วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ปฏิกิริยา Dehydroxylation MO Memoir : Saturday 31 March 2555


ปฏิกิริยา Hydration คือปฏิกิริยาการเติมน้ำเข้าไปในโมเลกุล ปฏิกิริยานี้ถ้าเกิดที่ตำแหน่งพันธะคู่ของอะตอมคาร์บอน (-C=C-) ก็จะได้หมู่ไฮดรอกซิล (-C-C(OH)-) แต่ถ้าเกิดที่วงอีพอกไซด์ (Epoxide) ก็จะได้ไกลคอล (-C(OH)-C(OH)-)

ในทางกลับกัน ปฏิกิริยา Dehydration คือปฏิกิริยาการดึงน้ำออกจากโมเลกุล ปฏิกิริยานี้ถ้าเกิดกับหมู่ไฮดรอกซิลที่อยู่โดดเดี่ยวบนสายโซ่คาร์บอนก็จะได้พันธะคู่ (-C=C-) ที่เกิดจากหมู่ -OH และอะตอมไฮโดรเจนจากอะตอมคาร์บอนที่อยู่เคียงข้างอะตอมคาร์บอนที่มีหมู่ -OH เกาะอยู่ แต่ถ้าเกิดระหว่างหมู่ -OH 2 หมู่ที่อยู่บนอะตอมคาร์บอนที่อยู่เคียงข้างกัน ก็จะได้วงอีพอกไซด์

ปฏิกิริยา Hydration และ Dehydration นี้บางทีก็หมายความรวมถึงเติม/ดึงโมเลกุล H2O เข้า/ออกจากโมเลกุลสาร ในกรณีนี้น้ำที่เติมเข้าไปหรือดึงออกมานั้นเป็นน้ำในรูป H2O ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือทำลายหมู่ -OH อาจเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนโมเลกุลของน้ำที่อยู่รวมกับสารตั้งต้นก็ได้

ปฏิกิริยา Hydroxylation คือปฏิกิริยาการเติมหมู่ -OH เข้าไปในโมเลกุล ความแตกต่างระหว่างปฏิกิริยานี้กับปฏิกิริยา Hydration คือในปฏิกิริยา Hydration นั้นทำการเติม H-OH กล่าวคือมีการเติมอะตอม H และ หมู่ -OH เข้าไปโมเลกุลสารตั้งต้น ซึ่งทำให้ได้สารใหม่ที่มีหมู่ -OH แต่ปฏิกิริยา Hydroxylation นั้นเป็นการทำให้สารตั้งต้นมีหมู่ -OH เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีการเติมอะตอม H เข้าไปเพิ่ม เช่นในการเปลี่ยนเบนซีน (C6H6) ไปเป็นฟีนอล (C6H5OH) ด้วย H2O2 นั้นจะเห็นว่ามีจำนวนอะตอมไฮโดรเจนของสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ยังคงเท่าเดิม แต่มีอะตอมออกซิเจนเพิ่มขึ้น 1 อะตอม (อันที่จริงเป็นการดึง H ออก 1 อะตอมและใส่ -OH เข้าไปแทน)

ในทางกลับกัน ปฏิกิริยา Dehydroxylation ก็คือปฏิกิริยาการกำจัดหมู่ -OH ออกจากโมเลกุลสารตั้งต้น ซึ่งมักจะเป็นการเปลี่ยน -OH ให้กลายเป็น -H โดยที่ไม่มีการทำให้เกิดพันธะคู่ (-C=C-)

Stereoisomer เป็นไอโซเมอร์ที่มีการจัดเรียงตัวของอะตอมในสามมิติที่แตกต่างกัน (คือเป็นสารที่มีสูตรทางเคมีและรูปร่างของโมเลกุลเหมือนกัน แต่ตำแหน่งที่เกาะของโมเลกุลแตกต่างกัน) สารที่เป็น stereoisomer ที่ไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างอย่างรวดเร็วจะมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะแยกออกจากกันได้ ไอโซเมอร์ชนิดนี้เรียกว่า configuration isomer ในขณะที่ stereoisomer ที่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างกลับไปกลับมาได้อย่างรวดเร็วโดยการหมุนของพันธะโควาเลนซ์จะเรียกว่า conformational isomer (ดูรูปที่ ๑ และ ๒)

Chiral isomer เป็น configurational isomer ที่มี chiral หรือ disymmetric molecule ถ้าหากโมเลกุลสองโมเลกุลเหมือนกันทุกประการ ทั้งสองโมเลกุลนั้นจะต้องสามารถวางซ้อนทับกันได้ทุกๆจุด แต่ในกรณีของ chiral molecule แล้วจะมีลักษณะเป็นภาพเงาในกระจกของกันและกัน ซึ่งเรียกกันว่า enantiomer ซึ่งไม่สามารถซ้อนทับกันได้

ในกรณีของสารประกอบคาร์บอน Chiral isomer จะเกิดขึ้นเมื่ออะตอมคาร์บอนมีหมู่ที่มาเกาะ 4 หมู่นั้นไม่เหมือนกันเลย เช่นในกรณีของ 2-Butanol H3C-CH2-C(OH)H-CH3 จะเห็นว่าอะตอม C ตัวที่เน้นสีน้ำเงินนั้นมีหมู่มาเกาะ 4 หมู่ที่ไม่เหมือนกันคือ H3C-CH2-, -H, -OH และ -CH3 ดังนั้น 2-Butanol จึงมี 2 ไอโซเมอร์ดังแสดงในรูปที่ ๓

อะตอมที่มีหมู่มาเกาะ 4 หมู่ไม่เหมือนกันนี้จะเรียกว่าเป็น chiral centre


รูปที่ ๑ การหมุนรอบพันธะระหว่างคาร์บอนอะตอมที่ 2 และ 3 ของโมเลกุลบิวเทน (C4H10) และการเปลี่ยนแปลงระดับพลังงานของโมเลกุล


รูปที่ ๒ การบิดโครงสร้างวงแหวนของโมเลกุล cyclohexane (C6H12)


รูปที่ ๓ Chiral isomer ของโมเลกุล 2-butanol จะเห็นว่าโมเลกุล (ก) และ (ข) จะเป็นภาพในกระจกเงาของกันและกัน ทั้งสองโมเลกุลมีหมู่ฟังก์ชันที่เหมือนกัน และมีโครงสร้างโมเลกุลแบบเดียวกัน แต่ถ้าทำการบิดโมเลกุล (ก) ให้หมู่ -CH2CH3 หมู่ -H และอะตอม C ตัวที่มีหมู่มาเกาะ 4 หมู่นั้นให้อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน (จะได้รูป (ค)) จะเห็นว่าหมู่ -OH และ -CH3 จะอยู่ที่ตำแหน่งที่แตกต่างกัน กล่าวคือโมเลกุลไม่สามารถซ้อนทับกันได้ เปรียบเสมือนมือซ้ายและมือขวา (ในการอ่านรูปนี้ พันธะที่เป็นเส้นตรงทึบให้ถือว่าอยู่บนระนาบของกระดาษ พันธะที่เป็นสามเหลี่ยมทึบให้ถือว่ายื่นออกมาจากระนาบกระดาษ และพันธะที่เป็นสามเหลี่ยมประให้ถือว่ายื่นไปทางด้านหลังระนาบกระดาษ

ส่วนโมเลกุลที่ภาพเงาของมันนั้นเหมือนกับตัวมันเองจะเรียกว่ามีคุณสมบัติ achiral (reflection symmestry) โมเลกุลประเภทนี้จะไม่มี enantiomer

เมื่อโมเลกุลสารอินทรีย์เริ่มซับซ้อนมากขึ้น จำนวนของ chiral centre ในแต่ละโมเลกุลก็มีสิทธิ์ที่จะเพิ่มมากตามไปด้วย ที่เห็นเป็นประจำตอนเรียนเคมีหรือชีววิทยาคือกรณีโมเลกุลน้ำตาล เช่นน้ำตาล C6 ที่แสดงในรูปที่ ๔ ข้างล่าง


รูปที่ ๔ (ซ้าย) โมเลกุลของน้ำตาล D-Glucose แตกต่างจาก (ขวา) โมเลกุลของน้ำตาล D-Galactose ตรงการสลับตำแหน่งหมู่ -OH ที่ตีกรอบเอาไว้เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น โมเลกุลของน้ำตาล C6 ดังกล่าวมี chiral centre 4 ตำแหน่ง

Pseudo- แปลว่าเทียม มักใช้ประกอบคำเพื่อให้มีความหมายว่าลอกเลียนแบบ ตัวอย่างเช่น Ephedrine และ Pseudoehedrine ทั้งสองเป็นโมเลกุลที่สามารถพบได้ในธรรมชาติในพืชบางชนิด แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบันจะได้มาจากการสังเคราะห์ สารเคมีทั้งสองตัวนี้ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์เป็นยาแก้แพ้และลดน้ำมูกในยาแก้หวัด โครงสร้างโมเลกุลของสารทั้งสองแสดงในรูปที่ ๕ ข้างล่าง

รูปที่ ๕ (คู่บน) Ephedrine และ (คู่ล่าง) pseudoephedrine ต่างมี chicral centre 2 อะตอมต่อโมเลกุล (ตรงเลข 1 และ 2 ที่กำกับอยู่ในรูป) ดังนั้นแต่ละโมเลกุลจึงมีไอโซเมอร์ได้ 2 แบบ (ภาพจาก www.en.wikipedia.org)

ที่น่าสนใจคือ ถ้ากำจัดหมู่ -OH ที่วงกลมแดงด้วยปฏิกิริยา dehydroxylation ให้กลายเป็น -H ได้จะเกิดอะไรขึ้น

คำตอบอยู่ในรูปที่ ๖ ในหน้าถัดไป

รูปที่ ๖ โครงสร้างโมเลกุลของ (บน) pseudoephedrine นำมาแสดงเพื่อเปรียบเทียบกับ (ล่างซ้าย) amphetamine และ (ล่างขวา) methamphetamine จะเห็นว่า methamphetamine แตกต่างจาก pseudoephedrine ตรงที่ไม่มีหมู่ -OH และถ้าเปลี่ยนหมู่ -CH3 ที่เกาะอยู่กับอะตอม N ให้กลายเป็น -H ก็จะได้ amphetamine

ตอนนี้คงเห็นภาพแล้วนะว่า ทำไมถึงมีการหายไปของยาแก้หวัดที่ผสม pseudoephedrine จากโรงพยาบาล

วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

คำแนะนำก่อนเริ่มทำงาน (สำหรับผู้พึ่งจะสำเร็จการศึกษา) MO Memoir : Wednesday 28 March 2555


เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว (จากมุมมองโลกในแง่ร้าย) ถือว่าอ่านเล่น ๆ สนุก ๆ ก็แล้วกัน

เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายคนกำลังจะสำเร็จการศึกษา และต้องออกไปหางานทำเลี้ยงตัวเอง (คนที่จะเรียนต่อไม่เกี่ยวนะ) และคงมีหลายคนต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่จังหวัดที่ไม่ใช่บ้านตนเอง ทำให้ต้องไปเช่าบ้านอยู่ Memoir ฉบับนี้จึงใคร่ขอแนะนำการเตรียมตัวก่อนที่จะหางาน/เริ่มทำงาน ซึ่งคำแนะนำต่อไปนี้จะเป็นคำแนะนำเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือเพื่อความสุขในการดำรงชีวิตผมก็ไม่รู้เหมือนกัน 
 
เนื้อหาได้มาจากประสบการณ์ของตัวเอง ฟังผู้อื่นเขาเล่ามา จากการสังเกต และการต่อเติมเสริมแต่ง จริงเท็จอย่างไรก็ขอให้ใช้วิจารณญานของแต่ละคนดูเอาเอง

หัวข้อที่เขียนนั้นไม่ได้เรียงตามลำดับ นึกอะไรได้ก็เขียนลงไปแค่นั้นเอง


. บ๊าย บาย ดวงตะวัน

หลายบริษัทเข้างานแต่เช้า แต่เลิกงานหลังดวงอาทิตย์ตกดิน บางบริษัทเข้างานก่อน ๘ โมงเช้า เลิกงานหลังสองทุ่ม ในขณะที่บางบริษัทเข้างานก่อน ๙ โมงเช้า แต่ก็เลิกงานหลังสองทุ่มเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าได้งานทำที่บริษัทที่เริ่มงานเช้า ๆ อย่าคาดหวังว่าจะได้เลิกงานเร็ว สุดท้ายก็เลิกงานพร้อมกับคนที่ทำงานที่บริษัทอื่นที่เข้างานสายกว่า

ถ้าได้งานทำงานบริษัทที่ทำงานเช้า ๆ ก็ขอให้ "บ๊าย บาย ดวงตะวัน" ได้เลย เพราะจากสภาพการจราจรในกรุงเทพ ถ้าบ้านไม่ได้อยู่ใกล้ที่ทำงาน ก็คงต้องตื่นแต่เช้ามืด ออกจากบ้านก่อนพระอาทิตย์ขึ้น มานอนหลับในรถ (ถ้าขับรถมา) หรือที่โต๊ะทำงาน (ถ้ามารถเมล์) เมื่อถึงที่ทำงาน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าโอกาสที่จะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกนั้นแทบเป็น "ศูนย์"

แต่ถ้าคิดถึงดวงตะวันมาก ๆ กลัวจะจำไม่ได้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ก็คงต้องขอให้เพื่อนฝูงหรือญาติมิตรที่มีโอกาสได้เห็น ช่วยถ่ายรูปและโฟสลง facebook วันละสองครั้ง เช้ากับเย็น
ดังนั้นถ้ามีโอกาสเที่ยวก่อนเข้าทำงาน ก็ขอแนะนำให้ไปเที่ยวตามจุดชมดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตก


. ฝึกดำรงชีวิตด้วย 7-11

อันนี้เป็นตอนต่อจากข้อ ๑. ถ้าคุณได้มีโอกาสได้งานทำชนิดที่ทำให้คุณต้อง บ๊าย บาย ดวงตะวัน แล้ว คุณมีโอกาสสูงที่จะได้เข้าทำงานก่อนเวลาที่ห้างโลตัสเปิด และเลิกงานหลังห้างโลตัสปิด (ขอยกเอาห้างนี้มาเป็นตัวอย่างเพราะเห็นแพร่หลายที่สุดและเปิดเช้าสุดปิดช้าสุด) ดังนั้นร้านสะดวกซื้อชนิดเดียวที่คุณจะสามารถหาสิ่งของเพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้คงมีแต่ร้าน 7-11

ถ้าอยู่ในสภาพนี้อาจต้องฝึกปรับตัวด้วยการซื้ออาหารจาก 7-11 มากินเป็นมื้อเช้าและมื้อดึกให้ชินซะ
แต่ถ้าพื้นที่ที่ไปทำงานไม่มี 7-11 ก็แนะนำให้ปลูกผักสวนครัวใส่กระถางเอาไว้ในห้องพัก

การดำรงชีวิตด้วย 7-11 นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องอาหาร แต่รวมทั้งยารักษาโรคด้วย เพราะอาจเป็นสถานที่เดียวที่คุณสามารถหายามารับประทานได้ (เว้นแต่จะเข้าโรงพยาบาล) เวลาที่คุณเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ และต้องการยา


. อาหาร ๓ มื้อที่โรงอาหารบริษัท

ถ้าหากไม่ประสงค์จะกินอาหารแช่เย็นจาก 7-11 ก็ต้องฝึกความเคยชินด้วยการกินอาหารที่โรงอาหารใดอาหารหนึ่งเป็นประจำ เพราะถ้าคุณโชคดี บริษัท/โรงงานในที่ทำงานของคุณนั้นอาจจะมีอาหารให้คุณกินทั้งเช้า เที่ยง และเย็น และนั่นอาจเป็นสถานที่ที่คุณต้องไปกินอาหารเป็นจำนวน ๑๕ มื้อต่อสัปดาห์ (วันละ ๓ มื้อ ๕ วันทำงาน)

ดังนั้นก่อนจบการศึกษาก็อาจทดลองฝึกหัดด้วยการมากินอาหารทั้งเช้า เที่ยง เย็น ที่โรงอาหารใดโรงอาหารหนึ่งในมหาวิทยาลัย เป็นเวลา ๕ วันต่อสัปดาห์ ติดต่อกันหลายเดือนดู ถ้าสามารถทำได้ก็แสดงว่าคุณมีคุณสมบัติที่จะทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานของบริษัทที่รับคุณเข้าทำงานแล้ว

นอกจากนี้อาจทำการฝึกเพิ่มเติมพิเศษด้วยการกินอาหารตามสั่งจำพวกเมนูสิ้นคิด (ข้าวผัดไข่ดาว ผัดกระเพราไข่ดาว ผัดซีอิ้ว ลาดหน้า หรืออะไรทำนองนี้) ทุก ๆ มื้อด้วยก็ได้

ถ้างานเร่งรีบมากก็แนะนำให้ถือศีล ๘ ประเภทกินอาหารมื้อเดียวต่อวัน ส่วนจะกินเวลาไหนก็เลือกเอาเอง


. ชีวิตต้องอุทิศเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น

ถ้าประสงค์ที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คุณต้องปฏิบัติตามนโยบายที่ทุกบริษัทตั้งเอาไว้ "ในใจ" (เขาไม่บอกออกมาเป็นตัวอักษรหรอก แต่ก็เป็นที่รู้กันทั่วไป) นโยบายดังกล่าวคือ "ชีวิตต้องอุทิศเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น"

ถ้าคุณเป็นผู้ที่มีความรู้ในงานที่เขาต้องการ โดยที่คุณไม่มีเพื่อนฝูง ไม่คิดจะมีครอบครัว ไม่รู้จักการสันทนาการ ไม่เล่นกีฬา ไม่รู้จักไปเที่ยว ไม่สนใจญาติพี่น้องหรือแม้แต่พ่อแม่ตัวเอง ไม่สนใจในความรู้สึกของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ออกงานสังคม ไม่ดูทีวี ไม่ฟังวิทยุ สิ่งที่ชอบอ่านคือเอกสารการประชุม สิ่งที่ชอบฟังคือการพูดคุยเรื่องงาน สวรรค์คือโต๊ะทำงาน นั่นแสดงว่าคุณพร้อมแล้วที่จะอุทิศชีวิตของคุณเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น (ซึ่งคุณก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร รู้แต่ว่าเขาได้ผลตอบแทนจากรายได้ของบริษัทมากกว่าคุณ โดยที่เขาอาจนั่งเฉย ๆ รอเงินปันผลโดยไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้)

ถ้าคุณทำปฏิบัติตัวตามย่อหน้าข้างบนได้ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของคุณคงไปได้สวย (หวังว่านะ ถ้าไม่ป่วยตายหรือเป็นบ้าไปซะก่อน)


คนประเภททำแต่งานจนได้ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่สุดท้ายต้องมาเที่ยวเดินบอกใครต่อใครว่าถ้าพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ก็ให้รีบ ๆ ดูแลท่านนะ เพราะตัวเขาเองทำแต่งานจนมีโอกาสมาดูแลพ่อตัวเองเพียงแค่ ๗ วันก่อนพ่อจะเสียชีวิต คนอย่างนี้ผมก็เคยเจอมาแล้ว

อีกอย่างที่ขอเตือนก็คือ โรคที่เป็นตอนอายุมาก (ราว ๆ ๔๐ ขึ้นไป) ที่เกิดจากการที่ทำแต่งานโดยไม่ได้ดูแลสุขภาพของตนเองมักจะเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง และค่ารักษาโรคเหล่านี้ก็ไม่ถูกซะด้วย

บางครอบครัวพ่อแม่ก็ไม่ได้เป็นอะไร แต่ลูกกลายเป็น "เด็กพิเศษ" (หมายถึงเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ไม่ใช่เด็กที่มีความสามารถพิเศษนะ) เดี๋ยวนี้ก็มีให้เห็นอยู่เยอะ สูตรสำเร็จของเด็กพวกนี้คือมักจะมีพ่อแม่ที่ "ประสบความสำเร็จในการทำงานตั้งแต่อายุยังไม่มาก"

ความต้องการของผู้หญิงที่มีต่อสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคมที่ตนอยู่อาศัย แต่ความต้องการของลูกที่มีต่อแม่นั้นเป็นสัญชาติญาณที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นในสังคมไหน


๔ ข้อแรกที่กล่าวมานั้นเป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่คาดหวังความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต่อไปนี้จะเป็นข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในการดำรงชีวิตบ้าง


. เปิดอีเมล์ใหม่

เดี๋ยวนี้เวลาสมัครงานเขาจะให้กรอกอีเมล์ลงไปด้วย ถ้าจะให้ดีคุณควรที่จะเปิดอีเมล์ใหม่ที่มันดูเป็นทางการหน่อย เช่นใช้ ชื่อ.นามสกุล@anymail.com เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่บริษัทจะจำได้ง่ายเวลาที่เขาอยากเรียกตัวคุณไปคุยด้วย เพราะบ่อยครั้งที่พอเห็นอีเมล์แล้วพอจะเดาได้ว่าเจ้าของอีเมล์เป็นคนชอบอ่านการ์ตูนอะไร เชียร์ฟุตบอลทีมไหน คิดว่าตัวเองเป็นคนที่เสน่ห์แค่ไหน ฯลฯ แต่ไม่ได้บอกว่าเจ้าของอีเมล์เป็นใคร

อีกอย่างก็คือเดี๋ยวนี้สามารถใช้อีเมล์ค้นหาได้ว่าคุณเป็นใคร ไปทำอะไรไว้ที่ไหนบ้าง ดังนั้นกิจกรรมอะไรที่ใช้อีเมล์สมัครเพื่อเข้าร่วมแต่ไม่อยากให้คนที่ทำงานรู้ ก็ไม่ควรให้เขารู้อีเมล์อันนั้น


. เปิด facebook ใหม่

เดี๋ยวนี้มีการใช้ facebook เป็นที่ระบายอารมณ์จากการทำงานกันอย่างแพร่หลาย (เช่นนินทาเพื่อนร่วมงาน นินทานายจ้าง นินทาเจ้านาย) ซึ่งเรื่องเหล่านี้มักต้องการระบายกับเพื่อนฝูงที่เรียนมาด้วยกัน แต่ไม่ใช่กับคนในที่ทำงานเดียวกัน ดังนั้นเมื่อได้ทำการเปิดอีเมล์ใหม่ตามข้อ ๕. แล้ว ก็ขอแนะนำให้เปิด facebook ใหม่ด้วยโดยใช้อีเมล์ใหม่ที่ให้กับทางบริษัท ใส่รูปไว้นิดหน่อยพอเป็นพิธี หรือเอาไว้โพสรูปกิจกรรมที่ทำกับบริษัทหรือคนที่บริษัทเดียวกัน

ส่วนรูปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่คุณไปพักผ่อนที่ไหนกับใคร ไปสังสรรที่ไหนกับเพื่อนฝูงที่ไม่ใช่คนในบริษัท คบหาดูใจอยู่กับใคร ไม่ต้องเอามาลง facebook อันใหม่นี้ 
 
แต่ที่เห็นมานั้น พอเริ่มเข้าทำงานแล้วแม้แต่ facebook เดิมก็ยังหาโอกาสเข้าเล่นยาก เห็นมาไม่รู้กี่รายต่อกี่รายแล้ว ก่อนเรียบจบก็โพสลง facebook ได้เกือบทุกวัน ครั้งละหลาย ๆ เรื่อง สารพัดเกมส์ที่จะมีเวลาเล่น แต่พอเรียนจบแล้วก็เห็นหายไปเป็นเดือนเลย กว่าจะมีอะไรมาโพสสักที และก็มักเป็นการโพสผ่านโทรศัพท์มือถือ (คงหาเวลาต่อเน็ตเล่นคอมกันไม่ค่อยได้) จะโผล่มาโพสเป็นชิ้นเป็นอันอีกทีก็โน่น ตอนประกาศว่าจะแต่งงานนั่นแหละ

ผมเคยบอกบางคนว่า ถ้ามีคู่บ่าว-สาวส่งคำเชิญไปงานแต่งงานทาง facebook ดังนั้นเงินช่วยงานก็ให้ด้วยการสแกนเป็นภาพส่งให้คู่บ่าว-สาวทาง facebook ก็แล้วกัน


. เปิดเบอร์โทรมือถือเบอร์ใหม่

ตอนที่สมัครงานกับบริษัทคุณอาจให้เบอร์มือถือเบอร์ปัจจุบันที่ใช้อยู่ แต่เมื่อได้งานทำแล้วแนะนำให้เปิดเบอร์มือถือใหม่ด้วย และแจ้งเบอร์มือถือเบอร์ใหม่ให้กับบริษัททราบว่าเป็นเบอร์ติดต่อคุณ ส่วนเบอร์เดิมก็บอกเขาไปเลยว่าไม่ใช้แล้ว

เหตุผลที่แนะนำให้ทำดังกล่าวก็เพื่อป้องกันไม่ให้โดนจิกหัวใช้งานตลอด ๒๔ ชั่วโมงเป็นเวลา ๗ วันต่อสัปดาห์ ถ้าคุณมีเบอร์โทรเบอร์เดียวที่ใช้ติดต่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง และยังให้เบอร์ดังกล่าวกับบริษัทด้วย ก็เตรียมทำใจไว้เลยว่าแม้แต่ในวันหยุดหรือเวลาที่คุณต้องการเป็นส่วนตัว (โดยที่ไม่ต้องการขาดการติดต่อกับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง) คุณโดนตามจิกเรื่องงานแน่ แต่ถ้าคุณปิดเบอร์มือถือดังกล่าว คุณก็จะขาดการติดต่อกับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง

ดังนั้นคุณจึงควรเปิดเบอร์มือถือเบอร์ใหม่เพื่อให้บริษัทติดต่อคุณ หลังเลิกงานหรืออยู่ในช่วงพักผ่อน คุณก็สามารถปิดโทรศัพท์ที่ใช้เบอร์มือถือเบอร์ใหม่นั้นเพื่อตัดการติดต่อเรื่องงาน โดยที่ยังคงการติดต่อเรื่องอื่นกับเพื่อนฝูงและญาติมิตรด้วยเบอร์เดิมที่มีอยู่ได้

ส่วนจะมีโทรศัพท์สองเครื่องหรือมีเครื่องสองซิมนั้นก็เลือกเอาเองก็แล้วกัน


. ใช้โทรศัพท์ที่ low tech ที่สุด

ยิ่งคุณทำตัวให้ high tech มากเท่าใด คุณก็เปิดโอกาสให้ทางบริษัทเรียกใช้งานคุณตลอดเวลาเท่านั้น
บางบริษัทเขาใช้วิธีแสดงว่าฉันทำงานด้วยการขยันส่งอีเมล์ให้กับคนอื่น และใช้อีเมล์นั้นเป็นบันทึกการสั่งงาน (โดยเฉพาะหัวหน้างาน) พวกนี้จะชอบส่งอีเมล์หลังเลิกงานหรือในช่วงวันหยุด เพื่อที่จะแสดงว่าเขาได้ทุ่มเทการทำงานให้กับบริษัทแม้ว่าจะเลยเวลาเลิกงานหรือเป็นวันหยุดของเขา (แต่เชื่อเถอะว่าคนที่ได้รับอีเมล์นั้นไม่สุขด้วยหรอก) และเมื่อส่งไปแล้วก็มักจะมีการส่ง message หรือโทรแจ้งให้เปิดอ่านด้วย ถ้าเจอหัวหน้างานแบบนี้ก็เตรียมรีบมืออีเมล์ประเภทส่งให้ตอนกลางคืน (พอเห็นเราทำท่าจะกลับบ้านหรือไม่เขาก็กลับไปถึงบ้านเรียบร้อยแล้ว) และขอผลในตอนเช้า หรือไม่ก็ส่งให้ในคืนวันศุกร์และขอทราบผลเช้าวันจันทร์

ยิ่งเป็นรุ่นที่มี GPS ด้วยก็ต้องยิ่งระวัง เพราะถ้าเราไม่ปิดระบบดังกล่าวเขาก็จะตรวจได้ว่าเราอยู่ที่ไหน งานนี้เคยมีคนโดนมาแล้ว จะมาอ้างว่ากลับบ้านไปแล้วหรือมาไม่ทันก็ไม่ได้ซะด้วย เพราะอีกฝ่ายใช้ระบบ GPS ตรวจสอบก่อนว่าขณะนั้นอยู่ที่ไหน

ดังนั้นอย่าหลงดีใจถ้าพบว่าเมื่อเข้าทำงานแล้วทางบริษัทให้โทรศัพท์เครื่องใหม่ที่ high tech มาให้ใช้ และก็อย่าพยามยามแสดงให้คนในบริษัทรู้ว่าโทรศัพท์ที่ใช้กับเบอร์ส่วนตัวนั้น (ดูข้อ ๗.) เป็นเครื่องที่ high tech


. เลือกที่พักที่ไม่อยู่ร่วมกับคนในบริษัท (วันนี้ไม่สบาย)

โดยทั่วไปนั้นถ้าป่วยติดต่อกันไม่เกิน ๓ วันมักจะลาป่วยได้โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่ไม่อยากไปทำงาน และเหตุผลที่มักใช้กันเป็นประจำก็คือ "ป่วย"

แต่วิธีการดังกล่าวจะใช้ได้ผลดีก็ต่อเมื่อที่พักของเรานั้นไม่ได้อยู่ร่วมกับคนอื่นในบริษัทเดียวกัน (ในกรุงเทพมักไม่มีปัญหานี้ แต่พวกอยู่ต่างจังหวัดที่ต้องไปเช่าหออยู่หรืออยู่หอพักของบริษัทนั้นจะเจอปัญหานี้) และอยู่ในเส้นทางที่ไม่มีคนที่ทำงานบริษัทเดียวกันต้องเดินทางผ่าน

ดังนั้นถ้าต้องไปทำงานต่างถิ่นและต้องเช่าหอพักอยู่ แม้ว่าการอยู่ร่วมกันจะช่วยให้หายเหงาได้และอาจสะดวกในการเดินทางไปทำงาน-กลับจากที่ทำงาน (พวกประเภทต้องใช้รถรับ-ส่งของบริษัทหรือติดรถเพื่อนร่วมงาน) แต่เวลาที่เราอยากอู้งานโดยการโทรไปบอกว่าวันนี้ปวดหัว ท้องเสีย ตัวร้อน ฯลฯ นั้นจะทำยาก เพราะเพื่อนร่วมงานที่ทำงานที่เดียวกันอยู่จะจับผิดได้ (ประเภทโทรไปบอกว่าไม่สบายแต่ไม่เห็นนอนอยู่บ้าน)

มีอยู่รายหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่าพอเลิกงานก็กลับบ้านพัก (เช่าอยู่ต่างจังหวัด) พอหัวหน้าถามว่ากลับบ้านไปทำอะไร เขาก็บอกว่าไม่มีอะไรทำ หัวหน้างานก็เลยตอบกลับมาว่างั้นรีบกลับไปทำไม ไม่อยู่ทำงานที่บริษัทต่อล่ะ

ดังนั้นถ้าใครถามว่าต้องรีบกลับไปทำอะไรที่บ้าน ก็ควรตอบไปว่าต้องไปทำโน่นทำนี่และอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด ส่วนจะทำจริงหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


๑๐. ถ่ายรูปที่พักทุกซอกทุกมุม

เป็นเรื่องแปลกที่ภาพที่บันทึกด้วยกล้องถ่ายรูปมักจะมีอะไรมากเกินกว่าที่ตามองเห็นตอนถ่ายรูป ดังนั้นเพื่อความมั่นใจในที่พักใหม่ (ถ้าจำเป็นต้องไปเช่าอยู่) ก่อนนำสิ่งของเข้าไปก็ควรถ่ายรูปห้องพักทุกซอกทุกมุมก่อน และตรวจสอบภาพที่ได้ว่าเหมือนกับที่ตามองเห็น ไม่มีอะไรปรากฏเป็นส่วนเกิน (โดยเฉพาะบริเวณใต้เตียง ฝ้าเพดาน ระเบียง หรือตู้เสื้อผ้า หรือมีเงาอะไรก็ไม่รู้มาปรากฏหลังผ้าม่านไหม) ยิ่งไปเจอห้องพักที่พบว่าเจ้าของเก่าทิ้งธูปเทียนหรือพวงมาลัยดอกไม้เอาไว้ ก็ยิ่งต้องน่าตรวจสอบ

บ่อยครั้งที่ข่าวฆาตกรรมที่เกิดในต่างจังหวัดเป็นเพียงแค่ข่าวท้องถิ่น ไม่ได้ออกสื่อกระจายไปทั่วประเทศ เพราะถ้าไปถามเจ้าของห้องเช่า เขาก็ต้องบอกว่าไม่มีอะไรอยู่แล้ว

ถ้าเจอคำถามประเภท "ห้องที่พักอยู่นั้นนอนหลับสบายไหม" จากเพื่อนร่วมหอก็ต้องพิจารณาคำถามของเขาให้ดี เพราะเขาอาจหมายถึง

(ก) ห้องแอร์เย็น เงียบเชียบ ไม่มีแสงสว่างภายนอกเข้ามากวน ที่นอนนุ่ม ฯลฯ ไหม หรือ
(ข) กลางคืนมีอะไรมารบกวนการนอนไหม

แต่ถ้ามั่นใจในจิตใจของตนเองหรือเครื่องรางของขลังที่มีอยู่ การถ่ายรูปนี้ก็ไม่จำเป็น


๑๑. จ่ายเพิ่มอีกนิดเพื่อห้องเดี่ยว

บางหน่วยงานนั้นมีการรับพนักงานใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ และเมื่อได้จำนวนมากพอก็มักจะจัดสัมมนาพนักงานใหม่นอกสถานที่กัน โดยมักต้องไปค้างคืนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม แน่นอนว่าเขามักจะจัดห้องพักที่เป็นห้องคู่ให้ ถ้าได้ห้องพักคู่กับพนักงานใหม่ด้วยกันก็คงไม่เท่าไร แต่ถ้าได้ห้องพักร่วมกับคนที่เป็นหัวหน้างานนี่ซิ อาจเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้นได้

แน่นอนว่าห้องพักที่เป็นห้องคู่ที่เขาจัดให้นั้นเขาให้พนักงานเพศเดียวกันค้างห้องเดียวกัน เรื่องที่เกิดกับพนักงานหญิงที่พักห้องเดียวกันนั้นผมยังไม่เคยได้ยิน เคยได้ยินแต่เรื่องที่เกิดที่ห้องที่หัวหน้างาน (ผู้ชาย) และลูกน้องใหม่ (ผู้ชาย) พักด้วยกัน ประเภทที่เรียกว่าถ้ายอมให้หัวหน้า "หนุนหลัง" โอกาสก้าวหน้าก็จะมี แต่ถ้าไม่ยอมให้หัวหน้า "หนุนหลัง" โอกาสร่วงก็จะสูง

ดังนั้นถ้ามีโอกาสล่ะก็ และเพื่อความปลอดภัยจากการถูก "แทง" ข้างหลัง พักห้องเดี่ยวแยกจากคนอื่นได้ก็ดี แต่ถ้าชอบรสนิยมดังกล่าวหรืออยากลองด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องทำตามข้อนี้


๑๒. เตรียมใจรับมือกับตัวเลือกใหม่ (น้องฝึกงาน หัวหน้างาน)

สำหรับฝ่ายหญิง การเข้าสู่ที่ทำงานใหม่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ได้พบคนใหม่ ๆ ทั้งหัวหน้างานและผู้บริหาร (ที่ยังเป็นโสด) กล่าวคือมีความพร้อมทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ฐานะ และตำแหน่งหน้าที่การงาน ถ้าฝ่ายหญิงยังไม่มีแฟนก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ามีแฟนอยู่แล้วและจากหน้าที่การงานทำให้พบเจอกันลำบาก ฝ่ายชายที่เป็นแฟนก็คงต้องเผื่อใจเอาไว้บ้าง แต่ถ้าฝ่ายหญิงมีแฟนเป็นคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว งานนี้ไม่แนะนำให้หาตัวเลือกใหม่ เว้นแต่ว่าตัวเลือกใหม่จะดีกว่า

สำหรับฝ่ายชาย การเข้าสู่ที่ทำงานใหม่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ได้พบคนใหม่ ๆ ทั้งเพื่อนร่วมงานใหม่ และเผลอ ๆ ยังอาจต้องได้รับหน้าที่ให้ไปดูแลน้อง ๆ ที่มาฝึกงานด้วย งานนี้แม้ว่าจะมาพบกันน้องเขาทีหลัง แต่ก็มีสิทธิที่จะใช้วัยวุฒิ คุณวุฒิ ฐานะ และตำแหน่งหน้าที่การงาน ที่สูงกว่า ในการปาดหน้าคู่แข่ง

ด้วยเหตุนี้ผมถึงบอกว่าผู้หญิงน่ะ ถ้าอายุ ๓๐ แล้วยังไม่แต่งสักทีก็เตรียมเข้าวัดได้แล้ว ส่วนผู้ชายนั้นยังรอได้ถึงอายุ ๔๐ ตอนนี้พร้อมทั้งฐานะและหน้าที่การงาน จะจีบน้องใหม่ในที่ทำงานก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก อันนี้เห็นมาจากเพื่อนของผมเอง

ฉบับนี้เขียนให้อ่านเล่น ๆ นะ อย่าจริงจังมากเกิน

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๓ (ตอนที่ ๒๓) MO Memoir : Monday 26 March 2555


เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เป็นการบันทึกแนวทางการเขียนวิทยานิพนธ์จากการประชุมย่อยในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ผ่านมา

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

๔ ปีที่ผ่านมา (สำหรับนิสิตป.ตรีรหัส ๕๑) MO Memoir : Saturday 24 March 2555


กระดาษแผ่นเล็ก ๆ แผ่นนั้นอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้ ที่พวกคุณเอามาเหน็บไว้หน้าห้องผมก่อนน้ำท่วม เพื่อให้ผมเขียนอะไรก็ได้เป็นที่ระลึกก่อนจบการศึกษา แต่จวบจนป่านนี้ผมก็ยังไม่ได้เขียนสักที

แต่จะว่าไปก็ไม่ได้คิดจะเขียนลงกระดาษแผ่นนั้นอยู่แล้ว เพราะคิดว่าที่มันไม่พอ

ในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลายคนจะโดนผมทักว่า "เป็นไง ชีวิตนิสิตใช้คุ้มค่าหรือยัง สิทธิพิเศษที่เขามีให้เฉพาะนิสิตก็รีบ ๆ ใช้ซะนะ" หรือถ้าผมเห็นนิสิตหญิงที่แต่งชุดธรรมดามามหาวิทยาลัย ผมก็จะถามว่า "ไม่แต่งชุดนิสิตมาเหรอ เวลาที่จะแต่งได้เหลือน้อยแล้วนะ พอหมดโอกาสแล้วจะรู้สึกคิดถึงขึ้นมา"

ตอนเรียนมัธยมปลายนั้นพวกคุณก็คงเน้นไปที่การเรียนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ได้เข้าเรียนในคณะที่ได้เลือกเอาไว้ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วผมคิดว่าช่วงชีวิต ๔ ปีในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่ดีมากที่พวกคุณมีได้โอกาสมองเห็นและได้ทำในสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากการเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลถึงความคิดและการดำรงชีวิตของพวกคุณเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมในช่วงที่คุณเรียนด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ถ้าเป็นช่วงหลังพ.ศ. ๒๕๐๐ ผมคิดว่ามีนิสิต-นักศึกษาในมหาวิทาลัยอยู่ ๒ รุ่นที่มีโอกาสได้เห็นและ/หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วง ๔ ปีที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย

รุ่นแรกคือรุ่นปีการศึกษา ๒๕๑๖ ที่เริ่มจากได้เห็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ตอนเข้าเรียนปี ๑ การสิ้นสุดของสงครามในเวียดนาม ลาว และกัมพูชาในปีพ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งนำมาสู่ความหวาดหวั่นว่าประเทศไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน ซึ่งต่อเนื่องและเกี่ยวพันกับการเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ตอนอยู่ปี ๔

นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในยุคนั้น หลายหลาย (ที่เรียกกันว่าคนเดือนตุลา) ต่างมามีบทบาททางการเมืองในปัจจุบันนี้

รุ่นที่สองคือรุ่นปีการศึกษา ๒๕๕๑

ตอนเกิดรัฐประหารปีพ.ศ. ๒๕๓๕ นั้นพวกคุณคงยังเป็นเด็กเล็กอยู่ และเมื่อเริ่มรู้ความก็เป็นช่วงที่เหตุการณ์ทางการเมืองสงบเงียบต่อเนื่อง

จนกระทั่งเกิดการชุมนุมในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปีพ.ศ. ๒๕๔๙ และการลงประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวของประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด เพราะประชาชนทุกคนที่อายุถึงเกณฑ์เลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงยอมรับหรือคัดค้าน แต่ตอนนั้นคิดว่าพวกคุณคงจะเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันอยู่ และอายุคงยังไม่ถึงเกณฑ์เลือกตั้ง

พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มจากการได้เห็นเหตุการณ์การชุมนุมประท้วง ยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑

การชุมนุมปิดถนนราชดำเนินในปีพ.ศ. ๒๕๕๒

เหตุการณ์ยึดถนนราชดำเนินและแยกราชประสงค์ในปีพ.ศ. ๒๕๕๓ รวมทั้งการบุกโรงพยาบาลจุฬา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเปลี่ยนสถานที่เกิดเหตุจาก สนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถนนราชดำเนิน ลานพระบรมรูปทรงม้า มาเป็นบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยของเรา และเป็นครั้งแรกที่รอบ ๆ มหาวิทยาลัยของเราอยู่ในเขตใช้กระสุนจริง

และปิดท้ายด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีพ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ทำให้พวกคุณมีการปิดเทอมกลางยาวถึง ๓ เดือน และยังต้องมานั่งเรียนหนังสือกันจนถึงวันนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พวกคุณหมดโอกาสที่จะได้ร่วมงานลอยกระทงของมหาวิทยาลัยเป็นปีสุดท้าย และที่สำคัญคืองานวิชาการที่พวกคุณได้เตรียมการณ์กันมาต้องเลื่อนออกไปอีก ๑ ปี นั่นหมายถึงการที่ต้องส่งมอบงานให้รุ่นน้องทำแทน (หรือว่าพวกคุณคิดจะอยู่ทำกันต่อล่ะ)

มหาวิทยาลัยของเราโชคดีที่ไม่โดนน้ำเหลือหลากเข้ามาท่วม แต่เราโชคดีที่มี "น้ำใจ" ของพวกคุณทั้งหลายที่หลากเข้ามาท่วมมหาวิทยาลัยของเรา เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องประสบอุทกภัย ซึ่งผมเห็นว่าการได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น เป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่ากว่าการได้จัดงานวิชาการเสียอีก

และยังมีอีกหลายคนที่ได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครตามที่ต่าง ๆ ในการช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการไปช่วยกรอกและเรียงกระสอบทราย หรือการไปช่วยบรรจุและแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ
งานช่วยเหลือสังคมที่พวกคุณทำไปนั้นมันไม่มีใบประกาศให้เอาไปใส่แฟ้มเอาไว้ไปโชว์ตอนไปสอบสัมภาษณ์ต่าง ๆ หรือเอาไปขอรางวัลเยาวชนดีเด่น ไม่ได้มีเงินหรือเหรียญรางวัลตอบแทน ไม่ได้ทำให้คุณได้เป็นดาราได้ออกรายการโทรทัศน์ ไม่ได้ทำให้คุณเป็นนิสิตดีเด่นของมหาวิทยาลัย

แต่มันทำให้คุณได้มีความทรงจำดี ๆ เล็ก ๆ ซุกเอาไว้ในก้นบึ้งของหัวใจ ว่าในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตการเรียน คุณได้สละแรงกายเพื่อทำประโยชน์อะไรไว้ให้กับผู้อื่นโดยไม่หวังผลอะไรตอบแทน มากไปกว่าแววตาที่สดใสและรอยยิ้มของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ เปรียบเสมือนการปิดทองหลังพระ

ที่สำคัญคือพวกคุณได้ทำตามพระบรมราโชวาท ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ตรัสไว้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ความว่า

การทำงานด้วยน้ำใจรักต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักพยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้นเมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…

หวังว่าความทรงจำดังกล่าวจะเป็นกำลังใจให้พวกคุณ ยามที่พวกคุณรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ ว่าตัวคุณเองนั้นยังสามารถทำคุณประโยชน์ให้กับผู้อื่นและสังคมได้

จำได้ไหมเมื่อตอนที่คุณเข้ามาเรียนที่ภาคและแรกเจอกับผมนั้น ผมได้บอกกับพวกคุณว่า "หน้าที่ของผมคือบอกให้พวกคุณทราบว่า chem eng นั้นต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อนำไปใช้ทำอะไรบ้าง ในแง่มุมต่าง ๆ ที่ผมรู้ และเมื่อคุณรับรู้ไปหมดแล้ว คุณจะเลือกดำเนินชีวิตเป็น chem eng หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเอง" โดยฝากคำถามที่ถามย้ำเป็นประจำเพื่อให้ไปหาคำตอบหลังจากที่ได้เข้ามาเรียนที่ภาคนี้คือ "ตอบตัวเองให้ได้ว่าต้องการอะไร"

และเมื่อพวกคุณใกล้เรียนจบ หลายคนที่ผมพบก็จะโดนผมถามว่า "ตอบตัวเองได้หรือยังว่าต้องการอะไร"

หลายคนเมื่อใกล้จบก็มักมาถามผมว่า "จะเรียนต่อด้านไหนดี"

ผมก็จะตอบกลับไปว่า "อยากเรียนอะไรก็เรียนไปซิ"

บางรายก็ตอบกลับมาว่า "ไม่อยากเรียนต่อด้านวิศว แต่ถ้าไม่เรียนต่อด้านนี้ก็เสียดายเวลาที่เรียนมาตั้ง ๔ ปี"

ผมก็ถามกลับไปว่า "แล้วคุณไม่เสียดายเวลาของชีวิตที่เหลือเหรอ ถ้าต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ"

ที่สำคัญคือก่อนที่จะตอบตัวเองว่า "ชอบ"อะไรนั้น คุณได้มี "ตัวเลือก" มากพอหรือยัง

คำพูดหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันอยู่เป็นประจำก็คือ "ส่วนใหญ่ที่เรียนไป ไม่ได้ใช้" ซึ่งผู้พูดมักจะให้ความหมายในแง่ลบ

แต่ผมกลับมองว่านั่นเป็นโชคดีของชีวิต เพราะนั่นแสดงว่าคุณมีโอกาสได้เรียนรู้ มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย คุณจะรู้ว่าคุณชอบสิ่งใดและไม่ชอบสิ่งใด

แต่เนื่องจากคุณไม่มีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ชอบได้ทุกอย่าง คุณจึงต้องเลือกทำได้แค่เฉพาะบางอย่าง นั่นแสดงว่า "ส่วนใหญ่ที่เรียนไป ไม่ได้ใช้" แต่ไม่ได้หมายความว่า "ไม่มีโอกาสได้ใช้"

บางสิ่งคุณอาจเรียนโดยที่คุณไม่รู้ตัว อย่างเช่นการทำแลป พวกคุณส่วนใหญ่เมื่อจบไปแล้วคงไม่ได้ไปอยู่ห้องแลปหรือทำแลปที่อื่น ดังนั้นเนื้อหาในวิชาแลปที่พวกคุณเรียนไปนั้นมันไม่ถูกเอาไปใช้ แต่จำได้ไหมตอนที่เข้าภาค เทอมแรกผมทำการแบ่งกลุ่มให้พวกคุณ ไม่ให้พวกคุณมีโอกาสได้เลือกเพื่อนร่วมกลุ่ม พร้อมทั้งบอกว่าพอเทอมที่สองจะให้จับกลุ่มกันเอง เพื่อที่จะได้รู้ว่าใครเป็น "บุคคลพิเศษ" ที่เพื่อนไม่อยากให้ร่วมกลุ่ม

สิ่งสำคัญที่ผมต้องการให้พวกคุณเรียนรู้จากการทำแลปก็คือ "การทำงานร่วมกับผู้อื่น" และ "การทำตัวให้ผู้อื่นยอมรับ" นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ผมอยากให้คุณได้เรียนรู้ในการทำแลปมากกว่าผลแลป เพราะประสบการณ์สอนผมว่า ให้พวกคุณทำการทดลองเดียวกัน ๑๘ กลุ่มก็ได้ผลมา ๑๘ ผลที่ไม่ซ้ำกันเลย (บวกของผมอีก ๑ ก็เป็น ๑๙) ก็เลยบอกไม่ได้ว่าผลแลปใครถูกผลแลปใครผิด

หลายปีมาแล้วก่อนเริ่มสอนแลปเคมีวิเคราะห์ มีนิสิตหญิงคนหนึ่งมานั่งคุยและนั่งร้องไห้อยู่ที่โต๊ะทำงานในห้องแลป ช่วงนั้นเป็นช่วงจัดกิจกรรมรับน้อง เขาได้เข้ามาปรึกษาผมเรื่องการที่ไม่ค่อย ๆ มีเพื่อน ๆ เข้าช่วยทำงาน 
 
ผมก็ตอบเขาไปว่า งานกิจกรรมนั้นเป็นงานอาสา ไม่มีการบังคับว่าใครต้องมาทำ และคนที่ทำก็ต้องไม่คิดว่าฉันดีกว่าคนที่ไม่มาทำ การที่เขาไม่มาร่วมงานกับเรานั้น เราก็ต้องกลับไปพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่เราทำนั้นเขาเห็นชอบหรือไม่ การที่เขาไม่มาร่วมงานนั้นอาจเป็นเพราะว่าเขาคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมันไม่เหมาะสม เขาอยากเปลี่ยนแปลง แต่ทำไม่ได้ก็เลยไม่เข้ามาร่วม อย่าด่วนคิดว่าคนที่ไม่มาร่วมทำนั้นเป็นคนเห็นแก่ตัว

การที่คนส่วนใหญ่ไม่มาร่วมงานก็ต้องกลับมาพิจารณาแล้วว่าเป็นเพราะว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันไม่เหมาะสมหรือไม่ ทำไปเพื่อจุดประสงค์อะไร แล้วเขาเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมีจุดประสงค์ที่ดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่มาร่วม เราก็ต้องหาทางชักชวนให้เขามาร่วม นั่นหมายถึงการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน รูปแบบเดิมนั้นอาจใช้ได้ดีในสมัยหนึ่ง ในสภาพสังคมหนึ่ง แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไปเราก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยที่ยังคงสามารถบรรจุจุดประสงค์ที่ตั้งเอาไว้

แต่ถ้าสิ่งที่เราทำนั้นมีจุดประสงค์ที่เลื่อนลอย ก็ควรพิจารณาว่าจะจัดต่อไปหรือไม่

ผมบอกเขาต่อว่า ถ้าคุณเหนื่อยมากก็ถอนตัวออกไปซิ งานจะล้มก็ช่างหัวมัน ดูจากการที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้ามาร่วมก็แปลได้ว่าคนส่วนใหญ่เขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำอยู่แล้วนี่ ดังนั้นถ้างานนี้มันไม่เกิดขึ้นพวกเขาก็ไม่มีสิทธิจะว่าอะไรอยู่แล้ว

ก่อนจบการสนทนาผมถามเขากลับไปว่า "ตอนนี้รู้หรือยังว่าเพื่อนคนไหนพึ่งได้"

เขาตอบกลับมาว่า "รู้แล้ว"

ผมก็ตอบกลับไปว่า "คุณได้ไปเยอะแล้วนี่ แล้วจะเอาอะไรอีกล่ะ"

แล้วผมก็บอกต่อว่า "สมัยที่ผมเรียนหนังสือน่ะ เพื่อนคนหนึ่งมันกล่าวเลยว่า "ถ้าไม่เคยเจออะไรเหี้ย ๆ มาด้วยกัน มันไม่รู้หรอกว่าใครคนไหนพึ่งได้" โทษทีนะที่ต้องใช้คำอย่างนี้ เพราะมันตรงความหมายตามคำพูดมากที่สุด ผมเห็นมาหลายรายแล้ว แม้ว่าจะเรียนโรงเรียนเดียวกันมาหลายปี เที่ยวเล่นมาด้วยกันก็มาก แต่มารู้น้ำใจกันตอนที่ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยนี่แหละ เพิ่งจะเจอหน้ากันในมหาวิทยาลัยได้แค่ปีสองปี ก็รู้แล้วว่าเป็นคนที่พึ่งพากันได้ในยามเดือดร้อนมากกว่าเพื่อนสมัยโรงเรียนที่คบกันมานานเสียอีก"

ยังจำได้ไหมตอนที่พวกคุณเข้ามาเรียนแลปกันในสัปดาห์แรก ๆ ผมเอากล้องมาถ่ายรูปพวกคุณแต่ละกลุ่มเอาไว้ และก็บอกด้วยว่า "พอเรียนจบปี ๔ เมื่อไรค่อยมาดูรูปเหล่านี้นะ จะได้เห็นว่าภาควิชาได้ทำอะไรกับพวกคุณเอาไว้"

ใครที่ยังไม่เคยดูหรือเคยดูแล้วแต่ก็ลืมไปแล้วก็ไปดูได้ใน facebook ของผม ในอัลบัมแลปเคมีอินทรีย์ ๕๒

ดูแล้วก็ลองเปรียบเทียบหน้าตาตัวเองในปัจจุบันนี้กับตอนเข้าภาควิชามาใหม่ ๆ ซิ แล้วจะเห็นว่าตอนที่พวกคุณถามผมเล่น ๆ ว่าทำไมไม่ไปสอนวิชาปี ๔ บ้าง แล้วผมตอบกลับไปว่า "ไม่อยากไปสอนคนแก่หน้าตาทรุดโทรม" น่ะมันจริงไหม :-)

ขอให้โชคดีและมีความสุขในชีวิตทุกคน

สวัสดี

อาจารย์ 

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

กุ้มใจไม่มีตัว "L" MO Memoir : Friday 23 March 2555


เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๓ (พวกคุณพึ่งจะเกิดกันมั้ง) นักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลง อัสนี-วสันต์ ได้ออกอัลบัม "สับปะรด" ในอัลบัมนั้นมีเพลงดังเพลงหนึ่งชื่อเพลง "กุ้มใจ" (ล้อเลียนคำว่า "กลุ้มใจ") เพลงนี้ร้องยังไงก็ลองไปหาฟังใน Youtube เอาเองก็แล้วกัน

ที่ยกเรื่องนี้มาก็เพราะนึกถึงเมื่อสักประมาณสิบที่แล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขทำป้ายรณรงค์ติดตามที่สาธารณะ (ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องอุบัติเหตุจากการจราจรหรือเปล่า) ป้ายนั้นติดเอาไว้ได้ไม่นานก็โดนทักท้วงและมีการนำออกไป

เหตุผลที่ต้องนำออกไปก็เพราะสะกดชื่อกระทรวงที่เป็นภาษาอังกฤษผิด ชื่อกระทรวงสาธารณสุขภาษาอังกฤษคือ "Ministry of Public Health" แต่ตอนทำป้ายออกมานั้น ชื่อมันตกตัวอักษรแอล "l" ตรงคำ Public ก็เลยกลายเป็นชื่อกระทรวง "Ministry of Pubic Health" 
 
คำว่า "Public" (มีตัวแอล) กับ "Pubic" (ไม่มีตัวแอล) ความหมายมันคนละเรื่องกันเลย ถ้าไม่รู้ว่ามันต่างกันอย่างไรก็ลองไปเปิดพจนานุกรมดูเอาเอง (จากสุขภาพชุมชนกลายมาเป็นสุขภาพเฉพาะส่วนของร่างกาย)
บ่ายวันวานผมลองป้อนคำดังกล่าวเข้าไปใน google แล้วให้ค้นหาเฉพาะเว็บภาษาไทย ปรากฏว่าเจอเยอะมาก มีทั้งที่เป็นหน้าเว็บ คุณวุฒิอาจารย์มหาวิทยาลัย ชื่อสถาบัน และยังปรากฏในวารสารตีพิมพ์ด้วย ในที่นี้ก็เลยยกตัวอย่างมาให้ดูเพียงแค่ ๓ ตัวอย่าง ถ้าอยากเห็นมากกว่านั้นก็ลองไปหาดูเองก็แล้วกัน

http://www.rtcog.or.th/html/photo/29-07-03-13-39-26filepdf.pdf


หน้าเว็บสองหน้าข้างล่างคงไม่ต้องอธิบาย ดูเอาเองก็แล้วกัน มันมาจากไหนก็ปรากฏอยู่ในรูปแล้ว



วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

ลืมตัวตนของตนเอง MO Memoir : Wednesday 21 March 2555


โปสเตอร์ภาพยนต์เรื่อง The Last Samurai นำแสดงโดย Tom Cruise และ Ken Watanabe เข้าฉายเดือนธันวาคม ๒๕๔๖


ยุคนี้เป็นยุคที่ดูเหมือนว่าเราถูกปั่นหัวให้เชื่อว่าต้องทำทุกอย่างให้เหมือนต่างชาติ แม้กระทั่งเวลาเปิด-ปิดภาคการศึกษา

ตอนที่เรียนอยู่ที่อังกฤษนั้น เขาเริ่มต้นปีการศึกษาตอนต้นเดือนตุลาคม ซึ่งก็ตรงกับฤดูใบไม้ร่วง (autumn ในภาษาอังกฤษ หรือ fall ในภาษาอเมริกัน) ไปหยุดเทอมเอาช่วงคริสต์มาสต่อปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว โผล่มาอีกทีหลังปีใหม่ก็เรียนกันต่อไปอีกจนถึงราว ๆ เดือนมีนาคม พักเรียนกันสักครู่ก็เปิดเทอมภาคฤดูใบไม้ผลิต และก็ไปปิดเทอมตอนช่วงฤดูร้อน ซึ่งก็เป็นช่วงประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม

ที่เล่ามาก็เพื่อต้องการให้เห็นภาพว่า เขาหยุดปีการศึกษา (หรือที่เราเรียกว่า "ปิดเทอมใหญ่") ใน "ฤดูร้อน"

บ้านเรานั้นตั้งแต่จำความได้เราก็ปิดเทอมใหญ่ใน "ฤดูร้อน" มาตลอด คือช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และเปิดเทอมใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งก็เป็นการกำหนดเวลาการศึกษาตามฤดูกาลเหมือนกับประเทศในซีกโลกเหนือ

แต่เมื่อไม่นานมานี้ไม่รู้เขาคิดกันยังไง กะจะให้ไปเปิดเทอมเอาในเดือนกันยายน แล้วเดือนมีนาคม-เมษายนต้องมีเรียนกันไหมล่ะ ปีที่แล้วอาจเรียกว่าโชคดีก็ได้ที่เรามีน้ำท่วมใหญ่ หยุดเรียนกันนาน เราคงเห็นได้ข้อพิสูจน์แล้วนะว่าเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนมันเหมาะแก่การเรียนหนังสือแค่ไหน

ในวันที่ ๓๑ มีนาคม (คิดว่าน่าจะเป็นวันเสาร์) ปีค.ศ. ๑๘๕๔ (พ.ศ. ๒๓๙๖) กองเรือรบสหรัฐนำโดย Matthew Perry ได้เข้ามาปิดอ่าวโตเกียวเพื่อบังคับให้ประเทศญี่ปุ่นเปิดประเทศ ในขณะนั้นประเทศญี่ปุ่นยังปกครองด้วยระบบโชกุน สิ่งที่ตามมาคือญี่ปุ่นถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ทางญี่ปุ่นเรียกว่า "Unequal treaty" หรือถ้าแปลเป็นไทยก็น่าจะเป็น "สนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค" หรือ "สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม" พูดง่าย ๆ ก็คือฝ่ายญี่ปุ่นเสียเปรียบ (ไทยเราก็โดนแบบนี้ในสมัยรัชการที่ ๔ และรัชการที่ ๕)

จักรพรรดิ์ Mutsushito ครองราชย์ประเทศญี่ปุ่นในช่วงปีค.ศ. ๑๘๖๗-๑๙๑๒ (พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๕๕ ซึ่งตรงกับช่วงรัชกาลที่ ๕ ของไทย) ยุคนี้เรียกว่ายุค Meiji เป็นยุคที่ประเทศญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนาดใหญ่ที่ทางประวัติศาสตร์เรียกว่า "Meiji restoration" กลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งที่ทางตะวันตกยอมรับให้เทียบเท่า โดยเฉพาะเมื่อกองเรือรบญี่ปุ่นนำโดยนายพล Togo ทำการรบชนะกองเรือรบรัสเซียที่ช่องแคบ Tsushima ในเดือนพฤษภาคมปีค.ศ. ๑๙๐๕ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ด้วยยุทธวิธีที่เรียกว่า "Cross the T"

ที่วันนี้อยากเล่าเรื่องนี้ก็เพราะว่าเมื่อเช้าตื่นมาตอนตีสี่เพื่อมานั่งทำงาน พอเปิดทีวีก็เจอหนังเรื่องหนึ่งที่ผมชอบฉากตอนจบของเรื่อง หนังดังกล่าวคือเรื่อง "The Last Samurai" ซึ่งใช้เหตุการณ์ช่วงต้นยุค Meiji เป็นฉาก

ฉากจบของเรื่องที่ผมชอบเป็นฉากก่อนที่องค์จักรพรรดิจะลงนามในสนธิสัญญากับเอกอัครราชฑูตสหรัฐ แต่ถูกขัดจังหวะโดยการปรากฏตัวของ Captain Nathan Algren (นำแสดงโดย Tom Cruise) ที่นำดาบซามูไรของ Moritsugu Katsumoto (นำแสดงโดย Ken Watanabe) ผู้เป็นอาจารย์ที่องค์จักรพรรดิไว้วางใจมากที่สุดมามอบให้

ประโยคที่ผมชอบก็คือประโยคที่องค์จักรพรรดิกล่าวต่อที่ประชุมนั้นหลังจากที่รับมอบดาบซามูไรไปแล้ว

Emperor Meiji: I dreamed of a unified Japan. Of a country strong and independent and modern... And now we are awake. We have railroads and cannon, Western clothing. But we cannot forget who we are. Or where we come from.


ตรงที่เน้นสีแดงผมขอแปลว่า "แต่เราไม่สามารถลืมได้ว่าเราเป็นใคร หรือว่าเรามาจากไหน"

การพัฒนาประเทศให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาตินั้นไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำตัวทุกอย่างให้เหมือนเขา เรายังสามารถที่จะมีความเป็นตัวของตัวเองได้ ผมคิดว่านี่เป็นบทเรียนที่เราควรจะศึกษาจากประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่เขาพัฒนาการทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีจนประเทศทางตะวันตกยอมรับ แต่เขาก็ยังสามารถรักษาความขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชาติเอาไว้ได้  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเขาไม่ได้ "ลืมตัวตนของตนเอง"

ในตอนจบของเรื่องนั้นองค์จักรพรรดิถาม Captain Nathan Algren เกี่ยวกับอาจารย์ของพระองค์และได้คำตอบดังนี้

Emperor Meiji: Tell me how he died.
Algren: I will tell you how he lived. 

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๓ (ตอนที่ ๒๒) MO Memoir : Tuesday 20 February 2555


เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

Memoir ฉบับนี้เป็นการบันทึก e-mail ที่บันทึกการสนทนาในช่วงวันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับผลของฮีเลียมที่ไหลเข้า purge PDD ของ GC-2014 ECD & PDD และผลการทดลองที่ได้หลังจากการปรับเปลี่ยนความดันด้านขาออกของ pressure regulator ที่หัวถังแก๊สฮีเลียม

เนื่องจากเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวอาจจะมีประโยชน์ต่อการปรับแต่งการทำงานของ PDD และเป็นการบันทึกการพัฒนาแนวความคิดในระหว่างการแก้ปัญหา ดังนั้นจึงขอนำมาลง memoir เพื่อให้สามารถค้นหาได้ภายหลัง

สิ่งที่ต้องขอกล่าวตรงนี้คือสถานการณ์ในขณะนี้ไม่ได้เหมือนกับในช่วงการสนทนานั้น

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๕ ท่อแก๊สระบบ acetylene hydrogenation MO Memoir : Saturday 17 February 2555


หลายปีที่แล้วตอนที่ผมยังทำหน้าที่ตรวจเอกสารนิสิตขอสั่งซื้อของ (ป้องกันการสั่งซื้อแบบมั่ว ๆ เอามาใช้ส่วนตัวหรือเอามาทิ้งเล่น) มีนิสิตผู้หนึ่งเอาเอกสารขออนุมัติซื้อวาล์วทองเหลือง (swagelok) มาให้ผมลงนามรับทราบก่อนสั่งซื้อ ครั้งนั้นนึกยังไงก็ไม่รู้พอลงลายมือชื่อเสร็จและส่งเอกสารคืนเขา ผมก็ถามเขาขึ้นมาลอย ๆ ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรเหรอ เขาตอบผมกลับมาว่าเอาไปใช้ใน line "acetylene hydrogenation"

ผมตอบเขากลับไปว่ามันใช้ไม่ได้นะ มันอันตราย อะเซทิลีนห้ามเจอกับ "ทองแดง" คุณต้องใช้วาล์วสแตนเลส

-------------------------------------------------------------

ถ้าใครได้ศึกษาเคมีอินทรีย์ ในเรื่องของสารประกอบ aklyne (-C≡C-) จะพบปฏิกิริยาหนึ่งของสารประกอบ alkyne คือปฏิกิริยา "Replacement of acetylene hydrogen"

ในกรณีของสารประกอบ alkyne ที่มีโครงสร้าง -CC-H (พันธะสามอยู่ที่ปลายโซ่) อะตอมไฮโดรเจนของพันธะสามดังกล่าวสามารถทำปฏิกิริยากับโลหะบางชนิด (เช่น Ag และ Cu) กลายเป็นเกลือโลหะ metal acetylide ได้ ดังเช่น

R-CC-H + Ag(NH3)2NO3    R-CC-Ag + NH4NO3 + NH3
R-CC-H + Cu(NH3)2Cl   R-CC-Cu + NH4Cl + NH3

เกลือ acetylide ของสารประกอบโลหะที่ได้ไม่มีความเสถียร ว่องไวต่อแรงกระแทกและเกิดระเบิดได้ง่าย ดังนั้นในระบบท่อที่มีใช้งานกับสารประกอบ alkyne จึงต้องไม่มีชิ้นส่วนที่ทำจากโลหะทองแดงหรือโลหะผสมทองแดงอยู่เพื่อความปลอดภัย (ไม่มีใครนำโลหะเงินมาทำเป็นท่อใช้ในโรงงาน)

alkyneที่พบมากที่สุดในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็คืออะเซทิลีน รองลงไปก็คงเป็น methyl acetylene H3C-CC-H หรือที่ในตำราเรียนเขาเรียก propyne แต่ในวงการไม่มีใครเรียก propyne นะ พวกนี้เป็นพวกที่ปนเปื้อนอยู่กับเอทิลีนที่ได้จากโรงโอเลฟินส์ และต้องทำการกำจัดออกก่อนส่งให้ลูกค้า

-------------------------------------------------------------

เขาตอบผมกลับมาว่าอันนี้เป็นระบบเดิมที่รุ่นพี่เขาใช้ เป็นระบบท่อทองแดงทั้งระบบ ก็เห็นรุ่นพี่เขาใช้ได้ ไม่เห็นเป็นอะไรจนเรียนจบไปแล้วด้วย เขาเพียงแค่ซื้อไปเปลี่ยนตัวที่เสียเท่านั้นเอง (หมายเหตุ รุ่นพี่คนนั้นที่เขากล่าวถึงเรียนจบ ป.เอก เรื่องนี้ด้วยนะ)

ผมก็ตอบเขากลับไปว่า ถ้าคุณไปทำการทดลองเองที่บ้านคุณ ไม่มีคนอื่นอยู่ใกล้ ๆ ผมจะแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นก็ได้ เพราะถ้าเกิดเรื่องอะไรคุณก็เดือดร้อนอยู่คนเดียว แต่นี่คุณทำการทดลองให้ห้องแลป ส่วนกลางที่คนอื่นเขาทำงานอยู่ด้วย ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมา คนอื่นที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่จะเดือดร้อนไปด้วย เรื่องนี้ผมจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ คุณต้องรื้อระบบเดิมของคุณและต้องสร้างขึ้นมาใหม่

เขาจากผมไปโดยไม่พูดอะไร

-------------------------------------------------------------

รูปที่ ๑ Material Safety Data Sheet (MSDS) ของอะเซทิลีน ฉบับนี้จัดทำโดยบริษัทแก๊ส BOC มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้ระวังโลหะทองแดง (ในกรอบสีเหลือง)

-------------------------------------------------------------

เอทิลีนที่ผลิตได้จาก cracker นั้นนอกจากจะมีอะเซทิลีนและเมทิลอะเซทิลีนแล้ว ยังอาจมี CO O2 และ CO2 รวมอยู่ด้วย สารเหล่านี้ต่างเป็นสารพิษ (catalyst poison) ต่อตัวเร่งปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรซ์โอเลฟินส์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมหรือกำจัดออกจากเอทิลีนที่ใช้เป็นสารตั้งต้น 
 
การกำจัด CO นั้นทำได้โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นโลหะออกไซด์ CuO ซึ่ง CuO จะถูกรีดิวซ์ด้วย CO กลายเป็น Cu และ CO จะกลายเป็น CO2 ส่วนการกำจัด O2 นั้นทำได้โดยการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นโลหะ Cu ซึ่งโลหะ Cu จะถูกออกซิไดซ์ด้วย O2 กลายเป็น CuO 
 
ดังนั้นเมื่อแก๊สไหลผ่านเบดตัวเร่งปฏิกิริยา Cu และ CuO CO และ O2 จะหมดไปและมี CO2 เพิ่มขึ้น จากนั้นจึงทำการกำจัด CO2 ด้วยการผ่านเบดที่บรรจุเบสเช่น KOH (โดยมีความชื้นอยู่ด้วย) แก๊สที่ผ่านการกำจัด CO2 แล้วจะมีความชื้นอยู่ และต้องเข้าสู่เบดกำจัดความชื้นก่อนที่จะนำไปทำปฏิกิริยา

เนื่องจากการกำจัด CO และ O2 นั้นต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ประกอบด้วยโลหะ Cu ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำจัดอะเซทิลีนและเมทิลอะเซทิลีนออกจากเอทิลีนก่อนแก๊สตัวอื่น

-------------------------------------------------------------

เวลาที่ระบบการทดลองมีปัญหาและต้องควรต้องทำการดัดแปลง/แก้ไขให้ดีขึ้นนั้น นิสิตส่วนใหญ่มักจะพยามยามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำการดัดแปลง/แก้ไข เพราะเกรงว่าจะเสียเวลาทำแลปในสัปดาห์นั้น และถ้าไม่มีผลแลปก็จะโดนอาจารย์ที่ปรึกษาดุเอา เพราะทำวิจัยอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาที่ต้องการผลแลปทุกสัปดาห์ 
 
อีกอย่างก็คือกลัวว่าจะทำให้ผลการทดลองที่ออกมานั้นไม่เหมือนของรุ่นพี่ จะเปรียบเทียบผลการทดลองกันไม่ได้ (อันที่จริงเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมันมีสาเหตุมาจากอาจารย์ที่ปรึกษา ที่ชอบคิดว่าผลการทดลองของรุ่นพี่ที่ออกมาดูดีนั้นมันถูกเสมอ พอรุ่นน้องมาทำซ้ำไม่ได้ก็จะโทษรุ่นน้องว่าไม่มีฝีมือ แต่ในความเป็นจริงคือรุ่นพี่มั่วผลแลป เพราะพอขอให้กลับมาสอนรุ่นน้อง ก็มักจะพบว่าหลีกเลี่ยงการติดต่อ) ดังนั้นจึงมักจะยื้อจะใช้ระบบเดิม จนกว่ามันจะไปต่อไปไม่ได้จริง ๆ จึงจะยอมดัดแปลง

-------------------------------------------------------------

รูปที่ ๒ Acetylene hydrogenation line อะเซทิลีนเข้ามาทางด้านขวา แก๊สตัวอื่นเข้ามาทางด้านบนและด้านซ้าย ก่อนที่จะไหลรวมกันลงทางด้านล่าง ดังนั้นท่อที่มีโอกาสสัมผัสกับอะเซทิลีนจึงควรเปลี่ยนเป็นสแตนเลสทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงวาล์วสองตัวที่ปิดกั้นการไหลของแก๊สที่มาทางด้านบนและด้านซ้ายด้วย วาล์วทั้งสองตัวนี้ต้องเป็นวาล์วสแตนเลสด้วย

-------------------------------------------------------------

ไม่กี่วันถัดมา ผมเห็นเขาทำการทดลองปฏิกิริยา acetylene hydrogenation โดยที่ยังใช้ระบบท่อทองแดงอยู่ ผมก็เตือนให้เขาหยุดการทดลองและทำการแก้ไขระบบท่อก่อน แต่เขาก็ไม่เชื่อ ผมก็เลยไปนำ MSDS ของอะเซทิลีนมาให้ดู เขาก็ดูไปอย่างงั้น แต่ก็ยืนยันที่จะทำการทดลองเหมือนเดิม
ผมก็เลยไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาในระหว่างการประชุมกลุ่มของเขา บอกเขาว่ารู้ไหมว่านิสิตของเขาทำการทดลองโดยเอาสารเคมีที่ไม่ควรมาเจอกันให้มาเจอกัน (อะเซทิลีนกับท่อทองแดง) เดี๋ยวก็เกิดเรื่องหรอก

อาจารย์ที่ปรึกษาของเขาตอบผมกลับมาว่า "ไม่เคยรู้มาก่อน" (ว่าอะเซทิลีนห้ามเจอกับทองแดง)
ผมก็เลยบอกเขาไปว่า ควรให้นิสิตอ่าน MSDS สารเคมีที่ใช้บ้าง ไม่ใช่ให้อ่านแต่ paper แล้วก็เดินออกจากห้องประชุม

-------------------------------------------------------------

เมื่อวานและวันนี้มีคนมาถามผมเรื่องการเรียนปริญญาเอก ผมก็บอกเขาว่าเดี๋ยวนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้นสนแต่การจัดอันดับโดยต่างประเทศ ที่ใช้จำนวนบทความเป็นปัจจัยหลักตัวหนึ่ง ดังนั้นเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีบทความเยอะ ๆ เวลาที่ประเมินความดีความชอบให้กับอาจารย์สักคน ก็จะเน้นไปที่นว่ามีกี่บทความตีพิมพ์ โดยไม่สนว่าบทความที่ได้มานั้นได้มาโดยวิธีใด ไม่ได้ดูว่าจำนวนบทความที่ผลิตได้ต่อช่วงเวลานั้นมันสมเหตุสมผลกันหรือไม่ (จำนวนวันที่ใช้ต่อการผลิตบทความ ๑ บทความ) 
 
และที่สำคัญคือในการประเมินนั้นเขาไม่ได้สนใจว่าผู้ที่มาเรียนด้วยนั้นจะจบการศึกษาหรือไม่ เช่นอาจารย์อาจตั้งเกณฑ์ตามความพอใจของตนเองว่าผู้มาเรียนด้วยต้องผลิตบทความอย่างน้อย ๖ บทความไม่เช่นนั้นจะไม่ให้จบ (ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำหนดแต่บทความเดียวเท่านั้น) ถ้านิสิตผลิตได้เพียงแค่ ๕ บทความก็ต้องออกจากการศึกษา (เช่นรีไทร์หรือทนทำงานต่อไม่ไหว) นิสิตผู้นั้นก็จะไม่ได้อะไรเลย แต่อาจารย์ผู้สอนเองนั้นสามารถเอาบทความทั้ง ๕ บทความนั้นไปขอความดีความชอบได้

-------------------------------------------------------------

ไม่รู้เหมือนกันว่าคนที่มาถามผมเรื่อง variac เสียเมื่อวันก่อน จะมีโอกาสได้แวะเข้ามาอ่าน Memoir นี้หรือไม่