วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ที่ระลึกนิสิตวิศวกรรมเคมีรหัส ๖๓ ร้านข้าวแกงที่มีกับข้าว ๕ อย่าง MO Memoir : Monday 13 May 2567

ปี ๒๕๓๑ ช่วงทำงานอยู่มาบตาพุด มีข่าวว่าบริษัทที่มีแต่โรงงานผลิต HDPE (พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง) นำ PP (พอลิโพรพิลีน) ออกขาย โดยบอกว่าผลิตขึ้นเอง (ในขณะนั้นประเทศไทยมีแค่โรงงาน HDPE และ LDPE อย่างละ ๑ โรง)

ฝ่ายตลาดเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นจริง ฝ่ายเทคนิคก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นจริงเช่นกัน เรื่องผ่านมาถึงฝ่าย operation ที่ผมทำงานอยู่ ลูกน้องที่มีเพื่อนทำงานที่โรงงานนั้นก็บอกยืนยันว่าเป็นจริง เราก็เลยมานั่งพิจารณากัน ก็ได้ข้อสรุปว่า "ทำได้"

ความรู้พื้นฐานจากวิชา "เคมี" ทำให้เรารู้ว่าเป็นไปได้ที่จะเอาโรงงานผลิต HDPE มาผลิต PP แต่ในทางกลับกันทำไม่ได้ และทำให้เรารู้ว่าด้วยกระบวนการผลิตในรูปแบบดังกล่าวมันมีโอกาสจะเกิดปัญหาอะไร และต้องวางแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างไร

แต่ถึงกระนั้นโรงงานนั้นก็เกิดความผิดพลาดในระหว่างการแก้ปัญหา ซึ่งนำไปสู่การเกิด Unconfined Vapour Cloud Explosion หรือ UVCE ครั้งแรกของประเทศไทยในเดือนธันวาคม ๒๕๓๑

--------------------

ปี ๒๕๓๙ ระหว่างการ commissioning โรงโอเลฟินส์ที่เพิ่งสร้างเสร็จ เพื่อทำการ calibrate อุปกรณ์วัดที่เรียกว่า displacer ที่ใช้วัดระดับรอยต่อระหว่างเฟสน้ำกับเฟสน้ำมันใน separation drum ของ quench tower ช่างเทคนิคที่ทำหน้าที่ดังกล่าวมองไม่เห็นชั้นน้ำมันสีแดงที่เขาเห็นเป็นประจำจากประสบการณ์ของเขา จึงเข้าใจว่าในตัว drum นั้นเต็มไปด้วยน้ำ จึงเปิดวาล์วของเหลวใน drum ลงท่อระบายน้ำ แต่สิ่งที่เขาระบายลงไปนั้นคือน้ำมัน ไม่นานนัก น้ำมันที่ถูกระบายลงท่อระบายน้ำก็เกิดการระเบิด นั่นคือการเกิด UVCE ครั้งที่สองของประเทศไทย

แนฟทาบริสุทธิ์นั้นไม่มีสี แนฟทาที่เขานำมาใช้ในการ calibrate อุปกรณ์ก่อนเริ่มเดินเครื่องครั้งแรกเป็นแนฟทาบริสุทธิ์ มันจึงใสเหมือนน้ำ ในขณะที่แนฟทาที่วิ่งวนอยู่ในระบบหลังโรงงานเริ่มทำงานไปพักหนึ่ง มันจะมีสีแดง

มีอยู่ปีหนึ่งไปตรวจฝึกงานนิสิตรายหนึ่งที่โรงโอเลฟินส์ พี่เลี้ยงให้เขานำเสนอกระบวนการผลิตซึ่งเขาก็ทำได้คล่องมาก เพราะถึงตอนถามคำถาม ผมก็ถามเขาไปว่าทำไมต้องมีหน่วยกำจัดกำมะถัน ในเมื่อใน flow chart ที่คุณแสดงมันไม่มีการป้อนกำมะถัน

ปรากฏว่าพี่เลี้ยงไม่ได้บอกให้รู้ว่าในความเป็นจริงมีการผสมสารประกอบกำมะถันเข้าไปกับแนฟทา

ความรู้จากวิชา "เคมี" ทำให้เรารู้ว่าปฏิกริยา thermal cracking ที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์จะดำเนินไปข้างหน้าได้ดีขึ้นที่ partial pressure ต่ำ ซึ่งก็นำไปสู่การผสมไอน้ำเข้าไปกับ feed และยังทำให้เรารู้ว่าเพื่อป้องกันการเกิด coke เกาะบนผิวท่อก็ต้องผสมสารประกอบกำมะถันเข้าไปกับ feed และเช่นกัน ความรู้จากวิชา "เคมี" ทำให้เรารู้ว่าโมเลกุลเล็กที่เกิดขึ้นสามารถรวมตัวกลับเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น และเป็นสารประกอบที่มี "สี" ที่มีอะตอม O และ S อยู่ในโครงสร้างโมเลกุล

--------------------

ธันวาคม ๒๕๔๒ ณ โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่ง ในขณะที่ชั่วโมงการทำงานสะสมที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุนั้นกำลังจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เกิดความผิดพลาดในระหว่างการส่งน้ำมันไปยัง tank farm ทำให้น้ำมันปริมาณมากล้นถังเก็บและรั่วไหลลงสู่รางระบายน้ำ ก่อนจะเกิดการจุดระเบิด ณ จุดที่ห่างออกไปและทำให้เปลวไฟที่เกิดขึ้นวิ่งกลับมาเผาไหม้ถังน้ำมัน

ความรู้จากวิชา "เคมี" ทำให้เรารู้ว่าการระเหยของของเหลวขึ้นอยู่กับแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของโมเลกุลที่อยู่บนผิวหน้า (ที่สัมผัสกับอากาศ) กับโมเลกุลที่อยู่ชั้นล่าง ในกรณีของน้ำกับน้ำมัน น้ำมันจะลอยอยู่บนผิวหน้า ทำให้อัตราการระเหยของน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวหน้าน้ำนั้นจะสูงกว่าปรกติ น้ำมันที่ปรกติติดไฟยาก (เช่นดีเซลหรือน้ำมันเตา) แต่เมื่อลอยอยู่บนผิวน้ำจะสามารถติดไฟได้ง่ายขึ้นมาก นั่นคือการเกิด UVCE ครั้งที่สามของประเทศไทย

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันมาเกิดซ้ำอีกเมื่อเดือกรกฎาคม ๒๕๖๔ ระหว่างดับเพลิงที่ไหม้โรงงานผลิตโฟมชานกรุงเทพ (หมิงตี้เคมิคอล) ไฮโดรคาร์บอนที่รั่วไหลลงผิวน้ำที่ท่วมขัง ทำให้เกิดเปลวไฟแผ่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเสียชีวิตจากโดนไฟครอก ๑ ราย

--------------------

ตุลาคม ๒๕๔๔ เกิดการระเบิดใหญ่ที่โรงงานแห่งหนึ่งที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี มีผู้เสียขีวิตเกือบ ๒๐ ราย สาเหตุของการระเบิดเกิดจากโรงงานต้องการลดต้นทุนด้วยการเตรียมสารตัวหนึ่งขึ้นใช้เอง ด้วยการผสมเมทิลเอทิลคีโตนกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

ประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ระหว่างนั่งฟังนิสิตป.เอกนำเสนอผลงานในวิชาสัมมนา เขาพยายามหาตัวทำละลายเพื่อประสานเฟสเบนซีนและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ตัวทำละลายตัวหนึ่งที่เขาหยิบมาใช้คือ acetone ผมเห็นเข้าก็เลยถามว่าคุณมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการเลือกตัวทำละลาย เขาก็บอกว่าก็ดูว่าในห้องแลปมีอะไร ก็หยิบตัวนั้นมาใช้ ผมก็บอกเขาไปว่า รู้ไหมว่าเล่นกับอะไรอยู่ ดีเท่าไรแล้วที่มันไม่ระเบิดคาคือตอนคุณผสม

แต่ในช่วงเวลานั้นมีเหตุขวดทิ้งสารระเบิดในห้องแลปประมาณ ๓-๔ ครั้ง ครั้งสุดท้ายที่แรงที่สุดนั้นทำลาย hood ไปหนึ่งตัว โชคดีที่เป็นช่วงกลางคืนที่ไม่มีคนทำงานในห้องนั้น

๓ ปีที่แล้ว มีบริษัทแห่งหนึ่งจ้างให้ผมทำวิจัยผลิตสารเคมีตัวหนึ่งด้วยการผสม น้ำ กรดอะซีติก และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้าด้วยกัน ให้สัดส่วนการผสมมาเรียบร้อย ระหว่างการประชุมออนไลน์ผมก็ถามเขาตรง ๆ ว่าทางบริษัทก็มีทั้งห้องทดลองและผู้มีความรู้ แต่กลับจ้างให้คนอื่นทำแทน แสดงว่ารู้ใช่ไหมครับว่าสิ่งที่ดูธรรมดา ๆ แต่ถ้าผสมกันไม่ถูกวิธีมันก็มีสิทธิระเบิดได้ ผมทำการทดลองในห้องแลปใช้เครื่องแก้วมันไม่มีปัญหาหรอก แต่ถ้า scale up เมื่อใด ระวังให้ดี เพราะมันจะเกิดเรื่องตอนนั้น

ทางฝ่ายบริษัทได้แต่นั่งยิ้ม

ความรู้วิชา "เคมี" ทำให้เรารู้ว่าอะไรที่ไม่ควรผสมเข้าด้วยกัน หรือต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สัมผัสกับสารเคมีเหล่านั้นควรทำจากวัสดุอะไร

และถ้าจะให้ดีอาจารย์ที่ควบคุมการทำงานของนิสิตก็ควรต้องรู้ด้วยว่ากำลังให้นิสิตเล่นกับอะไรอยู่ ไม่ใช่ว่าพอเกิดเรื่องทีก็บอกว่า "ไม่เคยบอกให้นิสิตทำอย่างนั้น" ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง "ไม่เคยบอกนิสิตว่าควรทำอย่างไร"

--------------------

 

ปัจจุบันเวลาพิมพ์ข้อความติดต่อพูดคุย ก็มักจะใช้เลข "5" แทนความหมายว่าหัวเราะ "ฮ่า" แต่สำหรับวิศวกรรมเคมีบ้านเราแล้ว เหตุการณ์วันที่ ๕ เดือน ๕ (พฤษภาคม) ปี ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๕๕) จัดว่าเป็นวันที่ฝันร้ายกลายเป็นจริง เมื่อเกิดการระเบิดที่โรงงาน Bangkok Synthetic Elastomer ที่จัดว่าเป็น UVCE ครั้งที่ ๔ ของไทย

เหตุการณ์นั้นสื่อต่าง ๆ ประโคมข่าวว่าเป็นการระเบิดเกิดจากโทลูอีน แต่ความรู้เคมีนั้นบ่งบอกว่าไม่น่าใช่ (ตัวการที่แท้จริงน่าจะเป็น Butadiene ที่ละลายอยู่ในโทลูอีน) และในทำนองเดียวกัน การระเบิดของโรงงานหมิงตี้เคมีคอล เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ นั้น สไตรีนก็ไม่น่าจะเป็นตัวการ (ตัวการที่แล้วจริงน่าจะเป็น pentane มากกว่า)

--------------------

 

ประมาณสิบปีที่แล้วได้เข้าร่วมทีมวิศวกรที่ปรึกษาของคณะเพื่อให้ความเห็นในการก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งหนึ่งของสภากาชาดไทย ในเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๕๙ ก่อนการประชุมร่วมระหว่างวิศวกรฝั่งไทยกับฝั่งเกาหลี ทราบมาว่าในที่ประชุมจะมีการหาข้อยุติเรื่อง mechanical seal ของ ethanol pump พังเร็วผิดปรกติ ผมก็ถามน้องที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานว่าเป็นปั๊มตัวไหน พอรู้ว่าเป็นตัวไหนก็เลยบอกน้องเขาไปว่า "เดินเครื่องผิดวิธีหรือเปล่า" น้องหัวหน้าคณะทำงานก็ตอบกลับมาว่า "พี่พูดเหมือนวิศวกรเกาหลีเลย" (โรงงานนี้เป็นการก่อสร้างแบบ "Turnkey project" โดยเจ้าของเทคโนโลยีทางเกาหลีเป็นผู้รับเหมารับทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่ออกแบบไปจนถึงทำให้เดินครื่องได้ เหมือนกับเวลาที่เราซื้อรถยนต์ คือไม่ต้องไปคุมการผลิต แค่ไขกุญแจติดเครื่องแล้วก็ขับออกไปเลย)

คือทางทีมวิศวกรเครื่องกลฝั่งไทยคิดว่าปัญหาเกิดจากการติดตั้งไม่ถูกวิธี แต่จากขนาดปั๊มและการติดตั้งที่เห็น ผมเห็นว่ามันไม่มีปัญหาอะไร (ตัวอื่นที่ติดตั้งแบบเดียวกันมันก็ไม่มีปัญหา) ที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหามากกว่าคือ "ขั้นตอนการหยุดเดินเครื่อง" เพราะดูจากตำแหน่งที่ตั้งปั๊มและสวิตช์ปิด-เปิด และจำนวนพนักงานที่เขาใช้แล้ว โอกาสที่ปั๊มจะเกิดการ run dry ค่อนข้างสูง (คือไม่มีของเหลวในปั๊ม) และถ้าปั๊ม run dry เมื่อใด mechanical seal พังได้ง่าย ๆ (ว่าแต่รู้จักไหมครับว่า mechanical seal คืออะไร)

สองปีที่แล้ว ศิษย์เก่าภาควิชาที่ทำงานที่โรงงานผลิต PP ส่งข้อความมาถามว่าจะหาว่าคราบสีขาวบน mechanical seal (รู้จักไหมครับว่าคืออะไร) ของ propylene pump มาได้อย่าง จะเริ่มต้นอย่างไรดี ผมก็ถามเขาว่าโพรพิลีนนั้นมาจากไหน และมีการ flushing ที่ mechanical seal หรือเปล่า ใช้อะไรเป็นของเหลว flushing และควรใช้วิธีการใดในการตรวจสอบว่าผงของแข็งสีขาวที่พบเจอนั้นคืออะไร

ความรู้เรื่องโครงสร้างของปั๊มทำให้รู้ว่า mechanical seal เป็นบริเวณที่อุณหภูมิจะสูงกว่าส่วนอื่นและต้องการการระบายความร้อน ดังนั้นบริเวณดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาที่ไม่ต้องการได้

--------------------

 มีนาคม ๒๕๕๗ ระหว่างเดินไปเอาน้ำร้อนในห้องธุการเพื่อชงกาแฟกิน หัวหน้าภาคที่นั่งอยู่แถวนั้นก็ยื่นเอกสารมาให้ปึกหนึ่งแล้วบอกว่าพี่ช่วยดูให้หน่อย

ผมเอามาพลิกดู ในเอกสารนั้นเต็มไปด้วยข้อกำหนดคุณลักษณะอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ สำหรับกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเคมีและชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็น ท่อ, วาล์ว, ปั๊ม, Fermenter, Spray dryer, อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ฯลฯ แต่ข้อกำหนดคุณลักษณะ (ที่เราเรียกว่า specification) ไม่ว่าเป็นเรื่องการต้านทานการกัดกร่อน, วัสดุที่ใช้ หรือการป้องกันการรั่วไหล จัดว่าสูงมาก ก็เลยถามกลับไปว่า "จะเอาไปผลิตอาวุธเคมี-ชีวภาพหรือ"

หัวหน้าภาคก็ตอบกลับมาว่า

"พี่ดูออก งั้นช่วยไปเป็นตัวแทนให้หน่อย"

นับจากวันนั้นก็เลยได้ไปเป็นช่วยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ทำงานในอนุกรรมการพิจารณาสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual Use Item - DUI)

--------------------

พฤษภาคม ๒๕๕๙ มีการกดไลค์กดแขร์ข้อความบนหนึ่งบน facebook ว่า ถ้าให้ความร้อนด้วยไอน้ำความดันต่ำ จะใช้ไอน้ำน้อยกว่าการให้ความร้อนด้วยไอน้ำความดันสูง เพราะ latent heat ต่อ kg ของไอน้ำความดันต่ำนั้นสูงกว่าของไอน้ำความดันสูง ซึ่งเขาบอกว่าวิศวกรส่วนใหญ่นั้นไม่รู้เรื่องนี้ และถ้าได้มาเรียนกับเขาก็จะไม่ต้องเป็นวิศวกรกาก ๆ แบบที่วิศวกรส่วนใหญ่เป็น คนที่กดไลค์กดแชร์ข้อความของเขามีทั้งศิษย์เก่าของภาควิชาและ "อาจารย์" จากหลายสถาบัน (นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมผมจึงได้เห็นโพสดังกล่าว)

ปรกติแล้วผมจะอ่านก่อนกดไลค์กดแชร์ แต่เมื่อ่านแล้วเห็นว่าควรเขียนบทความอธิบายสิ่งที่ถูกต้องลง blog ของตัวเองหน่วย ในฐานะที่เวลาทำงานภาคสนามมักจะเจอแต่วิศวกรจำนวนส่วนน้อย

โดยหลักของการถ่ายเทความร้อน ฝั่งสายร้อนต้องมีอุณหภูมิสูงกว่าฝั่งสายรับความร้อน และถ้าต้องการอุณหภูมิสูง ก็ต้องใช้ไอน้ำความดันสูงขึ้น ดังนั้นโดย "หลักการ" ก็คือ "อุณหภูมิ" ฝั่งรับความร้อนเป็นตัวกำหนด "ความดัน" ต่ำสุดของไอน้ำที่ใช้งานได้ และยังมีเรื่องการส่งไปตามระบบท่ออีกที่ว่าไอน้ำความดันสูงจะมีปริมาตรจำเพาะเล็กกว่าไอน้ำความดันต่ำ ทำให้ใช้ท่อขนาดเล็กกว่าและยังสามารถส่งได้ไกลกว่า คนทำงานเป็นวิศวกรนั้นต้องรู้จักเลือกใช้สิ่งที่เหมาะสมกับงาน แต่ดูเหมือนว่ายุคหลัง ๆ ชอบที่จะเป็น "วิศวกรสูตรสำเร็จ" และก็มักจะชื่นชมคนที่สอนให้เป็นวิศวกรสูตรสำเร็จด้วย (คือพวกที่ชอบบอกว่าทำตามที่เขาบอกได้เลย ไม่ต้องพิจารณาอย่างอื่น)

--------------------


ต้นปี ๒๕๖๐ สาวน้อยวิศวกรเคมีรายหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างการหางานทำ มาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ไปเจอมาตอนสอบสัมภาษณ์เข้าทำงานเป็น process engineer ที่บริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับปิโตรเคมีแห่งหนึ่งที่ระยอง คำถามหนึ่งที่เขาเจอมาและไม่แน่ใจในคำตอบก็คือ "ทำไมเวลาตีดาบจึงใช้เตาถ่าน ไม่ใช้เตาแก๊ส"

ผมก็บอกเขาไปว่ายุคคุณเขายังเรียนเรื่องเหล่านี้อยู่หรือเปล่าผมไม่รู้นะ แต่สมัยผมยังเรียนกันอยู่ คำตอบของคำถามอยู่ในวิชา "Engineering Materials" และ "Manufacturing Process" ที่เรียนกันตอนปี ๑ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความแข็งของเหล็ก การเติมคาร์บอนเข้าเนื้อเหล็ก และการทำ heat treatment

--------------------

การฝึกงานนำมาซึ่งคำถามหลากหลายประเภท เช่น ทำไมน้ำทิ้งมีสีเหลือง (จากนิสิตฝึกงานที่บ้านค่าย - ความรู้วิชาเคมี), ทำไมน้ำมันเตาคุณภาพไม่คงที่ (จากนิสิตฝึกงานโรงกลั่นศรีราชา - วิธีการทำให้น้ำมันเตาลุกติดไฟ) ฯลฯ แต่คำถามเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานให้กับปั๊มเนื่องจากปั๊มเดิมนั้นมีขนาดใหญ่เกินไปเป็นคำถามที่เจอบ่อยมากที่สุด (ปั๊มหอยโข่งนะ) แนวทางที่มักถูกนำมาพิจารณากันก็คือ การเปลี่ยนปั๊ม, เปลี่ยนขนาดใบพัด หรือเปลี่ยนมอเตอร์

กันยายน ๒๕๖๐ มีคำถามมาจากศิษย์เก่าภาควิชาคนหนึ่ง มาเปรยให้ฟังว่าเขาเสนอทางเลือกใหม่คือการปรับความถี่กระแสไฟฟ้า แต่ปรากฏว่าจะโดนยิงคำถามเรื่องความเหมาะสมมาก ก็เลยเล่าให้เขาฟังเรื่องมีวิธีใดบ้างที่เราสามารถประหยัดพลังงานหรือปรับอัตราการไหลให้กับปั๊มหอยโข่ง และแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และภาพลักษณ์ของอุปกรณ์ "อิเล็กทรอนิกส์กำลัง" เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว พอเล่าเสร็จเขาก็บอกว่า "ผมเข้าใจแล้วครับ ว่าทำไมผู้บริหารที่อายุ ๕๐ ขึ้นมักจะมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ" (ผมก็คนรุ่นเดียวกับผู้บริหารของคุณเหมือนกัน ก็เลยพอจะเข้าใจว่าทำไมเขาเป็นแบบนั้น)

ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของปั๊มหอยโข่งทำให้เรารู้ว่าความดันหรืออัตราการไหลด้านขาออกนั้นขึ้นกับความเร็วที่ของเหลวถูกเหวี่ยงออกไปจากปลาย impeller ความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้ากำลังทำให้เรารู้ว่าการปรับความเร็วรอบการหมุนนั้นทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง และความรู้เกี่ยวกับการบริหารองค์กรทำให้เห็นว่าเพื่อให้ภาพรวมดีสุดนั้น ควรเลือกทางเลือกใด

--------------------

ตุลาคม ๒๕๖๓ เกิดการฉีกขาดตามด้วยการระเบิดของแก๊สที่รั่วออกจากท่อส่งแก๊สธรรมชาติที่ อ.เปร็ง จ.ฉะเชิงเทรา ศิษย์เก่าของภาควิชาคนหนึ่งที่ได้เข้าไปดูที่เกิดเหตุได้โพสภาพปลายท่อที่ขาด ซึ่งพอผมเห็นเขาก็ทักเขาไปว่านั่นใช่ปลายท่อที่ขาดหรือ เขาก็ยืนยันมาว่าใช่ ผมก็ว่ามันแปลกมากนะ คือมันขาดในแนวตั้งฉากแบบที่เรียกว่า "Guillotine cut" ก็เลยฝากเขาดูหน่อยว่าตรงนั้นเป็นรอยเชื่อมหรือเปล่า คืนนั้นเราได้สนทนาทางโทรศัพท์กันนานกว่าครึ่งชั่วโมง

ความรู้จากวิชา mechanic of material ทำให้เรารู้ว่าสำหรับท่อรับความดันนั้น hoop stress หรือความเค้นที่ทำให้ท่อพองตัวจะมีค่าเป็นสองเท่าของ longitudinal stress หรือความเค้นที่ทำให้ท่อยืดตัว ดังนั้นสำหรับท่อที่เสียหายจากความดันสูงเกินเป็นเรื่องปรกติที่จะฉีกขาดตามแนวยาว การขาดในแนวขวางจึงเป็นเรื่องที่ผิดปรกติมาก (คือต้องมีสาเหตุอื่นร่วมด้วยนอกเหนือจากความดันที่อาจไม่ได้สูงเกิน)

และความรู้จากวิชาเคมีเช่นกันที่ทำให้รู้ว่าตำแหน่งรอยเชื่อมนั้นเป็นจุดที่เนื้อโลหะเกิดการกัดกร่อนได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น โดยเฉพาะเมื่อมีความเค้น เป็นการกัดกร่อนแบบที่เรียกว่า Stress Corrosion Cracking หรือ SCC

--------------------

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้รับเชิญจากบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่งให้ไปข่วยประเมินวิศวกรของเขาที่ขอปรับตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน corrosion (ระดับเงินเดือนเทียบเท่าผู้บริหารระดับสูง) คนหนึ่งตรี-โท วิศวกรรมเคมี อีกคนก็ตรี-โท-เอก วิศวกรรมเคมี ใช้เวลาพูดคุยกันคนละสองชั่วโมง (ไม่รวมเอกสารที่ส่งให้อ่านก่อนหน้าหนึ่งเดือน) เนื้อหาวิชาการที่คุยกันก็มีนั้นแหล่งที่มาของกรดที่เป็นตัวปัญหา, multi phase flow ในท่อ, sulphide stress cracking (SSC), galvanic corrosion protection ทั้งการใช้ sacrificial anode และไฟฟ้ากระแสตรง ในการป้องกันการกัดกร่อนของโครงสร้างและระบบท่อที่เป็นโลหะ ฯลฯ ซึ่งต่างก็เป็นสิ่งที่อยู่ในวิชาเคมีพื้นฐานทั้งนั้น

--------------------


เคยมีนิสิตถามผมว่า ทำไมต้องเรียนไปเยอะ ๆ ในเมื่อจบไปแล้วก็ได้ใช้เพียงไม่กี่อย่าง ผมก็ถามเขากลับไปว่า ถ้ามีร้านขาวแกงอยู่ ๒ ร้าน ร้านแรกมีกับข้าวให้เลือก ๓๐ อย่าง ร้านที่สองมีกับข้าวให้เลือก ๕ อย่าง คุณจะเข้าร้านไหน

เขาก็ตอบว่าเข้าร้านแรก

ผมก็ถามต่อว่าทำไม

เขาก็ตอบกลับมาว่าเพราะมีกับข้าวให้เลือกเยอะกว่า

ผมก็ถามเขาต่ออีกว่า เวลาคุณสั่งข้าวราดแกง คุณสั่งกับข้าวกี่อย่าง

เขาก็ตอบกลับมาว่า ๒ หรือ ๓ อย่าง

ผมก็บอกเขาไปว่า ร้านที่สองก็มีกับข้าวให้เลือกตั้ง ๕ อย่าง มากกว่าที่คุณต้องการอีก แล้วทำไมจึงไม่เลือก

ถ้าเปรียบโรงเรียนเป็นร้านข้าวแกง หน้าที่ของโรงเรียนคือให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสกับความรู้แขนงต่าง ๆ เปรียบเหมือนกับร้านข้าวแกงที่มีกับข้าวให้เลือกให้ลองเยอะ ๆ เพื่อให้ผู้เรียนรู้ว่าชอบอันไหน ถนัดอันไหน เพื่อจะได้เจาะลึกไปทางด้านนั้น คือเลือกศึกษาคณะที่เรียนเจาะลึกทางด้านนั้นในระดับมหาวิทยาลัย

การที่มาเรียนในสายวิชาชีพหนึ่งเพื่อจบไปทำงานด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสายวิชาชีพที่เรียน ในฐานะผู้สอนก็มองได้ว่าการสอนนั้นเป็นการสูญเปล่า และก็น่าสงสารผู้เรียนที่ต้องมาเสียเวลาอย่างน้อย ๔ ปีกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบหรือเพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่เรียนนั้นไม่เหมาะกับตัวเอง

เมื่อพบว่าสิ่งที่ตนเองเรียนไปนั้น ไม่ได้นำไปใช้ในการทำงาน เพราะเปลี่ยนสายวิชาชีพ หรือทำงานที่เฉพาะเจาะจงมาก ก็ไม่ควรที่จะกลับมาบอกภาควิชาว่า วิชาเหล่านั้นไม่ควรสอน ไปสอนวิชาอื่นดีกว่า เพราะตัวสถาบันการศึกษานั้นไม่ได้ผลิตคนเพื่อป้อนให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือแผนกใดแผนกหนึ่งโดยเฉพาะ ทำได้เพียงแค่ให้ความรู้พื้นฐานแก่ผู้เรียน เพื่อให้ไปสามารถต่อยอดความรู้หรือศึกษาด้วยตนเองได้ต่อไป

--------------------

 

สอนหนังสือมา ๓๐ ปี สอนแลปเคมีมาทุกปี สำหรับนิสิตรุ่นนี้ถือได้ว่าเป็นรุ่นเดียวที่ไม่ได้สอนเพราะสถานการณ์โควิด ดังนั้นวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของพวกคุณในการเรียนที่ภาควิชานี้ ก็เอาเป็นว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นเพียงแค่การเล่าให้ฟัง ว่าเนื้อหาวิชาในหลักสูตรที่เรียนกันไปนั้น คนที่ทำงานในสาขาวิชาชีพนี้จริง เขาได้ใช้ความรู้อะไรกัน

ท้ายนี้ ขอให้พวกคุณประสบแต่ความสุขทั้งด้านหน้าที่การงานและครอบครัวทุกคน

ห้องทำงาน อาคารวิศว ๔ ชั้น ๙ วันจันทร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗

ไม่มีความคิดเห็น: