วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๒ MO Memoir : Tuesday 20 August 2562

"สมมุตินะครับว่า มีนิสิตปริญญาเอกรายหนึ่งที่ทำวิจัยโดยต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงพวกนี้ในการทำวิจัย และเขาทำวิจัยไปแล้วประมาณ 80% เหลืออีกแค่ 20% ก็จะสำเร็จการศึกษาแล้ว แล้วบังเอิญประเทศของเขาถูกประกาศให้เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังขึ้นมา ทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างไร"
 
ผมถามคำถามนี้ (ผ่านล่าม) กับทางอาจารย์ของมหาวิทยาลัย Tohoku ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง (ที่เป็น Dual-Use Item) ของนิสิตต่างชาติที่มาเรียนที่สถาบันดังกล่าว ไปเมื่อช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวันพฤหัสบดีที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่เขาปรึกษากันอยู่ครู่หนึ่ง เขาก็ตอบกลับมาทำนองว่า (ผ่านล่าม)
 
"กรณีของการติดแบล็กลิสต์ (black list) เป็นรายมหาวิทยาลัยมันยังพอเป็นไปได้ แต่การติดแบล็กลิสต์เป็นประเทศแบบนี้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้"
 
พอวันรุ่งขึ้น ประเทศญี่ปุ่นลดฐานะของเกาหลีใต้มาเป็นระดับประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง

รูปที่ ๑ แผนผังความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าสองทางกับระบบอาวุธทำลายล้างสูง (เขียนขึ้นตามความเข้าใจของผม)

เมื่อราว ๆ ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากเจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เชิญให้ร่วมเดินทางกับคณะทำงานที่จะเดินทางไป workshop ยังประเทศญี่ปุ่น ด้วยทุนของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับเรื่องสินค้าสองทาง แม้ว่าจะยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะให้ไปทำอะไร แต่เห็นว่าเป็นการเดินทางเพียงแค่ ๔-๕ วัน และยังอยู่ในช่วงปิดเทอม ก็เลยตอบรับไปก่อน พอได้เห็นกำหนดการว่าเป็นการเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดว่าเป็นสถาบันมีชื่อเสียงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แบบย้ายสถานที่กันวันต่อวัน โดยไม่มีรายละเอียดว่าจะให้ไปทำอะไร ก็เลยยิ่งงงไปใหญ่ แต่พอตัวแทนจากแต่ละสาขาวิชาได้มาประชุมร่วมกันกับทางกรมการค้าต่างประเทศ ก็เลย "คาดเดา" กันว่าคงจะให้ไปศึกษาดูงานการออกมาตรการควบคุมการถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ให้กับนักวิจัยต่างประเทศ
 
ที่ต้องใช้คำว่า "คาดเดา" ก็เพราะเป็นการคาดเดากันจริง ๆ เพราะไม่มีรายละเอียดเลยว่าแต่ละสถาบันจะบรรยายเรื่องอะไร กว่าจะรู้ว่าสิ่งที่คาดเดาไว้นั้นถูกหรือผิด ก็ตอนที่ไปถึงที่โน่นแล้ว และก็โชคดีที่คาดเดาไว้ถูกต้อง จึงได้มีการคิดคำถามเอาไว้ล่วงหน้าบ้างว่า จะถามอะไรในประเด็นไหนดี
 
แต่ก่อนอื่นเราลองมาทำความเข้าใจก่อนว่า "มหาวิทยาลัย" หรือ "สถาบันวิจัย" นั้น เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าสองทางอย่างไร ตรงนี้ขอให้ลองดูแผนผังในรูปที่ ๑ ประกอบ (ที่เขียนขึ้นตามความเข้าใจของผมเอง)

สมมุติว่ามีประเทศหนึ่งต้องการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง เราลองมาพิจารณากันว่าเขาต้องจัดหาอะไรบ้าง สิ่งแรก ๆ ที่เขาต้องจัดหาคือ สารตั้งต้น (เช่นพวกเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ) และชิ้นส่วนประกอบ (เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ) และต้องมีองค์ความรู้ในการสร้าง และอาจรวมไปถึงซอร์ฟแวร์จำลองกระบวนการที่จำเป็นสำหรับการออกแบบโรงงาน หรือจำลองการทำงานของผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตขึ้น
 
จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการจัดหา เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต อุปกรณ์วัดคุม ซอร์แวร์ควบคุมการผลิต อุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ สำหรับการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ได้ ฯลฯ
 
และสุดท้ายคือระบบนำส่ง ที่จะนำส่งอาวุธที่ผลิตได้ไปยังเป้าหมาย ซึ่งตรงนี้จะครอบคลุมทั้งตัวโครงสร้างของระบบนำส่ง (เช่นตัวจรวด) และระบบนำวิถีระบบนำส่ง (คือตัวอุปกรณ์นำร่องและซอร์ฟแวร์นำร่อง)

บทบาทของตัวมหาวิทยาลัยนั้นคงไม่ได้อยู่ที่ส่วนที่เป็นกระบวนการผลิต แต่อยู่ตรงองค์ความรู้และซอร์ฟแวร์ต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางสันติและทางทหาร เช่นเราอาจอยากจะออกแบบโดรน (หรืออากาศยานไร้คนขับ) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรบนท้องถนน ให้สามารถบินส่งสินค้าจากร้านค้าไปยังลูกค้าได้โดยอิงจากพิกัด GPS บนแผนที่ แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีนำร่องนี้ก็สามารถใช้ในการนำส่งหัวรบจากสถานที่หนึ่งไปยังเป้าหมายได้เช่นกัน ความแตกต่างกันอาจจะอยู่ตรงที่ความเร็วของอุปกรณ์ที่ใช้ในการประมวลผลเส้นทาง การทนต่อแรงจีที่เพิ่มขึ้นกระทันหัน เพราะโดรนกับจรวดนั้นเดินทางด้วยความเร็วและความเร่งที่แตกต่างกันมาก ส่วนตัวซอร์ฟแวร์ที่ใช้ในการควบคุมจะต่างกันหรือไม่นั้น ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่คิดว่ามันน่าจะทำงานโดยอิงบนหลักการพื้นฐานเดียวกัน หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเชื้อจุลชีพทางการแพทย์ ที่ต้องมีการใช้อุปกรณ์ห้องปฏิบัติการที่สามารถป้องกันเชื้อจุลชีพให้กับผู้ทำงานได้ และอุปกรณ์ดังกล่าวก็สามารถนำไปใช้ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาวุธเชื้อโรคได้เช่นกัน จึงทำให้มีอุปกรณ์บางชิ้นมีชื่อไปปรากฏในรายการสินค้าที่สามารถใช้ได้สองทาง
 
กลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้ได้สองทางนี้แบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกก็คือประเทศที่มีรายชื่อยู่ใน White list คือกลุ่มประเทศที่มีการออกมาตรการควบคุมการส่งต่อสินค้าที่ใช้ได้สองทาง และมีการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจัง และมักจะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาสินค้าที่ใช้ได้สองทางขึ้นเองด้วย การส่งผ่านสินค้าที่ใช้ได้สองทางในกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็เรียกว่าส่งต่อกันให้ได้โดยไม่ต้องตรวจสอบตัวผู้รับให้วุ่นวาย
 
กลุ่มที่สองคือประเทศที่มีรายชื่ออยู่ใน Black list ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่ประเทศ (เช่น เกาหลีเหนือ อิหร่าน) กลุ่มประเทศเหล่านี้เรียกได้ว่าห้ามไม่ให้ประเทศในกลุ่ม White list นั้นส่งสินค้าสองทางไปยังประเทศกลุ่มนี้
 
กลุ่มที่สามคือกลุ่มประเทศที่ไม่ได้อยู่ใน White list และ Black list ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ เวลาที่ประเทศในกลุ่ม White list จะส่งสินค้าที่ใช้ได้สองทางมายังประเทศกลุ่มที่สามนี้ ก็ต้องมีการตรวจสอบตัวผู้รับสินค้าเหมือนกันว่าไว้วางใจได้แค่ไหนว่าจะไม่นำไปใช้ในการผลิตอาวุธ ดังนั้นจึงมีรายการที่ว่าตัวแทนในประเทศไทยสามารถประมูลงานได้ แต่พอจะขอนำเข้าสินค้าจากประเทศผู้ผลิตที่อยู่ในกลุ่ม White list เขาจะขอข้อมูลผู้ซื้อเพิ่มเติมเอาไปประกอบการพิจารณา ว่าควรขายให้หรือไม่ ทำให้ผู้ซื้อต้องเสียเวลาในการรอสินค้า (ที่อาจจะนานหลายเดือนดังเช่นผู้นำเข้าของไทยรายหนึ่งเล่าให้ฟัง)
 
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมนั้น การมีมาตรการป้องกันการนำไปใช้หรือส่งต่อไปยังผู้รับที่ไม่เหมาะสม จะช่วยให้กลุ่มประเทศที่เป็นเจ้าของสินค้าที่ใช้ได้สองทางสามารถเข้ามาลงทุนในภาคการผลิต (ที่ต้องใช้สินค้าที่ใช้ได้สองทางที่อาจเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต หรือเป็นชิ้นส่วนที่นำเข้ามาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป) ในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ทางภาคธุรกิจเองก็ต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เพราะถ้ามีการจงใจหลีกเลี่ยงกฎ ก็อาจถูกขึ้นบัญชีดำได้ง่าย ซึ่งอาจไม่เป็นเพียงแค่บริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม แต่อาจเป็นทั้งประเทศก็ได้
 
อุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยหลายชนิดก็จัดเป็นสินค้าสองทาง เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานกับเชื้อจุลชีพต่าง ๆ อุปกรณ์ที่ใช้ในงานวิจัยด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ซอร์ฟแวร์บางชนิด เป็นต้น
 
แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะไม่ได้ทำการผลิตสินค้า แต่ประเทศผู้ขายสินค้าสองทางเองยังต้องการความมั่นใจว่า สิ่งของที่เขาขายให้มหาวิทยาลัยของไทย หรืองานวิจัยที่จะทำร่วมกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยของไทยนั้นจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด (คือเอาไปผลิตอาวุธทำลายล้างสูง) และจะไม่ถูกส่งต่อให้กับผู้อื่นที่ไม่เหมาะสม (เช่นนักวิจัยหรือนิสิตโท-เอกที่มาจากประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Black list) ไม่ว่าจะด้วยการสอนหรือการทำวิจัยร่วม ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทางมหาวิทยาลัยของไทยควรต้องมีมาตรการรองรับและมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้ทางกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทางนั้นสามารถส่งมอบเทคโนโลยีขั้นสูงนั้นให้ไทยโดยไม่ต้องกังวลว่ามันจะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม

พูดง่าย ๆ ก็คือต้องมีมาตรการทำให้เขามั่นใจว่ามหาวิทยาลัยของไทยจะไม่ถูกใช้เป็นทางผ่าน

จากการที่ได้ไปรับทราบวิธีปฏิบัติของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ๓ มหาวิทยาลัยด้วยกันคือ Tuskuba, Tohoku และ Hokkaido ทำให้ทราบว่าเวลาที่มีผู้สมัครเรียนระดับปริญญาโท-เอก หรือ post doc หรือการลงนามในการทำวิจัยร่วมกับสถาบันอื่นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศ White list เช่นประเทศไทย จะมีการตรวจสอบใบสมัครของผู้สมัครว่ามีความเกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธหรือไม่ (เช่นดูจากสถาบันการศึกษาเดิมที่จบมา งานที่ทำก่อนหน้า ผู้ให้ทุนค่าเล่าเรียน งานที่จะกลับไปทำ) ถ้าพบว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แม้ว่าจะรับเข้าศึกษา แต่ก็จะไม่ให้ทำงานหรือมีโอกาสได้เรียนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถนำไปใช้ได้สองทาง ซึ่งตรงนี้มันมีประเด็นรายละเอียดบางอย่างที่มันไม่มีคำตอบหรือไม่มีคำตอบที่ชัดเจน (จะเรียกว่าเป็นกรณีสีเทาก็ได้อย่างเช่นกรณีที่ทางมหาวิทยาลัย Tohoku ยกตัวอย่างให้ฟัง) ก็เลยคิดว่าจะแยกออกเป็นอีกตอนหนึ่งต่างหาก

ปิดท้าย Memoir ฉบับนี้ด้วยรูปหมู่ของคณะเดินทางและวิทยากรของมหาวิทยาลัย Tohoku ที่ถ่ายรูปร่วมกันหน้า Super computer ของมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งตัวเครื่องคอมพิวเตอร์และซอร์ฟแวร์บางตัวที่ใช้กับคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ ก็จัดว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: