วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แม่สอด-แม่สะเรียง เรื่องของเส้นทางสาย ๑๐๕ MO Memoir : Sunday 24 May 2558

สำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์เดินทางไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ เวลาที่คุณเดินทางคุณเคยตั้งคำถามไหมครับว่า เส้นทางที่คุณใช้เดินทางนั้นเดิมมันเป็นอย่างไร แต่ตรงนี้ผมคิดว่าคงขึ้นอยู่กับนิยามของคำว่า "ไปเที่ยว" ของแต่ละคน คือมุ่งมันไปที่ "จุดหมายปลายทาง" เพียงอย่างเดียว หรือมีการรวม "เส้นทางการเดินทาง" เข้าไปด้วย
  
เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาก็ได้มีโอกาสทำในสิ่งที่อยากจะทำอีกครั้ง คือการได้ขับรถท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะเส้นทางที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ใช้ในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง ครั้งนี้เส้นทางที่เลือกเอาไว้ก็คือเส้นทางจาก อ.แม่สอด จังหวัดตาก ไปตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๐๕ ไปสิ้นสุดที่ อ.แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  
แผนที่ที่ใช้ในการเดินทางครั้งนี้ผมใช้แผนที่สองฉบับ ฉบับแรกเป็นแผนที่ขยายเฉพาะจังหวัดตาก-แม่สอด ส่วนแผนที่ฉบับที่สองเป็นฉบับที่ใหม่กว่าคือแผ่นที่ภาคเหนือ มาตราส่วน ๑:๗๕๐,๐๐๐ ทั้งสองฉบับจัดทำโดยศูนย์แผนที่พรานนกวิทยา ที่ผมเลือกแผนที่ของสำนักพิมพ์นี้ก็เพราะมันเป็นแผนที่ที่แสดงภูมิประเทศประกอบ เพราะจากประสบการณ์นั้นมันสอนให้รู้ว่าเวลาการเดินทางจะใช้เท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศด้วย เส้นทางที่ขึ้น-ลงเขานั้นจะใช้เวลามากกว่าเส้นทางบนพื้นราบอยู่ประมาณ ๓-๔ เท่า (แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพเส้นทางบนเขาและประสบการณ์การขับรถ) และยังช่วยในการวางแผนการเติมน้ำมันก่อนการเดินทางด้วย (ปรกติผมจะประมาณว่ากินน้ำมันมากกว่าขับพื้นราบประมาณเท่าตัวหรือกว่านั้น)
  
จะว่าไปแล้วเส้นทางถนนเลียบชายแดนของบ้านเราก็เพิ่งจะมีการพัฒนากันไม่นานนี้ เรียกว่าเป็นช่วงหลังสงครามการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยุติลงก็ได้ (หลังปีพ.ศ. ๒๕๓๐) เพราะก่อนหน้านั้นการตัดถนนยังมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมตัวจังหวัดและอำเภอที่สำคัญเข้าด้วยกัน บางเส้นทางที่มีการสู้รบนั้นก็เป็นการตัดถนนเพื่อความมั่นคงหรือส่งกำลังบำรุง (ที่มักเรียกกันว่าถนนสายยุทธศาสตร์) และพอการสู้รบยุติก็มีการปรับปรุงให้เป็นเส้นทางการเดินทางหลัก
  
สำหรับเส้นทางสาย ๑๐๕ ช่วงจาก แม่สอด-แม่สะเรียง นี้ ผมได้นำเอาข้อมูลจากแผนที่ฉบับที่เก่าสุดที่ผมมี คือแผ่นที่ทหารรหัส L509 ที่จัดทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลราว ๆ ปีพ.ศ. ๒๕๐๐ (รูปที่ ๑) ตามด้วยแผนที่ที่จัดพิมพ์เผยแพร่ในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ (รูปที่ ๒ และ ๓) แผนที่ทางหลวงประเทศไทยที่จัดทำขึ้นประมาณช่วงปีพ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๕ (รูปที่ ๔ และ ๕) และแผนที่ที่จัดทำขึ้นในช่วงประมาณปีพ.ศ. ๒๕๕๐ (รูปที่ ๖) มาให้ดูเปรียบเทียบกัน 
   
รูปที่ ๗-๑๐ เป็นภาพบรรยากาศบางส่วนของเส้นทางสาย ๑๐๕ จากบ้านท่าสองยางไปยัง อ.สบเมย (ถ่ายเอาไว้เมื่อวันอังคารที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ช่วงเวลาหลังเที่ยง บ้านท่าสองยางกับตัวอำเภอท่าสองยางอยู่คนละที่กันนะครับ บ้านท่าสองยางอยู่เลยตัวอำเภอมาอีกประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ใกลักับเขตแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนตัวอำเภอท่าสองยางนั้นอยู่ที่บ้านแม่ต้านใกล้กับอ.แม่ระมาด) ในวันที่เดินทางนั้นถนนเส้นนี้พอเลยจากบ้านท่าสองยางไปไม่มากนักก็จะพบกับการก่อสร้างเพื่อขยายเส้นทางเป็นช่วง ๆ บางช่วงของเส้นทางยังคงสภาพเดิม ๆ อยู่เช่นที่ถ่ายมาให้ดูในรูปที่ ๗ และ ๘ แต่บริเวณผ่านหมู่บ้านมักจะมีการปรับปรุงสภาพเส้นทางให้บ้างแล้วเช่นที่บ้านแม่อมกิในรูปที่ ๙ แต่ถนนบางช่วง เช่นช่วงก่อนถึงบ้านสบเงาก็ยังคงสภาพแบบเดิม ๆ อยู่ แต่ดีหน่อยตรงนี้เป็นเส้นทางบนพื้นราบ ไม่ใช่เส้นทางบนเขา (ออกจากบ้านท่าสองยางได้ไม่นาน เส้นทางก็จะเริ่มไต่ขึ้นเขา และมาลงเขาก็แถวอุทยานแห่งชาติสบเงา)
  
เส้นทางสายนี้ออกจากแม่สอดแล้วก็มีปั๊มน้ำมันที่ อ.แม่ระมาด ที่ อ.ท่าสองยางนั้นก็มีปั๊มชาวบ้านอยู่ริมถนนก่อนถึงทางเข้าตัวอำเภอ (ถ้าขับขึ้นมาจากแม่ระมาด) มีแก๊สโซฮอล์ 95 และดีเซลให้เติม พอเลยตัวอำเภอไปหน่อยแห่งมีปั๊มน้ำมันบางจากอยูระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าน่าจะเปิดใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พ้นจากนี้ไปแล้วก็ต้องไปเติมที่แม่สะเรียง (ถ้าไม่รังเกียจปั๊มหลอดของชาวบ้าน ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็ยังพอหาเติมแก้ขัดได้)
  
ตามเส้นทางนี้มีจุดหนึ่งที่ผมแวะไปก็คือบ้านแม่สามแลบ ที่เป็นพรมแดนไทยด้านแม่น้ำสาละวิน (เรียกว่าไปสุดพายับที่สาละวินก็ได้) ขับรถชมวิวเข้าไปเรื่อง ๆ พักกินข้าวกันสักชั่วโมง แล้วก็ขับกลับ
  
อันที่จริงตอนขากลับก็ขับกลับทางเส้นทางเดิม และได้ถ่ายคลิปวิดิโอ (ใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ) ถ่ายเอาไว้ด้วย โดยเลือกถ่ายเอาไว้เฉพาะเส้นทางตอนที่มันโหด ๆ เก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก ถ้ามีโอกาสก็อาจจะนำมาเผยแพร่ให้ดูกัน
   

รูปที่ ๑ แผนที่ทหารรหัส L509 จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกองทัพสหรัฐกับกรมแผนที่ทหารของไทย ข้อมูลในแผนที่คาดว่าเป็นในปีค.ศ. ๑๙๕๗ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ตามแผนที่นี้ เส้นทางถนนพหลโยธินที่มุ่งหน้าขึ้นเหนือมายังจังหวัดตากนั้น บอกว่าผิวจราจรไม่ได้เป็นแบบพื้นผิวแข็ง (hard surface) เดาว่าคงยังเป็นลูกรังอยู่ และถนนไปยังอ.แม่สอดก็ยังไม่มี
  
รูปที่ ๒ แผนที่จังหวัดตาก จากหนังสือแผนที่ ๗๑ จังหวัดของประเทศไทย โดยเจษฎา โลหะอุ่นจิตร พ.ศ. ๒๕๐๘
   
รูปที่ ๓ แผนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตัดมาเฉพาะช่วงที่ต่อเนื่องกับจังหวัดตาก นำจากหนังสือแผนที่ ๗๑ จังหวัดของประเทศไทย โดยเจษฎา โลหะอุ่นจิตร พ.ศ. ๒๕๐๘ เช่นกัน ตามแผนที่นี้จะเห็นว่าถนนมายังแม่สะเรียงจากทางเชียงใหม่นั้นยังอยู่ระหว่างการสร้าง และเส้นทางเชื่อมระหว่าง ในแผนที่นี้ที่ระบุว่าเป็นแม่น้ำแม่เมย (Maemeay river) ทางมุมซ้ายบนของภาพ ที่ถูกควรจะเป็นแม่น้ำสาละวิน การใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางเดินทางจากแม่สะเรียงมายังท่าแม่สอด ตามแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย (แต่จากสภาพแม่น้ำที่เห็นคิดว่าคงได้เฉพาะบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น)
   
รูปที่ ๔ แผนที่ประเทศไทย จัดทำโดยศูนย์แผนที่พรานนกวิทยา ต้นฉบับได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมปี ๒๕๕๔ ฉบับนี้น่าจะเป็นหลังปีพ.ศ. ๒๕๓๐ เพราะมีการวางแนวการก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ (ทางหลวงสาย ๗) ในแผนที่แล้ว
   
รูปที่ ๕ แผนที่ส่วนนี้นำมาจากหนังสือแผนที่ทางหลวงฉบับปีพ.ศ. ๒๕๓๕ จัดทำโดยกรมทางหลวง เดาว่าเป็นแผนที่ยุคเดียวกับแผนที่ในรูปที่ ๓ พึงสังเกตว่าเส้นทางจาก (1) อ.แม่สอด ผ่าน (2) อ. แม่ระมาด (3) อ.ท่าสองยาง (4) กิ่งอ.สบเมย ไปยัง (5) อ.แม่สะเรียง นั้นยังมีชื่อเป็นทางหลวงสาย ๑๐๘๕ อยู่ และถนนนั้นเป็นทางลาดยางไปแค่ บ้านท่าสองยาง เลยบ้านท่าสองยางไปยังสบเมยและแม่สะเรียงนั้นยังเป็นทางลูกรัง ส่วน (6) คือบ้านแม่สามแลบ ที่เป็นหมู่บ้านชายแดนของไทยที่ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน
  
รูปที่ ๖ แผนที่ทางหลวงภาคเหนือ จัดทำโดยศูนย์แผนที่พรานนกวิทยา (ประมาณปีพ.ศ. ๒๕๕๐)
  





ไม่มีความคิดเห็น: