วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รังนกปรอดบนปลายกิ่งมะเฟือง MO Memoir : Sunday 27 July 2557

พื้นที่บริเวณที่ผมอาศัยอยู่มันก็ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าพื้นที่ของหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ ต้นไม้ขนาดใหญ่ก็มีจำนวนน้อยกว่า แต่กลับมีสัตว์หลากหลายชนิดมากกว่า นั่นคงเป็นเพราะมีต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์มากกว่า
  
นกแถวบ้านผมไม่ต้องหากินโดยการเก็บเศษอาหารที่คนกินเหลือไว้ที่โรงอาหาร กระรอกกับกระแตก็ไม่ต้องรอผลไม้ที่มีคนใจดีมาแขวนไว้ตามต้นไม้เพื่อเป็นอาหารเหมือนดังเช่นที่ทำงานของผม มองจากหน้าต่างข้างโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่ผมนั่งทำงานที่บ้าน มันก็วิ่งไต่รั้วกลับไปกลับมาให้เห็นอยู่ทั้งวัน เดี๋ยวก็ไปกระโดดขึ้นต้นมะตูมบ้าง กระถินบ้าง ต้นไผ่บ้าง เวลามันนึกสนุกวิ่งไล่กันก็กระโจนข้ามไปมาระหว่างต้นประดู ต้นไผ่ และต้นมะพร้าว
  
ช่วงประมาณกลางเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้เดินทางไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์อีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ใช่ครั้งแรกและห่างจากครั้งสุดท้ายที่ผมได้ไปประเทศทั้งสองเกือบสิบปี แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยก็คือ แม้ว่าประเทศทั้งสองจะดูมีต้นไม้เยอะ แต่ลักษณะต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นไม้ปลูกใหม่ เพราะมันมีขนาดเล็กและมีการวางแนวการปลูกเป็นเส้นตรง แต่ที่สำคัญก็กลับไม่เห็นสัตว์จำพวกนกหรือกระรอกเลย นั่งรถผ่านภูเขาในมาเลเซียมองไม่เห็นนกบินไปมาตลอดการเดินทางเป็นชั่วโมง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในการปลูกต้นไม้ของเขานั้นเขาอาจเน้นไม้โตเร็ว หรือเลือกปลูกเฉพาะต้นไม้สายพันธุ์เดียวเพื่อที่ (คนส่วนใหญ่มักคิดเช่นนี้) จะได้ดูเป็นระเบียบสวยงาม
  
และการปลูกนั้นก็มักจะเน้นไม้ที่ให้ดอกสวยงาม (จะได้หากินกับการท่องเที่ยว) หรือไม่ก็ไม้โตเร็วที่คาดหวังจะใช้ประโยชน์จากลำต้น แต่ไม่ค่อยคำนึงถึงต้นไม้ที่สัตว์ใช้เป็นอาหารได้


รูปที่ ๑ นกปรอดคู่หนึ่งเริ่มทำรังบนปลายกิ่งมะเฟือง (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗) วัน-เวลา ที่ถ่ายรูปปรากฏอยู่ที่มุมของรูปทุกรูปอยู่แล้ว
  
"ปรับปรุงภูมิทัศน์" ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ใครต่อใครที่ได้เข้ามาบริหารหน่วยงานมักจะลงมือทำเป็นอย่างแรก การปรับปรุงนี้ไม่ใช่ว่าภูมิทัศน์ของเดิมมันไม่ดี แต่มักทำด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นสิ่งที่คนที่เดินผ่านไปมาภายนอกหน่วยงานมองเห็นว่าเขาได้มีการทำงาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (แม้ว่าคนเหล่านั้นเพียงแต่เดินผ่าน ไม่ได้มาติดต่อกับหน่วยงานนั้นเลย) และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ที่เห็นชอบทำกันก็คือ ตัดต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิม ปลูกต้นไม้ใหม่ โดยต้นไม้ที่นำมาปลูกใหม่มักเน้นไปที่ "ชื่อ" ต้นไม้ที่ตนเองคิดว่าปลูกแล้วจะช่วยเสริมบารมี ทำให้บริหารงานในหน่วยงานนั้นได้สบาย จะทำอะไรก็ได้ ตรงไหนเป็นสนามหญ้าก็ปูอิฐ ตรงไหนเป็นพื้นปูอิฐก็เทปูน จนผมคิดเล่น ๆ ว่าสงสัยผู้บริหารในยุคถัดไปคงต้อง "ปูพรม" ให้คนเดินกันในมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะพื้นที่ที่เป็นดินหรือสนามหญ้าที่จะเหลือให้ปูอิฐและเทปูนคงไม่เหลือแล้ว
  
แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นเป็นประจำที่ผู้บริหารมักจะไม่ใส่ใจ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ทำงานในหน่วยงานเหล่านั้นก็คือ "ห้องน้ำ" ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สถานที่ราชการกับบริษัทเอกชนมองตรงข้ามกัน ในขณะที่สถานที่ราชการจะเน้นไปที่ภาพลักษณ์ปรากฏข้างนอกเป็นหลัก แต่สภาพในห้องน้ำเองกลับไม่ได้เรื่อง แต่ในส่วนของบริษัทเอกชนที่ได้แวะไปหลายแห่งกลับพบว่า แม้ว่าการจัดสวนด้านนอกอาคารจะดูไม่เลิศเลอเหมือนกับสถานที่ราชการ แต่การดูแลห้องน้ำของเขานั้นไม่ว่าจะเป็นด้านความสะอาด หรืออุปกรณ์ที่ใช้การได้นั้น เหนือกว่าสถานที่ราชการมาก
  
สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการปลูกต้นไม้ในบ้านตัวเองและจากสวนที่อยู่รอบ ๆ บ้านก็คือ ความหลากหลายของสายพันธุ์พืชนั้นส่งผลต่อสัตว์ที่จะมาใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนั้น การมีไม้ดอกที่ออกดอกตลอดทั้งปีหรือออกดอกสลับกันแต่มีดอกออกทั้งปี จะเป็นอาหารให้กับแมลงหรือนกที่กินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เหล่านั้น และแมลงเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอาหารให้กับนกที่กินแมลงอีกทีหนึ่ง พืชบางชนิดก็มีใบที่ผีเสื้อชอบมาวางไข่และเพราะมันใช้เป็นอาหารของหนอนผีเสื้อได้ ไม้ผลขนาดเล็ก (เช่นลูกตะขบ ลูกไทร) ก็เป็นอาหารของนกขนาดเล็ก แต่ดูเหมือนถ้าเป็นพวกกระรอก กระแต มันจะนิยมผลไม้ที่ลูกใหญ่กว่า เช่น มะม่วง มะละกอ และกล้วย (ที่บ้านโดนมันมาแย่งกินเป็นประจำ) หรือไม่ก็ขโมยไข่นกกิน และเวลากลางคืนก็ต้องพยายามทำให้บริเวณรอบบ้านตรงส่วนที่ไม่จำเป็นนั้นให้มีความมืดให้มากที่สุด จะได้ไม่รบกวนหิ่งห้อยที่ออกมาบินเล่นตอนหัวค่ำ
  
รูปที่ ๒ รังนกขณะที่เริ่มสร้างรัง (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗)

รูปที่ ๓ ตำแหน่งที่ตั้งของรังนกอยู่ในกรอบสีเหลืองในรูป (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗)


รูปที่ ๔ เจ้าของรังขณะที่กำลังสร้างรัง (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗)

รูปที่ ๕ เพียงแค่สองวันถัดมา นกคู่นี้ก็สร้างรังเสร็จแล้ว ที่นี้ก็เหลือเพียงแค่การวางไข่ รูปนี้เป็นรูปด้านบนของรังที่สร้างเสร็จแล้ว (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอังคารที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗)


รูปที่ ๖ รูปด้านล่างของรังที่สร้างเสร็จแล้ว จะเห็นว่านกไม่ได้เก็บเพียงแค่กิ่งไม้เล็ก ๆ (อันที่จริงคือก้านของใบไม้) มาทำรัง มันเจออะไรที่เป็นเส้นเล็ก ๆ ที่มันคาบได้มันก็คาบเอามาหมด เส้นสีฟ้า ๆ ในรูปคือเชือกพลาสติกที่มันเอาทำทำรังด้วย (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันอังคารที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗)



รูปที่ ๗ สร้างรังเสร็จก็มาวางไข่ วันนี้เห็นเพียงแค่ฟองเดียว แต่ไม่กี่วันถัดมามาแอบดูตอนแม่นกไม่อยู่ ก็พบว่ามันมีการวางไข่เพิ่มอีกเป็นสองฟอง (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗)

ที่บ้านมีมะเฟืองอยู่สองต้น ออกผลเป็นประจำ แต่ก็ไม่มีใครกินมะเฟือง ก็เลยปล่อยให้มันสุกและร่วงหล่นลงสู่พื้น วันดีคืนดีก็เห็นมีนกแก้วมาเก็บกินดังที่เคยถ่ายภาพและวิดิโอมาให้ดูก่อนหน้านี้ (Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๘๗ วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ เรื่อง "นกแก้วกินมะเฟือง") มะเฟืองนี่ดีอยู่อย่างก็คือมันมีใบเขียวทั้งปี และใบมันก็เล็ก ใบร่วงหล่นลงมาก็เอาไปกองใส่โคนต้นไม้อื่นให้มันเป็นปุ๋ยได้ง่าย ไม่เหมือนใบใหญ่ ๆ เช่นมะม่วงหรือการเวก
  
เมื่อปลายเดือนที่แล้วมีนกปรอดคู่หนึ่งแวะเวียนมาทำรังอยู่ที่ปลายกิ่งต้นมะเฟือง ต้นเดียวกับที่มีนกแก้วมาเก็บมะเฟืองกิน ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ก็เห็นมันมาทำรังอยู่บนต้นมะตูมแขกหลังบ้าน แต่ไม่รู้ตัวอะไรมาแอบขโมยไข่กินไปก่อน แม่นกก็เลยต้องทิ้งรังไป คราวนี้ก็เลยต้องเฝ้าดูหน่อยว่าจะมีตัวอะไรมาขโมยกินไข่อีกหรือเปล่า กิ่งมะเฟืองที่มันเลือกทำรังนั้นก็ไม่ใช่กิ่งใหญ่อะไร ไม่ได้อยู่สูงจากพื้นมากนัก เวลาลมพัดแรงก็แกว่งไปมา แต่รังนกก็ยังคงอยู่ได้
  
รูปที่ถ่ายมาก็คัดมาบางรูป เป็นรูปตั้งแต่วันที่เห็นนกคู่นี้มาสร้างรัง จนกระทั่งออกไข่ ตอนแรกก็ออกมาฟองเดียวก่อน จากนั้นก็ออกเพิ่มอีกเป็นสองฟอง แม่นกก็จะมานั่งกกไข่อยู่เกือบตลอดเวลา เว้นแต่เวลาที่บินออกไปหาอาหาร ส่วนตัวผู้นั้นก็เห็นแวะเวียนมาหาบ้างเหมือนกัน เวลาจะเข้าไปถ่ายรูปก็ต้องหาจังหวะเวลาที่แม่นกไม่อยู่ที่รัง เอาบันไดพับมากางแล้วปีนขึ้นไปถ่ายรูป พยายามจะไม่ไปยุ่งกับกิ่งที่มันทำรังอยู่ แต่บังเอิญช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาต้องไปต่างประเทศซะหลายวัน ไม่ได้กลับมาดูเพียงแค่ ๕-๖ วันก็ปรากฏว่าหายไปทั้งรังแล้ว หวังว่าช่วงเวลาดังกล่าวไข่คงฟักออกเป็นตัวและลูกนกก็คงจะโตพอที่จะบินออกไปหากินเองได้แล้ว
  
ในเวลาเดียวกันที่อีกมุมหนึ่งของบ้าน ตรงหน้าต่างห้องนอนลูกสาวคนเล็กบนชั้นสอง หน้าต่างมุมนี้เป็นบานเลื่อนที่ไม่ค่อยได้เปิดเท่าใดนัก และมีผ้าม่านบังอยู่อีก ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาก็ไปพบรังนกอีกรังพร้อมไข่อีกฟองหนึ่งอยู่ที่ขอบหน้าต่าง (ดูรูปที่ ๑๐) แต่พออ้อมไปดูอีกมุมหนึ่งก็เห็นว่าไข่ฟองดังกล่าวถูกเจาะเป็นรูเรียบร้อยแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวอะไรมาเจาะกิน แต่ที่รู้สึกสงสัยก็คือนกอะไรมาทำรังในที่แบบนี้ ไม่มีการหลบซ่อนสายตาจากสัตว์อื่นเลย และตัวอะไรที่มาเจาะกินไข่นกฟองดังกล่าว

รูปที่ ๘ หลังออกไข่แล้ว แม่นกก็มานั่งเฝ้ารังกกไข่ (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗)


รูปที่ ๙ ท้ายสุดพบว่าออกไข่ไว้ ๒ ฟอง แสดงว่าแม่นกไม่ได้ออกไข่ทีเดียว ๒ ฟอง แต่ออกทีละครั้ง ครั้งละ ๑ ฟอง เสียดายที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เลยไม่ได้อยู่เฝ้าดูเพียงแค่ ๕-๖ วัน ทั้งแม่นกและไข่นกก็หายไปหมดแล้ว ไม่รู้ว่าฟักออกเป็นตัวหรือโดนขโมยไปกิน เพราะบริเวณรอบข้างและในรังเองก็ไม่เห็นมีเปลือกไข่ตกอยู่ (รูปนี้ถ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗)


รูปที่ ๑๐ อันนี้เป็นรังนกอีกรังหนึ่ง มาพบทีหลัง มาทำรังอยู่ริมขอบหน้าต่างห้องนอนลูกสาวคนเล็ก ปรกติหน้าต่างบานนี้ก็ไม่ค่อยได้เปิด และมีผ้าม่านบังอยู่อีก ก็เลยไม่รู้ว่ามีนกอะไรมาทำรังเอาไว้เมื่อใด แต่พอดูให้ดีก็พบว่าไข่ถูกเจาะกินเรียบร้อยไปแล้ว รูที่เจาะอยู่อีกด้านหนึ่ง ชำเลืองดูจะมองเห็นแต่ถ่ายรูปไม่ได้ ในรูปจะเห็นคราบเหลือง ๆ (ตรงลูกศรสีเหลืองชี้) ที่คิดว่าเกิดจากการที่มีสัตว์บางชนิดมาเจาะไข่นกกิน (ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗)

คลิปที่แนบมาเป็นคลิปที่ถ่ายไว้ในวันที่เห็นนกคู่นี้มาทำรัง (วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗) เนื่องจากนกเลือกมุมทำรังที่ค่อนข้างจะหลบซ่อนสายตาสักหน่อย ก็เลยเห็นรังมันไม่ค่อยชัด

 
ระหว่างที่นั่งพิมพ์ Memoir ฉบับนี้ก็ได้ยินเสียงนกร้องอยู่รอบ ๆ บ้าน ฟังจากเสียงก็บอกได้ว่าคงไม่ต่ำกว่า ๔-๕ ชนิด เดี๋ยวพอหัวค่ำก็คงมีตุ๊กแกออกมาร้องอีก ช่วงนี้มีอยู่ตัวหนึ่งมันหากินอยู่รอบ ๆ ตัวบ้านข้างนอก พอกลางวันมันก็หลบไปซุกอยู่ตรงซอกระหว่างชายคากับตัวบ้าน พอตกค่ำมันก็ออกมาซ่อนอยู่หลังประตู เวลาดี ๆ มันก็ส่งเสียงร้องออกมาทีหนึ่ง นี่ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าอีกสองสัปดาห์จะมีนักเรียนแลกเปลี่ยนมาค้างที่บ้านหนึ่งคืน ไม่รู้ว่าเขาจะกลัวตุ๊กแกหรือเปล่า เพราะห้องที่คิดว่าจะจัดให้เขาพักนั้นมันอยู่ตรงมุมที่ตุ๊กแกชอบมาอยู่ซะด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การป้องกันอุปกรณ์วัดจากความร้อนของของไหล MO Memoir : Thursday 24 July 2557

เคยมีอาจารย์ผู้หนึ่งมาปรึกษาเรื่องการประหยัดพลังงานในโรงงานว่า นอกจากจะแนะทำให้ทางโรงงานทำการปรับปรุงระบบฉนวนหุ้มท่อไอน้ำและวาล์วแล้ว และเนื่องจากโรงงานที่เขาไปดูแลนั้นมีบางหน่วยผลิตที่มีการทำงานเฉพาะช่วงเวลาเช้าถึงค่ำ ตอนกลางคือไม่มีการทำงาน ดังนั้นเขาจะเสนอให้ทางโรงงานประหยัดพลังงานด้วยการปิดระบบท่อไอน้ำของหน่วยผลิตนั้นดีไหม
  
ผมก็ให้ความเห็นของผมไปว่าการปิดไอน้ำช่วงเวลากลางคืนมันก็ลดการใช้พลังงานในช่วงเวลากลางคืน แต่การเปิดใช้ระบบท่อไอน้ำนั้นมันใช้เวลา เพราะต้องค่อย ๆ อุ่นระบบท่อให้ร้อนขึ้น ไม่ใช่อยากเปิดก็เปิดวาล์วใช้ได้เลยอย่างระบบไฟฟ้าหรือน้ำประปา และช่วงเวลาที่ต้องอุ่นระบบขึ้นมานี้เป็นช่วงเวลาที่มีการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นไอน้ำที่ควบแน่นกลายเป็นของเหลว หรือเวลาที่ต้องรอกว่าจะเดินเครื่องได้ ดังนั้นเขาควรนำประเด็นนี้ไปพิจารณาด้วยว่า ระหว่างการยอมสูญเสียไอน้ำในปริมาณน้อยตลอดทั้งคืน แต่เมื่อเริ่มงานตอนเช้าระบบก็พร้อมใช้งานได้ทันที กับการประหยัดการสูญเสียในเวลากลางคืน แต่ต้องมาจ่ายมากขึ้นแทนตอนเช้า แบบไหนที่ประหยัดพลังงานมากกว่ากัน
  
รูปที่ ๑ ระบบท่อไอน้ำที่มีเกจวัดความดันทั้งด้านขาเข้าและขาออก

แต่ก็มีบางตำแหน่งเหมือนกันที่เราจงใจให้มีการรั่วไหลของความร้อน หนึ่งในตำแหน่งนั้นก็คือท่อที่ทำการเชื่อมต่อระหว่างท่อของ process กับอุปกรณ์วัด
  
ปรกติในโรงงานมีอุปกรณ์วัดอยู่หลายแบบอยู่แล้ว แต่ที่เห็นได้ทั่วไปเห็นจะได้แก่อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ อุปกรณ์วัดความดัน อุปกรณ์วัดระดับ กับวัดอัตราการไหล แต่การวัดระดับและวัดอัตราการไหลนั้นบ่อยครั้งที่ใช้การวัดความแตกต่างของ "ความดัน" ที่สองตำแหน่ง แล้วค่อยแปลงค่าความแตกต่างนั้นเป็น "ระดับ" หรือ "อัตราการไหล" เช่นการวัดระดับนั้นก็จะวัดความดันในถังส่วนที่อยู่เหนือของเหลว และความดันที่ก้นถัง จากนั้นก็ใช้ค่าความดันที่วัดได้กับความหนาแน่นของของเหลวที่ทำการวัดนั้นมาแปลงเป็นค่าระดับความสูง ส่วนการวัดอัตราการไหลก็ใช้การวัดค่าความดันลดเมื่อของไหลไหลผ่านอุปกรณ์วัด (เช่นแผ่นออริฟิสหรือท่อเวนจูรี) และจึงแปลงค่าความดันที่ลดลงนั้นเป็นอัตราการไหลอีกที

และเจ้าตัวอุปกรณ์วัดความดันนี้แหละ ที่มักจะไม่ค่อยทนต่ออุณหภูมิสูง

รูปที่ ๒ ภาพขยายให้เห็นท่อ syphon สำหรับติดตั้งเกจวัดความดันของระบบท่อในรูปที่ ๑

รูปที่ ๑ เป็นระบบท่อไอน้ำที่มีการใช้วาล์วควบคุมอัตราการไหลควบคุมการจ่ายไอน้ำ ระบบท่อดังกล่าวมีการติดตั้งเกจวัดความดันไว้ทั้งทางด้านขาเข้าและขาออกของวาล์ว เกจวัดความดันในรูปนั้นทำงานด้วยระบบกลไก (จะยกเว้นมีอยู่ตัวหนึ่งที่อยู่ทางด้านซ้ายของรูปที่ ๒ (บน) ที่มีการแปลงสัญญาณความดันเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งต่อไปยังห้องควบคุม) อุปกรณ์พวกนี้มันรับความดันได้ แต่มันทนอุณหภูมิสูงไม่ได้ ดังนั้นเวลาที่จะวัดความดันในท่อเขาจึงต้องใช้ท่อเชื่อมต่อที่ไม่มีการหุ้มฉนวน เพื่อให้ของไหลในระบบท่อที่ต้องการวัดความดันนั้นมีอุณหภูมิลดต่ำลง (ด้วยการสูญเสียความร้อนสู่บรรยากาศรอบ ๆ) ท่อยิ่งยาวก็ยิ่งมีพื้นที่ผิวในการถ่ายเทความร้อนมากขึ้น แต่มันจะเกะกะ เขาก็เลยขดให้มันงอซะ ซึ่งอาจะขดเป็นวงแบบในรูปหรือขดเป็นรูปตัว U หรือรูปร่างอื่นก็ได้ ท่อนี้เขาเรียกว่า "Syphon tube" หรือในกรณีแบบที่ขดเป็นวง (แบบในรูปที่ ๒) บางทีเขาก็เรียกว่าเป็น "Pigtail type syphon tube"
  
สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือต้องไม่ให้ของไหลที่อยู่ในส่วน syphon tube นั้นกลายเป็นของแข็งอุดตัน syphon tube การเกิดของแข็งอุดตันอาจเกิดได้ถ้าหากของไหลในท่อมีอุณหภูมิต่ำเกินไป เช่นในกรณีของท่อไอน้ำ ไอน้ำร้อนในท่อมีสิทธิที่จะควบแน่นเป็นของเหลวค้างอยู่ใน syphon tube นี้ และถ้าอุณหภูมิข้างนอกไม่เย็นจัดจนทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็งได้ การวัดความดันก็จะไม่มีปัญหาใด ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดในบ้านเรา แต่ในประเทศที่เป็นเมืองหนาวอาจเกิดขึ้นได้ หรือในกรณีของของเหลวที่เมื่อเย็นตัวลงอาจมีการแยกเฟสเป็นของแข็ง (เช่นน้ำมันที่มี wax ละลายอยู่ หรือสารละลายที่มีพอลิเมอร์ละลายปนอยู่) ของแข็งที่แยกออกมาก็อาจอุดตัน syphon tube นี้ได้ และเมื่อเกิดการอุดตันเมื่อใด ตัวเกจวัดความดันจะไม่สามารถแสดงความดันที่แท้จริงในระบบท่อได้
 
พึงสังเกตด้วยนะว่าจะมีการติดตั้งวาล์วเอาไว้ตัวหนึ่งก่อนต่ออุปกรณ์วัด ทั้งนี้เผื่อต้องมีการถอดเปลี่ยนหรือถอดเอาอุปกรณ์วัดไปซ่อม จะได้ทำการถอดได้โดยไม่ต้องปิดระบบ แต่ตัวที่อยู่ในรูปที่ ๓ ข้างล่างไม่ยักมีการติดตั้งวาล์ว อาจเป็นเพราะว่าเป็นการทำงานแบบ batch ไม่ใช่ระบบต่อเนื่องเหมือนในรูปที่ ๒
 
ที่เอาเรื่องนี้มาเล่าก็เพื่อต้องการให้อย่าเผลอไปคิดว่าจะช่วยโรงงานประหยัดพลังงานด้วยการหุ้มฉนวน syphon tube นี้ หรือแม้แต่เดินอยู่ในโรงงานก็อย่าเผลอไปโดนท่อเข้าโดยนึกว่ามันไม่ร้อน ทางด้านเกจวัดความดันมันไม่ค่อยร้อนหรอก แต่ด้านที่ต่อออกมาจากท่อหลักมันก็มีอุณหภูมิตามของไหลที่ไหลอยู่ในท่อนั้น
รูปที่ ๓ รูปนี้เป็นเกจวัดความดันของหม้ออบไม้ พึงสังเกตว่าเกจวัดความดันมีการบรรจุของเหลว (ตรงลูกศรชี้) เพื่อหน่วงการสั่นของเข็ม และ syphon tube ที่เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ส่งสัญญาณจะมีขดมากกว่าเพื่อลดอุณหภูมิให้ต่ำลงไปอีก

วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ท่อปลายตัน (Dead end pipe) MO Memoir : Wednesday 23 July 2557

เมื่อวานมีรุ่นน้องใจดีที่เคยทำงานร่วมกัน แต่ลาออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว เปิดโอกาสให้เข้าเยี่ยมชมโรงงานของเขาพร้อมทั้งอนุญาตให้ถ่ายรูปได้โดยสะดวก เพื่ออยากให้นำความรู้ที่ได้มาเผยแพร่แก่นิสิตที่เรียนอยู่ และคาดว่าอีกไม่นานเราก็จะเชิญเขามาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของเขา เตรียมเคลียร์เวลาว่างและจองที่นั่งล่วงหน้าได้เลย โดยเฉพาะคนที่อยากรู้ว่าวิศวกรเคมีมือเปื้อนที่ผ่านการทำงานมาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเดินสำรวจตลาด สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า สร้างความเชื่อถือให้กับพนักงาน ออกแบบอุปกรณ์โรงงาน วางโครงการสร้างโรงงาน ฯลฯ นั้นเขาประสบอะไรมาบ้าง งานนี้รับรองได้ว่าสนุกแน่ ๆ
  
โรงงานที่เขาเปิดให้ผมเข้าไปดูนั้นเป็นโรงงานที่สร้างมาหลายปีแล้ว ประสบกับปัญหาการดำเนินการ ทางเขาและเพื่อนร่วมงานเพิ่งจะเข้าไปดูแลกิจการได้ประมาณ ๑ ปีเท่านั้นเอง ดังนั้นระบบอุปกรณ์หลักต่าง ๆ จึงเป็นระบบที่มีอยู่เดิมตั้งแต่สร้างโรงงานและยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

เรื่องแรกที่ขอยกมาเล่าคือเรื่อง "ท่อปลายตัน" หรือ "Dead end pipe"
  
ท่อปลายตันเป็นส่วนของท่อที่ของไหล (แก๊สหรือของเหลว) ไม่สามารถไหลไปไหนได้ ท่อปลายตันนี้อาจเกิดขึ้นจากความจงใจในการออกแบบ หรือเกิดขึ้นจากตำแหน่งของวาล์ว (ปิด-เปิด) ในระหว่างกระบวนการผลิต รูปที่ ๑ ข้างล่างเป็นตัวอย่างหนึ่งของท่อปลายตันที่เกิดขึ้นจากความจงใจในการออกแบบคือ pipe manifold หรือ pipe header

รูปที่ ๑ (บน) ระบบ pipe manifold หรือ pipe header (ล่าง) pipe header ของระบบไอน้ำของโรงงานแห่งหนึ่ง
  
ในโรงงานนั้นเป็นเรื่องปรกติที่จะมีระบบท่อ (piping system) ที่เรียกว่าเป็น header หรือ manifolf เพื่อไว้กระจายสาธารณูปโภค (เช่น น้ำ ไอน้ำ อากาศความดัน ฯลฯ) ไปยังส่วนต่าง ๆ ของโรงงาน การเดินท่อ header นี้จะมีการเดินท่อหลักเป็นท่อใหญ่ที่ปิดปลายข้างหนึ่งเอาไว้ (เส้นสีน้ำเงินในรูปที่ ๑ (บน)) โดยการปิดปลายมักจะปิดด้วยหน้าแปลนหรือ pipe fitting ชนิดถอดออกได้ เพื่อไว้ทำความสะอาดหรือขยายเพิ่มเติมได้ จากนั้นก็จะต่อท่อเล็ก ๆ ย่อยออกไปทางด้านข้าง (เส้นสีส้มในรูปที่ ๑ (บน)) เพื่อจ่ายสาธารณูปโภคไปยังบริเวณต่าง ๆ ของโรงงานที่อยู่ใกล้เคียงกับ header ตัวนั้น
  
ระบบท่อบางระบบที่มีการเผื่อการขยายเพิ่มเติมในอนาคตก็อาจมีการเกิดส่วนที่เป็นท่อปลายตันตรงเส้นท่อด้านที่ปิดตายเอาไว้เผื่อการขยาย

อีกรูปแบบหนึ่งของการเกิดท่อปลายตันที่เกิดจากการทำงานคือการปิดวาล์ว ตัวอย่างเช่น drain valve ที่เป็นวาล์วสำหรับระบายของเหลว (หรือในบางกรณีจะเป็นความดันตกค้าง) ออกจากระบบท่อ เป็นเรื่องปรกติที่ระบบท่อในโรงงานจะมีการติดตั้ง drain valve เพราะเมื่อประกอบท่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต้องมีการทดสอบความสามารถในการรับความดัน และวิธีการทดสอบที่นิยมใช้กันคือการทำ hydraulic test ที่ทำโดยการเติมน้ำเข้าไปให้เต็มระบบท่อ จากนั้นจึงอัดความดันให้สูงถึงความดันที่ต้องการทดสอบ ถ้าท่อนั้นรับความดันดังกล่าวได้โดยไม่มีการรั่วไหลก็ถือว่าผ่านการทดสอบ จากนั้นก็จะทำการระบายน้ำที่เติมเข้าไปในระบบท่อทิ้ง ซึ่งก็ต้องระบายออกทาง drain valve ที่ติดตั้งเอาไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะเพียงอย่างเดียว (คือไม่มีการใช้งานในระหว่างการทำงานตามปรกติ) เรื่องเกี่ยวกับการติดตั้ง drain valve นี้เคยเล่าเอาไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๙๒ วันจันทร์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "Drainอยู่ล่างVentอยู่บน"
  
drain valve อีกแบบหนึ่งที่มีการใช้งานบ่อยครั้งกว่าคือ drain valve ที่ติดตั้งเพื่อระบายของเหลวและ/หรือความดันตกค้างออกจากระบบท่อก่อนทำการถอดอุปกรณ์ ตัวอย่างของอุปกรณ์ที่มักมีการถอดซ่อมแซม/ตรวจสอบเป็นประจำคือวาล์วควบคุมอัตราการไหลหรือที่เราเรียกว่า control valve รูปที่ ๒ ข้างล่างเป็นตัวอย่างหนึ่งของระบบท่อของวาล์วควบคุมอัตราการไหล โดยมีส่วนที่เป็นท่อปลายตันเกิดขึ้นจากการปิด drain valve
  
เรื่องระบบ piping สำหรับวาล์วควบคุมอัตราการไหลหรือ control valve เคยกล่าวเอาไว้ใน Memoir ก่อนหน้านี้สองฉบับคือ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๖๖ วันอังคารที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "ฝึกงานภาคฤดูร้อน๒๕๕๓ ตอนที่ ๑๐ สรุปคำถาม" และ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๖๗ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "การปิดcontrolvalve"
  
drain valve ด้านขาออกของวาล์วควบคุมการไหลนี้อาจไม่จำเป็นถ้าหากสารในระบบท่อนั้นเป็นของเหลวและไม่เป็นสารอันตราย (เช่นน้ำ) หรือเป็นท่อขนาดเล็ก ทั้งนี้เพราะถ้าปริมาตรของท่อระหว่างวาล์วควบคุมการไหล (1) และ block valve (2) นั้นมีค่าน้อย ทันทีที่คลายข้อต่อออกให้ของเหลวรั่วออกมาความดันก็จะลดต่ำลงทันทีโดยไม่มีการฉีดพ่นของเหลว

รูปที่ ๒ ตัวอย่างระบบท่อรอบวาล์วควบคุมอัตราการไหล (นำมาจาก Memoir ฉบับที่ ๑๖๗) ในกรณีนี้ในระหว่างการทำงานปรกติ (5) drain valve จะถูกปิดเอาไว้ ทำให้ตรงบริเวณนี้มีลักษณะเป็นท่อปลายตัน
  
ที่วันนี้ยกเอาเรื่องท่อปลายตันขึ้นมาก็เพราะถ้าหากไม่ระมัดระวัง มันอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ ทั้งในรูปแบบที่เกิดขึ้นทันทีทันใด และแบบรอเวลาที่จะเกิด
  
ท่อปลายตันที่แนวทางตันนั้นอยู่ในแนวเดียวกับเส้นทางการไหลหลักนั้น (เช่นในรูปที่ ๑) อาจเกิดความเสียหายจากการกระแทกของของไหล (ปรกติก็มักเป็นของเหลว) ที่ไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วกระทันหันได้ เช่นในกรณีของท่อไอน้ำเมื่อเริ่มเปิดระบบไอน้ำจากระบบท่อที่เย็น ไอน้ำที่ควบแน่นจะกลายเป็นของเหลวไหลปนไปกับไอน้ำในระบบท่อด้วยแรงดันของไอน้ำ พอมาถึงทางแยกออกด้านข้าง ส่วนที่เป็นไอน้ำจะไหลออกไปทางด้านข้างได้ แต่ส่วนที่เป็นของเหลวจะไม่เลี้ยวออกด้านข้างตาม แต่จะพุ่งตรงไปข้างหน้า พอถึงส่วนที่เป็นข้องอหรือท่อปลายตัน ก็จะกระแทกกับกับข้อต่อท่อบริเวณนั้นอย่างแรง เกิดเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า "Water hammer" หรือ "ค้อนน้ำ" รู้ได้จากการที่มีเสียงดังเกิดขึ้น และถ้าการกระแทกนั้นรุนแรงหรือเกิดขึ้นเป็นประจำก็จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ระบบท่อได้ ถ้าอยากรู้ว่าค้อนน้ำเสียงมันดังอย่างไรก็ให้เอาค้อนไปทุบท่อประปาที่เป็นเหล็กดู เสียงมันดังแบบเดียวกัน

นอกจากนี้ตรงตำแหน่งที่เป็นท่อปลายตันนั้นอาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดการสะสมของสิ่งที่ไม่ควรจะสะสมในระบบท่อ เพราะสิ่งที่สะสมนั้นอาจทำให้ท่อเกิดการผุกร่อนจนทะลุได้ สิ่งที่สะสมนั้นอาจเป็นของแข็งที่แก๊ส/ของเหลวในท่อพัดพามา (เช่นท่อน้ำดิบ อาจพัดพาตะกอนมา) หรือเป็นของเหลวที่ปนมากับแก๊ส (เช่นน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอนน้ำ และไหลร่วมมากับไอน้ำ) หรือเฟสของเหลวที่ไม่ผสมเป็นเนื้อเดียวกัน (เช่นน้ำที่ปนมากับน้ำมัน)
  
รูปที่ ๓ ข้างล่างเป็นระบบท่อของวาล์วควบคุมการไหลของท่อไอน้ำ ในระบบนี้เขาวางแนวการไหลผ่านวาล์วควบคุมนั้นให้เป็นเส้นตรง ส่วนเส้นทาง by-pass นั้นเขาวางอ้อมลงมาทางด้านล่างของวาล์วควบคุม

รูปที่ ๓ ระบบท่อรอบวาล์วควบคุมการไหลของไอน้ำของโรงงานแห่งหนึ่ง ระบบท่อนี้วางท่อ by-pass ไว้ด้านล่าง ทำให้ไอน้ำที่ควบแน่น (steam condensate) สะสมในส่วนของท่อ by-pass ได้ และไม่มีการติดตั้ง drain valve สำหรับระบายของเหลวหรือแก๊สที่ติดค้างอยู่ในระบบก่อนทำการถอดวาล์วควบคุมการไหลออกด้วย ส่วนที่เขาวางวาล์วควบคุมคว่ำหัวลงก็เพราะไม่ต้องการให้มันยื่นขึ้นไปเกะกะทางด้านบน พึงสังเกตว่า block valve เขาจะวางหันออกข้างเพื่อให้ยืนหมุนได้ง่าย ส่วนวาวล์ by-pass ที่อยู่ต่ำกว่านั้นจะวางตั้งขึ้นบนก็เพื่อให้ยืนหมุนได้ง่ายเช่นกัน
  
การควบแน่นของไอน้ำในระบบท่อไอน้ำเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงในการออกแบบท่อ ดังนั้นการวางท่อไอน้ำ (โดยเฉพาะไออิ่มตัวหรือ saturated steam) จึงต้องคำนึงถึงการระบายน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำ (ชื่อเต็มก็คือ steam condensate แต่ถ้าคุยกันเรื่องไอน้ำอยู่เขามักเรียกว่า condensate เฉย ๆ) ออกจากระบบท่อไอน้ำด้วยการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า "Steam trap" ตัว steam trap นี้จะระบายน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำออกมาโดยปิดกั้นไม่ให้ไอน้ำรั่วไหลออกมา ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าพบว่าการวางท่อไอน้ำในแนวราบนั้นจะวางให้ท่อมีการลาดเอียงเพื่อให้น้ำที่เกิดจากการควบแน่นนั้นไหลลงตามแรงโน้มถ่วงไปยังท่อ drain ที่มี steam trap ติดตั้งอยู่
  
น้ำที่เกิดจากไอน้ำที่ควบแน่นในระบบท่อไอน้ำ ถ้าหากไปสะสมอยู่ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของท่อเป็นเวลานาน และถ้าน้ำที่ใช้ในการผลิตไอน้ำนั้นมีแร่ธาตุปะปนอยู่และแร่ธาตุเหล่านี้หลุดติดมากับไอน้ำ (มากับหยดของเหลวที่ถูกพัดพามากับไอน้ำที่เดือดขึ้นมาจากน้ำ) ปะปนมาด้วย มีโอกาสที่แร่ธาตุที่ปะปนมานั้นเกิดการสะสมจนมีความเข้มข้นสูงขึ้นจนอาจกัดท่อให้ทะลุได้


รูปที่ ๔ ระบบท่อของวาล์วควบคุมการไหลอีกตัวหนึ่งที่วางท่อ by-pass ไว้ทางด้านบน การวางรูปแบบนี้ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการสะสมของสิ่งปนเปื้อนในส่วนท่อ by-pass แต่ระบบนี้ก็ไม่มีการติดตั้ง drain valve ทางด้านขาออกของวาล์วควบคุม ทั้ง block valve และวาล์ว by-pass ของระบบนี้เป็นวาล์วปีกผีเสื้อ (butterfly valve) ทั้งหมด

สนิมเหล็กก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจสะสมได้ตรงบริเวณท่อปลายตัน ท่อเหล็กกล้านั้นมักจะมีสนิม (เหล็กออกไซด์) อยู่บนผิวเหล็กทั้งทางด้านนอกและด้านใน การกำจัดสนิมออกจากผิวด้านในของท่อทำได้ด้วยการผ่านไอน้ำเข้าไปในท่อดังกล่าว ความร้อนของไอน้ำจะทำให้ทั้งท่อเหล็กและสนิมเกิดการขยายตัว แต่เนื่องจากตัวท่อเหล็กและสนิมขยายตัวด้วยอัตราที่แตกต่างกันจึงทำให้สนิมเหล็กนั้นหลุดร่อนออกจากผิวด้านในของท่อ สนิมเหล็กที่หลุดร่อนออกมานี้ต้องถูกชะล้างออกจากระบบท่อก่อนที่จะผ่านสารอื่น (ที่ท่อนั้นต้องทำหน้าที่ลำเลียงสารนั้น) เข้าไปในท่อดังกล่าว และถ้าระบบท่อนั้นมีส่วนที่เป็นท่อปลายตัน สนิมเหล็กที่หลุดออกมาก็จะไปสะสมอยู่ ณ บริเวณดังกล่าวได้
  
จากประสบการณ์ของตนเองที่ผ่านมาพบว่าคนที่ทำงานไม่เป็นหรือไม่เคยสัมผัสกับการทำงานจริง แต่เก่งในการนำเสนอผลงานที่อาจไม่มีอะไรเลยหรือนำเอาผลงานของคนอื่นมาแสดง โดยสามารถทำให้เจ้านายชื่นชมได้ก็มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงานได้ แต่นั่นหมายความว่าต้องเจอกับเจ้านายที่ชอบลูกน้องแบบ "ขุนพลพลอยพยัก" (ซึ่งหาไม่ยากซะด้วย) แต่ก็ยังไม่พบว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมการทำงานดังกล่าวจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานเท่าใดนัก
  
งานวิศวกรเป็นงานที่ต้องพบปะกับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงกว่า (ผู้บังคับบัญชา) และที่ต่ำกว่า (ผู้ใต้บังคับบัญชา) สิ่งที่เห็นว่ามีปัญหาเป็นประจำคือทำอย่างไรจึงจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ใต้บังคับบัญชา ที่อาจมีทั้งอายุที่มากกว่าและประสบการณ์การทำงานที่นานกว่า และมีพื้นเพทางสังคมที่แตกต่างกัน การทำตัวอย่างไรให้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ใต้บังคับบัญชานั้นผมไม่เคยเห็นว่ามันมีสูตรสำเร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ต้องมีก่อนก็คือความเข้าใจในเรื่องความเชื่อของผู้ใต้บังคับบัญชา บางรายนั้นจะใช้วิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไป ใช้การเรียนรู้ การฝึกอบรม และการแสดงให้เห็น เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชานั้นเปลี่ยนความเชื่อด้วยตัวเขาเองโดยไม่ให้เขารู้สึกว่าที่ผ่านมานั้นเขาเชื่อในสิ่งที่ผิด
  
แต่สำหรับบางเรื่องที่แม้ว่าผู้บังคับบัญชาจะไม่เชื่อถือ แต่ถ้าเห็นว่าความเชื่อดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การทำงาน แต่สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ การให้การสนับสนุน (จะโดยตรงหรือโดยอ้อม) หรือเพียงแค่ไม่เข้าไปกีดขวางหรือให้ความคุ้มครอง ก็สามารถทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความรู้สึกในทางบวกต่อผู้บังคับบัญชาได้


รูปที่ ๕ เทอร์โมคับเปิลที่วัดอุณหภูมิยอดหอกลั่น อุณหภูมิยอดหอกลั่นนี้เป็นตัวกำหนดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้

แล้ว ๓ ย่อหน้าข้างบนมันเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องท่อปลายตันเหรอ คำตอบคือไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย เพียงแต่ระหว่างเดินเยี่ยมชมหอกลั่น ก็ไปพบสิ่งหนึ่งเข้า สิ่งนี้คืออะไรก็แสดงไว้ในรูปที่ ๕ ข้างบนแล้ว :)

วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ปลาหมึก ปลาวาฬ ปลาโลมา (ครั้งที่ ๓) MO Memoir : Tuesday 22 July 2557

เมื่อวานระหว่างฟังวิทยุรายการข่าวจาก Voice of America ที่ถ่ายทอดทางสถานีวิทยุจุฬาฯ 101.5 MHz ช่วงระหว่างเวลา ๖.๓๐-๗.๐๐ น ก็ได้ยินบทความหนึ่งที่ใช้ศัพท์ที่แทบจะไม่ได้ยินจากรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ที่จัดในประเทศไทย นั่นคือรายงานข่าวเรื่อง "มูลปลาวาฬใหญ่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศวิทยาในทะเล" ส่วนเนื้อข่าวมีรายละเอียดอย่างใดนั้นผมเอามาแสดงไว้ข้างล่างแล้ว

เฉพาะแค่ชื่อบทความพอจะเดาออกไหมครับว่าคำ ๆ ไหนเป็นคำที่ผมบอกว่าเดี๋ยวนี้แทบจะไม่ได้ยินจากพิธีการรายการต่าง ๆ (ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือบนเวที) ที่จัดในประเทศไทย

คำ ๆ นั้นคือคำว่า "ปลาวาฬ" นั่นเอง

อันที่จริงเรื่องเกี่ยวกับการเรียก "ปลาวาฬ" นี้เคยเขียนเอาไว้สองครั้งแล้วใน Memoir

ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔๘ วันพุธที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "ปลาหมึกปลาวาฬ ปลาโลมา" และ
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๙๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "ปลาหมึกปลาวาฬ ปลาโลมา (อีกครั้ง)"

ครั้งนี้จึงขอเป็นเพียงแค่เอาเนื้อหาข่าวดังกล่าวมาบันทึกเอาไว้เตือนความจำเท่านั้นเอง :)

(ภาพข่าวนำมาจาก http://www.voathai.com/content/great-whales-ocean-impact-tk/1961629.html)

 


วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เรื่องของ ค.ย. MO Memoir : Saturday 19 July 2557

รู้จัก ค.. ไหมครับ (อ่านว่า คอ-ยอ นะครับ)

หลายปีก่อนหน้านี้ผมได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนภาควิชาเข้าร่วมการอบรมเตรียมความพร้อมการตรวจการรับรองการประกันคุณภาพสถาบันการศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น โดยให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่เฉพาะทางด้านการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัด โดยชื่อผมถูกส่งไปโดยมีการระบุตำแหน่งไว้ด้วยว่าทำหน้าที่เป็น XY ของภาควิชา (ตัวย่อจริง ๆ มันคืออะไรจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่าเป็นภาษาอังกฤษสองตัวอักษร ในที่นี้ขอใช้ XY ไปก่อนก็แล้วกัน) 
   
เช้าวันอบรมผมก็ไปลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ที่ลงทะเบียนก็บอกว่าผมมาในฐานะตำแหน่ง XY ผมก็เลยถามเขาว่ามันคือตำแหน่งอะไรเหรอ เขาก็ทำท่าเหมือนกับว่าผมถามเขาแบบหาเรื่องเขา ผมก็บอกกับเขาไปตรง ๆ ว่าที่ถามก็เพราะผมไม่รู้ว่ามันคือตำแหน่งอะไร มีความรับผิดชอบอะไร เพราะผมไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน
  
เท่านั้นแหละผมก็เลยได้รู้ความจริงว่า ที่เจ้าหน้าที่ (ที่เขาทำงานทางด้านนี้โดยตรง) คนที่ผมถามเขา เขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตำแหน่ง XY ย่อมาจากคำว่าอะไร และมันคืออะไร ผมก็เลยบอกเขาต่อว่าช่วยหาคำตอบให้ผมหน่อยได้ไหม เท่านั้นแหละทำให้ผมเห็นภาพที่แย่ลงไปอีกก็คือ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่ทำงานทางด้านนี้ของมหาวิทยาลัยก็ไม่รู้ว่าคำย่อ XY นี้มันย่อมาจากอะไร และตำแหน่งนี้คือตำแหน่งอะไร ทำหน้าที่อะไร จนในที่สุดเขาก็ไปพบกับเจ้าหน้าที่อีกคนที่ทราบว่า XY นี้ย่อมาจากอะไร และตำแหน่งนี้ทำหน้าที่อะไร
  
แต่เรื่องมันก็ไม่จบง่าย ๆ ผมยืนดูคนที่ผมถามคำถามเขาไปฟังคำอธิบายจากคนที่รู้ความหมาย พอคนที่รู้ความหมายเขาอธิบายให้คนที่ผมถามคำถามเสร็จสิ้น คนที่ผมถามคำถามเขาก็บอกให้คนที่ทราบความหมายนั้นไปอธิบายให้ผมฟังที คนที่ทราบความหมายก็ตอบกลับไปว่าคนที่ผมถามคำถามนั้นตอนนี้ก็รู้ความหมายแล้ว ทำไมไม่ไปอธิบายให้ผมฟังเอง ผมยืนอยู่ตรงนั้นได้ยินสองคนนั่นทะเลาะกัน ก็เลยถามแทรกขึ้นไปว่า ตกลงว่าในที่นี้มีใครจะอธิบายความหมายของคำย่อดังกล่าวได้ไหม ถ้าไม่มีใครรู้เรื่องเลย แล้วมีตำแหน่งที่มีคำย่อนี้ทำไม นั่นแหละ ผมจึงได้คำตอบ

แต่เรื่องมันยังไม่จบแค่นั้น

ระหว่างการบรรยายในช่วงเช้า วิทยากรที่มาบรรยายก็นำ power point ที่เตรียมมาฉายขึ้นจอขนาดใหญ่ แสดงแผนผังที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำย่อต่าง ๆ ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็น เสร็จสิ้นการบรรยายช่วงแรกก่อนมีการพัก coffee break ก็มีการเปิดโอกาสให้ถามคำถาม ผมเห็นที่ประชุมไม่มีใครยกมือถามผมก็เลยยกมือถามซะเองว่า คำย่อที่ท่านวิทยากรกล่าวมานั้นมันย่อมาจากอะไร และมันคืออะไร เขาก็ถามผมกลับมาว่าคำไหนเหรอที่ผมไม่เข้าใจ ผมก็ตอบกลับไปว่าทุกคำย่อที่ท่านแสดง เพราะผมเองเพิ่งจะมาสัมผัสเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ก็เลยฟังไม่รู้เรื่องเลยว่าท่านต้องการให้ทางภาควิชาของผมกลับไปปฏิบัติอย่างไร
  
ปรากฏว่าวิทยากรเองก็ไม่ตอบคำถามของผมเพื่อให้ผมรู้ว่าคำย่อต่าง ๆ ที่เขาบรรยายออกมานั้นมีความหมายอย่างไร ซึ่งเหตุการณ์ตรงนั้นทำให้ผมงงไปเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะทางผู้จัดงานก็ประกาศเองว่าใครมีคำถามอะไรก็ถามได้ แต่พอถามคำถามด้วยความที่ไม่รู้จริง ๆ กลับได้รับความเงียบกลับมาเป็นคำตอบ ผู้ช่วยอธิการบดีที่นั่งอยู่ในที่นั้นด้วย (ที่ทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ต้น) เลยต้องออกมาแก้สถานการณ์ แต่ผมก็ได้รับคำตอบเพียงแค่คำย่อของคำเพียงแค่สองคำ
  
คำย่อคำหนึ่งที่ปรากฏในการบรรยายนั้นและผมจำได้จนถึงวันนี้ก็คือ cds เพราะระหว่างการบรรยายมีการพูดถึง cds บ่อยครั้งมากว่า "การทำงานต้องมีการสร้าง cds ต้องเกี่ยวข้องกับ cds ต้องมีการปรับ cds ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ฯลฯ" และคำ ๆ นี้ก็เป็นคำที่ผมยกเป็นตัวอย่างขอให้เขาอธิบายว่ามันคืออะไร ผมก็ได้คำตอบกลับมาว่ามันย่อมาจาก common data set ผมก็ถามต่อว่าแล้ว common data set มันคืออะไร ก็ได้คำตอบที่เป็นไทยว่า "ชุดข้อมูลที่ใช้ร่วมกัน"
  
ลองเอาคำว่า "ชุดข้อมูลที่ใช้ร่วมกัน" ไปแทนคำ "cds" ในประโยคสีแดงในย่อหน้าข้างบนดูซิครับ แล้วลองอ่านประโยคดังกล่าวใหม่ คุณคิดว่าประโยคไหนที่คนไทยทั่วไปที่เพิ่งจะมาเข้ารับการอบรมครั้งแรก ฟังรู้เรื่องและทำความเข้าใจได้ง่ายกว่ากัน
  
สิ่งที่ผมขอให้ท่านผู้ช่วยอธิการบดีท่านนั้นทำก็คือ ช่วยทำบัญชีรวบรวมความหมายของคำย่อต่าง ๆ ให้หน่อยได้ไหม เพราะในหน่วยงานระดับคณะหรือภาควิชานั้น ผู้ที่ทำงานด้านนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ได้ถูกจ้างมาเพื่อทำงานด้านนี้เพียงอย่างเดียว ขนาดผู้ที่ทางมหาวิทยาลัยจ้างให้มาทำงานด้านนี้เพียงอย่างเดียวยังไม่รู้เรื่องเลยว่าคำย่อต่าง ๆ ที่ใช้นั้นมันคืออะไร แล้วจะให้คนที่เพิ่งจะเข้ามาสัมผัสอย่างเช่นผมนั้นเข้าใจและรู้เรื่องได้อย่างไร

แต่จนกระทั่งวันนี้ ผมก็ยังไม่เคยเห็นทางมหาวิทยลัยจะมีการจัดทำคู่มือดังกล่าว

ผมยังได้เสนอด้วยว่าควรมีการจัดการอบรมโดยถือว่าผู้เข้าร่วมการอบรมนั้น "ไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องดังกล่าว" เพราะที่ผ่านมามักพบว่าทางมหาวิทยาลัยเวลามีโครงการอะไร ก็มักจะคุยกันเป็นการภายในกลุ่มคณะทำงานก่อน เรียกว่ารู้เรื่องกันอยู่เฉพาะภายในกลุ่มคณะทำงาน พอถึงเวลาจะเอาไปให้คนอื่นใช้ปฏิบัติ ก็ไม่มีการให้ความรู้ว่าเรื่องราวดังกล่าวมีความเป็นมาอย่างไร หรือไม่ก็ให้เพียงแค่แบบรวบรัดเพียงครั้งเดียวในการอบรมครั้งแรก การอบรมครั้งต่อไปก็ไม่มีการให้แล้วเพราะถือว่าเคยอบรมพื้นฐานไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นผู้เข้ารับการอบรมแต่ละครั้งเป็นคนละกลุ่มกัน
  
ช่วงระหว่างพักกินกาแฟ ก็มีผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายหลายท่านมาพูดคุยกับผมและบอกว่าขอบคุณที่ช่วยถามคำถามให้ เพราะเขาก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกันว่าแต่ละคำคืออะไร และดูเหมือนว่าผู้เข้าฟังจำนวนมากก็ไม่รู้ด้วยว่าคำย่อที่วิทยากรใช้นั้นมีความหมายว่าอะไร หรือความหมายที่แต่ละคนเข้าใจนั้นมันตรงกันหรือเปล่า กรณีที่แต่ละคนคิดว่าตัวเองเข้าใจคำที่ผู้อื่นพูด แต่ความเข้าใจไม่ตรงกันนั้นเคยเล่าไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๕ วันศุกร์ที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เรื่อง "อย่าคิดว่าคนอื่นจะคิดเหมือนเราเสมอไป"
  
นั่นแสดงว่าสังคมในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่นั้นอยู่กับแบบ ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ต้องลงมือปฏิบัติหน้าที่นั้นไม่กล้าถามคำถามในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่แน่ใจ เพราะกลัวโดนหัวหน้างานเพ่งเล็งหรือเพื่อนร่วมงานใช้เป็นสาเหตุในการโจมตีได้ว่าไม่มีความรู้ในงานที่รับมอบหมายให้ทำ ในทางกลับกันผู้ที่เป็นหัวหน้างานหรือควบคุมการปฏิบัติงานก็ไม่กล้าถามคำถามในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่เข้าใจ เพราะเกรงว่าจะโดนครหาว่าไม่มีความรู้แล้วมาเป็นหัวหน้าเขาได้อย่างไร ในขณะที่ผู้ที่ถามคำถามเพื่อต้องการความชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองต้องนำไปใช้ปฏิบัตินั้นกลับโดนมองว่า (จากคนอื่นที่มีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่บ้าง หรือจากตัววิทยากรเอง หรือจากผู้ร่วมประชุมด้วยกันเอง) ว่าเป็นตัวป่วน ตัวหาเรื่อง อยากเด่น อยากดัง

นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเจอวิทยากรพูดโดยไม่สนใจว่าคนฟังจะรู้เรื่องหรือเปล่า ก่อนหน้านี้ก็เคยมีโอกาสได้รับฟังวิทยากรรายหนึ่งที่เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอน เขามาบรรยายให้ฟังว่าต่อไปในอนาคตนั้นคอมพิวเตอร์จะมีบทบาทอย่างไร แต่วิธีการบรรยาของเขานั้นเขาพูดแบบใช้ศัพท์เฉพาะทางทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งคนที่อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์เฉพาะทางเท่านั้นที่จะเข้าใจว่าเขาพูดอะไร ระหว่างการบรรยายเขาก็ย้ำเน้นว่าในวงการนี้เขาใช้วิธีการ "throw in word" คือใช้วิธีการอยากพูดศัพท์อะไรก็พูดออกไปเลย โดยไม่สนว่าคนฟังจะรู้เรื่องหรือไม่ ถ้าฟังไม่รู้เรื่องก็ต้องไปหาความรู้เอาเองว่ามันหมายความว่าอะไร เขาจะไม่มาเสียเวลาในการอธิบายให้เข้าใจ
  
ตรงนี้ถ้าเป็นการประชุมวิชาการเฉพาะทาง ผมก็ไม่ติดใจอะไรหรอก เพราะมันระบุเอาไว้แล้วว่าคนที่เข้าฟังควรต้องมีความรู้ทางด้านนั้นอยู่แล้ว แต่นี้เป็นการบรรยายให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์รับฟัง ผลที่ออกมาก็คือเข้าฟังกับไม่เข้าฟังมันก็ได้ผลเหมือนกัน คือไม่ได้รู้อะไรเพิ่มขึ้นเลยเพราะฟังไม่รู้เรื่อง แล้วผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามหาวิทยาลัยเอาคนประเภทที่บรรยายโดยไม่สนใจว่าคนฟังจะรู้เรื่องหรือไม่มาบรรยายทำไป

อันที่จริงเรื่องที่คนพูดไม่สนใจว่าคนฟังจะเข้าใจในที่สิ่งเขาพูดหรือไม่นั้นมันก็แย่มากอยู่แล้ว ที่เคยเจอหนัก ๆ คือไม่เพียงแต่การที่คนพูดเองยังไม่รู้ว่าตัวเองพูดอะไรออกมา เอาแต่พร่ำบอกให้คนอื่นไปจัดการให้ได้ เรื่องนี้เคยเล่าไว้ใน Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๒๘ วันพุธที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง "in situ" นั่นเป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่าขนาดผู้ที่มีตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดเท่าที่ตำแหน่งอาจารย์จะมีให้ได้ ก็ใช่ว่าจะมีความรู้ในเรื่องที่ตัวเองพูดออกมา ทำได้เพียงแค่จำคำศัพท์แปลก ๆ ที่คนอื่นไม่ค่อยได้ยินหรือไม่เคยได้ยินมาพูด เพื่อหวังจะให้คนอื่นรู้สึกว่าเขาช่างโง่ไม่เข้าใจในความหมายของคำที่ได้ยิน พอคนที่ฟังเขาถามกลับไปว่ามันคืออะไร ท่านก็เล่นย้อนกลับไปว่าไม่รู้หรือไง ก็ลองไปค้นดูซิ ให้ไปถามคนโน้นคนนี้ดูซิ ซึ่งมันก็ไม่มีใครตอบได้ (เพราะมันไม่มีคำตอบ) จนมาถึงวันหนึ่งเขามาบอกกับผมว่าให้ช่วยจัดการเรื่อง in situ ให้หน่อย ผมก็ถามเขากลับไปว่าเขาต้องการอะไร และรู้ไหมว่าคำที่พูดออกมานั้นหมายความว่าอะไร เท่านั้นแหละเขาก็เงียบ และยอมรับกับผมว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน และพฤติกรรมที่เขาเที่ยวไปไล่บี้ให้คนอื่นจัดการเรื่องนั้นให้ได้ก็เลยหยุดอยู่ตรงแค่นั้น

แม้แต่ในขณะนี้ เครื่องดังกล่าวก็ยังใช้งานไม่ได้ เพราะคนที่อยากได้ผลการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือดังกล่าว ไม่มีใครยอมมาฝึกหัดใช้เครื่องมือดังกล่าวสักที

ผมมักจะย้ำเสมอเวลาที่นิสิตในที่ปรึกษาของผมต้องสอบวิทยานิพนธ์ว่า การนำเสนอนั้นต้องหาทางทำให้กรรมการสอบนั้นเข้าใจในงานที่เขานำเสนอได้โดยที่กรรมการนั้นไม่ต้องใช้สมองคิดหรือตีความเอาเอง เพราะนั่นจะทำให้เกิดปัญหาได้ถ้าหากกรรมการนั้นเข้าใจหรือตีความผิด ทั้งนี้เนื่องจากกรรมการสอบนั้นไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาวิชาที่นิสิตผู้นั้นนำเสนอทุกคน นอกจากนี้แม้แต่จะอยู่ในวงการเดียวกันก็ยังอาจมีปัญหาเรื่องการใช้ศัพท์คนละความหมายได้ เนื่องจากมันยังไม่มีคำศัพท์กลางที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และสิ่งหนึ่งที่ผมเตือนให้เขาระวังคือการใช้ "คำย่อ" และการใช้ "ศัพท์เฉพาะทาง" โดยที่ไม่มีการอธิบายว่าศัพท์นั้นหมายความว่าอย่างไร ผมมักย้ำว่าทางที่ดีให้ "อธิบาย" ความหมายของศัพท์ที่ใช้ไม่ใช่ทำเพียงแค่ "แปล" และถ้าจะให้ดีก็ให้หลีกเลี่ยงการใช้ ตัวอย่างหนึ่งคือคำว่า "calcination" ที่ปรากฏในขั้นตอนการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา คำนี้ถ้าแปลเป็นไทยตามพจนานุกรมก็จะออกมาเป็น "การเผาสะตุ" (เข้าใจความหมายไหมครับ) ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่กระทำก็คือ "การเผาในอากาศ" ลองเปรียบเทียบดูเอาเองนะครับว่าระหว่างคำว่า "เผาสะตุ" กับ "เผาในอากาศ" คำไหนที่คุณคิดว่าคนทั่วไปส่วนใหญ่เข้าใจง่ายกว่ากัน

อีกกรณีหนึ่งที่เพิ่งจะเจอมาก็คือผมเอาภาพขณะที่ไปนั่งฟังคำแนะนำภาควิชาของมหาวิทยาลัยต่างประเทศแห่งหนึ่งมาโพสเอาไว้บน facebook (ภาพอยู่ในหน้าถัดไป อันที่จริงสิ่งที่ผมอยากถ่ายคือภาพนี้เขาบอกว่าภาควิชาของเขานั้น ที่มีผลงานการจัดอันดับที่สูงกว่าภาควิชาที่ผมทำงานมาก ยังเห็นความสำคัญของวิชาพื้นฐานเช่นเคมีฟิสิกัลและเคมีอินทรีย์ และยังให้นิสิตของเขาเรียนสองวิชานี้อยู่ ในขณะที่ภาควิชาที่ผมทำงานนั้นเขาปิดสองวิชานี้ทิ้งไปแล้ว) จากนั้นก็มีคำถามถามมาว่าลงมือทำ "IC" เองเลยเหรอ เจอคำถามนี้ก็ทำเอางงไปเหมือนกัน ผมก็เลยถามกลับไปว่า "IC" ที่เขากล่าวมานั้นคืออะไร ผมเคยรู้แต่ว่าถ้าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มันมีความหมายหนึ่ง และชื่อสถาบันที่ผมไปเรียนต่างประเทศมันก็ใช้ตัวย่อเช่นนี้ และวิชาหนึ่งทางด้านเครื่องกลก็มีคำย่ออย่างนี้ (วิชาเครื่องยนต์สันดาปภายใน)
นอกจากนี้ก็ยังได้ทดลองเอาคำ "IC" ไปหาในอินเทอร์เน็ตดูว่ามันย่อจากอะไรได้บ้าง และพบว่าเว็บ http://acronyms.thefreedictionary.com/IC ให้ความหมายถึง 196 ความหมาย โดยความหมายที่เขาถามผมมานั้นปรากฏว่าไม่อยู่ในนั้นซะด้วย

ช่วงเกือบสามสิบปีที่แล้วมีนักร้องวงเด็กวงหนึ่งชื่อวง "นกแล" โดยออกอัลบั้มแรกในปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ชื่อชุด "หนุ่มดอยเต่า" และอีก ๒ ปีให้หลังคือในปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ก็ได้ออกอัลบั้มชุดที่สามชื่อ "สิบล้อมาแล้ว"
เพลงหนึ่งในอัลบั้มชุด "สิบล้อมาแล้ว" ที่สะท้อนภาพให้เห็นกระแสหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคมในเวลานั้นที่คนชอบใช้ตาม ๆ กัน และผมเห็นว่ามันก็ยังเกิดขึ้นอยู่มาจนถึงปัจจุบันคือคือเพลง ".. คำย่อ" ลองพิจารณาเนื้อเพลงดูเองเองก็แล้วกันนะครับว่าเพลงเมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่แล้วสะท้อนภาพสังคมเอาไว้อย่างไร เนื้อเพลงเป็นอย่างไรก็อยู่ข้างล่างแล้วหรือไม่ก็ลองหาเปิดฟังทางอินเทอร์เน็ตดูเอาเอง

สมัยนี้เป็นสมัยพัฒนา การพูดการจา หนอล้วนแต่เป็นคำย่อ
ประหยัดเวลา กันจริงนะหนอ พูดกันแบบย่อย่อ เด็กเด็กฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ

หนังสือพิมพ์วิทยุตามแห่ ทั้งด๊อกเตอร์ด๊อกแต้ แหมเขาก็พูดกันไป
มหาทาลัย มหาลัย หมาลัย มหาวิทยาลัย พูดกันไม่ได้พูดกันไม่เป็น

รมต. ครม. กทม. อีก ททท. กบว. ไม่ว่างเว้น
ขสมก. กอรมน. ก็ยังเคยเห็น จำยากจำเย็น มันจำเป็นหรืออย่างไร
พูดย่อย่อ เอ้าสอนกันแบบย่อย่อ ให้เรียนกันแบบย่อย่อ ซะเลยจะดีไหม
ผกดท. ผมมันก็เด็กไทย ถึงยังไงก็สบาย สบมยห.

สมัยนี้เป็นสมัยพัฒนา การพูดการจา หนอล้วนแต่เป็นคำย่อ
ประหยัดเวลา กันจริงนะหนอ พูดกันแบบย่อย่อ เด็กเด็กฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ

หนังสือพิมพ์วิทยุตามแห่ ทั้งด๊อกเตอร์ด๊อกแต้ แหมเขาก็พูดกันไป
มหาทาลัยมหาลัยหมาลัย มหาวิทยาลัย พูดกันไม่ได้พูดกันไม่เป็น

รมต. ครม. กทม. อีก ททท. กบว. ไม่ว่างเว้น
ขสมก. กอรมน. ก็ยังเคยเห็น จำยากจำเย็น มันจำเป็นหรืออย่างไร

พูดย่อย่อ เอ้าสอนกันแบบย่อย่อ ให้เรียนกันแบบย่อย่อ ซะเลยจะดีไหม
ผกดท. ผมมันก็เด็กไทย ถึงยังไงก็สบาย สบมยห.

สวส. สวญ. ปจว. ปปป. ธกส เอ๊ะ เอ๊ะ ปกศ โอ้ย มดตด. ม่วนดีแต้เด้อ

เนื้อเพลงนำมาจาก http://เพลง.meemodel.com/เนื้อเพลง/ค.ย.คำย่อ_นกแล
ส่วนเพลงร้องยังไงก็ฟังเอาจากคลิป YouTube ข้างล่างดูเอาเองนะครับ 
(http://www.youtube.com/watch?v=_93NWBUCBek)