วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ปัญหาการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน MO Memoir : Thursday 25 April 2567

กลับมาทำงานใหม่ ๆ เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วก็เห็นอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลท่านหนึ่งทำวิจัยเรื่องใช้แก๊สไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์แทนน้ำมันเบนซิน รถที่ใช้ก็คือ Mazda Familia เครื่องเบนซิน 1300 CC ซึ่งมันก็วิ่งได้โดยใช้ถังไฮโดรเจนบรรทุกไว้บนกระบะหลัง แต่หลังจากนั้นเท่าที่ทราบก็ไม่เห็นใครทำวิจัยเรื่องทำนองนี้อีกเลย เห็นมีแต่ข่าวรถใช้พลังน้ำที่บอกว่าไม่ง้อน้ำมันออกมาเป็นระยะ

แม้ว่าไฮโดรเจนจะเป็นแก๊สแบบเดียวกับมีเทนและแก๊สหุงต้มที่ต่างเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเช่นเดียวกับน้ำมันเบนซิน แต่พฤติกรรมการเผาไหม้ของแก๊สไฮโดรเจน (โดยเฉพาะแก๊สไฮโดรเจนบริสุทธิ์) แตกต่างจากไฮโดรคาร์บอนหลายด้าน ทำให้เครื่องยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงนั้นแตกต่างไปจากเครื่องยนต์ที่ใช้ไฮโดรคาร์บอนเป็นเชื้อเพลิง

U.S. Department of Energy (https://www1.eere.energy.gov) ได้จัดทำเอกสารเรื่อง "Hydrogen Fuel Cell Engines and Related Techgiesnology เผยแพร่ไว้เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๑ (พ.ศ. ๒๕๔๔) โดยใน Module 3 เรื่อง "Hydrogen use in internal cumbustion engines" ในหัวข้อ 3.2 (รูปที่ ๑) มีการกล่าวถึงคุณสมบัติการเผาไหม้ของไฮโดรเจน ซึ่งบรรยายให้เห็นถึงปัญหาและข้อควรระวังในการนำเอาไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (เครื่องเบนซิน) แต่การทำความเข้าใจเนื้อหาตรงนี้จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์เบนซินและทางเคมี ดังนั้นวันนี้ก็เลยขอเอาเฉพาะหัวข้อนี้มาขยายความเพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ดีขึ้น

รูปที่ ๑ หัวข้อ 3.2 ของ Module 3 ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติการเผาไหม้ของไฮโดรเจน

เอกสารชุดนี้แยกเป็นไฟล์ pdf จำนวน ๑๑ ไฟล์ตามจำนวน Module เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้สามารถดาวน์โหลดเอกสารต้นฉบับได้ที่ https://www1.eere.energy.gov/hydrogenandfuelcells/tech_validation/pdfs/fcm03r0.pdf

ต่อไปจะเป็นการขยายความหัวข้อย่อยแต่ละข้อเรียงลำดับไป

- Wide range of flammability

Flammability คือช่วงความเข้มข้นของสารในอากาศที่สามารถลุกติดไฟได้ เมื่อโมเลกุลเชื้อเพลิงส่วนหนึ่งเริ่มเกิดการเผาไหม้ ความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมาต้องมากพอที่จะไปกระตุ้นให้โมเลกุลเชื้อเพลิงโมเลกุลอื่นเกิดปฏิกิริยาตามมา และถ้าปฏิกิริยาเกิดต่อเนื่องไปได้เรื่อย ๆ ก็จะเกิดการเผาไหม้ขึ้น

ในกรณีที่ความเข้มข้นเชื้อเพลิงต่ำเกินไป ความร้อนที่เชื้อเพลิงที่เริ่มเกิดการเผาไหม้คายออกมาจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ปฏิกิริยาการเผาไหม้เลี้ยงตัวเองได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าความเข้มข้นเชื้อเพลิงสูงเกินไป ออกซิเจนในอากาศจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ปฏิกิริยาการเผาไหม้เลี้ยงตัวเองได้

ไฮโดยเจนมีช่วง flammability ระหว่าง 4 - 75 vol% ส่วนน้ำมันเบนซินจะอยู่ระหว่าง 1.4 - 7.6 vol% ช่วงความเข้มข้นที่มีอากาศมากเกินพอสำหรับการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้สมบูรณ์เรียกว่า "ส่วนผสมบาง" หรือ "lean" ช่วงความเข้มข้นที่มีอากาศไม่เพียงพอสำหรับการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้สมบูรณ์เรียกว่า "ส่วนผสมหนา" หรือ "rich" ความเข้มข้นที่ปริมาณออกซิเจนในส่วนผสมสามารถเผาไหม้เชื้อเพลิงได้พอดีในทางทฤษฎี (คือออกซิเจนมากพอที่จะเปลี่ยนคาร์บอนเป็น CO2 และไฮโดรเจนเป็น H2O โดยไม่มีออกซิเจนเหลือ) เรียกว่า "stoichiometric ratio"

เครื่องยนต์ดีเซลทำงานในช่วงปริมาณอากาศมากกว่าปริมาณที่สามารถทำให้น้ำมันเผาไหม้ได้สมบูรณ์ (แต่ที่มันเกิดควันดำได้ก็เพราะมันมีเรื่องการผสมเข้ากับอากาศที่ไม่ดีและเผาไหม้ยังไม่ทันหมดก็ถูกไล่ออกจากกระบอกสูบแล้ว) ส่วนเครื่องยนต์เบนซินในยุคก่อนจะบังคับติดตั้งเครื่องกรองไอเสีย (catalytic converter) ถ้าเป็นช่วงเร่งเครื่องก็จะทำงานที่ส่วนผสมหนา ถ้าเป็นช่วงขับรถใช้ความเร็วคงที่ (เช่นบนทางหลวง) ก็จะทำงานที่ส่วนผสมบาง แต่พอต้องติดเครื่องกรองไอเสียแล้วก็ต้องบังคับให้ทำงานที่ส่วนผสม stoichiometric ratio

การที่เชื้อเพลิงสามารถเผาไหม้ได้ด้วยส่วนผสมที่บางก็มีข้อดีบางประการเช่น ติดเครื่องได้ง่ายเมื่ออากาศเย็น (ตรงนี้มักจะเป็นปัญหาของเชื้อเพลิงเหลวเพราะต้องใช้การระเหยให้กลายเป็นไอก่อน), ประหยัดเชื้อเพลิง แต่จะใช้ส่วนผสมได้บางแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องการพลังงานเท่าใด ถ้าต้องการพลังงานมากก็ต้องใช้เชื้อเพลิงในปริมาณมากขึ้น

- Low ignition energy

ส่วนผสมที่มีความเข้มข้นของเชื้อเพลิงอยู่ในช่วง flammability limit จะสามารถลุกติดไฟได้ถ้าได้รับพลังงานกระตุ้น โดยพลังงานกระตุ้นนั้นอาจมาในรูปของ ความร้อน (การทำให้ส่วนผสมทั้หงมดร้อนขึ้น), เปลวไฟ, ตัวเร่งปฏิกิริยา, พื้นผิวโลหะร้อนเช่นขดลวดความร้อน, หรือประกายไฟ ในหัวข้อนี้เป็นเรื่องของการใช้ประกายไฟในการจุดระเบิด ซึ่งก็คือการใช้หัวเทียนจุดระเบิด

ค่าพลังงานที่ใช้ในการจุดส่วนผสม อากาศ + ไฮโดรเจน ให้ลุกติดไฟนั้นมีค่าน้อยกว่าค่าพลังงานที่ใช้ในการจุดส่วนผสม อากาศ + น้ำมันเบนซินประมาณ 10 เท่า (ในบทความใช้คำว่า one order of magnitude) พลังงานกระตุ้นที่ต่ำนี้ทำให้สามารถจุดติดไฟได้ง่าย (ถ้าเป็นรถยนต์ก็คือสตาร์ทติดง่าย) แต่ก็มีข้อเสียคือถ้าไปสัมผัสกับพื้นผิวที่ร้อนจัด (หรือจุด hot spot) ในเครื่องยนต์ ส่วนผสมดังกล่าวก็จะชิงติดไฟขึ้นเอง ซึ่งตรงนี้จะก่อปัญหาในการเผาไหม้ได้ เพราะการเผาไหม้เชื้อเพลิงในกระบอกสูบนั้น ส่วนผสมที่ยังไม่เผาไหม้ต้องรอให้เปลวไฟที่แผ่กระจายมาจากหัวเทียนเป็นตัวจุดระเบิด เพื่อให้หน้าคลื่นการเผาไหม้แผ่ออกไปในทิศทางเดียวกัน

ข้อเสียอีกข้อหนึ่งของไฮโดรเจนคือ โลหะบางชนิดเช่นพลาทินัม (Pt) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ไฮโดรเจนเกิดการเผาไหม้ได้ และหัวเทียนบางชนิดก็มีการใช้พลาทินัมทำเขี้ยวหัวเทียน ดังนั้นหัวเทียนที่ใช้ในการจุดระเบิดส่วนผสมไฮโดรเจนจึงต้องไม่มีโลหะที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่สามารถทำให้ส่วนผสมลุกติดไฟได้เองโดยไม่พึ่งประกายไฟที่เขี้ยวหัวเทียน

- Small quenching distance

ในการทำงานของเครื่องยนต์เบนซินนั้น จะทำการผสมเชื้อเพลิงกับอากาศเข้าเป็นเนื้อเดียวกันก่อน จากนั้นจึงให้นส่วนผสมนี้ไหลเข้ากระบอกสูบผ่านทางวาล์ไอดี (intake valve) ที่เปิดอยู่ จากนั้นจึงทำการอัดส่วนผสมให้มีปริมาตรเล็กลงก่อนที่จะทำการจุดระเบิด

เมื่อเริ่มเกิดการเผาไหม้ เปลวไฟจะแผ่กระจายออกไปจากเขี้ยวหัวเทียน แต่เมื่อเปลวไฟเข้าไปใกล้กับผนังโลหะ (ไม่ว่าจะเป็น ลูกสูบ, ผนังกระบอกสูบ) เปลวไฟจะดับเนื่องจากสูญเสียความร้อนให้กับผนัง (คือเปลวไฟไม่เข้าไปสัมผัสกับผนัง) ระยะทางจากผนังถึงตำแหน่งที่เปลวไฟดับนี้คือ quenching distance

ไฮโดรเจนมีค่า quenching distance นี้ที่เล็ก กล่าวคือเปลวไฟไฮโดรเจนจะดับใกล้กับผนังมากกว่าเปลวไฟไฮโดรคาร์บอน สิ่งนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาได้คือถ้าวาล์วไอดีนั้นไม่ได้ปิดสนิท เปลวไฟมีโอกาสสูงที่จะวิ่งย้อนออกทางท่อไอดีที่เรียกว่าเกิด "back fire" ได้

- High autoignition temperature

Autoignition temperature คืออุณหภูมิที่สารนั้นสามารถลุกติดไฟได้เองโดยไม่ต้องใช้พลังงานจากเปลวไฟหรือประกายไฟ ตัวอย่างเช่นค่า autoignition temperature ของน้ำมันเบนซินอยู่ที่ประมาณ 280ºC ส่วนของน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 210ºC น้ำมันสองตัวนี้ถ้าต่างมีอุณหภูมิ 220ºC ถ้ารั่วออกจากระบบท่อสัมผัสกับอากาศที่อยู่ภายนอก น้ำมันดีเซลจะลุกติดไฟทันที ในขณะที่น้ำมันเบนซินจะไม่ลุกติดไฟ ค่า autoignition temperature ของแต่ละสารที่วัดได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างในการวัด ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าพบว่าค่าที่ค้นได้จากแต่ละแหล่งนั้นไม่เท่ากัน อย่างเช่นกรณีของไฮโดรเจน ค่าที่มีรายงานไว้ที่เห็นก็อยู่ในช่วง 535-585ºC

เชื้อเพลิงที่มีค่าอุณหภูมินี้สูงจะเหมาะกับเครื่องยนต์เบนซิน เพราะในระหว่างการเผาไหม้เชื้อเพลิงนั้นความดันและอุณหภูมิในกระบอกสูบจะเพิ่มสูงขึ้น เชื้อเพลิงจะต้องไม่ชิงลุกติดไฟเอง ต้องรอจนกว่าเปลวไฟที่แผ่มาจากหัวเทียนวิ่งมาถึง ด้วยเหตุนี้ไฮโดรเจนจึงเหมาะกับเครื่องยนต์เบนซิน แต่ไม่เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซล เพราะเครื่องยนต์ดีเซลนั้นทำงานด้วยการอัดอากาศให้ร้อน และเมื่อฉีดน้ำมันเข้าไป น้ำมันจะต้องเกิดการเผาไหม้ทันที ดังนั้นเชื้อเพลิงที่เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลจึงควรต้องมีค่า autoignition temperature นี้ต่ำ

- High flame speed at stoichiometric ratios

ในทางทฤษฎี ในกรณีของวัฎจักรการทำงานของเครื่องยนต์เบนซินนั้น (OTTO cycle) เมื่อเกิดการจุดระเบิด ความดันในห้องเผาไหม้จะเพิ่มสูงขึ้นทันที (กราฟตั้งในแนวดิ่ง) ในขณะที่ปริมาตรคงที่ ไฮโดรเจนกับอากาศที่ stoichiometric ratio จะมีค่าความเร็วในการเคลื่อนที่ของเปลวไฟนี้สูงมาก ประมาณ 10 เท่าของเปลวไฟที่เกิดจากไฮโดรคาร์บอน (ในบทความใช้คำว่า one order of magnitude) ทำให้เครื่องยนต์ไฮโดรเจนนั้นสามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับวัฏจักรในอุดมคติ แต่ถ้าส่วนผสมบางลง ความเร็วในการเผาไหม้ก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือในทางทฤษฎี ประสิทธิภาพการทำงานของวัฏจักรในอุดมคติจะมีค่ามากที่สุด แต่ในทางปฏิบัตินั้นจะมีการเบี่ยงเบนออกไป ทำให้ประสิทธิภาพจริงนั้นต่ำกว่า ดังนั้นถ้าสามารถทำให้เครื่องยนต์สามารถทำงานใกล้กับวัฎจักรในอุดมคติได้มากเท่าใด ประสิทธิภาพก็จะยิ่งมากขึ้น

แต่ความเร็วในการเคลื่อนที่ของเปลวไฟสูง ๆ ก็ใช้ว่าจะดี ความเร็วในการเคลื่อนที่ที่ต่ำกว่าความเร็วเสียงจะเรียกว่าเป็น "deflagration" แต่ปฏิกิริยาการเผาไหม้เป็นปฏิกิริยาที่เร่งตนเอง เพราะความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมาทำให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาเร็วขี้น ดังนั้นเมื่อเปลวไฟเคลื่อนที่ออกไปก็จะเร่งความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อใดก็ตามที่ความเร็วนี้เร็วผ่านความเร็วเสียง ก็จะกลายเป็น "detonation" ที่มีอำนาจการทำลายล้างสูงกว่า

- High diffusivity

ความสามารถในการแพร่จะลดลงเมื่อมวลโมเลกุลสารเพิ่มขึ้น ไฮโดรเจนเป็นแก๊สที่มีมวลโมเลกุลต่ำสุด จึงสามารถแพร่ได้เร็วที่สุด ซึ่งก็มีตรงที่เวลาฉีดแก๊สไฮโดรเจนผสมเข้ากับอากาศ ส่วนผสมจะกลายเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว

แต่การที่มันมีโมเลกุลเล็กและแพร่ได้ง่ายบางทีก็อาจเป็นข้อเสียได้ คือมันสามารถรั่วได้ง่าย ตรงนี้ดูได้จากลูกโป่งสวรรค์ที่ทำจากยาง ที่ในวันแรกจะยังคงลอยได้ดีอยู่ แต่พอวันรุ่งขึ้นมันก็เล็กลง ในกรณีของไฮโดรเจนนั้นเชื้อเพลิงส่วนที่ไม่เผาไหม้ อาจหลุดรอดผ่านแหวนลูกสูบเข้าไปสะสมอยู่ในห้องข้อเหวี่ยง (crankcase) ของเครื่องยนต์ได้ และด้วยการที่ไฮโดรเจนต้องการพลังงานที่ไม่สูงในการจุดระเบิด ดังนั้นจุดร้อนจัด (hot spot) ในห้องข้อเหวี่ยงก็อาจทำให้ไฮโดรเจนที่สะสมอยู่นั้นเกิดการระเบิดได้ ด้วยเหตุนี้เครื่องยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงจึงควรต้องมีวาล์วระบายความดันเพื่อระบายความดันออกจากห้องข้อเหวี่ยงด้วย

- Very low density

ด้วยการที่ไฮโดรเจนมีความหนาแน่นต่ำมาก (และไม่สามารถใช้ความดันอัดให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้) ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการกักเก็บเพื่อให้มีปริมาณมากเพียงพอสำหรับระยะการเดินทาง นอกจากนี้แม้ว่าไฮโดรเจนมีค่าพลังงานต่อหน่วย "น้ำหนัก" ที่สูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น แต่ค่าพลังงานต่อหน่วย "ปริมาตร" นั้นต่ำกว่ามาก (รูปที่ ๓) ส่งผลให้พลังงานที่ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงนั้นต่ำกว่า

การพิจารณาว่าเครื่องยนต์ชนิดหนึ่งจะเหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่โดยดูเพียงแค่กำลังที่เครื่องยนต์ผลิตได้นั้นไม่เพียงพอ ในกรณีของยานพาหนะเช่นรถยนต์ ควรต้องพิจารณากำลังที่ได้ต่อหน่วยน้ำหนัก (หรือปริมาตร) ของ เครื่องยนต์ + ระบบเก็บ-เติม-จ่ายเชื้อเพลิง ด้วย เพราะรถยนต์นั้นมีพื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ที่จำกัด ดังจะเห็นได้จากรถยนต์ที่ใช้แก๊สมีเทนเป็นเชื้อเพลิง ที่ต้องติดตั้งถังบรรจุแก๊สความดันสูงที่มีน้ำหนักมากและจะกินพื้นที่ติดตั้งมากถ้าหากต้องการให้วิ่งได้ระยะทางเท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินด้วยการเติมเชื้อเพลิงเพียงครั้งเดียว (คือถ้าแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งถังแก๊สเพิ่ม ก็จะสูญเสียพื้นที่ใช้สอยด้านอื่นแทน)

 

รูปที่ ๒ ความหนาแน่นพลังงานต่อหน่วยน้ำหนัก (แกนนอน) และต่อหน่วยปริมาตร (แกนตั้ง) ของเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ (รูปจาก https://www.energy.gov/eere/fuelcells/hydrogen-storage)

- การเกิด Nitrogen oxide (NO)

หัวข้อนี้ไม่มีอยู่ในเอกสารที่กล่าวถึงในตอนต้นเรื่อง แต่เห็นว่าควรที่จะนำมารวมเอาไว้ในที่นี้ด้วย นั่นก็คือองค์ประกอบของแก๊สไอเสียที่เกิดจากการเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้แก๊สไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง

ไฮโดรเจนมักจะได้รับการกล่าวอ้างว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ผลิตมลพิษเพราะไม่ผลิต CO2 แต่ในความเป็นจริงด้วยอุณหภูมิที่สูงของการเผาไหม้ จะทำให้ไนโตรเจนและออกซิเจนในอากาศรวมตัวกันเป็นไนโตรเจนออกไซด์ (NO) และปริมาณที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้น้อยไปกว่าที่เกิดจากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง (รูปที่ ๓)

รูปที่ ๓ (ซ้าย) ความเข้มข้นไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ในไอเสียของเครื่องยนต์ไฮโดรเจน (ขวา) ความเข้มข้น ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx), คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และไฮโดรคาร์บอนที่ไม่เผาไหม้ (HC) ในไอเสียของเครื่องยนต์เบนซิน เนื่องจากสารประกอบไนโตรเจนออกไซด์หลายขนิด (สัดส่วนไนโตรเจนและออกซิเจนต่างกัน) จึงเรียกรวม ๆ กันว่า NOx (เมื่อ x เป็นตัวเลข) โดยตัวหลักที่มีมากที่สุดคือ NO (จากบทความเรื่อง "Hydrogen use in internal combustion engine : A review" โดย Murat CINIVIZ และ Huseyin KOSE ในวารสาร International Journal of Automotive Engineering and Technologies, Vol 1, Issue 1, pp. 1-15, 2012)

ในกรณีของเครื่องยนต์เบนซินนั้นสามารถใช้ catalytic converter เพื่อทำให้ CO และไฮโดรคาร์บอนทำปฏิกิริยากับ NO เพื่อเปลี่ยน NO ให้กลายเป็นไนโตรเจนได้ (โดย CO และไฮโดรคาร์บอนจะกลายเป็น CO2 และน้ำไป) แต่ไอเสียของครื่องยนต์ที่ใช้แก๊สไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงจะไม่มีสารที่ทำหน้าที่เป็นตัวรีดิวซ์ NO ได้ จำเป็นต้องใช้วิธีการอื่นแทน เช่นการใช้ระบบ Exhaust gas recirculation (EGR) เช่นกรณีของที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๑๒) MO Memoir : Tuesday 23 April 2567

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความชุดนี้อิงจากมาตราฐาน API 2000 7th Edition, March 2014. Reaffirmed, April 2020 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจ ดังนั้นถ้าจะนำไปใช้งานจริงควรต้องตรวจสอบกับมาตรฐานฉบับล่าสุดที่ใช้ในช่วงเวลานั้นก่อน

เว้นเรื่องนี้ไปหลายเดือนเพิ่งจะมีเวลากลับมาเขียนตอน ตอนนี้เริ่มหัวข้อที่ 4 ที่เกี่ยวกับถังเก็บที่มีระบบทำความเย็น (Refrigerated tank) ทั้งแบบอยู่เหนือระดับพื้นดิน (Aboveground) และต่ำกว่าระดับพื้นดิน (Belowground)

Refrigerated tank จะใช้ในการเก็บแก๊สที่ไม่สามารถทำให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ด้วยการใช้ความดันเพียงอย่างเดียว และต้องการเก็บในปริมาณมาก (คือถ้าต้องการเก็บในปริมาณไม่มากก็จะใช้การเก็บในถังความดันสูงแทน) เช่นไฮโดรคาร์บอน C1-C2 ที่ไม่สามารถทำให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ด้วยการใช้ความดันเพียงอย่างเดียว หรือแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่แม้ว่าจะสามารถทำให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ด้วยการใช้ความดันเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าต้องการเก็บในปริมาณที่มาก การใช้ Refrigerated tank ขนาดใหญ่เก็บที่ความดันบรรยากาศ แทนการใช้ถังเก็บความดันสูงหลายลูกก็อาจเหมาะสมกว่า

รูปที่ ๑ ตัวอย่างโครงสร้างของ Refrigerated tank และระบบทำความเย็น (รูปจาก https://www.arab-oil-naturalgas.com/storage-tanks-types/)

รูปที่ ๑ เป็นตัวอย่างโครงสร้างของ Refrigerated tank ในรูปนี้ตัวถังเก็บจะมีผนังสองชั้น โดยระหว่างผนังชั้นนอกและผนังชั้นใน ทั้งทางด้านข้างและพื้น จะมีการติดตั้งฉนวนกันความร้อน ความร้อนที่รั่วไหลเข้าไปในถังจะทำให้ของเหลวในถังเดือดกลายเป็นไอ ซึ่งจะมีระบบนำกลับไอระเหยนี้ไปควบแน่นให้กลายเป็นของเหลวใหม่และป้อนกลับเข้าถัง

รูปที่ ๒ หัวข้อ 4.1

รูปที่ ๒ เป็นหัวข้อ 4.1 โดยในหน้าแรกกล่าวไว้ว่าถังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเหลวที่มีระบบทำความเย็นอาจเป็นถังในรูปแบบใดได้บ้าง (ดูตัวอย่างในรูปที่ ๓ และ ๔ ประกอบ) ส่วนย่อหน้าที่สองกล่าวว่าหัวข้อที่ 5. ครอบคลุมการระบายความดันในการทำงานปรกติและสภาวะฉุกเฉิน และมาตรฐานนี้ไม่ครอบคลุมกรณีถังเก็บแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ส่วนย่อหน้าที่สามกล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้ความดันสูงเกินหรือเกิดสุญญากาศที่กล่าวไว้ในหัวช้อที่ 3. ควรนำมาพิจารณาด้วย ยกเว้นที่หมายเหตุไว้ในหัวข้อ 4.2.1 นอกจากนี้หัวข้อที่ 4. นี้ยังครอบคลุมครอบคลุมที่มาของการเกิดความดันสูงเกินใน Refrigerated tank ด้วย


รูปที่ ๓ ตัวอย่างโครงสร้างถังเก็บแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีการถมดินรอบผนังด้านนอกของตัวถัง ทำให้เหมือนกับว่าถังนั้นถูกฝังดินอยู่ (รูปจากเอกสาร "Comparative Safety Analysis of LNG Storage Tanks" จัดทำโดย B.A. Fecht และคณะ เผยแพร่เดือนกรกฏาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕)


 รูปที่ ๔ ตัวอย่างโครงสร้างถังเก็บแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ชนิด aboverground ด้านซ้ายตัวโดมหลังคาเป็นผนังสองชั้น ส่วนด้านขวาตัวโดมหลังคาเป็นผนังชั้นเดียว แต่จะมี "Suspended insulating deck" แขวนห้อยต่ำลงมาที่ระดับบนสุดของส่วนลำตัวทรงกระบอก (รูปจากเอกสาร "Comparative Safety Analysis of LNG Storage Tanks" จัดทำโดย B.A. Fecht และคณะ เผยแพร่เดือนกรกฏาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕)

รูปที่ ๕ เริ่มหัวข้อ 4.2 ที่กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดความดันสูงเกินและสุญญากาศ

หัวข้อ 4.2.1 กล่าวถึงแนวปฏิบัติที่มีการปรับปรุง

หัวข้อ 4.2.1.1 ย่อหน้าแรกกล่าวว่าในกรณีของถังเก็บที่มีระบบทำความเย็น ให้พิจารณาสาเหตุของการเกิดความดันสูงเกินและสุญญากาศทั้งหมดที่กล่าวไว้ในหัวข้อ 3. (ถังเก็บที่ไม่มีระบบทำความเย็น) เว้นแต่ที่มีการระบุไว้ในช่วงต่อไป

สำหรับสถานการณ์การระบายความดัน อัตราการไหลของไอ/แก๊สที่คำนวณ ควรต้องเป็นที่สภาวะความดันและอุณหภูมิที่แท้จริงของที่ว่างที่เป็นไอเหนือผิวของเหลว ค่าอัตราการไหลที่คำนวณได้นี้จะถูกเปลี่ยนไปเป็นอัตราการไหลเทียบเท่าของอากาศที่สภาวะปรกติหรือสภาวะมาตรฐาน ภาคผนวก D.9 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการเปลี่ยนหน่วย

รูปที่ ๕ หัวข้อ 4.2 - 4.2.1.1

ในมาตรฐานใช้คำว่า "normal" และ "standard" conditions แยกจากกัน เพราะมันนิยามที่ความดันและอุณหภูมิแตกต่างกัน ในหัวข้อที่ 2. ที่เกี่ยวกับนิยามและคำจำกัดความ ข้อย่อย 2.8 กำหนดค่า normal cubic meters per hours ที่อุณหภูมิ 0ºC ความดัน 101.3 kPa ข้อย่อย 2.21 กำหนดค่า standard cubic feet per hour ที่อุณหภูมิ 15.6ºC (หรือ 60ºF) ความดัน 101.3 kPa (14.7 kPa) ตรงนี้เวลาเอาไปใช้งานจริงก็ต้องตกลงกันให้ดีด้วยว่าจุดอ้างอิงใช้อุณหภูมิและความดันเท่าใด)

รูปที่ ๖ หัวข้อ 4.2.1.2

รูปที่ ๖ เป็นหัวข้อ 4.2.1.2 ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศ โดยในย่อหน้าแรกกล่าวว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความดันบรรยากาศภายนอกไม่ส่งผลต่อถังเก็บที่ไม่มีระบบทำความเย็นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในกรณีของถังเก็บที่มีระบบทำความเย็นจะแตกต่างกัน เพราะมันเก็บของเหลวที่อุณหภูมิใกล้กับ "จุดเดือด"

กล่าวคือสำหรับของเหลวที่มีอุณหภูมิตรงจุดเดือดนี้ ถ้าหากความดันเหนือผิวของเหลวลดลง ของเหลวก็จะเดือดกลายเป็นไอจำนวนมากได้ทันที ส่งผลในความดันในถังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ในทางกลับกันถ้าความดันเหนือผิวของเหลวเพิ่มขึ้น ไอระเหยเหนือผิวของเหลวก็จะควบแน่นเป็นของเหลวได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความดันลดต่ำลงได้อย่างรวดเร็ว

ย่อหน้าที่สองกล่าวว่า ถ้าความดันในถังเท่ากับความดันใช้งานสูงสุด ความดันบรรยากาศภายนอกที่ลดลงจะทำให้เกิดความดันสูงเกินขึ้นในถังอันเกิดจากการขยายตัวของไอในปริมาตรปิดของที่ว่างส่วนที่เป็นไอ (VAG) และจากการระเหยของของเหลว (VAL) (ในข้อความใช้คำว่า "overheat" ซึ่งตรงนี้คงต้องเทียบกับความดันเหนือผิวของเหลว เช่นที่ความดันบรรยากาศน้ำจะเดือดที่อุณหภูมิ 100ºC แต่ถ้าความดันเหนือผิวน้ำลดลง อุณหภูมิจุดเดือดของน้ำจะลดต่ำลง ดังนั้นแม้ว่าน้ำนั้นจะมีอุณหภูมิ 100ºC เท่าเดิม แต่มันจะเป็นน้ำที่มีอุณหภูมิสูงเกินอุณหภูมิจุดเดือดที่ความดันค่าใหม่ที่ต่ำกว่า) และในทำนองเดียวกัน สภาวะสุญญากาศจะเกิดขึ้นภายในถังได้ถ้าหากความดันบรรยากาศภายนอกเพิ่มสูงขึ้น

ย่อหน้าที่สามกล่าวว่าอัตราการไหลเนื่องจากการขยายตัวของส่วนที่เป็นไอ ภายใต้สภาวะความดันและอุณหภูมิจริงของปริมาตรปิดล้อมของส่วนที่เป็นไอนั้น (VAG) สามารถคำนวณได้โดยใช้สมการที่ (18) โดยที่

Vtk คือปริมาตรความจุแก๊สสูงสุดของถังเปล่า หน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร (m3)

p คือความดันสัมบูรณ์ หน่วยเป็นปาสคาล (Pa)

(dpatm/dt) คือค่าสัมบูรณ์ของอัตราการแปรเปลี่ยนความดันบรรยากาศ หน่วยเป็นปาลคาลต่อชั่วโมง (Pa/hr)

การประมาณค่าอัตราการไหลเนื่องจากการเดิอดของของเหลวที่มีอุณหภูมิสูงเกินจุดเดือดที่ความดันนั้น (VAL) อาจใช้วิธีการที่ให้ไว้ในหัวข้อ 4.2.1.3 ในการคำนวณสัดส่วนของของเหลว (Xgas) ที่ระเหยกลายเป็นไอทันที (เมื่อความดันเหนือผิวของเหลวที่กำลังเดือดนั้นลดต่ำลง จะทำให้ของเหลวส่วนหนึ่งระเหยกลายเป็นไอทันที การระเหยกลายเป็นไอนี้จะดึงความความร้อนที่อยู่ในตัวของเหลวออก (ค่าความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอ) ทำให้ของเหลวที่เหลืออยู่นั้นเย็นตัวลงได้)

สมการที่ (19) เป็นสมการสำหรับคำนวณค่าอัตราการไหลรวม (VA) ที่เกิดจากการขยายตัวของส่วนที่เป็นไอและที่เกิดจากการเดือดกลายเป็นไอของของเหลวอย่างทันทีทันใด

ท้ายสุดของหัวข้อนี้กล่าวว่าควรนำเอาข้อมูลท้องถิ่นในเรื่องอัตราการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศมาใช้ และในกรณีที่ไม่มีข้อมูลดังกล่าวก็อาจสมมุติโดยใช้ค่าอัตราการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศ 2000 Pa/hr (0.3 psi/hr) โดยมีค่าการเปลี่ยนแปลงรวมอยู่ที่ 10 kPa (1.5 psi)

ต่อไปเป็นหัวข้อ 4.2.1.3 (รูปที่ ๗) ที่เกี่ยวกับการไหลเข้าออกของของเหลว

ย่อหน้าแรกกล่าวว่าการระบายแก๊สเข้าหรือออกอันเป็นผลจากการไกลเข้าออกของของเหลวในส่วนของถังเก็บที่ไม่มีระบบทำความเย็นนั้นได้กล่าวไว้ในหัวข้อที่ 3.3.2.2 ในกรณีของถังเก็บที่มีระบบทำความเย็นนั้น ผู้ใช้ควรประเมินปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่ระเหยกลายเป็นไอทันที (flash) เมื่อมีการไหลเข้าถังเก็บ การระเหยกลายเป็นไอทันทีเมื่อมีของเหลวป้อนเข้าถังเก็บจะมีนัยสำคัญเมื่ออุณหภูมิของของเหลวนั้นอยู่ที่หรือสูงกว่าอุณหภูมิจุดเกิดฟอง (bubble point) หรืออุณหภูมิจุดเดือด (boiling point) ที่ความดันภายในถัง ในการนี้ควรต้องคำนวณปริมาณการระเหยกลายเป็นไอทันทีเมื่ออุณหภูมินั้นอยู่ใกล้จุดเกิดฟอง ไอระเหยที่เกิดขึ้นระหว่างการเติมของเหลวเข้าถังนั้นอาจเกิดได้จาก การเติมของเหลวที่อุ่นเข้าไปในถัง, ความร้อนที่รั่วไหลเข้าไปผ่านระบบท่อ, การทำงานของปั๊ม, การเย็นลงของถังและท่อเติมของเหลว และไอระเหยนั้นจะถูกแทนที่ด้วยของเหลวที่ไหลเข้ามา ปริมาณของเหลวที่จะกลายเป็นไอทันทีควรต้องมาจากการคำนวณไม่ใช่การสมมุติ

ของเหลวบริสุทธิ์ (และของเหลวผสมบางชนิดที่เรียกว่า azeotrope) จะเดือดกลายเป็นไอที่อุณหภูมิคงที่ที่เรียกว่าจุดเดือด (boiling point) ของเหลวที่ประกอบด้วยหลายสารที่มีจุดเดือดต่างกันผสมกันอยู่ เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง เวลาที่เพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ องค์ประกอบที่มีจุดเดือดต่ำระเหยเหยออกมาก่อนกลายเป็นฟองเกิดขึ้น อุณหภูมิที่ทำให้เกิดฟองนี้เรียกว่าจุดเกิดฟองหรือ bubble point

รูปที่ ๗ หัวข้อ 4.2.1.3

ในทางกลับกันในกรณีของไอผสมที่ประกอบด้วยสารที่มีจุดเดือดต่างกันหลายชนิดผสมกันอยู่ เวลาที่ไอนั้นมีอุณหภูมิลดต่ำลง องค์ประกอบที่มีจุดเดือดสูงสุดจะควบแน่นออกมาก่อน อุณหภูมิที่ทำให้ไอนั้นเริ่มควบแน่นเป็นของเหลวเรียกว่าจุดน้ำค้าง (dew point)

ย่อหน้าที่สองกล่าวว่าถ้าผลิตภัณฑ์ที่เก็บอยู่นั้นอยู่ที่สภาวะสมดุล (อุณหภูมิที่จุดเดือด) สัดส่วนของของเหลวที่ระเหยกลายเป็นไอทันที (Xgas) อันเป็นผลจากอุณหภูมิก่อนการขยายตัวที่สูงกว่าอุณหภูมิจุดเกิดฟองของของเหลวที่เก็บอยู่ อาจประมาณได้ด้วยสมการอย่างง่ายที่แสดงไว้ในสมการที่ (20) โดยที่

Cp คือค่าความจุความร้อนของของเหลว (หน่วยเป็นจูลต่อกิโลกรัม-เคลวิน J/kg.K)

T2 คืออุณหภูมิจุดเดือดของของเหลวนั้นที่ความดันของถัง (หน่วยเป็นเคลวิน K)

T1 คืออุณหภูมิของของเหลวก่อนการขยายตัว (หน่วยเป็นเคลวิน K)

L คือค่าความร้องแฝงของการระเหยกลายเป็นไอ (หน่วยเป็นจูลต่อกิโลกรัม J/kg)

จากนั้นจะสามารถคำนวณอัตราการเกิดไอ (หน่วยเป็นมวลต่อหน่วยเวลา VF) ได้จากสมการที่ (21) โดยที่ mpf คืออัตราการเติมในหน่วยมวลต่อหน่วยเวลา

ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง (คือค่า Cp กับ L) สำหรับการลดลงของความดันสัมบูรณ์ที่เท่ากับหรือน้อยกว่า 100 kPa สามารถใช้ค่า Cp กับ L ที่ให้ไว้ข้างล่าง และใช้สมการที่ (22) (กรณีของหน่วย SI) หรือสมการที่ (23) (กรณีของหน่วย USC) แทน

โดยที่ (p2 - p1) คือค่าการเปลี่ยนแปลงความดันสัมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์ระหว่างความดันเก็บเริ่มต้น (p1) และความดันสุดท้าย (p2)

ย่อหน้าสุดท้ายของหัวข้อนี้กล่าวว่าขนาดที่เหมาะสมและการออกแบบระบบทำความเย็นและระบบเก็บรวบรวมไอ ควรต้องป้องกันการเกิดสุญญากาศหรือความดันสูงเกินอันเป็นผลจากการเคลื่อนที่เข้าออกถังของของเหลว แต่ค่าที่ได้มานี้ไม่ควรเอาไปใช้ในการออกแบบระบบป้องกันสุญญากาศ/ระบายความดัน (ดูกรณีการสูญเสียระบบทำความเย็นในหัวข้อ 4.2.2.2)

รูปที่ ๘ หัวข้อ 5.2.1.4

หัวข้อ 4.2.1.4 (รูปที่ ๘) กล่าวถึงกรณีของถังถูกไฟลน โดยในย่อหน้าแรกกล่าวไว้ว่าในหัวข้อ 3.3.3 ได้บรรยายถึงความสามารถในการระบายความดันที่เกี่ยวข้องกับการที่ด้านนอกของถังเก็บที่ไม่มีระบบทำความเย็นโดนไฟลน ซึ่งควรนำแนวทางนั้นมาใช้ในการคำนวณความสามารถในการระบายความดัน แต่มีข้อแม้ว่าไม่ควรนำวิธีที่แสดงในหัวข้อ 3.3.3.3 มาใช้เนื่องจากในกรณีนั้นอิงว่าของเหลวในถังเป็นเฮกเซนหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่คล้ายคลึงกัน

ในกรณีของถังเก็บที่มีระบบทำความเย็นที่มีผนังสองชั้น ความร้อนที่รั่วไหลเข้ามาจากไฟ เริ่มแรกจะทำให้ไอที่อยู่ในที่ว่างระหว่างผนังสองชั้น (ของลำตัวถัง) ขยายตัว (คือที่ว่างระหว่างผนังสองชั้นจะมีวัสดุฉนวนความร้อนบรรจุอยู่ และมีไอบางส่วนอยู่ในนี้) อย่างไรก็ตามในกรณีของ ความร้อนที่รั่วไหลเข้ามายังทำให้ไอที่อยู่ในที่ว่างใต้หลังคาของถังผนังสองชั้นชนิด "suspended deck" (รูปที่ ๔ ขวา) ขยายตัว อย่างไรก็ตามอาจกินเวลานานหลายชั่วโมงก่อนที่ความร้อนที่รั่วไหลเข้าไปในถังนั้นจะทำให้ของเหลวที่บรรจุอยู่ในถังนั้นมีอัตราการระเหยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (คือถ้าเป็นถังเก็บแบบไม่มีระบบทำความเย็น ถังเก็บจะเป็นผนังชั้นเดียว สิ่งที่กั้นระหว่างของเหลวที่บรรจุอยู่ในถังกับด้านนอกคือผนังโลหะชั้นเดียว แต่ในกรณีของถังเก็บที่มีระบบทำความเย็นที่มีผนังสองชั้นนั้น ของเหลวจะสัมผัสกับด้านในของผนังชั้นในที่ทำหน้าที่บรรจุของเหลว โดยมีวัสดุฉนวนความร้อนแทรกกลางระหว่างผนังด้านในกับด้านนอก ดังนั้นความร้อนจากเปลวไฟที่ลนผนังโลหะด้านนอกจึงเข้าไปถึงของเหลวที่บรรจุอยู่ภายในได้ยากกว่า)

ดังนั้นความสามารถในการระบายความดันที่เพิ่มขึ้นที่ต้องใช้นั้น (กรณีการระเหยที่เพิ่มขึ้นของเหลวที่บรรจุอยู่) จะมีค่าไม่มากเมื่อเทียบกับความสามารถในการระบายความดันเริ่มต้นที่เกิดจากการขยายปริมาตรของไอ (ที่อยู่ระหว่างผนังถังและใต้หลังคา) ด้วยเหตุนี้การออกแบบระบบระบายความดันฉุกเฉินของถังเก็บผนังสองชั้นที่มีระบบทำความเย็นจึงค่อนข้างซับซ้อน จึงไม่มีการนำเสนอวิธีการคำนวณไว้ในที่นี้ ดังนั้นจึงควรต้องทำการวิเคราะห์การระบายความดันเนื่องจากไฟของถังเก็บผนังสองชั้นที่มีระบบทำความเย็นอย่างทั่วถึง รวมทั้งการทบทวนความแข็งแรงของโครงสร้างของส่วนที่ไม่เปียกของเหลวของตัวผนังด้านนอก

คือในกรณีของถังเก็บผนังชั้นเดียวที่ด้านหนึ่งของผนังถังนั้นสัมผัสกับของเหลว แม้ว่าด้านนอกของถังจะโดนไฟลน แต่อุณหภูมิเนื้อโลหะจะอยู่ที่จุดเดือดของของเหลวที่บรรจุอยู่เพราะความร้อนที่เนื้อโลหะได้รับจะไปทำให้ของเหลวที่สัมผัสอยู่นั้นเดือด ดังนั้นผนังโลหะส่วนที่ยังสัมผัสกับของเหลวอยู่จะไม่ร้อนจัดและยังไม่สูญเสียความแข็งแรง แต่ในกรณีของถังเก็บผนังสองชั้นที่มีระบบทำความเย็นนั้น ฝั่งด้านในของผนังด้านนอกไม่ได้สัมผัสกับของเหลว เมื่อผนังด้านนอกโดยเปลวไฟลนก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความสูญเสียความแข็งแรงของโครงสร้างได้

ตอนที่ ๑๒ คงพอแค่นี้ก่อน

วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2567

รู้ทันนักวิจัย (๒๘) ผลิตปูนซิเมนต์ด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ MO Memoir : Friday 12 April 2567

"วงการนี้เขาก็อยู่กันแบบนี้แหละ เขาชอบให้เราฟังอย่างเดียว ไม่อยากให้เราถาม บางคำถามถือว่าเป็นคำถามต้องห้ามด้วยซ้ำ ขืนถามไปเขาก็เลิกคุยด้วย"

สัปดาห์ที่แล้วมีนิสิต ๒ คนถามผมเรื่องแนวความคิดของเขาที่จะทำโครงงานส่งประกวดเกี่ยวกับการลดโลกร้อนด้วยการดักจับ CO2 ซึ่งผมก็ได้นำเสนอมุมมองที่เห็นว่าคนที่อยู่ในวงการนี้เขาไม่อยากพูดถึงหรือหลีกเลี่ยงที่จะคุย นั่นก็คือ "พลังงานที่ใช้ในกระบวนการดังกล่าวได้มาจากไหน ก่อให้เกิด CO2 ด้วยหรือไม่ และ CO2 ที่ดักจับได้และที่เกิดจากพลังงานที่นำมาใช้ในการดักจับนั้นอันไหมมากกว่ากัน ฯลฯ"

ซึ่งถ้าถามคำถามเหล่านี้ก็มักจะได้คำตอบว่า "พลังงานที่ใช้นั้นได้มาจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อให้เกิด CO2" แต่คำตอบนี้ต้องไม่รวมพลังงานไฟฟ้านะ เว้นแต่ว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้มานั้นไม่ได้มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งตรงนี้ก็ก่อให้เกิดคำถามตามมาอีกก็คือ "ถ้ามีพลังงานสะอาดที่ไม่ผลิต CO2 ดังนั้นทำไมเราไม่เอาพลังงานเหล่านั้นไปใช้ในกระบวนการผลิตแทนการใช้พลังงานที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่นใช้ไฟฟ้าในการผลิตไอน้ำ) ซึ่งจะเป็นการลดการผลิต CO2 แทนที่จะต้องมาคิดหาทางดักจับ CO2 ที่ผลิตขึ้นมา"

รูปที่ ๑ ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ (kWh) ต่อตัน ของซีเมนต์ที่ผลิตได้ ของประเทศต่าง ๆ (ข้อมูลปีค.ศ. ๒๐๑๘ หรือพ.ศ. ๒๕๖๑)

ดังนั้นวันนี้ก็เลยจะขอลองคำนวณเล่น ๆ ว่าถ้าคิดจะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนให้กับกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ต้องใช้เซลล์แสงอาทิตย์ขนาดเท่าใด

เราสามารถแบ่งการใช้พลังงานในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่ทำหน้าที่บดย่อยวัตถุดิบที่เป็นอนุภาคของแข็งให้เป็นผงละเอียด ตรงนี้จะใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนที่สองคือการนำเอาวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ผ่านการบดเป็นผงและผสมเข้าด้วยกันแล้วไปเผาที่อุณหภูมิสูง ตรงนี้จะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก โดยจะมี CO2 เกิดขึ้นจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อให้ความร้อนและที่สลายตัวออกมาจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต (จากสารประกอบ carbonate)

รูปที่ ๑ เป็นข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตปูนซิเมนต์ในประเทศต่าง ๆ ของปีพ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อให้คำนวณง่าย ๆ จะใช้ตัวเลขกลม ๆ คือเฉลี่ยประมาณ 100 kWh/t (กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตันของปูนที่ผลิตได้) หรือใน 1 วัน (24 ชั่วโมง) จะใช้พลังงาน 2,400 kW/t ดังนั้นโรงผลิตปูนที่มีกำลังการผลิต 10,000 ตันต่อวัน (ของบ้านเราหลายโรงงานก็อยู่ที่ระดับนี้) ในเวลา 1 ก็จะใช้พลังงาน 24,000,000 kW

รูปที่ ๒ ขนาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผลิตกำลังไฟฟ้าได้ 1000 W

รูปที่ ๒ เป็นขนาดของแผงเซลล์แสงอาทิตย์กำลังการผลิต 1000 W หรือ 1 kW ที่มีขนาด ยาว 0.955 เมตรและกว้าง 0.530 m ซึ่งเมื่อติดตั้งจะกินพื้นที่ประมาณ 0.5 m2

ดังนั้นถ้าต้องการพลังงาน 24,000,000 kW ก็ต้องใช้พื้นที่ติดตั้ง 12,000,000 m2 หรือ 12 km2 หรือ 7,500 ไร่

พื้นที่ 12 km2 ก็เท่ากับพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 4 km กว้าง 3 km เรียกว่าใหญ่กว่าเขตเล็ก ๆ บางเขตของกรุงเทพ

มีการประมาณกันว่าพลังงานไฟฟ้าของโรงงานปูนซิเมนต์นั้นอยู่ที่ประมาณ 75% โดยอีก 25% เป็นส่วนของความร้อนที่ต้องใช้ในการเผาปูน ซึ่งตรงนี้จะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ดังนั้นถ้าจะใช้พลังงานไฟฟ้าในการให้ความร้อนในการเผาปูนก็ต้องบวกเพิ่มเข้าไปอีก

ถ้าจะเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าพลังน้ำ จะคิดเพียงแค่พื้นที่อ่างเก็บน้ำก็ไม่ถูก ต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่ต้องใช้รองรับน้ำฝนด้วย

ท้ายสุดของการสนทนา ผมก็บอกกับเขาว่า

"เรื่องที่คุยกับผมก็ลืม ๆ ไปเถอะ เดี๋ยวจะไม่สามารถทำงานส่งได้"

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น MO Memoir : Monday 8 April 2567

เส้นทางแถวนี้ ถ้าเป็นช่วงทำนาหรือข้าวออกรวงก็น่าจะดูดีกว่าหน้าร้อนแบบนี้มาก ตามถนนรองจากสถานีเปรงไปยังคลองแขวงกลั่นก็ยังเป็นพื้นที่ทำนาอยู่

พอจะรู้มาก่อนหน้าแล้วว่าสถานีนี้เป็นสถานีร้าง แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะทรุดโทรมน่าดู ตอนไปถึงสถานี พอจอดรถเสร็จก็หาทางขึ้นชานชลาไม่เจอ เข้าใจว่าคงต้องเดินลุยเข้าไปข้างในห่างจากถนนเข้าไปอีก แต่พอเห็นกองอิฐที่พอจะปีนขึ้นไปได้ (เดาว่าน่าจะมีคนเอามากองไว้ จะได้ไม่ต้องเดินเข้าไปลึกจากถนนมาก) ก็เลยปีนขึ้นไปตรงนั้นแทน

ตัวอาคารทั้ง ๆ ที่สร้างขึ้นไม่นานแต่ชำรุดทรุดโทรมมาก กระจกหน้าต่างหายหมด ตามชานชลาเต็มไปด้วยมูลนกพิราบตามแนวที่นกมาเกาะ ถนนเข้าสู่ตัวสถานีอยู่สุดตัวสถานีด้านทิศตะวันออกที่มีจุดตัดทางรถไฟ ที่เคยเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนรถบัสจนทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วม ๒๐ ราย (รูปที่ ๙)

จากป้ายที่สถานีเปรงทำให้รู้ว่าสถานีคลองแขวงกลั่นนี้สร้างขึ้นภายหลังโดยให้อยู่ก่อนถึงสถานีคลองบางพระ แต่ก็แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมจึงสร้างสถานีที่ตำแหน่งนี้ทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างจากสถานีบางพระไม่ถึง ๓ กิโลเมตร และแถวนี้ดูแล้วก็ไม่เห็นมีชุมชนใหญ่อะไร ดูจากพื้นที่รอบข้างแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าทำไมหลังเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้น ชาวบ้านจึงไม่กล้ามาใช้สถานีนี้ในช่วงเวลากลางคืน

แผนการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากสุวรรณภูมิไปยังอู่ตะเภาก็มีผู้ประมูลงานก่อสร้างไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะได้สร้างจริงเมื่อใด แนวเส้นทางการสร้างก็น่าจะอยู่ตามแนวทางรถไฟเดิมนี้ วันนั้นมีโอกาสผ่านไปแถวนั้นก็เลยถือโอกาสแวะถ่ายรูปสถานีรถไฟที่เงียบสงบริมทางเก็บเอาไว้ดูเล่นก่อนที่บรรยากาศแบบนี้จะหายไป

วันนี้ก็เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพอีกวัน

รูปที่ ๑ บนเส้นทางจากสถานีเปรงไปยังคลองแขวงกลั่น

รูปที่ ๒ จุดตัดทางรถไฟที่เป็นที่เกิดอุบัติเหตุ

รูปที่ ๓ สถานีนี้เป็นสถานีร้าง ไม่มีคนดูแล

รูปที่ ๔ แม้แต่ป้ายบอกสถานีข้างเคียง (ฝั่งด้านทิศตะวันออก) ก็ยังมีต้นไม้ขึ้นบดบัง

รูปที่ ๕ ป้ายด้านฝั่งทิศตะวันตกดูดีหน่อย

รูปที่ ๖ ทางช้ามที่เป็นจุดเกิดอุบัติเหตุ อยู่ปลายชานชลาด้านทิศตะวันออก

รูปที่ ๗ สภาพอาคารร้าง กระจกหน้าต่างไม่เหลือง

รูปที่ ๘ บนชานชลามองไปยังทิศตะวันออก บริเวณนี้ดีหน่อยตรงที่ไม่ค่อยมีมูลนกพิราบ

รูปที่ ๙ ภาพข่าวอุบัติเหตุที่เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ขอนำมาบันทึกไว้หน่อย

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567

รู้ทันนักวิจัย (๒๗) การนำแก๊สสังเคราะห์ (Syngas) ไปใช้ประโยชน์ MO Memoir : Tuesday 2 April 2567

Syngas ย่อมาจากคำว่า Synthesis gas ที่แปลเป็นไทยว่าแก๊สสังเคราะห์ องค์ประกอบสำคัญของแก๊สนี้คือไฮโดรเจน (H2) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) โดยอาจมีมีเทน (CH4) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ร่วม วิธีการผลิตแก๊สผสมนี้มีหลายวิธี วิธีการหลักที่อุตสาหกรรมใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือปฏิกิริยา Steam reforming ที่ได้จากการนำเอาแก๊สมีเทนทำปฏิกิริยากับไอน้ำที่อุณหภูมิสูง (ระดับ 1000ºC) โดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาช่วย

วิธีการที่ใช้กันมากก่อนหน้าคือ coal gasification ที่นำถ่านหินมาทำปฏิกิริยากับไอน้ำที่อุณหภูมิสูง แก๊สตัวนี้มักจะเรียกว่า coal gas ในอดีต (ก่อนยุคมีไฟฟ้าใช้) จะมีการผลิต coal gas ส่งไปตามท่อเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงตามบ้านเรือนและจุดตะเกียงให้แสงสว่างตามถนนหนทาง

ในขณะนี้มีความพยายามที่จะผลิต syngas จากปฏิกิริยาระหว่าง CO2 กับ H2 โดยอ้างว่าเพื่อลดปัญหาแก๊สเรือนกระจก (Green House Gas - GHG) ส่วนที่ว่าจะได้ H2 มาจากไหนและจะต้องใช้พลังงานเท่าไรในการทำให้ปฏิกิริยาเกิด (เพราะมันเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อนร้อน) โดยการผลิต H2 และพลังงานที่ใช้ในการทำให้ปฏิกิริยาเกิดนั้นจะมีการผลิตคาร์ CO2 หรือไม่ ในปริมาณเท่าใด ชดเชยกันการใช้ในปฏิกิริยาได้หรือไม่ จะไม่มีการกล่าวถึงกัน (และห้ามถามถึงด้วย)

รูปที่ ๑ ตัวอย่างการนำเอา Syngas ไปใช้ประโยชน์ (จากบทความของ Hernández, S. และคณะ เรื่อง "Syngas production from electrochemical reduction of CO2: current status and prospective implementation." Green Chemistry, 2017. 19(10): p. 2326-2346.

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสรับฟังการนำเสนอโครงงานการผลิต syngas จากปฏิกิริยาระหว่าง CH4 กับ CO2 ที่เรียกว่า Dry reforming โดยผู้นำเสนอผลงานได้หยิบเอารูปภาพจากบทความหนึ่งมาประกอบการนำเสนอซึ่งก็คือรูปที่ ๑ ที่นำเอามาแสดง ผมเห็นรูปนี้แล้วรู้สึกแปลกใจกับสิ่งที่เขานำมานำเสนอก็เลยลองไปค้นบทความที่เขาอ้างอิงไว้มาดู แต่ก่อนอื่นเรามาทบทวนเรื่องการทำปฏิกิริยาเคมีกันสักนิดก่อน

พลังงานสำคัญ 2 พลังงานที่เกี่ยวข้องกับการทำปฏิกิริยาเคมี ตัวแรกคือ Heat of reaction (∆HR) ซึ่งคือคือพลังงานที่ปฏิกิริยาปลดปล่อยออกมา (ในกรณีของปฏิกิริยาคายความร้อน) หรือปฏิกิริยาดูดเข้าไป (ในกรณีของปฏิกิริยาคายความร้อน) ส่วนตัวที่สองคือ Activation energy (Ea) หรือพลังงานกระตุ้น ซึ่งก็คือพลังงานที่ต้องใส่เข้าไปเพื่อทำให้โมเลกุลสารตั้นต้นมีการเปลี่ยนแปลง (ซึ่งก็คือเกิดการแตกพันธะเดิม) Heat of reaction นั้นไม่ขึ้นกับเส้นทางการเกิดปฏิกิริยา กล่าวคือไม่ว่าจะทำให้ปฏิกิริยาเกิดโดยมี/ไม่มีตัวเร่งปฏิกิริยา เกิดด้วยการใช้กระแสไฟฟ้า พลังงานแสง ฯลฯ ค่า ∆HR ก็จะเท่ากัน ตัวที่ต่างกันก็คือค่า Ea ซึ่งขึ้นอยู่กับเส้นทางการเกิด

ในบทความที่นำมาอ้างอิงนั้นกล่าวถึงการรีดิวซ์ CO2 ให้เป็น syngas ด้วยวิธีการทางเคมีไฟฟ้าโดยบทความไม่ได้ระบุเจาะจงไปว่าจะใช้ H2 ที่ได้มาจากแหล่งใด การสังเคราะห์ด้วยวิธีการทางเคมีไฟฟ้านี้อ้างกันว่าใช้พลังงานต่ำกว่าการผลิตแบบดั้งเดิม (ส่วนไฟฟ้าได้มาจากไหนนั้นและในการผลิตเกิด CO2 ด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง พอโดนแย้งตรงนี้กันบ่อพักหลังก็มักจะบอกว่าใช้ไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน ส่วนที่ว่าไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนนั้นเพียงพอต่อกระบวนการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมหรือไม่นั้นขอความกรุณาอย่างเพิ่งถาม)

ปฏิกิริยานี้เป็นปฏิกิริยาดูดความร้อน ดังนั้นพลังงานต่ำสุดที่ต้องใช้คือค่า ∆HR ส่วนพลังงานที่สามารถลดได้คือ Ea ซึ่งปรกติก็คือการทำให้เกิดเส้นทางการเปิดปฏิกิริยาใหม่ เช่นแทนที่จะใส่พลังงานจำนวนมากเข้าไปเพียงครั้งเดียวก็เปลี่ยนเป็นการสร้างเส้นทางย่อยหลายขั้นตอนต่อเนื่องกัน ที่ใช้แต่ละขั้นตอนใช้พลังงานกระตุ้นในระดับต่ำ

ประเด็นที่ผมรู้สึกแปลกใจนั้นไม่เกี่ยวกับตัวบทความ แต่เป็นเรื่องสิ่งที่เขาบอกว่าเขาจะทำโดยเอาบทความดังกล่าวมาเกี่ยวข้อง คือเขาบอกว่าจะใช้ CH4 ในการผลิต syngas โดย syngas ที่เขาผลิตขึ้นนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ดังแสดงในรูปที่ ๑ ได้ ผมก็เลยถามเขาไปว่า

เครื่องยนต์กังหันแก๊ส (Gas turbine) และเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal combustion (IC) engine) ที่ใช้ CH4 เป็นเชื้อเพลิงปัจจุบันมันก็มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว แล้วนึกยังไงจะเอา CH4 มาเปลี่ยนเป็น syngas เพื่อให้ได้ H2 เยอะ ๆ (แน่นอนว่ามีการสูญเสียพลังงานในการผลิตมากด้วย) เพื่อไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับกังหันแก๊สและเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งต้องไปออกแบบเครื่องยนต์กันใหม่อีก เพราะพฤติกรรมการเผาไหม้ไฮโดรเจนนั้นแตกต่างจากไฮโดรคาร์บอนอยู่มาก (ตรงมุมซ้ายบนของรูปที่ ๑)

ปฏิกิริยาการเผาไหม้ถ่านหิน/ไฮโดรคาร์บอนที่ทำให้เกิด CO2 เป็นปฏิกิริยาที่คายความร้อนสูง การจะเปลี่ยน CO2 กลับไปเป็นคาร์บอนหรือไฮโดรคาร์บอนเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงก็ต้องใส่พลังงานย้อนกลับเข้าไปมากกว่าพลังงานที่ได้จากการเผาไหม้ครั้งแรก ถ้าจะกล่าวว่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้นั้นจะใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด มันก็เกิดคำถามตามมาอีกว่าถ้าเช่นนั้นแทนที่จะเอาพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดนั้นมาเปลี่ยน CO2 ในอากาศให้กลับไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าใหม่ ก็เอามันจ่ายเข้าระบบไฟฟ้าเลยไม่ดีกว่าหรือ จะได้ลดการผลิตไฟฟ้าจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิด CO2 และยังเป็นวิธีการที่ง่ายกว่าด้วย

ในวงการนี้เขามักบอกว่าเอทานอล (ที่ได้จากพืช) ที่ใช้แทนน้ำมันเบนซินและไบโอดีเซล (ที่ได้จากน้ำมันปาล์ม) เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดช่วยลดโลกร้อน ถ้าเช่นนั้นเราควรเสนอว่าเราควรรณรงค์ให้ใช้เตาถ่าน (ที่ได้จากไม้) แทนแตาแก๊สหุงต้มจะดีกว่าไหม เพราะถ่านก็มาจากพืชและควรต้องถือว่าเป็นพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน

คิดว่าผลตอบรับที่ได้จะออกมาในแง่ใด :) :) :)

วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2567

อันตรายใน Analyser House เรื่องที่ ๒ MO Memoir : Sunday 24 March 2567

อุบัติเหตุจำนวนไม่น้อยในอุตสาหกรรมเกิดจากการต่อท่อผิด ทั้ง ๆ ที่การป้องกันความผิดพลาดดังกล่าวทำได้ง่ายด้วยการใช้ข้อต่อที่แตกต่างกัน (เช่น ชนิด (ตัวผู้/ตัวเมีย), ทิศทางการหมุน (เวียนซ้าย/เวียนขวา) หรือขนาดที่ไม่เท่ากัน) ส่วนการทาสีน่าจะจัดเป็นมาตรการเฉพาะหน้ามากกว่า เพราะเมื่อเวลาผ่านไปสีที่ทาไว้ก็หลุดร่อนได้ หรือการทำงานในที่มีแสงสว่างน้อยก็ทำให้การมองสีไม่ชัดเจนได้

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้ก็เกิดจากการต่อท่อสลับกัน แต่เนื่องจากในบทความนั้นมีการกล่าวถึงโครงสร้างวาวล์ตัวหนึ่ง ก็เลยจะขอปูพื้นเรื่องชื่อเรียกโครงสร้างวาล์วให้กับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ก่อน

รูปที่ ๑ ตัวอย่างโครงสร้างและชื่อชิ้นส่วนต่าง ๆ ของวาล์วควบคุม (control valve) "Gland" คือบริเวณในกรอบสีเขียวที่มี valve stem สอดผ่านและมี gland packing อุดกันรั่ว โดยที่ยังยอมให้ valve stem เคลื่อนที่ขึ้นลงในแนวเส้นตรงได้ (รูปจาก https://instrumentationtools.com/basic-parts-control-valves/)

"Valve stem" เป็นชิ้นส่วนที่เชื่อมต่อเข้ากับโครงสร้างที่ทำหน้าที่ปิดกั้นการไหล เช่น valve plug ในกรณีของ globe valve (ดังรูปที่ ๑ ข้างบน) หรือลูกบอล ในกรณีของ ball valve ถ้าเป็น globe valve ตัว valve stem จะเคลื่อนที่ขึ้นลงเพื่อควบคุมระดับการยกตัวของ valve plug แต่ถ้าเป็น ball valve ตัว valve stem จะหมุนไปมาเพื่อควบคุมระดับการเปิดของลูกบอล

ช่องทางที่ให้ valve stem สอดผ่านนี้ต้องยอมให้ valve stem เคลื่อนตัวได้อย่างอิสระ และในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถป้องกันไม่ให้ของไหลภายในรั่วไหลออกมาภายนอกได้ ดังนั้นบริเวณนี้จึงมีการใส่ "gland packing" (บ้านเราเรียกว่า "ปะเก็นเชือก") ที่มีการผสมวัสดุที่มีความลื่นเคลือบผิวอยู่ ในรูปที่ ๑ นั้นตัว gland packing ถูกกดอัดไว้ด้วย packing follower ที่ถูกกดเอาไว้ด้วย packing flange อีกที ถ้าขันนอตอัด packing ลงไป ตัว gland packing ก็จะถูกบีบอัดและขยายตัวออกทางด้านข้างทำให้ปิดกั้นการรั่วไหล แต่การอัดแน่นที่มากเกินไปก็จะทำให้ตัว valve stem เคลื่อนตัวได้ยากมากขึ้นหรือขยับตัวไม่ได้ ตรงบริเวณนี้เมื่อใช้งานไปนานเข้าเมื่อ gland packing เริ่มเสื่อมสภาพหรือน็อตที่ขันกดนั้นเกิดการคลายตัวก็จะมีการรั่วไหลได้ การแก้ปัญหาเบื้องต้นทำได้ด้วยการขันอัดแน่นเข้าไปอีกจนกว่าจะได้เวลาเปลี่ยน gland packing

รูปที่ ๒ คำบรรยายเหตุการณ์ ส่วนภาพประกอบนั้นเข้าใจว่าเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพการเดินท่อ Loading/Unloading valve

คอมเพรสเซอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการอัดแก๊ส อุปกรณ์ขับเคลื่อนหลักที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันคือมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ (เกือบทั้งหมดที่ใช้กันคือมอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำหรือ induction motor) ที่จำเป็นต้องให้มอเตอร์มีภาระงาน (load) ต่ำสุดเมื่อเริ่มหมุน เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมอเตอร์จะกินกระแสไฟฟ้ามาก (ประมาณ 6 เท่าตัวของกระแสการทำงานปรกติ) เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และวิธีการหนึ่งที่ใช้กันก็คือให้คอมเพรสเซอร์ทำงานที่ความดันด้านขาเข้าเท่ากับความดันด้นขาออก (คือเดินตัวเปล่าโดยไม่มีการอัดแก๊ส)

ในกรณีที่ความต้องการแก๊สด้านขาออกนั้นไม่คงที่ การให้คอมเพรสเซอร์ทำงานเต็มที่ตลอดเวลาแล้วไปควบคุมระดับการเปิดวาล์วด้านขาออกจะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน วิธีการหนึ่งที่ใช้กันคือการให้คอมเพรสเซอร์อัดแก๊สเข้าถังเก็บและจ่ายแก๊สจากถังเก็บออกไป พอความดันแก๊สในถังสูงถึงค่าที่กำหนดไว้ก็ให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงาน และพอความดันแก๊ในถังเก็บลดต่ำลงจนถึงระดับหนึ่งก็ให้คอมเพรสเซอร์เริ่มทำงานใหม่ การทำงานแบบนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นกับเครื่องอัดอากาศขนาดเล็กที่ใช้งานกันทั่วไป (ที่เราเรียกว่าปั๊มลม) แต่เพื่อไม่ให้มอเตอร์ไฟฟ้ากินกระแสไฟมากตอนคอมเพรสเซอร์เริ่มทำงานใหม่ ก็จะมีการติดตั้งวาล์วตัวหนึ่งไว้ด้านขาออก เพื่อระบายแก๊สด้านขาออกทิ้งให้ความดันด้านขาออกลดต่ำลง (แต่ยังป้องกันไม่ให้แก๊สในถังเก็บด้านความดันสูงไหลย้อนกลับ) วาล์วตัวนี้มีชื่อว่า loader/unloader (หรือ loading/unloading) valve

รูปแบบการทำงานของวาล์วตัวนี้มีหลายรูปแบบ การระบายแก๊สด้านขาออกทิ้งก็เป็นรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าแก๊สนั้นปล่อยออกสู่อากาศโดยตรงไม่ได้ (เช่นเป็นแก๊สพิษหรือแก๊สเชื้อเพลิง) ก็ต้องใช้วิธีการอื่นแทน เช่นการเปิดเส้นทางการไหลให้ด้านขาเข้าเชื่อมต่อกับด้านขาออก หรือในกรณีของ reciprocating compressor ก็อาจเปิดวาล์วด้านขาเข้าค้างเอาไว้

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากบทความเรื่อง "Explosion in Analyser House" เขียนโดย Rajib Talukder เผยแพร่ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๒๐๒๓ โดยเป็นเรื่องของเหตุการณ์เมื่อปีค.ศ. ๑๙๙๙ ที่ผู้เขียนนั้นได้มีโอกาสได้เห็นการระเบิดใน Analyser House แห่งหนึ่งโดยมีสาเหตุมาจากการต่อท่อผิด แต่ที่น่าตกใจคือในปีค.ศ. ๒๐๑๙ หรืออีก ๑๙ ปีให้หลังผู้เขียนก็ได้มาพบรูปแบบการเดินท่อแบบเดียวกับที่ก่อเรื่องไว้ก่อนหน้าในโรงกลั่นน้ำมันอีกแห่งหนึ่งอีก

เหตุการณ์ในปีค.ศ. ๑๙๙๙ (พ.ศ. ๒๕๔๒) เกิดขึ้นหลังจากการซ่อมบำรุง recycle gas compressor ของหน่วย diesel hydrotreater คอมเพรสเซอร์ตัวนี้ใช้ในการอัดแก๊สที่ประกอบด้วยไฮโดรเจน 95 mol% และไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) 0.05 mol% คอมเพรสเซอร์เป็นชนิด reciprocating ที่มี loading/unloading valve จำนวน 8 ตัวที่ควบคุมการเปิด-ปิดด้วยการใช้ Instrument Air (IA) และยังมี flare tubing connection (จุดต่อท่อระบายออกสู่ระบบเผาแก๊สทิ้ง) เพื่อรวบรวมแก๊สที่อาจรั่วออกมาทาง valve gland ไปกำจัดทิ้งอย่างปลอดภัย

ประเด็นที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุคือจุดต่อท่อ Instrument Air กับ flare tubing connection ใช้ข้อต่อแบบเดียวกันที่สามารถต่อสลับกันได้

คืนก่อนวันเกิดเหตุ การซ่อมบำรุงคอมเพรสเซอร์เสร็จสิ้นและเริ่มเดินเครื่อง ต่อมาในเช้าวันรุ่งขึ้นมีการตรวจพบกลิ่นแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟล์ในบริเวณ Analyser House ที่ตั้งอยู่ใกล้กับตัวคอมเพรสเซอร์ เพื่อที่จะหาแหล่งที่มาของแก๊สช่างเทคนิครายหนึ่งจึงเข้าไปใน Analyser House หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการระเบิดใน Analyser House

Analyser House หลังนี้ใช้ Instument Air ในการสร้างความดันบวก (positive pressure) ในตัวอาคาร จากการสอบสวนพบว่ามีการต่อท่อผิดที่ loading/unloading valve ของตัวคอมเพรสเซอร์ โดยต่อท่อ Instrument Air เข้ากับ flare tubing connection ทำให้ไฮโดรเจนและไฮโดรเจนซัลไฟล์เข้าไปปะปนกับ Instrument Air ที่ใช้ในการสร้างความดันบวกภายใน Analyser House

ในเหตุการณ์นี้แก๊สผสม H2 + H2S ซึ่งต่างเป็นแก๊สที่ติดไฟได้ทั้งคู่รั่วไหลเข้าไปในระบบ Instrument Air ซึ่งแสดงว่าความดันของแก๊สในคอมเพรสเซอร์นั้นสูงกว่าของระบบ Instrument Air ที่น่าสนใจคือถ้าเกิดกลับกันคือ Instrument Air รั่วไหลเข้าไปในระบบ H2 + H2S ที่ไหลเวียนกลับไปยัง hydrotreater ใหม่ ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2567

อันตรายใน Analyser House เรื่องที่ ๑ MO Memoir : Wednesday 20 March 2567

อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ (ไม่ว่าจะเป็นสวิตช์ปิด-เปิด, มอเตอร์, โคมไฟ ฯลฯ) ที่ติดตั้งในบริเวณที่อาจมีการรั่วไหลของแก๊สเชื้อเพลิงได้ (ที่ในวงการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีมักจะเรียกว่าเป็น Hazadous area) จะเป็นชนิดพิเศษที่แตกต่างไปจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เราพบเห็นกันทั่วไป โดยเรามักจะเรียกอุปกรณ์พวกนี้ว่าเป็นอุปกรณ์ป้องกันการระเบิดหรือ Explosion Proof (ไม่ได้แปลว่ามันไม่สามารถจุดระเบิดได้นะ แต่ถ้ามีการจุดระเบิดเกิดขึ้นภายในตัวมัน ตัวโครงสร้างเองจะต้องสามารถรองรับแรงระเบิดที่เกิดขึ้นและไม่ทำให้เปลวไฟที่เกิดขึ้นภายในนั้นแพร่ออกมาจุดระเบิดไอเชื้อเพลิงที่อยู่ภายนอกอุปกรณ์ได้)

แต่ก็ใช่ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดมันจะมีแบบ Explosion Proof ให้เลือก (พวกมอเตอร์, สวิตช์ไฟ, โคมไฟ มันมีให้เลือก) เครื่องมือวิเคราะห์จำนวนมากที่ใช้กันในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทั่วไปมันไม่มีแบบ Explosion proof ให้เลือก แต่บ่อยครั้งที่ทางโรงงานต้องการติดตั้งเครื่องมือวิเคราะห์เหล่านี้ในพื้นที่ผลิตด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมกระบวนการแบบเวลาจริง (real time) เช่นเครื่องมือ Gas Chromatograph (GC) ที่ใช้วิเคราะห์องค์ประกอบของแก๊สผสม การแก้ปัญหาที่ทำกันก็คือสร้างอาคารเล็ก ๆ ในบริเวณพื้นที่การผลิตขึ้นมาสักหลัง เพื่อไว้ติดตั้งเครื่องมือวิเคราะห์เหล่านี้ โดยด้านในอาคารจะมีความดันสูงกว่าภายนอกอาคารโดยใช้อากาศที่สะอาดอัดเข้ามาภายใน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แก๊สเชื้อเพลิงจากภายนอกไหลเข้าไปตัวอาคารได้ อาคารนี้เรียกว่า "Analyser House"

(การวิเคราะห์บางชนิดจำเป็นต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ เช่นการวิเคราะห์องค์ประกอบของแก๊สด้วยเครื่อง GC ดังนั้นองค์ประกอบที่วิเคราะห์ได้จึงเป็นค่าองค์ประกอบ ณ เวลาที่เก็บตัวอย่าง (เวลาที่ผ่านเลยมาแล้ว) ไม่ใช่เวลาที่เครื่องแสดงผลออกมา (เวลาจริงในขณะนั้น) ผลต่างสองเวลานี้เราเรียกว่า delay time หรือเวลาล่าช้า ซึ่งในการควบคุมกระบวนการแบบ real time นั้นต้องหาทางลด delay time นี้ให้เหลือน้อยที่สุด และที่จะลด delay time ลงก็คือนำตัวอย่างจากระบบมาวิเคราะห์ให้รวดเร็วที่สุด และวิธีการหนึ่งที่ทำได้ก็คือการนำเครื่องมือวิเคราะห์ไปตั้งไว้ใกล้จุดที่เก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ให้มากที่สุด และต่อท่อนำสารตัวอย่างจากจุดที่ต้องการเก็บมาป้อนเข้าสู่เครื่องวิเคราะห์โดยตรง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องไปตั้งเครื่องมือวิเคราะห์ใน hazadous area และทำไมต้องมี Analyser House)

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่ Analyser House โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขาดอากาศของช่างเทคนิคเครื่องมือวัด (Instrument technician) ที่เข้าไปทำงานภายใน Analyser House

เรื่องนี้นำมาจากเอกสาร "BP Process Safety Series : Hazarso of Nitrogen and Catalyst Handling" ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง British Petroleum (BP) และ Institute of Chemical Engineers (ประเทศอังกฤษ) จัดทำขึ้น โดยอยู่ในหัวข้อ 1.8 เรื่อง Hazards of confusing nitrogen with air (รูปที่ ๑)

คำบรรยายเหตุการณ์เล่าว่า หลังจากเกิดเหตุไฟฟ้าดับทั้งหมดทั่วทั้งบริเวณพื้นที่ผลิต มีผู้ไปพบช่างเทคนิคเครื่องมือวัดนอนไม่ได้สติอยู่ใน Analyser House จึงได้รีบนำส่งโรงพยาบาล โดยทางโรงพยาบาลได้ประกาศว่าเมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็เสียชีวิตมาแล้ว (dead on arrival)

บทความไม่ได้บอกออกมาตรง ๆ ว่าสาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตคืออะไร บอกแต่เพียงว่าในระหว่างที่ไฟฟ้าดับนั้น มีการแทนที่ Instrument Air (IA) ด้วยไนโตรเจน และสงสัยว่าการรั่วของไนโตรเจนคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต (คือไนโตรเจนรั่วออกมาแทนที่อากาศภายในห้อง)


แต่เหตุการณ์นี้ก็มีจุดน่าสนใจตรงที่ว่า ทำไมคนที่เข้าไปทีหลังจึงไม่ประสบเหตุเช่นเดียวกับผู้เสียชีวิต

รูปที่ ๑ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิด ส่วนรูปนั้นน่าจะเป็นการจัดทำขึ้นประกอบเนื้อหา ไม่ใช่เหตุการณ์จริง เพราะสื่อที่โน่นเขาจะไม่นำเอาภาพผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บมาเป็นจุดขาย

รูปที่ ๒ ตัวอย่าง Analyser House ที่มีป้ายเตือน ขยายภาพต้นฉบับแล้วอ่านชัดเจนได้เพียงแค่ "CAUTION HAZADOUS ATMOSPHERE MAY BE PRESENT IN SHELTER. BEFORE ENTERING TEST FOR ...." (บทความแค่นำเสนอตัวอย่างป้านเตือนหน้า Analyser House ให้เห็น ไม่ได้บอกว่านี่คือสถานที่เกิดเหตุนะ

ในโรงงานจะมีการใช้อากาศอัดความดัน (compressed air) ทำงานต่าง ๆ เช่น การระบายอากาศ การควบคุมการหมุนและ/หรือปิด-เปิดวาล์วควบคุม หรือใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์ลม (pneumatic motor เช่นประแจลมหรือบล็อกลมที่ช่างใช้เวลาขันนอตล้อรถ) อากาศอัดความดันได้จากการนำเอาอากาศรอบตัวที่มีความชื้นอยู่นั้นมาอัดให้มีความดันสูงขึ้น ความชื้นในอากาศบางส่วนจะควบแน่นกลายเป็นน้ำและถูกระบายออกไป อากาศที่ระบายน้ำที่ควบแน่นทิ้งไปแล้วมักเรียกว่า Plant Air (PA) แต่ถ้าจะนำอากาศอัดความดันนี้ไปใช้ในการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ (เช่นวาล์วควบคุมการไหล) จะต้องกำจัดความชื้นที่หลงเหลืออยู่ออกให้ลดต่ำลงไปอีก (เช่นด้วยการใช้สารดูดความชื้น) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำที่อาจตามมาด้วยการแข็งตัวเป็นน้ำแข็งของน้ำที่ควบแน่นในระบบเมื่ออากาศรอบข้างเย็นจัด อากาศที่ผ่านการกำจัดความชื้นให้ลดต่ำลงอีกนี้เรียกว่า Instrument Air (IA)

เมื่อไฟฟ้าดับ เครื่องอัดอากาศก็จะไม่ทำงาน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียการควบคุมการทำงานทันที ก็จะมีถังเก็บอากาศอัดความดันทำหน้าที่สำรองอากาศอัดความดันไว้ใช้งานถ้าหากเกิดเหตุไฟฟ้าดับ แต่ถ้าไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน อากาศที่สำรองไว้ก็จะหมดไป ต้องหาแก๊สความดันจากแหล่งอื่นเข้ามาชดเชย ในเหตุการณ์นี้คาดว่าระบบฉุกเฉินที่เขาใช้คือไนโตรเจน

ในโรงงานเหล่านี้มีการใช้ไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก และไนโตรเจนก็ได้มาจากการกลั่นอากาศแยกออกเป็นออกซิเจนและไนโตรเจน ในขณะที่อากาศอัดความดันนั้นจะสำรองในรูปของถังอากาศความดันสูงที่อุณหภูมิห้อง แต่ไนโตรเจนนั้นจะสำรองในรูปของไนโตรเจนเหลว (อุณหภูมิประมาณ -196ºC) ที่ความดันบรรยากาศ จึงทำให้เก็บสำรองได้มากกว่าที่ปริมาตรถังเก็บเท่ากัน และเมื่อให้ไนโตรเจนเหลวระเหย ก็จะกลายเป็นแก๊สไนโตรเจนที่มีความดันสูงได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องอัดแก๊ส

การขาดออกซิเจนนั้นถ้าหากเข้าไปอยู่ในบรรยากาศที่ความเข้มข้นออกซิเจนค่อย ๆ ลดต่ำลง มันจะมีอาการแสดงเตือนออกที่ทำให้สามารถออกจากบริเวณดังกล่าวได้ทัน แต่ถ้าเข้าไปในพื้นที่ที่ความเข้มข้นออกซิเจนต่ำลงมากถึงจุดหนึ่ง จะเกิดอาการหมดสติทันทีแบบไม่ทันตั้งตัว ในเหตุการณ์นี้ขอคาดเดาว่า Analyser House คงใช้พัดลมดูดอากาศภายนอกอัดเข้ามาข้างใน เมื่อไฟฟ้าดับพัดลมจึงไม่ทำงาน ไนโตรเจนในท่อที่รั่วออกมาจึงสะสมจนทำให้ความเข้มข้นออกซิเจนต่ำลงมาก แต่พอไฟฟ้ากลับมา พัดลมอัดอากาศเริ่มทำงานใหม่ บรรยากาศในห้องกลับมาปลอดภัยเหมือนเดิม ผู้ที่เข้ามาทีหลังจึงไม่ประสบเหตุเช่นเดียวกับคนแรกที่เข้าไปตอนไฟฟ้าดับ