วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ดีที่สุดคือออกไปดูของจริง MO Memoir : Thursday 30 July 2563


HAZOP ที่ย่อมาจากชื่อเต็มว่า Hazard and Operability Study เป็นเทคนิคที่ได้รับการพัฒนามาจากบริษัท ICI ของประเทศอังกฤษ และหนึ่งในทีมผู้พัฒนาและทำให้เทคนิคนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเห็นจะได้แก่ Prof. T.A. Kletz ที่เป็น safety adivisor คนแรกของ ICI ตั้งแต่สมัยที่ยังทำงานอยู่ในหน่วย Heavy Organic Chemicals Division และเป็นผู้ที่ได้ออกจดหมายข่าว ICI Safety Newsletter ที่ได้นำเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าให้ฟังในที่นี้

เทคนิคนี้จะทำการพิจารณาว่า ถ้าหากการทำงานนั้นมีการเบี่ยงเบนไปจากที่ต้องการ จะเกิดอะไรขึ้นตามมาได้บ้าง การพิจารณาก็จะอาศัยแบบที่เรียกว่า P&ID ที่ย่อมาจาก Piping and Instrumentation Diagram เป็นหลัก จากนั้นก็จะอาศัยความรู้และประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมมาช่วยกันพิจารณา แต่ทั้งนี้แบบ P&ID ที่นำมาพิจารณาก็ต้องตรงกับความเป็นจริงด้วย แต่จะว่าไปแล้วแม้ว่าแบบ P&ID ที่นำมาพิจารณานั้นจะตรงกับความเป็นจริง แต่มันก็มีหลาย ๆ สิ่งที่มันไม่ปรากฏอยู่ในแบบ P&ID ซึ่งสิ่งที่ไม่ปรากฏนี้สามารถที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังเช่น ๒ เรื่องที่จะยกมาเล่าในวันนี้

เรื่องที่ ๑ เมื่อวาล์วอยู่ห่างกันและมองไม่เห็นกัน

ระบบ double block and bleed valves เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการ isolation (คือตัดการเชื่อมต่อจากระบบ) ระบบนี้จะประกอบด้วย block valve สองตัวและ bleed valve หนึ่งตัวอยู่ระหว่างกลาง (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ เหตุการณ์ drain valve ของระบบ double block and bleed valves เปิดค้างเอาไว้ (จาก ICI Safety Newsletter เดือนเมษายน ค.. ๑๙๗๔ (.. ๒๕๑๗))

คำว่า block valve ในที่นี้หมายถึงวาล์วที่ทำหน้าที่เปิด-ปิด ส่วนจะเป็นวาล์วชนิดไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง (ซึ่งมันขึ้นอยู่กับชนิดชนิดของ fluid, อุณหภูมิ และความดัน ในท่อนั้น) ส่วน bleed valve นั้นหมายถึงวาล์วที่ทำหน้าที่ระบายของเหลวหรือแก๊สที่รั่วผ่าน block valve ด้านระบบ ถ้า fluid เป็นของเหลวเขาก็อาจเรียกว่า drain valve และถ้า fluid เป็นแก๊สก็อาจเรียกว่า vent valve และเช่นกันที่ว่ามันจะเป็นวาล์วชนิดไหนนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง สำหรับท่อขนาดใหญ่นั้นขนาดของ bleed valve นั้นจะเล็กกว่าขนาดของ block valve มาก
  
การทำ isolation ด้วยการใช้ระบบ double block and bleed valves มันดีกว่าการสอด slip plate ตรงที่ว่ามันไม่ต้องมีการถอดท่อ และประหยัดเวลาทำงาน โดยในการทำ isolation นั้นจะ "ปิด" block valve ทั้งสองตัว และ "เปิด" bleed valve ทิ้งเอาไว้ หน้าที่ของ bleed valve ก็คือถ้าหากมี process fluid รั่วผ่าน block valve ด้าน process ได้ process fluid นั้นก็จะถูกระบายออกทาง bleed valve ทำให้ยากที่จะรั่วไหลผ่าน block valve ด้านที่ต้องการแยกออกจากระบบได้ ปลายท่อด้าน bleed valve จะระบาย process fluid ที่อาจรั่วออกมานั้นไปที่ไหน ก็คงต้องพิจารณาดูจากปริมาณที่อาจรั่วและอันตรายของ process fluid นั้น ดังนั้นปลายท่อด้าน bleed valve จึงอาจไม่ได้ต่อถาวรเข้ากับท่อระบายใด ๆ แต่อาจเปิดไว้เพื่อให้ของเหลวที่อาจมีรั่วไหลนั้นไหลลงภาชนะรองรับ หรือต่อสายยางให้ของเหลวหรือแก๊สที่อาจมีรั่วออกมาให้ระบายไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย
  
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะป้องกันได้ 100% เพราะมันก็เคยมีกรณีเหมือนกันว่าระบบนี้ไม่ได้ทำงานดังที่คาดหวัง ซึ่งได้เคยเล่าเอาไว้ในเรื่อง "แม้แต่ Double block and bleed ก็อย่าวางใจ" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๒
  
ในเหตุการณ์แรกนี้ ตัว bleed valve (ซึ่งก็คือ drain valve) ถูกเปิดทิ้งเอาไว้ ดังนั้นเมื่อเปิด block valve เพื่อให้ proces fluid ไหลเข้าระบบ process fluid ก็เลยรั่วไหลออกทาง bleed valve ตามด้วยการเกิดเพลิงไหม้ แม้ว่ารายงานการสอบสวนจะโทษว่าเป็นความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงาน แต่ก็ยอมรับว่ารูปแบบการติดตั้งวาล์วนั้นไม่เหมาะสม คืออยู่ห่างกันและมองไม่เห็นกัน (ซึ่งตรงนี้คงเป็นคำอธิบายว่าทำไมเมื่อเกิดการรั่วไหลผ่านทาง bleed valve ผู้ที่เปิด block valve ด้าน proces fluid จึงไม่ทราบว่ามันมีการรั่วไหลเกิดขึ้น เพราะถ้าเขารู้ เขาก็น่าจะรีบปิดวาล์วที่กำลังเปิดอยู่
  
แผนผังท่อในรูปที่ ๑ ยังแสดงให้เห็นการออกแบบที่ไม่ดีบางอย่างด้วย กล่าวคือ block valve ด้านขาเข้า (คือด้าน process fluid) อยู่ต่ำกว่าด้านขาออก (คือด้าน equipment) ดังนั้นในกรณีที่ process fluid เป็นของเหลว มันก็จะสามารถค้างในเส้นท่อที่อยู่ระหว่าง block valve ด้านขาเข้าและ bleed valve ได้

เรื่องที่ ๒ เพราะหลังคามันชันเกินไป

น้ำฝนมันไม่ค้างบนพื้นผิวที่ลาดเอียง แต่หิมะมันค้างบนพื้นผิวที่ลาดเอียงไม่มากได้ และถ้ามันสะสมมากเกินไป หลังคาก็อาจรับน้ำหนักไม่ไหวและพังลงมาได้
 
รูปที่ ๒ เหตุการณ์ที่ถังเก็บยุบตัวจากแรงกดอากาศ เนื่องจากท่อระบายอากาศที่มีอยู่ ๓ ท่อนั้นอุดตันหมด (จาก ICI Safety Newsletter เดือนตุลาคม ค.. ๑๙๘๑ (.. ๒๕๒๔))
  
ในประเทศที่มีหิมะตกนั้น การออกแบบหลังคาก็ต้องคำนึงถึงน้ำหนักของหิมะที่จะสะสมบนหลังคาด้วย วิธีการหนึ่งที่ป้องกันไม่ให้หิมะสะสมบนหลังคาก็คือการทำให้หลังคามีความลาดเอียงค่อนข้างมาก ซึ่งจะทำให้หิมะที่ก่อตัวสูงขึ้นถึงระดับหนึ่งจะไหลลงมาเอง ถังเก็บประเภท floating roof tank ในบ้านเราไม่จำเป็นต้องมี cone roof tank ปิดคลุมอีกชั้นหนึ่ง เพราะบ้านเราไม่มีหิมะตก ส่วนฝนที่ตกลงมานั้นก็สามารถไหลลงท่อระบายได้ แต่ในพื้นที่ที่มีหิมะตกมากนั้นก็ต้องสร้าง cone roof ปิดคลุมเอาไว้ เพื่อให้ให้ตัว floating roof ต้องรับน้ำหนักหิมะที่มากเกินไปจนอาจทำให้ตัว floating roof จมได้

รูปที่ ๓ เหตุการณ์ในรูปที่ ๒ ไม่ได้ให้ภาพประกอบ แต่คาดว่าน่าจะเป็นทำนองนี้

ในเหตุการณ์นี้ ถัง (tank) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๓ เมตร ถูกแรงกดอากาศกดจนยุบตัว (ที่เขาใช้คำว่า was sucked in) แม้ว่าถังนี้จะมีท่อ vent (ที่ไว้ระบายอากาศในถังออกเมื่อเติมของเหลวเข้าถัง และให้อากาศข้างนอกไหลเข้าเมื่อสูบของเหลวออกจากถัง เพื่อรักษาความดันภายในถังให้เท่ากับภายนอกถัง) ถึง ๓ ท่อด้วยกัน ตัวท่อ vent เหล่านี้มีการติดตั้งตะแกรงลวดเพื่อป้องกันไม่ให้นกเข้าไปทำรัง แต่เนื่องจากมันไม่เคยถูกทำความสะอาดเลย จึงทำให้มีคราบของแข็งเกาะติดจนเกือบอุดตัน
  
สาเหตุที่มันไม่เคยถูกทำความสะอาดก็เพราะ หลังคานั้นค่อนข้างจะลาดชัด และบนหลังคาไม่มี handrail สำหรับให้คนที่ต้องขึ้นไปทำงานบนหลังคานั้นยึดเกาะ ก็เลยทำให้ไม่มีใครอยากจะขึ้นไป แต่ถ้ามีคนขึ้นไปทำความสะอาด ก็คงจะไม่มีเหตุการณ์ถังยุบตัว แต่คงเกิดเหตุการณ์คนทำงานตกจากหลังคาแทน
  
ของเหลวบางชนิดนั้นมันสามารถเกิดปฏิกิริยาการพอมิเมอร์ไรซ์กลายเป็นของแข็งได้ ดังนั้นในการเก็บจึงต้องมีการผสมตัวยับยั้ง (inhibitor) เข้าไปในของเหลว เพื่อไม่ให้มันเกิดการรวมตัวเป็นของแข็ง แต่ตัวยับยั้งนี้มันไม่ระเหยตามไอของเหลวที่ระบายออกทาง vent ดังนั้นถ้าไอของเหลวนี้ไปควบแน่นที่บริเวณท่อ vent มันก็สามารถรวมตัวกันเป็นของแข็งอุดตันท่อ vent ได้

เรื่องที่ ๓ รองน้ำที่นี่มันสะดวกดี

ระบบหัวฉีดน้ำดับเพลิงอัตโนมัติที่เรียกว่า sprinkler system นั้นมีอยู่ ๒ แบบ แบบแรกนั้นเรียกว่ารูปแบบเปียก (wet sprinkler system) จะมีน้ำอยู่เต็มท่อไปจนถึงหัวฉีด เรียกว่าหัวฉีดทำงานเมื่อใดก็จะมีน้ำฉีดออกมาทันที แต่สำหรับประเทศที่อากาศหนาวจัดจนน้ำกลายเป็นน้ำแข็งได้นั้น รูปแบบนี้อาจไม่เหมาะสม เพราะเมื่อน้ำกลายเป็นน้ำแข็งมันจะขยายตัว จนสามารถทำให้ท่อนั้นแตกได้ ดังนั้นเขาก็จะใช้อีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นรูปแบบแห้ง (dry sprinkler system) ที่จะจ่ายน้ำเข้าระบบเมื่อมีความต้องการ รูปแบบหลังนี้น้ำจะใช้เวลาเดินทางหน่อย แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องท่อแตกในหน้าหนาว
  
ระบบเปียกนั้นจะมีปั๊มตัวเล็กรักษาความดันในระบบท่อที่เรียกว่า jogging pump เมื่อความดันในระบบท่อลดลงเข่นจากการรั่วซึม ตัว jogging pump ก็จะทำงานเพื่อรักษาความดันให้คงเดิม แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์หัวฉีดทำงาน ตัว jogging pump จะเพิ่มความดันให้ไม่ได้ ความดันจะตกลงอีกจนกระทั่ง fire pump ซึ่งก็คือปั๊มจ่ายน้ำหลักทำงาน
  
รูปที่ ๔ สัญญาณเตือนที่หาต้นตอไม่ได้ อันเป็นผลจากการติดตั้งระบบตรวจสอบการทำงานของสัญญาณ (จาก ICI Safety Newsletter เดือนพฤศจิกายน ค.. ๑๙๘๑ (.. ๒๕๒๔))

ระบบนี้อาจมีการติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเอาไว้ด้วย ที่เมื่อความดันในท่อจ่ายน้ำลดต่ำลง (อันเป็นผลจากการที่หัวฉีดทำงาน) ก็จะมีสัญญาณเตือนแจ้ง ในเหตุการณ์นี้เพื่อให้สามารถทดสอบการทำงานของสัญญาณเตือนได้ จึงได้มีการติดตั้งวาล์วเพิ่ม ๑ ตัวเพื่อไว้ระบายน้ำในท่อดับเพลิงทิ้งซึ่งจะทำให้ความดันในท่อลดต่ำลง เพื่อไว้ใช้ทดสอบการทำงานของระบบสัญญาณเตือน
  
หลังจากนั้นก็พบสัญญาณเตือนปลอม (false alarm) เป็นประจำโดยหาสาเหตุที่มาไม่ได้ จนกระทั่งมาพบว่า
  
พนักงานทำความสะอาดใช้ก๊อกน้ำนี้สำหรับเติมน้ำใส่ถัง (คงเพื่อเอาไปทำความสะอาด)

เรื่องแบบนี้ตัวผมเองก็เคยเจอมาหลายครั้ง เช่นตอนที่นิสิตมีปัญหาเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างแก๊สไปวิเคราะห์ด้วยเครื่อง gas chromatograph แล้วได้ผลการวิเคราะห์ออกมาแปลก ๆ แต่มันสามารถทำซ้ำได้ พอสอบถามว่าทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้หรือเปล่า เขาก็ตอบว่าทำตาม แต่พอไปให้เขาทำการเก็บตัวอย่างให้ดูก็เลยเห็นปัญหา กล่าวคือเขาทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ให้ทำทุกขั้นตอน แต่มีการเพิ่มขั้นตอนพิเศษหรือเทคนิคบางอย่างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความสะดวกในการทำงาน และเจ้าตัวขั้นตอนพิเศษหรือเทคนิคบางอย่างนี้มันก่อให้เกิดปัญหา ก็เลยต้องไปปรับแก้ตัวขั้นตอนพิเศษหรือเทคนิคเหล่านั้นเพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การค้นหากระสุนปืนพกที่ดีที่สุดสำหรับหยุดคน MO Memoir : Sunday 26 July 2563

วันที่ ๑๑ เดือนเมษายน ปีค.ศ. ๑๙๘๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙) มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ FBI ของสหรัฐจำนวน ๘ นาย กับคนร้ายปล้นธนาคารจำนวน ๒ คน ผลการยิงปะทะปรากฏว่าคนร้ายทั้ง ๒ คนเสียชีวิต ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่นั้นก็เสียชีวิต ๒ นายและบาดเจ็บอีก ๕ นาย รายละเอียดเรื่องนี้สามารถอ่านได้ใน wikipedia เรื่อง "1986 FBI Miami shootout" (https://en.wikipedia.org/wiki/1986_FBI_Miami_shootout) งานนี้เป็นการดวลกันระหว่างปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ (Ruger Mini-14) ของคนร้าย และปืนพกประจำกายของเจ้าหน้าที่ FBI
  
รูปที่ ๑ ชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์ผู้นี้ถูกทหารสหรัฐที่เป็นผู้ปกครองเมืองขึ้นยิงด้วยกระสุนขนาดคาลิเบอร์ .38 ถึง ๔ นัดในระยะใกล้ในระหว่างการต่อสู้ประชิดตัว แต่ไม่สามารถหยุดได้ จนกระทั่งถูกตีด้วยพานท้ายปืนยาวที่หน้าผาก (ที่มาของรูปปรากฏอยู่ทางด้านบนของรูปแล้ว https://www.ammoland.com/2016/07/history-45-acp-cartridge/#axzz6T9p58YF9)
  
หลังเหตุการณ์นี้พบว่า คนร้ายแม้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ยิงโดนหลายนัด แต่ยังสามารถยิงโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ได้จนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย ทำให้เกิดคำถามสำคัญคำถามหนึ่งขึ้นมาก็คืออาวุธที่หน่วยงานจัดให้เป็นอาวุธประจำกายเจ้าหน้าที่นั้น มีอำนาจหยุดยั้งคนร้ายเพียงพอหรือไม่ และถ้าไม่เพียงพอ (ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นเช่นนี้) เจ้าหน้าที่ควรได้รับการติดอาวุธอะไร คำถามเหล่านี้ได้นำไปสู่การออกแบบกระสุนชนิดใหม่คือ .40 S&W

แต่ก่อนอื่นเรามาลองทำความเข้าใจบางเรื่องกันก่อนดีกว่า

คำว่า "หยุด" ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องตาย แต่หมายความว่า "ไม่สามารถตอบโต้ได้" ภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า stopping power อย่างเช่นนักมวย อาจถูกชกเข้าที่ลำตัวอย่างแรงหลายครั้ง แต่ก็ยังปล่อยหมัดสวนได้ แต่ถ้าโดนจัง ๆ ที่ปลายคางเพียงหมัดเดียว ก็ลงไปนอนกองกับพื้นเวทีได้ทันที
  
ในการยิงต่อสู้นั้น จะสอนกันให้ยิงใส่ส่วนที่เป็นเป้าที่ใหญ่ที่สุด และมีการเคลื่อนไหวน้อยสุด ซึ่งก็คือส่วนลำตัว ดังนั้นกระสุนชนิดใดที่มีความสามารถในการหยุดการตอบโต้ของฝ่ายตรงข้าม ก็จะประเมินกันที่เมื่อฝ่ายตรงข้ามถูกยิงเข้าบริเวณส่วนลำตัว โดยไม่จำเป็นต้องโดนหัวใจ (เพราะถ้าโดนหัวใจ ไม่ว่ากระสุนเล็กหรือใหญ่ มันก็ตายคาทีทันที) และในที่นี้จะจำกัดเฉพาะปืนพก
  
กระสุนจะหยุดคนได้ดีแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถ่ายเทโมเมนตัม (ผลคูณระหว่างมวลกับความเร็ว) ให้กับคนได้มากแค่ไหน กระสุนที่มีพลังงานสูง แต่เจาะผ่านเป้าหมายไปอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถถ่ายเทโมเมนตัมให้กับเป้าหมายได้มากพอ ก็จะไม่สามารถหยุดยั้งเป้าหมายได้ ดังนั้นในทางทฤษฎี กระสุนที่ยิงเข้าตัวคน และหยุดอยู่ในตัวคน ก็จะสามารถถ่ายเทโมเมนตัมให้กับเป้าหมายได้หมด แต่ในขณะเดียวกัน หัวกระสุนก็ต้องมีพลังงานมากพอที่จะยิงทะลุที่กำบังที่บังขวางเป้าหมายอยู่ หัวกระสุนที่มีหนักเท่ากันและมีพลังงานเท่ากัน หัวกระสุนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า จะมีอำนาจเจาะทะลุทะลวงสูงกว่าหัวกระสุนที่มีพื้นที่หน้าตัดใหญ่กว่า (หรือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่านั่นเอง)
  
กระสุนที่มีพลังงานสูง เมื่อยิงออกจากปืนก็จะมีแรงกระทำต่อผู้ยิงที่สูงตามไปด้วย (ที่เรียกว่าปืนจะสะบัดหรือมีแรง recoil มากขึ้นก็ได้) ทำให้ยากต่อการควบคุมปืน ผลที่ตามมาก็คือผู้ยิงบางคนอาจจะขยาดไม่อยากยิงปืนนั้น ไม่อยากที่จะฝึกซ้อม และจะเสียเวลาในการยิงซ้ำนัดที่สอง ซึ่งจำเป็นในกรณีที่นัดแรกไม่เข้าเป้าหมาย หรือเปลี่ยนเป้าหมาย หรือซ้ำเป้าหมายเดิม ปืนที่มีน้ำหนักมากจะมีแรงสบัดน้อยกว่าปืนที่เบากว่า แต่ก็พกพายากกว่า 
   
ขนาดของกระสุนปืนมักจะอิงจากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำกล้อง ที่เรียกว่า "คาลิเบอร์ (calibre)" ซึ่งมีทั้งหน่วยนิ้วและมิลลิเมตร ในกรณีของหน่วยนิ้วนั้น จะบอกด้วยจุดทศนิยม (ไม่มีเลขศูนย์นำ) และตัวเลขต่อท้าย ถ้าเป็นหน่วยมิลลิเมตรก็จะบอกขนาดเป็นมิลลิเมตร ตัวอย่างเช่นกระสุนขนาด .22, .220, .222 และ .223 ต่างเป็นกระสุนขนาดคาลิเบอร์เดียวกันคือ .22 นิ้ว แต่ตัวเลขตัวที่สามที่ต่อท้ายก็มันทำเพื่อทำให้รู้ว่าเป็นกระสุนต่างชนิดกัน อย่างเช่นกระสุนขนาด .222 และ .223 เรมิงตัน ก็เป็นกระสุนที่ใช้หัวกระสุนแบบเดียวกันได้ เพียงแต่กระสุน .223 มีปลอกกระสุนที่ยาวกว่า กระสุนขนาด 5.56 mm หรือ 5.6 mm ก็เป็นกระสุนขนาดคาลิเบอร์เดียวกัน และเทียบเท่ากับขนาด .22 ในหน่วยนิ้ว

แปดสิบปีก่อนเหตุการณ์ที่ไมอามี ก็มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในฟิลิปินส์ ซึ่งเป็นช่วงที่ฟิลิปินส์ยังคงเป็นเมืองขึ้นของอเมริกา (และแน่นอนว่าชาวพื้นเมืองจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อเป็นอิสระจากการปกครองของอเมริกา) กล่าวคือในระหว่างการต่อสู้ประชิดตัว ชาวพื้นเมืองรายหนึ่งถูกยิงด้วยปืนพกประจำกายมาตรฐานของทหารถึง ๔ นัด แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการตอบโต้ได้ จนกระทั่งชาวพื้นเมืองผู้นั้นโดนฟาดด้วยพานท้ายปืนเข้าที่หน้าผาก (รูปที่ ๑)
  
การออกแบบอาวุธปืนให้สามารถยิงกระสุนที่มีพลังงานสูงได้ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาโลหะให้สามารถรับแรงที่สูงได้ด้วย ซึ่งในยุคสมัยนั้นยังมีข้อจำกัดทางด้านนี้อยู่
  
หลังเหตุการณ์ที่ฟิลิปปินส์ในครั้งนั้น ทางกองทัพสหรัฐก็ได้ทำการศึกษาหาว่ากระสุนที่มีความสามารถสูงในการหยุดยั้งคู่ต่อสู้ควรมีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งนำมาสู่การทดลองที่เรียกว่า Thompson–LaGarde Tests (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Thompson-LaGarde_Tests) ซึ่งมีทั้งการทดลองด้วยการยิงสัตว์และดูปฏิกิริยาที่เกิด และการทดลองยิงศพคน เพื่อดูว่ากระสุนสามารถถ่ายเทพลังงานให้กับเป้าหมายได้แค่ไหน
  
ยุคสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ตรวจวัดความเร็วของหัวกระสุน การหาความเร็วของหัวกระสุนจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า ballistic pendulum ที่ใช้การยิงกระสุนเข้าสู่เป้าหมายที่แขวนไว้ให้ลอยอย่างอิสระ เมื่อกระสุนฝังเข้าไปในเป้าหมาย (กระสุนต้องไม่ทะลุเป้าหมาย) พลังงานจลน์ของหัวกระสุนจะถูกถ่ายเทให้กับเป้าหมาย ทำให้เป้าหมายเกิดการเคลื่อนที่ถอยหลังพร้อมกับลอยตัวสูงขึ้น (พลังงานจลน์เปลี่ยนเป็นพลังงานศักย์) จากน้ำหนักของ (เป้าหมาย + หัวกระสุน) และระยะที่ยกตัวลอยขึ้น ก็จะทำให้สามารถคำนวณหาพลังงานจลน์ก่อนเกิดการเคลื่อนที่ได้ ซึ่งจะคำนวณกลับไปเป็นความเร็วของหัวกระสุนที่เข้ามากระทบได้ ตรงนี้คงพอมองภาพบ้างแล้วนะครับ ว่าเวลาทดสอบกับศพน่าจะเป็นอย่างไร
ผลการทดสอบนี้นำมาซึ่งกระสุนขนาด .45 ACP หรือที่บ้านเราเรียก 11 มม.

ช่วงต้นปีค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) มีการทดลองหนึ่งที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบัน หรือแม้แต่มีข้อสงสัยว่ามีการทดลองจริงหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยสถานที่ทำการทดลอง ผู้ให้ทุน และผู้ที่ทำการทดลอง เพราะเป็นการทดลองที่สำหรับผู้รักสัตว์แล้วก็ต้องถือว่าโหดไม่น้อย การทดลองนี้มีชื่อว่า "Strasbourg Tests" (รูปที่ ๒) ซึ่งเป็นการทดลองยิงสัตว์ทดลองด้วยกระสุนชนิดต่าง ๆ แล้ววัดดูว่ากระสุนชนิดใดสามารถทำให้สัตว์ทดลองหมดสภาพที่จะตอบโต้ได้เร็วที่สุด และที่สำคัญก็คือถ้าสัตว์ทดลองชนิดนั้นมีสรีระร่างกายใกล้เคียงกับมนุษย์ ผลการทดลองนี้ก็น่าจะเทียบเคียงกับการยิงคนจริงได้ และสัตว์ที่ถูกนำมาใช้เป็นเป้าทดสอบก็คือ "French Alpine Goat"
 
เหตุผลที่สัตว์ชนิดนี้ถูกเลือกก็เพราะ มันมีขนาดใกล้เคียงกับผู้ใหญ่โตเต็มวัย มีขนาดของหน้าอก (ก็ขนาดของปอด) ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่โตเต็มวัย ความแข็งแรงของกระดูกซี่โครงใกล้เคียงกับของมนุษย์ และขนตามร่างกายของมันก็สามารถจำลองเสื้อผ้าที่คนสวมใส่อยู่ได้ มีการติดตั้งอุปกรณ์วัดต่าง ๆ (เช่นอัตราการเต้นหัวใจ คลื่นสมอง) เข้ากับตัวสัตว์ก่อนทำการทดลอง ในรายงานการทดลองของ Phase 1 นั้น มีการยิงแพะดังกล่าวไปถึง ๖๑๑ ตัว (ส่วน Phase 2 มีการทดลองอย่างไรหรือไม่นั้น ไม่เห็นข้อมูล)
รูปที่ ๓ เป็นตัวอย่างผลการทดลองที่ได้จากการใช้กระสุนขนาดที่บ้านเราเรียกว่า 9 มม. พารา ซึ่งกระสุนปืนพกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้กันมากทั้งในทางพลเรือนและทางทหาร

รูปที่ ๒ บทเกริ่นนำของรายงานของการทดลองที่รู้จักกันในชื่อ Strasbourg Tests
  
รูปที่ ๓ ตัวอย่างผลการทดสอบด้วยกระสุนขนาด 9 mm Para ชนิดต่าง ๆ (คือรูปแบบหัวกระสุนและพลังง่าน) AIT คือเวลา (วินาที) ที่ทำให้สัตว์ทดลองหมดสติ

Strasbourg tests เป็นการทดลองหนึ่งที่คงยากที่จะมีการทำซ้ำอีกในอนาคต ซึ่งคณะผู้ทำการทดลองก็คงจะทราบเรื่องนี้ดี การทดลองดังกล่าวจึงถูกปกปิดเป็นความลับ และเพื่อให้ผลการทดลองนั้นสามารถใช้อ้างอิงได้ การออกแบบวิธีการทดลองและการเลือกตัวอย่างทดสอบจึงมีความสำคัญ เพราะถ้าพลาดไปแล้ว โอกาสที่จะกลับมาทำการทดลองแก้ไขก็คงไม่มีอีกแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๑ (ตอนที่ ๑๒) MO Memoir : Thursday 23 July 2563

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในนี้เกี่ยวกับแนวทางการเขียนวิทยานิพนธ์ที่ได้มีการพูดคุยกันไปเมื่อวาน


วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๙ MO Memoir : Wednesday 22 July 2563

เมื่อปลายเดือนที่แล้วและต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับการจัดทำ Internal Compliance Programme หรือที่เรียกย่อว่า ICP ของกรมการค้าต่างประเทศ เรียกว่าเป็นการอบรมในเนื้อหาส่วนที่ผมไม่เคยเข้าร่วมมาก่อน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการองค์กรเพื่อปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ในการส่งสินค้า (ที่ต้องมีการระบุว่าเป็นหรือไม่เป็นสินค้าสองทาง) ไปยังผู้รับที่ต่างประเทศ ผู้ที่เข้าร่วมอบรมในงานนี้เกือบทั้งหมดจะเป็นตัวแทนจากบริษัทต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ มีบ้างบางส่วนที่เป็นผู้ที่มาใหม่ มาจากบริษัทที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้ด้วยหรือไม่ ในขณะที่ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นผมเองจะเข้าอบรมในส่วนของการพิจารณาคุณลักษณะสินค้าว่าเข้าข่ายเป็นสินค้าสองทางหรือไม่ โดยผู้เข้าร่วมนั้นจะเป็นนักวิชาการเสียมากกว่า
 
ในการประชุมทั้งสองครั้งที่ผ่านมานั้นก็ได้ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันระหว่าง บริษัทที่ทำการส่งออก และผู้ที่จะมาทำหน้าที่พิจารณาว่าสินค้าเข้าข่ายหรือไม่ ซึ่งในช่วงเวลาแรกนั้นการทำงานทั้งสองฝั่งคงมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเริ่มมีการสะสมประสบการณ์ที่มากพอ งานทั้งสองฝั่งก็คงจะรวมเข้าด้วยกันเอง สำหรับวันนี้ก็จะเป็นการบันทึกความเห็นและคำถามส่วนตัวที่ยังไม่มีคำตอบ (แค่บันทึกไว้กันลืม) ที่ระบบคงต้องค่อย ๆ พิจารณาปรับแก้กันไป

รูปที่ ๑ ความหมายของ ICP (จากไฟล์เอกสารการประกอบการอบรมเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓)

อันที่จริงเรื่องนี่มันเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาด้วย และงานนี้เขาก็ได้ส่งจดหมายเชิญไปยังสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย แต่การอบรมในรอบวันจันทร์ที่ผ่านมา ไม่ยักมีสถาบันการศึกษาไหนส่งตัวแทนเข้าร่วม จากรายชื่อที่เห็นมีผมสมัครไปเข้าฟังเองเพียงคนเดียว (เพราะเขาส่งอีเมล์ชวนผมให้เข้าร่วม)
  
ต่อไปก็จะเป็นการบันทึกสิ่งที่ได้ไปเรียนรู้มา และสิ่งที่คาดว่าจะเป็นปัญหา ที่ต้องคอยทำการแก้ไขปรับปรุงระบบกันต่อไปในอนาคต

. EU List กับ HS code

สินค้า (ที่รวมถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้เช่น องค์ความรู้และซอร์ฟแวร์) ใดจะถูกจัดเป็นสินค้าใช้ที่ใช้ได้สองทางหรือไม่นั้น ต้องไปดูคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในรายการที่เรียกว่า EU List (ที่มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะ) รายการนี้เป็นรายการที่ผู้ตรวจสอบจะใช้พิจารณาว่าสินค้านั้นเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางหรือไม่
  
แต่การส่งออกสินค้านั้น เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน (เช่นการเก็บภาษีศุลกากร) จะมีการให้เลขรหัสสินค้าที่เรียกว่า HS code กล่าวคือสินค้าชนิดเดียวกันก็จะมีเลขรหัส HS code (ถ้าจำไม่ผิดก็น่าจะเป็นเลข ๖ ตัวแรก) แบบเดียวกัน รายการนี้เป็นรายการที่ผู้ส่งออกใช้ในการดำเนินเรื่องการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ (เช่นเกี่ยวกับพิกัดภาษีศุลกากร)
  
EU List มันมีการกำหนด คุณสมบัติทางกายภาพ, ความสามารถในการทำงาน, วัสดุที่ใช้สร้าง ฯลฯ สินค้าเหล่านั้น เช่น ท่ออะลูมิเนียมที่เข้าข่าย EU List ก็จะมีการกำหนดความสามารถในการรับแรงของท่อนั้น แต่คุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏใน HS code
  
จากการฟังการอบรมที่ผ่านมา เข้าใจว่าสิ่งที่ทางกรมการค้าต่างประเทศได้เริ่มทำขึ้นมาแล้วก็คือ การพยายามเทียบเคียงว่ารายชื่อที่ปรากฏใน EU List นั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับ HS code ตัวใดบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า ๑ รายชื่อใน EU List จะเกี่ยวข้องกับ HS code หลายรายการด้วยกัน ส่วนที่ว่าจะมีครบหรือไม่นั้นก็คงต้องช่วยกันปรับปรุงกันต่อไป

. เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย

"ถ้าตรวจสอบแล้ว สินค้านั้นไม่ได้มีคุณสมบัติตรงตาม EU List ก็สามารถส่งออกได้เลยใช่ไหม"
ประเด็นนี้น่าสนใจอยู่ตรงที่ ถ้าชนิดของสินค้าที่จะส่งออกไปนั้น มันมีรายชื่อปรากฏอยู่ใน EU List แต่สินค้าที่ผู้ผลิตจะส่งออกไปนั้น ไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ใน EU List ทุกข้อ (คืออาจมีเพียงบางข้อเท่านั้นที่ตรง) จะตีความว่าสินค้านั้นไม่เป็นสินค้าควบคุมได้หรือไม่
 
ตอนที่ไปอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเมื่อปีแล้ว ก็ได้มีการกล่าวถึงประเด็นนี้ เพราะมันมีประเด็นที่ว่าความแตกต่างนั้นเกิดจากดัดแปลงสินค้าเพื่อเลี่ยงกฎระเบียบหรือไม่ เช่นการเคลือบผิวด้านนอกที่สัมผัสกับสารเคมี เพื่อไม่ให้มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของสินค้าควบคุม โดยผู้รับสามารถกำจัดผิวเคลือบนั้นออกไปได้ หรือการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนบางชิ้น (ที่อาจมีการแยกส่งต่างหาก) เพื่อให้ไม่เข้าข่าย แต่ผู้รับนั้นสามารถถอดเอาชิ้นส่วนนั้นออกและใส่ชิ้นส่วนใหม่ (ที่อาจได้รับมาอีกทางหนึ่ง) ทำให้กลับกลายเป็นสินค้าควบคุมได้ 
 
หรือด้วยการแยกออกเป็นชิ้นส่วนย่อย ๆ ที่แต่ละชิ้นส่วนย่อยสามารถทำงานได้อย่างอิสระ และไม่ตรงตามข้อกำหนดของสินค้าควบคุม แต่ทางผู้รับสามารถนำเอาชิ้นส่วนย่อยเหล่านั้นมาประกอบรวมกัน ทำให้เมื่อประกอบเสร็จแล้วสิ่งที่ได้นั้นจะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์สินค้าควบคุม (เช่นการแยกส่งหม้อแปลงไฟฟ้า ๓ เฟสในรูปของหม้อแปลงไฟฟ้าเฟสเดียว ๓ ตัว)
  
กรณีนี้เคยเล่าไว้ในเรื่อง
"สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items - DUI) ตอนที่ ๕)" (วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒)
และ "สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items - DUI) ตอนที่ ๗)" (วันศุกร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒)

. การหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน

ตัวนี้อาจเป็นปัญหาของการใช้ HS code ก็ได้ ลองดูกรณี HS code 870323 ที่เป็นของรถยนต์เครื่องเบนซินขนาดความจุกระบอกสูบ 1,500 - 3000 cc ในรูปที่ ๒
  
จะเห็นนะครับว่าในรายการต่าง ๆ นั้นจะกล่าวถึงเพียงแค่จำนวนผู้โดยสาร (รวมคนขับ) ชนิดของเครื่องยนต์ (ที่ยกมาคือเป็นเครื่องยนต์เบนซิน) และขนาดของเครื่องยนต์ (ความจุกระบอกสูบ) โดยไม่กล่าวถึงอุปกรณ์ย่อยอื่น ๆ ที่ทางผู้ผลิตรถยนต์อาจติดตั้งเพิ่มเติมเข้าไป เช่นระบบเซนเซอร์ตรวจจับระยะห่าง ระบบเซนเซอร์ตรวจจับอัตราเร่ง ระบบระบุตำแหน่ง GPS อุปกรณ์เข้ารหัสเพื่อการควบคุมหรือสั่งการ ฯลฯ อุปกรณ์ย่อยเหล่านี้ที่เป็นส่วนประกอบของสินค้าหลัก อาจมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามข้อกำหนด EU List ก็ได้
 
สิ่งที่ทางศุลกากรมองเห็นจะมีเพียง "รถยนต์" และ "เครื่องยนต์" เพราะ HS code ไม่ได้มีการระบุถึงรายละเอียดปลีกย่อยส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถยนต์ที่จะส่งออก ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตรถที่ต้องตรวจสอบว่า ส่วนประกอบย่อยที่ติดตั้งเข้ากับผลิตภัณฑ์หลักนั้นอยู่ในบัญชีรายชื่อ EU List ด้วยหรือไม่
  
กรณีนี้เคยเล่าไว้ในเรื่อง "สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items - DUI) ตอนที่ ๓)" (วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒)

รูปที่ ๒ รายละเอียด HS Code 870323 ที่เป็นของรถยนต์เครื่องเบนซินขนาดความจุกระบอกสูบ 1,500 - 3000 cc
 
. เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง

ในระหว่างการอบรม วิทยากรได้ถามผู้เข้าร่วมการอบรมท่านหนึ่งว่ามาจากไหน ผู้เข้าร่วมท่านนั้นก็บอกว่ามาจากโรงงานผลิตเบียร์แห่งหนึ่ง ซึ่งก็โดนท่านวิทยากรแซวว่า มาทำไม โรงงานผลิตเบียร์เกี่ยวอะไรกับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง
 
อันที่จริงในการอบรมวันนั้นก็มีตัวแทนมาจากโรงงานต่าง ๆ ที่แม้แต่เขาเองก็ยังไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องอย่างไร เพราะผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิตนั้นเป็นเพียงแค่สินค้าธรรมดา (เช่นกระจก น้ำมันพืช)
 
แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่โรงงานเขาผลิตจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการผลิตอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง แต่มันไปมีประเด็นตรงที่ตัวอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต เช่น อุปกรณ์ควบคุมความเที่ยงตรงของการทำงาน อุปกรณ์ปรับอากาศ (เช่นที่ใช้ในห้อง clean room ในโรงงานผลิต อาหาร เครื่องสำอาง ยา) อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปลอดเชื้อ ถังหมัก เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน เครื่องกรอง spray dryer ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เหล่านี้อาจไม่เป็นสินค้าควบคุมเลยก็ได้ หรือมีเพียงแค่บางชิ้นที่เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุม แต่มีประเด็นสิ่งที่ต้องคำนึงก็คือ ตัวโรงงานเองนั้นอาจไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติสูงขนาดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง แต่ต้องการสั่งสินค้าที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางมาใช้งาน (ซึ่งอาจทำไปเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้ดีขึ้น) หรือ "เป็นทางผ่านของอุปกรณ์ตัวนั้นไปยังแหล่งอื่น" ในรูปของอุปกรณ์ใช้งานแล้ว
  
ดังนั้นการพิจารณาว่าโรงงานใดจะเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่นั้น จะพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิตเท่านั้นไม่ได้ ควรต้องพิจารณาไปถึงกระบวนการผลิตที่ใช้ด้วย และความเป็นไปได้ที่จะใช้อุปกรณ์ที่เข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางในการผลิตสินค้าของเขาด้วย
  
กรณีนี้เคยเล่าไว้ในเรื่อง "การเลือกวัสดุสำหรับ F2 และ HF" (วันพุธที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๒)

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เพลิงไหม้ที่เกิดจากการใช้ inert gas blanketing MO Memoir : Thursday 16 July 2563


การใช้ไนโตรเจน (หรือแก๊สเฉื่อยตัวอื่นเช่นคาร์บอนไดออกไซด์ ในบางกรณี) ในการป้องกันไม่ให้อากาศเข้ามาผสมกับไอเชื้อเพลิงที่อยู่ในระบบ (ที่อาจเป็น pressure vessel, storate tank, ระบบท่อ ฯลฯ) เป็นวิธีการมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิด (ที่เรียกว่า blanketing) แต่การทำเช่นนี้ก็มีข้อพีงระวังคืออันตรายจากการขาดอากาศหายใจในกรณีที่ต้องทำการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่มีแก๊สเฉื่อยเหล่านี้อยู่ภายใน ซึ่งมีรายงานออกมาให้เห็นอยู่เสมอ
   
ไฮโดรเจนซัลไฟล์ (H2S) เป็นแก๊สที่มีความเป็นพิษตัวหนึ่ง ที่ทำให้ผู้สูดดมเข้าไปนั้นเสียชีวิตได้แม้ว่าในบริเวณนั้นจะมีออกซิเจนมากเพียงพอต่อการหายใจก็ตาม แก๊สนี้เป็นแก๊สที่สามารถติดไฟได้ แต่โดยทั่วไปเราจะไม่เห็นอุบัติเหตุการระเบิดหรือเพลิงไหม้ที่เกิดจากแก๊สชนิดนี้ เพราะมักเป็นแก๊สที่มีความเข้มข้นต่ำที่ปนเปื้อนหรือเกิดขึ้นในระบบ
  
ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ไฮโดรเจนซัลไฟล์สามารถทำปฏิกิริยากับสนิมเหล็ก โดยอะตอม S ของ H2S จะเข้าไปแทนที่อะตอม O ของสนิมเหล็ก เกิดเป็นสารประกอบ Iron (ii) sulphide (FeS) หรือ Iron (III) sulphide (Fe2S3) ได้ แต่ที่อุณหภูมิสูงเกิน 20ºC นั้น Fe2S3 จะสลายตัวกลายเป็น FeS และธาตุกำมะถัน (S) สารประกอบระหว่างเหล็กกับกำมะถันที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือแร่ไพไรต์ (Pyrite FeS2) ที่เป็นแหล่งแร่กำมะถันที่สำคัญตัวหนึ่ง
  
ความแตกต่างที่สำคัญตัวหนึ่งระหว่าง FeS และ FeS2 คือ ในขณะที่ FeS2 มีความเสถียรเมื่อต้องสัมผัสกับอากาศ แต่ FeS จะสลายตัวกลายเป็น FeO และ SO2 และที่สำคัญคือปฏิกิริยาการสลายตัวนี้คายความร้อนมากเสียด้วย
  
รูปที่ ๑ คำเตือนเมื่อต้องเปิดระบบที่อาจมี FeS เกิดสะสมอยู่ภายใน เพราะอากาศที่เข้าไปข้างในจะไปทำให้ FeS สลายตัว คายความร้อนออกมามากจนกระทั่งสามารถลุกติดไฟหรือทำให้ไอเชื้อเพลิง (ที่อาจเกิดขึ้นจากความร้อนที่ปฏิกิริยาการสลายตัวของ FeS คายออกมา) เกิดระเบิดขึ้นได้ (จาก ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๑๔๗ เดือนพฤษภาคม ปีค.. ๑๙๘๑)
  
ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการสะสมของ FeS จำนวนมากในระบบ และ FeS ที่สะสมนี้เจอกับอากาศที่ไหลเข้าไปในระบบ ถ้าหากในระบบนั้นมีไอสารเชื้อเพลิงอยู่ที่ระดับความเข้มข้นที่เหมาะสม ความร้อนสูงที่เกิดจากการสลายตัวของ FeS ก็จะทำให้ไอสารเชื้อเพลิงนั้นระเบิดได้ แต่ถ้าในระบบนั้นมีอากาศร่วมอยู่ตั้งแต่ต้น FeS ที่เกิดขึ้นก็จะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลา โอกาสที่จะเกิดการสะสมเป็นปริมาณมากในระบบจึงไม่มี
  
เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้เป็นอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ๒ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น โดยมีสาเหตุเกิดจากการสลายตัวของ FeS ทั้งสองเรื่องนำมาจาก http://shippai.org/fkd/en ซึ่งเป็นเว็บของ Association for the study of failure

เรื่องที่ ๑ ไฟไหม้ในถังเก็บยางมะตอย

การทำให้ถังเก็บน้ำมันปลอดภัยก่อนที่จะเข้าไปปฏิบัติงานข้างในนั้นเริ่มด้วยการถ่ายเอาน้ำมันในถังนั้นออกก่อน จากนั้นก็ใช้การฉีดไอน้ำเพื่อไล่ไอน้ำมันที่ตกค้างอยู่ในถังออก นอกจากนี้ความร้อนจากไอน้ำยังช่วยทำให้น้ำมันหนักที่มีจุดเดือดสูง ที่อาจเกาะติดอยู่บนผนังหรือส่วนต่าง ๆ ภายในถังระเหยออกไปด้วย จากนั้นจึงตามด้วยการป้อนไนโตรเจนเพื่อรักษาความดันในถังเมื่อไอน้ำควบแน่น แล้วจึงแทนที่ไนโตรเจนด้วยอากาศ
  
รูปที่ ๒ เหตุการณ์เพลิงไหม้ถังเก็บยางมะตอย ณ โรงกลั่นแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.. ๒๕๓๕
  
แต่ถ้าเป็นกรณีของน้ำมันหนักเช่นน้ำมันเตา (Fuel oil) หรือยางมะตอย (Asphalt) ความร้อนจากไอน้ำไม่เพียงพอที่จะทำให้น้ำมันหนักพวกนี้ (ที่อาจเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้องด้วยซ้ำ) ระเหยออกไป การกำจัดหรือลดปริมาณน้ำมันหนักที่ตกค้างอยู่ทำได้ด้วยการเพิ่มขั้นตอนการล้างด้วยน้ำมันเบา เพื่อเอาน้ำมันเบาเข้าไปละลายน้ำมันหนักที่ตกค้างอยู่ออก ในเหตุการณ์ในรูปที่ ๒ ที่เป็นถังเก็บยางมะตอยความจุ 2000 m3 ใช้ gas oil เข้าไปไหลหมุนเวียนอยู่นานถึง ๓ วัน (gas oil นี้เป็นน้ำมันที่มีจุดเดือดในช่วงปลายของน้ำทมันดีเซลหรือหนักกว่า มีจุดวาบไฟที่สูงกว่าอุณหภูมิห้อง ทำให้การเก็บก็ไม่จำเป็นต้องมีการใช้ nitrogen blanketing เพราะมันไม่ค่อยระเหย)
  
หลังเสร็จสิ้นการล้างด้วย gas oil และถ่ายเอา gas oil ออก ก็ทำการเปิด manhole และ vent รวม ๓ จุดเพื่อให้อากาศไหลเข้าถัง (น่าจะเป็นด้วยวิธี natural convection) ๑๒ ชั่วโมงผ่านไปหลังการถ่ายเอา gas oil ออกพบกลุ่มควันออกมาจาก manhole และ vent ที่เปิดอยู่และหน้าแปลน ใช้เวลากว่า ๒ ชั่วโมงจึงสามารถทำให้เพลิงสงบได้ (รูปที่ ๒)
  
สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้คาดว่าเกิดจาก FeS ที่เกิดจากการสลายตัวของ Fe2S3 ที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างH2S และสนิมเหล็กดังสมการ

2FeO(OH) + 3H2S -----> Fe2S3 + 4H2O

ปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้นที่ผิวด้านในของถัง (ที่ผนังและหลังคา) ดังนั้นเมื่ออากาศเข้าไปข้างใน FeS (ที่เกิดจากการสลายตัวของ Fe2S3 ที่มีสะสมอยู่มาก) ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนและคายความร้อนออกมา ความร้อนที่คายออกมานั้นมากพอที่จะทำให้ gas oil ที่ตกค้างอยู่ระเหยและลุกติดไฟได้

เรื่องที่ ๒ ไฟไหม้ในถังบำบัดน้ำเสียของโรงกลั่นน้ำมัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับ "ถังบำบัดน้ำเสีย" (รูปที่ ๓ และ ๔)

 ในการซ่อมบำรุงถังบำบัดน้ำเสีย หลังจากที่ระบายน้ำเสียออกไปแล้วก็ทำการเปิด manhole ที่หลังคาถังทิ้งไว้ จากนั้นจึงทำการเปิดฝาที่อยู่ที่ manhole ด้านข้างเพื่อตรวจสอบระดับตะกอนที่ตกค้างอยู่ในถัง หลังจากตรวจเสร็จแล้วก็ทำการปิดฝาไว้ แต่ไม่ได้ปิดแน่นให้สนิทเหมือนเดิม เมื่อเวลาผ่านไปมีเสียงแก๊สพุ่งออกมาเกิดขึ้นและตามด้วยเปลวไฟที่ตามหลังมาเพียงแค่ไม่กี่วินาที
  
รูปที่ ๓ เหตุการณ์เพลิงไหม้ถังบำบัดน้ำเสีย ณ โรงกลั่นแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.๒๕๓๘

สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้เกิดจากอากาศที่ไหลเข้าถังด้วย natural convection (เข้าทางฝาปิด manhole ด้านข้างที่ปิดไม่สนิท และออกทาง manhole ด้านบนที่เปิดอยู่) อากาศที่ไหลเข้าไปทำให้ iron sulphide ที่สะสมอยู่ในถังสลายตัว คายความร้อนออก และไปทำให้แก๊ส H2S ลุกติดไฟตามมา (เพิ่งจะเห็นกรณีนี้เป็นกรณีแรกที่เป็นเพลิงไหม้โดยมี H2S เป็นเชื้อเพลิง)
 
รูปที่ ๔ แผนผังของถังบำบัดน้ำเสียที่เกิดเหตุเพลิงไหม้

เนื้อหาถัดจากนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ แต่เห็นแผนผังในรูปที่ ๔ มันน่าสนใจดี โดยเฉพาะตรงส่วนวิธีควบคุมความดันในถังไม่ให้สูงเกิน ก็เลยจะขออธิบายเพิ่มเพื่อให้ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่หรือไม่มีประสบการณ์มีความรู้เพิ่มขึ้น
  
ความดันในถังถูกรักษาไว้ด้วยการป้อนแก๊สไนโตรเจนเข้าถัง (ท่อที่อยู่ทางด้านซ้ายบน) และมีการปล่อยให้แก๊สไหลออกตลอดเวลาทางท่อ (๑) เส้นทางปรกติที่แก๊สไหลออกคือท่อ (๒) แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ความดันในถังสูงเกิน 200 mmH2O แก๊สก็จะรั่วออกทางปลายท่อ (๓) ที่จุ่มอยู่ใต้ผิวน้ำลึก 200 mm ใน D-6654 H2S gas seal drum และออกสู่ระบบ flare พึงสังเกตว่าระดับน้ำใน D-6654 นี้ใช้การสร้างกำแพงกั้นภายใน ให้น้ำไหลล้นลงอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อรักษาระดับให้คงที่
  
ถังนี้ยังมีระบบระบายความดันสำรองอีกระบบหนึ่งที่มีการทำงานคล้ายกับที่ D-6654 H2S gas seal drum คือมีท่อที่จุ่มอยู่ในน้ำลึก 1400 mm (๔) กล่าวเมื่อความดันในถังสูงเกิน 200 mmH2O และแก๊สเริ่มไหลระบายออกสู่ระบบ flare ที่ D-6654 แต่ความดันในระบบยังเพิ่มสูงขึ้นไปอีก และเมื่อความดันในถังเพิ่มสูงถึง 1400 mmH2O แก๊สก็จะเอาชนะความดันต้านของน้ำได้และระบายออกสู่บรรยากาศทางท่อ (๕) U-loop คว่ำ (๖) เป็นตัวทำหน้าที่รักษาระดับน้ำให้คงที่ที่ระดับ 1400 mm ด้วยการยอมให้น้ำที่ไหลเข้ามากเกินนั้นล้นออกมา ส่วนตัว U-loop คว่ำ (๗) ที่ติดตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งสูงสุดของ U-loop คว่ำ (๖) นั้นทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์กาลักน้ำ (syphon)
  
ระบบแบบนี้ถ้าใช้งานในภูมิภาคที่อากาศหนาวจัดจนน้ำเป็นน้ำแข็งได้ ก็ต้องมีระบบให้ความร้อนแก่น้ำที่อยู่ข้างในด้วย (เช่นอุ่นให้ร้อนด้วยไอน้ำ) เพราะถ้าน้ำกลายเป็นน้ำแข็งเมื่อใด ตัว vessel จะไม่ได้รับการป้องกันจากความดันสูงเกิน

ส่วนรูปที่ ๕ ข้างล่างนั้นได้มาจาก WorkSafe Bulletin ที่มีการกล่าวถึงอุบัติเหตุ ๓ เหตุการณ์ที่เกิดจากการสลายตัวของ FeS แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก มีเพียงแค่ที่จับภาพมาให้ดูแค่นั้นเอง
 
รูปที่ ๕ เพลิงไหม้และการระเบิดที่เกิดจากการสลายตัวของ FeS

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๑ (ตอนที่ ๑๑) MO Memoir : Tuesday 14 July 2563

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog
 
เนื้อหาในนี้อิงจาก Memoir เรื่อง "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๑ (ตอนที่ ๑๐) วันจันทร์ที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๓ (แก้ไข วันอังคารที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓)"

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เมื่อหมูระเบิด (Pork scratchings explosion) MO Memoir : Monday 13 July 2563

อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ได้พยายามที่จะเอาส่วนต่าง ๆ สัตว์นั้นมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารให้เต็มที่ ส่วนไหนที่คนไม่ค่อยกิน (เช่นเครื่องในหรืออวัยวะต่าง ๆ) ก็นำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ หรือไม่ก็นำมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเสถียรภาพในการเก็บและคนรับประทานได้ และหนึ่งในนั้นก็คือหนังหมูที่คนไทยนำมาทำเป็นแคปหมู (Pork rinds) โดยในต่างประเทศนั้นจะนำเอาหนังหมูที่ผ่านการแยกเอาไขมันออกไปทำผลิตภัณฑ์อื่นแล้ว (หนังหมูตรงนี้ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษเรียกว่า scratchings หรือ cracklings (US) ในแบบอเมริกัน) มาทำการบดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ
  
ในเดือนมิถุนายนปีค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือเมื่อ ๕๑ ปีที่แล้ว) เกิดการระเบิดที่เครื่องจักรผลิตบด cracklings ของโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ๒ รายและบาดเจ็บ ๑ ราย (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ ข่าวการระเบิดที่โรงงานทำหมูป่นเพื่อนำไปผลิตเป็นแคปหมู ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๒ รายและบาดเจ็บ ๑ ราย

ของแข็งที่มีความเปราะ เราสามารถป่นเป็นผงหรือบดให้ละเอียดได้ง่าย ส่วนของแข็งที่มีความเหนียวนั้นมันทำให้เป็นผงหรือชิ้นเล็ก ๆ ไม่ได้เพราะมันจะยืดตัวออกจากกัน เราทำได้เพียงแค่การตัดหรือสับให้เป็นชิ้นเล็กลง แต่เราก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการทำให้มันเย็นจัด แล้วจึงค่อยจัดการป่นให้มันแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ในขณะที่มันเย็นจัดอยู่นั้น การทำให้ชิ้นงานพลาสติกกลายเป็นผงเล็ก ๆ ก่อนทำการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือบางชนิด (เช่นพวกในกลุ่ม thermal analysis) ก็ใช้วิธีการนี้คือ ใช้ไนโตรเจนเหลวเทลงไปบนชิ้นพลาสติก แล้วก็ทำการบดในขณะที่มันเย็นจัดนั้น การจะบดให้เนื้อสัตว์แตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่ละเอียดก็ทำได้ด้วยวิธีการเดียวกัน
  
การทำความเย็นในอุตสาหกรรมอาหาร มีทั้งการใช้เครื่องทำความเย็น หรือไม่ก็น้ำแข็งแห้งหรือไนโตรเจนเหลว ตรงนี้ขึ้นอยู่กับระดับความเย็นที่ต้องการ ถ้าไม่ต้องการระดับความเย็นที่ต่ำมากก็สามารถใช้เครื่องทำความเย็นได้ เพราะจะใช้ขั้นอตอนทำความเย็นเพียงขั้นตอนเดียว แต่ถ้าต้องการระดับความเย็นที่ต่ำมาก ระบบทำความเย็นจะเริ่มซับซ้อนขึ้น เพราะมันต้องมีระบบทำความเย็นเพื่อการระบายความร้อนออกจากสารทำความเย็นที่อุณหภูมิต่ำเพิ่มเข้ามาอีก 
  
ดังนั้นในกรณีของโรงงานที่ไม่ได้มีความต้องการการทำความเย็นที่ระดับต่ำในปริมาณมาก ก็สามารถใช้น้ำแข็งแห้ง (หรือ dry ice ซึ่งก็คือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เย็นจนเป็นของแข็ง จะมีอุณหภูมิประมาณ -78ºC) หรือไนโตรเจนเหลว (liquid nitrogen ที่มีอุณหภูมิประมาณ -196ºC) น้ำแข็งแห้งมันเป็นของแข็ง ใช้รักษาความเย็นในห้องเก็บผลิตภัณฑ์ได้ (เช่นในรถไอติมที่ตระเวณขายตามชุมชนต่าง ๆ) แต่ถ้าต้องการทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว การใช้ไนโตรเจนเหลวจะดีกว่าเพราะมันสามารถราดลงไปบนผลิตภัณฑ์นั้นได้เลย

ไนโตรเจนเป็นแก๊สที่ไม่ติดไฟและไม่ช่วยให้ไฟติด ไนโตรเจนเหลวก็ไม่ติดไฟและไม่ช่วยให้ไฟติด แต่มันสามารถทำให้วัสดุที่ปรกติยากจะติดไฟนั้นติดไฟได้ง่ายขึ้นหรือระเบิดได้ง่ายขึ้น ด้วยการที่มันไปควบแน่นออกซิเจนจากอากาศ

รูปที่ ๒ เหตุการณ์โรงงานทำหมูป่นระเบิด จาก ICI Safety Newsletter ฉบับเดือนมีนาคม ๑๙๘๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ซึ่งน่าจะเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่เป็นข่าว

อุณหภูมิจุดควบแน่นเป็นของเหลวของแก๊สออกซิเจนนั้นอยู่ที่ประมาณ -183ºC ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิของไนโตรเจนเหลว ดังนั้นบริเวณรอบ ๆ พื้นผิวที่เย็นจัดอันเป็นผลจากไนโตรเจนเหลว เช่นท่อลำเลียงไนโตรเจนเหลวที่ไม่ได้มีการหุ้มฉนวน บริเวณรอบ ๆ ผิวนอกท่อจะเกิดการควบแน่นของแก๊สออกซิเจนจากอากาศ ทำให้บริเวณนั้นมีความเข้มข้นออกซิเจนสูงกว่าปรกติมาก ดังนั้นถ้าบริเวณด้านนอกท่อนั้นมีเชื้อเพลิงอยู่ เชื้อเพลิงดังกล่าวก็จะติดไฟหรือระเบิดได้ง่ายขึ้น แม้ว่ามันจะมีอุณหภูมิที่ต่ำก็ตาม หรือในกรณีของการใช้ไนโตรเจนเหลวเพื่อทำให้วัตถุนั้นเย็นจัดจนมีอุณหภูมิต่ำพอทำให้ออกซิเจนควบแน่นจากอากาศได้ บริเวณรอบ ๆ วัตถุนั้นก็มีโอกาสที่จะมีความเข้มข้นออกซิเจนสูง วัตถุที่ในสภาพปรกติมันไม่ได้มีอันตรายใด ๆ เลยจากเพลิงไหม้หรือการระเบิด ก็จะกลายเป็นเชื้อเพลิงไวไฟหรือวัตถุระเบิดได้ด้วยการมีออกซิเจนความเข้มข้นสูงล้อมรอบอยู่
 
จริงอยู่ที่ว่าเมื่อเราราดไนโตรเจนเหลวลงไปบนวัตถุนั้น การระเหยของไนโตรเจนก็จะไล่อากาศออกไปนอกบริเวณนั้น ถ้าบริเวณรอบ ๆ นั้นยังมีแก๊สไนโตรเจนที่เกิดจากการระเหยของไนโตรเจนเหลวคงค้างอยู่ มันก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากแก๊สไนโตรเจนนั้นระบายออกไปแล้วอากาศเข้ามาแทนที่ โดยที่ตัววัตถุนั้นยังคงมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเดือดของออกซิเจน อันตรายก็จะเกิดขึ้นได้ อย่างเช่นในกรณีที่ยกมาเล่าให้ฟังนี้ ที่ความเข้มข้นของออกซิเจนนั้นเพิ่มจาก 21% เป็น 70%

โดยทั่วไปเมื่อใดก็ตามที่ต้องทำงานกับแก๊สออกซิเจนความเข้มข้นสูงตั้งแต่ 23.5% ขึ้นไป ต้องถือว่ามีอันตรายเทียบเท่ากับการทำงานกับออกซิเจนบริสุทธิ์แล้ว หรือความเข้มข้นออกซิเจนจะต่ำเพียง 5% แต่ถ้าความดันสูงตั้งแต่ 30 bar ขึ้นไป ก็ต้องระวังเหมือนกัน (http://www.airproducts.com/~/media/Files/PDF/company/safetygram-33.pdf)
  
เรื่องนี้บางคนอาจสงสัยว่ามันจัดเป็นกรณีของ dust explosion หรือไม่ แต่จะว่าไปมันก็มีความแตกต่างกันอยู่ ในกรณีของ dust explosion นั้นจะเป็นกรณีของอนุภาคขนาดเล็ก (ที่ติดไฟได้ เช่นแป้งมัน แป้งข้าวต่าง ๆ เส้นใยฝ้าย ผงโลหะบางชนิด) เกิดการฟุ้งกระจายในอากาศที่มีออกซิเจนเข้มข้น 21% แต่ในกรณีของออกซิเจนความเข้มข้นสูงนี้ มันไม่จำเป็นที่เชื้อเพลิงนั้นต้องเป็นผง จะเป็นคนหรือเสื้อผ้าก็ยังได้ (ดูตัวอย่างได้ใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๘๐ วันจันทร์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "ข้อควรระวังเมื่อใช้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๕๓)")

รูปที่ ๓ ข่าวจากวารสาร New Scientist ฉบับเดือนสิงหาคมปีพ.ศ. ๒๕๒๖ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เดียวกัน

เรื่องการที่ไนโตรเจนเหลวทำให้ออกซิเจนในอากาศควบแน่นได้นั้น บางทีก็ส่งผลกระทบต่อการวิเคราะห์บางอย่างได้ เช่นการวัดพื้นที่ผิววัสดุมีรูพรุนด้วยเทคนิค BET ที่วัดความสามารถในการดูดซับแก๊สไนโตรเจนของตัวอย่างที่อุณหภูมิจุดเดือดของไนโตรเจนเหลว ถ้าไนโตรเจนเหลวนั้นมีออกซิเจนปนเปื้อน (อันเป็นผลจากการควบแน่นของออกซิเจนในอากาศ) ในระหว่างการวิเคราะห์ จะทำให้อุณหภูมิจุดเดือดของไนโตรเจนเหลวนั้นเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ผลการวิเคราะห์นั้นผิดเพี้ยนไปได้ ดังจะเห็นได้จากเส้น desoption นั้นต่ำกว่าเส้น adsorption (ดูเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ใน Memoir ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๒๑๘ วันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ เรื่อง "เมื่อเส้น Desorption isotherm ต่ำกว่าเส้น Adsorption isotherm")