วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ภาค ๑๐ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๓๗) MO Memoir : Sunday 29 July 2561

สงสัยตั้งแต่ได้เห็นมาตั้งนานแล้วว่าเอาหัวรถจักรคันนี้มาจอดทิ้งไว้ตรงนี้ทำไม (รูปที่ ๑) ผ่านไปทีไรก็ไม่เห็นมีใครไปยุ่งอะไรกับมัน และแม้ว่าจะอยู่ใกล้กับป้ายโฆษณาร้าน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวอะไรกับร้านนั้น


รูปที่ ๑ หัวรถจักรไอน้ำ (ที่คงเป็นหัวรถจักรที่ใช้ในช่วงที่ยังมีการชักลากจูงไม้) ที่ถูกนำมาจอดทิ้งไว้ทางด้านริมคลองทางด้านทิศใต้ของสวนสุขภาพศรีราชา

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ระหว่างแวะไปค้นดูหนังสือเก่า ๆ ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย ได้ได้พบกับหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "ทัศนาสารไทย จังหวัดชลบุรี" ฉบับของสำนักวัฒนธรรมทางศิลปกรรม สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ หนังสือเล่มที่ห้องสมุดมีนี้ไม่มีการระบุว่าพิมพ์โดยใครและพิมพ์เมื่อใด แต่หนังสืออีกเล่มหนึ่งในชุดเดียวกันที่เป็นของจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นมีการระบุไว้ที่ปกหลังว่า จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์ภักดีประดิษฐ์ ถนนหลังวังบูรพา พระนคร โดยนายเฉลิม พันธุ์ภักดี ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา เลขที่ ๒๐ โทร 29715 พ.ศ. ๒๔๙๙ ดังนั้นหนังสือเล่มจังหวัดชลบุรีก็น่าจะจัดพิมพ์ในเวลาเดียวกัน
 
หนังสือเล่มนี้มีบันทึกเรื่องราวที่น่าสนใจของจังหวัดชลบุรีเอาไว้หลายอย่าง เหมือนกับเป็นการแนะนำตัวจังหวัดและสถานที่ท่องเที่ยว ที่หลายแห่งนั้นไม่มีให้เห็นหรือแทบจะไม่เป็นที่รู้จักกันแล้วในปัจจุบัน ยกเว้นแต่ในหมู่ผู้สูงวัยที่เกิดทันได้เห็น เอาไว้จะค่อย ๆ ย่อยออกมาเล่าให้ฟัง แต่วันนี้ขอเป็นเรื่องเกี่ยวกับรถไฟลากไม้ก่อน 

รูปที่ ๒ ในหน้าแรกของหนังสือเป็นแผนที่เส้นทางการเดินทางจากพระนครไปสัตตหีบ (สะกดตามแผนที่) ในแผนที่นี้ปรากฏเส้นทางรถไฟลากไม้อยู่ อ.โพธิ์ ที่ปรากฏในแผนที่คือ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ในปัจจุบัน

หลักฐานภาพถ่ายเก่าแสดงให้เห็นว่าในอดีตนั้นเคยมีสะพานรถไฟจากชายฝั่งไปยังเกาะลอยเพื่อใช้ในการขนถ่ายไม้ลงเรือ บริเวณจากชายฝั่งไปยังเกาะลอยนั้นถ้าใครได้ไปตอนน้ำลงสุดจะเห็นชัดว่าน้ำแห้งลงไปมากจนเดินเรือไม่ได้ จะมีบริเวณที่น้ำยังลึกพอที่จะเอาเรือเข้าเทียบได้ตลอดเวลาก็ที่เกาะลอย ดังนั้นเพื่อที่จะขนถ่ายสิ่งของลงเรือได้ตลอดเวลา (โดยไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง) ก็ต้องไปสร้างท่าเรือที่เกาะลอยและสร้างเส้นทางลำเลียงไปยังเกาะลอย สะพานที่เราเห็นกันในปัจจุบันนั้นเป็นสะพานที่สร้างขึ้นภายหลังสะพานรถไฟและอยู่คนละตำแหน่งกัน คำถามก็คือแล้วสะพานรถไฟเดิมนั้นอยู่ที่ตำแหน่งใด
คำตอบของคำถามดังกล่าวปรากฏอยู่ในแผนผังเทศบาลตำบลศรีราชา ขนาดมาตราส่วน ๑ : ๔๐๐๐ ที่จัดทำโดยกรมโยธาเทศบาล ที่แนบมาในตอนท้ายของหนังสือดังกล่าว (รูปที่ ๓)

รูปที่ ๓ แผงผังเทศบาลตำบลศรีราชา ช่วงปีพ.ศ. ๒๔๙๙ หรือก่อนหน้านั้น

รูปที่ ๔ ภาพขยายตอนบนของแผนผังในรูปที่ ๓

แผนที่ของกรมโยธาเทศบาลฉบับนี้ไม่มีการระบุว่าจัดทำไว้เมื่อปีพ.ศ.ใด แต่เมื่อถูกนำมาตีพิมพ์ในหนังสือที่จัดพิมพิ์ในปีพ.ศ. ๒๔๙๙ ก็แสดงว่ามันต้องถูกจัดทำช่วงปีพ.ศ. ๒๔๙๙ หรือก่อนหน้านั้น ในแผนที่นี้ปรากฏตำแหน่งเส้นโรงเลื่อยและเส้นทางรถไฟไปยังเกาะลอย ตัวคลองที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของโรงเลื่อยนั้นในแผนที่ปัจจุบันแทบไม่เห็นแล้ว แต่ตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบันของโรงสูบน้ำของเทศบาลก็ตรงอยู่กับตำแหน่งที่เป็นปากคลอง (และอยู่คนละฟากคลองที่หัวรถจักรจอดอยู่) บริเวณที่เป็นโรงเลื่อยเดิมก็กลายเป็นห้างสรรพสินค้า พอเทียบตำแหน่งสะพานรถไฟในแผนที่กับภาพถ่ายดาวเทียมจาก google earth ก็พบว่าแนวสะพานนั้นควรจะอยู่ตรงบริเวณเส้นประสีเหลืองในรูปที่ ๖ โดยจุดตั้งต้นสะพานนั้นอยู่ตรงบริเวณที่มีหัวรถจักร (รูปที่ ๑) จอดทิ้งอยู่ 
  
และนี่ก็คงเป็นสาเหตุที่ว่า (ที่ผมคาดเดาเอาเอง) ว่าทำไมจึงมีหัวรถจักรจอดทิ้งเอาไว้ตรงนั้น ก็คงเป็นเพราะตรงนั้นมันเคยมีเส้นทางรถไฟเดิมอยู่ (ไม่ใช่การยกหัวรถจักรจากที่อื่นมาตั้งโชว์เหมือนที่อยู่หน้าเทศบาล) พอเส้นทางรถไฟถูกรื้อออกไปโดยไม่มีการขนย้ายหัวรถจักรคันดังกล่าวไปด้วย มันก็เลยถูกทิ้งเอาไว้ตรงนั้น

ในหนังสือทัศนาสารกล่าวถึงสะพานนี้ไว้ในหัวข้อเกาะลอยว่า 
  
"ที่เกาะนี้มีสะพานยาวทอดจากริมฝั่งทะเล ยื่นล้ำต้วเกาะออกไปอีกหลายร้อยเมตร รวมความยาวของสะพานซึ่งทอดจากชายฝั่งออกไปประมาณ ๑,๔๐๐ เมตร ตรงกลางสะพานวางรางรถไฟเล็ก ๆ ขนาดเท่ารถไฟเล็กในงานฉลองรัฐธรรมนูญ สำหรับบรรทุกไม้จากโรงเลื่อยที่ตั้งอยู่ในป่ามาลงเรือ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายนอกเขตจังหวัดชลบุรี ผู้ที่จะไปเที่ยวเกาะลอยอาจจะอาศัยสะพานนี้เดินไปได้ เพราะสองข้างทางรถไฟมีไม้สะพานทอดออกไปกว้าง พอเดินได้อย่างสบายโดยไม่ต้องกลัวตก น่าเสียดายที่สะพานนี้ถูกพายุพัดพังทลายลงไปเสียหลายแห่ง เมื่อพ.. ๒๔๙๖ และในปัจจุบันกำลังสร้างขึ้นใหม่ยังไม่ตลอดถึงตัวเกาะ การที่จะเดินไปเที่ยวชมเกาะลอยจึงทำไม่ได้เหมือนอย่างแต่ก่อน

รูปที่ ๕ ภาพขยายตอนกลางของแผนผังในรูปที่ ๓

รูปที่ ๖ ภาพถ่ายดาวเทียมจาก google earth เทียบกับรูปที่ ๕ แนวเส้นประสีเหลืองคือแนวสะพานรถไฟเดิมที่ตั้งต้นจากบริเวณที่มีหัวรถจักรจอดทิ้งอยู่ โรงเลื่อยเดิมกลายเป็นห้างแปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา

รูปที่ ๗ ภาพขยายตอนล่างของแผนผังในรูปที่ ๓

รูปที่ ๘ ภาพขยายบริเวณกรอบสีเหลืองในรูปที่ ๗ แผนที่นี้แสดงให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวเสมือนกับเป็นเกาะเล็ก ๆ อีกเกาะหนึ่งแบบเกาะลอย มีการระบุฃื่อสถานที่ว่า "แหลมฟาน" ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นท่าเรือที่ใช้สำหรับการเดินทางไปยังเกาะสีชัง

ข้อความนี้ช่วยระบุว่าหนังสือฉบับนี้พิมพ์หลังปีพ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นปีที่สะพานรถไฟดังกล่าวได้รับความเสียหายจากพายุ ก่อนที่ท้ายสุดจะถูกรื้อทิ้งไป
 
หนังสือเล่มนี้ยังได้เล่าถึงบรรยากาศบริเวณรอบสะพานดังกล่าวเอาไว้ว่า 
  
"ที่โขดหินตามชายหาดใกล้ ๆ สะพานยาวนี้ ท่าจะพบเด็กรุ่นสาวเป็นจำนวนมาก มาเที่ยวหาหอยนางรม วิธีหาหอยของเชาไม่มีอะไรมาก นอกจากกระป๋องใส่น้ำใบ ๑ กับค้อนเหล็กปลายแหลมด้ามแบน ๆ คล้ายไขควงอัน ๑ เท่านั้น เมื่อมีของสองอย่างนี้แล้วก็ไปเที่ยวนั่งทุบเปลือกหอยนางรม ซึ่งจับติดแน่นอยู่กับโขดหินที่ชายหาด พอทุบเปลือกหอยแตกก็เอาปลายค้อนแซะตัวหอยออกมาใส่กระป๋องน้ำ เมื่อเห็นว่าได้มากพอควรก็นำไปขายที่ตลาด วันหนึ่งเด็กรุ่นสาวเหล่านี้อาจหาเงินได้คนละหลาย ๆ บาททีเดียว นับว่าเป็นรายได้อย่างหนึ่งของเด็กรุ่นสาวในตำบลศรีราชา โดยไม่ต้องลงทุนแต่อย่างไร
  
บันทึกนี้แสดงให้เห็นว่าการเก็บหอยแต่ก่อนนั้นไม่ได้เก็บมาทั้งเปลือก คือทุบเปลือกให้แตกแล้วเอาแต่ตัวมาขาย ซึ่งจะว่าไปก็เป็นการดีเหมือนกัน เพราะเป็นการคืนเปลือกหอยให้ทะเล ส่วนเด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับเด็กสาวเหล่านั้น เขาใช้ช่วงชีวิตเวลาเดียวกันนั้นไปทำอะไร หนงสือไม่ยักจะบอกเล่าเอาไว้
 
ในหนังสือดังกล่าวยังมีภาพของสถานที่เที่ยวสถานที่หนึ่งในอำเภอศรีราชาที่ระบุว่าเป็น "แหลมฟาน" (รูปที่ ๗ - ๙) ที่ปัจจุบันเป็นท่าเรือสำหรับการเดินทางข้ามไปยังเกาะสีชัง และถ้าพิมพ์หาใน google ก็จะเจอแต่รีวิวร้านอาหาร ไม่ใช่สถานที่สำหรับออกไปชมวิวทิวทัศน์ สำหรับภาพที่ปรากฏในหนังสือนั้นผมงสัยว่าอาจไม่ใช่ภาพถ่ายของ "แหลมฟาน" แต่เป็นภาพที่ไปยืนอยู่ที่แหลมฟานแล้วถ่ายวิวทิวทัศน์ที่มองเห็นจากแหลมฟานเข้าหาฝั่งมากกว่า

เรื่องเล่าเบา ๆ ในสัปดาห์หยุดยาว ๔ วันก็คงมีเพียงแค่นี้


รูปที่ ๙ ภาพ "แหลมฟาน" ที่ปรากฏในหนังสือทัศนาสารไทย จังหวัดชลบุรี

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

รอหลีกที่รางโพธิ์ MO Memoir : Thursday 26 July 2561

ก็เป็นเพียงแค่ บันทึกเหตุการณ์ประจำวัน ที่เกิดขึ้น ณ สถานีรถไฟเล็ก ๆ แห่งหนึ่งใกล้ชายขอบกรุงเทพมหานคร
 
ระบบรถไฟรางเดี่ยวที่ให้รถไฟวิ่งไป-กลับบนรางเดียวกัน มันก็มีข้อดีตรงที่ประหยัดค่าวางราง เส้นทางรถไฟบ้านเราที่สร้างมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่มันต้องมีระบบป้องกันไม่ให้รถไฟวิ่งชนกัน และวิธีการหนึ่งที่บ้านเราใช้กันมานานแล้วก็คือการใช้ระบบ "ห่วงทางสะดวก" (ดู Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๓๙ วันอังคารที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ เรื่อง "ห่วงทางสะดวก") กล่าวคือถ้ารถไฟวิ่งเข้าสถานีแล้วที่สถานีนั้นไม่มีห่วงทางสะดวกให้ รถไฟขบวนนั้นก็ต้องหยุดรอ เพื่อให้รถไฟที่วิ่งสวนมาในทางเดียวกันนั้นนำห่วงทางสะดวกที่รับมาจากสถานีข้างหน้ามามอบให้ที่สถานี รถไฟจึงจะวิ่งต่อไปได้ แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสียก็คือถ้ามีรถไฟเดินทางหนาแน่น การเดินทางจะใช้เวลามากขึ้นเพราะต้องเสียเวลารอหลีก ในกรณีเช่นนี้การใช้ระบบรางคู่ก็จะดีกว่า คือให้รางฝั่งหนึ่งเป็นเส้นขาขึ้นและอีกฝั่งเป็นเส้นขาล่อง การใช้ระบบรางคู่ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องรถไฟจะวิ่งประสานงากัน แต่จะวิ่งชนท้ายกันหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (อ่านตัวอย่างได้ใน Memoir ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๓๙๔ วันจันทร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ เรื่อง "ใครผิด? (อุบัติเหตุรถไฟชนท้ายที่สถานีรถไฟ Clapham Junction ประเทศอังกฤษ)")


รูปที่ ๑ สถานีรถไฟรางโพธิ์ก็เป็นสถานีที่แปลกสถานีหนึ่ง คือมีถนนตัดผ่านช่วงกลางสถานี คือสถานีรถไฟทั่วไปนั้นเวลาที่รถไฟเข้าจอดให้คนขึ้นลงหรือรอหลีก ก็มักจะไม่จอดขวางถนน แต่สถานนีนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่อย่างนั้น ไม่รู้ว่าเป็นเพราะว่าแต่ก่อนขบวนรถไฟมันสั้น หรือเป็นเพราะไม่ค่อยมีรถวิ่ง ก็เลยมีการตัดถนนผ่านสถานีแบบนี้ ป้ายที่เห็นคือขณะรถไฟวิ่งเข้าจอดในรางรอหลีก เพื่อให้รถที่มาจากทางวงเวียนใหญ่วิ่งผ่านไปก่อน สภาพรางช่วงนี้ยังเป็นหมอนไม้อยู่เลย

รูปที่ ๒ สถานีรางโพธิ์เป็นสถานีรถไฟบนเส้นทางสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย โดยอยู่ระหว่างสถานีรางสะแกกับสามแยก ถ้ามาจากกรุงเทพทางถนนพระราม ๒ ก็จะวิ่งเลยถนนวงแหวนตะวันตกมาหน่อย สถานีจะอยู่ทางด้านฝั่งเหนือของถนนพระราม ๒


รูปที่ ๓ ตัวอาคารสถานี ที่เห็นอยู่อีกฟากหนึ่งของถนนทางด้านขวาสุดของรูปที่ ๑

รูปที่ ๔ รถไฟมาจอดรอหลีกที่ปลายชานชลาสถานี ส่วนรางรอหลีกก็ยาวไปถึงสุดขอบขวาของรูปที่เห็นอยู่ไกล ๆ รางช่วงนี้คงได้รับการปรับปรุงแล้ว เพราะเห็นใช้หมอนคอนกรีตรองรางแล้ว ไม่รู้เป็นเพราะมีอุบัติเหตุรถตกรางบริเวณสถานีนี้เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายนที่ผ่านมาหรือเปล่า ก็เลยมีการถือโอกาสซ่อมบำรุงซะเลย

ระหว่างเดินทางกลับจากมหาชัยเมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กรกฎาคม รถไฟขบวนที่โดยสารมาก็มาจอดรอหลีกที่สถานีรางโพธิ์นี้ เพื่อให้ชบวนที่วิ่งสวนมาจากวงเวียนใหญ่ผ่านไปก่อน เส้นทางสายนี้ผมไม่เห็นเขามีเสาสำหรับคล้องรับ-ส่งห่วงทางสะดวก ก็เลยไม่รู้ว่าเขาใช้ระบบอะไรติดต่อกันเพื่อบอกให้สถานีข้างหน้าทราบว่ากำลังมีรถไฟวิ่งไป ภาพและคลิปวิดิโอที่นำมาแสดง ก็เป็นการถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือที่ติดตัวไป วิดิโอนั้นถ่ายด้วยโปรแกรม daily road voyager แล้วก็จับภาพจากคลิปบางส่วนนำมาบันทึกไว้เป็นภาพนิ่ง (รูปที่ ๖ - ๙)
 
การเดินทางด้วยรถไฟในบ้านเราเนี่ย เวลาที่รถไฟจอดมันก็บรรยากาศเป็นอีกแบบเลย จากเสียงที่ดังจนฟังเพลินหรือลืมไปว่ามีเสียงรถวิ่งอยู่ พอรถจอดทีมันก็เงียบสงบ ได้ยินแต่เสียงพัดลม และเสียงประกาศจากสถานี นึกถึงตอนเด็ก ๆ ที่เคยนั่งรถไฟชั้น ๓ ไปใต้ พอรถไฟจอดทีก็โผล่หน้าออกไปดูทางหน้าต่าง เพราะอยากรู้ว่าที่สถานีนั้นมีอะไรขายบ้าง แต่ละท้องถิ่นก็ขายของกินแตกต่างกันไป ตอนนี้ก็ไม่ได้เดินทางด้วยรถไฟเป็นระยะทางไกลมานานแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรยากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แต่ก็เชื่อว่าคงไม่เหมือนเดิม
 
และก็เป็นอย่างที่เกริ่นเอาไว้บรรทัดแรก Memoir ฉบับนี้ก็ไม่มีเนื้อหาสาระอะไร เป็นเพียงแค่บันทึกเหตุการณ์ประจำวัน ที่เกิดขึ้น ณ สถานีรถไฟเล็ก ๆ แห่งหนึ่งใกล้ชายขอบกรุงเทพมหานคร ที่บังเอิญผ่านไปได้พบเห็นมา ก็เลยเอามาบันทึกไว้แค่นั้นเอง


รูปที่ ๕ ลองมองย้อนกลับไปอีกฝั่งหนึ่ง ช่วงนี้เป็นตอนบ่ายหลังเที่ยงไม่นาน ผู้โดยสารก็เลยน้อยหน่อย แต่ดูแล้วคิดว่าถ้าเป็นหลังโรงเรียนเลิกหรือเลิกงาน ก็น่าจะมีคนพลุกพล่านอยู่เหมือนกัน เพราะเห็นมีร้านค้าขายของอยู่หลากหลายข้างชานชลาสถานี


รูปที่ ๖ ภาพจับมาจากคลิปวิดิโอ รถไฟที่มาจากวงเวียนใหญ่กำลังวิ่งเช้าตัวสถานี


รูปที่ ๗ พอท้ายรถไฟที่วิ่งสวนมาวิ่งพ้นจุดสับราง พนักงานประจำรถขบวนที่ผมโดยสารก็ชูธงเขียวให้สัญญาณ (ในกรอบสีแดง) เพื่อให้รถไฟชบวนที่รอหลีกอยู่นั้นเริ่มเคลื่อนตัวออกจากสถานี ดูเหมือนว่าสถานีนี้ยังคงใช้พนักงานไปโยกสับรางที่ตำแหน่งประแจสับราง (ไม่ได้ใช้คันโยกที่ดึงผ่านเส้นลวดจากในตัวสถานี) ถ้าเป็นช่วงที่มีฝนตกหนักก็น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่อยู่เหมือนกัน


รูปที่ ๘ ขณะกำลังเคลื่อนตัวจากรางรอหลีกกลับเข้ารางหลัก


รูปที่ ๙ พ้นจากสถานีมาหน่อยมีต้นกล้วยขึ้นเต็มข้างทาง เรียกว่าตันมันเอียงจนใบมันระเข้ากับตัวรถ บางต้นเอียงมากขนาดต้องมีการเอาเชือกมาผูกดึงเพื่อให้ไม่ให้ต้นล้มขวางหน้ารถ บางจุดเห็นได้เลยว่า ถ้าหากรถไฟจอด ก็คงจะเอื้อมมือไปตัดกล้วยที่ต้นได้ทั้งเครือ

วิดิโอขณะรถไฟวิ่งสวนทางมา

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ลมหม้อข้าวแห้ง ณ ทะเล บ้านกาหลง MO Memoir : Tuesday 24 July 2561

วันนั้นเป็นวันที่ฟ้ามีเมฆมาก แต่ไม่ถึงกับมืดครึ้ม แดดก็ไม่มี บางจังหวะก็มีฝนตกปรอย ๆ เล็กน้อย ส่วนทะเลแม้ว่าจะเป็นช่วงน้ำลง คลื่นลมก็ค่อนข้างจะแรง อันเป็นผลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง
ณ ร้านชำเล็ก ๆ สุดถนนหน้าสะพานปลา ชาวประมงผู้หนึ่งกำลังคุยกับแม่ค้าที่ร้านขายของที่อยู่ที่ทางลงสะพานเทียบเรือ ผมเองหลังจากซื้อน้ำดื่มจากเขาขวดหนึ่ง เขาก็เชิญให้นั่งพักก่อน แต่ผมเองบอกว่าขอยืนสักพักก็แล้วกัน เพราะนั่งขับรถมานานแล้ว ขอยืนยืดแข้งยืดขาหน่อย ก็เลยยืนฟังบทสนทนาของเขาที่เกี่ยวกับเรื่องการทำมาหากินของพวกเขาไปเรื่อย ๆ แล้วข้อความหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นั่น ก็ถูกกล่าวออกมา
 
ตอนเด็ก ๆ เรียนวิทยาศาสตร์ เขาก็สอนให้รู้จักกับ "ลมบก" และ "ลมทะเล" น้ำมีความจุความร้อนสูงกว่าพื้นดิน เมื่อได้รับแสงแดดในตอนกลางวันพื้นดินจะมีอุณหภูมิสูงกว่าทะเล ทำให้อากาศเหนือพื้นดินลอยตัวสูงขึ้น อากาศจากทะเลก็เลยพัดเข้ามา เป็นลมที่พัดเข้าหาฝั่งที่เรียกว่า "ลมทะเล" แต่พอแสงอาทิตย์ลับหายไป พื้นดินจะเย็นตัวเร็วกว่าทะเล อากาศเหนือผิวทะเลจะร้อนกว่าและลอยตัวสูงขึ้น อากาศที่เย็นกว่าทางพื้นดินก็จะไหลออกสู่ทะเล กลายเป็นลมที่พัดจากบกไปทะเลหรือ "ลมบก" แต่พอได้ยินคำว่า "ลมหม้อข้าวแห้ง" ก็งงไปเหมือนกัน ว่ามันคือลมอะไร ไว้ตากหม้อข้าวหรือยังไง


รูปที่ ๑ สถานีรถไฟบ้านกาหลงของรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง สถานนีนี้ดูดีหน่อยเมื่อเทียบกับหลายสถานีรถหว่างทาง คงเป็นเพราะว่าบริเวณนี้เป็นชุมชนค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับชุมชนรอบข้าง อย่างน้อยที่บ้านกาหลงก็มีถนนจากสถานีรถไฟไปยังทะเล ที่เป็นที่เทียบเรือหาปลาของชาวบ้าน ส่วนบริเวณจากสถานีไปจนถึงชายทะเล ก็มีการทำนาเกลือบ้าง

"ลมหม้อข้าวแห้ง ก็หมายความตามนั้นนั่นแหละ หม้อข้าวแห้งก็คือหม้อข้าวไม่มีอะไรหรือไม่มีข้าวกินนั่นเอง" แม่ค้าอธิบายให้ผมฟัง อากาศอย่างนี้นักท่องเที่ยวอาจจะชอบ เพราะมันไม่ร้อน ออกไปถ่ายรูปได้สบาย แต่สำหรับชาวบ้านที่หากินกับการจับปลาแล้วเขาไม่ชอบ เพราะมันออกไปจับปลาไม่ได้ แถมยังไม่มีแดดให้ตากแห้งอาหารทะเลอีก

รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า ๖๓ เล่ม ๑๒๘ ตอนพิเศษ ๑๒๕ ง วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ ป่าชายเลนที่ตำบลกาหลงและบางโทรัด ก็เป็นผลพวงจากดินตะกอนที่พัดออกมาจากปากแม่น้ำท่าจีน

พื้นที่ทะเลชั้นในของอ่าวไทยรูปตัว ก คือช่วงเมืองเพชรบุรีทางฝั่งตะวันตกถึงศรีราชาทางฝั่งตะวันออก เป็นจุดรวมของปากแม่น้ำหลายสาย ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำเพชร แม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง ทำให้บริเวณนี้มีการสะสมของดินเลนที่แม่น้ำพัดพามาเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่แบ่งกั้นระหว่างแผ่นดินและทะเล และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำชายฝั่งหลากหลายชนิดที่สามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้ เท่าที่ได้ไปสัมผัสมาในวันนั้น ชาวบ้านบริเวณนี้ถ้าไม่ทำประมงใกล้ชายฝั่ง (เห็นได้จากการมีเรือขนาดเล็ก) ก็คงทำนาเกลือ ไม่ก็คงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และวิธีการเก็บผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้อยู่ได้นานและประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด ก็คงไม่พ้นจากการตากแห้งและทำเค็ม แสงแดดจึงมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน นอกเหนือไปจากสายลมที่จะเปิดช่องให้พวกเขาได้ออกไปหาปลาในทะเลได้หรือไม่

รูปที่ ๓ เมื่อขับรถเข้าไปจนสุดถนนก็จะพบกับสะพานเทียบเรือที่ยื่นออกไปในทะเล เหตุผลที่ต้องยื่นออกไปไกลก็เพื่อให้เรือสามารถเข้าเทียบได้เวลาที่น้ำลง หลักเขตที่เห็นอยู่ไกล ๆ ตรงลูกศรสีแดงชี้คือเขตแนวฝั่งเดิม ที่ตอนนี้หดเข้ามาจนถึงแนวหินที่อยู่ทางขอบล่างของรูป เดาว่าส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายเขื่อน ทำให้ปริมาณตะกอนที่น้ำฝนชะมาจากทางต้นน้ำที่จะไหลลงทะเลนั้นถูกขวางกั้นเอาไว้ส่วนหนึ่ง และปัจจัยหลักน่าจะเป็นการบุกรุกป่าชายเลนที่ทำหน้าที่หน่วงการไหลของน้ำ ทำให้ดินตะกอนนั้นตกสะสม ส่วนบ้านที่เห็นนี้ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเดิมมันก็ไม่มีหรอก แต่พอมีข่าวว่าจะมีการสร้างสะพานเทียบเรือออกไปในทะเล ก็เลยมีคนฉวยโอกาสมาสร้างบ้านตรงตำแหน่งที่คิดว่าจะมีการสร้างสะพาน เพื่อหวังจะเอาเงินค่าเวนคืนบ้าน แต่ปรากฏว่าสะพานถูกสร้างออกไปทางด้านข้าง ก็เลยวืดไป แรก ๆ ก็ยังพอจะมาอยู่อาศัยบ้าง เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นบ้านมีคนอาศัย แต่ตอนนี้ก็ปล่อยทิ้งร้างแล้ว แม้แต่บันไดขึ้นบ้านก็ไม่เหลือ


รูปที่ ๔ สะพานเทียบเรือเป็นสะพานคอนกรีต มีกำแพงสีสวยกั้นเป็นระยะ (แต่ไม่ใช่สะพานสายรุ้งที่มีคนเขาเรียกกัน) ปลายสะพานมีป้ายติดไว้ว่าทะเลกาหลง ด้านขวาของสะพานเป็นลำคลองที่ชาวบ้านใช้นำเรือออกทะเลเวลาที่น้ำขึ้น ในเวลาที่ไปถึงนั้นน้ำลงต่ำมาก แม้แต่ที่ปลายสะพานก็ยังไปไม่ถึงทะเล

รูปที่ ๕ จากปลายสะพานเมื่อมองไปทางทิศตะวันตก จะเห็นแนวเทือกเขาที่อยู่ทางจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี วันนั้นอากาศไม่ค่อยดีก็เลยเห็นไม่ค่อยชัด มุมนี้เดาว่าถ้าเป็นตอนเย็นที่ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ก็คงจะได้เห็นวิวสวย ๆ เลข 1 ในรูปคือสะพานไม้ที่มีคนเรียกว่าสะพานสายรุ้ง (คือสะพานไม้ทาสีสดใสหลากหลายสี) ที่มีคนเอามาโพสกันทางอินเทอร์เน็ต ผมเองไม่ได้เดินไปทางนั้นเพราะช่วงนั้นก็มีฝนลงปรอย ๆ อยู่ (เห็นได้จากหยดน้ำฝนที่เกาะที่ฟิลเตอร์หน้าเลนส์กล้อง) ส่วนเลข 2 ก็คือแนวเขื่อนกั้นคลื่น แนวเขื่อนนี้มีการเว้นช่องว่างเป็นระยะเพื่อให้น้ำไหลเข้า-ออกได้ และเปิดทางสัญจรให้กับเรือที่แล่นเข้าออกลำคลองที่ไหลลงสู่ทะเล


รูปที่ ๖ ลองซูมเข้าไปดูกลุ่มต้นไม้ที่งอกอยู่ที่แนวเขื่อนเลข 2 ในรูปที่ ๕ ยังแปลกใจอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมบริเวณนี้ถึงไม่มีใครคิดจะมาปลูกป่าชายเลนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการกัดเซาะริมฝั่ง ซึ่งมันก็คงจะรวดเร็วกว่าการรอให้พุ่มไม้กลุ่มนี้ค่อย ๆ แผ่ขยายออกมาจนเต็มบริเวณ (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อใด)


รูปที่ ๗ จากปลายสะพานเมื่อมองไปทางทิศตะวันออก แนวรั้วไม้ที่เห็นก็เป็นแนวรั้วเพื่อลดความแรงของคลื่นที่กระทบเข้าฝั่ง แต่เวลาที่คลื่นลมแรงและน้ำขึ้นสูง แม่ค้าที่เปิดร้านค้าอยู่ตรงปลายสะพานก็บอกว่าคลื่นก็ซัดเอาก้อนหินที่แนวกำแพงกั้นคลื่นเชิงสะพาน (รูปที่ ๓) กลิ้งลงมาเหมือนกัน


รูปที่ ๘ จากปลายสะพานเมื่อมองกลับเข้าไป ทางด้านซ้ายจะเห็นปากคลองที่ไหลลงสู่ทะเล ถัดไปที่อยู่ตรงกลางภาพคือศาลเจ้าพ่อกิมท้ง ที่ต้องเดินข้ามสะพานข้ามคลองไป


รูปที่ ๙ มองออกทะเลจากสะพานที่เดินข้ามไปยังฝั่งศาลเจ้าพ่อกิมท้ง พอน้ำลงคลองทั้งเส้นก็เหลือเพียงแค่นี้ ดินเลนบริเวณนี้ดูแล้วยังสะอาดอยู่ ไม่มีขยะ อาจเป็นเพราะยังไม่ค่อยมีใครเข้ามา สิ่งหนึ่งที่มักจะตามมาหลังการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาดื่มมากินก็คือ การทิ้งขยะลงทะเล วันที่ไปถึงนั้นแม่ค้าก็เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนที่สะพานก็มีถังขยะเพียงใบเดียวก็พอ แต่ตอนนี้ต้องเพิ่มเป็นสามใบ เราอาจต้องรณรงค์การทิ้งขยะกัน โดยไม่ทิ้งขยะในแหล่งท่องเที่ยว ขยะที่นักท่องเที่ยวทำให้เกิดขึ้นก็ควรที่จะนำออกไปจากแหล่งท่องเที่ยวด้วย เพื่อที่จะรักษาแหล่งท่องเที่ยวนั้นให้ดูสะอาดตาตลอดไป

รูปที่ ๑๐ จากจุดเดียวกับในรูปที่ ๙ พอมองเข้ามาก็จะเห็นเรือประมงของชาวบ้านจอดเรียงกันอยู่ เพราะช่วงน้ำลงน้ำในคลองแห้งเกือบหมด ออกไปไหนไม่ได้


รูปที่ ๑๑ รูปนี้เป็นการมองออกไปจากหมู่บ้านไปในทิศทางทางเข้าหมู่บ้าน ป้ายนี้บอกว่าหมู่บ้านนี้ห่างจากสถานีรถไฟบ้านกาหลง ๕.๕ กิโลเมตร แต่แม่ค้าที่คุยด้วยเล่าให้ฟังว่า แม่ว่าดูเผิน ๆ จะไม่มีอะไร แต่ก็มีรถสองแถวใหญ่วิ่งจากถนนพระราม ๒ มายังหมู่บ้านนี้เป็นประจำ โดยรถสองแถวจะมาสิ้นสุดที่สะพานเทียบเรือเพื่อให้บริเวณลานหน้าสะพานเทียบเรือเป็นที่กลับรถ และที่ชายทะเลนี้ยังมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชื่อวัดแก้วมงคล (วัดกาหลงอยู่แถวถนนพระราม ๒ ใกล้สถานีรถไฟ) รถขายของที่เห็นควันโขมงทางด้านขวาคือรถขายหมูปิ้ง

รูปที่ ๑๒ ร้านค้าที่แวะเข้าไปคุยกับแม่ค้า วันนี้ไม่มีเย็นตาโฟขาย (ธรรมดา ๒๕ บาท พิเศษ ๓๐ บาท) ขายเฉพาะวันหยุด แต่ยังมีเครื่องดื่มขาย แกเล่าให้ฟังว่าที่นี้ก็มีนักท่องเที่ยวที่แสวงหาความสงบแวะเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ประเภทซื้อเบียร์ไปนั่งจิบเงียบ ๆ ริมทะเลบนกองหินที่ป่าชายเลนข้างร้าน


รูปที่ ๑๓ ออกจากทะเลบ้านกาหลงพอมาถึงทางรถไฟก็เลี้ยวขวาขับกลับไปทางบางโทรัด ขาเข้ามานั้นขับจากตะวันออกไปตะวันตก แดดส่องเข้าหน้าก็เลยไม่ได้ถ่ายรูป (แต่ถ่ายคลิปวิดิโอที่เอามาให้ดูเมื่อวันอาทิตย์) ขากลับเห็นถนนว่างดีก็เลยจอดรถ่ายรูปหน่อย ถนนทางบ้านกาหลงจะกว้างกว่าทางบางโทรัด และยังไม่มีบ้านปลูกชิดติดถนนเหมือนกับทางบางโทรัดด้วย ถนนช่วงนี้เป็นช่วงที่ป่าชายเลนอีกฟากของทางรถไฟถูกจับจองเอาไปทำประโยชน์กันหมดแล้ว ไม่เหลือสภาพว่าเคยมีต้นไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของป่าชายเลนขึ้นอยู่

รูปที่ ๑๔ มองข้ามทางรถไฟออกไป ก็จะเห็นบริเวณพื้นที่โล่งเตียน บริเวณที่เห็นเป็นที่บ่อน้ำที่อยู่ทางด้านขวาเดาว่าเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลองได้รับการปรับปรุงใหม่ ทำให้เวลารถไฟวิ่งไม่โยนไปโยนมามากเหมือนกับสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ที่บางช่วงเห็นชัดเลยว่าแนวรางมีลักษณะอย่างกับเป็นลูกคลื่นตามยาว โดยเฉพาะตรงจุดต่อราง


รูปที่ ๑๕ พอจะเข้าเขตบางโทรัดก็จะเจอกับสะพานเจ้าปัญหาที่รถท้องต่ำต้องระวัง และต้องวัดใจกันด้วยว่าอีกฟากของสะพานมีรถสวนขึ้นมาหรือเปล่า พอเข้าเขตบางโทรัดถนนจะแคบกว่าแต่ก็ดูร่มรื่นมากว่า อย่างน้อยอีกฟากของทางรถไฟก็ยังมีไม้ใหญ่ขึ้นต่อกันเป็นแนว

รูปที่ ๑๖ ด้านหน้าของบ้านที่สร้างออกไปในบริเวณที่ปัจจุบันกลายเป็นทะเลไปแล้ว

Memoir ฉบับนี้ก็เป็นฉบับปิดทริปการเดินทางสำรวจชุมชน ที่อาศัยการดูแผนที่ว่ามีถนนย่อย ๆ ออกไปโผล่อะไรที่ไหนบ้าง เผื่อมีโอกาสก็จะได้แวะเข้าไปเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนต่าง ๆ ถือเสียว่าเป็นการเล่าเรื่องด้วยรูปก็แล้วกัน คลิปวิดิโอที่แนบมาด้วยก็มาจากกล้องหน้ารถ เป็นภาพทางเข้าก่อนถึงริมทะเลบ้านกาหลงประมาณนาทีเศษ บันทึกเก็บเอาไว้ก่อนกาลเวลาจะทำให้สภาพรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม