วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2567

การก่อการร้ายด้วยแก๊สซาริน (Sarin) ในรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียว MO Memoir : Friday 6 September 2567

ในช่วงเวลาประมาณ ๗ โมงเข้าของวันจันทร์ที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ (พ.ศ. ๒๕๓๘) สมาชิกของกลุ่ม Aum Shinrikyo ได้ทำการปล่อยแก๊สซาริน (Sarin) ในรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียวจำนวน ๕ ขบวน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน ๑๔ รายและบาดเจ็บกว่า ๑,๐๐๐ ราย (https://en.wikipedia.org/wiki/Tokyo_subway_sarin_attack)

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากบทความเรื่อง "The Sarin Gas Attack in Japan and the Related Forensic Investigation" ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๑ (เผยแพร่ในหน้าเว็บของ Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.opcw.org/media-centre/news/2001/06/sarin-gas-attack-japan-and-related-forensic-investigation) บทความไม่ได้ลงชื่อผู้เขียน แต่ในเนื้อหาของบทความกล่าวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคือ Chemistry Section of National Research Institute of Police Science (NRIPS) และ Forensic Science Laboratory of Tokyo Metropolitant Police Department

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในบทความนี้คือ การสอบสวนเพื่อหาว่ากลุ่มคนดังกล่าวสามารถสังเคราะห์แก๊สซารินขึ้นมาได้อย่างไร และจะว่าไปประมาณ ๒ ปีก่อนหน้านี้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ทำการโจมตีด้วยแก๊สพิษมาแล้วหลายครั้งก่อนที่จะเกิดการโจมตีในรถไฟใต้ดิน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน https://en.wikipedia.org/wiki/Tokyo_subway_sarin_attack) มีทั้งการใช้ ซาริน, VX (เป็น nerve agent หรือสารทำลายระบบประสาทตัวหนึ่ง), และฟอสจีน (phosgene - COCl2) ซึ่งหลังเหตุการณ์เหล่านี้ถ้าการสอบสวนสามารถนำไปถึงต้นตอการผลิตได้ เหตุการณ์ในรถไฟใต้ดินนี้ก็คงไม่เกิด

รูปที่ ๑ รูปภาพจากบทความที่นำมาเขียน เป็นภาพเจ้าหน้าที่กำลังทำงานในรถไฟใต้ดินขบวนหนึ่งที่ถูกโจมตีด้วยแก๊ส

อันที่จริงซารินเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง (จุดเดือดที่ 158ºC) แต่ด้วยการที่มันมีความเป็นพิษสูง ความเข้มข้นเพียงเล็กน้อยในอากาศก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้ การเร่งการระเหยสามารถทำได้ด้วยการใช้ความร้อนและการทำให้เป็นฝอยละอองเล็ก ๆ (แบบเดียวกับถ้าเราเอาน้ำใส่กระบอกฉีดน้ำแล้วพ่นออกมาเป็นละอองฝอย น้ำจะระเหยหมดโดยไม่ตกถึงพื้น)

จากเอกสารที่ยึดได้ และการพิสูจน์หลักฐานในสถานที่ตั้งของกลุ่ม Aum Shinrikyo (สารเคมีที่พบตกค้างบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเตรียม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถสรุปขั้นตอนการเตรียมซารินที่กลุ่ม Aum Shinrikyo ใช้ออกเป็น ๕ ขั้นตอน (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ คำบรรยายขั้นตอนการสังเคราะห์

ขั้นตอนที่ ๑ เป็นการทำปฏิกิริยาระหว่าง Phosphorus trichloride (PCl3) กับเมทานอล (Methanol) เพื่อ่ผลิต Trimethylphosphite (พบ n-Hexane ที่คงใช้เป็นตัวทำละลายในอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมขั้นตอนที่ ๑ ตัวย่อ DEA คือเบส N, N-diethylaniline ที่ใช้ในการสะเทินกรดที่เกิดจากปฏิกิริยา)

ขั้นตอนที่ ๒ เป็นการเปลี่ยน Trimethylphosphite เป็น Dimethylmethylphosphonate (DMMP) ซึ่งเกิดจากการจัดเรียงตัวใหม่ของโมเลกุล Trimethylphosphate โดยใช้ความร้อน (โดยอาจมีตัวเร่งปฏิกิริยาช่วย หลักฐานที่พบจากอุปกรณ์การเตรียมในขั้นตอนที่สองคือธาตุไอโอดีน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ถ้าจะมีการใช้ Methyl Iodide CH3I ในการทำปฏฺกิริยา)

ขั้นตอนที่ ๓ เป็นการนำเอา DMMP มาทำปฏิกิริยากับ Phosphorus pentachloride (PCl5) เพื่อสังเคราะห์ Methylphosphonyl dichloride (MPA ที่พบตกค้างในอุปกรณ์คือ Methylphosphonate ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการสลายตัวของ nerve agent)

ขั้นตอนที่ ๔ เป็นการทำปฏิกิริยาระหว่าง Methylphosphonyl dichloride กับ Sodium fluoride (NaF) เพื่อสังเคราะห์ Methylphosphonyl difluoride (พบ NaCl และ NaF จากอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมขั้นตอนนี้)

ขั้นตอนที่ ๕ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นการนำเอาสารผสมระหว่าง Methylphosphonyl dichloride กับ Methylphosphonyl difluoride มาทำปฏิกิริยากับ Isopropanol ก็จะได้ซาริน (ตัวย่อสาร IMPA ที่พบตกค้างในอุปกรณ์ที่ใช้เตรียมในขั้นตอนนี้คือ Isopropylmethlphosphonate)

ซึ่งถ้านำเอาขั้นตอนต่าง ๆ มาเขียนใหม่เป็นสมการเคมีก็จะได้ดังรูปที่ ๓ ข้างล่าง

รูปที่ ๓ ถ้านำคำบรรยายในรูปที่ ๓ มาเขียนเป็นสมการก็จะได้ดังรูปข้างบน

หลังเกิดเหตุการณ์ในรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียว การสอบสวนพฤติกรรมของกลุ่มนี้นำย้อนไปยังประเทศออสเตรเลีย จากบทความที่เขียนโดย Commander Jeff Penrose เรื่อง "Western Australian link to Japanese Doomday Cult" บรรยายไว้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้ได้มาซื้อพื้นที่ห่างไกลทางภาคตะวันตกของออสเตรเลีย (รูปที่ ๔) โดยอ้างว่าจะเข้ามาทำเหมือง แล้วได้ส่งกลุ่มคนเข้ามาครอบครองพื้นที่เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากที่คนกลุ่มนี้ได้เดินทางออกไปและขอกลับเข้ามาใหม่ ก็ถูกปฏิเสธการเข้าเมือง เนื่องจากทางการออสเตรเลียสงสัยในพฤติกรรมการเข้ามาก่อนหน้า (แต่ก็ไม่ได้มีการลงตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวว่าแท้จริงแล้วมีการทำอะไรกัน)

รูปที่ ๔ สถานที่ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นสถานที่ที่ทางกลุ่ม Aum Shinrikyo ใช้ทดลองสังเคราะห์และทดสอบสารพิษที่ผลิตได้

การเข้าตรวจพื้นที่หลังเหตุการณ์ในกรุงโตเกียว พบซากสัตว์ (รูปที่ ๕) ที่คาดว่าน่าจะใช้ทดสอบสารพิษ และอาคารร้างที่คาดว่าเป็นห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการสังเคราะห์ซาริน

รูปที่ ๕ ซากสัตว์จำนวน ๒๙ ตัวที่พบในพื้นที่ที่ทางกลุ่ม Aum Shinrikyo เข้ามาใช้

สารเคมีที่ปรากฏในบทความที่เกี่ยวข้องกับสินค้า DUI ในหัวข้อ 1C350 มีดังนี้

3. Dimethyl methylphosphonate

4. Methylphosphonyl difluoride

5. Methylphosphonyl dichloride

7. Phosphorus trichloride (PCl3)

8. Trimethyl phosphite

38. Phosphorus pentachloride (PCl5)

43. Sodium fluoride (NaF)

แต่ถ้าดูจากเส้น่ทางการสังเคราะห์จะเห็นว่า สารเคมีในรายการนี้ที่ต้องจัดหามีเพียงแค่ ๓ ตัวเท่านั้นเองคือ PCl3, PCl5 และ NaF ส่วนตัวอื่นที่เหลือเป็นตัวที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารเหล่านี้กับสารเคมีที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุม (เช่น methanol, isoporpanol, methyl iodide)

เหตุการณ์นี้ให้ข้อคิดที่สำคัญบางข้อเช่น ในขณะที่มีการทุ่มความพยายามในการติดตามการส่งออกสารเคมีควบคุมไปยังประเทศต่าง ๆ ที่กลุ่มผู้ก่อตั้ง Australia Group (กลุ่มประเทศที่รวมตัวกันเพื่อควบคุมการส่งออกสารเคมีและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธเคมี) มองว่าเป็นประเทศอันตราย เพื่อไม่ให้ประเทศเหล่านั้นสามารถผลิตอาวุธเคมีขึ้นมาได้ แต่ซารินที่ใช้ในการก่อการร้ายครั้งนี้ต่างก็ถูกเตรียมขึ้นในประเทศกลุ่มผู้ก่อตั้งนี้เอง

ไม่มีความคิดเห็น: