร) ในกรณีของ packing ที่เป็นชิ้นเล็กนั้น การติดตั้งต้องระวังไม่ให้มันหลุดตกลงมาข้างล่างได้ เพราะมันอาจอุดตันท่อที่อยู่ข้างล่างหอกลั่นนั้นได้
  
การกลั่นสุญญากาศ (vacuum distillation) ไม่ได้หมายความว่าในหอกลั่นไม่มีความดันเลยนะครับ แต่หมายถึงการกลั่นที่ความดันในหอกลั่นนั้นต่ำกว่าความดันบรรยากาศ การกลั่นที่ความดันต่ำกว่าบรรยากาศนี้ทำเพื่อลดอุณหภูมิจุดเดือดของของเหลว ทำให้กลั่นแยกของเหลวได้ที่อุณหภูมิที่ต่ำลง และยังป้องกันการสลายตัวของสารเนื่องจากอุณหภูมิสูงได้ (สารหลายชนิดนั้นมันไม่มีจุดเดือดที่ความดันบรรยากาศ คือถ้าให้ความร้อนแก่มัน มันจะสลายตัวก่อนที่จะระเหยกลายเป็นไอ) ตัวอย่างการใช้การกลั่นสุญญากาศได้แก่การกลั่นน้ำมันดิบ โดยปรกติจะนำเอาน้ำมันดิบมากลั่นที่ความดันบรรยากาศก่อนเพื่อแยกเอาองค์ประกอบที่มีจุดเดือดต่ำออกไปก่อน (เช่นพวกน้ำมันก๊าดและพวกที่มีจุดเดือดต่ำกว่า) จากนั้นจึงนำน้ำมันส่วนที่เหลือมากลั่นแยกในหอกลั่นสุญญากาศอีกที เพื่อแยกพวกที่มีจุดเดือดสูงออกจากกัน (เช่นดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันที่ใช้เป็นน้ำมันพื้นฐานสำหรับผลิตน้ำมันหล่อลื่น ยางมะตอย) การทำสุญญากาศในหอกลั่นจะกระทำที่ยอดหอ ในกรณีของการทำสุญญากาศต่ำไม่มากกับระบบที่มีขนาดใหญ่มาก (เช่นหอกลั่นน้ำมัน) จะนิยมใช้ steam ejector เป็นตัวทำสุญญากาศ ที่อาจติดตั้งเพียงตัวเดียวหรือหลายตัวต่ออนุกรมกัน
 
ของเหลวที่ออกทางด้านล่างของหอกลั่นนั้นจะไหลเข้าสู่หม้อต้ม (still หรือ reboiler) หม้อต้มนี้จะต้มของเหลวเพื่อระเหยองค์ประกอบที่มีจุดเดือดต่ำให้ระเหยกลายเป็นไอกลับเข้าไปในหอใหม่
  
เรื่องที่สองนี้นำมาจาก ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๑๒๒ ประจำเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒) เนื้อหาเหตุการณ์มีเพียงแค่ ๓ บรรทัดเศษ ไม่ได้บรรยายด้วยไวยากรณ์ที่ซับซ้อนหรือศัพท์ที่คนปรกติเขาไม่ใช้กัน แต่สำหรับคนที่เพิ่งจะเรียนวิศวกรรมเคมีหรือไม่เคยเห็นของจริง อาจอ่านไม่รู้เรื่องเลยก็ได้ว่าคำต่าง ๆ ที่ปรากฏนั้นมันคืออะไร เพราะถ้าค้นความหมายดูก็มักจะเจอกับความหมายที่ใช้กันในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่ความหมายทางเทคนิคนั้นแตกต่างออกไป ก็เลยต้องขอปูพื้นฐานซะยาวเหยียด
  
รูปที่ ๒ เหตุการณ์ลูกลอยหลุดเข้าไปอุด vapour return line ของหม้อต้ม

เหตุการณ์ก็ไม่มีอะไรมาก ลูกลอยหลุดและไปอุดท่อ vapour line พอไอที่เกิดขึ้นนั้นไหลกลับเข้าหอกลั่นไม่ได้ ความดันในหม้อต้มก็สูงขึ้น ทำให้อุณหภูมิในหม้อต้มสูงตามไปด้วย ตอนแรกนั้นพนักคิดว่าการอุดตันนั้นเกิดจาก packing แต่เมื่อถอดออกดูกลับพบว่าเป็นลูกลอยที่ใช้วัดระดับของเหลวสูงเกิน ในกรณีเช่นนี้ของเหลวไม่จำเป็นต้องท่วมหม้อต้ม การเดือดของของเหลวในหม้อต้มและความเร็วของไอที่ไหลออกไปทางท่อ vapour line นั้นสามารถพัดพาลูกลอยเข้าไปในท่อ vapour line ได้

สิบปีก่อนหน้านั้นเขายังคิดว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเพียงแค่หนึ่งในล้าน เอาเข้าจริง ๆ มันก็เกิดได้ในเวลาเพียงแค่สิบปี นั่นก็แสดงให้เห็นความสำคัญของการที่เราควรต้องเรียนรู้เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำได้อีกในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: