วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เพราะการจากลา อาจมาในเวลาที่เราคาดไม่ถึง MO Memoir : Friday 29 May 2563

 
นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๕๕ หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอซีเนียร์โปรเจค ในวันสุดท้ายของการสอบปลายภาค ก็จะตามด้วยงานปัจฉิมนิเทศน์นิสิตปี ๔ ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา งานนี้เรียกว่าเป็นโอกาสสุดท้าย ที่บรรดาอาจารย์ของภาควิชา จะได้ให้โอวาท ฝากข้อคิดเตือนใจ สอนเป็นครั้งสุดท้าย หรือกล่าวความในใจที่มีอยู่ ให้กับนิสิตที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา

แต่ปีนี้แตกต่างออกไป

 
เพราะการที่ต้องจากลา เพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ หรือแม้แต่สถานที่เรียน มาในเวลาที่เราต่างคาดไม่ถึง

********************

เย็นวันพุธที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓ สัปดาห์หลังการสอบกลางภาค มีอีเมล์ด่วนมาก ถึงอาจารย์ทุกคนในภาควิชา เรื่องเชิญประชุมในเวลา ๑๓.๐๐ น วันศุกร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๓ ในหัวข้อเรื่อง "แนวทางการจัดการเรียนการสอน กรณีสถานการณ์ไม่ปกติ อันเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19" ที่ห้องเรียนเล็กของภาควิชา
  
ปรกติฝรั่งเขาก็ถือว่า เลข ๑๓ เป็นเลขอัปมงคล และยิ่งเป็นวันศุกร์ที่ ๑๓ ก็ยิ่งแล้วใหญ่ ข้อสรุปที่ได้จากการประชุมเป็นอย่างไรนั้น เชื่อว่าพวกคุณทุกคน ที่เรียนอยู่ที่ห้องเรียนใหญ่ที่อยู่ติดกัน ที่ทราบข่าวทันทีหลังการประชุมเสร็จสิ้น คงตกใจไม่น้อย

และวันนั้นก็คงเป็นวันสุดท้าย ที่พวกคุณ ได้มีโอกาสสวมชุดนิสิต ในฐานะนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่
 
และวันนั้นก็คงเป็นวันสุดท้าย ที่พวกคุณ ได้อยู่ในสถานที่แห่งนี้ ในฐานะนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่
 
คนเราบางทีก็แปลกนะ ตอนเรียนอยู่ไม่อยากใส่ชุดนิสิต แต่พอจบไปทำงานแล้ว พอมีงานเลี้ยงให้แต่งชุดนักเรียน ชุดนิสิตย้อนยุค เพื่อระลึกความทรงจำ กลับไปควานหามาแต่งกันใหญ่

********************

รุ่นพวกคุณเนี่ย ตอนเข้าภาคมาก็จัดว่าเป็นรุ่นที่เกรดเฉลี่ยต่ำที่สุดเลยได้มั้ง นับตั้งแต่ผมเริ่มทำงานมา (จะมีเกรดเฉลี่ยเข้าภาคต่ำกว่ารุ่นคุณ ก็น่าจะเป็นรุ่นผมนี่แหละที่ยังไม่มีรุ่นไหนทำลายสถิติได้) แถมนิสิตเข้าภาครุ่นพวกคุณ ยังมีจำนวนต่ำเป็นประวัติการณ์ด้วย นับตั้งแต่ภาคเปิดรับนิสิต ๘๐ คน
  
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าภาควิชานี้ จะได้อยู่กับภาควิชาจนถึงวันนี้ ในช่วงการทำงานที่ผ่านมา ก็ได้ผ่านพบหลากหลายเหตุการณ์ ที่ทำให้นิสิตต้องจากภาควิชานี้ไป เรื่องปรกติที่สุดก็คือ การย้ายภาค ซึ่งนั่นก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าเป็นการจากไปด้วยดี แต่ที่น่าเศร้าก็คือ ผู้ที่ต้องจากไปด้วยสาเหตุอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต ถูกบังคับให้เรียนโดยไม่ชอบเรียน จนทำให้ผลการเรียนตกต่ำจนต้องพ้นสภาพนิสิต หรือถูกบังคับให้ออก เพื่อให้ไปเรียนในสาขาที่ทางบ้านต้องการให้เรียน

********************
หลังเปิดเรียนได้เดือนนึง เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ผมก็เตรียมที่จะถ่ายรูปพวกกลุ่มตามกลุ่มทำแลป เพื่อที่จะส่งมอบให้พวกคุณในวันนี้ (จะได้เห็นว่ามาอยู่ที่ภาควิชานี้ ๓ ปี หน้าตาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง) ระหว่างที่รอให้นิสิตเข้าเรียนนั้นนั้น นิสิตคนหนึ่งก็มาหาผมที่โต๊ะทำงาน
 
"หนูมาลาอาจารย์ค่ะ"

 
"ทางบ้านเขาอยากให้หนูไปเรียน ..... "
 
"แล้วจำเป็นต้องลาออกด้วยเหรอ แค่พักการเรียนไม่ได้เหรอ" ผมก็ถามเขากลับไป ซึ่งเขาก็อธิบายเหตุผลกลับมา
 
"อันที่จริงหนูก็สนุกกับการเรียนที่นี่"
 
"สวัสดีค่ะอาจารย์" เขายกมือไหว้ผมและก็วิ่งออกไปจากห้อง

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้เห็นเขา

********************

"ถ้าผมทำเพียงแค่นี้ผมผ่านไหมครับอาจารย์"
 
"แลปมันไม่เหมือนวิชาเลคเชอร์นะ" ผมบอกกับเขา
 
"วิชาบรรยาย ถ้าอาจารย์เขาไม่มีคะแนนเก็บจากการเข้าเรียน คุณจะไม่มาเรียนเลยก็ได้ และถ้าคุณทำข้อสอบในวันสอบได้ คุณก็สอบผ่าน"
 
"แต่วิชาปฏิบัติการ มันเป็นเรื่องของการฝึกฝน คือการมาลงมือปฏิบัติในห้องเรียน"
 
"ว่าแต่ว่าทำไมถึงมาสายเป็นประจำล่ะ" ผมถามเขา เพราะวิชาเรียนบ่ายโมงเขามาบ่ายสองเป็นประจำ
 
"ผมนอนไม่หลับครับ เพิ่งจะมาหลับเอาตอนเช้า"

เขานอนไม่หลับจริง ๆ เพราะเขาเครียด เครียดมาก
ณ เวลานี้ผมได้แต่หวังว่า เขาคงได้มีโอกาสได้เดินในเส้นทางที่เขามีสิทธิเลือกเองแล้ว

********************

ในฐานะของอาจารย์ที่ได้มีโอกาสสอนพวกเขา ที่ต้องจากภาควิชานี้ไปด้วยสาเหตุหลังนี้ ผมก็ยังระลึกถึงพวกเขาเสมอ

********************

แม้ว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้ข้อความ (ที่ไม่ว่าจะเป็น ตัวอักษร ภาพ หรือเสียง) สามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกได้ภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที แต่ก็ยังมีอีกเส้นทางหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นเพียงเส้นทางสั้น ๆ แต่เทคโนโลยีปัจจุบัน หรืออาจจะรวมทั้งในอนาคตด้วย ยังไม่สามารถเร่งความเร็วในการส่งข้อความนั้นได้

นั่นคือ ข้อความที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ

********************
คนบนดอย <************@gmail.com>
3 พ.ค. 2020 16:24
ถึง MO.Memoir@gmail.com

สวัสดีค่ะ ขอแนะนำตัวก่อนนะค่ะ ฉันชื่อ ***** นามสกุลเดิมของฉัน ****** เป็นคน หมู่ที่ 5 บ้านห้วยเนียม ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ฉันก็จำไม่ได้หรอกนะค่ะว่าคุณในทีมที่มาทำสะพานที่หมู่บ้านของฉันชื่อว่าอะไร แต่ฉ้นจำได้แค่ไม่กี่คน มีที่ชื่อ พี่เทียน ที่ฉันจำได้ว่าเขาเป็นหัวหน้าทีม และพี่ยิ้ม ที่ฉันเรียกเขาว่าคุณครู เพราะนอกจากที่พวกพี่ ๆ มาจะสร้างสะพานแล้วพวกพี่ยังมาสร้างความรักและแรงบันดาลใจที่ทำให้ฉันก้าวสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ในวันนี้…ฉันเป็นแค่เด็กผู้หญิงที่เกิดบ้านป่าบ้านดอยที่แสนจะธรรมดา ที่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีถนนคอนกรีต ไม่มีระบบน้ำปะปา ไม่มีไฟฟ้า ฉันเกิดในครอบครัวจน ๆ ครอบครัวหนึ่ง แต่พวกพี่ ๆ มาออกค่ายในครั้งนั้นมันทำให้ฉันมีความสุข มีความหวัง และความฝัน ฉันได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษครั้งแรกในชีวิตได้ท่อง A-Z ได้ร้องเพลงลูกหมู…ฉันจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้ดีไม่มีวันลืม และความสุขที่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับพวกพี่ ๆ มันยังตราตรึงในความทรงจำไม่มีวันลืม ฉันพาพวกพี่ ๆ ไปหาหน่อไม้ ไปหาบน้ำ ฯลฯ ซึ่งตอนนั้นฉันมีความสุขมาก พวกพี่เป็นเหมือนเทวดา นางฟ้าสำหรับฉันทุกคน ขอโทษพวกพี่ ๆ และคุณครูด้วยที่จำชื่อพี่ไม่ได้ทุกคน แต่มีพี่ผู้หญิงที่ชื่อพี่ดาวคนหนึ่งที่พวกเด็ก ๆ เรียกว่านางฟ้าสูงสุด เพราะพี่สวยมากและมีเหตุการณ์หนึ่งที่พวกเราเถียงกันว่าใช่พี่ดาวหรือเปล่า? เพราะพี่เขาตัดผมทรงบ๊อบและวันหนึ่งพี่ก็มัดผมและวันนั้นก็สวยยิ่งกว่าเดิม… นี้คือความทรงจำตอนนั้น แต่พวกพี่ ๆ รู้ไหมค่ะวันที่พวกเราเศร้ามากที่สุดคือวันที่พี่ต้องจากพวกเรากลับบ้าน ฉันร้องไห้อยู่เป็นเดือน นั่งมองโอ่งที่นำไปใส่น้ำให้พวกพี่ ๆ ใช้ จนทุกวันนี้เวลาคิดขึ้นมาทีไรฉันร้องไห้ทุกที…ฉันดีใจที่สุดที่ได้บอกความในใจคิดถึงพวกพี่ตลอดมา ฉันได้รับรู้ว่าพวกพี่ได้กลับมาเยี่ยมดูสะพานแต่ฉันก็ไม่กล้าที่จะไปพบไม่รู้จะเริ่มพูดตรงไหนหรือแนะนำตัวแบบไหน ได้แต่แอบมองด้วยความรักและเทิดพูนตลอดมา และฉันหวังว่าขอความนี้จะส่งถึงพี่ ๆ ทุกคนนะค่ะ และฉันสัญญาว่าจะส่งผ่านความรักของฉันให้กับเด็กของฉันทุกคนเหมือนกับที่ฉันได้มีโอกาสรับความรักจากพี่ ๆ แด่…ครูคนที่สอนความรักอันบริสุทธิ์สำหรับฉัน

จาก….(ครูบนดอย)

อีเมล์ข้างต้น ผมได้รับเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ส่งมาจากคนที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน ผมเพิ่งมาเปิดเจอตอนเช้าวันวิสาขบูชา สิ่งที่เขาเล่านั้น เป็นเหตุการณ์เมื่อ ๓๔ ปีที่แล้ว ที่เป็นครั้งเดียวที่ผมได้ไปออกค่ายยุววิศวกรบพิธของคณะ ผมเชื่อว่าที่เขาติดต่อผมมา คงเป็นเพราะเขาเห็นบทความที่ผมเขียนเมื่อ ๙ ปีที่แล้ว ที่เป็นบันทึกความทรงจำของผม ที่มีต่อสะพานแห่งนั้น
 
ตอนนี้ผมทราบแล้วว่า เขาปฏิบัติหน้าที่เป็นครูบนดอย เป็นคุณครูผู้คอยดูแลเด็กเล็ก ๆ ณ หมู่บ้านที่เขาเกิด และผมก็ได้ตอบอีเมล์เขากลับไป

วันพุธที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓
สวัสดีครับ คุณ ******

ตอนที่สร้างสะพานนั้น ก็หน้าร้อนปีพ.ศ. ๒๕๒๙ ปีนั้นผมเป็นนิสิตปี ๒ กำลังจะขึ้นปี ๓ ลงเรียนภาคฤดูร้อน (ที่เขาเรียกว่าเรียนซัมเมอร์นั่นแหละครับ) ก็เลยถูกเพื่อนฝูงชักชวน ให้ร่วมทำสะพาน
 
งานส่วนที่ผมทำ เป็นงานเชื่อมโครงสร้างเหล็ก ที่เอาแท่งเหล็กตัว C มาตัดครึ่ง และมาเชื่อมประกบกันให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม เป็นงานที่ทำที่กรุงเทพ พอทำเสร็จก็เอาไปส่งที่ค่าย ผมก็ติดรถบรรทุกคันนั้นไปด้วย
ผมได้อยู่ที่ค่ายเพียงสัปดาห์เดียวครับ ยังจำบรรยายกาศการไปบ้านน้ำปาด (ที่ตอนนั้นยังเป็นพื้นที่สีชมพูอยู่เลย) ที่ตอนเช้า จะมีรถออกจากหมู่บ้านมายังตัวเมืองหนึ่งคัน และจะกลับเข้าตัวเมืองในตอนบ่าย ถนนยังเป็นลูกรังไต่หน้าผา บางช่วงไม่มีเสาบอกขอบทาง แถมบางตอนคนขับต้องมาเอาโซ่พันล้อเพื่อให้รถวิ่งผ่านหล่มโคลนได้อีก
 
ผมกลับไปที่นั่นอีกที ตอนทำพิธีเปิดสะพานครับ ยังจำได้ว่าก่อนพิธีเปิด ก็มีรถปิ๊กอัพคันหนึ่งวิ่งข้ามสะพานไปเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ ทำเอาพี่ ๆ ที่ยืนอยู่ด้วยกันเปรยขึ้นมาว่า เราออกแบบสะพานนี้ให้รถวิ่งด้วยเหรอ แต่ก็ดีเหมือนกันที่มีคนช่วยทดสอบให้ ยังจำงานตอนกลางคืนที่มีการจัดให้มี "สาวรำวง" และนั่นก็เป็นครั้งแรกครับที่ผมได้รู้จักว่า "สาวรำวง" ว่าคืออะไร
 
มาเห็นภาพสะพานนี้อีกที ก็ตอนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ที่มีข่าวบางสำนักเผยแพร่ออกมา เข้าใจว่าคุณ ****** คงได้เป็นเห็นจากบทความเรื่องนี้บนหน้า blog ของผมใช่ไหมครับ :) :) :)

 
รูปที่แนบมาด้วยเป็นรูปที่ผมไปดึงมาจาก facebook ของพี่เทียน ที่มีเพื่อน ๆ แชร์ส่งกันมาครับ ผมเข้าใจว่า แม้ว่าจะผ่านไปหลายปี ก็ยังมีพี่ ๆ กลุ่มนี้ กลับไปเยี่ยมที่นั่นอยู่
 
ขอบคุณครับ ที่ยังระลึกถึงทุกคนที่ไปค่ายในครั้งนั้น คิดอยู่หลายครั้งแล้วครับ ว่าจะหาโอกาสกลับไปที่นั่นอีก แต่ก็ไม่ได้ไปสักที แต่จะพยายามไปให้ได้ครับ

ด้วยความเคารพ

********************

เมื่อการพบกัน เกิดขึ้นได้โดยที่ตัวบุคคลไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในสถานที่เดียวกัน การจากกันจึงสามารถเกิดในรูปแบบเดียวกันได้เช่นกัน

********************

สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อวันพุธ (๒๐ พฤษภาคม) ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่ร่วมสอนวิชาปริญญาโทด้วยกัน ว่าให้ช่วยส่งไฟล์คะแนนสอบกลางภาควิชาหนึ่งให้หน่อยเพื่อจะได้รวมคะแนนและทำการตัดเกรด
 
ในระหว่างการสนทนา ทำให้ทราบว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น มีศิษย์เก่าคนหนึ่งของภาควิชา เพิ่งจะเสียชีวิตไป ด้วยวัยเพียงแค่ ๔๐ ปี เขาทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
ปรกติผมก็จำชื่อ (ไม่ว่าชื่อจริงหรือชื่อเล่น) และนามสกุลของนิสิต ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้อยู่แล้ว เว้นแต่จะมีอะไรบางอย่างทำให้ติดใจจึงจำได้ทั้งชื่อและนามสกุล อย่างเช่นในกรณีนี้ อาจารย์ที่เล่าข่าวให้ฟังก็จำไม่ได้ว่าชื่ออะไรแน่ แต่สำหรับผมแล้วคนที่ชื่อนี้ที่คุ้น ๆ อยู่มีเพียงไม่กี่คน บังเอิญบนโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่นั่งทำงานอยู่ ก็มีหนังสือรุ่นของนิสิตรุ่นนี้ (รหัส ๔๐) ที่ได้มาเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ที่มีคนชื่อทำนองเดียวกันนี้อยู่ อยู่ตรงหน้าพอดี ก็เลยลองใช้อินเทอร์เน็ตค้นข่าวย้อนหลังดู และก็พบว่าเป็นเขาจริง ๆ
 
ที่จำได้ก็เพราะว่า ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเขาตอนเขาเรียนปริญญาตรี หลังจบปริญญาตรี เขาก็สมัครเรียนต่อโทที่ภาควิชา โดยตอนแรกก็มาสมัครเรียนกับผม แต่พอเรียนไปได้สักพักหนึ่งเขาก็พบว่างานด้านที่ผมทำนั้นมันไม่ใช่งานด้านที่เขาถนัด ก็เลยมาขอย้ายอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งผมก็ไม่ว่าอะไร เห็นชอบด้วย เพราะการดึงตัวเขาเอาไว้มันจะไม่เกิดผลดีกับทั้งสองฝ่าย
   
สำหรับผมแล้ว เขาเป็นคนเงียบ ๆ ไม่ได้ดูมีท่าทางร่าเริงแจ่มใสเหมือนเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น แต่เขาเป็นคนพูดจาสุภาพเรียบร้อย ผลการเรียนก็ธรรมดา ไม่ได้โดดเด่นอะไร


นิสิตวิศวกรรมเคมี รหัส ๔๐

จบจากปริญญาโทเขาก็ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่อังกฤษ สถาบันเดียวกับที่ผมจบมาซะด้วย ก่อนหน้านี้ทราบข่าวแว่ว ๆ ว่าพอจบแล้วก็กลับมาทำงานเป็นอาจารย์ มาทราบข่าวของเขาอีกที ก็เมื่อเขาได้จากไปแล้ว

********************

เพราะการจากลา อาจมาในเวลา ที่เราคาดไม่ถึง
และการพบพาน ก็อาจมาในเวลา ที่เราไม่คาดฝัน

ดังนั้น ช่วงเวลาที่เรามีโอกาส ได้อยู่ร่วมกับผู้อื่น
ไม่ว่าช่วงเวลานั้น จะสั้น หรือยาวนานเพียงใด
จึงควรที่ต้อง ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ต่อเขาเหล่านั้น
เพื่อที่ว่าเมื่อถึงเวลา ที่ต้องแยกย้ายจากกัน
จะได้ไม่มีเรื่อง บาดหมางค้างคาใจ
และเมื่อใด ที่มีโอกาสมาพบกันใหม่
ก็จะเกิดโอกาสที่รื่นรมย์ ต่อทั้งสองฝ่าย ที่ได้มาพบกัน

ท้ายสุดนี้ ก็ขออวยพร ให้พวกคุณทุกคน
ประสบแต่ความสุข ความเจริญในชีวิต ตลอดไป

รศ.ดร.ธราธร มงคลศรี
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด

วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

บางปัญหาเกี่ยวกับท่อที่ต่อเข้าด้านบนของ Fixed-roof tank MO Memoir : Wednesday 27 May 2563

สิ่งที่ทำงานได้ดี ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่เมื่ออะไรต่อมิอะไรมันมาประจวบเหมาะในเวลาที่เหมาะสม มันก็เกิดเรื่องได้เช่นกัน ดังเช่นกรณีตัวอย่างที่นำมาจาก ICI Safety Newsletter สองกรณีนี้

เรื่องที่ ๑ น้ำมันควบแน่นในท่อไนโตรเจน

เรื่องนี้นำมาจาก ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๒๑ เรื่องที่ ๔ เดือนสิงหาคม ๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๑๓)
 
ถัง (Tank) ชนิด fixed roof tank นั้นจะต้องมีรูระบายอากาศอยู่ที่ฝาถังด้านบน เพื่อให้อากาศเหนือผิวของเหลวนั้นไหลออกได้เวลาที่เติมของเหลวเข้าถังหรือเมื่ออากาศร้อน และให้อากาศภายนอกไหลเข้าไปในถังได้เวลาที่สูบของเหลวออกจากถังหรือเมื่ออากาศเย็น ทั้งนี้เพื่อรักษาความดันภายในถังไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป
 
แต่ถ้าของเหลวที่เก็บในถังนั้นเป็นของสารไวไฟที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่าอุณหภูมิห้อง การให้อากาศไหลเข้า-ออกก็อาจทำให้ส่วนที่เป็นไอเหนือผิวของเหลวภายในถัง มีความเข้มข้นอยู่ในช่วง explosive mixture ได้ ดังนั้นถ้าไอที่มีความเข้มข้นในช่วง explosive mixture นี้ระบายออกมาจากรูระบายและพบกับแหล่งพลังงาน (เช่นความร้อน เปลวไฟ ประกายไฟ) ก็จะเกิดไฟลุกไหม้ย้อนกลับเข้าไปในถังและทำให้เกิดการระเบิดขึ้นในถังได้ การป้องกันการเกิดเหตุเช่นนี้ทำได้ด้วยการติดตั้ง flame arrestor เพิ่มเข้าไปที่ช่องระบายไอ (ที่อาจเป็นเพียงแค่ vent หรือ breather valve) แต่การติดตั้ง flame arrestor นี้ไม่สามารถป้องกันการระเบิดภายในถังที่เกิดจากการจุดระเบิดภายในถังได้ (เช่นจากไฟฟ้าสถิตย์) ในกรณีเช่นนี้การใช้แก๊สเฉื่อย (ปรกติก็ไนโตรเจน) ช่วยในการรักษาความดันภายในถังแทนการปล่อยให้อากาศไหลเข้าออกก็สามารถช่วยได้
 
อีกวิธีหนึ่งก็คือการไปใช้ถังเก็บแบบ floating roof tank ที่ฝาบนนั้นลอยอยู่บนผิวของเหลว ในกรณีนี้ถ้าเป็นบ้านเรามันก็ไม่มีปัญหา เพราะมันมีแค่ฝนตก แต่สำหรับประเทศอากาศหนาวที่มีหิมะตก แม้แต่ถัง floating roof ก็ยังต้องมี fixed roof ครอบทับอีกที เพื่อป้องกันไม่ให้หิมะสะสมบน floating roof จนมีน้ำหนักมากเกินกว่าตัว roof จะลอยได้ ทำให้มีที่ว่างระหว่างตัว floating roof และ fixed roof ที่ไอเชื้อเพลิงที่ระเหยรอดออกมาตรงรอยต่อต่าง ๆ สามารถสะสมได้
  
รูปที่ ๑ ไอน้ำมันควบแน่นทางท่อด้านขาออกของท่อไนโตรเจน ทำให้ไนโตรเจนไม่สามารถไหลเข้าถังได้

รูปที่ ๑ เป็นกรณีของการใช้แก๊สไนโตรเจนเข้าไปแทนที่อากาศ กล่าวคือเวลาที่ความดันภายในถังลดลง แก๊สไนโตรเจนก็จะไหลเข้าไป ป้องกันไม่ให้อากาศไหลเข้า และเวลาที่ความดันในถังสูงขึ้น ไอผสมของเชื้อเพลิงกับไนโตรเจนก็จะไหลออกผ่านทางช่องระบาย
  
แก๊สไนโตรเจนความดันสูงจะต้องผ่านวาล์วลดความดันก่อนจะไหลเข้าถัง ตำแหน่งที่ติดตั้งวาล์ว (ไม่ว่าแบบไหนก็ตาม) ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณา คือต้องพิจารณาถึงเรื่อง ความถี่ในการใช้ การซ่อมบำรุง และการป้องกันไม่ให้ใครไปยุ่งเกี่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต กล่าวคือถ้าวาล์วตัวไหนต้องใช้งานบ่อยก็ควรให้เข้าถึงได้ง่าย (เช่นอยู่ระดับพื้นดินหรือมีทางเดินถาวรเข้าถึง) หรือถ้าจำเป็นก็อาจต้องใช้ระบบรอกโซ่ช่วยดึงในการหมุนเปิด-ปิด ตัวไหนที่นาน ๆ ต้องเข้าไปยุ่งทีก็อาจใช้การก่อนั่งร้านแทนเมื่อต้องเข้าไปยุ่ง และตัวไหนที่ไม่อยากให้ใครเข้าไปยุ่งปรับเปลี่ยนเล่น ก็อาจต้องติดตั้งในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก (เช่นต้องสร้างนั่งร้านถึงจะเข้าถึงได้) หรือติดตั้งระบบล็อกเอาไว้ไม่ให้ปรับเปลี่ยนได้ง่าย
ในเหตุการณ์นี้วาล์วลดความดันอยู่ที่ระดับต่ำ โดยท่อด้านขาออกถูกยกสูงขึ้นไปและต่อเข้า tank ณ ตำแหน่งที่สูงกว่าระดับสูงสุดของของเหลวใน tank
  
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่ออากาศร้อน ความดันไอของน้ำมันจะสูงขึ้น ไนโตรเจนจะหยุดไหล ไอน้ำมันบางส่วนจะไหลย้อนเข้ามาในท่อไนโตรเจนได้ และเมื่อกาศเย็นลง ไอน้ำมันที่แพร่เข้ามาในท่อไนโตรเจนจะควบแน่นกลายเป็นของเหลวลงมาสะสมอยู่ทางด้านขาออกของวาล์วลดความดัน และถ้าปริมาณของเหลวที่สะสมนั้นมากพอ ความดันที่เกิดจากความสูงของของเหลวด้านขาออกของวาล์วลดความดันก็จะปิดกั้นไม่ให้ไนโตรเจนไหลเข้าถังได้ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ วาล์วลดความดันจึงควรติดตั้งที่ตำแหน่งระดับความสูงของหลังคาถัง และไม่ควรเปิดโอกาสให้มีของเหลวสะสมในท่อด้านขาออกได้ (เช่นด้วยการวางท่อลาดเอียงลงไปในถัง)

เรื่องที่ ๒ ไฮโดนเจนจากถังเก็บกรด
 
เรื่องนี้นำมาจาก ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๕๙ เรื่องที่ ๖ เดือนธันวาคม ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖)
  
โปรตอน (H+) ที่เกิดจากการแตกตัวของกรด สามารถดึงอิเล็กตรอนจากอะตอมเหล็กได้ โดยตัวมันเองจะเปลี่ยนเป็นแก๊สไฮโดรเจน (H2) ในขณะที่อะตอมเหล็กจะกลายเป็นไอออน (Fe2+) เข้ามาอยู่ในสารละลายกรดแทนโปรตอน แต่การแตกตัวของกรดให้โปรตอนได้นี้ จำเป็นต้องมีสารอื่นมารับโปรตอนจากโมเลกุลกรดก่อน เช่นน้ำ (H2O) ที่เมื่อรับโปรตอนแล้วก็จะกลายเป็นไฮโดรเนียมไอออน (H3O+) แล้วเจ้าตัวไฮโดรเนียมไอออนนี้จึงไปดึงอิเล็กตรอนจากเหล็กอีกที
  
แต่สำหรับกรดที่เข้มข้นมาก ๆ มันจะไม่มีการแตกตัว (หรือมีการแตกตัวน้อยมาก) เพราะไม่มีตัวรับโปรตอน ดังนั้นกรดที่เข้มข้นมาก ๆ จึงสามารถเก็บในถังเหล็กได้ แต่ตรงนี้ใช่ว่าเหล็กจะไม่สึกกร่อนนะ เอาเป็นว่าเรียกว่าอัตราการสึกกร่อนนั้นต่ำมากจนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (กล่าวคือไม่กระทบต่อความแข็งแรงของถังเก็บแม้ว่าจะใช้งานผ่านไปหลายปี)
  
ด้วยเหตุนี้เมื่อใช้ถังเหล็กเก็บสารละลายกรดเข้มข้น ก็ยังควรต้องคำนึงถึงการระบายแก๊สไฮโดรเจนที่อาจเกิดขึ้นจากการที่กรดนั้นไปกัดถังเหล็กเอาไว้ด้วย

รูปที่ ๒ (ซ้าย) เมื่อท่อ vent อยู่ต่ำกว่าระดับความสูงสูงสุดของ tank แก๊สไฮโดรเจนจะสามารถสะสมใช้ roof ได้ (ขวา) แต่ถ้าติดตั้ง vent ที่ตำแหน่งสูงสุดของ roof แก๊สไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นจะระบายออกและฟุ้งกระจายออกไปได้ง่าย
  
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับถังเหล็กที่ใช้เก็บกรดฟอสฟอริก (H3PO4) ของโรงงานผลิตปุ๋ยแห่งหนึ่ง (กรดนี้เป็นตัวให้ธาตฟอสฟอรัส) ท่อระบายแก๊สไฮโดรเจนที่ฝาถังนั้นไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งสูงสุดของฝาถัง แต่อยู่ต่ำลงมาและยื่นออกมาทางด้านข้าง และเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลเข้าไปในท่อได้ จึงออกแบบปลายท่อให้หันลงล่าง (รูปที่ ๒)
  
วันหนึ่ง มีคนงานไปทำงานเชื่อมโลหะในบริเวณดังกล่าว เปลวไฟจากการเชื่อมโลหะไปจุดระเบิดแก๊สไฮโดรเจนที่ไหลออกมาทางปลายท่อระบายแก๊สไฮโดรเจน เปลวไฟเดินทางย้อนเข้าไปในท่อและไปจุดระเบิดแก๊สไฮโดรเจนที่สะสมอยู่ใต้หลังคา ทำให้ฝาถังปลิวออกมา (จดหมายข่าวไม่ได้บอกว่าการเชื่อมเกิดขึ้นที่ไหน อาจจะเกิดจากบริเวณที่สูงกว่าแล้วมีสะเก็ดไฟที่กระเด็นตกลงล่างก็ได้ หรือเกิดจากบริเวณข้างเคียงที่อยู่ใกล้กับท่อระบายแก๊สไฮโดรเจนก็ได้) 
  
วิธีการที่ดีกว่าคือการย้ายท่อระบายแก๊สมาอยู่ ณ ตำแหน่งสูงสุดของฝาถัง และถ้ากลัวน้ำฝนเข้าไปก็อาจใช้การติดตั้งข้องอที่ปลายท่อให้โค้งเป็นตัว U ลงมาข้างล่าง หรือไม่ก็ติดตั้งข้อต่อรูปตัว T ให้แก๊สระบายออกทางซ้ายและขวา
  
ตรงนี้ก็อาจมีคนมองว่า ถ้าเขาติด flame arrestor ตั้งแต่แรก เหตุการณ์นี้ก็คงไม่เกิด แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไปตอนที่เขาออกแบบถังเก็บ ว่าไว้สำหรับเก็บกรดฟอสฟอริก ซึ่งไม่ติดไฟ คนออกแบบก็คงจะมองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องติดตั้ง flame arrestor ไว้ที่ท่อระบายแก๊ส (กรดอนินทรีย์มันไม่ติดไฟ แต่หลายตัวเป็นตัวจ่ายออกซิเจน (เช่นกรดไนตริก HNO3) ทำให้สารอินทรีย์เกิดปฏิกิริยาการออกซิไดซ์ได้ดีขึ้น แต่พวกกรดอินทรีย์มันติดไฟได้นะ โดยเฉพาะพวกกรดไขมัน)
  
และที่ต้องคำนึงก็คือ คนออกแบบมักจะเป็นผู้เชี่ยวชาญงานทางด้านการก่อสร้างไม่ก็เครื่องกล การออกแบบของเขาก็จะเน้นไปที่ความสามารถในการรับแรงเป็นหลัก ข้อกำหนดเพิ่มเติมที่ต้องมีเนื่องจากปฏิกิริยาเคมีที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการใช้งานนั้น จำเป็นที่นักเคมี (หรือผู้ที่มีความรู้ทางด้านเคมี) แจ้งให้ผู้ออกแบบทราบก่อนเริ่มการออกแบบ เพื่อที่เขาจะได้รู้เงื่อนไขเฉพาะที่สำคัญบางข้อก่อนเริ่มงาน

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ให้จุดเทียนไขหย่อนลงไปก่อน MO Memoir : Friday 22 May 2563

"บริเวณที่มีผนังทึบสูงกว่าศีรษะปิดล้อมรอบด้าน ให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าเป็นพื้นที่อับอากาศ"

พื้นที่ปิดล้อมนี้อาจเป็น ถังที่คนเข้าไปข้างในได้ บ่อที่ขุดลงไปในพื้นดิน หรือแม้แต่กระบะท้ายรถบรรทุก (เช่นในเรื่อง "อันตรายจาก H2S คายซับจาก molecular sieve" ที่เคยเล่าไว้เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒)
 
แต่ทั้งนี้ก็อย่าไปตีความประโยคแรกแบบครอบคลุมไปทุกอย่างนะครับ มันต้องดูขนาดของพื้นที่ประกอบด้วย ไม่ใช่ว่าไปยืนอยู่กลางสนามฟุตบอลที่มีอัฒจันทร์ล้อมรอบแล้วไปสรุปว่ามันเป็นพื้นที่ปิดล้อม
ที่วันนี้เลือกเขียนเรื่องนี้ก็เพราะในช่วงสองสัปดาห์ของเดือนนี้ มีอุบัติเหตุที่เป็นข่าวถึง ๓ ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๓ รายและบาดเจ็บสาหัสอีก ๑ ราย โดยอุบัติเหตุนั้นเกิดในรูปแบบเดียวกัน (และจะว่าไปแล้วมันก็มีการเกิดแบบนี้เป็นประจำ) คือการลงไปทำงานในบ่อน้ำ (รูปที่ ๑ - ๓)

รูปที่ ๑ ข่าวการเสียชีวิตจากการลงไปทำงานในบ่อน้ำจากสำนักข่าวบ้านเมือง เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคมที่ผ่านมา
  
รูปที่ ๒ ข่าวการเสียชีวิตจากการลงไปทำงานในบ่อน้ำจากสำนักข่าวมติชน
  
การเสียชีวิตเนื่องจากการสูดดมแก๊สนั้นเกิดได้ ๒ รูปแบบ รูปแบบแรกก็คือแก๊สนั้นไม่มีออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอต่อการหายใจ รูปแบบที่สองเกิดจากความเป็นพิษของแก๊สนั้นเอง (แม้ว่าจะมีออกซิเจนในปริมาณที่มากเพียงพอต่อการหายใจอยู่ก็ตาม)
  
รูปที่ ๓ ข่าวการเสียชีวิตจากการลงไปทำงานในบ่อน้ำจากสำนักข่าวผู้จัดการ

ที่น่าสนใจก็คือ สมมุติว่าเราเริ่มขุดบ่อน้ำบ่อหนึ่ง ลึกสัก ๕ เมตร เมื่อเราเริ่มขุดเอาดินขึ้นมา อากาศก็จะไหลลงไปในหลุมไปแทนที่ดินที่ขุดขึ้นมานั้น ดังนั้นถ้าว่ากันตามนี้ เมื่อขุดบ่อไปได้ลึก ๕ เมตร ที่ก้นบ่อก็จะเต็มไปด้วยอากาศที่เหมือนกับบนปากบ่อ อันตรายจากการไม่มีอากาศหายใจจึงไม่น่าจะเกิด แต่ทำไมพอเวลาผ่านไปนาน ๆ ออกซิเจนในอากาศในบ่อนั้นถึงหายไปได้
  
รูปที่ ๔ คำเตือนเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขุดบ่อและการเข้าไปทำงานในบ่อหลัง จากคู่มือ Oxfam Water Supply Scheme for Emergencies, Instruction manual for Hand Dug Well Equipment, Covering well auger survey, well digging, dewatering and desludging kits พิมพ์เผยแพร่ปีค.ศ. 2000

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่อาจตกลงไปในบ่อ ถ้าเป็นการย่อยสลายแบบใช้อากาศ แบคทีเรียจะใช้ออกซิเจนในอากาศย่อยสลายสารอินทรีย์นั้นเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่เกิดก็คือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูงกว่าอากาศ (หนักว่าอากาศประมาณ 1.5 เท่า) แต่ด้วยความลึกของบ่อจึงทำให้ไม่มีการไหลหมุนเวียนของอากาศภายในบ่อ ทำให้บริเวณก้นบ่อมีการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ความเข้มข้นออกซิเจนนั้นจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ และถ้าเกิดการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีแก๊สมีเทน (CH4) และอาจมีไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ร่วมด้วย ซึ่งแก๊สสองชนิดหลังนี้เป็นแก๊สที่ติดไฟได้
  
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าบ่อที่จะลงไปนั้นมีอากาศเพียงพอ วิธีการง่าย ๆ วิธีการหนึ่งก็ทำได้ด้วยการจุดเทียนไขหย่อนลงไปก่อน ถ้าเห็นว่าเทียนไขดับก็แสดงว่าที่ก้นบ่อนั้นไม่มีอากาศเพียงพอสำหรับการหายใจ
   
แต่วิธีการนี้ก็ใช้ตรวจสอบได้แต่เพียงว่าที่ก้นบ่อมีออกซิเจนมากพอหรือไม่ ไม่สามารถบอกได้ว่าที่ก้นบ่อนั้นมีแก๊สพิษอยู่หรือไม่ คู่มือของ Oxfam ที่เป็นองค์กรการกุศล (รูปที่ ๔) ยังให้คำเตือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับแก๊สที่ติดไฟได้ (ซึ่งก็คือมีเทน) ที่อาจการรั่วไหลออกมาเรื่อย ๆ ที่ก้นบ่อ ด้วยการห้ามการสูบบุหรี่หรือมีเปลวไฟ (ยกเว้นการหย่อนเทียนไขเพื่อทดสอบ) และให้หลีกเลี่ยงการใช้เชือกไนลอน (ในความเป็นจริงก็คือเชือกที่ทำจากไนลอนหรือพอลิโอเลฟินส์) เพราะเชือกเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า การเสียดสีของเชือกเองกับวัสดุใด ๆ ก็จะทำให้เชือกเส้นนั้นมีประจุไฟฟ้าสถิตย์สะสม และถ้ามากพอก็อาจเกิดประกายไฟได้ และถ้าบริเวณที่เกิดประกายไฟนั้นมีแก๊สมีเทนในปริมาณที่มากพอ ก็จะเกิดการระเบิดตามมาได้
  
ปัญหาก็คือ การเสียชีวิตรูปแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในบ้านเรา ปีละหลายราย ทำอย่างไรจึงจะเผยแพร่ข้อควรระวังให้เป็นที่รู้กันให้มากที่สุด เพื่อลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็นในอนาคต

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เมื่อพิจารณาในรูปของอัตราส่วน MO Memoir : Thursday 21 May 2563

"There are three kinds of lies: lies, damned lies, and statistics."
  
ข้อความข้างต้นใครจะเป็นคนเริ่มกล่าวเอาไว้ก็ไม่รู้ ประวัติของประโยคนี้ใน wikipedia ก็บอกเอาไว้ว่ามีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ แล้ว ถ้านับถึงปัจจุบันที่เป็นศตรวรรษที่ ๒๑ มันก็มีอายุยืนยาวมากว่าร้อยปี แถมยังคงเป็นจริงอีก
  
เดือนที่แล้ว (๒๓ เมษายน) เขียนเรื่องเกี่ยวกับ COVID-19 ไว้ในเรื่อง "เมื่อพิจารณาแยกตามช่วงอายุ" มาวันนี้อยากจะนำเสนอมุมมองอีกมุมหนึ่ง คือแทนที่จะพิจารณาเฉพาะตัวเลขรวม ก็จะลองพิจารณาในแง่ของอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรทั้งหมดดูบ้าง โดยตัวเลขต่าง ๆ นำมาจาก https://www.worldometers.info/coronavirus/เมื่อเวลาประมาณ ๑๒.๔๕ น. ของวันนี้ ที่ต้องระบุวันเวลาด้วยก็เพราะ ตัวเลขมันเปลี่ยนตลอดเวลา

รูปที่ ๑ รายชื่อประเทศที่อยู่ใน ๑๗ อันดับแรกเรียงตามจำนวนผู้ป่วยจากมากไปน้อย

บ้านเรามักจะโดนกล่าวหาจากคนในบ้านเราด้วยกันเองและจากต่างชาติว่า ที่เห็นว่าตัวเลขผู้ป่วยน้อยเพราะตรวจน้อยใช่ไหม จริงอยู่ที่ว่าจำนวน "ผู้ป่วย" นั้นอาจทำให้ต่ำได้ด้วยการไม่ตรวจ แต่จำนวน "ผู้เสียชีวิต" นั้นยากที่จะแต่ง เพราะมันมีหลักฐานชัดเจน และช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าสังเกตจากแหล่งข่าวของชาติตะวันตกเองก็เห็นได้ว่า หลายประเทศทางตะวันก็ทำการ "แต่งตัวเลข" ทั้งผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้ต่ำกว่าความเป็นจริง วิธีการที่เขาทำก็ไม่ยากอะไร บอกว่าถ้าอาการไม่หนักก็ไม่ต้องมาโรงพยาบาล และถึงมีอาการหนักแต่มีอายุมากแล้วก็ไม่ต้องมา เพราะโอกาสรอดต่ำ สุดท้ายก็ตายกันคาบ้านพักคนชราแบบไม่ได้รับการตรวจว่าเป็นหรือไม่ ดังนั้นยอดตายตรงนี้ก็เลยไม่ถูกนำมารวม
  
รูปที่ ๒ รายชื่อประเทศที่อยู่ในอันดับที่ ๑๗-๓๖ เรียงตามจำนวนผู้ป่วยจากมากไปน้อย

หลายประเทศที่เห็นว่ามีผู้ป่วยไม่มาก แต่ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศที่เขามีอยู่ก็ถือว่าเยอะนะครับ อย่างเข่นประเทศสวีเดน (อันดับที่ ๒๔ ในรูปที่ ๒) ที่มีใครต่อใครชื่นชมกันเรื่องปล่อยให้อยู่กันอย่างอิสระ ไม่ต้องมีการขังคนไว้ในบ้าน แต่จำนวนผู้ป่วยต่อประชากร ๑ บ้านคนอยู่ที่สามพันกว่า และอัตราการตายสูงถึง ๓๘๐ คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมาที่สุดนั้น มีอัตราการตายเพียงแค่ ๒๘๗ คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน เรียกว่ายังต่ำกว่าสวีเดนอยู่เยอะ
  
อันที่จริงในอเมริกาเขายังมีการแยกอัตราการตายตามสีผิวอีก ทำให้เห็นว่าคนผิวดำมีอัตราการตายที่สูงกว่าคนผิวขาวมาก จนกระทั่งอดีตประธานาธิบดีต้องออกมาโวยวายถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
ทีนี้ลองมาดูกรณีของออสเตรเลียดูบ้าง (อันดับที่ ๕๖ ในรูปที่ ๓) มีอัตราการป่วยอยู่ในระดับเดียวกันกับสหรัฐอเมริกาคือ ๒๗๘ คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน แต่มีอัตราการตายเพียงแค่ ๔ คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน ซึ่งจะว่าไปแล้วอัตราการตายของออสเตรเลียก็ยังสูงกว่าของประเทศไทย (อันดับที่ ๗๒ ในรูปที่ ๓) ถึง ๕ เท่า เพราะไทยมีอัตราการตายเพียงแค่ ๐.๘ คนต่อประชากรหนึ่งล้านคนเท่านั้นเอง แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายมีอดีตเจ้าหน้าที่สถานฑูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยมาวิจารณ์ระบบสาธารณสุขของไทยว่าที่เห็นว่ามีคนป่วยน้อยเพราะตรวจน้อย 
  
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือจากผลการจัดอันดับด้านความพร้อมของระบบสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ที่เห็นว่าประเทศชาติตะวันตกนั้นอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกทั้งนั้น แต่ทำไมเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้จึงไม่สามารถรับมือได้ สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือในเมื่อตัวบ่งชี้ที่ใช้วัดและทำนาย กับผลลัพธ์ที่เป็นจริงนั้นมันแตกต่างกัน มันมีอะไรที่ผิดผลาดตรงไหน การเก็บผลลัพธ์นั้นทำไม่ครอบคลุมหรือไม่ หรือตัวบ่งชี้ที่ใช้นั้นมีไม่ครอบคลุมหรือไม่ หรือให้ความสำคัญกับตัวบ่งชี้ที่ไม่สำคัญมากเกินไป ในขณะที่ไม่ให้ความสำคัญกับตัวบ่งชี้ที่สำคัญในความเป็นจริง หรือไม่มีการนำปัจจัยบางอย่างมาเป็นตัวบ่งชี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข เพราะจำนวนหมอต่อประชากรทั้งหมดมันไม่มีความหมาย ถ้าหากว่าในความเป็นจริงนั้นมีได้เฉพาะประชากรที่มีรายได้สูง (พอที่จะจ่ายค่าประกันสังคมได้) เท่านั้นจึงจะเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ ดังนั้นมันอาจต้องพิจารณาจำนวนประชากรที่มีสิทธิเข้าถึงบริการทางการแพทย์ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดแทน
  
รูปที่ ๓ รายชื่อประเทศที่อยู่ในอันดับที่ ๕๖-๗๔ เรียงตามจำนวนผู้ป่วยจากมากไปน้อย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๗๒

ผมเองมีความรู้สึกว่าในขณะนี้ชาติตะวันตกหลายชาติกำลังเกิดวิกฤตด้าน "ความรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่นในทุก ๆ ด้าน" เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่าประเทศที่เขามองมาตลอด (แม้ว่าจะไม่พูดออกมาโดยตรง แต่ใช้การออกข่าวหรือให้สัมภาษณ์แบบกระทบกระทั่งก็ตาม) สามารถทำได้ดีกว่าพวกเขา ดังจะเห็นได้จากว่าแม้ว่าสถานการณ์ในประเทศเขาเองนั้นย่ำแย่กว่าประเทศที่ยังไม่พัฒนา แทนที่จะตั้งสมาธิว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศตัวเองผ่านวิกฤตไปได้ กลับเที่ยวมาออกข่าวว่าประเทศอื่นที่ดูดีกว่าประเทศเขานั้นเป็นเพราะปกปิดตัวเลขใช่ไหม และที่แย่ก็คือมีคนบ้านเราเองจำนวนหนึ่งก็เป็นไปกับเขาด้วย จะเรียกว่าเห็นฝรั่งเป็นพระเจ้าก็ได้ ท่านจะว่าอะไรก็ถูกเสมอ
  
เคยมีคนโวยวายว่าทำไม่บ้านเราไม่ตรวจเยอะ ๆ ผมก็ต้องอธิบายว่าการตรวจนี้มันไม่ง่ายเหมือนการตรวจตั้งครรภ์ที่ใครก็ได้เดินเข้าร้านขายยาแล้วซื้อชุดตรวจมาทำการตรวจเองที่บ้าน ไม่กี่นาทีก็รู้ผล เริ่มแรกบ้านเราเองมีแลปมาตรฐานเพียงแลปเดียวที่ตรวจได้ก็คือของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แลปที่อื่นจะทำการตรวจได้ก็ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อน การรับรองมาตรฐานนั้นมันรวมทั้ง สถานที่ เครื่องมือ วัสดุสิ้นเปลือง และคนตรวจ และที่สำคัญก็คือคนตรวจที่ไม่สามารถจัดซื้อได้ แต่ต้องใช้การฝึกฝน ใครสอบผ่านก็มีสิทธิ์ทำงาน ใครสอบไม่ผ่านก็ไม่มีสิทธิ์ ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดผิดพลาดได้ เช่นกรณีที่เกิดที่ยะลาจำนวน ๔๐ ราย ที่สุดท้ายต้องมีการตรวจยืนยันถึง ๓ แลปเพื่อจะบอกว่าผลตรวจแลปแรกนั้นมีปัญหา ซึ่งจะว่าไปแล้วตรงนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติใด ๆ มันเป็นหนึ่งในขั้นตอนการทำงานอยู่แล้วที่เมื่อเห็นผลที่ได้นั้นมันแปลก ๆ ก็ต้องตรวจสอบซ้ำ
  
อยู่บ้านได้ดูข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่เป็นประเทศไทยแตกต่างไปจากประเทศอื่นก็คือ เราใช้บุคคลากรทางการแพทย์ (แถมเป็นจิตแพทย์อีกต่างหาก) ในการขอความร่วมมือจากประชาชนในการฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ นั้นจะเป็นนักการเมืองที่เป็นคนออกโทรทัศน์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายมีคนเอาการเมืองมายุ่ง

#เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
#ประเทศไทยต้องชนะ