วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สถานีรถไฟคลองอุดมชลจร MO Memoir : Saturday 18 May 2567

ในวารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๔ ต.ค.-ธ.ค. ๒๕๕๕ เรื่อง "จุดตัดทางรถไฟ" โดยไผทชิต เอกจริยกร ให้คำนิยามของ "ทางลักผ่าน" ว่า

(๔) ทางลักผ่าน คือ ทางตัดผ่านทางรถไฟที่เป็นทางเข้า-ออกประจำของเอกชนหรือผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ๆ ผู้ทำทางตัดผ่านอาจจะเป็นประชาชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล แต่ไม่ได้มีการขออนุญาตทำทางตัดผ่านจากการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงเป็นทางตัดผ่านที่ไม่มีการควบคุมด้านความปลอดภัย ซึ่งในปัจจุบันนี้พบว่ามีจำนวนมากและยากต่อการควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย

สถานีรถไฟคลองอุดมชลจร อยู่ระหว่างสถานีคลองหลวงแพ่งและสถานีเปรง เป็นสถานีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำแม้ว่าจะมีการก่อสร้างอาคารสถานี แต่ก็ยังมีขบวนรถไฟหยุดรับส่งผู้โดยสาร เป็นข่าวใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วที่รถกระบะบรรทุกคนงานวิ่งตัดหน้ารถไฟตรงทางลักผ่านทั้ง ๆ ที่เห็นรถไฟกำลังใกล้เข้ามา

ฉบับนี้ก็ถือได้ว่าเป็นบันทึกสถานที่ธรรมดา ๆ แห่งหนึ่งบนเส้นทางรถไฟอีกเช่นเคย

รูปที่ ๑ รูปจากแผนที่ทหารรหัส L509 จัดทำโดยกองทัพสหรัฐ ฉบับจัดพิมพ์ครั้งแรกที่ใช้ข้อมูลตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๕๒ (พ.ศ. ๒๔๙๕) และนำมาประมวลผลในปีค.ศ. ๑๙๕๘ (พ.ศ. ๒๕๐๑) (1) คือสถานีคลองหลวงแพ่ง (2) คือสถานีเปรง เส้นประสีเขียวคือแนวคลองอุดมชลจร ในรูปนี้ยังไม่มีสถานีคลองอุดมชลจร

รูปที่ ๒ สุดปลายสถานีด้านทิศตะวันตก

รูปที่ ๓ ตอนไปถึงรถสินค้ากำลังมาพอดี 

รูปที่ ๔ ขบวนยาวที่มีแต่ตู้สินค้า 

รูปที่ ๕ ทางเดินขึ้นชานชาลาอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ต้องเดินไต่ไปตามเส้นทางลูกศรสีเหลือง

รูปที่ ๖ มีคนกำลังรอรถไฟโดยสารอีกขบวนที่กำลังมา 

รูปที่ ๗ กำลังแล่นเข้าเทียบชานชาลา

รูปที่ ๘ หัวขบวนจอดเลยป้ายไปหน่อย เจ้าหน้าที่โผล่หน้ามาดูว่าขึ้นรถกันเรียบร้อยหรือยัง ก่อนเดินทางต่อ

รูปที่ ๙ ขบวนที่มาคือรถไปจุกเสม็ด มีคนนั่งทุกตู้ จำนวนคนใช้ได้เหมือนกัน


รูปที่ ๑๐ กำลังจะพ้นตัวสถานี 

รูปที่ ๑๑ ป้ายบอกระยะทางไปยังสถานีข้างเคียง

รูปที่ ๑๒ สภาพตัวอาคารสถานี ทางที่เห็นเป็นทางที่รถสินค้าวิ่ง

รูปที่ ๑๓ ตัวอาคารสถานีเมื่อมองจากอีกฟากหนึ่ง 

รูปที่ ๑๔ มองไปยังทิศตะวันตก (ทางไปกรุงเทพ) ทางคู่ฝั่งนี้เป็นทางรถโดยสารวิ่ง

รูปที่ ๑๕ จากชานชาลาด้านทิศตะวันตกมองย้อนไปทางทิศตะวันออก ฝั่งตรงข้ามมีผู้โดยสารรอรถอยู่หนึ่งคน 

รูปที่ ๑๖ จุดข้ามทางรถไฟที่เกิดอุบัติเหตุ ทางที่อยู่ด้านหน้าคือทางที่รถสินค้าวิ่ง จะอยู่ต่ำกว่าทางรถไฟโดยสาร

รูปที่ ๑๗ ข่าวรถไฟชนรถกระบะบรรทุกคนงาน ในข่าวบอกว่าคนขับเห็นรถไฟกำลังมา เลยลดความเร็ว แต่คนนั่งข้างหลังบอกให้เร่งเครื่องข้ามไปเลย คนขับก็เลยทำตาม แต่ไม่พ้น จุดนี้เป็นทางลักผ่าน คือทางข้ามที่ทำกันเอง (อาจจะโดยชาวบ้านหรือองค์กรท้องถิ่น) โดยไม่ขออนุญาตการรถไฟ

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ผลงานช่างแอร์ MO Memoir : Thursday 16 May 2567

แอร์ตัวนี้เป็นของห้องนอนบ้านเล็ก ๆ หลังเก่าที่อยู่ข้าง ๆ บ้านปัจจุบัน ตอนนี้ก็ใช้เป็นบ้านพักสำหรับญาติที่มาจากต่างจังหวัด มีสองห้องนอน ติดแอร์ให้กับห้องนอนแต่ละห้องเรียบร้อย

สัปดาห์ก่อน คุณภรรยาระหว่างไล่จับเจ้าสมาชิกอายุน้อยสุดของบ้าน (ชเนาเซอร์อายุไม่ถึง ๒ ขวบ) เดินไปสัมผัสตู้แผงคอยล์ร้อนของแอร์ตัวหนึ่งโดยบังเอิญ ปรากฏว่าโดนไฟดูด ก็เลยมาแจ้งให้ไปตรวจ พอเอามัลติมิเตอร์ไปวัด (วัดเทียบกับสายดินที่ลากผ่านปลั๊กพ่วง) วัดไฟได้ 200 V ทั้ง ๆ ที่ safety breaker ของแอร์อยู่ในตำแหน่ง OFF

งานนี้ก็เลยต้องไปเปิดฝากล่อง safety breaker ดู ก็เห็นดังที่ถ่ายรูปมาให้ดูข้างล่าง

รูปที่ ๑ สีดำ คือสาย L เข้า สีน้ำตาลคือสายL ออก สีเทา คือสาย N เข้า สีฟ้า คือสาย N ออก

บ้านนี้เคยเปลี่ยนสายไฟทั้งหลัง (ตอนนั้น มอก. 11-2531) ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมาตรฐานสีสายไฟใหม่ (ปัจจุบันมอก. 11-2553) เลยต้องขอเอารูปสีมาตรฐานสายไฟมาแปะไว้ด้วยเพื่อเตือนความจำ

คือตัว safety breaker ด้านฝั่ง L มันมีปัญหา ดันคันโยกมาที่ตำแหน่ง ON มันก็ไม่มีไฟฟ้าไหลผ่าน (ฝั่ง N ใช้งานได้ปรกติ) ช่างแอร์เขาก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเอาสาย L ที่ต่อไปยังแอร์ต่อตรงกับสาย L ของบ้านเลย (ที่ถูกคือมันต้องเสียบเข้ารูด้านล่าง) แทนที่จะบอกเราว่ามีงานเพิ่ม ให้ไปซื้อ safety breaker มาเปลี่ยนใหม่

ตอนนี้แกัไขด้วยการซื้อ safety breaker ทางออนไลน์มาเปลี่ยนเองเรียบร้อยแล้ว ใช้ยี่ห้อเดิมที่คุ้นเคยกันมานาน ตัวละ ๑๐๐ กว่าบาท ไม่กล้าลองของใหม่ที่เป็นขายตัวละ ๒๐-๕๐ บาท (แล้วแต่ยี่ห้อ)

ปิดเทอมนี้ภาควิชาให้ไปสอนพื้นฐานไฟฟ้ากำลังให้กับนิสิตวิศวกรรมเคมี ก็เลยต้องมานั่งทบทวนค้นคว้าหน่อยว่านิสิตควรจะเรียนรู้อะไรบ้าง และนี่ก็คงจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะเอาไปสอน

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ถังเก็บแนฟทาระเบิดจากไฟฟ้าสถิตที่เกิดจากแนฟทาไหลเข้าถัง MO Memoir : Wednesday 15 May 2567

ไฟฟ้าสถิตที่สามารถจุดระเบิดเชื้อเพลิงในถังเก็บได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากการหย่อนอุปกรณ์ใด ๆ (เช่น เพื่อการเก็บตัวอย่าง การวัดระดับ) ลงไปในถังเก็บเสมอไป การป้อนเชื้อเพลิงเข้าไปในถังเก็บก็มีโอกาสทำให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิตภายในถังสูงมากพอที่จะทำให้ระเบิดได้เช่นกัน

เอกสาร ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๖๓ (เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๗) เรื่องที่ ๘ (รูปที่ ๑) ได้เล่าถึงเหตุการณ์การระเบิดของถังเก็บแนฟทา (น้ำมันเบนซิน) ในระหว่างการเติมน้ำมันเกรดหนึ่งเข้าไปผสมกับอีกเกรดหนึ่งที่อยู่ในถัง โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. ๑๙๕๔ (พ.ศ. ๒๔๙๗) หรือเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว ที่โรงกลั่นน้ำมัน Shell เมือง Pernis ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยการระเบิดเกิดขึ้น ๔๐ นาทีหลังการผสม เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นถูกดับได้ในเวลาไม่นาน จากนั้นจึงทำการย้ายน้ำมันไปยังถังอีกใบหนึ่ง

ในวันรุ่งนี้ทางโรงกลั่นก็ได้เริ่มทำการผสมน้ำมันใหม่อีกครั้ง และภายใน ๔๐ นาทีถัดมา ก็เกิดระเบิดขึ้นอีกครั้ง

สาเหตุของการระเบิดเกิดจากไฟฟ้าสถิตที่เกิดจากอัตราการป้อนน้ำมันเข้าถังเก็บนั้นสูงเกินไป

แนวทางป้องกันที่บทความ (บริษัท ICI) นำเสนอไว้ก็คือให้ลดอัตราการป้อนน้ำมันเข้าถังเก็บ แต่ทางโรงกลั่นใช้อีกวิธีหนึ่งคือผสมสารเติมแต่งป้องกันไฟฟ้าสถิต แต่วิธีหลังนี้ ICI มองว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาเมื่อนำน้ำมันเข้าสู่กระบวนการถัดไป

รูปที่ ๑ การระเบิดในถังเก็บแนฟทาระหว่างการผสมน้ำมันให้เป็นเนื้อเดียวกัน

ใน ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๑๙ (๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓) หัวช้อที่ ๘ (รูปที่ ๒) ได้กล่าวถึงความเร็วที่เหมาะสมในการไหลของไฮโดรคาร์บอนคือ ความเร็วเชิงเส้นควรจะต่ำว่า 7 เมตรต่อวินาที แต่ถ้าหากมีน้ำปนอยู่ด้วยก็ควรที่จะต่ำกว่า 1 เมตรต่อวินาที

นอกจากนี้ยังได้กล่าวว่า มีรายงานการทดลองในวารสาร Fire International (เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๒) ว่าประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับเวลาที่ของเหลวนั้นไหล

แต่ถ้าทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก (ตรงนี้เขาหมายความว่ากับอุปกรณ์เดิม ปิดปั๊ม แล้วเริ่มเดินเครื่องใหม่) หรือตัวเชื้อเพลิงนั้นมีการไหลผ่านท่ออย่างต่อเนื่อง ประจุจะค่อย ๆ ลดหายไป

การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าในช่วงแรกที่เริ่มเดินเครื่องปั๊มเป็นครั้งแรกนั้น จะเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด เพราะของเหลวที่ไหลออกไปนั้นจะมีการสะสมประจุมาก และในทำนองเดียวกัน ปั๊มที่ไม่ได้เดินเครื่องเป็นเวลานาน เมื่อเริ่มเดินเครื่องใหม่ก็จะมีประจุไฟฟ้าสถิตสะสมได้มากเหมือนกัน

รูปที่ ๒ ความเร็วในการไหลที่เหมาะสมของน้ำมัน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่ายคือการเติมของเหลวที่ทำให้ของเหลวนั้นเกิดการกระเด็นกระจาย ใน ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๒๐ (๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๓) เรื่องที่ ๖ (รูปที่ ๓) ได้เน้นย้ำถึงประเด็นนี้

ปรกติการป้อนของเหลวเข้าถังเก็บนั้นจะป้อนเข้าทางด้านล่างของถัง ถ้าระดับของเหลวในถังนั้นสูงกว่าระดับท่อทางเข้า ปัญหานี้ก็จะไม่เกิด การป้อนเข้าทางด้านบนนั้นอาจเกิดขึ้นเมื่อต้องการการผสมของเหลวสองชนิดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยการสูบของเหลวในถังออกทางด้านล่างที่ก้นถัง แล้วป้อนกลับเข้าถัง ณ อีกมุมหนึ่งทางด้านบน (เช่นการปรับองค์ประกอบหรือความหนาแน่นของน้ำมันสองชนิด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนด วิธีการที่ปลอดภัยกว่าคืออย่าให้ของเหลวที่ป้อนเข้าทางด้านบนนั้นตกหล่นอย่างอิสระลงบนพื้นผิวของเหลวที่อยู่ในถัง แต่ให้ไหลผ่านท่อที่จุ่มลงไปใต้ผิวของเหลว

การกระเด็นกระจายของเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดละอองหยดของเหลวเล็ก ๆ นั้น สามารถลดอุณหภูมิจุดวาบไฟลงจากค่าปรกติได้ถึง 50ºC ทำให้ของเหลวที่มีจุดวาบไฟปรกติสูงกว่าอุณหภูมิห้อง กลายเป็นของเหลวที่มีความไวไฟสูงที่อุณหภูมิห้องได้ง่าย (หยดของเหลวเล็ก ๆ มีพื้นที่ผิวต่อหน่วยปริมาตรสูง ทำให้ระเหยกลายเป็นไอได้มากขึ้นที่อุณหภูมิเดียวกัน ทำนองเดียวกับพัดลมไอน้ำที่ฉีดพ่นละอองน้ำออกมา น้ำจะระเหยกลายเป็นไอโดยดึงความร้อนจากอากาศรอบ ๆ)

รูปที่ ๓ ไม่ควรเติมของเหลวไวไฟในรูปแบบที่ทำให้ของเหลวนั้นกระเด็นกระจาย

เรื่องที่ 63/8, 19/8 และ 20/6 ถูกนำไปลงใหม่ใน ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๑๒๖ (สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑) เป็นเรื่องที่ 12/1, 12/2 และ 12/3 ตามลำดับ ในกรณีของเรื่องที่ 63/8 นั้นแม้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าไฟฟ้าสถิตนั้นเกิดจากอะไร แต่อาจจะพอคาดเดาได้ว่าเกิดจากการน้ำมันแบบมีการกระเด็นกระจาย

การผสมของเหลวสองชนิดให้รวมเป็นเนื้อเดียวกันทำได้หลายแบบ เช่นการสูบของเหลวสองชนิดจากแต่ละถังให้มาผสมรวมกันในท่อที่ส่งไปยังถังเก็บใบที่สาม การไหลปั่นป่วนภายในท่อจะทำให้ของเหลวผสมเป็นเนื้อเดียวกัน โดยอาจติดตั้ง inline mixer หรือ static mixer ในท่อเพื่อช่วยในการผสมด้วยก็ได้ การติดตั้งใบพัดผสมเข้าทางด้านข้างของถังก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่ทั้งนี้ต้องดูขนาดของใบพัดและถังประกอบด้วย (ไม่งั้นมันก็จะผสมอยู่กันตรงบริเวณใกล้ ๆ ใบพัด)

รูปที่ ๔ ตัวอย่างท่อสูบเข้าปั๊มที่ลอยขึ้นลงตามระดับความสูงของของเหลวในถัง การสูบแบบนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ตะกอนที่อยู่ก้นถัง (ถ้ามี) ไหลเข้าไปในตัวปั๊ม (จากเอกสารประชาสัมพันธ์ของบริษัท IGA TEC International)

ในกรณีที่ต้องการทำให้ของเหลวที่อยู่ในถังเก็บขนาดใหญ่เป็นเนื้อเดียวกัน สิ่งที่เราต้องการก็คือให้ของเหลวในถังทั้งหมดมีการเคลื่อนตัว จะได้ผสมเป็นเนื้อเดียวกัน วิธีการหนึ่งที่ทำได้คือสูบของเหลวในถังจากทางด้านล่างของถัง และเติมกลับเข้าไปทางด้านบนที่อีกฝากหนึ่งของถัง (ในทางกลับกันก็สามารถใช้การสูบของเหลวออกจากทางด้านบนแล้วเติมกลับเข้าทางด้านล่าง) ในกรณีของการเติมของเหลวกลับเข้าทางด้านบนนั้น ถ้าปลายท่อที่เติมกลับเข้ามานั้นอยู่สูงกว่าระดับผิวของเหลว ของเหลวที่ไหลตกลงมาก็จะเกิดการกระเด็นกระจาย แต่ถ้าระดับของเหลวในถังนั้นสูงจนท่วมปลายท่อที่ป้อนน้ำมันกลับเข้ามา ปัญหานี้ก็จะไม่เกิด

(มีอยู่ปีหนึ่ง นิสิตที่ไปฝึกงานที่โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งได้รับโจทย์ให้วิเคราะห์ปัญหาที่ลูกค้าแจ้งมาว่า น้ำมันเตาที่ส่งไปนั้นคุณสมบัติไม่คงเส้นคงวา โดยที่ไม่ได้บอกว่าคุณสมบัติอะไรที่ไม่คงเส้นคงว่า สุดท้ายพบว่าตัวที่เป็นปัญหาน่าจะเป็นความหนืด (จากการตรวจสอบในช่วงแรกพบว่าน้ำมันที่ตำแหน่งต่าง ๆ ของถังมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน แสดงให้เห็นว่าน้ำมันในถังนั้นไม่เป็นเนื้อเดียวกัน) ก็เลยต้องมาทำการผสมน้ำมันเตาในถังเก็บและเก็บตัวอย่างที่ตำแหน่งต่าง ๆ ในถังมาวิเคราะห์เป็นระยะ เพื่อดูว่าน้ำมันเตาในถังเป็นเนื้อเดียวกันหมดแล้วหรือยัง)

แต่ถ้าให้ปลายท่อป้อนกลับต่ำลงมาถึงระดับใกล้ก้นถัง เวลาของเหลวเต็มถัง ของเหลวส่วนที่อยู่ด้านบนเหนือระดับการสูบออก-ป้อนเข้าจะมีการไหลเวียนที่ไม่ดี การผสมจะทำได้ไม่ดี หรือไม่ก็ใช้การออกแบบที่ทำให้ระดับท่อสูบของเหลวออก (หรือป้อนของเหลวเข้า) นั้นเปลี่ยนความสูงได้ตามระดับของน้ำมันในถัง (รูปที่ ๔)

ไฟฟ้าสถิตเกิดจากการที่พื้นผิวสองพื้นผิวที่สัมผัสกันอยู่นั้นเกิดการแยกตัวจากกัน พื้นผิวที่สัมผัสกันนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นระหว่างของแข็งด้วยกัน ระหว่างของเหลวก็เกิดได้ เช่นหยดน้ำที่ผสมอยู่ในน้ำมัน เมื่อหยดน้ำนั้นจมลงสู่เบื้องล่างผ่านชั้นน้ำมัน ก็จะทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้ (นั่นคือเหตุผลว่าทำไมน้ำมันที่มีน้ำปนอยู่ จึงควรต้องไหลด้วยความเร็วที่ต่ำกว่า) รูปที่ ๕ เป็นตัวอย่างรูปแบบการแยกออกจากกันของพื้นผิว ที่ทำให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิตได้

การระเบิดของถังเก็บเชื้อเพลิงจากไฟฟ้าสถิตเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ที่หลากหลาย แม้ว่าในขณะนั้นจะมีคนทำงานอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการทำงานของคนที่อยู่ในบริเวณนั้นในขณะนั้นเสมอไป และควรต้องมีการพิจารณาการทำงานที่เกี่ยวข้องกับถังเก็บนั้นก่อนหน้า เช่นการขนถ่ายและการผสมว่ามีเกิดขึ้นก่อนหน้าด้วยหรือไม่

รูปที่ ๕ ไฟฟ้าสถิตที่เกิดจากการแยกตัวของพื้นผิวสัมผัส (จากเอกสาร International Safety Guide for Inland Navigation Tank-barges and Terminals", Chapter 3 Static electricity, Edition 1 ปีค.ศ. ๒๐๑๐)

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ที่ระลึกนิสิตวิศวกรรมเคมีรหัส ๖๓ ร้านข้าวแกงที่มีกับข้าว ๕ อย่าง MO Memoir : Monday 13 May 2567

ปี ๒๕๓๑ ช่วงทำงานอยู่มาบตาพุด มีข่าวว่าบริษัทที่มีแต่โรงงานผลิต HDPE (พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง) นำ PP (พอลิโพรพิลีน) ออกขาย โดยบอกว่าผลิตขึ้นเอง (ในขณะนั้นประเทศไทยมีแค่โรงงาน HDPE และ LDPE อย่างละ ๑ โรง)

ฝ่ายตลาดเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นจริง ฝ่ายเทคนิคก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นจริงเช่นกัน เรื่องผ่านมาถึงฝ่าย operation ที่ผมทำงานอยู่ ลูกน้องที่มีเพื่อนทำงานที่โรงงานนั้นก็บอกยืนยันว่าเป็นจริง เราก็เลยมานั่งพิจารณากัน ก็ได้ข้อสรุปว่า "ทำได้"

ความรู้พื้นฐานจากวิชา "เคมี" ทำให้เรารู้ว่าเป็นไปได้ที่จะเอาโรงงานผลิต HDPE มาผลิต PP แต่ในทางกลับกันทำไม่ได้ และทำให้เรารู้ว่าด้วยกระบวนการผลิตในรูปแบบดังกล่าวมันมีโอกาสจะเกิดปัญหาอะไร และต้องวางแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างไร

แต่ถึงกระนั้นโรงงานนั้นก็เกิดความผิดพลาดในระหว่างการแก้ปัญหา ซึ่งนำไปสู่การเกิด Unconfined Vapour Cloud Explosion หรือ UVCE ครั้งแรกของประเทศไทยในเดือนธันวาคม ๒๕๓๑

--------------------

ปี ๒๕๓๙ ระหว่างการ commissioning โรงโอเลฟินส์ที่เพิ่งสร้างเสร็จ เพื่อทำการ calibrate อุปกรณ์วัดที่เรียกว่า displacer ที่ใช้วัดระดับรอยต่อระหว่างเฟสน้ำกับเฟสน้ำมันใน separation drum ของ quench tower ช่างเทคนิคที่ทำหน้าที่ดังกล่าวมองไม่เห็นชั้นน้ำมันสีแดงที่เขาเห็นเป็นประจำจากประสบการณ์ของเขา จึงเข้าใจว่าในตัว drum นั้นเต็มไปด้วยน้ำ จึงเปิดวาล์วของเหลวใน drum ลงท่อระบายน้ำ แต่สิ่งที่เขาระบายลงไปนั้นคือน้ำมัน ไม่นานนัก น้ำมันที่ถูกระบายลงท่อระบายน้ำก็เกิดการระเบิด นั่นคือการเกิด UVCE ครั้งที่สองของประเทศไทย

แนฟทาบริสุทธิ์นั้นไม่มีสี แนฟทาที่เขานำมาใช้ในการ calibrate อุปกรณ์ก่อนเริ่มเดินเครื่องครั้งแรกเป็นแนฟทาบริสุทธิ์ มันจึงใสเหมือนน้ำ ในขณะที่แนฟทาที่วิ่งวนอยู่ในระบบหลังโรงงานเริ่มทำงานไปพักหนึ่ง มันจะมีสีแดง

มีอยู่ปีหนึ่งไปตรวจฝึกงานนิสิตรายหนึ่งที่โรงโอเลฟินส์ พี่เลี้ยงให้เขานำเสนอกระบวนการผลิตซึ่งเขาก็ทำได้คล่องมาก เพราะถึงตอนถามคำถาม ผมก็ถามเขาไปว่าทำไมต้องมีหน่วยกำจัดกำมะถัน ในเมื่อใน flow chart ที่คุณแสดงมันไม่มีการป้อนกำมะถัน

ปรากฏว่าพี่เลี้ยงไม่ได้บอกให้รู้ว่าในความเป็นจริงมีการผสมสารประกอบกำมะถันเข้าไปกับแนฟทา

ความรู้จากวิชา "เคมี" ทำให้เรารู้ว่าปฏิกริยา thermal cracking ที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์จะดำเนินไปข้างหน้าได้ดีขึ้นที่ partial pressure ต่ำ ซึ่งก็นำไปสู่การผสมไอน้ำเข้าไปกับ feed และยังทำให้เรารู้ว่าเพื่อป้องกันการเกิด coke เกาะบนผิวท่อก็ต้องผสมสารประกอบกำมะถันเข้าไปกับ feed และเช่นกัน ความรู้จากวิชา "เคมี" ทำให้เรารู้ว่าโมเลกุลเล็กที่เกิดขึ้นสามารถรวมตัวกลับเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น และเป็นสารประกอบที่มี "สี" ที่มีอะตอม O และ S อยู่ในโครงสร้างโมเลกุล

--------------------

ธันวาคม ๒๕๔๒ ณ โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่ง ในขณะที่ชั่วโมงการทำงานสะสมที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุนั้นกำลังจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เกิดความผิดพลาดในระหว่างการส่งน้ำมันไปยัง tank farm ทำให้น้ำมันปริมาณมากล้นถังเก็บและรั่วไหลลงสู่รางระบายน้ำ ก่อนจะเกิดการจุดระเบิด ณ จุดที่ห่างออกไปและทำให้เปลวไฟที่เกิดขึ้นวิ่งกลับมาเผาไหม้ถังน้ำมัน

ความรู้จากวิชา "เคมี" ทำให้เรารู้ว่าการระเหยของของเหลวขึ้นอยู่กับแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของโมเลกุลที่อยู่บนผิวหน้า (ที่สัมผัสกับอากาศ) กับโมเลกุลที่อยู่ชั้นล่าง ในกรณีของน้ำกับน้ำมัน น้ำมันจะลอยอยู่บนผิวหน้า ทำให้อัตราการระเหยของน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวหน้าน้ำนั้นจะสูงกว่าปรกติ น้ำมันที่ปรกติติดไฟยาก (เช่นดีเซลหรือน้ำมันเตา) แต่เมื่อลอยอยู่บนผิวน้ำจะสามารถติดไฟได้ง่ายขึ้นมาก นั่นคือการเกิด UVCE ครั้งที่สามของประเทศไทย

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันมาเกิดซ้ำอีกเมื่อเดือกรกฎาคม ๒๕๖๔ ระหว่างดับเพลิงที่ไหม้โรงงานผลิตโฟมชานกรุงเทพ (หมิงตี้เคมิคอล) ไฮโดรคาร์บอนที่รั่วไหลลงผิวน้ำที่ท่วมขัง ทำให้เกิดเปลวไฟแผ่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเสียชีวิตจากโดนไฟครอก ๑ ราย

--------------------

ตุลาคม ๒๕๔๔ เกิดการระเบิดใหญ่ที่โรงงานแห่งหนึ่งที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี มีผู้เสียขีวิตเกือบ ๒๐ ราย สาเหตุของการระเบิดเกิดจากโรงงานต้องการลดต้นทุนด้วยการเตรียมสารตัวหนึ่งขึ้นใช้เอง ด้วยการผสมเมทิลเอทิลคีโตนกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

ประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ระหว่างนั่งฟังนิสิตป.เอกนำเสนอผลงานในวิชาสัมมนา เขาพยายามหาตัวทำละลายเพื่อประสานเฟสเบนซีนและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ตัวทำละลายตัวหนึ่งที่เขาหยิบมาใช้คือ acetone ผมเห็นเข้าก็เลยถามว่าคุณมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการเลือกตัวทำละลาย เขาก็บอกว่าก็ดูว่าในห้องแลปมีอะไร ก็หยิบตัวนั้นมาใช้ ผมก็บอกเขาไปว่า รู้ไหมว่าเล่นกับอะไรอยู่ ดีเท่าไรแล้วที่มันไม่ระเบิดคาคือตอนคุณผสม

แต่ในช่วงเวลานั้นมีเหตุขวดทิ้งสารระเบิดในห้องแลปประมาณ ๓-๔ ครั้ง ครั้งสุดท้ายที่แรงที่สุดนั้นทำลาย hood ไปหนึ่งตัว โชคดีที่เป็นช่วงกลางคืนที่ไม่มีคนทำงานในห้องนั้น

๓ ปีที่แล้ว มีบริษัทแห่งหนึ่งจ้างให้ผมทำวิจัยผลิตสารเคมีตัวหนึ่งด้วยการผสม น้ำ กรดอะซีติก และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้าด้วยกัน ให้สัดส่วนการผสมมาเรียบร้อย ระหว่างการประชุมออนไลน์ผมก็ถามเขาตรง ๆ ว่าทางบริษัทก็มีทั้งห้องทดลองและผู้มีความรู้ แต่กลับจ้างให้คนอื่นทำแทน แสดงว่ารู้ใช่ไหมครับว่าสิ่งที่ดูธรรมดา ๆ แต่ถ้าผสมกันไม่ถูกวิธีมันก็มีสิทธิระเบิดได้ ผมทำการทดลองในห้องแลปใช้เครื่องแก้วมันไม่มีปัญหาหรอก แต่ถ้า scale up เมื่อใด ระวังให้ดี เพราะมันจะเกิดเรื่องตอนนั้น

ทางฝ่ายบริษัทได้แต่นั่งยิ้ม

ความรู้วิชา "เคมี" ทำให้เรารู้ว่าอะไรที่ไม่ควรผสมเข้าด้วยกัน หรือต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สัมผัสกับสารเคมีเหล่านั้นควรทำจากวัสดุอะไร

และถ้าจะให้ดีอาจารย์ที่ควบคุมการทำงานของนิสิตก็ควรต้องรู้ด้วยว่ากำลังให้นิสิตเล่นกับอะไรอยู่ ไม่ใช่ว่าพอเกิดเรื่องทีก็บอกว่า "ไม่เคยบอกให้นิสิตทำอย่างนั้น" ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง "ไม่เคยบอกนิสิตว่าควรทำอย่างไร"

--------------------

 

ปัจจุบันเวลาพิมพ์ข้อความติดต่อพูดคุย ก็มักจะใช้เลข "5" แทนความหมายว่าหัวเราะ "ฮ่า" แต่สำหรับวิศวกรรมเคมีบ้านเราแล้ว เหตุการณ์วันที่ ๕ เดือน ๕ (พฤษภาคม) ปี ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๕๕) จัดว่าเป็นวันที่ฝันร้ายกลายเป็นจริง เมื่อเกิดการระเบิดที่โรงงาน Bangkok Synthetic Elastomer ที่จัดว่าเป็น UVCE ครั้งที่ ๔ ของไทย

เหตุการณ์นั้นสื่อต่าง ๆ ประโคมข่าวว่าเป็นการระเบิดเกิดจากโทลูอีน แต่ความรู้เคมีนั้นบ่งบอกว่าไม่น่าใช่ (ตัวการที่แท้จริงน่าจะเป็น Butadiene ที่ละลายอยู่ในโทลูอีน) และในทำนองเดียวกัน การระเบิดของโรงงานหมิงตี้เคมีคอล เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ นั้น สไตรีนก็ไม่น่าจะเป็นตัวการ (ตัวการที่แล้วจริงน่าจะเป็น pentane มากกว่า)

--------------------

 

ประมาณสิบปีที่แล้วได้เข้าร่วมทีมวิศวกรที่ปรึกษาของคณะเพื่อให้ความเห็นในการก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งหนึ่งของสภากาชาดไทย ในเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๕๙ ก่อนการประชุมร่วมระหว่างวิศวกรฝั่งไทยกับฝั่งเกาหลี ทราบมาว่าในที่ประชุมจะมีการหาข้อยุติเรื่อง mechanical seal ของ ethanol pump พังเร็วผิดปรกติ ผมก็ถามน้องที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานว่าเป็นปั๊มตัวไหน พอรู้ว่าเป็นตัวไหนก็เลยบอกน้องเขาไปว่า "เดินเครื่องผิดวิธีหรือเปล่า" น้องหัวหน้าคณะทำงานก็ตอบกลับมาว่า "พี่พูดเหมือนวิศวกรเกาหลีเลย" (โรงงานนี้เป็นการก่อสร้างแบบ "Turnkey project" โดยเจ้าของเทคโนโลยีทางเกาหลีเป็นผู้รับเหมารับทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่ออกแบบไปจนถึงทำให้เดินครื่องได้ เหมือนกับเวลาที่เราซื้อรถยนต์ คือไม่ต้องไปคุมการผลิต แค่ไขกุญแจติดเครื่องแล้วก็ขับออกไปเลย)

คือทางทีมวิศวกรเครื่องกลฝั่งไทยคิดว่าปัญหาเกิดจากการติดตั้งไม่ถูกวิธี แต่จากขนาดปั๊มและการติดตั้งที่เห็น ผมเห็นว่ามันไม่มีปัญหาอะไร (ตัวอื่นที่ติดตั้งแบบเดียวกันมันก็ไม่มีปัญหา) ที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหามากกว่าคือ "ขั้นตอนการหยุดเดินเครื่อง" เพราะดูจากตำแหน่งที่ตั้งปั๊มและสวิตช์ปิด-เปิด และจำนวนพนักงานที่เขาใช้แล้ว โอกาสที่ปั๊มจะเกิดการ run dry ค่อนข้างสูง (คือไม่มีของเหลวในปั๊ม) และถ้าปั๊ม run dry เมื่อใด mechanical seal พังได้ง่าย ๆ (ว่าแต่รู้จักไหมครับว่า mechanical seal คืออะไร)

สองปีที่แล้ว ศิษย์เก่าภาควิชาที่ทำงานที่โรงงานผลิต PP ส่งข้อความมาถามว่าจะหาว่าคราบสีขาวบน mechanical seal (รู้จักไหมครับว่าคืออะไร) ของ propylene pump มาได้อย่าง จะเริ่มต้นอย่างไรดี ผมก็ถามเขาว่าโพรพิลีนนั้นมาจากไหน และมีการ flushing ที่ mechanical seal หรือเปล่า ใช้อะไรเป็นของเหลว flushing และควรใช้วิธีการใดในการตรวจสอบว่าผงของแข็งสีขาวที่พบเจอนั้นคืออะไร

ความรู้เรื่องโครงสร้างของปั๊มทำให้รู้ว่า mechanical seal เป็นบริเวณที่อุณหภูมิจะสูงกว่าส่วนอื่นและต้องการการระบายความร้อน ดังนั้นบริเวณดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาที่ไม่ต้องการได้

--------------------

 มีนาคม ๒๕๕๗ ระหว่างเดินไปเอาน้ำร้อนในห้องธุการเพื่อชงกาแฟกิน หัวหน้าภาคที่นั่งอยู่แถวนั้นก็ยื่นเอกสารมาให้ปึกหนึ่งแล้วบอกว่าพี่ช่วยดูให้หน่อย

ผมเอามาพลิกดู ในเอกสารนั้นเต็มไปด้วยข้อกำหนดคุณลักษณะอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ สำหรับกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเคมีและชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็น ท่อ, วาล์ว, ปั๊ม, Fermenter, Spray dryer, อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ฯลฯ แต่ข้อกำหนดคุณลักษณะ (ที่เราเรียกว่า specification) ไม่ว่าเป็นเรื่องการต้านทานการกัดกร่อน, วัสดุที่ใช้ หรือการป้องกันการรั่วไหล จัดว่าสูงมาก ก็เลยถามกลับไปว่า "จะเอาไปผลิตอาวุธเคมี-ชีวภาพหรือ"

หัวหน้าภาคก็ตอบกลับมาว่า

"พี่ดูออก งั้นช่วยไปเป็นตัวแทนให้หน่อย"

นับจากวันนั้นก็เลยได้ไปเป็นช่วยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ทำงานในอนุกรรมการพิจารณาสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual Use Item - DUI)

--------------------

พฤษภาคม ๒๕๕๙ มีการกดไลค์กดแขร์ข้อความบนหนึ่งบน facebook ว่า ถ้าให้ความร้อนด้วยไอน้ำความดันต่ำ จะใช้ไอน้ำน้อยกว่าการให้ความร้อนด้วยไอน้ำความดันสูง เพราะ latent heat ต่อ kg ของไอน้ำความดันต่ำนั้นสูงกว่าของไอน้ำความดันสูง ซึ่งเขาบอกว่าวิศวกรส่วนใหญ่นั้นไม่รู้เรื่องนี้ และถ้าได้มาเรียนกับเขาก็จะไม่ต้องเป็นวิศวกรกาก ๆ แบบที่วิศวกรส่วนใหญ่เป็น คนที่กดไลค์กดแชร์ข้อความของเขามีทั้งศิษย์เก่าของภาควิชาและ "อาจารย์" จากหลายสถาบัน (นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมผมจึงได้เห็นโพสดังกล่าว)

ปรกติแล้วผมจะอ่านก่อนกดไลค์กดแชร์ แต่เมื่อ่านแล้วเห็นว่าควรเขียนบทความอธิบายสิ่งที่ถูกต้องลง blog ของตัวเองหน่วย ในฐานะที่เวลาทำงานภาคสนามมักจะเจอแต่วิศวกรจำนวนส่วนน้อย

โดยหลักของการถ่ายเทความร้อน ฝั่งสายร้อนต้องมีอุณหภูมิสูงกว่าฝั่งสายรับความร้อน และถ้าต้องการอุณหภูมิสูง ก็ต้องใช้ไอน้ำความดันสูงขึ้น ดังนั้นโดย "หลักการ" ก็คือ "อุณหภูมิ" ฝั่งรับความร้อนเป็นตัวกำหนด "ความดัน" ต่ำสุดของไอน้ำที่ใช้งานได้ และยังมีเรื่องการส่งไปตามระบบท่ออีกที่ว่าไอน้ำความดันสูงจะมีปริมาตรจำเพาะเล็กกว่าไอน้ำความดันต่ำ ทำให้ใช้ท่อขนาดเล็กกว่าและยังสามารถส่งได้ไกลกว่า คนทำงานเป็นวิศวกรนั้นต้องรู้จักเลือกใช้สิ่งที่เหมาะสมกับงาน แต่ดูเหมือนว่ายุคหลัง ๆ ชอบที่จะเป็น "วิศวกรสูตรสำเร็จ" และก็มักจะชื่นชมคนที่สอนให้เป็นวิศวกรสูตรสำเร็จด้วย (คือพวกที่ชอบบอกว่าทำตามที่เขาบอกได้เลย ไม่ต้องพิจารณาอย่างอื่น)

--------------------


ต้นปี ๒๕๖๐ สาวน้อยวิศวกรเคมีรายหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างการหางานทำ มาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ไปเจอมาตอนสอบสัมภาษณ์เข้าทำงานเป็น process engineer ที่บริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับปิโตรเคมีแห่งหนึ่งที่ระยอง คำถามหนึ่งที่เขาเจอมาและไม่แน่ใจในคำตอบก็คือ "ทำไมเวลาตีดาบจึงใช้เตาถ่าน ไม่ใช้เตาแก๊ส"

ผมก็บอกเขาไปว่ายุคคุณเขายังเรียนเรื่องเหล่านี้อยู่หรือเปล่าผมไม่รู้นะ แต่สมัยผมยังเรียนกันอยู่ คำตอบของคำถามอยู่ในวิชา "Engineering Materials" และ "Manufacturing Process" ที่เรียนกันตอนปี ๑ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความแข็งของเหล็ก การเติมคาร์บอนเข้าเนื้อเหล็ก และการทำ heat treatment

--------------------

การฝึกงานนำมาซึ่งคำถามหลากหลายประเภท เช่น ทำไมน้ำทิ้งมีสีเหลือง (จากนิสิตฝึกงานที่บ้านค่าย - ความรู้วิชาเคมี), ทำไมน้ำมันเตาคุณภาพไม่คงที่ (จากนิสิตฝึกงานโรงกลั่นศรีราชา - วิธีการทำให้น้ำมันเตาลุกติดไฟ) ฯลฯ แต่คำถามเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานให้กับปั๊มเนื่องจากปั๊มเดิมนั้นมีขนาดใหญ่เกินไปเป็นคำถามที่เจอบ่อยมากที่สุด (ปั๊มหอยโข่งนะ) แนวทางที่มักถูกนำมาพิจารณากันก็คือ การเปลี่ยนปั๊ม, เปลี่ยนขนาดใบพัด หรือเปลี่ยนมอเตอร์

กันยายน ๒๕๖๐ มีคำถามมาจากศิษย์เก่าภาควิชาคนหนึ่ง มาเปรยให้ฟังว่าเขาเสนอทางเลือกใหม่คือการปรับความถี่กระแสไฟฟ้า แต่ปรากฏว่าจะโดนยิงคำถามเรื่องความเหมาะสมมาก ก็เลยเล่าให้เขาฟังเรื่องมีวิธีใดบ้างที่เราสามารถประหยัดพลังงานหรือปรับอัตราการไหลให้กับปั๊มหอยโข่ง และแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และภาพลักษณ์ของอุปกรณ์ "อิเล็กทรอนิกส์กำลัง" เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว พอเล่าเสร็จเขาก็บอกว่า "ผมเข้าใจแล้วครับ ว่าทำไมผู้บริหารที่อายุ ๕๐ ขึ้นมักจะมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ" (ผมก็คนรุ่นเดียวกับผู้บริหารของคุณเหมือนกัน ก็เลยพอจะเข้าใจว่าทำไมเขาเป็นแบบนั้น)

ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของปั๊มหอยโข่งทำให้เรารู้ว่าความดันหรืออัตราการไหลด้านขาออกนั้นขึ้นกับความเร็วที่ของเหลวถูกเหวี่ยงออกไปจากปลาย impeller ความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้ากำลังทำให้เรารู้ว่าการปรับความเร็วรอบการหมุนนั้นทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง และความรู้เกี่ยวกับการบริหารองค์กรทำให้เห็นว่าเพื่อให้ภาพรวมดีสุดนั้น ควรเลือกทางเลือกใด

--------------------

ตุลาคม ๒๕๖๓ เกิดการฉีกขาดตามด้วยการระเบิดของแก๊สที่รั่วออกจากท่อส่งแก๊สธรรมชาติที่ อ.เปร็ง จ.ฉะเชิงเทรา ศิษย์เก่าของภาควิชาคนหนึ่งที่ได้เข้าไปดูที่เกิดเหตุได้โพสภาพปลายท่อที่ขาด ซึ่งพอผมเห็นเขาก็ทักเขาไปว่านั่นใช่ปลายท่อที่ขาดหรือ เขาก็ยืนยันมาว่าใช่ ผมก็ว่ามันแปลกมากนะ คือมันขาดในแนวตั้งฉากแบบที่เรียกว่า "Guillotine cut" ก็เลยฝากเขาดูหน่อยว่าตรงนั้นเป็นรอยเชื่อมหรือเปล่า คืนนั้นเราได้สนทนาทางโทรศัพท์กันนานกว่าครึ่งชั่วโมง

ความรู้จากวิชา mechanic of material ทำให้เรารู้ว่าสำหรับท่อรับความดันนั้น hoop stress หรือความเค้นที่ทำให้ท่อพองตัวจะมีค่าเป็นสองเท่าของ longitudinal stress หรือความเค้นที่ทำให้ท่อยืดตัว ดังนั้นสำหรับท่อที่เสียหายจากความดันสูงเกินเป็นเรื่องปรกติที่จะฉีกขาดตามแนวยาว การขาดในแนวขวางจึงเป็นเรื่องที่ผิดปรกติมาก (คือต้องมีสาเหตุอื่นร่วมด้วยนอกเหนือจากความดันที่อาจไม่ได้สูงเกิน)

และความรู้จากวิชาเคมีเช่นกันที่ทำให้รู้ว่าตำแหน่งรอยเชื่อมนั้นเป็นจุดที่เนื้อโลหะเกิดการกัดกร่อนได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น โดยเฉพาะเมื่อมีความเค้น เป็นการกัดกร่อนแบบที่เรียกว่า Stress Corrosion Cracking หรือ SCC

--------------------

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้รับเชิญจากบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่งให้ไปข่วยประเมินวิศวกรของเขาที่ขอปรับตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน corrosion (ระดับเงินเดือนเทียบเท่าผู้บริหารระดับสูง) คนหนึ่งตรี-โท วิศวกรรมเคมี อีกคนก็ตรี-โท-เอก วิศวกรรมเคมี ใช้เวลาพูดคุยกันคนละสองชั่วโมง (ไม่รวมเอกสารที่ส่งให้อ่านก่อนหน้าหนึ่งเดือน) เนื้อหาวิชาการที่คุยกันก็มีนั้นแหล่งที่มาของกรดที่เป็นตัวปัญหา, multi phase flow ในท่อ, sulphide stress cracking (SSC), galvanic corrosion protection ทั้งการใช้ sacrificial anode และไฟฟ้ากระแสตรง ในการป้องกันการกัดกร่อนของโครงสร้างและระบบท่อที่เป็นโลหะ ฯลฯ ซึ่งต่างก็เป็นสิ่งที่อยู่ในวิชาเคมีพื้นฐานทั้งนั้น

--------------------


เคยมีนิสิตถามผมว่า ทำไมต้องเรียนไปเยอะ ๆ ในเมื่อจบไปแล้วก็ได้ใช้เพียงไม่กี่อย่าง ผมก็ถามเขากลับไปว่า ถ้ามีร้านขาวแกงอยู่ ๒ ร้าน ร้านแรกมีกับข้าวให้เลือก ๓๐ อย่าง ร้านที่สองมีกับข้าวให้เลือก ๕ อย่าง คุณจะเข้าร้านไหน

เขาก็ตอบว่าเข้าร้านแรก

ผมก็ถามต่อว่าทำไม

เขาก็ตอบกลับมาว่าเพราะมีกับข้าวให้เลือกเยอะกว่า

ผมก็ถามเขาต่ออีกว่า เวลาคุณสั่งข้าวราดแกง คุณสั่งกับข้าวกี่อย่าง

เขาก็ตอบกลับมาว่า ๒ หรือ ๓ อย่าง

ผมก็บอกเขาไปว่า ร้านที่สองก็มีกับข้าวให้เลือกตั้ง ๕ อย่าง มากกว่าที่คุณต้องการอีก แล้วทำไมจึงไม่เลือก

ถ้าเปรียบโรงเรียนเป็นร้านข้าวแกง หน้าที่ของโรงเรียนคือให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสกับความรู้แขนงต่าง ๆ เปรียบเหมือนกับร้านข้าวแกงที่มีกับข้าวให้เลือกให้ลองเยอะ ๆ เพื่อให้ผู้เรียนรู้ว่าชอบอันไหน ถนัดอันไหน เพื่อจะได้เจาะลึกไปทางด้านนั้น คือเลือกศึกษาคณะที่เรียนเจาะลึกทางด้านนั้นในระดับมหาวิทยาลัย

การที่มาเรียนในสายวิชาชีพหนึ่งเพื่อจบไปทำงานด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสายวิชาชีพที่เรียน ในฐานะผู้สอนก็มองได้ว่าการสอนนั้นเป็นการสูญเปล่า และก็น่าสงสารผู้เรียนที่ต้องมาเสียเวลาอย่างน้อย ๔ ปีกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบหรือเพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่เรียนนั้นไม่เหมาะกับตัวเอง

เมื่อพบว่าสิ่งที่ตนเองเรียนไปนั้น ไม่ได้นำไปใช้ในการทำงาน เพราะเปลี่ยนสายวิชาชีพ หรือทำงานที่เฉพาะเจาะจงมาก ก็ไม่ควรที่จะกลับมาบอกภาควิชาว่า วิชาเหล่านั้นไม่ควรสอน ไปสอนวิชาอื่นดีกว่า เพราะตัวสถาบันการศึกษานั้นไม่ได้ผลิตคนเพื่อป้อนให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือแผนกใดแผนกหนึ่งโดยเฉพาะ ทำได้เพียงแค่ให้ความรู้พื้นฐานแก่ผู้เรียน เพื่อให้ไปสามารถต่อยอดความรู้หรือศึกษาด้วยตนเองได้ต่อไป

--------------------

 

สอนหนังสือมา ๓๐ ปี สอนแลปเคมีมาทุกปี สำหรับนิสิตรุ่นนี้ถือได้ว่าเป็นรุ่นเดียวที่ไม่ได้สอนเพราะสถานการณ์โควิด ดังนั้นวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของพวกคุณในการเรียนที่ภาควิชานี้ ก็เอาเป็นว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นเพียงแค่การเล่าให้ฟัง ว่าเนื้อหาวิชาในหลักสูตรที่เรียนกันไปนั้น คนที่ทำงานในสาขาวิชาชีพนี้จริง เขาได้ใช้ความรู้อะไรกัน

ท้ายนี้ ขอให้พวกคุณประสบแต่ความสุขทั้งด้านหน้าที่การงานและครอบครัวทุกคน

ห้องทำงาน อาคารวิศว ๔ ชั้น ๙ วันจันทร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การระเบิดของถังเก็บ Pyrolysis gasoline ที่มาบตาพุด MO Memoir : Saturday 11 May 2567

เวลาประมาณ ๑๐.๔๕ น วันพฤหัสบดีที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เกิดเพลิงลุกไหม้ที่ถังเก็บ pyrolysis gasoline ของบริษัทมาบตาพุดแทงค์เทอร์มินอล (MTT) ณ บริเวณท่าเรือของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (รูปที่ ๑) โดยสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ในช่วงตอนเย็น ข่าวที่ออกมาในช่วงแรกหลังการระเบิดรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๔ ราย (ต่อมาเสียชีวิต ๑ ราย) และมีเจ้าหน้าที่ที่เข้าไประงับเหตุเพลิงไหม้บาดเจ็บเพิ่มอีก ๒ ราย

รูปที่ ๑ ภาพถ่ายของบริเวณที่เกิดเหตุ จุดเกิดเหตุคือถังที่อยู่ในวงกลมเส้นประสีแดงด้านบน (รูปจากหน้าเว็บของสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (https://maptaphutport.com/maptaphut/index.php/th/about-6/about-12)

ในช่วงตั้งแต่เริ่มเกิดเพลิงไหม้จนกระทั่งควบคุมเพลิงไว้ได้ มีการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเกาะกระแสเหตุการณ์ รวมทั้งมีความพยายามหาความเห็นจากนักวิชาการต่าง ๆ เพื่อเอามาทำข่าว ผมเองก็ได้รับการติดต่อจากทางคณะในช่วงบ่ายแต่ก็ได้ปฏิเสธไป ด้วยเหตุผลที่ว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการเผยแพร่กันในขณะนั้นมีทั้ง ขาดความชัดเจน, มีความขัดแย้ง และมีการให้ความเห็นที่สามารถนำไปสู่ความเข้าใจที่สับสนได้

ค่อนข้างเป็นเรื่องปรกติที่เวลาเกิดอุบัติเหตุเช่นนี้ในบ้านเรา ก็จะเป็นข่าวกันในวันแรก ๆ จากนั้นก็จะจางหายไป ไม่มีใครตามต่อว่าสุดท้ายแล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร (จะว่าไปที่ถูกต้องมากกว่าก็คือผลการสอบสวนเปิดเผยอยู่ในวงจำกัดมาก ขนาดคนทำงานในบริษัทยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเลย) ก็เลยเป็นที่มาของบันทึกฉบับนี้ว่าจากภาพข่าวและข้อมูลที่เผยแพร่นั้น มันมีจุดสังเกตอะไรให้เราได้เห็นบ้าง เพื่อที่จะเอาไปสอนให้กับนิสิตต่อ (แม้ว่าจะเหลือเวลาสอนอีกเพียงไม่กี่ปี)

เนื้อหาใน Memoir ฉบับนี้แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกเป็นการพิจารณาข้อมูลที่มีการเปิดเผยในช่วงตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุจนควบคุมเพลิงได้ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ตรงนี้คือภาพถ่าย ส่วนที่สองเป็นการพิจารณาข้อมูลที่มีการเผยแพร่หลังจากที่ควบคุมเพลิงไว้ได้แล้ว ซึ่งมักจะเป็นข้อความหรือแถลงการณ์ (ที่มักจะผ่านการพิจารณาคัดเลือกถ้อยคำ) ซึ่งถ้าเราพิจารณาให้ดีอาจจะพบความขัดแย้งหรือการด่วนสรุปเพื่อให้ใครสักคนเป็นผู้รับผิด

ต่อไปนี้เริ่มส่วนที่ ๑ ก่อน ที่เป็นช่วงเกิดการระเบิดไปจนถึงควบคุมเพลิงได้ ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่นำมาพิจารณาในส่วนนี้ จะมองเฉพาะข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น

๑. จากภาพแรก ๆ ที่เห็น ถังที่เกิดเพลิงไหม้มีชื่อข้างถังว่า "Pyrolysis Gasoline" (รูปที่ ๒) ส่วนที่ว่าของเหลวที่อยู่ในถังแท้จริงแล้วคือ Pyrolysis Gasoline หรือไม่นั้น ขอยังไม่สรุปตอนนี้ แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก "Pyrolysis Gasoline" กันก่อนดีกว่าว่ามันคืออะไร

รูปที่ ๒ ภาพเหตุการณ์เมื่อเริ่มเกิดเพลิงไหม้ (จาก www.khaosod.co.th)

Thermal cracking หรือ Pyrolysis เป็นกระบวนการหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ โดยนำเอาไฮโดรคาร์บอนมาให้ความร้อนที่สูงมากพอจนทำให้โมเลกุลแตกออกเป็นโมเลกุลเล็กลง หลัก ๆ ที่ต้องการคือเอทิลีนกับโพรพิลีน การให้ความร้อนนั้นจะให้ไฮโดรคาร์บอนไหลอยู่ภายในท่อ โดยมีเปลวไฟให้ความร้อนอยู่ภายนอก

การทำลายพันธะเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อน ดังนั้นเพื่อให้โมเลกุลใหญ่แตกออกเป็นโมเลกุลเล็ก ก็ต้องใส่ความร้อนให้สูงมากพอ ยิ่งความร้อนสูงมาก ปฏิกิริยาก็จะเกิดได้เร็วขึ้น แต่ก็มีข้อเสียคือ ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ (เอทิลีนกับโพรพิลีน) จะสลายตัวต่อไปเป็นสารอื่นที่เราไม่ต้องการได้) ดังนั้นเมื่อได้โอเลฟินส์ในปริมาณที่ต้องการแล้ว ก็ต้องหยุดการสลายตัวด้วยการลดอุณหภูมิแก๊สร้อนให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว

การสร้างพันธะเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ตามหลักสมดุลเคมี เมื่อระบบมีอุณหภูมิลดต่ำลง ระบบก็จะพยายามปรับตัวให้กลับมาสู่ตำแหน่งเดิม สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือโมเลกุลเล็กบางส่วนจะรวมตัวกันเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น แต่เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงจนถึงจุดหนึ่ง การเกิดปฏิกิริยาก็จะหยุด (เพราะพลังงานกระตุ้นไม่พอ) แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลใหญ่ในปริมาณหนึ่ง ที่สามารถควบแน่นเป็นของเหลวได้ที่ quench tower (หอที่แก๊สร้อนสัมผัสกับน้ำโดยตรง) ไฮโดรคาร์บอนที่ควบแน่นได้ ณ ที่นี้คือ pyrolysis gasoline

Gasoline หรือแก๊สโซลีน คือน้ำมันเบนซินนั่นเอง บ้านเรากำหนดอุณหภูมิจุดเดือดสูงสุดไว้ไม่เกิน 200ºC น้ำมันที่มีอุณหภูมิจุดเดือดบริเวณนี้บางทีก็เรียกว่าแนฟทา (naphtha) แต่คำแนฟทามันจะคลุมกว้างกว่า คือเข้าไปถึงน้ำมันก๊าด (kerosene) ทำให้บางทีเขาก็เรียกแยกเป็น Light naphtha (พวกมีจุดเดือดต่ำ) กับ Heavy naphtha (พวกมีจุดเดือดสูง)

ส่วน Pyrolysis เป็นตัวบอกว่าน้ำมันแก๊สโซลีนดังกล่าวมาจากกระบวนการใด ซึ่งในที่นี้คือ pyrolysis ถ้าได้มาจากหลุมขุดเจาะแก๊สธรรมชาติเขาก็เรียกว่า Natural Gasoline ถ้าเป็นน้ำมันที่ออกตรงมาจากหอกลั่น (ก่อนที่จะเอาไปทำอะไรอย่างอื่นต่อเพื่อปรับปรุงคุณภาพ) เขาก็เรียกว่า Straight Run Gasoline

จากข้อมูลที่มีนั้น pyrolysis gasoline จะประกอบด้วย aromatic hydrocarbon C6-C8 และพวกที่หนักกว่า (ที่เรียกว่า C9+) สารประกอบอะโรมาติก C6-C8 เป็นพวกที่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตัวอื่นได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้ามีการแยกเอาสารพวกนี้ออกไปก่อน ทำให้เหลือเพียงแค่ C9+ (แบบที่ปรากฏในข่าว)

๒. ถังที่เกิดเหตุจากภาพดูแล้วคงเป็น fixed-roof tankแต่หลังคาที่เห็นมีลักษณะโค้งเป็นรูปโดมไม่ใช่รูปทรงกรวย (รูปที่ ๑ และ ๒) แต่คาดว่าน่าจะเป็น atmospheric tank แบบไม่มี floating roof ภายใน เก็บของเหลวที่อุณหภูมิห้อง (จะว่าไป floating roof tank ในบ้านเราก็ไม่เห็นมีหลังคาคลุม เพราะเราไม่มีหิมะตก) ถังแบบนี้จะมีช่องระบายอากาศ (vent) บนฝาถัง เพื่อให้อากาศไหลเข้าถังได้เวลาที่สูบของเหลวออกจากถัง (ป้องกันการเกิดสุญญากาศภายในถัง) และให้ไอระเหยของสารนั้น (รวมทั้งอากาศที่ไหลเข้าไปในถังตอนสูบของเหลวออก) ระบายออกมาได้ตอนเติมของเหลวเข้าไปในถัง (ป้องกันความดันในถังเพิ่มสูงเกินไป) ดังนั้นถ้าที่ว่างระหว่างผิวของเหลวกับฝาถังนั้นจะเป็นแก๊สผสมระหว่างอากาศกับไอน้ำมันที่ระเหยขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ

๓. ภาพข่าวเริ่มแรกเพลิงลุกไหม้อยู่ตรงตะเข็บรอยต่อระหว่างฝาถังกับส่วนลำตัว (ดูรูปที่ ๒ ที่ฝาถังไม่ได้ปลิวออก หรือดูภาพขยายในรูปที่ ๓) และไม่มีไฟไหม้ที่ระดับพื้นดิน เห็นได้จากไม่มีกลุ่มควันดำเกิดที่ระดับพื้นดิน (หรือมุมกล้องจับไม่ได้ก็ไม่รู้) ลักษณะเช่นนี้แสดงว่ามีการระเบิดเกิดขึ้นในถัง ทำให้ฝาถังนั้นฉีกขาดออกจากส่วนลำตัว แต่การระเบิดนั้นคงไม่รุนแรงมาก เห็นได้จากฝาถังไม่ได้ปลิวออกไปไหน (ในที่นี้ขอเรียกว่า "ฝาถัง" ก็แล้วกัน ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "roof" ที่แปลว่าหลังคา) การที่การระเบิดนั้นไม่รุนแรงก็อาจเป็นได้ว่าในถังมีของเหลวบรรจุอยู่ในปริมาณมาก ทำให้ปริมาตรไอผสม (เชื้อเพลิง + อากาศ) ในถังมีไม่มาก (คือปริมาตรที่อยู่เหนือผิวของเหลวและใต้ฝาถัง) ซึ่งประเด็นนี้จะมาว่ากันอีกทีหนึ่งเมื่อพิจารณารูปความเสียหายของถังหลังเพลิงสงบแล้ว

เวลาที่เกิดการระเบิดในถัง สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ส่วนลำตัวเกิดความเสียหาย ไม่เช่นนั้นของเหลวที่บรรจุอยู่ก็จะทะลักออกมา ดังนั้นจึงต้องหาทางระบายความดันที่เกิดจากการระเบิดออกโดยเร็วก่อนที่ลำตัวจะเกิดความเสียหาย วิธีหนึ่งที่ทำกันก็คือให้ตำแหน่งรอยเชื่อมระหว่างฝาถังกับส่วนลำตัวนั้นมีความแข็งแรงน้อยกว่าบริเวณอื่น ดังนั้นเมื่อความดันในถังเพิ่มขึ้น รอยเชื่อมตรงจุดนี้จะฉีกขาดก่อน ทำให้ฝาถังเปิดเพื่อระบายความดันออกมา ถ้าเป็นการระเบิดที่รุนแรงตัวฝาถังสามารถหลุดปลิวออกจากส่วนลำตัวถัง โดยที่ส่วนลำตัวยังไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนฝาที่ปลิวออกไปนั้นจะไปตกที่ใดและทำความเสียหายอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (คือลำตัวถังบรรจุปลอดภัย ส่วนบริเวณรอบข้างไม่สน) แต่วิธีการนี้จะไม่ใช้กับถังที่ติดตั้งอยู่ภายในอาคาร

๔. ข่าวในช่วงแรกบอกว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๔ ราย แต่ในช่วงเย็นบอกว่าในจำนวน ๔ รายนี้มีเสียชีวิต ๑ ราย และยังมีเจ้าหน้าที่ที่เข้าไประงับเหตุได้รับบาดเจ็บเพิ่มอีก ๒ ราย

๕. จากข้อ ๔. ก็จะตั้งคำถามได้ว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง ๔ รายนั้น ไปทำอะไรอยู่แถวนั้นตอนเกิดเหตุ เป็นเพียงผู้บังเอิญเดินทางผ่านไปโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับถังที่ระเบิดเลย หรือเป็นผู้ที่ไปทำงานอยู่แถวนั้น แต่จากข้อ ๓. ทำให้สงสัยว่าทั้ง ๔ คนนั้นตอนเกิดเหตุน่าจะอยู่บนฝาถัง เพราะถ้าแค่เดินทางผ่านไปข้างล่าง ไม่น่าจะมีการบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียชีวิต เพราะจุดเกิดเหตุหลักอยู่บนหลังคาถัง

ที่ต้องถามคำถามนี้ก็เพื่อที่จะดูความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์กับผู้ได้รับบาดเจ็บว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่ คือถ้าจุดเกิดการระเบิดนั้นไม่มีใครอยู่ แสดงว่าต้นตอนั้นต้องเกิดจากความผิดพลาดจากการควบคุมระยะไกลหรือการออกแบบ แต่ถ้าไปอยู่ในบริเวณนั้น ก็จะทำให้เกิดคำถามว่ามีส่วนทำให้เกิดการระเบิดหรือไม่ แต่ทั้งนี้การที่พวกเขาไปปรากฏอยู่ตรงนั้นก็ไม่ได้แปลว่าเขามีส่วนทำให้เกิดการระเบิด อาจเป็นไปได้ว่าการทำงานมีปัญหา พวกเขาก็เลยไปตรวจสอบ แล้วมันก็ระเบิดพอดี

ข้อมูลตรงนี้ตรวจสอบได้ไม่ยากด้วยการถามผู้บาดเจ็บ (ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ หลังเพลิงสงบแล้วมีความขัดแย้งกันอยู่ แล้วค่อยมาว่ากันอีกที)

๖. ถ้าข้อสงสัยในข้อ ๕. เป็นจริง (ซึ่งแถลงการณ์หลังคุมเพลิงได้บอกไว้อย่างนั้น) ทำไมถึงมีคนไปอยู่บนฝาถังถึง ๔ คน ที่ตั้งคำถามนี้เพราะเมื่อได้คุยกับวิศวกรรายหนึ่งที่รู้จักกันและทำหน้าที่ดูแล Tank Farmเขาบอกว่าปรกติถ้าเป็นการไปเก็บตัวอย่างของหลวในถังก็จะไปเพียงแค่ ๒ คนก็พอ ซึ่งเขาก็สงสัยเหมือนกัน แล้วในเหตุการณ์นี้ไปทำอะไรบนนั้นตั้ง ๔ คน มีการทำ hot work (งานพวกการเชื่อมโลหะ การเจียรโลหะ การตัดด้วยแก๊ส) ด้วยหรือไม่ (โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าใช่ เพราะในถังยังมีเชื้อเพลิงบรรจุอยู่เต็ม) หรือถังเก็บมีปัญหาการทำงาน เลยต้องส่งช่างไปช่วยกันตรวจสอบหลายคน

๗. ลักษณะของเปลวไฟที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นเพลวไฟที่พุ่งขึ้นแรง (รูปที่ ๓) แสดงว่าของเหลวที่บรรจุอยู่ในถังนั้นไม่ได้เป็นพวกที่มีความดันไอสูง (แปลว่าจุดเดือดอาจอยู่ที่ระดับ 100ºC หรือสูงกว่า) เพราะถ้าเป็นพวกที่มีความดันไอสูง เปลวไฟจะลุกไหม้อีกแบบหนึ่ง ตรงนี้ลองดูกรณีของไทยออยล์ปี ๒๕๔๒ ดูก็ได้

รูปที่ ๓ เอารูปที่ ๑ มาขยายตรงบริเวณฝาถังที่ไฟกำลังลุกไหม้อยู่

๘. จากข้อ ๗. ดังนั้นที่มีข้อมูลว่าของเหลวในถังนั้นเป็นพวก C9 ขึ้นไป ก็เป็นไปได้

๙. ตอนเริ่มเกิดเพลิงไหม้ ระดับของเหลวในถังค่อนน่าข้างจะสูง (ใกล้เต็มถัง) เห็นได้จากสีที่ทาข้างถังที่ยังคงสภาพดี (ผิวโลหะที่อยู่ต่ำกว่าระดับของเหลวจะไม่ร้อนจัด เพราะไม่โดนไฟลน) แต่การแปลข้อมูลตรงนี้ก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะในกรณีนี้ฝาถังไม่ได้ปลิวออก ดังนั้นถ้าของเหลวในถังระเหยออกมาชดเชยการเผาไหม้ทัน เปลวไฟจะไม่วิ่งเข้าไปลุกไหม้ในถัง จะไหม้เฉพาะตรงจุดที่ไอระเหยรั่วออก

๑๐. ในช่วงถัดมา (ไม่ทราบเวลาแน่นอน) มีข่าวว่ามีการระเบิดเกิดขึ้นอีก มีการลุกไหม้จากเชื้อเพลิงที่รั่วออกมาและขังอยู่ใน tank bund ประเด็นก็คือเชื้อเพลิงพวกนี้มาจากไหน

๑๑. ภาพเมื่อเริ่มควบคุมเพลิงได้ มองไม่เห็นฝาถังของถังที่เริ่มเกิดเพลิงไหม้ (รูปที่ ๔) อาจเป็นไปได้ว่ายุบตัวลงไปเนื่องจากความร้อน ไม่น่าจะมีการปลิวออกมา (ไม่เห็นความเสียหายบริเวณห่างมา และไม่มีรายงานข่าว) แต่ถังอีกใบที่อยู่ข้าง ๆ นั้นสภาพยังดี รูปที่ ๔ ยังแสดงให้เห็นว่าถังบรรจุทั้งสองใบนั้นมีของเหลวบรรจุอยู่เต็มถัง

ในระหว่างที่ไฟกำลังลุกไหม้ถังใบแรกนั้น ก็มีข่าวว่ามีการ "ระเบิด" ตามมาและไฟได้ไหม้ลุกลามไปยังถังใบที่สอง ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไประงับเหตุต้องถอนตัวออกมาก่อน

แต่ดูจากภาพความเสียหายในรูปที่ ๔ แล้วคิดว่าน่าจะเกิดจากการที่รอยเชื่อมรอบฝาถังนั้นได้รับความร้อนสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ความแข็งแรงเนื้อโลหะจึงลดต่ำลงจนไม่สามารถรับน้ำหนักฝาถังเอาไว้ได้ ทำให้ฝาถังยุบตัวจมลงไปในถัง ของเหลวในถังถูกดันขึ้นจนกระฉอกออกมาข้างนอก (สาเหตุที่ทำให้ไฟมาลุกไหม้ใน tank bund) ผิวหน้าเชื้อเพลิงที่เปิดเต็มที่ทำให้เกิดเปลวไฟขนาดใหญ่ทันที ทำให้คนคิดว่าเป็นการระเบิดอีกครั้ง (ไม่มีข้อมูลว่ามีฝาถังปลิวออกไป)

รูปที่ ๔ ภาพเพลิงไหม้หลังเริ่มควบคุมเพลิงที่ไหม้รอบนอกถังได้แล้ว เห็นได้จากผนังถังด้านนอกโดยไฟครอกเป็นสีดำจากคราบเขม่า (ภาพจากหน้าเว็บหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ)

๑๒. ถังข้าง ๆ อีกใบก็น่าจะมีของเหลวอยู่เต็มเช็นกัน เห็นจากโดนไฟคลอกจนด้านข้างดำทั้งถัง แต่สภาพยังดีอยู่ (รูปที่ ๔ และ ๕) แสดงว่าระดับของเหลวในถังนั้นสูงกว่าระดับความสูงของเปลวไฟ แต่ที่เห็นมีไฟไหม้ด้านบน (ภาพไม่ชัด) อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะการระบายไอระเหยออกมา จากสภาพฝาถังที่ยังดีอยู่ก็แสดงว่าออกแบบรับกรณีไฟครอกได้ดี ไม่งั้นถังคงระเบิดจนฝาถังคงปลิวไปแล้ว

รูปที่ ๕ สภาพถังที่เกิดการระเบิด (ขวาสุด) จะเห็นว่าระดับความสูงยังใกล้เคียงกับถังข้าง ๆ (กลาง) ที่โดนไฟครอก แสดงว่าตอนที่ดับไฟได้นั้น ถังก็ยังมีของเหลวอยู่ภายในเยอะเหมือนกัน (ภาพจากหน้าเว็บหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)

ผิวโลหะที่สัมผัสกับของเหลวจะได้รับการปกป้องจากเปลวไฟด้วยการเดือดของของเหลวแม้ว่าผิวโลหะนั้นจะโดนไฟครอกโดยตรง (แบบเดียวกับที่เราใช้หม้ออะลูมิเนียมต้มน้ำด้วยเตาแก๊ส หม้ออะลูมิเนียมจะไม่เป็นไร แต่ถ้าแห้งเมื่อไรก็เป็นเรื่องได้) ในกรณีของถัง (Tank) เก็บเชื้อเพลิงนั้น ถ้าไฟไหม้อยู่ภายในถังโดยที่ไม่ได้ลุกไหม้รอบนอก เราจะเห็นสีข้างถังนั้นเปลี่ยนไปตามระดับความสูงของของเหลวในถัง คือสีบนผิวโลหะที่อยู่ต่ำกว่าระดับของเหลวจะยังคงเป็นปรกติอยู่ แต่ที่อยู่เหนือขึ้นไปจะได้รับความร้อนจนเห็นสีไหม้และเนื้อเหล็กนั้นขึ้นสนิม (โดนเผาจนเป็นสารประกอบออกไซด์) และยุบตัวลง

ถ้าเป็นไฟครอกอยู่ด้านนอก สีที่ทาอยู่ภายนอกก็จะถูกเผา แต่เนื้อโลหะที่อยู่ต่ำกว่าระดับของเหลวก็ยังได้รับการปกป้องอยู่ (แบบเดียวกับที่เราต้มน้ำด้วยเตาแก๊สในครัว) แต่เนื้อโลหะส่วนลำตัวที่อยู่สูงกว่าผิวของเหลวและโดนไฟลน จะร้อนจัดจนสูญเสียความแข็งแรงและยุบตัวลง แต่ไม่ว่าไฟจะไหม้อยู่ด้านในหรือด้านนอก ถ้าระดับของเหลวในถังนั้นต่ำมาก ถังก็จะยุบตัวลงมามากเช่นกัน ดังเช่นที่แสดงในรูปที่ ๖ ที่จะเห็นการยุบตัวของถังได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับถังข้าง ๆ

๑๓. ทีนี้ขอกลับไปยังรูปที่ ๓ หน่อยที่ผมยังมีข้อติดใจบางเรื่องอยู่ ในรูปนั้นจะเห็นว่าฝาถังยังคงอยู่เหมือนเดิม โดยมีเปลวไฟลุกไหม้ตรงรอยต่อระหว่างฝาถังกับส่วนลำตัว เรื่องที่คาใจก็คือ "ในถัง (คือใต้ฝาถัง) มีไฟลุกไหม้ด้วยหรือไม่"

ในเรื่องของความไวไฟของสารเรามักได้ยินแต่ "จุดวาบไฟหรือ Flash point" ที่เป็นอุณหภูมิต่ำสุดที่ทำให้เชื้อเพลิงนั้นระเหยออกมาจนมีความเข้มข้นสูงพอที่จะลุกติดไฟได้ถ้ามีแหล่งพลังงาน (เช่นเปลวไฟ ความร้อน ประกายไฟ) มากระตุ้น แต่การที่ไฟจะลุกไหม้ได้อย่างต่อเนื่องนั้นอัตราการระเหยของเชื้อเพลิงจะต้องสูงพอที่จะชดเชยอัตราการเผาไหม้ ดังนั้นเชื้อเพลิงเหลวที่มีอุณหภูมิที่จุดวาบไฟ ไอระเหยของมันสามารถลุกติดไฟได้ แต่เมื่อไหม้แล้วมันก็มีสิทธิที่จะดับได้เช่นกัน ถ้าเชื้อเพลิงระเหยออกมาชดเชยไม่ทัน


รูปที่ ๖ ภาพถังเก็บแนฟทาที่เสียหายจากเพลิงไหม้ พึงสังเกตว่าผนังถังจะยุบตัวลงตามระดับความสูงของของเหลวที่บรรจุอยู่ในถัง (ภาพจากรายงานการสอบสวนของ U.S. Chemical Safety and Hazard Investigation Board เรื่อง Storage Tank Fire at Intercontinental Termals Company, LLC (ITC) Termical ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๙ (พ.ศ. ๒๕๖๒)

ในระหว่างการเผาไหม้นั้น เชื้อเพลิงเหลวจะได้รับความร้อนจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายนอก (เช่นอุณหภูมิของอากาศรอบนอกถังเก็บ) และความร้อนจากเปลวไฟที่ลุกไหม้ด้านบน ถ้าอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมภายนอกสูงมากพอ อัตราการระเหยของเชื้อเพลิงเหลวก็จะมากพอที่จะทำให้เกิดเปลวไฟลุกต่อเนื่องได้ อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมต่ำสุดที่ทำให้เกิดเปลวไฟลุกต่อเนื่องได้คือ "อุณหภูมิจุดติดไฟหรือ Fire point" โดยอุณหภูมิจุดติดไฟนี้จะสูงกว่าอุณหภูมิจุดวาบไฟอยู่เล็กน้อย

ทีนี้กลับมาที่ข้อสงสัยที่คาใจอยู่ในตอนแรกคือ ใต้ฝาถังมีไฟลุกอยู่หรือไม่ ถ้ามีไฟลุกอยู่ก็จะนำไปสู่อีกคำถามคือแล้วอากาศเข้าไปได้เลี้ยงเปลวไฟอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ฝาถังยังปิดคลุมอยู่ แต่ถ้ามองว่าใต้ฝาถังนั้นไม่มีเปลวไฟ (มันดับไปแล้วเพราะใช้ออกซิเจนไปหมด) แต่ของเหลวในถังนั้นมีอุณหภูมิที่สูงพอที่ทำให้ของเหลวระเหยออกมาชดเชยอัตราการเผาไหม้ที่ตรงตะเข็บรอยต่อได้ทันเวลา มันก็จะอธิบายได้ดีกว่า (และมันจะไปอธิบายเรื่องควันสีขาวที่ว่ากันว่าเกิดขึ้นก่อนการระเบิดได้ด้วย)

รูปแบบการเผาไหม้แบบนี้ก็เคยพบเห็นสมัยที่ยังสอนแลปเคมีอินทรีย์เรื่องการเผาไหม้ไฮโดรคาร์บอน ที่เอาเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ใส่ตะเกียงแอลกอฮอล์แล้วจุดไฟเพื่อให้นิสิตสังเกตลักษณะของเปลวไฟและควันดำที่เกิดขึ้น ในกรณีของเชื้อเพลิงที่มีความดันไอสูง (เช่นเฮกเซน หรืออีเทอร์) จะมีปัญหาตอนดับเปลวไฟ เพราะเอาฝาตะเกียงครอบลงไปแล้วเปลวไฟก็ไม่ดับ มันจะมาไหม้ต่อตรงขอบล่างของฝาตะเกียง และพอเอาบีกเกอร์ครอบลงไปอีกเปลวไฟก็ยังไม่ดับ มันจะมาลุกไหม้อยู่ตรงจงอยปากบีกเกอร์ ด้วยเหตุนี้เวลาสอนแลปนี้ จึงต้องนำตะเกียงวางในถาดอะลูมิเนียมที่เติมน้ำไว้ภายใน เพื่อที่ว่าเวลาครอบบีกเกอร์ลงไป น้ำที่เติมไว้นั้นมันจะท่วมจงอยปากบีกเกอร์ ตัดไม่ให้เชื้อเพลิงได้สัมผัสกับอากาศ ไฟก็จะดับ แต่การทดลองนี้ก็เป็นอดีตไปแล้ว ไปพร้อม ๆ กับการปรับปรุงหลักสูตร

ต่อไปจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีการเผยแพร่กันหลังจากที่เพลิงสงบแล้ว ซึ่งได้แก่ข้อความแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย และคำแถลงการณ์ที่มีขึ้นในช่วงตอนเย็น (รูปที่ ๗)

รูปที่ ๗ (ซ้าย) ข้อความที่มีการส่งต่อกันมา (ขวา) ถ้อยคำจากแถลงการณ์ (จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด)

๑๔. ขอพิจารณาข้อความแรกก่อน (รูปที่ ๗ ซ้าย) ที่บอกว่าผู้เสียชีวิตพยายามขึ้นไปปิดวาล์วบนถัง ข้อสงสัยข้อแรกที่ผมมีก็คือ "บนฝาถังมันมีวาล์วอะไรให้ปิด"

ข้อสงสัยข้อที่สองคือถ้าเหตุการณ์เป็นตามนี้มันก็จะยากที่จะอธิบายว่าแล้วอีก ๓ คนที่เหลือได้รับบาดเจ็บได้อย่างไร คือถ้าจะบอกว่าอีก ๓ คนที่เหลืออยู่บนฝาถังก่อนหน้าแล้ว แล้วทำไมคนนี้ต้องขึ้นไปปิดวาล์ว คนที่อยู่บนฝาถังแล้วไม่ปิดเอง และถ้าบอกว่า ๓ คนนั้นอยู่ข้างล่าง มันก็ยากจะอธิบายว่าแล้วได้รับบาดเจ็บได้อย่างไร ไปยืนอยู่ตรงไหน

ในคำแถลงการณ์ที่เป็นทางการของทางบริษัทนั้นบอกว่า (รูปที่ ๔ ขวา) ก่อนเกิดเหตุ พนักงานทั้ง ๔ คนได้ขึ้นไปอยู่บนฝาถังแล้ว ก่อนเกิดการระเบิดและกระเด็นตกลงมา ซึ่งข้อมูลนี้มันอธิบายได้ว่าทำไมจึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๔ ราย แต่ในคำแถลงการณ์ก็มีสิ่งที่น่านำมาวิเคราะห์อีก ๒ ประเด็น ประเด็นแรกคือ "มีความจุของสาร 8000 คิว" และประเด็นที่สองคือ "เกิดกลุ่มควันลอยขึ้นมา"

๑๕. เราลองมาดูประเด็นแรกก่อนที่ว่า "มีความจุของสาร 8000 คิว" หน่วย "คิว" ในที่นี้คืออะไร ตามความหมายที่คนส่วนใหญ่ในบ้านเราเข้าใจกันก็ควรเป็น cubic metre หรือลูกบาศก์เมตร เพราะนี่คือถังเก็บ (Tank) ไม่ใช่ตู้เย็นที่ใช้กันตามบ้าน ที่ "คิว" หมายถึงลูกบาศก์ฟุต ดังนั้นตรงนี้จะขอสมมุติว่าคำว่า "คิว" ในข่าวคือลูกบาศก์เมตร

๑๖. ถ้าไปดูรูปที่ ๔ จะเห็นรถดับเพลิงจอดอยู่คันหนึ่ง ประมาณว่าความยาวของรถดับเพลิงคือ 8 เมตร ดังนั้นเส้นผ่านศูนย์กลางของถังก็ประมาณ 3 เท่าของความยาวรถดับเพลิงหรือ 24 เมตร ที่นี้ความสูงของถังจะขอประมาณจากความสูงของราวจับในวงกลมสีแดงในรูปที่ ๘ ว่าสูงประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของคนตีซะว่าประมาณ 1 เมตร ดังนั้นความสูงของส่วนลำตัวถังก็ไม่น่าจะถึง 10 เมตร เพราะถ้าสูงกว่านี้ก็น่าจะเสียชีวิตกันหมดจากการตกลงมาจากที่สูง

ด้วยมิติขนาดนี้ที่ประมาณไว้ (กว้าง 24 เมตร สูง 10 เมตร) จะคำนวณความจุของแต่ละถัง (เฉพาะส่วนลำตัวทรงกระบอก) ได้ประมาณ 4,500 ลูกบาศก์เมตร ถ้าว่ากันตามนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่าตอนเกิดเหตุนั้นแต่ละถังมีของเหลวบรรจุเต็ม ซึ่งมันก็จะไปตรงกับภาพความเสียหายของถังที่ปรากฏ

๑๗. ประเด็นที่สองคือที่เห็น "กลุ่มควันลอยขึ้นมานั้น" ควันนี้มาจากไหน เกิดได้อย่างไร ตรงนี้ไม่มีข้อมูลบอกว่ากลุ่มควันลอยออกมาจากไหน แต่บนฝาถังจุดที่จะมีไอระเหยรั่วไหลออกมาภายนอกได้ก็เห็นมีตรงช่อง vent ที่ใช้รักษาความดันภายในถังไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป และ gauge hatch ที่เป็นช่องเปิดสำหรับใช้เก็บตัวอย่างและวัดระดับ โดยส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่เห็นว่าเป็น "ควัน" นั้นอาจไม่ใช่ควันก็ได้ เพราะมันมีอีกสิ่งที่เป็นไปได้คือ "การควบแน่นของไอระเหยที่ร้อน เมื่อรั่วไหลออกสู่บรรยากาศภายนอกที่เย็นกว่า"

รูปที่ ๘ สภาพภายใน tank bund หลังคุมเพลิงได้แล้ว ถ้าประมาณว่าความสูงราวจับในวงกลมสีแดงนั้นสูงประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของคน ก็จะประมาณได้ว่าความสูงของถังนั้นไม่น่าจะเกิน 10 เมตร

๑๘. ไอระเหยของของเหลวจุดเดือดสูงที่อุณหภูมิห้องนั้น เมื่อรั่วไหลออกมาภายนอกถังมันจะไม่มีการควบแน่นเป็นไอให้เห็น แต่ถ้าของเหลวในถังนั้นมีอุณหภูมิสูงพอและระดับของเหลวในถังสูงมากพอ (คือถ้าระดับของเหลวในถังไม่สูง มันก็ควรจะควบแน่นหมดภายในถังเพราะทางด้านฝาถังจะเย็นกว่า) ไอระเหยที่เกิดขึ้นก็จะรั่วไหลออกมากและเกิดการควบแน่นเป็นละอองเล็ก ๆ ให้เห็นเป็นหมอกควันได้ แบบที่เราพ่นลมหายใจออกมาในเวลาที่อากาศเย็นจัด ไอน้ำในลมหายใจจะควบแน่นเป็นละอองน้ำที่ทำให้เราเห็นเหมือนเป็นควัน คำตอบของข้อสงสัยนี้ต้องกลับไปดูที่การทำงานในขณะนั้นว่าอุณหภูมิของเหลวในถังนั้นเป็นเท่าใด

๑๙. ในรูปที่ ๓ ที่ถ่ายไว้หลังเกิดการระเบิดไม่นานนั้น ลมพัดจากซ้ายไปขวา แต่ถังทางด้านซ้ายมีคราบเขม่าไหม้คล้ายกับมีของเหลวไหลย้อยลงมาและเกิดไฟไหม้ที่ผิว ถ้าเป็นเช่นนี้จริงก็ต้องหาคำอธิบายให้ได้ว่าของเหลวมันไหลย้อยลงมาได้อย่างไร (หรือว่ามีของเหลวเต็มถึงขอบถังในขณะนั้น)

๒๐. ส่วนที่ว่าจุดระเบิดได้อย่างไรนั้นยังมองภาพไม่ออก แม้มีการพูดถึงไฟฟ้าสถิต แต่บ้านเราความชื้นในอากาศก็สูงอยู่

 ขอบันทึกข้อสังเกตและข้อสงสัยต่าง ๆ เอาไว้ตรงนี้ ส่วนที่ว่ามันจะถูกต้องบ้างหรือไม่ก็คงได้แต่ต้องรอข้อมูลการสอบสวน ที่หวังว่าจะมีผู้ใจดีแจ้งให้ทราบ เพราะไม่คาดหวังว่าจะมีการเปิดเผยสู่สาธารณะอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นก็คือ อยากให้มองหาความผิดพลาดก่อนที่จะมองหาว่าใครผิด และควรมีการเผยแพร่ความผิดพลาดนั้นให้ทราบทั่วกัน เพื่อที่ผู้อื่นที่ทำงานแบบเดียวกันจะได้ไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีก