วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ขนมโตเกียว (คิดสักนิดก่อนกด Share เรื่องที่ ๕) MO Memoir : Thursday 5 February 2558

เมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา บนหน้า Facebook ของผมเห็นมีหลายรายกด Share เรื่องเกี่ยวกับขนมโตเกียวว่ายิ่งกินเยอะยิ่งตายไว เนื้อหาสิ่งที่เขากด Share มานั้นก็เป็นดังรูปที่เอามาให้ดูข้างล่าง ลองอ่านเองเองก่อนนะว่าหลังจากอ่านแล้วพวกคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
  
รูปที่ ๑ ข้อมูลอันตรายของขนมโตเกียวที่เห็นมีคนกด Share กัน
 
ที่มาของข้อมูลดังกล่าว ผมตามต้นเรื่องไปจนพบว่า เรื่องดังกล่าวมาจากบทความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่ผมจับภาพมาให้ดูในรูปที่ ๒ และ ๓ (เนื้อหาข้อความค่อนข้างยาวเกิน ๑ หน้ากระดาษ ก็เลยต้องแยกเป็น ๒ รูป) ลองอ่านเอาเองดูก่อนนะ แล้วค่อยเปรียบเทียบกับข้อมูลในรูปที่ ๑



รูปที่ ๒ ข้อมูลต้นฉบับจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (คอลัมน์ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗)

รูปที่ ๓ ข้อมูลต่อเนื่องจากรูปที่ ๒ (มันยาวเกิน ๑ หน้ากระดาษ ก็เลยต้องแยกเป็นสองรูป)

ในความเห็นของผม กระบวนการผลิตอาหารต่าง ๆ หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นของคาวหรือของหวาน และก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ขนมโตเกียว ผู้ขายต่างก็ใช้มือสัมผัสส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาหารโดยตรงหลายครั้ง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องปรกติ ไม่เรื่องแปลก แต่ที่สำคัญคือก่อนที่อาหารนั้นจะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค มันสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อน/ความสกปรกหรือไม่ ซึ่งอันนี้มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่มือ แต่มันรวมไปสิ่งของใด ๆ ที่สัมผัสกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ถุงมือ ช้อน ส้อม ตะเกียบ คีมคีบ จาน ภาชนะบรรจุ ฯลฯ
  
ดังนั้นหากกระบวนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ผู้ขายไม่รักษาสุขอนามัยส่วนตัว ไม่ล้างมือให้สะอาด ไม่ดูแลรักษาเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารนั้นให้สะอาด ก็สามารถทำให้มีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในอาหารนั้นได้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ขนมโตเกียว
  
อาหารที่ใช้ แป้ง น้ำตาล นม เนย (หรือวัตถุดิบในตระกูลเดียวกัน) ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ขนมโตเกียว ถ้ากล่าวอย่างนี้ก็ควรจะกล่าวไปถึงขนมชนิดอื่นเช่น ขนมปัง ขนมเบื้อง ขนมถังแตก ขนมปังทาเนย-ราดน้ำ-น้ำตาล ขนมปังทาสังขยา ฯลฯ ให้หมดเลย หรือถ้าจะกล่าวถึงขนมที่มีความหวานก็ควรกล่าวไปถึง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน หม้อแกง ขนมไทยต่าง ๆ ขนมใส่กะทิต่าง ๆ (เช่นข้าวเหนียวถั่วดำ ซึ่งจะว่าไปแล้วบูดง่ายกว่าขนมโตเกียวอีก) ด้วยเลย อากาศในบ้านเราเอง ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อน อย่าว่าแต่ของหวานเลย ข้าวสวยหุงทิ้งไว้ข้ามคืนก็มีโอกาสบูดได้เช่นกัน พวกแกงกะทิทำไว้ตอนเย็นถ้าไม่แช่ตู้เย็น ตอนเช้าก็บูดซะแล้ว
  
และคนเราเองก็สามารถรับเชื้อโรคจากหลายหลายอาหารที่รับประทานเข้าไป ไม่ใช่ว่าต้องมากับขนมโตเกียวเท่านั้น แม้แต่น้ำเปล่า ถ้าแก้วหรือหลอดดูดที่ใช้นั้นไม่สะอาด โรงอาหารหรือศูนย์อาหารหลายแห่งก็ยังต้องมีน้ำร้อนให้ลวกช้อน-ส้อม-ตะเกียบ ที่ใช้รับประทานอาหาร
 
บทความต้นฉบับบอกว่าจะมีอาการจะดีขึ้นภายใน "-๓ วัน" แต่พอเป็นฉบับย่อกลับใช้คำว่า "เกือบอาทิตย์"
 
บทความต้นฉบับไม่ได้บอกว่าจะถึงแก่ชีวิต แต่พอเป็นฉบับย่อกลับพาดหัวว่า "ยิ่งตายเร็ว"
 
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้สังเกตคือ ข้อมูลชุดต้นฉบับนั้นผมเห็นว่านำเสนอโดยใช้การวาดภาพให้กลัวก่อนในช่วงแรกโดยทำการระบุเจาะจงไปที่ขนมโตเกียว แต่ตอนท้ายพอทำการทดสอบแล้วพบว่าไม่เป็นดังภาพที่วาดให้คนอื่นเห็นไว้ (ดูข้อมูลที่เขาแสดงไว้ในตาราง) การนำเสนอแบบนี้ถ้าเป็นกรณีที่เป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์นั้นก็ต้องถือว่าตั้งสมมุติฐานผิด เพราะคาดว่าจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ แต่พอตรวจสอบแล้วไม่ใช่ และสิ่งที่เขาพบมันก็ไม่ตรงกับสิ่งที่เขาจั่วหัวเรื่องเอาไว้ด้วย

บทความต้นฉบับพาดหัวว่า "เชื้อโรคในขนม" แต่ผลการตรวจตอนท้ายบทความบอกว่า "ไม่พบ"
 
ส่วนข้อมูลในรูปแรกที่นำเอาข้อมูลต้นฉบับไปย่นย่อพร้อมทั้งเปลี่ยนหัวเรื่องใหม่ ผมเห็นว่ามันหนักเข้าไปใหญ่ เรียกว่าตั้งหัวเรื่องให้คนตื่นตระหนกตื่นกลัวเอาไว้ก่อน เพราะประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงที่กินขนมโตเกียวแล้วตายไว มันอยู่ตรงที่ถ้ากินอาหาร (ไม่จำกัดว่าจะเป็นอะไร) ที่สกปรกและ/หรือปนเปื้อน ก็มีโอกาสเจ็บป่วยได้มากขึ้นเท่านั้น

รุ่นผมเป็นรุ่นแรกที่มีผู้สอบเข้ามหาวิทยาลัยสายวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นคณะใดก็ตาม ต้องสอบวิชาสังคม-ภาษาไทย ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าต้องสอบไปทำไม ยังเห็นเป็นเรื่องไร้สาระด้วยซ้ำ แต่พอทำงานไปนาน ๆ เข้าเรื่อย ๆ กลับเห็นว่ามันสำคัญมากเลย เพราะบ่อยครั้งแล้วที่พบว่ามี การรายงานผลการทดลอง การรายงานผลการวิจัย การนำเสนอข้อมูล การสรุปข้อมูล การย่อความ ที่ผิดเพี้ยนและ/หรือไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือทำให้ผู้อ่านเข้าใจเป็นอื่นได้ 
  
แต่ที่แย่ที่สุดที่เคยเจอมาก็คือใช้เทคนิคการนำเสนอเพื่อทำให้คนตีความผิดเพี้ยนไป

ไม่มีความคิดเห็น: