หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความชุดนี้อิงจากมาตราฐาน API 2000 7th Edition, March 2014. Reaffirmed, April 2020 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจ ดังนั้นถ้าจะนำไปใช้งานจริงควรต้องตรวจสอบกับมาตรฐานฉบับล่าสุดที่ใช้ในช่วงเวลานั้นก่อน
ต่อไปจะเป็นหัวข้อ 5.3 ที่เป็นเรื่องของวิธีการทดสอบความสามารถของอุปกรณ์ในการระบายความดัน โดยเริ่มจากหัวข้อ 5.3.1 (รูปที่ ๑) ที่เป็นกรณีของช่องเปิด เริ่มจากที่อัตราการไหลเป็นศูนย์ จากนั้นให้ทำการวัดความดัน/สุญญากาศในถัง โดยให้ปรับความดันเป็นขั้น 5 ครั้งเท่า ๆ กัน โดยมีค่าการปรับสูงสุดอยู่ที่ 5 kPa (0.725 psi)
รูปที่ ๑ หัวข้อ 5.3 การทดสอบความสามารถของอุปกรณ์ระบายความดัน
ตรงนี้ถ้าย้อนกลับไปดูรูปอุปกรณ์ทดสอบในบทความตอนที่ ๑๔ (รูปที่ ๗ ของบทความ) ในกรณีการทดสอบการระบายความดัน การทดสอบตรงนี้ก็น่าจะเป็นการเพิ่มอัตราการของอากาศ (ถ้าใช้อากาศเป็นตัวทดสอบ) ที่ป้อนเข้า test tank จนความดันภายใน test tank สูงถึงระดับที่กำหนดของแต่ละขั้น เมื่อความดันใน test tank คงที่ อัตราการไหลเข้าก็จะเท่ากับอัตราการไหลออก จากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มความดัน (ด้วยการปรับอัตราการไหลเข้า) จนความดันภายใน test tank เพิ่มสูงถึงระดับทดสอบระดับถัดไป ในกรณีของการทดสอบการป้องกันการเกิดสุญญากาศ ก็จะเป็นการดูดอากาศออกจาก test tank จนความดันลดต่ำลงถึงระดับที่กำหนดของแต่ละขั้น ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ 5 ขั้น
หัวข้อ 5.3.2 เป็นการทดสอบวาล์วระบายความดันสูงเกินหรือป้องกันการเกิดสุญญากาศ
ย่อหน้าแรกกล่าวว่าให้สร้างเส้นกราฟค่าอัตราการไหล (flow-capacity curves) สำหรับอุปกรณ์แต่ละชนิดและสำหรับทุกขนาด (norminal size)
ย่อหน้าที่สองกล่าวว่าให้ทำการทดสอบอุปกรณ์ระบายความดันแต่ละตัว (ก) ที่ค่าที่กำหนดไว้ (set point) ของค่าความดันออกแบบ (design pressure) และความดันสุญญากาศ (vacuum) ที่ต่ำสุด และ (ข) ที่ค่าที่กำหนดไว้ (set point) ของค่าความดันออกแบบ (design pressure) และความดันสุญญากาศ (vacuum) ที่สูงที่สุด หรือ (ค) ที่ค่าขีดจำกัดของชุดอุปกรณ์ทดสอบอัตราการไหล ขึ้นอยู่กับว่าค่าไหนมีค่ามากกว่า ทำการทดสอบช่วงค่าตอนกลางอย่างน้อย 3 ค่า (คือทดสอบรวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 5 ค่า คือค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด และค่าระหว่างสองค่านี้อีกอย่างน้อย 3 ค่า) โดยให้รวมค่าที่ให้ไว้ในย่อหน้าที่ 4 ของหัวข้อย่อยนี้ (หัวข้อ 5.3.2) ทั้งการวัดสุญญากาศและการระบายความดันสูงเกิน เพิ่มการเปลี่ยนแปลงอัตราการไหลให้มากเพียงพอที่ทำให้สามารถสร้างเส้นกราฟความสามารถในการระบายสำหรับค่าความดันหรือสุญญากาศที่ตั้งเอาไว้ ข้อมูลเหล่านี้อาจถูกนำมาใช้เพื่อสร้างเส้นกราฟอัตราการไหลสำหรับค่าความดันหรือสุญญากาศที่ตั้งเอาไว้ ที่สูงเกินกว่าค่าที่ทำการทดสอบ (คือใช้ประมาณค่าสำหรับช่วงความดันที่อยู่นอกเหนือช่วงที่ทำการทดสอบ) ถ้าสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าการประมาณค่านอกช่วงของข้อมูลที่มีนั้นมีความถูกต้อง สิ่งนี้เป็นกรณีที่ว่าถ้าได้ทำการวัดค่าอย่างน้อย 3 จุดหลังจากที่วาล์วได้เปิดเต็มที่แล้ว ความเร็วในการไหลนั้นยังต่ำกว่าความเร็วเสียง
ย่อหน้าที่สามกล่าวว่าเริ่มทำการวัดความดันหรือสุญญากาศจากจุดที่ให้ค่าอัตราการไหลเป็นศูนย์ และค่อย ๆ เพิ่มเป็นลำดับขั้นที่เหมาะสมจนกระทั่งถึงค่าสูงสุดหรือวาล์วเปิดเต็มที่
ย่อหน้าที่สี่กล่าวว่าการวัดอัตราการไหลโดยปริมาตรควรกระทำที่ค่าความดันหรือสุญญากาสในถังมีค่าเท่ากับ 1.1, 1.2, 1.5 และ 2 เท่าของค่าความดันหรือสุญญากาศที่ตั้งเอาไว้ ถ้าวาล์วยังไม่เปิดเต็มที่ที่ค่า 2 เท่าของค่าความดันที่ตั้งเอาไว้ ให้ทำการเพิ่มจุดวัดเพิ่มเติมจนกระทั่งวาล์วเปิดเต็มที่
(หมายเหตุ : เมื่อความดันในถังสูงถึงค่าที่ทำให้วาล์วเปิด วาล์วจะเริ่มเปิดเพื่อลดความดันในถัง แต่ความดันในถังไม่จำเป็นต้องลดต่ำลงถ้าหากมีสาเหตุที่ทำให้ความดันในถังเพิ่มสูงขึ้นนั้นยังคงอยู่ และยังคงสามารถเพิ่มความดันได้สูงเกินกว่าความสามารถในการระบายความดัน แต่ในขณะที่ความดันในถังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการระบายก็จะเพิ่มขึ้น จนกระทั่งถึงจุดสมดุลที่ความดันในถังจะไม่เพิ่มขึ้นอีกต่อไป)
ย่อหน้าที่ห้ากล่าวว่าให้เขียนกราฟระหว่างอัตราการไหลกับความดันหรือสุญญากาศภายในถัง (เส้นกราฟอัตราการไหล/ความดัน หรืออัตราการไหล/สุญญากาศ) หรือแสดงข้อมูลในรูปของตารางที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการไหลกับความดัน แสดงค่าความดันด้วยหน่วย กิโลปาสคาล (บาร์, มิลลิบาร์, มิลลิเมตรน้ำ, ออนซ์ต่อตารางนิ้ว, ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือนิ้วน้ำ)
ย่อหน้าที่หกกล่าวว่าให้ทำการระบุค่าความดันสูงเกิดหรือค่าความดันที่ตั้งเอาไว้
ย่อหน้าที่เจ็ดเป็นหมายเหตุที่กล่าวว่า เส้นกราฟความสามารถในการระบายความดันนี้ใช้กับอุปกรณ์ที่สะอาด โดยไม่รวมสภาวะที่อุปกรณ์มีความสกปรก เช่นมีสิ่งเกาะติดพื้นผิวภายในเส้นทางการไหลที่สามารถลดความสามารถในการระบายความดัน
ในขณะที่วิธีการในหัวข้อ 5.3.2.1 Flow-curve Method เป็นการทดสอบอุปกรณ์ระบายความดันแต่ละตัวที่จะใช้งาน วิธีการที่สอง Coefficient of Discharge ในหัวข้อ 5.3.2.2 (รูปที่ ๒ ข้างล่าง) เป็นการทดสอบอุปกรณ์ที่มีรูปแบบเส้นทางการไหลที่มีรูปทรงเรขาคณิตแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงสามารถนำเอาผลที่ได้ไปใช้กับอุปกรณ์อื่นที่มีรูปแบบเส้นทางการไหลแบบเดียวกันหรืออุปกรณ์รูปแบบเดียวกันที่มีขนาดต่างกันได้รับการกำหนดมาตราส่วน
รูปที่ ๒ หัวข้อ 5.3.2.2 วิธีการที่สองคือ Coefficient of Discharge
หัวข้อ 5.3.2.2.1 เป็นวิธีการสำหรับอุปกรณ์ที่มีการออกแบบจำเพาะเจาะจง (คือมีรูปแบบเดียวกัน) โดยทำการทดสอบจำนวน 3 ขนาดหรือมากกว่า
ย่อหน้าแรกกล่าวว่าสำหรับอุปกรณ์ที่มีรูปแบบจำเพาะเดียวกัน มีรูปร่างเรขาคณิตของเส้นทางการไหลคล้ายคลึงกัน สามารถสร้างค่า "Coefficient of Discharge" สำหรับอุปกรณ์ระบายความดันในช่วงขนาดดังกล่าวได้ด้วยการใช้ขั้นตอนการทำงานดังต่อไปนี้ และผลการทดสอบที่ได้สามารถนำไปทำการประมาณค่านอกช่วงเพื่อใช้กับอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กกว่าหรือใหญ่กว่าขนาดอุปกรณ์ที่นำมาทดสอบได้ โดยมีเงื่อนไขว่าทั้งตัวอุปกรณ์ทดสอบและอุปกรณ์ที่ต้องการทำนายค่าความสามารถในการระบายนั้น ต้องมีรูปทรงทางเรขาคณิต (ของเส้นทางการไหล) ที่คล้ายคลึงกัน
ย่อหน้าที่สองกล่าวว่า สามารถกล่าวได้ว่าความคล้ายคลึงทางเรขาคณิตจะเกิดขึ้นเมื่อ อัตราส่วนของเส้นทางการไหลและมิติต่าง ๆ ของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่สามารถส่งผลกระทบต่อแรงผลักดันรวมที่ของไหลนั้นกระทำบนชิ้นส่วนเคลื่อนที่ที่อยู่ภายในอุปกรณ์ระบายความดัน ได้รับการกำหนดมาตราส่วนให้สอดคล้องกับมิติต่าง ๆ ของวาล์วที่ใช้ในการทดสอบหาความสามารถในการระบาย
ถ้าให้เทียบกับการไหลในท่อ วิธีการตรงนี้มันเหมือนกับว่า ไม่ว่าของไหลนั้นจะเป็นของเหลวหรือแก๊ส แต่ถ้าไหลด้วยค่า Reynolds number (Re) พฤติกรรมการไหลจะเหมือนกัน
ย่อหน้าที่สามกล่าวว่าให้ทำการทดสอบอุปกรณ์อย่างน้อย 3 ขนิด โดยแต่ละชนิดให้ทำการทดสอบ 3 ขนาด (รวมจำนวนอุปกรณ์ที่ต้องทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 9 ตัว) ทำการทดสอบอุปกรณ์แต่ละตัวที่ความดันต่างกัน โดยความดันที่ทำการทดอย่างน้อยหนึ่งค่าเป็นค่าความดัน/สุญญากาศที่ค่าความดันออกแบบที่ต่ำที่สุด และอีกค่าหนึ่งเป็นค่าความดัน/สุญญากาศที่ค่าความดันออกแบบที่สูงที่สุด โดยความดันที่ต้องทดสอบส่วนที่เหลือให้มีการกระจายอย่างสม่ำเสมอในช่วงระหว่างค่าความดันออกแบบต่ำสุดและสูงสุด ความดันที่ทำการทดสอบทั้งหมดควรเป็นค่าความดันอยู่ในตำแหน่งเปิดเต็มที่
วาล์วระบายความดันที่ใช้กับของเหลวจะเปิดเมื่อความดันเพิ่มสูงถึงระดับหนึ่ง ถ้าความดันยังเพิ่มขึ้นต่อ วาล์วก็จะเปิดมากขึ้น จนความดันสูงถึงระดับหนึ่ง วาล์วก็จะเปิดเต็มที่ ตามย่อหน้าที่สามนี้ ความดันที่ต่ำที่สุดในการทดสอบก็ควรต้องเป็นความดันที่ต่ำที่สุดที่ทำให้วาล์วเปิดเต็มที่ ไม่ใช่ความดันที่ทำให้วาล์วเริ่มเปิด ในกรณีของวาล์วระบายความดันที่ใช้กับแก๊สนั้น เมื่อความดันสูงถึงระดับที่ทำให้วาล์วเปิด วาล์วจะเปิดเต็มที่ทันที ดังนั้นความดันที่ทำให้วาล์วเริ่มเปิดกับความดันที่ทำให้วาล์วเปิดเต็มที่ก็จะเป็นความดันเดียวกัน
ย่อหน้าที่สี่กล่าวว่าสามารถคำนวณค่า Coefficient of Discharge (ค่า K) สำหรับอุปกรณ์แต่ละตัวได้จากสมการที่ (24) คือ K = qa/qth เมื่อ qa คืออัตราการไหลที่ได้จากการทดลอง ส่วน qth คือค่าอัตราการไหลทางทฤษฎี ในกรณีของหน่วย SI ค่านี้จะมีหน่วยเป็น m3/hr ของตัวกลางที่นำมาทดสอบ (ปรกติจะเป็นอากาศ) โดยคำนวณได้จากสมการที่ (25) (ดูรูปที่ ๒) หรือในหน่วย USC ที่คำนวณได้จากสมการที่ (26) (ดูรูปที่ ๓) โดยที่ตัวแปรต่าง ๆ ในสมการคือ
Am คือ พื้นที่การไหลที่มีค่าต่ำที่สุดของอุปกรณ์
pi คือ ค่าความดันสมบูรณ์ที่ทางเข้าของตัวอุปกรณ์
po คือ ค่าความดันสมบูรณ์ที่ทางออกของตัวอุปกรณ์
k คือ ค่าอัตราส่วนของค่าความจุความร้อน (คือค่า Cp/Cv โดย Cp คือค่าความจุดความร้อนของแก๊สที่วัดที่ความดันคงที่ ส่วน Cv คือค่าความจุดความร้อนของแก๊สที่วัดที่ปริมรตรคงที่)
Ti คือ อุณหภูมิสัมบูรณ์ที่ทางเข้าของตัวอุปกรณ์
M คือ ค่ามวลโมเลกุลสัมพัทธ์ของแก๊สที่ใช้ในการทดสอบ
Zi คือ ค่า compressibility ของแก๊ส (ค่า PV/RT เมื่อ P คือความดัน, V คือปริมาตรจำเพาะ, R คือค่าคงที่ของแก๊ส และ T คืออุณหภูมิสัมบูรณ์) ที่ทางเข้าของตัวอุปกรณ์ (ในกรณีที่ไม่ทราบค่านี้ให้ใช้ Z = 1.0)
ส่วนตัวแปรต่าง ๆ ต้องมีหน่วยอะไรนั้น ให้ดูรูปที่ ๒ และ ๓
รูปที่ ๔ การเขียนกราฟระหว่างค่า K (แกน y) กับค่าอัตราส่วนความดันสัมบูรณ์ (แกน x)
รูปที่ ๔ ยังคงอยู่ในหัวข้อ 5.3.2.2 หลังจากที่ได้ค่า K ที่ความดันต่าง ๆ แล้ว ให้ทำการเขียนกราฟที่มีการปรับใกล้เคียงที่ดีที่สุด (best fit) ระหว่างค่า K หรือ coefficient of discharge (แกน y) กับค่าอัตราส่วนความดันสัมบูรณ์ (แกน x) ค่าสัมประสิทธิ์ที่วัดได้ทุกค่าควรอยู่ในช่วง ±5% จากค่าเฉลี่ย (เส้นทึบหมายเลข 1 ใน Figure 2 - ดูรูปที่ ๔) การคำนวณค่าความสามารถในการระบายที่ความดันใด ๆ ที่อยู่ในช่วงความดันที่ทดสอบ ทำได้โดยคูณค่าอัตราการไหลทางทฤษฎึ (ที่ค่าอัตราส่วนความดันนั้น) ด้วย 0.95 (คือให้คิดเพียงแค่ 95%) กล่าวคือถ้าพิจารณา Figure 2 ในรูปที่ ๔ เส้นทึบหมายเลข 1 คือเส้นเฉลี่ยที่เข้ากับชุดข้อมูลของการทดลองดีที่สุด แต่ในการใช้งานให้ใช้ค่าที่อ่านได้จากเส้นประหมายเลข 3 ที่ให้ค่า K เพียงแค่ 95% ของค่าที่อ่านได้จากเส้นทึบหมายเลข 1
หัวข้อ 5.3.2.2.2 (รูปที่ ๕) เกี่ยวกับการหาค่า K หรือ coefficient of discharge สำหรับวาล์วแต่ละตัว โดยย่อหน้าแรกกล่าวว่าสามารถหาค่า coefficient of discharge ของอุปกรณ์สำหรับแต่ละขนาดได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
ย่อหน้าที่สองกล่าวว่าทำการทดสอบอุปกรณ์จำนวน 4 ตัว โดยใช้การรวมกันของขนาดท่อและขนาด orifice ขนาดต่าง ๆ โดยความดันทดสอบอย่างน้อยหนึ่งความดันต้องเป็นค่าความดันออกแบบที่เป็นค่าต่ำสุดของความดัน/สุญญากาศของอุปกรณ์ และอีกค่าหนึ่งต้องเป็นค่าความดันออกแบบที่เป็นค่าสูงสุดของความดัน/สุญญากาศของอุปกรณ์ ความดันทดสอบส่วนที่เหลือให้กระจายค่าอยู่ระหว่างค่าความดันสองค่านี้อย่างสม่ำเสมอ และค่าความดันทดสอบทุกความดันควรเป็นค่าที่ทำให้วาล์วมีการยกตัวจนกระทั่งอัตราการไหลถูกควบคุมด้วยขนาดของ nozzle หรือจนกระทั่งวาล์วมีการยกตัวจนสุด
หมายเหตุ : อัตราการไหลผ่านวาล์วถูกควบคุมด้วยขนาดของช่องระบายและระดับการยกตัวของวาล์ว ถ้าช่องระบายมีขนาดเล็ก อัตราการไหลผ่านจะถูกควบคุมด้วยขนาดของช่องเปิด (คือแม้ว่าวาล์วจะยกตัวเพิ่มขึ้นไปอีก อัตราการไหลก็จะไม่เพิ่มขึ้น) แต่ถ้าช่องระบายมีขนาดใหญ่พอ อัตราการไหลผ่านจะถูกควบคุมด้วยระดับการยกตัวของวาล์ว ที่จะมากที่สุดเมื่อวาล์วยกตัวเต็มที่
รูปที่ ๕ หัวข้อ 5.3.2.2.2 และ 5.3.3
หัวข้อ 5.3.3 (รูปที่ ๔) เป็นเรื่องของวิธีการคำนวณการะบายผ่านฝาครอบช่องสำหรับให้คนเข้าไปตรวจสอบ (Manhole cover) ห้วข้อนี้กล่าวว่า ความสามารถในการระบายที่ความดันใด ๆ เมื่อฝาครอบช่องสำหรับให้คนเข้าไปตรวจสอบนั้นเปิดเต็มที่สามารถคำนวณได้ด้วยการเอาค่าอัตราการไหลทางทฤษฎีที่บรรยายไว้ในหัวข้อ 5.3.2.2.0 ด้วย 0.5
ถ้าฝาครอบนี้อยู่บนหลังคาถังเก็บ มันก็อาจจะวางปิดไว้เฉย ๆ เผื่อว่าถ้าความดันในถังเก็บเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว มันก็จะถูกดันให้เปิดออกเพื่อช่วยระบายความดัน (ทำหน้าที่เสมือน explosion relief panel)
หรือในกรณีที่ไม่ใช่การเดินเครื่องปรกติ เช่นระหว่างการซ่อมบำรุง ที่ต้องมีการระบายอากาศในถังเก็บ ก็จะเปิดฝาครอบนี้เอาไว้ นอกจาก Manhole ก็ยังมี Handhole ที่เป็นช่องขนาดเล็กสำหรับสอดมือเข้าไปภายในได้
เนื้อหาในตอนนี้มีการกล่าวถึงค่าความดัน (หรือสุญญากาศ) ออกแบบค่าต่ำสุด และค่าความดัน (หรือสุญญากาศ) ออกแบบค่าสูงสุด เพื่อที่จะทำความเข้าใจตรงนี้เราลองมาทำความรู้จักกับค่าความดันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบถังความดันและการตั้งค่าการเปิดของวาล์วระบายความดัน รูปที่ ๖ นำมาจาก Figure 4 ของเอกสาร API RP 521 ฉบับปีค.ศ. ๑๙๙๗ (ฉบับปีค.ศ. ๒๐๐๗ ไม่มีรูปนี้แล้ว) ตัวเลขในคอลัมน์กลางของรูปที่ค่าความดันภายในภาชนะรับความดัน หน่วยเป็นเปอร์เซนต์ของค่าความดันออกแบบ (Desing pressure) หรือความดันใช้งานสูงสุดที่ยอมได้ (Maximum allowable working pressure) โดยให้ค่าความดันนี้เท่ากับ 100% (การทดสอบ hydrostatic test หรือความสามารถในการรับความดันด้วยการใช้การอัดน้ำ กระทำที่ 150% ของค่าความดันนี้) เราจะลองไล่ดูตั้งแต่ล่างขึ้นบน
ที่ 90% คือค่าความดันสูงสุดของการทำงานปรกติ (usual maximum operating pressure) คือต้องดูว่าการใช้งานตามปรกตินั้นมีรูปแบบการทำงานแบบใดบ้าง และรูปแบบใดที่มีค่าความดันใช้งานปรกติสูงสุด ความดันนี้จะเป็นค่าความดันมาตรฐานในการทดสอบการรั่วซึมของระบบ
ที่ 98% คือค่าความดันที่วาล์วระบายความดันเริ่มทำการขยับตัวก่อนเปิดเต็มที่ที่ 100% (ช่วงที่เขียนว่า Simmer) แต่เมื่อความดันลดลงเหลือ 100% แล้ววาล์วจะยังไม่ปิด จะปิดก็ต่อเมื่อความดันลดลงเหลือ 92.5% (รูปแบบการเปิด-ปิดของวาล์วระบายความดันแก๊สเป็นอย่างนี้) ช่วงความดันระหว่าง 92.5-100% คือช่วง blowdown period หรือระบายทิ้ง
ถ้าภาชนะรับความดันได้รับการป้องกันด้วยวาล์วระบายความดันเพียงตัวเดียว ก็จะตั้งให้วาล์วนั้นเปิดที่ค่าความดัน 100% แต่ถ้ามีการติดตั้งมากกว่า 1 ตัว จะตั้งให้วาล์วตัวที่สองเปิดที่ 105% (Maxium allowable set pressure for supplemental valve) ถ้ายังมีวาล์วระบายความดันตัวอื่นเพิ่มอีก ก็จะตั้งให้เปิดที่ความดันสูงขึ้นไปทีละขั้น
เมื่อวาล์วระบายความดันเริ่มเปิด ความดันในถังก็ยังอาจเพิ่มสูงขึ้นได้อีกถ้าหากอัตราการเพิ่มความดันนั้นสูงกว่าอัตราการระบายออก สำหรับการทำงานทั่วไปนั้นความดันที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ควรเกิน 109% (Overpressure - typical) และค่า 110% ถือว่าเป็นค่าความดันสะสมสูงสุดที่ยอมรับได้ (Maxium allowable accumulation pressure) ได้ในการที่มีการติดตั้งวาล์วเพียงตัวเดียวและไม่ใช่กรณีถูกไฟคลอก และยังเป็นค่าความดันสะสมสูงสุดที่ยอมรับได้ในการที่มีการติดตั้งวาล์วมากกว่า 1 ตัวและเป็นกรณีที่ถูกไฟคลอก
ค่า 110% ยังเป็นค่าความดันสูงสุดสำหรับการออกแบบกระบวนการในกรณีที่มีการติดตั้งวาล์วระบายความดัน
ค่า 116% คือค่าความดันสะสมสูงสุดที่ยอมรับได้ในกรณีที่มีการติดตั้งวาล์วระบายความดันมากกว่า 1 ตัว (ถ้ามีตัวเดียวยอมให้เพิ่มได้เพียงแค่ 110%) และค่านี้ยังเป็นค่าความดันสูงสุดสำหรับการออกแบบกระบวนการในกรณีที่มีการติดตั้งวาล์วระบายความดันมากกว่า 1 ตัว
ค่า 121% คือค่าความดันสะสมสูงสุดที่ยอมรับได้เฉพาะกรณีที่ภาชนะถูกไฟครอกเท่านั้น และเป็นค่าความดันในการระบายสูงสุดสำหรับการหาขนาดในกรณีที่ภาชนะถูกไฟครอก
รูปที่ ๖ ระดับความดันสำหรับปรับตั้งการทำงานให้กับวาล์วระบายความดัน รูปนี้นำมาจาก API RP 521 Guide for pressure-relieving and depressuring systems ฉบับปีค.ศ. ๑๙๙๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐) แต่พอเป็นฉบับปีค.ศ. ๒๐๐๗ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ก็ไม่มีแล้ว (RP ย่อมาจาก Recommended Practice) ตัวเลขตรงแถวกลางคือเปอร์เซนต์ความดันใช้งานสูงสุดที่ยอมได้ (ความดันเกจ) ฝั่งด้านซ้ายคือสิ่งที่ต้องพึงคำนึงในการทำงานของภาชนะความดัน ฝั่งด้านขวาคือลักษณะการทำงานของวาล์วระบายความดัน
ภาพสุดท้ายนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับบทความนี้เลย เพียงแค่ขอเอารูปตัวที่มานอนที่เท้าเป็นประจำเวลานั่งเขียน Memoir มาลงไว้เป็นที่ระลึกแค่นั้นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น