วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

MO Memoir รวมบทความชุดที่ ๒๑ อุบัติเหตุและความปลอดภัย (๒) MO Memoir : Tuesday 10 July 2561

ต้อนรับปีที่ ๑๑ ของการเขียนบันทึกความจำด้วยฉบับรวมบทความเสียหน่อย
 
นับตั้งแต่ทำการรวมเล่มบทความเกี่ยวกับอุบัติเหตุไปครั้งหนึ่งเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว มาคราวนี้ก็เห็นว่ามีเนื้อหามากพอที่จะทำการรวมเล่มได้อีกครั้ง (เกือบ ๕๐ บทความหรือ ๒๔๐ หน้าเศษ) แต่คราวนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทุกเรื่อง มีส่วนหนึ่งที่เห็นว่าเป็นพื้นฐานความเข้าใจเพื่อที่จะใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ จึงได้นำมารวมไว้ในที่นี้ด้วย
 
ถ้าพูดถึงเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในบ้านเรา ก็คงจะนึกถึงแต่เพียงแค่ การเรียนรู้และฝึกอบรมการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ กฎข้อบังคับต่าง ๆ ในการทำงาน ทฤษฎีต่าง ๆ (อาจรวมถึงแบบจำลองทางคณิตศาสตร์) ที่เกี่ยวข้อง โดยแทบจะไม่มีการกล่าวถึงเลยว่าแม้ว่าจะมีการข้อบังคับต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตาม แต่ทำไปจึงยังเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้อีก และแม้แต่จะมีการยกกรณีตัวอย่างขึ้นมา ก็มักจะจบลงที่ความผิดของผู้ปฏิบัติงาน ที่ไม่ได้ทำตามกฎความปลอดภัย 
  
แต่จะมีสักกี่ครั้งที่จะมีคนถามขึ้นมาว่า "แล้วทำไมเขาจึงไม่ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยที่มีอยู่" เป็นเพราะกฎนั้นไม่เป็นที่รับรู้ มีความกำกวมก่อให้เกิดความเข้าใจผิด มีปัญหาในทางปฏิบัติ ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่มีการบังคับใช้ ตั้งเพียงแค่ให้ผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปมีข้ออ้างได้ว่าไม่ได้ไม่ใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย ฯลฯ
 
"ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้" ก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน ตัวอย่างเช่นถ้าเราอยากจะลดอุบัติเหตุรถชนคนข้ามถนนให้เป็นศูนย์ด้วยการยกเลิกทางม้าลายและใช้การข้ามด้วยสะพานลอยคนข้ามเพียงอย่างเดียว แต่ในทางปฏิบัตินั้นเราก็ไม่สามารถที่จะทำได้กับทุกทางข้ามด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ไม่มีพื้นที่ในการก่อสร้าง เป็นถนนเส้นที่ไม่ค่อยมีรถวิ่งผ่าน บดบังภูมิทัศน์ของเส้นทาง ฯลฯ แต่ถึงกระนั้นก็ตามแม้ว่ามีการสร้างสะพานลอยแล้วก็ยังพบว่ายังไม่คนไม่อยากใช้อยู่เหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป เช่น สภาพร่างกายไม่สามารถเดินขึ้นบันไดสูงได้ ลักษณะราวสะพานที่โปร่งทำให้ผู้หญิงที่สวมกระโปรงรู้สึกไม่ดีเมื่อต้องเดินอยู่ข้างบน เห็นว่าถนนไม่ค่อยมีรถวิ่ง หรือถนนนั้นการจราจรติดขัดมากจนรถก็เคลื่อนตัวไม่ค่อยได้อยู่แล้ว เป็นต้น ดังนั้นกฎระเบียบเรื่องความปลอดภัยในการทำงานนั้นจึงไม่ควรที่จะยึดติดกับวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่ควรอิงกับหลักการที่เปิดช่องให้สามารถอาศัยวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสามารถนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้

ไม่มีความคิดเห็น: