วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔ บ้านห้วยเนียม ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ MO Memoir : Tuesday 20 September 2554


ตอนจบปี ๒ คณะจะทำการเปลี่ยนหลักสูตรโดยจะให้ทางคณะพาณิชยศาตร์และการบัญชีสอนวิชาสถิติให้นิสิตวิศวะ ซึ่งในขณะนั้นทางคณะวิทยาศาสตร์เป็นผู้สอนอยู่

โดยหลักสูตรสาขาวิชาของผมเองนั้น วิชาสถิติมันเรียนตอนปี ๓ ผมเองก็ไม่อยากไปเรียนตัวใหม่ที่ทางบัญชีเป็นผู้สอน เรื่องทั้งเรื่องก็เป็นเพราะไม่รู้ว่าจะยากหรือจะง่าย แนวข้อสอบจะเป็นอย่างไร ไม่เหมือนของเก่าที่เราตุนข้อสอบเก่าจากรุ่นพี่เอาไว้ หน้าร้อนปี ๒๕๒๙ ก็เลยลงเรียน summer ซะ ๑ เทอม คือลงวิชาสถิติที่สอนโดยคณะวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าไม่ลงตอนนั้น พอเปิดเทอมใหม่ก็จะไม่มีให้เรียน ต้องไปเรียนตัวใหม่ที่ทางบัญชีเป็นผู้สอน

และระหว่างเรียนภาคฤดูร้อนนี้เอง ที่ผมได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมค่ายยุววิศวกรบพิธ

ค่ายที่ทำกันคือการไปสร้างสิ่งก่อสร้างที่อำนวยความสะดวกให้กับชุมชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาน อาจารย์ผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการไปก่อสร้างคือพวกฝายและเขื่อนทดน้ำ เพราะเป็นเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อยู่ต้นน้ำและปลายน้ำได้ ดังนั้นสิ่งก่อสร้างที่มักจะไปทำถ้าไม่เป็นพวกอาคารก็จะเป็นสะพาน

ในฤดูร้อนปีพ.ศ. ๒๕๒๙ ค่ายยุววิศวกรบพิธ ๑๔ เป็นการสร้างสะพานขึง (cable stayed bridge) ที่บ้านห้วยเนียม ต.บ้านไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์

ว่ากันว่าที่เลือกสร้างสะพานขึงนั้นเป็นเพราะว่าตอนนั้นในกรุงเทพกำลังมีการสร้างสะพานพระราม ๙ อยู่ สะพานพระราม ๙ จะเปิดใช้ในปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งจะเป็นสะพานขึงที่มีช่วงระหว่างเสายาวที่สุดในโลก ทางค่ายก็เลยเลือกสร้างสะพานให้เป็นสะพานขึงเพื่อชิงเปิดตัดหน้าสะพานพระราม ๙ แต่ที่แตกต่างกันคือสะพานพระราม ๙ เป็นสะพานขึงระนาบเดียว คือมีสายเคเบิลยึดระหว่างเสากับตัวสะพานที่บริเวณตรงส่วนกลางของแนวยาวของสะพาน ส่วนสะพานที่ทางค่ายจะสร้างนั้นเป็นสะพานขึงระนาบคู่ คือมีสายเคเบิลยึดระหว่างเสากับตัวสะพานตลอดความยาวขนาบข้างทางด้านซ้ายและขวา

แต่ผมว่าที่ทางค่ายเลือกสร้างสะพานแบบนี้เป็นเพราะลักษณะภูมิประเทศมันบังคับมากกว่า คือตำแหน่งที่จะสร้างสะพานเชื่อมนั้นค่อนข้างลึก และในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำไหลเชี่ยวมามาก ดังนั้นถ้าสร้างสะพานขึงโดยวางตำแหน่งเสาไว้ใกล้ชายฝั่งทั้งสองฟาก ตอนกลางของร่องน้ำก็จะไม่มีอะไรไปขวางกั้น น้ำจะได้ไหลได้สะดวก ในหน้าแล้งชาวบ้านสองฝั่งจะเดินข้ามร่องนี้ไปมาหาสู่กันได้ แต่พอช่วงน้ำหลากก็จะไม่สามารถติดต่อกันได้ ดังนั้นถ้ามีสะพานเชื่อมสองฝั่งก็จะทำให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งสามารถไปมาหาสู่กันได้ตลอดทั้งปี

งานที่ผมเข้าไปร่วมทำเป็นงานที่ทำที่กรุงเทพ คือทำหน้าที่เชื่อมเสาสะพาน เสาสะพานมีสองส่วน ส่วนล่างเป็นตอม่อคอนกรีตที่ต้องไปก่อสร้างกันที่หน้างาน ส่วนที่ผมทำหน้าเป็นเสาเหล็กที่จะนำไปติดตั้งบนต่อม่อคอนกรีตอีกที

เสาเหล็กนั้นจะใช้เหล็กรูปตัวซี (ขนาดน่าจะสักประมาณ 8-10 นิ้ว จำไม่ได้แน่ชัด) ยาวประมาณ ๓ เมตรมาประกบกันให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ตรงขอบที่จะประกบกันนั้นจะทำการเจียรเพื่อให้แนวประกบนั้นเป็นรูปตัววี (V) เวลาเอามาวางประกบกันก็จะเว้นช่องว่างไว้เล็กน้อย ขนาดประมาณเส้นผ่านศูนย์กลางของลวดเชื่อม เวลาเชื่อมก็จะเชื่อมหัวท้ายทั้งด้านบนและด้านล่างและเชื่อมตรงกลาง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบิดตัวจนเสาคดโก่ง จากนั้นจึงเดินรอยเชื่อมรอยล่างสุดให้เต็มแนวก่อน รอยล่างสุดนี้สำคัญสุดเพราะรอยเชื่อมต้องซึมลึกตลอดพอดี ไม่น้อยเกินไปหรือไม่มากเกินไป ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับการตั้งกระแสไฟฟ้า (ที่ใช้ตอนนั้นดูเหมือนสักประมาณ 80-100 A) จากนั้นจึงค่อยเติมเต็มผิวบนให้เต็มแนว

ส่วนตัวสายเคเบิลนั้นก็ไม่ได้ใช้สายเคเบิล แต่ใช้เหล็กข้ออ้อย ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะใช้วิธีการกลึงเกลียวที่ปลายท่อนเหล็ก และใช้วิธีต่อเข้าด้วยกันด้วยข้อต่อเกลียวที่สามารถปรับการขันให้ตึงหย่อนได้ดังต้องการ

สถานที่ที่ทำงานก็เป็นถนนหน้า work shop อยู่ระหว่างหน้า work shop กับห้องน้ำสามแสน ซึ่งปัจจุบันอาคาร work shopนี้ถูกทุบไปแล้วและสร้างเป็นอาคาร ๔ ขึ้นมาแทน ส่วนห้องน้ำสามแสนก็ถูกทุบทิ้งไปเมื่อไม่นานนี้เพื่อสร้างเป็นอาคาร ๑๐๐ ปี

ความรู้ที่ได้จากการทำค่ายครั้งนั้นช่วยผมไว้มาก เพราะพอจบไปทำงานก่อสร้างผมบังเอิญต้องไปดูแลงานวางท่อโรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเชื่อมท่อเป็นอย่างมาก

พอเชื่อมชิ้นส่วนได้มากพอแล้ว ก็จะทำการลำเลียงทางรถบรรทุกไปยังค่ายที่ จ.อุตรดิตถ์

ตอนนั้นผมได้หน้าที่นำชิ้นส่วนงานเชื่อมลอตหนึ่งไปส่งที่ค่าย รถที่นั่งไปนั้นเป็นรถบรรทุก ๖ ล้อรุ่นเก่า (ดูเหมือนจะมีฉายาว่าหน้า "แป๊ยิ้ม") ที่มีเครื่องยนต์วางอยู่ข้างหน้าคนขับ (หน้ายื่นออกมาแบบรถเก๋ง) ที่นั่งและพนักพิงเป็นไม้แผ่นวางตั้งฉาก ไม่มีประตู นั่งไปกันสามคน ผมนั่งกลางระหว่างคนขับกับรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง ออกจากมหาวิทยาลัยตอนหัวค่ำ แรก ๆ ก็ดูสนุกดี พอพ้นดอนเมืองเข้ารังสิตก็มืดไปหมดแล้ว มีแต่ไฟแสงสว่างของร้านอาหารข้างทาง ตอนนั้นถนนพหลโยธินช่วงนี้ก็มีแค่ ๔ ช่องทางจราจร (ไป-กลับข้างละสอง) คนขับก็ขับไปตามกำลังรถที่จะไปได้ คือ ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลับ ๆ ตื่น ๆ ไปไม่รู้กี่เที่ยว จนกระทั่งหลังเที่ยงคืนจึงมีการแวะพักกินข้าวกันที่พิษณุโลก

ออกจากพิษณุโลกเริ่มมีฝนตกเป็นช่วง ๆ ผมกับพี่ที่ไปด้วยก็นั่งสัปหงกกันต่อ จังหวะหนึ่งคนขับก็หยิบยามาเม็ดหนึ่ง กินเข้าไปแล้วก็หันมาถามผมกับพี่ว่า "จะเอาบ้างไหม" พร้อมกับส่งมาให้ ๑ เม็ด เท่านั้นแหละทั้งผมและพี่ก็ตาสว่างเลย ก็คนขับเล่นล่อม้า (ยาบ้าในปัจจุบันนั่นแหละ) ให้ดูกันต่อหน้าต่อตา แต่ถึงกระนั้นพอรุ่งเช้าเราก็ไปถึงอ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์จนได้

ของที่ขนไปกับรถนั้นต้องให้รถของกรมทางหลวงขนต่อไปให้ที่ค่าย เพราะทางไปค่ายนั้นเป็นทางลูกรังขึ้นเขา ในปีนั้นสถานที่ที่ไปออกค่ายนั้นยังเป็นพื้นที่สีชมพู (ไม่ได้หมายความว่าเป็นพื้นที่ของจุฬานะ แต่หมายถึงเป็นพื้นที่ที่มีการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ค่อนข้างรุนแรง ถ้ารุนแรงมากจะเป็นพื้นที่สีแดง) การลำเลียงสิ่งที่อาจนำไปใช้เป็นปัจจัย (เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เราจำเป็นต้องนำไปใช้กับเครื่องปั่นไฟฟ้าสำหรับเครื่องเชื่อม) จะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ ผมกับรุ่นพี่จะขึ้นไปค่ายก่อน โดยจะอาศัยรถสองแถวเดินทางขึ้นไป ตอนนั้นหมู่บ้านดังกล่าวจะมีรถสองแถววันละเที่ยว คือตอนเช้าจะออกจากหมู่บ้านมายังอำเภอ และรับคนกลับไปยังหมู่บ้านอีกที

เท่าที่จำได้คือทางไปหมู่บ้านนั้นเป็นทางลูกรังบนเขา ไม่มีป้ายบอกว่าข้างหน้าเป็นโค้งอันตราย (เพราะมันเป็นเกือบทุกโค้ง) ไม่มีเสาบอกว่าข้างทางเป็นเหว (เพราะเป็นที่รู้กัน) อุปกรณ์ประจำรถที่ต้องมีคือโซ่พันล้อ เพราะถ้าฝนตกจะถนนเปียกเมื่อไร ก็ต้องหยุดรถเพื่อเอาโซ่มาพันล้อทั้งสี่ก่อน เพื่อให้ล้อมันเกาะถนน ไม่เช่นนั้นถ้าตกหล่มก็ขึ้นไม่ได้ หรือไม่ก็ลื่นไถลออกนอกเส้นทางได้ 
 
เนื่องจากคืนก่อนหน้ามีฝนตก ดังนั้นระหว่างทางขึ้นไปจึงมีบางช่วงที่ถนนเป็นเลน รถสองแถวต้องหยุดรถเพื่อพันโซ่ล้อ เวลาผ่านหลุมบ่อบางแห่งผู้โดยสาร (ผู้ชายตัวหนัก) ก็ต้องมายืนขย่มที่ท้ายรถเพื่อกดให้ล้อรถจมลงไปสัมผัสกับพื้นแข็งที่อยู่ข้างล่าง รถจะได้เดินทางต่อไปได้ หรือไม่ก็ต้องลงมาช่วยกันเข็นรถให้พ้นหลุม

ฝีมือเชื่อมเหล็กของผมก็ทำได้เฉพาะการเชื่อมในแนวนอนกับชิ้นงานที่วางราบอยู่บนพื้น จะให้ไปเชื่อมแนวตั้ง แนวดิ่ง หรือแนวระนาบของชิ้นงานที่วางตั้งฉากอยู่กับพื้น ก็ไม่อยากทำ เพราะไม่อยากให้คนอื่นเขาเดือดร้อน ไปอยู่ค่ายก็เลยไปเป็นลูกมือทำงานอื่น เช่นไปช่วยพวกสำรวจส่องกล้องตั้งแนวเสา (ผมส่องไม่เป็นหรอก แต่ให้ช่วยแบกของก็พอทำได้) ตกกลางคืนก็นอนดูดาว อยู่ที่โน่นได้เจ็ดวันก็เดินทางกลับกรุงเทพเพื่อกลับมาทำงานเชื่อมเหล็กต่อ ซึ่งตอนนั้นก็เหลือไม่มากแล้ว

ผมได้กลับที่นั่นอีกทีตอนงานเปิดสะพาน บริเวณข้าง ๆ ตอม่อคอนกรีตก็มีการเอาต้นไม้มาปลูก (ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นไผ่) เพื่อให้ช่วยลดความเร็วของสายน้ำที่จะมาปะทะตอท่อสะพานเวลาน้ำหลาก และป้องกันสิ่งของที่พัดพามากับน้ำปะทะเข้ากับตอม่อสะพานโดยตรง (ให้กอไผ่รับเอาไว้ก่อน) ความแข็งแรงของสะพานนั้นตอนที่สร้างกันอยู่ก็กะว่าเพื่อให้คนเดินข้าม ไม่ได้กะให้มีรถยนต์วิ่งผ่าน แต่บังเอิญวันนั้นมีรถปิ๊คอัพคันหนึ่งวิ่งไปบนสะพาน พวกผมก็ยืนดูกัน รุ่นพี่คนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า "เออ ดีเหมือนกัน มีคนช่วยทดสอบว่าสะพานมันแข็งแรงหรือเปล่า" และรถคันดังกล่าวก็ผ่านไปได้อย่างปลอดภัย

คืนนั้นในหมู่บ้านก็มีการจัดงานรี่นเริงกัน งานหนึ่งคือมีรายการ "สาวรำวง" คือจะมีการกั้นลานด้วยเชือก ในลานนั้นจะมีสาว ๆ แต่งตัวสวย ๆ (เรียบร้อยแบบชาวบ้านและไม่โป๊) นั่งรออยู่ คนจะเข้าไปรำวง (ก็มักจะเป็นหนุ่ม ๆ) ก็จะต้องซื้อบัตรแล้วไปเลือกว่าอยากจะรำวงกับสาวคนไหน เขาจะเปิดให้เขาเป็นรอบ ๆ พอหมดรอบก็ต้องออกมา อยากจะรำใหม่ก็ต้องไปซื้อบัตรใหม่ พวกผมไปในฐานะกลุ่มคนที่สร้างสะพาน ก็เลยได้เข้าไปร่วมรำวงฟรีโดยไม่ต้องซื้อบัตร (ทั้ง ๆ ที่รำไม่เป็น) นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของผมที่ได้มีโอกาสเห็นงานรื่นเริงที่เรียกว่า "สาวรำวง" 
 
เปิดสะพานเสร็จแล้วก็กลับมาเรียนหนังสือต่อกันที่กรุงเทพ เพราะมันเปิดเทอมแล้ว

นั่นเป็นเรื่องเมื่อหน้าร้อนปีพ.ศ. ๒๕๒๙ หรือเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว



รูปที่ ๑ รูปสองรูปนี้เอามาจาก face book ของพี่คนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Tien เป็นสะพานขึงที่ชาวค่ายยุววิศวกรบพิธ ๑๔ ไปสร้างเอาไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อนผมคนหนึ่งเอามาเผยแพร่ใน facebook ของรุ่น ทำให้นึกถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เคยทำไว้ในสมัยนั้น ภาพดังกล่าวดูเหมือนจะนำมาจากคลิปข่าวของโทรทัศน์ช่อง 9

อีก ๒๐ ปีถัดมาผมก็ได้มีโอกาสโฉบไปเที่ยวภาพเหนือทางซีกแถวนั้นอีก แต่ก็ไม่ได้แวะไปที่อุตรดิตถ์ ไปแต่จังหวัดที่อยู่เหนือขึ้นไปหรือไม่ก็ต่ำลงมา อีกอย่างคือไปกับครอบครัว ครั้งจะขับรถพาครอบครัวไปเพื่อไปดูสะพานที่เคยไปสร้างไว้สมัยเรียนหนังสือ คนอื่นก็ไม่รู้ว่าจะดูทำไม ที่สำคัญก็คือจำไม่ได้แล้วว่าสะพานที่เคยไปออกค่ายนั้นอยู่ที่ไหน จำได้เพียงแค่ชื่ออำเภอและชื่อจังหวัด

จนกระทั่งเมื่อวานได้เห็นเพื่อนคนหนึ่งโพสเอาไว้ใน facebook ของรุ่นว่าไปเห็นรูป ๒ รูปในหน้า facebook ของรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพสะพานขึงที่ได้มีโอกาสร่วมในการก่อสร้าง ภาพดังกล่าวดูเหมือนจะนำมาจากคลิปข่าวของโทรทัศน์ช่อง 9 หลังเหตุการณ์โคลนถล่ม ภาพแสดงให้เห็นสะพานที่ยังคงใช้การได้อยู่ แต่ถูกกระแสน้ำพัดจนทำให้สะพานที่วางไว้ในแนวตรงนั้นบิดเบี้ยวไป
ผมก็เลยลองใช้คำว่า "ยุววิศวกรบพิธ 14" ค้นหาใน google ดู ก็เลยได้ไปเห็นข่าวในรูปที่ ๒ ข้างล่าง


รูปที่ ๒ ข่าวนี้นำมาจากเว็บไทยรัฐออนไลน์ คอลัมน์เทียบท่าหน้า ๓ ฉบับวันพุธที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ เรื่อง "รอซ่อม" แต่ผมมาเซฟหน้านี้เอาไว้เมื่อวาน ที่ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์ประทับใจต่าง ๆ เมื่อ ๒๕ ปีก่อนหน้านั้นคือข้อความในกรอบสีแดง

ตอนนี้ก็เห็นพวกพี่ ๆ ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อสร้างครั้งนั้นมีการติดต่อกันทาง facebook เรื่องไปสำรวจความเสียหายของสะพานดังกล่าวแล้ว

ผมเขียนเรื่องนี้เพื่อบันทึกเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์ที่ตัวเองได้ไปมีส่วนร่วมเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว เพื่อไม่ให้เลือนหายไปกับความทรงจำของคนรุ่นนั้นหมดสิ้น