วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

ข้อกำหนดคุณลักษณะที่ Battery limit (๑) MO Memoir : Sunday 30 April 2560

คำว่า "Battery" สำหรับคนทั่วไปคงจะนึกถึงแต่แบตเตอรี่หรือเซลล์ไฟฟ้าเคมีที่เป็นแหล่งให้พลังงาานไฟฟ้า แต่มันยังมีความหมายอื่นอีก เช่นในวงการทหารจะใช้คำนี้กับปืนใหญ่ที่จัดรวมเป็นกลุ่ม เช่นถ้าเป็นทหารบกก็จะเป็นปืนใหญ่หลายกระบอกที่นำมาจัดกลุ่มตั้งยิง (Artillery battery) แต่ถ้าเป็นทหารเรือก็จะเป็นป้อมปืนที่ประกอบด้วยปืนใหญ่หลายกระบอก แต่คำว่า "Battery limit" ในที่นี้จะมีความหมายเป็น "ขอบเขตความรับผิดชอบระหว่างสองพื้นที่" ที่อาจเป็นขอบเขตทางกายภาพหรือขอบเขตตามภูมิศาสตร์ก็ได้
 
เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างระหว่างขอบเขตทางกายภาพลองนึกภาพบ้านหลังหนึ่งที่มีรั้วล้อมรอบ ขอบเขตตามภูมิศาสตร์ของบ้านหลังนั้นคือรั้ว แต่บ้านหลังนี้มีการใช้ไฟฟ้า มีการติดมิเตอร์ไฟฟ้าไว้ที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้าน สิ่งที่การไฟฟ้าทำคือการเดินสายไฟฟ้าจากสายส่งมายังมิเตอร์ (ที่อยู่นอกบ้าน) เจ้าของบ้านหลังดังกล่าวต้องรับผิดชอบส่วนสายไฟตั้งแต่ด้านขาออกจากมิเตอร์ (ที่อยู่นอกบ้าน) เข้าไปในตัวบ้าน ตรงตำแหน่งด้านขาออกจากมิเตอร์คือ Battery limit ในส่วนของไฟฟ้า
 
ในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี หรือเคมีนั้น คำว่า Inside Battery Limit (ISBL) จะหมายถึงด้านที่เป็นขอบเขตความรับผิดชอบของโรงงาน ส่วน Outside Battery Limit (OSBL) จะหมายถึงด้านที่อยู่นอกขอบเขตความรับผิดชอบของโรงงาน ในกลุ่มโรงงานที่มีการส่งวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์กันระหว่างโรงงานด้วยการใช้ระบบท่อส่งนั้น จะต้องมีการกำหนดจุดแบ่ง (ปรกติก็จะเป็นตำแหน่งหน้าแปลน) ที่แบ่งความรับผิดชอบว่าด้านไหนเป็นของฝ่ายไหน ถ้าเปรียบเทียบกับน้ำประปาที่ส่งให้ตามบ้าน ท่อจากมิเตอร์น้ำออกมาเข้าไปในตัวบ้านเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของบ้าน ส่วนตั้งแต่ตัวมิเตอร์ออกไปเป็นส่วนความรับผิดชอบของการประปา
 
โรงงานผลิตโอเลฟินส์ (olefin) ก็ทำหน้าที่ผลิตเอทิลีนเป็นหลัก จากนั้นก็จะส่งโอเลฟินส์ที่ผลิตได้ส่งไปยังคลังเก็บ (ซึ่งอาจเป็นการเก็บในถังเก็บ cryogenic ที่ความดันบรรยากาศ) เพื่อรอการจัดจำหน่ายต่อไป ซึ่งอาจเป็นการส่งไปให้กับโรงงานอื่นที่อยู่ข้างเคียงผ่านทางระบบท่อ หรือส่งออกในรูปของเหลวบรรทุกไปทางเรือ 
  
โรงงานอื่นที่นำเอาโอเลฟินส์ไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอื่นที่อยู่ใกล้กับโรงงานผลิตโอเลฟินส์ ก็มักจะรับโอเลฟินส์ที่โรงงานผลิตโอเลฟินส์นั้นผลิตได้ที่ส่งมาทางระบบท่อ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจต้องมีการวางแผนการรับโอเลฟินส์จากแหล่งอื่น (เช่นส่งมาทางเรือมาสำรองไว้ที่คลังเก็บ) ในกรณีที่โรงงานผลิตโอเลฟินส์นั้นหยุดเดินเครื่อง ดังนั้นโรงงานที่รับเอาโอเลฟินส์ไปใช้งานนั้นจึงจำเป็นที่ต้องรู้องค์ประกอบของโอเลฟินส์ที่จะรับเข้ามา ว่าสามารถนำมาใช้ในกระบวนการผลิตของตัวเองได้เลยหรือไม่ หรือจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคุณสมบัติให้เหมาะสมก่อนนำไปใช้ในกระบวนการผลิต (เช่นการกำจัดสิ่งเจือปนที่มากเกินไปออก) เพราะถ้าพบว่าต้องทำการปรับปรุงคุณสมบัติ ก็จะได้ออกแบบโรงงานให้มีหน่วยปรับปรุงคุณสมบัติโอเลฟินส์

เรื่องราวของบทความชุดนี้จะเป็นการยกตัวอย่างข้อกำหนดคุณลักษณะของสารเคมีหรือสาธารณูปโภคบางตัวที่ตำแหน่ง Battery limit ของโรงงาน เพื่อช่วยให้มองเห็นภาพว่าในการออกแบบโรงงานนั้น วิศวกรผู้ออกแบบควรต้องรู้เงื่อนไขอะไรที่เป็นปัจจัยภายนอก ที่ส่งผลต่อการออกแบบโรงงาน
จะว่าไปบทความชุดนี้จะเรียกว่าเป็นส่วนขยายของบทความชุด "ทำความรู้จัก Project Design Questionnaire" กับ "ทำความรู้จัก Process Design Questionnaire" ก็ได้ เพียงแต่ว่าในบทความสองชุดก่อนหน้านี้เป็นเพียงแค่การยกตัวอย่างหัวข้อ แต่ในบทความชุดนี้จะเป็นการให้รายละเอียดสำหรับบางหัวข้อ โดยจะขอเริ่มจากวัตถุดิบก่อน ตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ ที่นำมาแสดงเป็นเพียงตัวอย่างข้อมูลที่ตำแหน่ง Battery limit เท่านั้นนะ อย่าไปยึดติดว่ามันต้องเป็นจริงตามนี้เสมอ


เอทิลีนที่ผลิตได้ถูกเก็บไว้ในถังเก็บในสภาพที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิห้อง ที่ความดันบรรยากาศ เมื่อต้องการส่งเอทิลีนไปยังผู้ใช้ก็จะทำการระเหยให้กลายเป็นไอก่อน แล้วค่อยเพิ่มความดันเพื่อให้ส่งไปตามระบบท่อได้ วิธีการนี้ทำให้ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในส่วนของโลหะที่ใช้ทำท่อที่ต้องทนอุณหภูมิต่ำได้ และการหุ้มฉนวน และสิ่งที่ลูกค้าต้องการใช้งานก็คือเอทิลีนในสภาพที่เป็นแก๊สที่อุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิห้องอยู่แล้ว ส่วนความดันนั้น ถ้าความดันที่รับเข้ามาสูงเพียงพอสำหรับการใช้ในกระบวนการผลิตของผู้รับ ทางฝ่ายผู้รับก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบเพิ่มความดันให้กับแก๊สที่รับเข้ามา มีเพียงแค่ระบบลดความดันเท่านั้นเอง
 
ในหลายกระบวนการ เช่นกระบวนการผลิตพอลิโอเลฟินส์ที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาตระกูล Ziegler-Natta นั้น (เช่นการผลิตพอลิเอทิลีนพวก HDPE, LLDPE และการผลิตพอลิโพรพิลีน) ตัวเร่งปฏิกิริยากลุ่มนี้จะเสื่อมสภาพได้เมื่อพบกับสารประกอบมีขั้วและโมเลกุลบางชนิด เช่น CO, CO2, H2O, O2, CH3OH, สารประกอบคาร์บอนนิล (พวกมีหมู่ -CO-) และสารประกอบกำมะถัน แม้ว่าสารเหล่านี้จะมีปะปนมากับเอทิลีนในปริมาณที่ต่ำมากก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาอัตราการไหลของเอทิลีนที่ป้อนเข้ามา (เอทิลีนในระดับ 10 ตันต่อชั่วโมงก็ไม่ได้ถือว่ามากอะไร) และปริมาณตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในกระบวนการผลิต (ที่ใฃ้น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณเอทิลีนที่เปลี่ยนไปเป็นพอลิเมอร์ คือใช้ในระดับ kg/hr) ก็อาจพบว่าปริมาณสารปนเปื้อนที่เป็นพิษต่อตัวเร่งปฏิกิริยานี้เมื่อนับรวมกันแล้ว อาจสูงจนก่อให้เกิดความสูญเสียตัวเร่งปฏิกิริยาที่จำเป็นสำหรับกระบวนการผลิตในระดับที่มากเกินไป 
  
ส่วนระดับสารปนเปื้อนที่มากเกินไปนั้นอยู่ตรงไหนนั้น คงต้องไปดูข้อกำหนดของเจ้าของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตพอลิโอเลฟินส์แต่ละราย เพราะตัวเร่งปฏิกิริยาของเจ้าของเทคโนโลยีแต่ละรายนั้นทนต่อสารปนเปื้อนที่เป็นพิษนี้ไม่เท่ากัน ข้อมูลตรงนี้นส่งผลต่อการออกแบบหน่วยกำจัดสิ่งปนเปื้อนให้กับเอทิลีน ถ้าพบว่าตัวเร่งปฏิกิริยานั้นไม่สามารถทนต่อระดับปริมาณสารปนเปื้อนที่เป็นพิษที่มากับเอทิลีนที่รับเข้ามาได้ ทางผู้รับเอทิลีนก็ต้องมีหน่วยปรับปรุงคุณภาพเอทิลีนก่อนนำไปใช้งาน (ผู้ผลิตเอทิลีนเขาไม่ทำให้เป็นพิเศษกับผู้ใช้แต่ละราย เพราะเขาผลิตเอทิลีนในปริมาณมากเพื่อส่งให้กับผู้ใช้หลายราย) ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการผลิตตรงส่วนนี้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าพบว่าพอจะยอมรับปริมาณสารปนเปื้อนที่เป็นพิษนี้ได้ เขาก็อาจจะยอมสูญเสียตัวเร่งปฏิกิริยาไปบางส่วน (เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการทำปฏิกิริยาที่เพิ่มขึ้น) แต่เขาจะไปประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องมีหน่วยกำจัดสารปนเปื้อนให้กับเอทิลีน
 

เรื่องความบริสุทธิ์ของเอทิลีนที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อกระบวนการผลิตต้องตกลงกับผู้ขายเทคโนโลยีการผลิตให้ดี เพราะถ้าหากตอนตกลงกันนั้นผู้ขายเทคโนโลยีบอกว่าเอทิลีนที่จะซื้อมานั้นใช้ได้เลย ไม่มีปัญหา ผู้ซื้อเทคโนโลยีก็เลยสร้างโรงงานที่ไม่มีหน่วยเพิ่มความบริสุทธิ์ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วใฃ้ไม่ได้ ทางผู้ขายเทคโนโลยีจะรับผิดขอบอย่างไร (เช่นยอมให้ปรับเงินประกัน) แล้วทางผู้ซื้อเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาอย่างไร (เช่นจะฝืนใช้ไปก่อนแล้วค่อยติดตั้งหน่วยเพิ่มความบริสุทธิ์ภายหลัง)
 
แต่ในทางกลับกันใช่ว่าจะดีเสมอไป เคยได้ยินเรื่องเล่ามาเหมือนกันว่าเจ้าของเทคโนโยลีกระบวนการผลิตพอลิเมอร์นั้นกำหนดความบริสุทธิ์ของเอทิลีนไว้ซะสูงกว่าที่ผู้ซื้อเทคโนโลยีจัดหาได้ ทำให้ผู้ซื้อเทคโนโลยีต้องออกแบบโรงงานโดยให้มีหน่วยกำจัดสิ่งปนเปื้อนให้กับเอทิลีน (ทางผู้ซื้อเทคโนโลยีเป็นคนออกเงินในส่วนนี้) แต่พอเอาเข้าจริงแล้วพบว่าเอทิลีนที่ผ่านหน่วยปรับปรุงคุณภาพแล้วมีความบริสุทธิ์ที่สูงมาก ประกอบกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้นั้นมีความว่องไวสูงมาก ทำให้ปฏิกิริยาเกิดได้รวดเร็วมากจนไม่สามารถระบายความร้อนที่คายออกมาในปริมาณมากได้ทัน ก่อให้เกิดปัญหาในกระบวนการผลิต สุดท้ายก็เลยแก้ปัญหาด้วยการ bypass หน่วยเพิ่มความบริสุทธิ์ให้กับเอทิลีน คือสร้างแล้ว แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้ อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการสูญเปล่าของผู้ซื้อเทคโนโลยีหรือไม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน และเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตพอลิเมอร์ที่บอกกับผู้ซื้อเทคโนโลยีว่าจำเป็นต้องมีหน่วยนี้ แสดงความรับผิดชอบอย่างใดหรือไม่นั้น ก็ไม่ทราบเหมือนกัน


ไฮโดรคาร์บอน C3 และ C4 สามารถทำให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ด้วยการเพิ่มความดัน ดังนั้นมันจึงมักถูกเก็บเอาไว้ในรูปของเหลวภายใต้ความดัน และส่งจ่ายไปตามท่อให้กับผู้ซื้อในรูปของเหลว (สูบจ่ายของเหลวใช้พลังงานน้อยกว่าการอัดความดันให้กับแก๊ส และการส่งในรูปของเหลวยังใช้ท่อที่มีขนาดเล็กกว่าด้วย)
 
โพรเพนและโพรพิลีนเป็นคู่สารที่มีจุดเดือดใกล้กันมาก การกลั่นแยกทำได้ยาก (ต้องใช้หอกลั่นที่มีจำนวน tray มาก) แต่เนื่องจากโพรเพนมักเป็นสารที่เฉื่อยในปฏิกิริยาที่นำโพรพิลีนไปใช้เป็นสารตั้งต้น ดังนั้นจึงพอจะยอมให้มีโพรเพนผสมอยู่ในโพรพิลีนในระดับที่สูงหน่อย (เมื่อเทียบกับกรณีของเอทิลีน-อีเทน)



ในการแยกไฮโดรคาร์บอน C2 ออกจาก C3 และพวกที่หนักกว่านั้น จะทำการกลั่นแยกที่อุณหภูมิต่ำและแยกพวก C2 ออกไปในรูปของไอ ในขณะที่พวก C3 พวกที่หนักกว่านั้นออกไปในรูปของเหลว ทำให้ในโพรพิลีนนั้นมีไฮโดรคาร์บอนหนักปนเปื้อนมากกว่าในกรณีของเอทิลีน ส่วน green oil เป็นพวกไฮโดรคาร์บอนหนักที่เกิดจากการต่อโมเลกุลเข้าด้วยกัน (การพอลิเมอร์ไรซ์) ของไฮโดรคาร์บอนเบา สาเหตุที่มีของ green oil อาจมาจากอุณหภูมิและความดันที่สูงในบางช่วงของกระบวนการผลิตเอทิลีน (เช่นในตอนเพิ่มความดันให้กับแก๊สที่ออกมาจาก cracker ก่อนเข้าหน่วยกลั่นแยก) หรือตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในกระบวนการผลิต (เช่นหน่วยกำจัดอะเซทิลีน)
 
ในกระบวนการผลิตพอลิเอทิลีนก็มีการใช้โพรพิลีนเป็นโมโนเมอร์ร่วมกับเอทิลีน โดยใช้เป็นตัวปรับความหนาแน่นของพอลิเอทิลีนที่ผลิตได้ (เพิ่มระยะห่างระหว่างสายโซ่พอลิเมอร์)


การผลิตพอลิเอทิลีนใช้แก๊สไฮโดรเจนเป็นตัวควบคุมความยาวสายโซ่พอลิเมอร์ ถ้าผสมไฮโดรเจนในสัดส่วนที่สูงในระหว่างการทำปฏิกิริยาก็จะได้พอลิเมอร์สายโซ่สั้น พอลิเมอร์สายโซ่สั้นจะหลอมง่าย ไหลง่าย เหมาะสำหรับการฉีดขึ้นรูปในแม่แบบ (injection molding) แต่ถ้าต้องการพอลิเมอร์มาทำเป็นฟิลม์ เป็นถุงพลาสติก ก็ผสมไฮโดรเจนน้อยหน่อย จะได้พอลิเมอร์สายโซ่ยาวที่หนืด เป่าขึ้นรูปให้โป่งพองได้
 
แหล่งที่มาหลักของไฮโดรเจนนั้นมีอยู่สองแหล่งด้วยกัน แหล่งแรกคือจากกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ ไฮโดรเจนตรงนี้จะมีสิ่งเจือปนเยอะหน่อย (อย่างเช่นที่เอามาให้ดู) แหล่งที่สองคือจากกระบวนการผลิตโซดาไฟ (NaOH) ที่ใช้ไฟฟ้าในการแยกสารละลายเกลือ NaCl ไฮโดรเจนจากแหล่งนี้จะมีความบริสุทธิ์ได้สูงกว่า (ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำและเกลือที่ใช้) ในระหว่างที่โรงงานโอเลฟินส์เดินเครื่องนั้น จะมีการผลิตไฮโดรเจนตลอดเวลา แต่มักจะไม่มีการเก็บไฮโดรเจนสำรอง (เพราะต้องเก็บในรูปของแก๊สความดันสูง) ในกรณีที่โรงงานผลิตโอเลฟินส์หยุดเดินเครื่องก็จะไม่มีการจ่ายไฮโดรเจนให้กับโรงงานผลิตพอลิเมอร์ แต่ก็จะยังมีเอทิลีนที่สำรองไว้ในถังเก็บ ดังนั้นโรงงานผลิตพอลิเมอร์จึงยังคงสามารถเดินเครื่องการผลิตต่อไปได้ด้วยการสั่งซื้อไฮโดรเจนจากแหล่งภายนอก (ที่เห็นกันก็คือมากับรถพ่วง ๒๒ ล้อ นำมาจอดที่โรงงานลูกค้า แล้วก็ต่อท่อจากรถพ่วงเข้าสู่ระบบของลูกค้า) ดังนั้นการออกแบบโรงงานก็ควรต้องคำนึงถึงตำแหน่งสำหรับรองรับวัตถุดิบที่อาจมาในรูปของคันรถที่มาจอดต่อพ่วงเข้ากับตัวโรงงานเอาไว้ด้วย



ตอนที่ ๑ ของเรื่องนี้คงจะขอจบเพียงแค่นี้ก่อนหลังจากลากมายาว ๖ หน้าแล้ว

วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

ผลของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่อค่า flammability limits MO Memoir : Friday 28 April 2560

เย็นวันวาน ระหว่างนั่งรื้อค้นเอกสารเก่าเก็บ (อายุร่วม ๓๐ ปีแล้ว) ก็ไปพบกราฟข้อมูลช่วง flammability limits (หรือ explosive limits) ของแก๊สเชื้อเพลิงบางชนิดในแก๊สผสมระหว่าง แก๊สเชื้อเพลิง + อากาศ + (ไนโตรเจน หรือ คาร์บอนไดออกไซด์) สิ่งหนึ่งที่สะดุดใจในรูปเหล่านั้น (รูปที่ ๔-๘) คือแม้ว่าทั้งแก๊สไนโตรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ต่างทำหน้าที่เหมือนกันในการดับไฟหรือป้องกันการจุดระเบิด คือไปเจือจางให้ในแกีสมีความเข้มข้นออกซิเจนลดลง แต่คาร์บอนไดออกไซด์กลับทำหน้าที่ได้ดีกว่า
 
รูปที่ ๑ ลำดับความสามารถในการยับยั้งการจุดระเบิดแก๊สผสมระหว่างมีเทนกับอากาศ โดยใช้การเจือจางด้วยแก๊สชนิดอื่น

บทความเรื่อง "Investigations into the effects of carbon dioxide and nitrogen on the flammability limits of gas mixtures" โดย A.M. Thyer และคณะใน IChemE Symposium series no. 155, ปีค.ศ. 2009 ที่เอามาให้ดูในรูปที่ ๑ ข้างบนอธิบายเอาไว้ว่า การที่คาร์บอนไดออกไซด์ทำหน้าที่ได้ดีกว่าก็เพราะค่า specific heat ของมันที่ทำให้เปลวไฟที่เพิ่งจะเริ่มเกิดนั้นเย็นตัวลงได้ดีกว่า คือในการเผาไหม้นั้นความร้อนจากเปลวไฟที่เริ่มเกิดจะไปเร่งให้ปฏิกิริยาการเผาไหม้เกิดเร็วขึ้น แต่ถ้าหากมีอะไรก็ตามที่ทำให้เปลวไฟนั้นเย็นลง การเผาไหม้ที่เริ่มเกิดก็จะยุติ ไม่แพร่ขยายออกไป เข้าใจว่าบทบาทของค่า specific heat นั้นอยู่ตรงนี้ คือแก๊สใดที่มีค่า specific heat ที่สูงกว่าก็จะรับความร้อนได้มากกว่าโดยที่ตัวมันนั้นมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นต่ำกว่า เพื่อตอบคำถามดังกล่าวก็เลยทดลองนำเอาค่า specific heat ของแก๊สในรูปที่ ๑ นั้นมาเปรียบเทียบกัน พบว่ามันก็เป็นเช่นนั้นจริงคือลำดับความสามารถในการยับยั้งการเผาไหม้นั้นเพิ่มขึ้นตามค่า specific heat ของแก๊ส (แต่ต้องใช้หน่วยเป็นต่อกิโลโมลนะ ไม่ใช่ต่อกิโลกรัม) ดังแสดงในตารางที่ ๑
 
การทำงานของฮาลอน (halon) นั้นแตกต่างออกไป คือไม่เพียงแต่มันจะช่วยดูดซับความร้อนเอาไว้ แต่ที่สำคัญคือการสลายตัวของโมเลกุลฮาลอนทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่จะเข้าไปจับกับอนุมูลอิสระของกระบวนการเผาไหม้ กลายเป็นองค์ประกอบที่มีเสถียรภาพมากขึ้น การหยุดยั้งการเผาไหม้ของฮาลอนจึงโดดเด่นกว่าแก๊สเฉื่อยตัวอื่น
 
ตารางที่ ๑ ค่าความจุความร้อน (Cp) ของแก๊สบางชนิด


kJ/(kg.K)
kJ/(kmol.K)
CO2
0.844
37.136
H2O (1 atm 104-316 ºC)
1.97
35.46
N2
1.04
29.12
He
5.19
20.76
Ar
0.520
20.532
(จาก http://www.engineeringtoolbox.com/specific-heat-capacity-gases-d_159.html)


รูปที่ ๒ ผลของทิศทางการจุดระเบิดต่อค่า flammability limits ของแก๊สผสมระหว่าง CH4/H2 ที่มีทั้งจุดจากทางด้านล่างให้เผาไหม้ขึ้นบน และจุดจากทางด้านบนให้เผาไหม้ลงล่าง (จากบทความเรื่อง "Limit for the propagation of flame in in-flammable gas-air mixtures. Part II. Mixtures of more than one gas and air" โดย A.G White, J. Chem. Soc. Trans., pp 48-61, Jan 1925)
 
ในภาษาอังกฤษมีคำอุปสรรค (prefix) อยู่หลายคำที่เมื่อเติมเข้าไปหน้าคำ ๆ อื่น จะทำให้มีความหมายเป็นตรงข้ามกัน คำ in- ก็เป็นหนึ่งในนั้น เช่น active แปลวว่องไว แต่พอเป็น inactive จะแปลว่าไม่ว่องไว คำนำหน้าด้วย in- นี้ก่อให้เกิดปัญหาในการตีความผิดได้กับกรณีของคำว่า flammable ที่แปลว่าสามารถลุกไหม้ได้ ที่คำว่า inflammable ก็แปลว่าสามารถลุกไหม้ได้เช่นกัน (ไม่ได้แปลว่าไม่สามารถลุกไหมได้นะ) ลองสังเกตชื่อตารางในรูปที่ ๒ ดูนะครับ (อันที่จริงตัวชื่อบทความด้วย) เขาใช้คำว่า inflammable
 
ค่า flammability limit ของแก๊สชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่นความดันและอุณหภูมิที่ทำการทดลอง รูปร่างของภาชนะที่ใช้ในการทดลอง รวมทั้งทิศทางการจุดระเบิด ตารางที่ ๒ เป็นส่วนหนึ่งของผลการทดลองที่ทำการจุดระเบิดแก๊สผสมที่อัตราส่วนต่าง ๆ โดยมีทั้งการจุดจากทางด้านล่างของภาชนะให้เปลวไฟวิ่งขึ้นบน และการจุดระเบิดจากทางด้านบนให้เปลวไฟวิ่งลงล่าง ซึ่งพบว่าการจุดให้เปลวไฟวิ่งจากล่างขึ้นบนนั้นให้ช่วง flammability limit ที่กว้างกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะในการจุดให้เปลวไฟวิ่งจากล่างขึ้นบนนั้นได้รับผลเสริมจากแรงลอยตัวของแก๊สร้อนที่ลอยขึ้นไปในทิศทางเดียวกับกับการเคลื่อนที่ของเปลวไฟ แต่ถ้าเป็นการจุดให้เปลวไฟวิ่งในแนวราบ ค่าที่ได้จะอยู่ระหว่างค่าทั้งสองนี้
 
รูปที่ ๓ บทความเรื่อง "On the fire-damp of coal mines and on methods of lighting the mine so as to prevent its explosion" ของ Sir Humphry Davy บทความนี้ถูกอ่านเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. ๑๘๑๕ ก่อนจะนำมาตีพิมพ์ในต้นปีค.ศ. ๑๘๑๖ คือในยุคก่อน จะมีการอ่านบทความให้ผู้อื่นรับฟังในที่ประชุม แล้วจึงค่อยนำเนื้อหานั้นมาตีพิมพ์เป็นหนังสืออีกที
 
จะว่าไปแล้วการศึกษา flammability limit ของแก๊สไฮโดรคาร์บอนก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมากว่า ๒๐๐ ปีแล้ว ตั้งแต่ยุคการทำเหมืองถ่านหินและ Sir Humphry Davy ต้องหาวิธีการที่ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เปลวไฟจากตะเกียงที่ใช้ให้แสงสว่างในเหมืองนั้นจุดระเบิดแก๊สมีเทนที่แพร่ออกมาได้ (รูปที่ ๓)
 
ในปัจจุบันสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการสนใจศึกษาผลของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อค่า flammability limit ของไฮโดรคาร์บอนกันมากขึ้นเป็นเพราะการพยายามผลิตน้ำมันดิบจากหลุมขุดเจาะให้มากขึ้นด้วยการวิธีการที่เรียกว่า Enhanced Oil Recovery หรือย่อว่า EOR (หรือบางทีเรียกว่า tertiary recovery) และหนึ่งในวิธีการดังกล่าวคือการอัดแก๊สลงไปในหลุมขุดเจาะเพื่อดันเอาน้ำมันขึ้นมา และแก๊สตัวหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้กันก็คือคาร์บอนไดออกไซด์
 
การใช้การฉีดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในหลุมขุดเจาะทำให้แก๊สไฮโดรคาร์บอนที่ได้มานั้นมีคาร์บอนไดออกไซด์ปะปนมากขึ้น ถ้ามองในแง่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีสิ่งปนเปื้อนสูงขึ้นก็จะเป็นข้อเสียตรงที่ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแยกไฮโดรคาร์บอนและคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากกัน แต่ถ้ามองในแง่ที่ว่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผสมอยู่นั้นทำให้แก๊สผสมจุดระเบิดได้ยากขึ้นก็จะมีข้อดีตรงที่ทำให้การทำงานมีความปลอดภัยมากขึ้น
รูปที่ ๔ ช่วง flammability limit ของแก๊สผสม ไฮโดรเจน + อากาศ + (ไนโตรเจน หรือคาร์บอนไดออกไซด์) 
  
รูปที่ ๕ ช่วง flammability limit ของแก๊สผสม เอทิลีน + อากาศ + (ไนโตรเจน หรือคาร์บอนไดออกไซด์)

ตอนที่เห็นกราฟนี้ สิ่งหนึ่งที่แวบเข้ามาในความคิดคือแก๊สธรรมชาติที่ใช้กับรถยนต์ (ที่เรียกด้วยภาษาสากลว่า CNG ที่ย่อมาจาก Compressed Natural Gas แต่บ้านเรามีบริษัทขายแก๊สนำมาบัญญัติศัพท์ใหม่เป็น NGV ที่ย่อมาจาก Natural Gas for Vehicle (มีคำว่า for โผล่เข้ามา) ทั้ง ๆ ที่ภาษาสากลเขาหมายถึง Natural Gas Vehicle คือรถยนต์ที่ใช้ CNG เป็นเชื้อเพลิง) เพราะการจุดระเบิดในเครื่องยนต์นั้นหัวเทียนจะอยู่ทางด้านบนของกระบอกสูบ ดังนั้นการเผาไหม้จะเป็นจากบนลงล่าง และเนื่องจากแก๊สมีเทนที่ขายให้กับรถยนต์ในบ้านเรานั้นมีคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 18% สำหรับเกรดธรรมดา และ 10% สำหรับเกรดพิเศษ (จาก รายละเอียดแนบท้ายประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ พ.ศ. ๒๕๕๖) ก็เลยทำให้สงสัยว่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงน่าจะส่งผลต่อความสิ้นเปลือง (เมื่อคิดเทียบที่ปริมาณมีเทนที่ใช้ในการเผาไหม้เเท่ากัน) เพราะมันทำให้แก๊สร้อนที่ได้จากการเผาไหม้นั้นเย็นกว่า ด้วยว่าคาร์บอนไดออกไซด์มันมีความจุความร้อนสูงกว่าอากาศ (ความจุความร้อนของอากาศนั้นประมาณได้ว่าเท่ากับของไนโตรเจน) ดังนั้นที่ปริมาณความร้อนที่ปลดปล่อยออกมาเท่ากัน (เพราะใช้มีเทนเท่ากัน) แก๊สผสมที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าน่าจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นน้อยกว่า ทำให้การขยายตัวของแก๊สเกิดขึ้นได้น้อยกว่า แต่อันนี้เป็นเพียงการคาดเดานะ


รูปที่ ๖ ช่วง flammability limit ของแก๊สผสม โพรพิลีน + อากาศ + (ไนโตรเจน หรือคาร์บอนไดออกไซด์) (กราฟนี้ขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้นเป็นประมาณสองเท่าของรูปที่ ๔ และ ๕ นะ)

ผลของความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์ต่อค่า Lower Explosive Limit (LEL - ค่าความเข้มข้นต่ำสุดของเชื้อเพลิงในอากาศที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ได้) ไม่เด่นชัดนัก ที่เห็นชัดเจนว่าคือค่า Higher Explosive Limit (HEL - ค่าความเข้มข้นสูงสุดของเชื้อเพลิงในอากาศที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ได้) ที่มีค่าลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนเมื่อความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่า LEL แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วงความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์สูง ในกราฟตัวอย่างที่นำมาแสดงนั้น ความเข้มข้นสูงสุดของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้แก๊สผสมนั้นไม่สามารถลุกติดไฟได้จะต่ำกว่าของไนโตรเจนอยู่ประมาณ 10% หรือมากกว่า (ดูจากตำแหน่งจุดที่เส้นโค้งมีการวกกลับทางด้านขวา)

วันนี้คงต้องขอจบเรื่องนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ


รูปที่ ๗ ช่วง flammability limit ของแก๊สผสม 1-บิวทีน + อากาศ + (ไนโตรเจน หรือคาร์บอนไดออกไซด์) (กราฟนี้ขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้นเป็นประมาณสองเท่าของรูปที่ ๔ และ ๕ นะ)
 

รูปที่ ๘ ช่วง flammability limit ของแก๊สผสม นอร์มัลเฮกเซน + อากาศ + (ไนโตรเจน หรือคาร์บอนไดออกไซด์) (กราฟนี้ขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้นเป็นประมาณสองเท่าของรูปที่ ๔ และ ๕ นะ) ปรกตินอร์มัลเฮกเซนเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องและความดันบรรยากาศ แต่จะว่าไปความดันไอของมันก็สูงอยู่แล้ว นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมยังมีการนำเอาไปใช้เป็นตัวทำละลายที่อุณหภูมิและความดันสูง (เช่นในบางกระบวนการที่ใช้สังเคราะห์พอลิเมอร์พวกพอลิโอเลฟินส์บางตัว) ในกระบวนการเช่นนี้เมื่อมันรั่วออกมา พฤติกรรมจะเป็นเสมือนกับแก๊สหุงต้ม (LPG) รั่วออกมาจากถัง

วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

อนุสาวรีย์ทหารจีนที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๓๐) MO Memoir : Wednesday 26 April 2560

เชิงสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควฝั่งตะวันตกมีสิ่งก่อสร้างที่เหมือนกับเป็นแท่งเสาสี่เหลี่ยมต้นหนึ่ง มีตัวหนังสือภาษาจีนเขียนอยู่รอบด้านทั้งสี่ ที่ฐานด้านหนึ่งเขียนเป็นภาษาไทยว่า "อนุสาวรีย์ทหารจีน"
 
ภาษาจีนนั้นเขียนว่าอะไรบ้างผมก็ไม่รู้หรอกครับ แต่ที่โคนเสานั้นมีป้ายกระดาษติดอยู่ มีทั้งฉบับที่เป็นภาษาไทยและภาษาจีน ฉบับภาษาไทยนั้นที่หัวกระดาษบอกว่าเป็น "คำบอกเล่าของศิลาจารึก" ส่วนข้อความนั้นเขียนว่าอย่างไรก็ลองอ่านกันเอาเองในรูปนะครับ
 
ที่ผมติดใจก็คือ เรื่องที่เขาเล่าเอาไว้ในฉบับภาษาไทย

ประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ่งหนึ่งที่มีการบันทึกเอาไว้ชัดเจนคือการสร้างทางรถไฟของกองทัพญี่ปุ่นเพื่อการลำเลียงปัจจัยต่าง ๆ ไปให้กับทหารที่ทำการสู้รบอยู่ในพม่า เส้นทางรถไฟที่ทำการก่อสร้างมีอยู่ด้วยกัน ๒ เส้นทาง เส้นทางแรกคือเส้นทางจากชุมทางหนองปลาดุก ไปยังจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟในประเทศพม่าทางด้านด่านเจดีย์สามองค์ เป็นเส้นทางที่เรียกว่า "เส้นทางรถไฟสายมรณะ" ในปัจจุบัน
 
เส้นทางที่สองเป็นเส้นทางจากจังหวัดชุมพร เลียบตามแนวถนนที่เป็นถนนเพชรเกษมในปัจจุบัน ไปสิ้นสุดที่ คลองละอุ่น อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง (Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๘๒๗ วันพฤหัสบดีที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "สุดทางรถไฟที่ ละอุ่น ระนอง (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๗๗)")
 
เส้นทางสายกาญจนบุรีนั้นมีบันทึกเอาไว้ชัดเจนว่ามีการใช้เชลยศึกสัมพันธมิตร ร่วมกับแรงงานกรรมกรก่อสร้าง (ชาวจีนที่มาตั้งรกรากในมาลายู และชาวมลายู) ในขณะที่เส้นทางสายระนองนั้นจะใช้แรงงานกรรมกรก่อสร้างเป็นหลัก
 
จะว่าไปแล้ว จำนวนกรรมกรก่อสร้างในเส้นทางสายกาญจนบุรีที่เสียชีวิตในระหว่างการก่อสร้างอาจจะมีจำนวนที่มากกว่าจำนวนเชลยศึกทหารสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตเสียอีก แต่ประวัติศาสตร์แทบไม่มีการกล่าวถึงแรงงานเหล่านั้น นั่นอาจเป็นเพราะเขาเหล่านั้นต้องเข้าไปทำการก่อสร้างในเขตป่าลึก ไม่ใช้ใกล้กับตัวจังหวัดเหมือนดังเช่นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว
 
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในระหว่างที่กองทัพญี่ปุ่นรบกับกองทัพจีนนั้น ทางกองทัพญี่ปุ่นสามารถปิดการติดต่อทางทะเลของกองทัพจีนได้ ทำให้การส่งการสนับสนุนของอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาให้กับกองทัพจีนต้องทำทางบก เส้นทางที่ใช้คือจากอินเดีย ผ่านตอนเหนือของประเทศพม่า และเข้าจีนตอนใต้ ถนนเส้นนี้ในเชตประเทศพม่ามีชื่อว่า "Ledo road" แต่พอเข้าเขตประเทศจีนแล้วมีชื่อเป็น "Burma road"
 
นักประวัติศาสตร์บางรายให้ความเห็นว่า เพราะถนนเส้นนี้ ร่วมกับการยึดทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่นในต่างประเทศ และการไม่ขายน้ำมันให้กับประเทศญี่ปุ่น จีงทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเข้ายึดครองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเข้าครอบครองแหล่งน้ำมันในอินโดนีเซีย และเข้าไปปิดเส้นทาง Ledo road ทำให้จำเป็นต้องเดินทัพผ่านประเทศไทยให้ได้โดยเร็ว แผนการนี้จึงเป็นแผนการที่เรียกว่าเขียนขึ้นกันอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่สิ่งที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าหลายปีก่อนหน้า (หลังจากไทยมีปัญหากรณีพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ให้ญี่ปุ่นยกกองทัพเข้ามาดูแลเมืองขึ้นในภูมิภาคนี้แทน (ตอนนั้นทั้งฝรั่งเศสแพ้เยอรมันไปเรียบร้อยแล้ว) เรียกว่ากองทัพญี่ปุ่นมารออยู่ในเขมรแล้ว พร้อมที่จะเคลื่อนทัพทางรถไฟจากอรัญประเทศเข้าสู่กรุงเทพได้ทันที)
 
รูปที่ ๑ มองย้อนออกไปทางสะพานข้ามแม่น้ำแคว

รูปที่ ๒ อีกมุมหนึ่งของอนุสาวรีย์

รูปที่ ๓ คำบอกเล่าที่ติดไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์ ที่เห็นว่ามีข้อความที่น่าสงสัยในเรื่องความถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องที่กล่าวถึง การใช้เชลยศึกทหารจีนมายืนป้องกันสะพานไม่ให้เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่ มีศพตายเต็มแม่น้ำจนน้ำเป็นสีแดงไปหมด ก็เป็นเรื่องที่ส่วนตัวแล้วต้องบอกว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าของทางฝ่ายไทยหรือบันทึกของเชลยศึกผู้รอดชีวิต 

รูปที่ ๔ นอกจากภาษาไทยแล้วก็มีภาษาจีนด้วย ใครอ่านได้ก็ลองอ่านเอาเองก็แล้วกันครับ

รูปที่ ๕ มองย้อนกลับไปยังฝั่งตรงข้ามที่ยังมีตำแหน่งสะพานไม้ข้ามแม่น้ำแควอีกสะพาน คาดว่าตำแหน่งที่ยืนถ่ายรูปนี้น่าจะเป็นอีกฝั่งหนึ่งของสะพานไม้ข้ามแม่น้ำแคว (Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๔๔ วันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๗ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควมีสองสะพาน")

ในขณะนั้นอังกฤษยังแทบจะเอาตัวไม่รอดจากเยอรมัน ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าความพร้อมของอังกฤษในการสู้รบในภูมิภาคนี้จะมี สิ่งที่พอจะอ่าน (ต้องอ่านระหว่างบรรทัดนะ) ได้จากประวัติศาสตร์คืออังกฤษคาดหวังว่าไทยจะไม่ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเข้าประเทศได้ง่าย ๆ เพื่อที่ทางอังกฤษเองจะได้มีเวลาเตรียมตัว แต่ทางรัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่เล่นด้วย เพราะไม่รู้ว่าทำไปต้องให้คนไทยยอมเจ็บตัวเพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษ (ไทยรู้อยู่แล้วว่ารบไปก็แพ้อยู่ดี และเป้าหมายของญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่ประเทศไทย) ผลก็คือรบกันอยู่แค่วันเดียวแล้วก็ปล่อยให้ทัพญี่ปุ่นเดินทางประเทศไปดื้อ ๆ และนี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษเคืองแค้นประเทศไทยมาก

ในช่วงแรกของการรบในพม่า ทหารอังกฤษและชนเผ่ากลุ่มน้อย (อังกฤษไม่ใช้ทหารพม่า และใช้ชนกลุ่มน้อย เพราะคนพม่าเองก็ต้องการอิสระภาพจากอังกฤษ ตอนนั้นนายพลอองซานอยู่ข้างญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป) ถอยร่นไม่เป็นขบวน ต้องเข้าไปตั้งหลักในอินเดีย เส้นทาง Ledo road ก็ถูกตัดขาด แต่ด้วยความยากลำบากในการส่งกำลังบำรุงของกองทัพญี่ปุ่น และการที่เส้นทางดังกล่าวสำคัญต่อการอยู่รอดของกองทัพจีน ทำให้ทางกองทัพอังกฤษและกองทัพจีนสามารถเข้ามาเปิดเส้นทางนี้ได้ใหม่ ดังนั้นทหารจีนที่รบกับทหารญี่ปุ่นนั้นทำการรบอยู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ด้านที่ติดกับพรมแดนจีน แม้แต่ในช่วงหลังสงครามที่กองทัพอังกฤษยกตีกองทัพญี่ปุ่นถอยร่นมายังพรมแดนประเทศไทย ก็ใช้กองกำลังทหารจากอินเดียเป็นหลัก
 
แรงงานที่ใช้ในการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแคว และช่วงที่ต่อออกไปจากจังหวัดกาญจนบุรี (อย่างน้อยก็ไปจนถึงช่องเขาขาดในปัจจุบัน) นั้น ประวัติศาสตร์ก็บันทึกเอาไว้ว่าใช้แรงงานเชลยศึกที่เป็นคนผิวขาวเป็นหลัก ไม่ได้เป็นเชลยศึกทหารจีน จะว่าไปค่ายเชลยศึกแถวตัวจังหวัดกาญจนบุรีก็แทบจะไม่มีรั้วกั้นการหลบหนีด้วยซ้ำ แถมรอบข้างเป็นป่า ทำให้ฝรั่งผิวขาวหลบหนีได้ยากเพราะไม่รู้จักการดำรงชีพในป่า และแม้จะหลบหนีออกจากค่าย แต่ด้วยรูปร่างที่แตกต่างไปจากคนท้องถิ่นและความที่เป็นที่ไม่ชอบของคนท้องถิ่น ก็ทำให้หาตัวได้ง่าย แต่ถ้าเป็นคนจีนก็อีกเรื่องหนึ่ง

รูปที่ ๖ สุดเส้นทางรถไฟสายมรณะที่ยังคงหลงเหลืออยู่ฝั่งไทย ที่น้ำตกไทรโยคน้อย


รูปที่ ๗ มองย้อนจากศาลาพักผู้โดยสารที่สถานีไทรโยคน้อย ไปยังเส้นทางที่มาจากสถานีน้ำตก

ฉบับนี้ก็ถือเสียว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในบ้านเราเรื่องหนึ่งก็แล้วกันครับ

วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

จึงเป็นวิธีการเดียวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๒๙) MO Memoir : Monday 24 April 2560

การอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์นั้นจำเป็นที่ต้องเริ่มด้วยการอ่าน "ผู้เขียน" ก่อน เพราะจะทำให้ผู้อ่านสามารถประเมินได้ว่าเนื้อความในเอกสารนั้นมีอคติหรือตรงไปตรงมาแค่ไหน ตัวอย่างประเด็นที่มักจะมีการหยิบยกมาใช้ในการพิจารณาตัวผู้เขียนเพื่อใช้ประเมินความน่าเชื่อถือของบันทึกนั้นได้แก่
(ก) ตัวผู้เขียนนั้นเป็นผู้ที่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่บันทึกเอาไว้หรือไม่ 
 
(ข) ตัวผู้เขียนนั้นไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่เป็นผู้ที่มีชีวิตร่วมสมัยอยู่ในเหตุการณ์นั้น (กล่าวคือได้รับข่าวสารข้อมูลจากทางด้านอื่น เช่นเรื่องเล่าโดยปากต่อปาก หรือจากข่าวสาร เป็นต้น) 
 
(ค) ตัวผู้เขียนนั้นไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่มีชีวิตร่วมสมัยอยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่ได้รับฟังเรื่องจากจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยในเหตุการณ์ที่เกิด
 
(ง) ตัวผู้เขียนนั้นไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่มีชีวิตร่วมสมัยอยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่ได้รับฟังเรื่องจากจากบุคคลที่บอกว่าได้รับฟังมาจากบุคคลอื่น ที่ได้รับฟังจากบุคคลอื่นอีกที (ซึ่งไม่ใช่ผู้ที่มีชีวิตร่วมสมัยอยู่ในเหตุการณ์นั้น)
 
(จ) ตัวผู้เขียนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์ที่เกิดนั้นหรือไม่ ถ้าใช่ ตัวผู้เขียนนั้นอยู่ฝ่ายไหน

บันทึกด้วยผู้เขียนในข้อ (ก) จัดได้ว่าเป็น "หลักฐานชั้นต้น" ที่สำคัญ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมนำเอาประเด็นในข้อ (จ) มาประกอบการพิจารณาด้วย เพราะมันช่วยให้ประเมินได้ว่าข้อความที่บันทึกเอาไว้นั้นแฝงไว้ด้วยอคติหรือมีความตรงไปตรงมาแค่ไหน และในกรณีที่ผู้เขียนเป็นชาวต่างประเทศ ก็ยังต้องมีการพิจารณาเรื่องความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมด้วย เพราะสิ่งที่เป็นที่ยอมรับในสังคมหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยอมรับในอีกสังคมหนึ่ง การอ่านบันทึกตรงนี้จึงควรต้องพิจารณาว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ผู้เขียนประสบมา และสิ่งใดเป็นสิ่งที่เป็นความคิดเห็นของเขา
 
เรื่องราวของการปฏิวัติเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ มักจะมีการหยิบยกมาอ้างกันอยู่เสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะขาดหายไป แทบจะไม่ถูกกล่าวถึงเห็นจะได้แก่รายละเอียดของสาเหตุต่าง ๆ ที่นำไปสู่การปฏิวัติครั้งนั้น และจะว่าไปแล้วก่อนหน้า ๒๐ ปี (เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ นับปีแบบเดิมที่ขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน) ก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นสิ่งที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า "กบฏ ร.ศ. ๑๓๐"
 
กรณีของ "กบฏ ร.ศ. ๑๓๐" เกิดขึ้นหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตุลาคม ๒๔๕๓) เพียงแค่ไม่ถึง ๒ ปี ตรงนี้ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าการบริหารบ้านเมืองก่อนหน้านั้น (ซึ่งน่าจะครอบคลุมช่วงตอนท้ายของสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วย) มีปัญหาอย่างไร จึงนำมาซึ่งความคิดที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 
 
สิ่งที่ไม่ได้เกิดจากความแค้นส่วนตัว ต้องมีผู้เข้าร่วมกระทำเป็นจำนวนมาก น่าจะบ่งบอกให้เห็นถึงความไม่พอใจที่สะสมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และเกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อย จนกระทั่งถึงจุดที่ผู้ได้รับผลกระทบนั้นจำนวนหนึ่งทนไม่ได้ จึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้
 
การตีความเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในหลาย ๆ เรื่องนั้นไม่สามารถตีความได้โดยตรง อาจเป็นเพราะไม่มีการบันทึกข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร หรือข้อมูลที่มีการบันทึกเอาไว้นั้นสูญหายหรือถูกทำลาย หรือถูกบิดเบือน แต่เราก็อาจใช้สภาพแวดล้อมของเหตุการณ์หรือสภาพสังคมในขณะนั้นเข้ามาช่วยในการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น



หนังสือเรื่อง "บันทึกของฑูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ ๒๔๗๕ การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม" เป็นหนังสือที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นเรื่อง "การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม" ที่เขียนโดย ยาสุกิ ยาตาเบ หนังสือนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาญี่ปุ่นในปีพ.ศ. ๒๔๗๙ ก่อนจะมีการพิมพ์ซ้ำอีก ๒ ครั้ง (เป็นภาษาญี่ปุ่น) ในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ และ ๒๕๔๕ ยาสุกิ ยาตาเบ ผู้นี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครราชฑูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศสยาม และได้เดินทางมายังกรุงเทพในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๘ (พ.ศ. ๒๔๗๑) ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๖ (พ.ศ. ๒๔๗๘ - นับปีพ.ศ. แบบเก่าที่ขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายน) ดังนั้นด้วยช่วงระยะเวลากว่า ๗ ปีที่ประจำอยู่ในประเทศสยาม โดยเฉพาะการได้เข้ามาประจำเป็นเวลาประมาณ ๔ ปีแรกก่อนเกิดการปฏิวัติ ทำให้คาดได้ว่าเขาควรมีความรู้ความเข้าใจเหตุการณ์ทั่วไปในประเทศสยามในระดับที่ดีพอสมควร และในฐานะที่ผู้บันทึกนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ดังกล่าว บันทึกฉบับนี้จึงอาจจัดได้ว่าเป็นเอกสารชั้นต้นที่สำคัญฉบับหนึ่งในการทำความเข้าใจการเมืองการปกครองของไทยก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ 
  
ที่น่าเสียดายคือหนังสือเล่มนี้กว่าจะมีการแปลเป็นภาษาไทยก็ล่วงมาจนถึงพ.ศ. ๒๕๔๗ หรือ ๖๘ ปีหลังการตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาญี่ปุ่น และก็ทำเป็นเพียงแค่เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์มติชนในปีพ.ศ. ๒๕๕๐ (เล่มที่ผมมีเป็นฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ แปลเป็นภาษาไทยโดย เออิจิ มูราซิมา และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์)
 
เรื่องราวในหนังสือนั้นเป็นอย่างไรนะคงจะไม่ขอเล่า ถ้าใครสนใจก็ขอแนะนำให้ไปซื้อมาอ่านหรือสะสมเอาไว้ก็ดีครับ อาจทำให้เห็นภาพว่าทำไม ในตอนท้ายของบทที่ ๑ สถานการณ์ก่อนการปฏิวัติ ในหน้า ๑๖ ในหัวข้อเรื่อง "บรรยากาศที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงนั้น" ยาสุกิ ยาตาเบ ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวเอาไว้ว่า

" .....โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับการฝึกฝนทางด้านการเมือง ไม่มีอิสระภาพในการพูด ฉะนั้นการอาศัยวิธีการปฏิรูป คือทำตามกระบวนการกฎหมายด้วยวิธีการสันติ โดยการปลูกฝังที่จะให้มีการแสดงประชามติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า รอไปอีกหนึ่งร้อยปีก็ไม่มีวันสำเร็จ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีวิธีการใดนอกจากการลุกขึ้นกระทำการโดยตรงและขับไล่บรรดาเจ้านายอนุรักษนิยมสุดขั้วให้ออกจากตำแหน่ง ....."

และในหน้าสุดท้ายของบทที่ ๑ (หน้า ๑๙) ยาสุกิ ยาตาเบ ก็ได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยข้อความที่สแกนมาให้ดูในรูปข้างล่าง


อยากจะแนะนำให้ใครที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ หาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน ส่วนเมื่ออ่านแล้วจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าวก็คงเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่คงต้องมีการนำมาถกเถียงทางวิชาการกันต่อไป

ในยุคสมัยหนึ่ง หนังสือที่ระลึกงานศพนั้นไม่ได้เต็มไปด้วยคำกล่าวไว้อาลัยผู้ตาย แต่อาจเป็นเรื่องราวความรู้ที่พิมพ์แจกเป็นวิทยาทานเผยแพร่ (ยุคสมัยที่การพิมพ์หนังสือยังไม่แพร่หลายในปัจจุบัน) หรือเป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของผู้เสียชีวิตที่ได้บันทึกเอาไว้ให้คนรุ่นหลังรับทราบ
 
ประวัติของคนธรรมดา ๆ คนหนึ่งนั้น เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงมองไม่เห็นว่ามันมีความสำคัญอย่างไร แต่ถ้ามองในแง่มุมที่ว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวการดำเนินชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของคนทั่วไป ที่คงไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยไหนคิดจะบันทึกเอาไว้ และถ้าเป็นของผู้ที่ต้องทำงานกับชาวบ้านธรรมดา ข้าราชการชั้นผู้น้อย ไปจนถึงชนชั้นปกครอง เราก็อาจได้เห็นเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจมีการพยายามปิดซ่อนเอาไว้ในประวัติศาสตร์หลัก
 
"เล่าให้ลูกฟัง" เป็นบันทึกที่เขียนโดย พระยาสัจจาภิรมย์ อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) กระทรวงมหาดไทยพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้เขียน ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ พฤศิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ (เป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่สอง) พระยาสัจจาฯ เขียนไว้ในคำนำ โดยลงวันที่ ๒๘ ธันวามคม ๒๔๙๘ แสดงว่าเล่มการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกน่าจะอยู่ราว ๆ นั้น หนังสือเล่มนี้สำนักพิมพ์มติชนนำมาจัดพิมพ์จำหน่ายใหม่ครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ และจัดพิมพ์ครั้งที่สองในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน
 
นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีชื่อพระยาสัจจาฯ ปรากฏคือ "ถนนพระยาสัจจา" ที่เป็นถนนหลักด้านเลียบชายฝั่งทะเลของตัวอำเภอเมือง ชลบุรี

การเมืองสักเมืองจะนำชื่อใครสักคนมาตั้งเป็นชื่อถนนแสดงว่าเป็นการระลึกถึงคุณงานความดีและคุณประโยชน์ที่ผู้นั้นได้กระทำไว้ให้กับเมืองนั้น

พระยาสัจจาฯ ท่านเกิดในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๒๗ (น่าจะเป็นการนับปีพ.ศ. แบบเก่า) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เข้ารับราชาการตั้งแต่อายุ ๑๕ ปีจนถึง ๗๐ ปี เรียกได้ว่าเป็นคน ๕ แผ่นดิน ทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด เริ่มงานตั้งแต่เป็นเสมียนจนสอบได้เป็นเนติบัณฑิต มีประสบการณ์ทำงานตั้งแต่กับชาวบ้านในท้องถิ่นต่างจังหวัด (ในสถานที่ที่แม้แต่ข้าราชการยังไม่มีใครอยากไป) ไปจนถึงการทำงานร่วมกับชนชั้นปกครองชั้นสูง ผมเคยอ่านบันทึกนี้ตอนที่นิตยสารศิลปวัฒนธรรมคัดเลือกบางตอนนำมาตีพิมพ์ พอเห็นมีการตีพิมพ์ใหม่เป็นเล่มก็อดไม่ได้ที่จะซื้อมาเก็บเอาไว้
 
บันทึกของพระยาสัจจาฯ ทำให้เห็นว่าการทำงานของข้าราชการต่างจังหวัดในสมัยนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ชาวบ้านต่างจังหวัดนั้นดำเนินชีวิตอยู่กันอย่างไร แตกต่างหรือเหมือนกับชีวิตในกรุงเทพมากน้อยแค่ไหน เรื่องเหล่านี้นอกจากบันทึกของข้าราชการระดับสูงเพียงไม่กี่รายที่เขียนเอาไว้ ก็เห็นจะมีแต่บันทึกของชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย (จะโดยการว่าจ้างของรัฐบาลหรือของบริษัทต่างชาติ) หรือเป็นนักเดินทางที่เดินทางผ่านมาทางนี้ เท่านั้นที่เขียนบันทึกเอาไว้ สำนักพิมพ์มติชนถึงกับให้คำจำกัดความเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น "ภาพสะท้อนของชีวิตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยใกล้อวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"
 
ถึงแม้ว่าจะเขียนมาจากมุมมองที่แตกต่างไปจาก ยาสุกิ ยาตาเบ แต่บันทึกที่แสดงความอัดอั้นตันใจในการทำราชการของพระยาสัจจาฯ ก็ได้ให้ภาพเหตุการณ์ในทิศทางเดียวกัน ในตอนท้ายของหน้า ๒๔๖ ของหนังสือ "เล่าให้ลูกฟัง" ที่สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ นั้น คาดเป็นข้อความที่บอกเล่าเรื่องราวก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน และดูเหมือนจะเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจที่รุนแรงเสียด้วย ถึงขั้นกล่าวว่า "ถ้าบ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ไม่ช้าก็ฉิบหาย" ลองอ่านดูในรูปข้างล่างก็ได้ครับ



การเหมารวมเอาการกระทำของกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่เห็นในปัจจุบัน ว่าในอดีตไม่ว่าจะย้อนไปนานแค่ไหนคนกลุ่มนั้นก็มีพฤติกรรมเป็นเช่นนั้น หรือในทางกลับกันก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่อันตราย โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้มีการพิจารณาบริบทของสังคมในช่วงเวลานั้นประกอบ
 
ทิ้งท้ายในสองรูปสุดท้าย เป็นหน้าฉบับเต็มจากหนังสือที่คัดลอกเอาข้อความที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าอยากทราบรายละเอียดอะไรมากกว่านั้นก็คงต้องไปหาหนังสือดังกล่าวมาอ่านเองแล้วครับ