วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

เลือกทำงานที่ไหนดี MO Memoir : Tuesday 18 March 2557

วันนี้เห็น ๑๐ อันดับบทความที่มีผู้เข้ามาอ่านมากที่สุดในรอบสัปดาห์มันแปลกดี ก็เลยของบันทึกรูปเก็บเอาไว้หน่อย

ที่ว่าแปลกก็คือมันมีเรื่องที่เขียนให้กับผู้ที่สำเร็จการศึกษาถึง ๓ เรื่องปรากฏขึ้นมาพร้อมกัน คือเรื่องที่เขียนไว้เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ (๔ ปีที่ผ่านมา) เดือนมีนาคม ๒๕๕๖ (ดอกไม้ที่เราเห็นในวันนั้น) และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (ไผ่ออกดอกบาน ก็ถึงกาลลาจาก)
 
อันที่จริงเรื่องที่ผมเพิ่งจะนำลง blog ไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ก็ไม่ได้กล่าวถึงอีก ๒ เรื่องก่อนหน้านั้นที่เขียนให้กับรุ่นที่จบไปก่อนหน้า เลยสงสัยว่ามีคนไปขุดขึ้นมาเพื่อรำลึกความหลังหรือเปล่า

เมื่อเช้า ระหว่างนั่งรถบริการรับส่งฟรีในมหาวิทยาลัย ก็มีโอกาสได้พูดคุยสั้น ๆ กับนิสิตผู้หนึ่ง เป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน
 
ในมุมมองของผมนั้น ความสุขในชีวิตการทำงานนั้นมันมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
 
บางคนนั้น ความสุขในชีวิตการทำงานก็คือ การได้ทำงานในหน่วยงานที่ตนเองปราถนา และชื่นชอบงานที่กระทำอยู่ พร้อมที่จะทำงานให้หน่วยงานดังกล่าวตลอดเวลา
 
บางคนนั้น ความสุขในชีวิตการทำงานก็คือ การได้ทำงานในหน่วยงานที่ไม่เบียดเบียนชีวิตความเป็นส่วนตัวของเขา เขาพร้อมที่จะทุ่มเทให้กับหน่วยงานนั้นในช่วงเวลางาน แต่เขาก็ต้องการที่จะทุ่มเทเวลานอกเวลางานให้กับการใช้ชีวิตของเขาโดยไม่ปราถนาให้หน่วยงานมาดึงเอาเวลาส่วนนี้ไป
 
บางคนนั้น ความสุขในชีวิตการทำงานก็คือ การได้รู้สึกว่าตนเองได้ปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งหน้าที่ ที่ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนพิเศษใด ๆ จากผู้ได้รับประโยชน์นั้น
 
บางคนนั้น ความสุขในชีวิตการทำงานก็คือ การสามารถได้รับผลตอบแทนในรูปของทรัพย์สิน ชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ ในปริมาณที่ไม่มีขีดจำกัด
 
บางคนนั้น ความสุขในชีวิตการทำงานก็คือ การได้ทำงานที่ยังเปิดโอกาสให้มีครอบครัวและเวลาให้กับครอบครัว
 
ฯลฯ
 
ผมมองว่านิยามความสุขในชีวิตการทำงานของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีรูปแบบไหนที่จะได้มาโดยไม่ต้องแลกด้วยบางสิ่งบางอย่าง เมื่อเราเลือกความสุขในรูปแบบหนึ่ง เราก็อาจต้องสละความสุขในอีกรูปแบบหนึ่งออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวผู้เลือกเองว่าพอใจที่จะเลือกรูปแบบไหนมากกว่ากัน

เมื่อปีที่แล้ว มีนิสิตที่เพิ่งจบป.ตรีคนหนึ่งมาถามผมเรื่องว่าจะเลือกทำงานที่ไหนดี คือบ้านเขาอยู่ที่งามวงศ์วาน และเขาได้งานที่บริษัทแห่งหนึ่งที่มีสำนักงานอยู่ที่แถวแยกรัชวิภาให้เงินเดือนเริ่มต้นประมาณห้าหมื่นบาท กับอีกบริษัทหนึ่งที่มีสำนักงานอยู่ที่ถนนบางนา-บางปะกง ประมาณกิโลเมตรที่ ๓๔ (แถว อ.บางบ่อ) ที่ให้เงินเดือนเริ่มต้นประมาณสามหมื่นบาท
 
ผมก็บอกเขาไปว่าบริษัทแรกนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไร เพราะเห็นกี่คนที่ได้งานทำที่นั่นก็หายหน้าไปจาก facebook หมด นาน ๆ จึงโผล่มาที ส่วนบริษัทที่สองนั้นผมรู้จักรุ่นพี่ของคุณที่จบไปก่อนหน้าคุณหลายปีแล้ว ขณะนี้เขาก็ยังทำงานอยู่ที่นั่น แถมยังโผล่หน้ามาให้เห็นทาง facebook บ่อย ๆ ว่าได้ไปเที่ยวที่ไหนบ้าง
 
คุยกันไปสักพักผมก็ถามเขาว่า "ว่าแต่คุณคิดจะใช้ชีวิตหลังเลิกงานในแต่ละวันอย่างไร"
 
เท่านั้นเองเขาก็ตอบผมกลับมาว่า เขาได้คำตอบแล้ว ไปทำที่บางบ่อดีกว่า เพราะเชื่อว่าเลิกงานแล้วได้กลับบ้านแน่ เพราะบริษัทแรกนั้นเขาเคยไปฝึกงานที่นั่น แถมโดนรุ่นพี่ต่อว่ามาว่ากลับบ้านเร็วเกินไป คือกลับตอน ๓ ทุ่ม ไม่ยอมกลับตอนเที่ยงคืนหรือตีสองเหมือนพี่เขา

ผมไม่ได้ตอบคำถามเขา แต่ผมกลับตั้งคำถามใหม่ให้เขาตอบ ซึ่งคำตอบของคำถามที่ผมตั้งใหม่ให้เขาตอบนั้น มันไปตอบคำถามที่เขาถามผม

สักสองสามปีที่แล้ว ผมก็ได้มีโอกาสพบปะกับรุ่นน้องคนหนึ่ง (ห่างจากผมไม่กี่ปี แต่ก็ทันกันตอนเรียน) ระหว่างการเดินทางไปตรวจเยี่ยมนิสิตฝึกงานที่ระยอง ได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงเรื่องทั่วไป ทั้งเรื่องหน้าที่การงานและครอบครัว ซึ่งเขาก็มีปัญหาเรื่องลูกที่เป็น "เด็กพิเศษ" ทำให้ตอนนี้เขาต้องเปลี่ยนจากการทุ่มเทชีวิตให้กับงานมาเป็นเพื่อลูกแทน
 
ระหว่างการพูดคุยนั้น เขาก็เปรยขึ้นมาเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ของเพื่อนของเขา ที่ทำงานในบริษัทอีกกลุ่มหนึ่งแต่ทำธุรกิจทำนองเดียวกัน ว่าเพื่อนของเขาที่เริ่มงานพร้อม ๆ กันนั้นมีตำแหน่งก้าวหน้าไปกว่าเขาเยอะแล้ว ผมก็เลยถามเขากลับไปว่าเป็นเพราะที่บริษัทที่เพื่อนคุณทำอยู่นั้น "มีคนลาออกเยอะใช่ไหม"
 
คำตอบของเขาก็คือ "ก็มีส่วน"

และก่อนหน้านั้นหลายปี ผมได้รับหน้าที่ให้ไปดูแลนิสิตงาน ณ บริษัทระดับแนวหน้าแห่งหนึ่งของประเทศ ในวันปฐมนิเทศน์นั้นเขาก็เชิญอาจารย์ผู้ดูแลไปเข้าร่วมด้วย ในระหว่างการปฐมนิเทศน์นั้น ผู้บรรยายก็บอกว่าบริษัทนี้ตั้งมา ๒๐ ปีแล้ว พนักงานเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวอายุเฉลี่ย ๒๖ ปี อายุงานเฉลี่ยแค่ ๖ ปีเท่านั้นเอง

หลังฟังการบรรยายผมก็บอกให้นิสิตลองไปหาคำตอบของคำถามต่อไปนี้

(๑) บริษัทตั้งมานานแล้ว ทำไมพนักงานมีอายุงานเฉลี่ยน้อยจัง แสดงว่าพนักงานทำงานอยู่ได้ไม่นานใช่หรือไม่ คนมีอายุหายไปไหนหมด
(๒) ในบริษัทนี้มีพนักงานสักกี่คนที่ได้แต่งงาน
(๓) ในบรรดาผู้ที่ได้แต่งงานนั้น มีสักกี่คนที่ได้มีโอกาสมีลูก (โดยเฉพาะผู้หญิง)

ปีถัดมา เมื่อนิสิตเหล่านี้กำลังจะจบการศึกษา ทางบริษัทดังกล่าวก็โทรมาหาผม บอกว่าให้นิสิตเหล่านี้ไปสมัครงานกับเขาหน่อย เขาพร้อมที่จะรับทำงานทำที เพราะประทับใจการทำงานของนิสิตกลุ่มนั้นขณะที่ฝึกงานมาก และเขาก็ประสงค์จำทำโครงการต่อเนื่องจากงานที่นิสิตกลุ่มนั้นทำตอนฝึกงาน ผมก็เลยแจ้งให้นิสิตกลุ่มดังกล่าวทราบ

คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ "ไม่ไปหรอก อาจารย์"

ไม่มีความคิดเห็น: