วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2561

วัดเขาพระพุทธบาทบางทราย ชลบุรี MO Memoir : Saturday 11 August 2561

"ประมาณสัก ๓ กิโลเมตรก่อนจะถึงศาลากลางจังหวัดชลบุรี มีภูเขาลูกหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบลบางทราย เชิงเขาลาดลงมาเกือบจดถนนสุขุมวิทย์ ภูเขาลูกนี้มีชื่อเรียกกันเป็นสามัญว่า เขาพระพุทธบาทสามยอด ที่เชิงเขามีวัดโบราณอยู่วัดหนึ่ง กล่าวกันว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ครอบครองกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่งเสด็จประพาสทางเรือมาพักแรมที่ตำบลนี้ ทรงทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศงดงาม จึงโปรดให้สร้างวัดขึ้นที่เชิงเขา แต่โบราณสถานซึ่งสร้างแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้นในปัจจุบันไม่มีเหลืออยู่แล้ว สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่ในเวลานี้เป็นของสร้างและซ่อมใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น
 
(จากหน้า ๒๐ ของหนังสือ "ทัศนาสารไทย จังหวัดชลบุรี" ฉบับของสำนักงานวัฒนธรรมทางศิลปกรรม สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๙๙ โดย นายตรี อมาตยกุล กรรมการสำนักวัฒนธรรมทางศิลปกรรม สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ) ปัจจุบันวัดนี้คือวัดเขาพระพุทธบาทบางทราย


รูปที่ ๑ ที่ตั้งวัดเขาพระพุทธบาทบางทรายในปัจจุบัน (จาก google map) ตำแหน่งที่ (1) ในรูปคือที่ตั้งมณฑปบนเขาพระพุทธบาทบางทรายที่ขึ้นไปถ่ายรูป ส่วนตำแหน่งที่ (2) คือพระเจดีย์บนเขาพระพุทธบาทบางทรายที่ปัจจุบันเป็นองค์สีทองมองเห็นได้จากถนนสุขุมวิท แต่วันที่แวะไปนั้นผมมีเวลาจำกัด และหาทางขึ้นไม่เจอ

เป็นเวลาร่วม ๓๐ ปีที่ผมเดินทางผ่านทั้งถนนสุขุมวิทและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรีเป็นประจำ สนามยิงปืนของค่ายทหารที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ กันก็เคยลองแวะเข้าไปใช้บริการ แต่ไม่เคยคิดจะแวะเข้าไปที่วัดนั้นซักที เพราะจะคิดจะไปก็ตอนที่ไปเห็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัดนี้ในหนังสืออายุกว่า ๖๐ ปีในห้องสมุด ที่มีภาพถ่ายวิหาร (รูปที่ ๒) และพระเจดีย์ (รูปที่ ๓) ที่อยู่บนเขาลูกนั้น ก็เลยอยากแวะขึ้นไปดูหน่อยว่าผ่านไปกว่า ๖๐ ปีแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และเมืองชลบุรีเมื่อมองจากยอดเขานั้นจะเป็นเช่นไร เสียดายที่หนังสือไม่มีภาพเมืองชลบุรีที่มองจากเขาลูกนี้

รูปที่ ๒ ภาพวิหารบนเขาพระพุทธบาทบางทรายจากหนังสือทัศนาสารไทย จังหวัดชลบุรี รูปนี้น่าจะเป็นวิหารบนภูเขาลูกต้นที่มีการกล่าวเอาไว้ในหนังสือ


รูปที่ ๓ พระเจดีย์บนเขาพระพุทธบาทบางทราย มองเห็นทะเลอยูทางด้านซ้ายมือ เสียดายที่ภาพไม่ได้ระบุว่าเป็นภาพถ่ายจากเขาลูกไหน

ในหนังสือยังเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัดนี้ต่อไปว่า
 
" ... ในบริเวณวัดนี้มีต้นไม้ร่มรื่นและเงียบสงัดดีมาก ปูชนียสถานก็สร้างไว้บนภูเขาซึ่งทอดเป็นทิวไปตามถนนสุขุมวิทย์ ภูเขาลูกนี้มีวิหารหลัง ๑ ข้างในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป ๓ องค์ และมีพระสถูปเจดีย์องค์ ๑ ภูเขาลูกที่ ๒ มีวิหารหลัง ๑ มีพระพุทธรูปยืน ๒ องค์และพระพุทธรูปนั่ง ๕ องค์ ประดิษฐานอยู่ข้างใน มีเจดีย์องค์ ๑ กับหอระฆังหอ ๑ บนภูเขาลูกที่ ๓ มีมณฑปหลัง ๑ ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธไสยาศน์องค์ ๑ กับพระพุทธรูปนั่ง ๒ องค์ ต่อขึ้นไปบนยอดเขามีศิลารูปคล้ายศิลาธรรมจักรจมอยู่ในดิน คงโผล่ขึ้นมาให้เห็นเพียงซีกเดียว จึงเรียกกันว่าพระจันทร์ครึ่งซีก และต่อจากพระจันทร์ครึ่งซีกไปเป็นยอดเขาสูงสุด มีพระสถูปเจดีย์องค์ใหญ่องค์ ๑ สูงประมาณ ๒๐ เมตร ตรงกลางเจดีย์นี้เป็นโพรง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นี้เป็นฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งว่ากันว่าเจ้าพระยาทิพกรวงค์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เป็นผู้สร้างขึ้น" (จากหน้า ๒๑)
 
ถ้าว่าตามรายละเอียดนี้ สถานที่ที่ผมขึ้นไปเยี่ยมชมก็คือภูเขาลูกที่ ๓ เพราะเป็นยอดที่มีองค์พระพุทธไสยาศน์ประดิษฐานอยู่ ส่วนที่ว่าขึ้นไปแล้วได้เห็นอะไรบ้างเมื่อมองลงมา ก็ลองไล่ดูจากรูปต่าง ๆ เอาเองก็แล้วกันนะครับ

"พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทอดกฐินที่วัดเขาพระพุทธบาทบางทรายนี้ครั้งหนึ่ง เมื่อพ.. ๒๔๓๐ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ก็เคยเสด็จประพาสพระอารามหลวงที่เชิงเขานี้ครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.. ๒๔๔๗ ในรัชกาลที่ ๕ ทางราชการเคยใช้วัดนี้เป็นที่ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยาเรื่อยมาจนตลอดรัชกาล เพราะฉะนั้นวัดเขาพระพุทธบาทบางทรายนี้จึงนับว่าเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี" (จากหน้า ๒๒)
 
จากการที่มีปูชนียสถานที่ต่าง ๆ บนยอดเขาสามยอด น้ำที่ไหลจากยอดเขาทั้งสามที่ลงมารวมกันในสระที่อยู่ทางล่างจึงมีความเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งน้ำในสระนี้นอกเหนือไปจากเป็นแหล่งน้ำจืดให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ ยังได้ถูกนำมาใช้ในการถือน้ำพิพัฒสัตยาด้วย (รูปที่ ๑๙ - ๒๐)

หลังจากแวะไปพบแพทย์ตามนัด ขากลับเห็นยังพอมีเวลาก็เลยถือโอกาสหาทางขึ้นไปถ่ายรูปที่มณฑปที่อยู่บนยอดเขา ทางขึ้นมณฑปนั้นสามารถจอดรถได้ที่ลานวัดด้านล่างแล้วเดินขึ้นไป แต่ตอนที่ผมไปนั้นผมขับตามแผนที่ google map ไปเรื่อย ๆ ถนนขึ้นไปถึงมณฑปนั้นเป็นถนนแคบ รถสวนทางกันไม่ได้ บางช่วงค่อนข้างชัน (ตามคลิปวิดิโอที่แนบมา) พอลงมาจากเขาลูกที่ ๓ นี้ก็จำเป็นต้องเดินทางต่อ เลยไม่ได้หาทางขึ้นไปบนเขาลูกที่ ๑ และลูกที่ ๒ อันที่จริงก็แวะขับตามแผนที่ที่บอกว่าเป็นเส้นทางไปยังเจดีย์ (ตำแหน่ง 2 ในรูปที่ ๑) แต่เห็นทางขึ้นมันดูรกแบบมีหญ้าขึ้นกลางถนน ก็เลยตัดสินใจไม่ขึ้นไป คิดว่าคราวหน้าถ้ามีโอกาสอีกคงจะหาทางขึ้นไปเยี่ยมชมอีก ๒ ยอดที่เหลือ Memoir ฉบับนี้ยาวหน่อยแต่ก็เป็นรูปถ่ายเสียเกือบทั้งหมด ถือว่าเป็นการเล่าเรื่องด้วยรูปภาพก็แล้วกัน

รูปที่ ๔ สุดทางทางด้านหลังมณฑป

รูปที่ ๕ ตัวมณฑปเมื่อมองจากทางด้านหลัง

รูปที่ ๖ บันไดสำหรับเดินขึ้นมาจากทางด้านล่าง

รูปที่ ๗ อาคารหลังคาสูงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ส่วนอาคารด้านขวาเป็นที่ประดิษฐ์พระพุทธไสยาศน์

รูปที่ ๘ อีกด้านหนึ่งของมณฑป 

รูปที่ ๙ ทางด้านหน้าก็มีทางเดินขึ้นมาเหมือนกัน 

รูปที่ ๑๐ ลองเดินลงไปสำรวจดูหน่อยก็เห็นสภาพทางดังภาพ

รูปที่ ๑๑ มองย้อนขึ้นมายังมณฑป 

รูปที่ ๑๒ รูปนี้ไปจนถึงรูปที่ ๑๘ เป็นภาพตัวเมืองชลบุรีเมื่อมองลงมาก ผมถ่ายภาพไล่จากทางด้านทิศใต้ (คือตัวจังหวัดชลบุรี) ไปจนถึงทางด้านทิศเหนือ 

รูปที่ ๑๓ รูปนี้จะเห็นถนนเลี่ยงตัวเมืองที่ตัดอ้อมออกไปในทะเล 

รูปที่ ๑๔ เป็นช่วงจังหวะเวลาที่น้ำทะเลลงต่ำสุดพอดี

รูปที่ ๑๕ อาคารที่เห็นข้างล่างคือโรงเรียนชลบุรีสุขบท

รูปที่ ๑๖ อาคารที่เห็นข้างล่างคือโรงเรียนชลบุรีสุขบทเช่นกัน

รูปที่ ๑๗ ป่าชายเลนที่ยังพอหลงเหลืออยู่

รูปที่ ๑๘ ซูมภาพเข้าไปยังบริเวณป่าชายเลนที่ยังพอหลงเหลืออยู่

รูปที่ ๑๙ ป้ายเล่าประวัติความเป็นมาของสระเจ้าคุณเฒ่า

รูปที่ ๒๐ สภาพของสระเจ้าคุณเฒ่า

คลิปวิดิโอเส้นทางถนนขึ้นมณฑป

ไม่มีความคิดเห็น: