วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ภาค ๑๓ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔๘) MO Memoir : Sunday 28 July 2562

ผมเพิ่งรู้ว่ามีหัวรถจักรลากไม้ของบริษัทศรีมหาราชาอีกหัวหนึ่งตั้งไว้ที่วัดหัวกุญแจก็ตอนไปร่วมงานเสวนากับทางชมรมคนรักศรีราชาเพื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ก็คิดว่าถ้ามีโอกาสก็จะไปถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก เพราะปรกติจะมีโอกาสผ่านไปทางด้านนั้นก็ช่วงเทศกาลเช็งเม้งที่จะพาภรรยาและลูก ๆ ไปไหว้สุสานบรรพบุรุษ (ฝ่ายภรรยา) ที่แถวบ้านบึง แต่บังเอิญว่าปีนี้ไม่สามารถไปได้ เพิ่งจะมีโอกาสผ่านไปทางนั้นก็เมื่อวันพุธที่ ๒๔ กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ต้องไปตรวจเยี่ยมนิสิตฝึกงานที่ฝึกงานที่โรงงานทำไบโอดีเซลแห่งหนึ่งที่อำเภอหนองใหญ่ ขากลับก็เลยแวะถ่ายรูปเสียหน่อย
 
วันที่ไปถึงนั้นดูเหมือนเขากำลังปรับปรุงภูมิทัศน์อยู่ มีการทาสีชิงช้าและม้านั่ง แม้แต่ตัวหัวรถจักรเองก็ดูเหมือนว่าเพิ่งจะทาสีใหม่ได้ไม่นาน ยังมีกระป๋องสีวางอยู่ท้ายหัวรถจักร Name plate ของหัวรถจักรคันนี้บอกว่าสร้างโดยบริษัท Orenstein & Koppel AG, Berlin-Drewitz ในปีค.ศ. ๑๙๒๘ (พ.ศ. ๒๔๗๑) หมายเลข N211780 (รูปที่ ๑๓) พยายามหารูปหัวรถจักรรุ่นนี้ในอินเทอร์เน็ตแล้วแต่ไม่พบ เจอแต่ที่หน้าตาคล้าย ๆ กันแต่ใช้ขนาดรางกว้างต่างกัน
 
หลังจากหมดยุคทำไม้ก็เป็นยุคการทำไร่อ้อย รถไฟสายนี้ก็เปลี่ยนจากรถไฟลากไม้กลายเป็นรถไฟบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลแทน ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยรถบรรทุกในเวลาต่อมา

รูปที่ ๑ ป้ายบอกชื่อถนนทางรถไฟเก่า ป้ายนี้อยู่ตรงตำแหน่ง (4) ในรูปที่ ๒ และ ๓ ถนนทางรถไฟเก่านี้บริเวณตำแหน่ง (7) มีอาคารตลาดตั้งขวางอยู่ เหลือเพียงช่องทางเล็ก ๆ ด้านข้างอาคารให้รถวิ่งผ่านได้ แม้ว่าป้ายจะบอกว่าเป็นถนนที่เดินรถไดทั้งสองทาง แต่ในความเป็นจริงมันแคบแบบรถยนต์ไม่น่าจะสวนกันได้ ต้องใช้วิธีเลี้ยวเข้าซอยย่อยเพื่ออ้อมตลาดแทน
  
ทำไมที่แห่งนี้จึงมีชื่อว่าบ้านหัวกุญแจ ก็เพราะมันมีสถานีที่ให้รถไฟสับหลีกกันได้ มีผู้สันนิญฐานว่าน่าจะเป็นการเพี้ยนมาจากคำว่า "ประแจ" ประแจสับรางนี้อเมริกาจะเรียกว่า "switch" ส่วนอังกฤษจะเรียกว่า "point"
 
สัปดาห์หน้าก็คงจะหายตัวไปสักพัก เพราะต้องไปราชการต่างประเทศ หวังว่าพอกลับมาก็คงจะมีเรื่องราวที่ไม่ใช่วิชาการมาเล่าสู่กันฟัง เพราะเขียนพวกวิชาการไปเยอะแล้ว อยากเขียนเรื่องอื่นบ้าง สวัสดี

รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลหัวกุญแจ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๐ ตอนที่ ๒๖ วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๐๖ หน้า ๖๙๗-๖๙๘ ตัวเลข 1-6 ที่เติมลงไปก็เพื่อระบุตำแหน่งเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมในรูปที่ ๓ เทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมแล้ว ผ่านไปกว่า ๕๐ ปีก็ดูเหมือนว่าชุมชนแห่งนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใดนัก ถ้าจะมีการเปลี่ยนก็น่าจะเป็นบริเวณรอบนอกมากกว่าที่มีอาคารต่าง ๆ เพิ่มขึ้น (รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์) แต่ในตัวเขตสุขาภิบาลเองนั้นไม่ได้มีความหนาแน่นมากขึ้นเลย

รูปที่ ๓ ภาพถ่ายดาวเทียมจาก google map ช่วงจุด (3)-(4) เป็นถนนเล็ก ๆ ในวันที่ไปถ่ายรูปนั้นถนนเส้นนี้ปิดอยู่ ดูเหมือนจะมีงานออกร้านอยู่ เส้นหลักที่เข้าตัวชุมชนคือจุด (2) ที่เป็นสามแยกมีสัญญาณไฟจราจร

รูปที่ ๔ ภาพด้านซ้ายของหัวรถจักรที่จอดอยู่ที่วัดหัวกุญแจ รถไฟรุ่นนี้ใช้ขนาดรางกว้าง ๗๕๐ มิลลิเมตร (ความกว้างของรางรถไฟวัดจากขอบรางด้านในฝั่งหนึ่งถึงขอบรางด้านในของอีกฝั่งหนึ่ง)

รูปที่ ๕ ป้ายที่ติดไว้ทีท้ายรถ 

รูปที่ ๖ มองเฉียงจากทางด้านหน้าซ้าย เสียดายที่มีการนำเอาม้านั่งไปตั้งไว้ข้าง ๆ ทำให้ไม่สามารถถ่ายรูปได้โดยไม่โดนบัง

รูปที่ ๗ ข้างหน้าคือปล่องควัน ส่วนตัวเล็ก ๆ ดำ ๆ ๒ ตัวข้างบนเดาว่าน่าจะเป็นวาล์วระบายความดัน

รูปที่ ๘ มองภาพหน้าตรงหน่อย

รูปที่ ๙ มองเฉียงจากทางด้านหน้าขวา

รูปที่ ๑๐ มองเฉียงจากทางด้านหลังขวา ดูเหมือนวันที่ไปดูนั้นเป็นช่วงที่เขากำลังปรับปรุงด้วยการทาสี ก็เลยมีกระป๋องสีวางอยู่ท้ายรถเต็มไปหมด 

รูปที่ ๑๑ ป้ายคำรำพึงที่ติดไว้ท้ายหัวรถจักรด้านขวา 

รูปที่ ๑๒ มองเฉียงจากทางด้านหลังซ้าย 

รูปที่ ๑๓ Name plate ของตัวรถบอกว่าสร้างโดยบริษัท Orenstein & Koppel AG, Berlin-Drewitz ในปีค.ศ. ๑๙๒๘ (พ.ศ. ๒๔๗๑) หมายเลข N211780 (หวังว่าคงอ่านตัวเลขไม่ผิดนะ)

รูปที่ ๑๔ ภาพด้านซ้ายของหัวรถจักร 

รูปที่ ๑๕ ป้ายประวัติวัดหัวกุญแจที่ตั้งไว้บริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งหัวรถจักร

วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ถังปฏิกรณ์ไม่อันตรายที่อันตราย MO Memoir : Tuesday 23 July 2562

ช่วงนี้อาจจะเห็นว่างเว้นการเขียน blog หน่อย อย่างแรกเป็นเพราะไม่ค่อยมีอะไรจะเขียน เพราะวิชาการความรู้ที่มีอยู่ก็เขียนไปเยอะแล้วตั้ง ๑๑ ปี อย่างที่สองเป็นเพราะมันมีอะไรต่อมิอะไรก็ไม่รู้ให้ทำเต็มไปหมด แม้ว่าจะยังไม่เปิดเรียนก็ตาม แต่ยังไงก็จะพยายามเขียนให้ได้สัปดาห์ละเรื่อง
 
อย่างเช่นเรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้มันเริ่มจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมในอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงานของวิศวกรรมเคมี ร่างฉบับนี้มีการแบ่ง chemical reactor หรือที่กฎหมายไทยใช้คำว่า "ถังปฏิกรณ์" ออกเป็น ๓ แบบ คือ ถังปฏิกรณ์ทั่วไป ถังปฏิกรณ์อันตราย และถังปฏิกรณ์อันตรายสูง
 
คำว่า "ถังปฏิกรณ์" ในที่นี้ไม่ได้หมายเพียงแค่ถังปั่นกวน แต่ยังรวม "เครื่องปฏิกรณ์เคมี" ทุกรูปแบบรวมไปถึงรูปแบบที่เป็นท่อหรือ tubular reactor ด้วย ซึ่งตรงนี้มันจะถูกกำหนดไว้ในนิยามของคำว่า "ถังปฏิกรณ์" ที่อยู่ในข้อแรกของร่างกฎหมายว่าหมายถึงอะไร

รูปที่ ๑ ตัวอย่างรูปแบบการระบายความร้อน/ให้ความร้อนแก่เครื่องปฏิกรณ์ (ซ้าย) fixed-bed reactor หรือเบดนิ่ง (ขวา) multi-tubular reactor

ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันก็คือ จะใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัวกำหนดว่าถังปฏิกรณ์ชนิดไหนเป็นถังปฏิกรณ์ธรรมดาหรือเป็นถังปฏิกรณ์อันตราย และเกณฑ์หนึ่งที่มีการตั้งเป็นตุ๊กตาขึ้นมาก่อนหน้านี้ก็คือพิจารณาจากความร้อนของปฏิกิริยา ว่าเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อนหรือปฏิกิริยาคายความร้อน โดยกำหนดว่าถ้าเป็นปฏิกิริยา "ดูดความร้อน" จะจัดให้เป็นถังปฏิกรณ์ธรรมดา แต่ถ้าเป็นปฏิกิริยา "คายความร้อน" จะจัดให้เป็นถังปฏิกรณ์อันตรายหรืออันตรายสูง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณความร้อนที่คายออกมา
 
ความเห็นแย้งของผมในที่ประชุมวันนั้นก็คือ การกำหนดว่าถ้าเป็นปฏิกิริยา "ดูดความร้อน" ก็จะเป็นถังปฏิกรณ์ไม่อันตราย ซึ่งผมเห็นว่าที่ถูกคือควรมีการนิยามคำว่า "อันตราย" ก่อนว่ามันคืออะไร
 
อัตราการเกิดปฏิกิริยาเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น (โดยไม่สนว่าเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อนหรือคายความร้อน) โดยแต่ละปฏิกิริยานั้นจำเป็นต้องมีอุณหภูมิขั้นต่ำขั้นหนึ่ง ปฏิกิริยาจึงจะเริ่มเกิดได้ รูปที่ ๑ เป็นตัวอย่างการจัดการความร้อนที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยา รูปซ้ายเป็นตัวอย่างหนึ่งของกรณี fixed-bed ที่ไม่มีการถ่ายเทความร้อนที่ตัว fixed-bed โดยตรง สารตั้งต้นจะถูกอุ่นให้ร้อนจนมีอุณหภูมิที่พอเหมาะที่สามารถเริ่มทำปฏิกิริยาได้ จากนั้นจึงไหลเข้าทำปฏิกิริยาใน fixed-bed ถ้าหากปฏิกิริยานั้นเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อน เมื่อปฏิกิริยาดำเนินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ อุณหภูมิก็จะลดต่ำลง จนปฏิกิริยาเกิดช้าหรือหยุดเกิด แต่ถ้าหากยังไม่ได้ค่า conversion ของสารตั้งต้นดังต้องการ ก็จะเอาเบดแรกนั้นมาอุ่นให้ร้อนใหม่ก่อนป้อนเข้าสู่เบดถัดไป ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนได้ค่า conversion สารตั้งต้นตามต้องการ
 
แต่ถ้าเป็นปฏิกิริยาคายความร้อนนั้น เมื่อปฏิกิริยาดำเนินไปข้างหน้า อุณหภูมิภายในเบดจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาเพิ่มขึ้น (แม้ว่าความเข้มข้นสารตั้งต้นจะลดลง) ถ้าอุณหภูมิในเบดสูงเกินไปก็อาจทำให้อัตราเร็วในการเกิดปฏิกิริยาอยู่นอกเหนือการควบคุม (ที่เรียกว่า runaway) ในกรณีนี้จะปล่อยให้สารตั้งต้นทำปฏิกิริยาจนอุณหภูมิเบดเพิ่มสูงถึงระดับหนึ่ง จากนั้นก็จะนำมาผ่านเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเพื่อดึงเอาความร้อนออก ก่อนจะป้อนเข้าสู่เบดถัดไปเพื่อให้ได้ค่า conversion สารตั้งต้นดังต้องการ
 
แต่ถ้าเป็นปฏิกิริยาที่คายความร้อนสูงมาก (เช่นปฏิกิริยา gas phase partial oxidation สารไฮโดรคาร์บอนไปเป็น oxygenate) รูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ในกรณีนี้จำเป็นต้องมีการดึงเอาความร้อนออกจากตัวเบดโดยตรงเพื่อไม่ให้อุณหภูมิของตัวเบดสูงเกินไป รูปขวาในรูปที่ ๑ เป็นตัวอย่างกรณีของ multi-tubular reactor ที่มีลักษณะเหมือน shell and tube heatexchanger ขนาดใหญ่ โดย tube ต่าง ๆ ก็คือ fixed-bed ส่วนด้าน shell นั้นจะเป็นด้านของของเหลวระบายความร้อน

รูปที่ ๒ ปฏิกิริยาที่ต้องการพลังงานกระตุ้นมากหรือดูดความร้อนมาก เช่นปฏิกิริยา steam reforming หรือ thermal cracking ต่าง ๆ จะให้ความร้อนแก่สารตั้งต้นด้วยการใช้เปลวไฟ โดยสารตั้งต้นจะไหลอยู่ในท่อที่มีเปลวไฟให้ความร้อนอยู่ภายนอก (แต่ต้องระวังไม่ให้เปลวไฟสัมผัสกับท่อนั้นโดยตรง)

ในกรณีของปฏิกิริยาที่ต้องการพลังงานกระตุ้นสูงหรือดูดความร้อนมากนั้น การให้ความร้อนด้วย heating media จะทำไม่ได้เนื่องจากมีอุณหภูมิไม่สูงพอ ในกรณีเช่นนี้ก็จะใช้การให้ความร้อนด้วยเปลวไฟ โดยสารตั้งต้นจะไหลอยู่ในท่อที่ติดตั้งอยู่ใน furnace และมีเปลวไฟให้ความร้อนอยู่ภายนอกท่อ ปฏิกิริยารูปแบบนี้อาจมีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาก็ได้ (เช่นปฏิกิริยา steam reforming) หรือไม่มีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา (เช่นพวก thermal cracking ต่าง ๆ) อุณหภูมิการทำปฏิกิริยาอยู่ได้ในช่วงตั้งแต่ระดับ 400 ไปจนถึงระดับ 1000ºC
 
อันตรายหนึ่งที่สำคัญของเครื่องปฏิกรณ์รูปแบบนี้คือเฟสที่ไหลอยู่ในท่อนั้นเป็น "แก๊ส" ไม่ใช่ "ของเหลว" แก๊สนั้นรับความร้อนได้แย่กว่าของเหลวมาก ตรงนี้ลองนึกภาพถ้าคุณเอาหม้อเคลือบเทฟลอนใส่น้ำไปต้มบนเตาแก๊ส ไม่ว่าคุณจะเปิดแก๊สให้ความร้อนที่ก้นหม้อแรงเท่าใด เทฟลอนที่เคลือบผิวหม้อนั้นจะไม่เป็นอะไร เพราะมันจะมีอุณหภูมิที่จุดเดือดของน้ำ แต่ถ้าน้ำแห้งเมื่อใด เทฟลอนจะไหม้ได้ ด้วยเหตุนี้เครื่องปฏิกรณ์ในรูปแบบนี้จึงต้องระวังไม่ให้เปลวไฟสัมผัสกับผิวท่อโดยตรง เพราะจะทำให้โลหะตรงจุดนั้นร้อนจัด จนอาจเกิดการฉีกขาดตามมาได้
 
และเมื่อสารตั้งต้นที่ไหลอยู่ในท่อนั้นเป็นสารที่ติดไฟได้ เมื่อรั่วออกมาเจอกับเปลวไฟที่อยู่ข้างนอก ก็คงจะจินตนาการได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา
 
ด้วยเหตุนี้ผมจึงเสนอความเห็นแย้งในที่ประชุมวันนั้นว่า การมองแต่เพียงว่าปฏิกิริยาดูดความร้อนนั้นมันมีแนวโน้มที่จะหยุดตนเอง ดังนั้นเครื่องปฏิกรณ์ที่เกิดปฏิกิริยาดูดความร้อนนั้นจัดเป็นเครื่องปฏิกรณ์ธรรมดาที่ไม่อันตราย จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งสำคัญกว่าก็คือรูปแบบการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์นั้นว่ามันมี "อันตราย" สูงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้การจำแนกประเภทนั้นจึงควรพิจารณานิยามของคำว่า "อันตราย" ก่อนว่าจะให้ครอบคลุมแค่ไหน จะพิจารณาในแง่ ความเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหล (โดยไม่พิจารณาถึงสารที่อยู่ข้างใน) อันตรายที่อาจเกิดขึ้นถ้าหากเกิดการรั่วไหล ความเสี่ยงที่จะเกิดการ runaway ฯลฯ เพราะจากตัวอย่างที่ยกมานี้ก็เห็นได้ชัดว่าเครื่องปฏิกรณ์ปฏิกิริยาดูดความร้อนนั้นใฃ่ว่าจะไม่อันตรายเสมอไป

อันที่จริงแล้วยังมีประเด็นอื่นอีกที่ผมเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกความอันตรายของถังปฏิกิริยา ถ้าหากมีโอกาสก็จะนำมาเล่าให้ฟัง 
  
กฎหมายฉบับนี้ขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่างและปรับแก้ สุดท้ายแล้วจะออกมาอย่างไรนั้นก็คงต้องคอยดูกันต่อไป ที่ผมแปลกใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ดูเหมือนตามกฎหมายเดิมนั้นคนทำงานเขาก็ทำงานกันได้โดยไม่มีปัญหาอะไร แล้วอยู่ดี ๆ มีการนำเสนอร่างกฎหมายใหม่มาเพื่อให้เขาทำงานได้ยากขึ้น แถมไปเชิญเขามาร่วมเขียนอีก ผมจึงไม่แปลกใจที่จะเห็นคนทำงานนั้นเขาไม่ค่อยอยากจะให้ความร่วมมือในการออกร่างกฎหมายฉบับนี้เท่าใดนั้น

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

สิ่งที่ได้มาโดยมิชอบ ย่อมร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้ (เมื่อนิสิตคณะวิศวะ ฟ้องอาจารย์คณะอื่นที่พยายามช่วยไม่ให้นิสิตรีไทร์) MO Memoir : Tuesday 16 July 2562

เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วครับ ในปีการศึกษา ๒๕๔๒ ซึ่งตามมาด้วยการฟ้องศาลปกครอง จนศาลปกครองมีคำพิพากษาในปีพ.ศ. ๒๕๔๕ เหตุการณ์นี้จะเรียกว่าเป็น ชาวนากับงูเห่าเวอร์ชันนิสิตคณะวิศวะกับอาจารย์นอกคณะก็น่าจะได้นะครับ เมื่อนิสิตได้เกรด F แล้วรีไทร์ แล้วพยายามขอให้อาจารย์ช่วย อาจารย์ก็พยายามช่วยทุกวิถีทางแล้ว แต่สิ่งที่ได้รับตอบแทนก็คือ ....

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้มาจากเอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง "กฎหมายปกครองสำหรับบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ และได้นำมาเล่าไว้เรื่องหนึ่งในเรื่อง "สิทธิในการรู้คะแนนสอบของผู้อื่น" (Memoir ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๔๐๐ วันอังคารที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐) กรณีนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้กับอาจารย์ที่คิดจะช่วยเหลือนิสิตในทางที่ผิด
 
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ยื่นฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่ทางมหาวิทยาลัยจัดสอบโดยมิชอบเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๓ ทำให้นิสิตผู้นั้นทราบเวลาสอบล่วงหน้ากระชั้นชิด ทำให้มีเวลาทำข้อสอบวิชาการเงินส่วนบุคคลเพียงชั่วโมงครื่งแทนที่จะเป็น ๓ ชั่วโมง ทำให้ผลสอบออกมาได้เกรด D และนิสิตที่อยู่ในสภาพวิทยาทัณฑ์อยู่แล้วต้องพ้นสภาพนิสิต นิสิตจึงร้องต่อศาลขอให้ทางมหาวิทยาลัยจัดสอบให้ใหม่
 
เนื่องจากประกาศของมหาวิทยาลัยเป็นคำสั่งปกครอง และมหาวิทยาลัยได้ประกาศให้นิสิตพ้นสภาพนิสิตไปแล้ว ทางนายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรทุกข์ชั่วคราว โดยให้ทางมหาวิทยาลัยอนุญาตให้นิสิตลงทะเบียนเรียนได้ก่อน (เผื่อว่านิสิตเป็นผู้ชนะคดี)

เรื่องมันเริ่มจากการที่มีนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ (โชคดีที่ไม่ใช่ภาควิชาที่ผมสอน) ลงเรียนวิชาเลือกนอกคณะคือวิชาการเงินส่วนบุคคล วิชานี้ไม่ได้กำหนดวันสอบไล่ไว้ในตารางสอบ กำหนดแต่เพียง TDF ที่ย่อมาจาก To be delcared by the faculty ซึ่งก็คือผู้สอนกับผู้เรียนค่อยตกลงวันสอบกัน
 
คำว่า "Faculty" นี้ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษแบบ British จะหมายถึงคณะวิชา ไม่ใช่อาจารย์ผู้สอน แต่ถ้าเป็นแบบอเมริกันจะหมายถึงอาจารย์ผู้สอน (teaching staff)
 
เดิมนั้นวิชานี้จะมีทั้งการสอบกลางภาคและการสอบปลายภาค แต่ในภาคการศึกษานั้นเปลี่ยนการสอบกลางภาคเป็นการทำข้อสอบเชิงกรณีศึกษานอกห้องสอบ โดยให้นิสิตทุกคนกลับไปทำและนำกลับมาส่งใน ๒ สัปดาห์ (ช่วงนั้นการสอบกลางภาคจะอยู่ตอนปลายเดือนธันวาคม เรียกว่าสอบเสร็จก็ฉลองปีใหม่ได้เลย)
 
วันที่ ๒๖ มกราคมเป็นวันครบกำหนดการส่งกระดาษคำตอบกลางภาค นิสิตทุกคนนำมาส่ง ยกเว้นผู้ฟ้องคดี และอาจารย์ยังได้แจ้งด้วยว่าการสอบไล่นั้นจะแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม โดยกลุ่มแรกสอบวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ กลุ่มที่สองสอบวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ โดยกลุ่มของนิสิตวิศวะนั้นให้เข้าสอบในกลุ่มแรกคือวันที่ ๙ กุมภาพันธ์
 
ถึงวันสอบของกลุ่มแรกคือวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ นิสิตผู้ฟ้องคดีก็มาสอบ พร้อมกับเอาข้อสอบของกลางภาคมาส่ง (อันที่จริงมันต้องส่งตั้งแต่ ๒๖ มกราคมแล้ว) อาจารย์ผู้สอนก็อุตส่าห์ยอมรับไว้โดยระบุว่าส่งผิดเวลา (เรียกว่าช้าไป ๒ สัปดาห์) แถมตรวจให้คะแนนด้วย
 
ปรกติในการสอบนั้น ผู้เข้าสอบจะต้องอยู่ในห้องสอบไม่น้อยกว่า ๔๕ นาที (แม้ว่าจะทำข้อสอบเสร็จแล้วก็ตาม) จึงจะมีสิทธิ์ออกนอกห้องสอบได้ แต่ในวันนั้นนิสิตคนดังกล่าวเข้าสอบเพียงไม่ถึง ๔๕ นาที ก็ขอไปสอบในวันที่สองแทน
 
ลองคิดดูเล่น ๆ นะครับ ถ้าคุณเป็นคนที่เรียนกับเขาในวิชานั้น เขาเข้ามาสอบ เห็นข้อสอบแล้ว แล้วบอกว่าไม่อยากจะสอบวันนี้ ขอไปสอบอีกวัน แถมอาจารย์อนุญาตให้อีก คุณว่ามันเป็นธรรมกับคุณไหม

การสอบในวันที่สองนั้นก็มีเหตุการณ์ทำนองเดิมอีก ตรงนี้ถ้าผมจำที่เขาเล่าเอาไว้ไม่ผิดก็คือ พอนิสิตเข้าสอบไปได้สักพักก็ขอส่งกระดาษคำตอบ โดยอ้างว่าติดสอบวิชาอื่น อาจารย์ผู้ควบคุมสอบก็ยอมให้ออกไปจากห้องสอบ (ตรงนี้แสดงว่าการสอบในวันแรกนั้นเขาไม่มีการสอบซ้ำซ้อนกับวิชาอื่น) แต่ก่อนที่จะหมดเวลาสอบ เขาก็กลับมาใหม่ และขอทำข้อสอบต่อ ซึ่งอาจารย์ก็อนุญาตให้ทำข้อสอบต่อได้
 
ลองคิดดูเล่น ๆ อีกครั้งนะครับ คนที่สอบวิชาเดียวกับคุณ เข้ามาสอบได้สักพักก็ขอส่งข้อสอบแล้วออกไปข้างนอก หายไปพักใหญ่ ๆ ก็กลับมาใหม่ และขอทำข้อสอบเดิมต่อ คุณว่ามันเป็นธรรมกับคุณไหม

พอผลสอบประกาศออกมา นิสิตคนนั้นได้เกรด F (Fail หรือตก) ครับ แต่มีการร้องขอกับอาจารย์ผู้สอนให้เกรด I (Incomplete หรือยังไม่สมบูรณ์) ซึ่งอาจารย์ก็ยอมให้เกรด I กับนิสิตคนนั้น
 
การให้เกรด I นั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนิสิตไม่ได้มาสอบ และได้ทำเรื่องแจ้งเหตุผล หรือว่าการส่งงานนั้นยังไม่สมบูรณ์ แต่ไม่ใช่สำหรับการสอบข้อเขียนที่มีการส่งกระดาษคำตอบกันหมดแล้ว ดังนั้นการที่อาจารย์ให้เกรด I กับนิสิตในเหตุการณฅ์นี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

เอกสารที่สแกนมาให้ดูนั้นเป็นฉบับย่อ เท่าที่จำได้ในการฟังการสัมมนาก็คือมีการจัดสอบแก้ I ให้สองครั้ง (ถ้าจำไม่ผิด) โดยครั้งแรกนั้นจำไม่ได้แน่ว่านิสิตไม่มาหรือสอบไม่ผ่าน แต่อาจารย์ผู้สอนก็ยังให้โอกาสที่จะสอบแก้ I ใหม่อีกครั้งในวันที่ ๓๐ มีนาคม โดยกำหนดเวลาสอบไว้ ๓ ชั่วโมง แต่ในการสอบครั้งหลังนี้เป็นการฝากให้ผู้อื่นคุมสอบแทน ถึงวันสอบปรากฏว่านิสิตมาสาย และเมื่อครบกำหนดเวลาสอบที่กำหนดไว้ผู้คุมสอบก็ไม่มีการต่อเวลาให้ ทำให้นิสิตคนดังกล่าวได้เกรด D ในวิชานั้น ส่งผลให้ต้องพ้นสภาพนิสิต
 
การสอบแก้ I ต้องกระทำภายใน ๒ สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาถัดไป ในกรณีของภาคปลายมันจะมีเวลาการเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเป็นภาคเรียนถัดไป ดังนั้นสำหรับผู้ที่ติด I แล้วควรต้องรู้ว่าเส้นตายของการแก้ I คือวันไหน ในเหตุการณ์นี้ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนว่าการสอบแก้ I ครั้งแรกนั้นห่างจากเส้นตายพอควร แต่เมื่อผลออกมาไม่ดีและมีการขอสอบใหม่ จึงทำให้ช่วงเวลาที่ทราบว่าสอบครั้งแรกไม่ผ่านและเส้นตายของการสอบนั้นแคบเข้ามามาก

คำสั่งของมหาวิทยาลัยที่ให้นิสิตพ้นสภาพการเป็นนิสิตถือเป็น "คำสั่งปกครอง" ดังนั้นในกรณีนี้นิสิตจึงสามารถร้องต่อศาลปกครองได้ และได้ร้องขอให้ศาลปกครองสั่งให้ทางมหาวิทยาลัยจัดการสอบแก้ I ให้ใหม่ (เพื่อเปิดโอกาสให้เขามีเวลาสอบเต็มที่ ๓ ชั่วโมงเต็ม) ซึ่งศาลปกครองก็ได้รับเรื่องเอาไว้พิจารณา
 
แต่เมื่อศาลได้พิจารณาหลักฐานทั้งหมดแล้วพบว่า การที่อาจารย์ให้เกรด I กับนิสิตนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง (ที่ถูกต้องคือการให้เกรด F) ดังนั้นการที่มีการจัดให้นิสิตมีโอกาสสอบแก้ I นั้นจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องด้วย จึงส่งผลให้การที่นิสิตร้องขอให้จัดสอบแก้ I ใหม่นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามไปด้วย ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง

ในวันนั้นผู้บรรยายสรุปกรณีของเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า "สิ่งที่ได้มาโดยมิชอบ ย่อมร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้"
 
ที่เหลือก็ลองอ่านข้อความที่สแกนมาให้ดูเอาเองก็แล้วกันนะครับ






วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

แต่ความเคารพที่เคยมีให้ในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์นั้น คงต้องสิ้นสุดลงตรงนี้ MO Memoir : Thursday 11 July 2562

กลับมาทำงานใหม่ ๆ นั้นผมได้รับหน้าที่ให้ช่วยดูแลห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานของภาควิชา เนื่องด้วยอาจารย์ผู้สอนเดิมจะเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานตอนนั้นเป็นเพียงห้องแลปเล็ก ๆ ที่ออกแบบมาสำหรับนิสิตทำแลปประมาณแค่ ๒๐ คน (มีโต๊ะปฏิบัติการเพียงแค่ ๓ ตัว) ซึ่งก็เป็นจำนวนของนิสิตในภาควิชาตอนที่ออกแบบ แต่ตอนที่ผมกลับมาทำงานนั้นจำนวนนิสิตนั้นมาอยู่ที่ระดับ ๗๐ - ๘๐ คนแล้ว เรียกว่าต้องรับนิสิตเกือบ ๓๐ คนในแต่ละตอนเรียน และสามารถจัดได้เพียงแค่ ๓ ตอนเรียนต่อสัปดาห์เท่านั้น



สิ่งแรก ๆ ที่ต้องทำก็คือการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบท่อน้ำทิ้ง (ที่ต้องจ้างช่างข้างนอกมาซ่อมให้) ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง (ที่ต้องมาเปลี่ยนหลอดไฟกันเอง ทำความสะอาดโคมไฟกันเอง) และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำการทดลอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พบสิ่งที่แปลกใจก็คือ อุปกรณ์หลากหลายรายการที่มีการระบุว่าเป็นของห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน ที่นิสิตปริญญาตรีควรได้ใช้ในการเรียนนั้น กลับไม่ปรากฏอยู่ในห้องปฏิบัติการฯ มีเพียงแต่ชื่อ ส่วนตัวอุปกรณ์นั้นกลับไปอยู่ถาวรตามห้องปฏิบัติการวิจัยต่าง ๆ
 
สมัยผมเรียนหนังสือนั้น วิชาปฏิบัติการของภาค (ตั้งแต่ปี ๒ ถึง ๔) ผมก็ไม่เคยเรียนกับอาจารย์ มีแต่เพียงครูปฏิบัติการ (ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่หน้าที่เขา) และนิสิตปริญญาโทที่มาช่วยสอนแค่นั้นเอง 
  
งานนี้ก็เลยต้องมีการรื้อระบบกันใหม่ เรียกว่าต้องขอคืนอุปกรณ์ที่ถูกยืม (หรือจะเรียกว่ายึดก็ได้) ไปนั้นกลับมา เพื่อที่นิสิตปี ๒ จะได้มีอุปกรณ์ใช้ในการทำการทดลองบ้าง หลายอุปกรณ์ก็ได้กลับมาในสภาพที่ยังใช้งานได้ บางอุปกรณ์ก็มีปัญหาแต่ก็ได้รับการซ่อมแซมจากผู้ที่ยืมก่อนส่งคืน ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่มีอยู่เครื่องหนึ่งคือ UV-Vis ที่ดูเหมือนว่าตั้งแต่ซื้อมานั้นมันก็ถูกแลปวิจัยแลปหนึ่งนำไปใช้งานตลอดโดยไม่เคยได้กลับมาอยู่ที่ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานเลย
 
ตอนที่ได้เครื่องกลับมานั้นปรากฏว่าหลอดกำเนิดแสงนั้นเสียไปแล้ว เนื่องด้วยเครื่องนี้ถูกอาจารย์ผู้หนึ่งยืมไปใช้ตั้งแต่แรกที่ซื้อมาโดยที่คนอื่นไม่ได้ใช้ ผมก็เลยขอให้ทางอาจารย์ผู้ยืมไปใช้ในงานวิจัยของเขานั้นช่วยออกค่าซ่อมแซมให้ด้วย (ในฐานะที่เขาเป็นผู้เดียวที่ใช้) แต่ปรากฏว่าเขาไม่ยอมซ่อมให้โดยอ้างว่ามันไม่ใช่เครื่องของเขา
 
เรื่องตรงที่ว่าใครต้องซ่อมเครื่องนั้นมันก็มีประเด็นอยู่ ซึ่งตรงนี้ทางห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานก็มีหลักเกณฑ์ว่า เครื่องที่มีการยืมใช้งานกันหลายคนนั้น ถ้าเป็นการเสื่อมสภาพเนื่องจากอายุการใช้งาน ทางห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานก็จะเป็นผู้ซ่อมแซม แต่ถ้าเกิดจากการที่ผู้ใช้นั้นใช้งานแบบไม่ระมัดระวังหรือไม่ถูกวิธี ผู้ใช้ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการซ่อมด้วย
 
เพื่อให้เห็นภาพจะขอยกตัวอย่าง hot plate ที่มักมีผู้ยืมไปใช้เป็นประจำ พอใช้ไปนาน ๆ ก็จะมีชิ้นส่วนเสื่อมสภาพเนื่องจากความร้อน ดังนั้นคนสุดท้ายที่มาขอยืมไปใช้แล้วพบว่ามันมีชิ้นส่วนเสียเนื่องจากผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน กรณีเช่นนี้ทางห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานจะเป็นผู้จัดการซ่อม แต่ถ้าหากระหว่างการใช้งานนั้นเกิดมีการทำบีกเกอร์บรรจุน้ำตกแตกบริเวณ hot plate แล้วทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนเครื่องเสีย ในกรณีเช่นนี้ผู้ยืมไปใช้ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการซ่อมด้วย ส่วนที่ว่าจะต้องรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องนั้นมันเก่าขนาดไหน
 
แต่ถ้า hot plate ตัวนั้นตั้งแต่ได้รับมา มีผู้ยืมไปใช้ (แบบถาวร) อยู่เพียงรายเดียว พอคุณขอเครื่องนั้นกลับมาและพบว่ามันถูกใช้จนเครื่องพังไปแล้ว (ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม) ลองคิดเองเล่น ๆ ก็แล้วกันนะครับว่าในความเห็นส่วนตัวของคุณนั้น ใครควรเป็นคนออกค่าซ่อม

และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ตามมา



เอาเป็นว่าสุดท้ายเครื่องนั้นก็ได้รับการซ่อมแซม และในจังหวะเวลานั้นทางคณะมีนโยบายที่จะปรับปรุงตึกที่เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน โดยเฉพาะชั้น ๓ และชั้น ๔ ที่ต้องมีการเจาะพื้นเพื่อวางระบบท่อน้ำทิ้ง ทุบผนังเพื่อขยายห้อง กั้นห้องใหม่ ทำพื้นห้องใหม่ เดินระบบไฟฟ้าใหม่ ฯลฯ ทำให้จำเป็นต้องย้ายห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานไปตั้งที่อาคารอื่นชั่วคราว (คืออาคารวิศว ๔ ชั้น ๑๒) ทางห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานจึงต้องทำการขนย้ายสิ่งของออกไปยังที่ใหม่ เพราะห้องเดิมจะมีการทุบผนังกั้นห้องเพื่อขยายขนาด ทำพื้นห้องใหม่ รวมทั้งเดินระบบน้ำดี น้ำทิ้ง และไฟฟ้าใหม่หมด และเนื่องด้วยช่วงเวลานั้นเป็นช่วงปิดเทอมที่ไม่มีการเรียนการสอน จึงอนุญาตให้ห้องปฏิบัติการวิจัยที่ต้องการยืมใช้เครื่องมือนั้นสามารถยืมออกไปใช้ได้ (ขอเพียงแค่ให้มันกลับมาในสภาพที่ยังใช้งานได้ก่อนเปิดเทอมใหม่แค่นั้น) ในช่วงเวลานั้นก็มีนิสิตป.โท รายหนึ่ง (ที่ทำวิจัยกับอาจารย์ที่กล่าวมาข้างต้น) มาขอใช้เครื่อง UV-Vis ในงานวิจัยของเขา ผมก็อนุญาตให้ยืมใช้งาน โดยให้เขายกไปใช้ที่ห้องแลปเขาได้เลย (เครื่องก็ไม่หนักเท่าใดนั้น คิดว่าไม่น่าจะถึง ๕ กิโลกรัมด้วยซ้ำ)
 
ปรากฏว่าเขาไม่ยอมทำเรื่องยืมไปใช้งาน บอกว่าจะขอใช้เครื่องนั้นที่ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน ผมเองก็งงว่าทำไมจึงต้องใช้ที่นี่ ทำไมไม่ยกเอาไปใช้ที่แลป เพราะพื้นที่ตรงนี้ต้องรีบขนของออกเพื่อมอบพื้นที่ให้กับทางคณะส่งต่อให้ผู้รับเหมาเข้ามาทำงานต่อไป ไม่เช่นนั้นงานจะเสร็จไม่ทันเปิดภาคการศึกษาใหม่ พอผมถามเขา เขาก็ตอบกลับมาในทำนองว่า "ถ้าเขาใช้เครื่องที่นี่ (หมายถึงที่ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน) ถ้าเครื่องมันเสียขึ้นมา เขาจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ"
 
พอได้ยินแบบนี้ผมก็ถามเขากลับไปว่า สมมุติว่าคุณซื้อคอมพิวเตอร์มาใหม่เครื่องหนึ่ง ตั้งไว้ที่บ้านคุณ แต่ยังไม่ทันได้ใช้งานเลย แล้วอยู่ดี ๆ เพื่อคุณก็มาขอใช้ แล้วเขาเล่นซะเครื่องคอมพิวเตอร์คุณพัง ในกรณีเช่นนี้คุณคิดว่าใครควรเป็นคนออกค่าซ่อม ตัวคุณหรือเพื่อนคุณ เขาก็ตอบว่าเพื่อนควรเป็นคนออกค่าซ่อม พอได้ยินคำตอนนี้ผมก็ถามย้อนกลับไปว่าทำไมคุณไม่เป็นคนออกค่าซ่อม เพราะมันพังในขณะที่เพื่อนคุณนั้นมาเล่นที่บ้านคุณ ซึ่งผมก็ไม่ได้รับคำตอบนั้น

ไม่กี่วันให้หลัง ผมก็ได้รับแจ้งจากหัวหน้าภาควิชาว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งแทงจดหมายถึงหัวหน้าภาควิชา กล่าวหาในทำนองว่าผมกลั่นแกล้งเขา ไม่ให้เขายืมใช้อุปกรณ์ ใช้ความพึงพอใจของตนเองที่จะให้บริการกับใคร หัวหน้าภาควิชาท่านก็ได้สำเนาจดหมายฉบับนั้นให้ผม และให้ผมชี้แจงต่อหน้าท่านและอาจารย์ผู้กล่าวหา
 
คือจดหมายฉบับนั้นเขียนโดยนิสิตป.โทผู้ที่มาติดต่อขอยืมเครื่อง UV-Vis จากห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน ส่งไปยังอาจารย์ที่ปรึกษาในทำนองว่าไม่สามารถยืมใช้เครื่องได้ เพื่อขอคำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี จากนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาจึงแทงเรื่องต่อมายังหัวหน้าภาควิชา เขียนมาในทำนองว่าเขาโดนกลั่นแกล้งไม่ให้ยืมอุปกรณ์ของห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานไปใช้งาน แต่กับคนอื่นกลับให้ยืมได้
 
ตอนที่ผมเห็นจดหมายนี้ร่วมกับครูปฏิบัติการคนอื่น เราก็งงเหมือนกัน โดยเฉพาะตรงที่เขากล่าวหาว่าทางผมกลั่นแกล้งเขาที่ไม่ให้เขายืมเครื่องมือไปใช้
 
ในวันนั้น ในห้องหัวหน้าภาคมีอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ ผม หัวหน้าภาควิชา และอาจารย์ผู้กล่าวหา ในการชี้แจงนั้น ผมก็แจ้งให้กับหัวหน้าภาคทราบว่าในความเป็นจริงนั้นอนุญาตให้ยืมใช้ โดยให้ยกไปใช้ที่ห้องแลปของเขาเลย เพราะพื้นที่ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานจะมีการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งหัวหน้าภาคก็ทราบอยู่ และรู้ด้วยว่าต้องส่งพื้นที่ให้กับผู้รับเหมา แต่ทางผู้ยืมนั้นยืนยันที่จะใช้เครื่อง ณ ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานให้ได้ เมื่อไม่สามารถใช้เครื่องที่ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานได้ ก็เลยไม่ขอยืมออกไปใช้ที่แลปตัวเอง
 
ในส่วนที่หาว่าไม่ให้เขายืมเครื่องมือนั้น ทางผมก็มีเอกสารคือใบบันทึกการยืมและใช้อุปกรณ์ของอาจารย์ในภาควิชา ที่ทางครูปฏิบัติการรวบรวมเอาไว้ให้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ติดขัดว่าเวลานั้นต้องใช้เพื่อการสอนระดับปริญญาตรี ก็อนุญาตให้ยืมไปใช้ทุกราย (ทำตามนโยบายของภาควิชา) และจะว่าไปแล้วตัวอาจารย์ผู้กล่าวหานั้นเป็นผู้ที่ทำเรื่องยืมอาจจะมากที่สุดเสียด้วย โดยผมเอาใบขออนุญาตยืมและใช้ ที่มีลายเซนต์ของอาจารย์ผู้กล่าวหาผมนั้นมาให้หัวหน้าภาควิชาดู
 
พอเจอหลักฐานอย่างนี้เข้าประเด็นกล่าวหาก็เลยเบี่ยงเบน มีการกล่าวหาผมต่อหน้าหัวหน้าภาควิชาต่อว่าผมไม่มีกฎเกณฑ์ในการให้ยืม ใช้ความพึงพอใจในการเลือกให้ใครยืม ผมก็ชี้แจงกลับไปว่ากฎเกณฑ์มันมีอยู่แล้ว พิมพ์ไว้ข้างหลังใบขอยืมใช้อุปกรณ์ทุกใบที่อาจารย์เซนต์ชื่อมา พร้อมกับแสดงให้เห็น พอเจอแบบนี้เข้าก็เบี่ยงประเด็นต่อไปว่าเขาไม่เห็นเพราะมันไม่มีการบอกไว้ข้างหน้าว่าให้พลิกอ่านข้างหลัง ผมก็ชี้แจงกลับไปว่ามันก็มีบอกอยู่ อยู่ตรงหัวกระดาษเลย (ตามรูปที่แนบมาให้ดู) เขาก็ยังเบี่ยงต่อไปว่าที่เขาไม่เห็นเพราะว่ามันไปพิมพ์อยู่ตรงนั้น มันไม่มาพิมพ์อยู่ตรงมุมนี้
 
เห็นแบบนี้เข้า อย่าว่าแต่ผมที่เป็นอาจารย์ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่กี่ปีเลย ขนาดหัวหน้าภาควิชาที่อาวุโสกว่าอาจารย์ผู้กล่าวหาผมก็ยังไปไม่ถูกเลย
 
จากนั้นเรื่องราวก็ชักไปกันใหญ่ เอาเป็นว่าโดยรวมแล้วผมกับหัวหน้าภาควิชานั่งฟังเขาด่าผมอยู่ฝ่ายเดียวกว่าชั่วโมง ด้วยสิ่งที่เขาพอจะจินตนาการได้ว่าผมเป็นคนไม่ดีอย่างไร ด่าถึงขนาดที่ว่าผมเป็นคนที่ "ไม่มีสามัญสำนึกของความเป็นอาจารย์ " ก่อนที่เขาจะจากไป
 
หลังเขาจากไปแล้ว หัวหน้าภาควิชาก็ถามผมว่า จะเอาเรื่องคืนไหม คือหมายความว่าผมจะร้องเรียนกลับไหมว่าถูกกลั่นแกล้งด้วยการใส่ร้ายด้วยเรื่องเท็จ เพราะหลักฐานและเรื่องราวต่าง ๆ หัวหน้าภาควิชาก็เห็นชัดหมดแล้ว ผมก็บอกกับหัวหน้าภาควิชากลับไปว่าไม่ เพราะอยากให้เรื่องนี้มันจบตรงนี้ "แต่ความเคารพที่เคยมีให้ในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์นั้น คงต้องสิ้นสุดลงตรงนี้ " และนี้ถือว่าเป็นการถอยให้เป็นครั้งสุดท้าย และนับเป็น "การตัดสินใจที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตการทำงาน" นับมาจนถึงปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ยังมีการไปกล่าวหาผมในที่ประชุมภาคต่ออีก ผมก็สวนกลับไปว่า "ตำแหน่งนี้ไม่ได้ยึดติดหรอก ที่เข้าไปทำเพราะไม่มีใครยอมเข้าไปทำ ถ้าใครคิดว่าสามารถทำได้ดีกว่าก็มารับทำแทนเลย เสนอตัวมาตอนนี้ได้เลย" ปรากฏว่าที่ประชุมเปลี่ยนเรื่องคุยแทบไม่ทัน
 
หลายปีถัดมา มีอาจารย์รุ่นพี่กลุ่มหนึ่งมาคุยกับผมว่า จะช่วยสมานรอยร้าวระหว่างผมกับอาจารย์ท่านนั้นให้เอาไหม ผมก็ตอบกลับไปว่า "ตอนนี้ชีวิตผมมันก็สุขสงบดีอยู่แล้วครับ"

เรื่องนี้มันก็กว่า ๒๐ ปีที่แล้ว เกิดก่อนเรื่องที่เล่าไปในครั้งที่แล้วอีก