วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560

สถาปัตยกรรมคณะราษฎร ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๒๗) MO Memoir : Saturday 21 January 2560

เคยทราบไหมครับว่า อาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ตลอดแนวถนนราชดำเนินกลาง โรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมกรุง สนามศุภชลาศัย อาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขที่บางรัก ฯลฯ รวมทั้ง อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตึกฟิสิกส์ ๑ ตึกเคมีเดิม ๒ ตึก (ที่ปัจจุบันเป็นอาคารศิลปวัฒนธรรมและคณะศิลปกรรมศาสตร์) และหอประชุมใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างมีความเกี่ยวข้องกันทางสถาปัตยกรรม โดยมีผู้ให้ชื่อว่าเป็น "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูก (ทำให้) ลืม
 
ในหนังสือ "คณะราษฎร ฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ"" (รูปที่ ๑) ชาตรี ประกิตนนทการ แบ่งประเภทสถาปัตยกรรมคณะราษฎรออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ "รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบทันสมัย" ซึ่งได้แก่อาคารต่าง ๆ ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น (ยกเว้นหอประชุมใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และกลุ่มที่สองคือ "รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต" ดังเช่นหอประชุมใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


รูปที่ ๑ หนังสือ "คณะราษฎร ฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ"" เขียนโดย ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. ๒๕๔๘
 
ลักษณะร่วมอย่างกว้าง ๆ ของ "รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบทันสมัย" คือภายนอกจะดูแลเรียบง่ายและเรียบเกลี้ยง รูปทรงเส้นสายของอาคารจะเป็นเส้นตรงไปมาแบบกล่องสีเหลี่ยม ไม่นิยมประดับตกแต่งด้วยลวดลายใด ๆ หลังคาจะนิยมเป็นหลังคา "ทรงตัด" (คือเป็นหลังคาแบนแบบมีดาดฟ้า) หรือในกรณีที่มิได้ทำหลังคาทรงตัดก็จะก่อเป็นแผงคอนกรีตขึ้นไปยังส่วนหลังคา (parapet) บังหลังคารอบอาคาร เพื่อหลอกสายตาให้ดูเป็นหลังคาทรงตัด (ดูตัวอย่างในรูปที่ ๒ ข้างล่าง)


รูปที่ ๒ หลังคาอาคารหลังนี้ (ปัจจุบันเป็นอาคารปฏิบัติการรวมของคณะวิศวกรรมศาสตร์) ไม่ได้เป็นแบบดาดฟ้า แต่ก่อแผงคอนกรีตบังเอาไว้ ทำให้ดูเหมือนเป็นหลังคาทรงตัด ถ่ายจากหน้าต่างห้องทำงานของผมเอง

ในส่วนของ "สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต" นั้น ชาตรี ประกิตนนทการ ให้คำอธิบายที่พอจะย่นย่อได้ว่าหมายถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สืบทอดระเบียบวิธีในการออกแบบจากสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีตในอดีต แต่มีการลดทอนรายละเอียดลวดลายทางสถาปัตยกรรมแบบจารีตลงเหลือเพียงเค้าโครงของเส้นกรอบนอกเท่านั้น รูปทรงเดิมที่มีความอ่อนช้อยพริ้วไหวถูกปรับให้เป็นเส้นตรงที่แข็งมากขึ้น ซึ่งสะท้อนกับคุณสมบัติของวัสดุก่อสร้างที่เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นไม้มาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
 
ชาตรี ประกิตนนทการ ยังได้กล่าวไว้ในหนังสือดังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน (คือพ.. ๒๕๔๘ หรือปีที่จัดพิมพ์หนังสือ) อาคารต่าง ๆ ในยุคนั้นหลายอาคารได้ถูกรื้อถอนลงไปแล้วโดยแทบจะไม่มีการถกเถียงเรื่องคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยมีสิ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุเบื้องหลังจากมุมมอง ๒ ด้านที่ถูกสร้างขึ้นอย่างบิดเบือนเพื่อมุ่งหวังที่จะทำให้สังคมไทย "ลืม" ประวัติศาสตร์ ๑๕ ปีในยุคคณะราษฏร (คือในช่วงปีพ.. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐) (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังปีพ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา

George Orwell เป็นนามปากกาของนักเขียนชาวอังกฤษที่ชื่อ Eric Arthur Blair นวนิยายเรื่องหนึ่งที่มีชื่อเสียงของเขาคือเรื่อง "Animal farms" ในบทประพันธ์เรื่อง "nineteen eighty-four" ที่เป็นที่มาของคำว่า "Big Brothers" นั้น เขาได้กล่าวข้อความหนึ่งที่ยังคงมีการอ้างถึงจนปัจจุบันว่า
  
"He who controls the past controls the future. He who controls the present controls the past"
 
George Orwell เสียชีวิตด้วยโรควัณโรค ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในวันที่ ๒๑ มกราคม พ.. ๒๔๙๓ ซึ่งตรงกับวันนี้เมื่อ ๖๗ ปีที่แล้ว

รูปที่ ๓ อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ภาพจากในหนังสือ ไม่ระบุวันที่ที่ถ่ายภาพ) ในภาพนี้จะเห็นว่าด้านหน้าของอาคารนั้นเป็น "สระน้ำขนาดใหญ่" ที่ปัจจุบันไม่มีแล้ว กลายเป็นสนามกีฬาแทน และยังไม่มีต้นจามจุรีที่ปลูกตลอดแนวถนนจากหน้าประตูมหาวิทยาลัยข้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มาจนถึงหอประชุมด้วย


รูปที่ ๔ อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน 
 
รูปที่ ๕ ตึกฟิสิกส์ ๑ ของคณะวิทยาศาสตร์ (ภาพจากในหนังสือ ไม่ระบุวันที่ที่ถ่ายภาพ) จะเห็นว่าระดับพื้นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอาคารนั้นมีระดับต่ำกว่าตัวอาคาร ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสภาพพื้นเดิมเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ทำให้ตัวอาคารศาลาพระเกี้ยวและตึกจุลจักรพงษ์ที่สร้างภายหลัง จึงมีชั้นล่างสุดที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นถนนเล็กน้อย ภาพเดิมในหนังสือเป็นภาพขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 5 x 4 เซนติเมตร จึงทำการสแกนละเอียดเพื่อขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น


รูปที่ ๖ ตึกฟิสิกส์ ๑ ของคณะวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ปัจจุบันฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งของอาคารจุลจักรพงษ์


รูปที่ ๗ อาคารเคมี ๑ เดิม ที่ปัจจุบันกลายเป็นอาคารศิลปวัฒนธรรม


รูปที่ ๘ อาคารหอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำพิธีเปิดในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๘๒ เป็นตัวอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมคณะราษฎร "รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต" เช่นเดียวกับประตูสวัสดิโสภาของกำแพงพระบรมมหาราชวังที่ชำรุดทรุดโทรมจนต้องรื้อลงในปีพ.ศ. ๒๔๗๙ และสร้างขึ้นมาใหม่ อาคารหอประชุมหลังนี้ตอนที่ผมเข้าเรียนในปีพ.ศ. ๒๕๒๗ นั้นยังไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้องประชุมใหญ่ แต่หลังจากนั้น ๑-๒ ปีจึงมีการติดตั้ง

ไม่มีความคิดเห็น: