ในที่สุดการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์เช้าวันนี้ก็ผ่านไปด้วยดี
ก็ขอแสดงความยินดีกับทั้งสองคน
(สาวน้อยร้อยห้าสิบเซนต์และสาวน้อยผมยาวจากชายแดนใต้)
ที่ผ่านการสอบไปได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร
ดังนั้นบันทึกฉบับนี้ก็จะเป็นฉบับปิดท้ายบันทึกเรื่อง
"แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส
๕๒ (ตอนที่
...)"
ส่วนทั้งสองคนที่สอบจบไปนั้นผมก็จะยังคงส่ง
memoir
ให้ไปจนกว่าจะถึงวันรับปริญญา
แต่ถ้าต้องการให้งดส่งก่อนหน้านั้นก็บอกมาได้เลยนะ
ไม่ต้องเกรงใจ
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่ผมมีนิสิตสอบจบในเทอมแรก
ครั้งแรกเป็นเมื่อปี ๒๕๓๙
ซึ่งเป็นนิสิตที่รุ่นแรกของผมที่จบสองปีครึ่ง
ครั้งที่สองเป็นนิสิตปริญาเอก
(ที่มีเพียงคนเดียวและคงมีเพียงคนเดียว)
ส่วนครั้งนี้เป็นกรณีที่เข้าเรียนเทอมปลายก็เลยต้องมาจบสองปีในเทอมต้น
สาเหตุที่ครั้งนั้นมีการรับเข้าเทอมปลายก็เพราะที่รับไว้ในเทอมแรกเหลือมาเรียนเพียงคนเดียว
(คือสาวน้อยหน้าใสจากบางละมุง)
รายละเอียดสิ่งที่ต้องแก้ไขได้เขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ที่ส่งกลับคืนไปให้แล้ว
หวังว่าคงจะแก้ไขเสร็จทันภายในศุกร์หน้า
(๗
ตุลาคม)
เพราะสัปดาห์ถัดไปพวกผมจะไปสัมมนาต่างจังหวัดกันหมด
ในการสอบครั้งนี้เราได้บทเรียนบางบทเรียนที่รุ่นถัดไปควรต้องนำไปพิจารณา
ซึ่งผมขอสรุปสั้น ๆ ดังนี้
๑.
กรณีของสาวน้อยผมยาวจากชายแดนใต้
ในกรณีของสาวน้อยผมยาวจากชายแดนใต้นั้น
อันที่จริงได้มีการทำการทดลองซ้ำบางการทดลองเพื่อตรวจดูว่าผลการทดลองนั้นเชื่อถือได้หรือไม่
แต่ไม่ได้ทำการทดลองซ้ำทุกอัน
แต่กลับไปตอบกรรมการในตอนแรกว่าไม่มีการทำการทดลองซ้ำ
ซึ่งคำตอบเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความสงสัยในเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้
ซึ่งถ้าบอกไปแต่ต้นว่าอันที่จริงมีการทดลองซ้ำบางผลการทดลอง
(แม้ว่าตัวเลขจะไม่เหมือนกัน
100%
แต่ก็ใกล้เคียงกัน)
ก็จะทำให้ข้อสงสัยของกรรมการน้อยลงไปเยอะ
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องขอบอกว่าทำได้ดี
แต่คงจะดีกว่านี้ถ้าหากว่าจะพูดช้าลงนิดหน่อย
และเน้นย้ำประเด็นสำคัญที่ทำให้ผลการทดลองดูเหมือนขัดแย้งกัน
คือการที่เราบอกว่าถ้าเราเพิ่มปริมาณโทลูอีนที่ละลายเข้าไปในน้ำได้
การเกิดปฏิกิริยาก็จะดีขึ้น
แต่ถ้าละลายเข้าไปมากเกินไป
โทลูอีนก็จะเข้าไปปกคลุมพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยามากเกินไป
การเกิดปฏิกิริยาก็จะแย่ลง
ส่วนเรื่องการเกิด
protonated
toluene นั้นผมอธิบายกับกรรมการในระหว่างการประชุมว่า
การเกิด protonated
toluene นั้นมักปรากฏในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ
super
acid (กรดแก่มากเป็นพิเศษ)
ส่วนในกรณีของเรานั้นคิดว่ามีไอออน
H+
บางไอออนเท่านั้น
(หรือเพียงส่วนน้อย)
ที่สามารถเข้าทำปฏิกิริยากับ
toluene
กลายเป็น
protonated
toluene ได้
การที่เราเพิ่มความเข้มข้นของกรดในสารละลายก็เป็นการเพิ่มโอกาสที่จะเกิด
protonated
toluene เพิ่มมากขึ้น
๒.
กรณีของสาวน้อยร้อยห้าสิบเซนต์
กรณีของสาวน้อยร้อยห้าสิบเซนต์จะเห็นว่ามีปัญหาเรื่องความคมชัดของสไลด์
เพราะใช้พี้นที่เป็นสีสว่างและใช้ตัวอักษรที่เป็นสีสว่างด้วย
ทำให้อ่านตัวอักษรไม่ชัด
นอกจากนี้ยังมีการใช้เส้นกราฟสีสว่างบนพื้นที่สว่าง
(เช่นสีเหลืองบนพื้นสีฟ้าหรือสีขาว)
ทำให้กรรมการอ่านกราฟไม่ชัดด้วย
ทางที่ถูกคือถ้าเลือกพื้นเป็นสีสว่าง
ก็ควรเลือกตัวอักษรหรือเส้นกราฟเป็นสีมืด
ในทางกลับกันถ้าเลือกพื้นหลังเป็นสีมืด
ก็ให้เลือกตัวอักษรหรือเส้นกราฟเป็นสีสว่าง
ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงแต่ไม่มีการชี้ให้เห็นชัดในการนำเสนอหรือวิทยานิพนธ์คือ
การที่บอกว่าภาวะที่เราใช้ในการทำปฏิกิริยานั้นแตกต่างไปจากที่มีการวิจัยก่อนหน้านี้
โดยเฉพาะในส่วนของปริมาณออกซิเจนและไอน้ำ
ดังนั้นในการแก้ไขวิทยานิพนธ์จึงควรเพิ่มรายละเอียดตรงนี้เข้าไปด้วยว่า
งานที่ผ่านมาในอดีตนั้นทำการทดลองโดยมีออกซิเจนและไอน้ำเข้มข้นเท่าใด
ถ้ามีสักหนึ่งร้อยเรื่องก็ให้รายละเอียดทั้งหนึ่งร้อยเรื่องเลย
ไม่ต้องกังวลว่าถ้าใส่เข้าไปแล้วจะทำให้วิทยานิพนธ์มันยาวขึ้น
เพราะมันเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่เราไปตรวจสอบงานในอดีตนั้น
ยังไม่มีใครเคยทำการทดลองในภาวะที่เราได้ทำ
หวังว่าในเดือนเมษายนปีหน้าเราคงได้มีโอกาสฉลองเช่นนี้กันอีก
(อะไรอยู่ในแก้วเอ่ย)