วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การระเบิดของถัง LPG ที่เมือง Feyzin ประเทศฝรั่งเศส MO Memoir : Sunday 7 July 2556

พื้นฐานความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่จะเล่าใน Memoir ฉบับนี้อ่านได้จาก Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๖๓๘ วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ เรื่อง "ถังความดัน หอ stripper และการลดอุณหภูมิเนื่องจากการระเหยของของเหลว"

เอกสารที่ใช้ในการเรียบเรียงบทความฉบับนี้ได้แก่

1. The Feyzin Disaster, Loss Prevention Buletin, vol 77, 1987.

2. BLEVE in an LPG storage facility at a rafinery January 4, 1966 Feyzin France, sheet updated Feb 2008. (http://www.aria.developpement-durable.gouv.fr/ressources/1_feyzin_gc_ang.pdf) (ผมสะกดชื่อบทความตามที่ปรากฏในบทความนะ คือเขาสะกดเป็น rafinery แทนที่จะเป็น refinery)

3. Fire and explosion of LPG tanks at Feyzin, France. Failure knowledge database - 100 selected cases. (http://shippai.jst.go.jp/en/)

ในวันอังคารที่ ๔ มกราคมปีค.ศ. ๑๙๖๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ได้เกิดเหตุการแก๊ส LPG (Liquified Petroleum Gas) รั่วไหลจากถังเก็บ ณ เมือง Feyzin ประเทศฝรั่งเศส เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑๘ ราย โดย ๑๑ รายเป็นพนักงานดับเพลิงที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเพลิง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการทบทวนวิธีการปฏิบัติหน้าที่ในการเก็บตัวอย่าง การผจญเพลิง การออกแบบระบบลดอุณหภูมิถังเก็บ ฯลฯ และได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญกรณีหนึ่งในสาขาวิศวกรรมเคมี

รูปที่ ๑ แสดงแผนผังบริเวณที่เกิดเหตุและภาพมุมกว้างแสดงความเสียหายโดยรวมของบริเวณที่เกิดเหตุ

ในการปฏิบัติงานของโรงกลั่นแห่งนี้ จะมีการเก็บตัวอย่าง LPG จากถังลูกโลก (spherical tank) ไปทำการวิเคราะห์ทุก ๓ ถึง ๕ วัน แต่เนื่องจากการออกแบบกระบวนการผลิตของโรงกลั่น จึงทำให้มีสารละลาย NaOH (caustic soda - หรือโซดาไฟ) เข้าไปในถังเก็บ และจะแยกชั้นออกมาอยู่ที่กันถัง (เพราะน้ำมีความหนาแน่นสูงกว่า LPG และไม่ละลายใน LPG) ดังนั้นก่อนการเก็บตัวอย่างจึงต้องมีการระบายน้ำที่ก้นถังทิ้งเสียก่อน

รูปที่ ๒ แสดงแผนผังระบบท่อและวาล์วสำหรับการระบายสารละลาย NaOH ทิ้งก่อนเก็บตัวอย่าง LPG และท่อแยกสำหรับเก็บตัวอย่าง ระบบท่อต่อออกจากถังเป็นท่อขนาด 2 นิ้ว ระบบท่อดังกล่าวมีการติดตั้งวาล์วขนาด 2 นิ้วต่ออนุกรมกันอยู่สองตัว โดยที่ท่อสั้น ๆ ที่เชื่อมระหว่างวาล์ว 2 นิ้ว (ใน ref 1 เรียกท่อนี้ว่า spool piece ซึ่งคำศัพท์นี้ในทาง piping หมายถึงชิ้นส่วนท่อสั้น ๆ ที่ผ่านประกอบเป็นรูปร่างต่าง ๆ สำหรับติดตั้งทำนองเดียวกับชิ้นส่วนจิ๊กซอร์) ทั้งสองตัวนั้นจะมีท่อแยกขนาด 3/4 นิ้วที่มีวาล์วขนาด 3/4 นิ้วติดตั้งอยู่หนึ่งตัว ท่อ 3/4 นิ้วนี้มีไว้สำหรับเก็บตัวอย่าง LPG

วาล์วทั้งสามตัวนี้ (2 นิ้ว 2 ตัวและ 3/4 นิ้ว 1 ตัว) ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นวาล์วชนิดไหน แต่ใน ref. 1 กล่าวว่าสำหรับวาล์ว 2 นิ้วนั้นไม่ได้มีการติดตั้งประแจหมุนวาล์ว (valve spanner) คาไว้ที่ตัววาล์ว แต่จะใช้วิธีให้ไปเบิกมาใช้งานเมื่อต้องการเปิดวาล์วดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาหมุนเปิดวาล์วดังกล่าวเล่น จากข้อมูลนี้ทำให้สงสัยว่าวาล์วขนาด 2 นิ้วทั้งสองตัวนั้นคงจะเป็นชนิด ball valve เพราะถ้าเป็น gate หรือ globe valve ควรจะใช้คำว่า wheel มากกว่า spanner

ส่วนวาล์วขนาด 3/4 นิ้วนั้นไม่มีข้อมูลที่จะระบุได้ว่าเป็นวาล์วชนิดไหน


รูปที่ ๑ แผนผังบริเวณที่เกิดเหตุ รูปบนมาจาก figure 1.4 ของ ref 1. ส่วนรูปล่างมาจาก figure 7 ของ ref. 2 รูปทั้งสองเป็นการมองจากคนละด้านกัน ในส่วนของถังเก็บ LPG นั้นมีทั้งชนิด spherical type และ bullet type ส่วนถังน้ำมันที่เห็นในรูปเป็นชนิด floating roof tank

รูปที่ ๒ แผนผังท่อและวาล์วสำหรับการระบายสารละลาย NaOH ทิ้งจากก้นถังและสำหรับเก็บตัวอย่าง LPG ไปทำการวิเคราะห์ (ภาพจาก ref. 1) pipe ขนาด 2 นิ้วมีเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกประมาณ 2.375 นิ้วและเส้นผ่านศูนย์กลางภายในประมาณ 2.0 นิ้วสำหรับท่อ schedule no. 40 พึงสังเกตระยะความสูงของก้นถังจากพื้น (ประมาณ 1.37 เมตร) นั้นต่ำกว่าความสูงของผู้ใหญ่ทั่วไป (1.6-1.8 เมตร) ทำให้พนักงานที่เข้าไปปฏิบัติงานเก็บตัวอย่างต้องก้มตัวลงเพื่อปฏิบัติงาน

เนื่องจากวาล์วมีขนาดใหญ่ ดังนั้นการเปิดวาล์วเพื่อการระบายน้ำจึงจะเปิดวาล์วเพียงเล็กน้อย ในสภาพที่อากาศเย็นร่วมกับการที่อาจมีแก๊ส LPG รั่วไหลออกมาพร้อมกับน้ำที่ระบายทิ้งในขณะที่เปิดวาล์วเพื่อระบายน้ำนั้น จะทำให้อุณหภูมิบริเวณตัววาล์วนั้นลดต่ำลง (จากการที่ LGP ขยายตัวเมื่อไหลผ่านรูขนาดเล็ก เรื่องนี้เคยอธิบายไว้ใน Memoir วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ แล้ว) จนกระทั่งทำให้น้ำที่ระบายออกมานั้นแข็งตัวเป็นน้ำแข็งอุดตันวาล์วเอาไว้ได้ และเมื่อมีน้ำแข็งอุดตันวาล์ว จะทำให้ไม่สามารถหมุนเปิด-ปิดวาล์วดังกล่าวได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติในการระบายสารละลาย NaOH ออกจากถังดังนี้

(ก) สวมประแจหมุนวาล์วเข้ากับวาล์ว 2 นิ้วทั้งสองตัวนั้น

(ข) เปิดวาล์ว 2 นิ้ว "ตัวบน" ที่อยู่ใกล้กับก้นถังลูกโลกจนเปิดเต็มที่

(ค) ค่อย ๆ ปรับอัตราการระบายของเหลวทิ้งทีละน้อย (เท่าที่จำเป็น) ด้วยการค่อย ๆ เปิดวาล์ว 2 นิ้ว "ตัวล่าง" หรือวาล์ว 3/4 นิ้วที่ใช้สำหรับเก็บตัวอย่าง LPG

เช้าวันเกิดเหตุนั้น พนักงานต้องไปทำการเก็บตัวอย่างแก๊สโพรเพนที่ถังลูกโลกใบหนึ่ง (หมายเลขถังในเอกสารต่างฉบับกันมีความแตกต่างกันอยู่ ใน ref. 1 บอกว่าแค่ว่าเป็นหมายเลข 443 แต่ใน ref. 2 นั้นบอกว่าเป็นเบอร์ T 61443 ซึ่งจะเรียกย่อ ๆ ว่า 443 ดังนั้นจึงสรุปว่าเป็นถังใบเดียวกัน) ทีมพนักงานที่ไปเป็นตัวอย่างนั้นประกอบด้วยพนักงาน 3 คนคือพนักงานปฏิบัติงาน (ที่เราเรียกว่าโอเปอร์เรเตอร์) 1 คน เจ้าหน้าที่แลปวิเคราะห์ 1 คนและพนักงานดับเพลิงอีก 1 คน พนักงานปฏิบัติงานนั้นมีประแจหมุนวาล์วไปเพียงอันเดียว (แทนที่จะมีสองอันสำหรับวาล์ว 2 นิ้วสองตัว)

เมื่อไปถึงถังที่จะเก็บตัวอย่าง พนักงานปฏิบัติงานได้กระทำดังนี้

๑. เปิดวาล์ว 2 นิ้ว "ตัวล่าง" จน "เกือบ" เต็มที่ (ตรงนี้ ref. 1 ใช้คำว่า almost fully) ซึ่งตรงนี้เป็นการกระทำแตกต่างไปจากระเบียบวิธีปฏิบัติที่วางไว้คือต้องเปิดวาล์ว 2 นิ้ว "ตัวบน" ไม่ใช่ตัวล่าง

๒. จากนั้นจึงค่อย ๆ เปิดวาล์ว 2 นิ้ว "ตัวบน" (ระเบียบวิธีปฏิบัติที่วางไว้คือต้องเป็นตัวล่าง) เพื่อจะระบายสารละลาย NaOH ออกจากถังเก็บ ในการนี้พนักงานต้อง "ถอด" ประแจหมุนวาล์วจากวาล์วตัวล่างไปใช้กับวาล์วตัวบน (เพราะมีประแจหมุนวาล์วติดมือไปเพียงอันเดียว)

ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันได้ว่า สิ่งที่พนักงานคนดังกล่าวกระทำนั้นเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามวิธีการ (เพราะลืมหรืออะไรก็ตามแต่) หรือว่าวิธีการที่วางไว้นั้นไม่เหมาะสม เพราะถ้าดูจากความสูงของพื้นที่ปฏิบัติงาน ก็ ทำให้เกิดคำถามได้ว่าการให้ไปปรับวาล์วตัวล่างที่อยู่ใกล้กับพื้นนั้นมีความสะดวกในการปฏิบัติหรือไม่ (เช่นทำให้เปิดวาล์วได้ไม่ค่อยสะดวก หรือของเหลวที่ไหลออกมานั้นอาจพุ่งลงกระทบพื้นและกระเด็นเข้าหน้าของพนักงานได้)

เมื่อเปิดวาล์วตัวบนเพียงเล็กน้อย ปรากฏว่ามีของเหลวไหลออกมาเพียงเล็กน้อยตามด้วยแก๊สในปริมาณเล็กน้อย พนักงานจึงปิดวาล์วตัวบนอีกครั้งและเปิดอีกครั้งหนึ่ง (ตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะเปิดเพียงเล็กน้อย) ปรากฏว่ามีของเหลวไหลออกมาเพียงไม่กี่หยดและไม่มีอะไรไหลออกมา พนักงานคนดังกล่าวจึงตัดสินใจเปิดวาล์ว 2 นิ้วตัวบนเต็มที่ จากนั้นก็มีเสียงดัง (ใน ref. 1 ใช้คำว่า deflagration) ตามด้วยกระแสโพรเพนที่ฉีดออกมาจากถังอย่างรุนแรงกระจายไปทั่วบริเวณ จนทำให้พนักงานที่เข้าไปเปิดวาล์วได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้าและแขนจากความเย็นของแก๊สที่ฉีดออกมา และในจังหวะที่เขาถอดหลังออกมานั้นก็ได้ดึงเอาประแจหมุนวาล์วออกจากตำแหน่ง

จากนั้นพนักงานปฏิบัติการและพนักงานดับเพลิงพยายามจะเข้าไปปิดวาล์วที่เพื่อหยุดการไหลของแก๊ส แต่ไม่สำเร็จ (นับว่าเป็นการกระทำที่เสี่ยงมาก เพราะต้องเข้าไปอยู่ในหมอกแก๊สโพรเพนที่รั่วออกมาจากถังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเลานี้ถ้าเกิดการระเบิดขึ้นเมื่อใด พนักงานทั้งหมดจะโดนไฟครอกทันที) จึงได้ออกจากบริเวณดังกล่าวเพื่อไปยังจุดแจ้งเหตุ (ห่างออกไปประมาณ 800 เมตร) ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 6.40 น (ในช่วงเช้า)

ช่วงเวลาต่อจากนั้นเป็นความพยายามของพนักงานดับเพลิงที่จะปิดแก๊สที่รั่วไหลและปิดกั้นเส้นทางในถนนบริเวณใกล้เคียง แต่ปรากฏว่ามีมีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งผ่านเข้าไปในหมอกแก๊สโพรเพน ห่างจากถังแก๊สที่รั่วออกมาประมาณ 160 เมตร (เหตุการณ์ตอนนี้ใน ref. 1 และ ref. 2 บรรยายไว้แตกต่างกัน) ทำให้เกิดการจุดระเบิดแก๊สโพรเพนที่รั่วออกมานั้น (คนขับรถยนต์คันดังกล่าวถูกไฟครอกเสียชีวิต ส่วนสาเหตุการจุดระเบิดนั้นใน ref. 1 บอกว่าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่บกพร่อง แต่ใน ref. 2 บอกว่าเป็นชิ้นส่วนที่ร้อนของตัวรถ) ทำให้เกิดเปลวไฟวิ่งย้อนไปยังถังแก๊สโพรเพน 443 ที่มีแก๊สรั่วออกมา เกิดเป็นเปลวไฟพุ่งสูงขึ้นไปประมาณ 60 เมตร ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 7.15 น (ดูรูปที่ ๓)

เหตุการณ์ต่อจากนั้นเป็นความพยายามที่จะควบคุมเพลิง ด้วยการใช้น้ำฉีดหล่อเลี้ยงไปยังถังข้างเคียงและถัง 443ไม่ให้ร้อน การเข้ามาช่วยเหลือของหน่วยดับเพลิงต่าง ๆ รายละเอียดตรงจุดนี้ในเอกสาร ref. 1 และ 2เขียนไว้ชัดเจนแล้ว ไม่ขอนำมากล่าวซ้ำ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือมีการแย่งน้ำใช้กันจนทำให้เกิดปัญหาน้ำไม่พอใช้ในการหล่อเลี้ยงถังทุกใบ


เวลาประมาณ 7.45 น วาล์วระบายความดันขนาด 4 นิ้วบนถัง 443 เปิดออก เนื่องจากความดันในถังสูงขึ้นจากการโดนไฟครอก แก๊สที่รั่วออกมานั้นลุกติดไฟทันที ทำให้เกิดเป็นเปลวไฟขนาด 10 เมตร

ตรงนี้ต้องขออธิบายหน่อย คือการระบายความดันในกรณีที่ความดันในถังสูงผิดปรกติไม่มากและเป็นชั่วขณะ (เช่นจากอุณหภูมิอากาศที่ร้อนหรือการปฏิบัติงาน) แก๊สที่ออกจากวาล์วระบายความดันของถังจะส่งไปยังระบบ flare ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีเช่นไฟลุกไหม้ที่ตัวถังแล้ว จะยอมให้แก๊สที่รั่วออกมานั้นออกสู่บรรยากาศโดยตรงได้ (แก๊สที่รั่วออกอาจมีปริมาณมากเกินกว่าที่ระบบ flare จะรับได้) เมื่อแก๊สรั่วออกมาก็จะลุกติดไฟทันที ที่สำคัญคืออย่าให้เปลวไฟที่เกิดจากแก๊สที่รั่วออกมาจากวาล์วระบายความดันสัมผัสกับโลหะที่เป็นผนังของตัวถังโดยตรงหรือถังข้างเคียง และต้องป้องกันไม่ให้ผนังถังร้อนเกินไปด้วยการใช้น้ำหล่อเย็น แนวปฏิบัติเช่นนี้ปัจจุบันผมก็ยังเห็นมีการใช้งานอยู่

ช่วงระหว่างเวลา 7.45-8.30 น นั้นมีพนักงานเข้าระงับเหตุอยู่ 158 นายในบริเวณ 100-120 เมตรรอบตัวถัง 443 เมื่อเห็นวาล์วระบายความดันของถัง 443 เปิดออก พนักงานดับเพลิงจึงได้ "ยุติ" การฉีดน้ำเข้าหล่อเลี้ยงถัง 443 (ในขณะนั้นน้ำมีไม่พอใช้) ด้วยเข้าใจว่าวาล์วระบายความดันที่เปิดออกจะสามารถป้องกันไม่ให้ถัง 443 ระเบิดได้ด้วยการลดความดันภายในถังด้วยการปล่อยให้แก๊สรั่วไหลออกมา แต่ถึงกระนั้นปัญหาน้ำขาดแคลนและมีความดันต่ำก็ยังคงมีอยู่ ทำให้พนักงานดับเพลิงต้องเข้าไปฉีดน้ำใกล้ถัง แต่ความร้อนจากเปลวไฟก็ทำให้เข้าใกล้ได้ไม่เกิน 40 เมตรจากตัวถัง

เวลาประมาณ 8.40-8.45 น ผนังของถัง 443 ก็แตกออก โพรเพนประมาณ 340 m3 (ที่เป็นของเหลว) รั่วออกมาจากถังทันที เมื่อความดันลดลงประกอบกับอุณหภูมิที่สูง ก็ทำให้โพรเพนที่เป็นของเหลวนั้นกลายเป็นไอปกคลุมบริเวณดังกล่าวและลุกติดไฟอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาที กลายเป็นลูกไฟขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 250 เมตรและสูงประมาณ 400 เมตร (สนามฟุตบอลมาตรฐานมีความยาวประมาณ 100 เมตร ดังนั้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเปลวไฟจะครอบคลุมพื้นที่สนามฟุตบอลได้ถึงสองสนาม) เศษชิ้นส่วนจากการระเบิดนั้นยังส่งผลให้ถังแก๊สที่อยู่บริเวณข้างเคียงได้รับความเสียหาย ปลดปล่อยแก๊สให้รั่วออกมาอีก ทำให้บริเวณเพลิงไหม้ขยายตัวออกไปในบริเวณกว้าง ในบรรดาผู้เสียชีวิต 18 รายนั้น 11 รายเป็นพนักงานดับเพลิงที่เข้าไปดับเพลิงในบริเวณถังดังกล่าว (เข้าใจว่าน่าจะเสียชีวิตในขณะที่เกิดการระเบิด) ความร้อนแรงจากเปลวไฟนั้นเผาพลาญร่างผู้เสียชีวิตบางรายจนเหลือเพียงคราบคาร์บอนบนพื้น (รูปที่ ๔)

เวลาประมาณ 8.55 น ก็ได้ถอนกำลังออกจากบริเวณถังเก็บที่เกิดไฟไหม้

เหตุการณ์ต่อจากนี้ไปเป็นอย่างไรบ้างนั้น ขอให้ไปอ่านเอาเองใน ref. ที่ส่งเป็นไฟล์แนบมาให้ (หรือไม่ก็ไปดาวน์โหลดจากเว็บได้ สำหรับ ref. 1 นั้นเข้าไปได้ที่ www.en.wikipedia.org แล้วค้นดูคำว่า Feyzin ดู จะมี link ไปยังบทความดังกล่าว แต่เป็นเวอร์ชันจัดรูปแบบใหม่ ที่ผมส่งมาให้เป็นฉบับเวอร์ชันดั้งเดิม)
สถานการณ์กลับเข้าสู่การควบคุมได้อีกครั้งในเย็นวันพุธที่ ๕ มกราคม แม้ว่าในขณะนั้นยังมีไฟไหม้อยู่บางส่วนก็ตาม

รูปที่ ๔ คราบคาร์บอนบนพื้นของผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง (จาก ref. 1)

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นคำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ทำให้ถัง 443 จึงเกิดการระเบิดได้ ในช่วงแรกมีอยู่สองทฤษฎีที่เป็นที่ถกเถียงกันก็คือ

๑. วาล์วระบายความดันมีขนาดเล็กเกินไป

๒. ความร้อนที่เกิดจากเปลวไฟที่เผาผนังโลหะถังส่วนที่อยู่เหนือผิวของเหลวโดยตรง ทำให้ความแข็งแรงของโลหะลดลง ประกอบกับความดันในถังที่สูงขึ้น ทำให้ถังแตกออก

ทฤษฎีทั้งสองเป็นที่ถกเถียงกันหลังเหตุการณ์ผ่านไปหลายปี กว่าจะได้ข้อยุติว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ถังเกิดการระเบิดคือการที่ความร้อนที่เกิดจากเปลวไฟที่เผาผนังโลหะถังส่วนที่อยู่เหนือผิวของเหลวโดยตรง ทำให้ความแข็งแรงของโลหะลดลง ประกอบกับความดันในถังที่สูงขึ้น ทำให้ถังแตกออก การระเบิดรูปแบบเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า Boiling Liquid Expansion Vapour Explosion หรือย่อสั้น ๆ ว่า "BLEVE"
จุดแตกต่างระหว่าง BLEVE กับ Unconfined Vapour Cloud Explosion (UVCE) คือ ในกรณีของ UVCE นั้นไอสารที่รั่วไหลออกมา (ต้องรั่วออกมาเป็นปริมาณมากด้วย แต่จะรั่วออกมาอย่างรวดเร็วหรือค่อย ๆ รั่วออกมานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ไม่ได้เกิดการลุกไหม้ทันที่ แต่มีการแผ่ออกไปเป็นบริเวณกว้างก่อนเกิดการระเบิด ความเสียหายจาก UVCE นั้นเกิดจากคลื่นกระแทกจากการระเบิดเป็นหลัก แต่ในกรณีของ BLEVE นั้นเป็นการรั่วไหลออกมาในปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น และเกิดการลุกไหม้ติดไฟทันที ความเสียหายหลักจาก BLEVE นั้นคือเปลวไฟที่เกิดขึ้นจะมีขนาดใหญ่มากและมีการแผ่รังสีความร้อนที่สูงมาก มีบันทึกหนึ่งกล่าวว่าในขณะที่เกิด BLEVE นั้น พนักงานดับเพลิงที่อยู่คู่กันสองราย รายหนึ่งหลบเข้าที่กำบังทัน (ไม่ได้รับความร้อนจากการแผ่รังสีที่เดินทางเป็นเส้นตรงเหมือนแสง) รอดชีวิต ส่วนอีกรายที่หลบไม่ทันและรับความร้อนจากการแผ่รังสีเข้าไปนั้นเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

ในกรณีของภาชนะโลหะที่บรรจุของเหลวอยู่นั้น ถ้ามีไฟเผาเนื้อโลหะบริเวณที่อยู่ใต้ระดับผิวของเหลว อุณหภูมิของเนื้อโลหะจะสูงขึ้นและส่งผ่านความร้อนไปยังของเหลวที่บรรจุอยู่ และเมื่อของเหลวเริ่มเดือด การเดือดของของเหลวนั้นจะดึงเอาความร้อนจากเนื้อโลหะไปมาก ดังนั้นจึงประมาณได้ว่าอุณหภูมิของเนื้อโลหะนั้นจะอยู่ที่ประมาณจุดเดือดของของเหลว

แต่ถ้าไฟเผาเนื้อโลหะบริเวณที่อยู่เหนือผิวระดับของเหลว สิ่งที่เนื้อโลหะทำได้คือการระบายความร้อนไปยังอีกฟากหนึ่งที่มีแต่แก๊ส แต่เนื่องจากแก๊สระบายความร้อนได้ไม่ดี จึงทำให้อุณหภูมิเนื้อโลหะเพิ่มสูงขึ้นมาก และเมื่อโลหะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ความแข็งแรงจะลดลง ประกอบกับการที่ความดันในถังเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากของเหลวระเหยกลายเป็นแก๊สในปริมาณมาก ดังนั้นเมื่อถึงระดับหนึ่งเนื้อโลหะก็จะฉีกขาดออก ทำให้ของเหลวในถังรั่วไหลออกมาข้างนอกในปริมาณมากทันที (ดูรูปที่ ๕ ข้างล่างประกอบ)


รูปที่ ๕ รูปภาพอธิบายการเกิดปรากฏการณ์ BLEVE (จาก ref. 3) จะเห็นว่าวาล์วระบายความดันนั้นจะพ่นแก๊สขึ้นไปในแนวดิ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เปลวไฟจากแก๊สที่ลุกไหม้ไปลนตัวมันเองหรือถังที่อยู่ข้างเคียง


หลังเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้มีการออกแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีก (แต่มันก็เกิดอยู่ดี) เช่น

1. หุ้มฉนวนความร้อนทนไฟไหม้ให้กับตัวถังและส่วนขา เพื่อลดความร้อนที่จะส่งผ่านไปยังเนื้อโลหะเวลาโดนไฟครอก การป้องกันส่วนขาก็เพื่อป้องกันไม่ให้ถังล้มลงมา

2. จัดหาน้ำฉีดหล่อเลี้ยงในปริมาณที่เพียงพอ

3. บริเวณพื้นใต้ถังควรที่จะมีการลาดเอียง เพื่อให้เชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมานั้นไหลพ้นจากก้นถัง เวลาที่เชื้อเพลิงนั้นเกิดการลุกไหม้จะได้ไม่เกิดเปลวไฟครอกที่ก้นถังโดยตรง

4. ติดตั้งวาล์วเพิ่มเพื่อระบายความดัน โดยวาล์วนั้นสามารถสั่งเปิดจากระยะไกลได้ เพื่อลดความดันในถังโดยไม่ต้องรอให้ safety valve ทำงาน

5. วาล์วระบายของเหลวนั้นไม่ควรเป็นวาล์วขนาดใหญ่ ควรติดตั้งในบริเวณที่เข้าปฏิบัติงานได้ง่าย (เช่นไม่อยู่ใต้ตัวถัง แต่เดินท่อออกมายังด้านนอก) และควรใช้วาล์วชนิดที่ใช้แรงสปริงบังคับให้วาล์วปิดตลอดเวลา (ต้องใช้แรงคนไปโยกก้านเพื่อให้วาล์วเปิด แต่ถ้าปล่อยมือ วาล์วก็จะกลับคืนสู่ตำแหน่งปิด)

รูปที่ ๖ การป้องกันไม่ให้ถังระเบิดจากการโดนไฟครอก (จาก ref. 1) บทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์ที่เมือง Feyzin

รูปต่าง ๆ ในหน้าถัดไปนั้นผมนำมาจาก www.corbisimages.com และ www.historicimages.com ต่างเป็นภาพบริเวณถังเก็บเชื้อเพลิงที่เกิดเพลิงไหม้ ส่วนจะเป็นบริเวณไหนบ้างนั้นก็ลองเพียงดูกันเอาเองก็แล้วกัน





Memoir ฉบับนี้เป็นฉบับปิดท้ายปีที่ ๕ ในรอบปีที่ ๕ นี้เริ่มตั้งแต่ฉบับที่ ๔๗๕ มาจนถึงฉบับที่ ๖๔๐ รวมทั้งสิ้น ๑๖๖ ฉบับ ๗๒๖ หน้า A4 ฉบับถัดไปจะเป็นฉบับเริ่มต้นปีที่ ๖ แล้ว ซึ่งถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดเข้าแทรก ฉบับถัดไปจะเป็นเรื่องการระเบิดของโรงงานในประเทศไทยที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยเล่าไว้แล้วแต่ยังมีบางจุดที่ยังไม่ชัดเจน เพิ่งจะได้ทราบข้อมูลชัดเจนมาเมื่อปลายเดือนที่แล้วนี้เอง

ไม่มีความคิดเห็น: