วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ฝึกงานภาคฤดูฝน ๒๕๖๔ (๒) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) MO Memoir : Monday 7 June 2564

เมื่อแนวโน้มให้หน่วยงานต้องแสดงตนว่า "เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" มาแรง ใครเขาบอกว่าอะไรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ต้องรีบทำตาม ห้ามถาม ห้ามสงสัย เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น ... (แล้วแต่จะว่ากันไป)

สมมุติว่ามีประเทศ ๒ ประเทศคือประเทศ A และประเทศ B ประเทศ A ไม่มีการผลิตไฟฟ้าใช้เองในประเทศ ทุกอย่างในประเทศใช้ไฟฟ้าหมด ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหาร การคมนาคม ไม่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันในชีวิตประจำวันในประเทศ ทั้งไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิจประจำวันถูกนำเข้ามาจากประเทศ B ทั้งหมด ขยะ recycle ที่เกิดขึ้นในประเทศ A ถูกส่งไปให้ประเทศ B จัดการ ในขณะที่ประเทศ B นั้นมีการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน และวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อผลิตไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ เพื่อการใช้เองในประเทศและส่งออกไปยังประเทศ B และยังรับขยะ recycle ในประเทศ A มาจัดการอีก (รูปที่ ๑)

ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าประเทศ A เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจสีเขียวและใช้พลังงานสะอาดหรือไม่

รูปที่ ๑ ประเทศ A ไม่มีการผลิตไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ โดยนำเข้าจากประเทศ B หมด พลังงานต่าง ๆ ที่ใช้ในครัวเรือนและการคมนาคมของประเทศ A เป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ในขณะที่ประเทศ B ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลมาผลิตไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ประเทศ A ใช้

ข้อมูลจาก Union of Concerned Scientists (๑) กล่าวไว้ว่าในปีค.ศ. ๒๐๑๘ ประเทศจีนผลิต CO2 มากเป็นอันดับ ๑ ของโลกคือ 10.06 GT โดยมีสหรัฐอเมริกาผลิตมากเป็นอันดับ ๒ คือ 5.41 GT (1 GT = หนึ่งพันล้านตัน) ถ้าดูแค่นี้ก็จะเห็นว่าจีนผลิต CO2 มากกว่าสหรัฐอเมริกาเกือบ 2 เท่า แต่ถ้าคิดเป็นปริมาณต่อหัวประชากร ซึ่งในปีเดียวกันนั้นจีนมีประชากร 1,428 ล้านคน (๒) ส่วนสหรัฐอเมริกามี 327 ล้านคน (๓) ตัวเลขของจีนก็จะออกมาเป็น 7.04 ล้านตันต่อประชากร ๑ ล้านคน ในขณะที่ของสหรัฐอเมริกาจะเป็น16.54 ล้านตันต่อประชากร ๑ ล้านคน ซึ่งสูงกว่าจีนถึง 2.34 เท่า นอกจากนี้ประเทศจีนยังเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ถูกนำไปใช้ในประเทศอื่นทั่วโลก

ในกรณีนี้จะถือว่าประเทศไหนผลิตแก๊สเรือนกระจกมากกว่ากัน

หมายเหตุ

(๑) https://www.ucsusa.org/resources/each-countrys-share-co2-emissions
(๒) https://www.worldometers.info/world-population/china-population/

ในหน่วยงานขนาดใหญ่หน่วยงานหนึ่ง มีรถบริการสำหรับการเดินทางไปยังบริเวณต่าง ๆ ของหน่วยงาน และมีการตั้งโรงอาหารไว้ตามที่ต่าง ๆ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรถให้บริการ โดยเปลี่ยนจากของเดิมที่ใช้ทั้งน้ำมันและ/หรือแก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง มาเป็นการใช้รถพลังงานไฟฟ้าแทน โดยอ้างว่าเป็นการลดการปลดปล่อยแก๊ส CO2 และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไฟฟ้าที่นำมาขับเคลื่อนรถนั้นเป็นไฟฟ้าที่ต้องจัดหาเพิ่มเติม (นอกเหนือไปจากกิจกรรมปรกติของหน่วยงาน) จากผู้ให้บริการภายนอกหน่วยงาน ที่ผลิตไฟฟ้าด้วย การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และ/หรือ พลังงานหมุนเวียน (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ เดิมรถบริการภายในหน่วยงานใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการขับเคลื่อน ต่อมามีการเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าโดยอ้างว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่การประกอบอาหารของร้านอาหารต่าง ๆ ภายในหน่วยงานยังคงใช้เตาแก๊สเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนไปเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้า

ประเด็นที่น่านำมาพิจารณาก็คือ ผู้ให้บริการไฟฟ้านั้นผลิตไฟฟ้าด้วยกรรมวิธีใด ด้วยการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และ/หรือการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อให้เกิด CO2 เพราะถ้าการผลิตไฟฟ้านั้นใช้กระบวนการที่ทำให้เกิด CO2 มันก็จะกลายเป็นการผลักภาระการปลดปล่อย CO2 ไปให้ผู้อื่น (ทำนองเดียวกับกรณีของรูปที่ ๑) และถ้าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้นั้นเป็นพลังงานที่สะอาดและประหยัดกว่าการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงไม่กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะขายอาหารตามโรงอาหารต่าง ๆ ของหน่วยงาน ต้องประกอบอาหารด้วยการใช้เตาไฟฟ้าเท่านั้น ห้ามใช้เตาแก๊ส หรือไม่ก็กำหนดให้ต้องต้องใช้เตาถ่านในการประกอบอาหาร เพราะไม้ฟืนและถ่านไม้ก็เป็นพลังงานหมุนเวียนเช่นเดียวกับน้ำมันปาล์มและไบโอเอทานอล

ทีนี้ถ้ามาลองพิจารณากรณีตัวอย่างที่เป็นโรงงานดูบ้าง (รูปที่ ๓) หลายโรงงานมีการใช้ไอน้ำให้ความร้อนโดยใช้น้ำมันดีเซล/เตาเป็นเชื้อเพลิงให้กับหม้อไอน้ำ และถ้าเปลี่ยนมาเป็นใช้ไฟฟ้า (จากผู้ให้บริการภายนอกโรงงาน) ให้ความร้อนในการผลิตไอน้ำแทน โรงงานก็จะอ้างได้ว่าลดการปลดปล่อยแก๊ส CO2 แต่ในภาพรวมนั้นจะถือว่าการปลดปล่อย CO2 ลดลงจริงหรือไม่ ตรงนี้ก็คงขึ้นอยู่กับว่าไฟฟ้าที่ใช้นั้นผลิตด้วยวิธีใด ถ้าผลิตด้วยการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะเป็นเพียงแค่การผลักภาระการปลดปล่อยจากตัวโรงงานเองไปให้โรงไฟฟ้า และสัดส่วน "ปริมาณ CO2 ที่โรงไฟฟ้าต้องปล่อยเพิ่มขึ้น" เพราะต้องผลิตไฟฟ้ามากขึ้นตามความต้องการที่สูงขึ้น ต่อ "ปริมาณ CO2 ที่โรงงานลดการปลดปล่อย" นั้น มีค่าเท่าใด

"ราคาต้นทุนในการผลิต" ถือว่าเป็นตัวสะท้อนการใช้พลังงานในการผลิตได้ และควรนำมาใช้เป็นตัวพิจารณาความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า "ราคาขาย" เพราะถ้าต้องใช้พลังงานสูงในการผลิต ต้นทุนการผลิตก็จะสูงตามไปด้วย แต่ราคาขายนั้นสามารถบิดเบือนได้ง่ายด้วยการใช้การอุดหนุนและการเก็บภาษี ที่สามารถทำให้สินค้าที่มีต้นทุนต่ำมีราคาขายที่สูง ในขณะที่สินค้าที่มีต้นทุนสูงสามารถขายในราคาขาดทุนได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดในบ้านเราคือราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง

รูปที่ ๓ โรงงานที่ใช้น้ำมันดีเซล/เตาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไอน้ำสำหรับใช้ให้ความร้อนในโรงงาน (รูปซ้าย) ถ้าเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าให้ความร้อนในการผลิตไอน้ำแทน (รูปขวา) ตัวโรงงานเองก็จะอ้างว่าฃ่วยลดการปลดปล่อย CO2 ได้ แต่ในความจริงถ้ามองภาพรวมก็คงขึ้นกับว่าไฟฟ้านั้นผลิตโดยวิธีใด และต้นทุนการผลิตไอน้ำที่แท้จริงนั้นแบบไหนประหยัดกว่ากัน

บรรจุภัณฑ์พลาสติกถูกโจมตีว่าต้องใช้เวลานานมากในการย่อยสลาย บางหน่วยงานจึงมีการแทนที่ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่อ้างว่า "ย่อยสลายได้" (แต่ไม่ยักบอกว่าด้วยสภาวะ "ปรกติตามธรรมชาติ" หรือด้วยสภาวะ "พิเศษที่ไม่มีในธรรมชาติ") แต่สิ่งหนึ่งที่ควรมีการนำมาพิจารณาร่วมด้วยก็คือ มีขั้นตอนการแยกขยะหรือไม่ และจัดการอย่างไรกับขยะที่ผ่านการแยกแล้ว ภาระในการกำจัดขยะนั้นเป็นของใคร และที่สำคัญคือมีการลดการเกิดขยะหรือไม่

รูปที่ ๔ ระหว่างผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำไป Recycle หรือเผาเพื่อผลิตพลังงานได้ แต่มีปัญหาเรื่องการฝังกลบ ผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชีวภาพสังเคราะห์ที่อ้างว่าย่อยสลายได้ (ด้วยสภาวะปรกติตามธรรมชาติ ???) แต่ไม่สามารถนำไป Recycle ได้ กับผลิตภัณฑ์ที่สามารถล้างและใช้ซ้ำได้ ที่ผลิตน้ำเสียที่ต้องเข้าสู่ระบบบำบัด

ที่เห็นใช้กันอยู่ บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้มีต้นทุนที่สูงกว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก นั่นแสดงให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตและการใช้พลังงานที่สูงกว่าในการผลิตหรือไม่ (คือมีการปลดปล่อยมลพิษในการผลิตที่สูงกว่าหรือไม่) และยังไม่สามารถนำไป recycle ได้ ในกรณีที่ขยะพลาสติกของหน่วยงานนั้นถูกนำไป recycle หรือเผาเพื่อผลิตพลังงาน ไม่ได้นำไปฝังกลบ การเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่อ้างว่ามีข้อดีตรงที่ย่อยสลายได้ แต่มีต้นทุนการผลิตที่สูงและไม่สามารถ recycle ได้นั้นจัดว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่แปลกก็คือ ในบางหน่วยงานแต่เดิมมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถล้างและนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ แต่พักหลัง ๆ กลับเป็นการให้ใช้บรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์ธรรมชาติสังเคราะห์ที่บอกว่า "ย่อยสลายได้" ทำให้ต้นทุนราคาเครื่องดื่มสูงขึ้น (ทั้ง ๆ ที่คนส่วนใหญ่นั่งกินที่โรงงานหารและก็ทิ้งที่นั่น) การผลิตขยะที่แม้ว่าจะย่อยสลายได้แทนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะถือว่าเป็นการผลักภาระให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดการขยะ (ที่ผลิตเพิ่มขึ้น) แทนหรือไม่ ดังนั้นการพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ใดมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นด้วยการดูเพียงแค่ย่อยสลายได้นั้นถือว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะการ recycle และการกำจัดด้วยการเผาเพื่อผลิตพลังงาน มันก็เป็นทางเลือกอื่นที่มีอยู่เหมือนกัน

รูปที่ ๕ แม้แต่วัสดุจากธรรมชาติ (เช่นกระดาษ) ก็ยังต้องการสภาวะที่เหมาะสมในการย่อยสลาย ในหลุมฝังกลบที่ไม่มีทั้งความชื้น สารอาหาร และอุณหภูมิที่เหมาะสม กระดาษหนังสือพิมพ์ก็ยังอยู่ในสภาพที่สามารถอ่านได้แม้จะถูกฝังนาน ๔๐ ปี (บทความจาก https://www.ecoproducts.com/images/pdfs/talking_points/Biodegradation.pdf)

มีหลายรายงานที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ควรจะย่อยสลายได้นั้น ถ้าถูกนำมาฝังกลบกลับยังคงอยู่ในสภาพเดิมได้เป็นเวลานาน (รูปที่ ๕) ทั้งนี้เพราะแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ย่อยสลาย (ไม่ว่าจะเป็นชนิดที่ใช้ออกซิเจนหรือไม่ใช้ออกซิเจน) ย่อมต้องการสารอาหารและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม (ความชื้น อุณหภูมิ) การนำขยะธรรมดา (ที่ถ้าทิ้งไว้ตามพื้นจะสามารถย่อยสลายได้ง่าย เช่นกระดาษ) ไปฝังกลบ กลับทำให้ขยะเหล่านั้นอยู่ได้นานขึ้นเพราะสภาพแวดล้อมในหลุมฝังกลบนั้นไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

ดังนั้นการเน้นการแทนที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วยการใช้วัสดุที่ "ย่อยสลายได้" อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป ควรต้องพิจารณาด้วยว่าการจัดการขยะที่เกิดขึ้นนั้นกระทำอย่างไร (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกท้องถิ่น) เช่นถ้านำขยะคัดแยกออกมานั้นไป recycle หรือแยกเป็นชนิดที่เผาได้นั้นไปเผาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า (แบบเดียวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล) การแทนที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีการแยกแยะและส่งตรงไปที่โรงไฟฟ้านี้ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่มีราคาแพงกว่า (และพลังงานในตัวต่ำกว่า) ด้วยการอ้างว่ามัน "ย่อยสลายได้" นั้นจำเป็นหรือไม่

คำตอบของเรื่องนี้ (เพื่อให้ดีที่สุดกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ภาพลักษณ์ของหน่วยงาน) คงไม่มีคำตอบตายตัว

ไม่มีความคิดเห็น: