วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิทยุคลื่นสั้น MO Memoir : Monday 16 August 2553

อาทิตย์ที่ผ่านมารถมีปัญหาตอนออกตัวมีเสียงดัง ตอนแรกนึกว่าเป็นเพราะยางรถยนต์หมดอายุเพราะมันก็ถึงกำหนดแล้ว แต่พอเปลี่ยนยางแล้วก็ยังมีเสียงดังอยู่ สุดท้ายก็เลยต้องเข้าศูนย์และพบว่าเป็นเพราะยางรองแท่นเกียร์ขาด

ทีนี้ยางรองแท่นเกียร์มันอยู่ใต้แบตเตอรี่ ก็เลยต้องมีการถอดแบตเตอรี่ออกเพื่อทำการเปลี่ยนยาง ผลที่ตามมาก็คือสถานีวิทยุที่ตั้งไว้มันหายไปหมด ต้องมาตั้งกันใหม่

จากการที่ต้องขับรถรถหว่างกรุงเทพกับชลบุรีเป็นประจำ ก็เลยตั้งสถานีเอาไว้ทั้งเขตกรุงเทพและชลบุรี บริเวณที่มักมีปัญหาคือเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะเป็นตรงกลางระหว่างกรุงเทพและชลบุรี คลื่นความถี่ตรงนี้ถ้าไม่โดนคลื่นจากกรุงเทพเข้าแทรกก็จะโดนคลื่นจากชลบุรีเข้าแทรก

โดยนิสัยแล้วเวลาขับรถมักจะชอบฟังวิทยุมากกว่าฟังเทป (รถผมไม่มีเครื่องเล่น CD หรือ MP3) เพราะมีเรื่องราวหลากหลายมากกว่า ปรกติแล้วเวลาอยู่ในตัวเมืองก็มักจะฟังวิทยุ FM แต่พอขับออกนอกตัวเมืองก็มักต้องเปลี่ยนมาเป็น AM จะได้ไม่กังวลว่าสัญญาณจะขาดหายไปเร็ว

แต่ก็มีบ่อยครั้งเหมือนกันที่ไม่ฟังทั้งเทป ทั้งวิทยุ FM AM แต่หันไปฟังวิทยุคลื่นสั้นแทน (SW ย่อมาจาก Short wave)

ผมเข้าใจว่าวัยรุ่นหนุ่มสาวในปัจจุบันคงแทบจะไม่มีใครฟังวิทยุคลื่นสั้นกันแล้ว จะว่าไปแล้ววิทยุที่ขายกันในบ้านเราก็หารุ่นที่สามารถรับฟังวิทยุคลื่นสั้นได้ก็น้อยมาก ยิ่งเป็นพวกพกพาด้วยแล้วดูเหมือนจะฟังได้แค่วิทยุ FM เท่านั้น

ตอนที่ยังเป็นเด็กนั้น ยังไม่มีการถ่ายทอดข่าวต่างประเทศผ่านดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นทางหนังสือพิมพ์หรือทางโทรทัศน์ก็ตาม ผู้ที่จะรับฟังข่าวต่างประเทศได้ทันเวลาก็ต้องฟังทางวิทยุคลื่นสั้น เช่นจาก BBC ประเทศอังกฤษเป็นต้น

วิทยุ AM ที่เรารับฟังกันนั้นจะมีความถี่อยู่ในช่วงประมาณ 540 - 1500 KHz (หรือประมาณ 1.5 MHz) ส่วนวิทยุคลื่นสั้นนั้นจะมีความถี่อยู่ในช่วงประมาณ 2-18 MHz ซึ่งเป็นช่วงความถี่สูงถัดขึ้นมาจากช่วงวิทยุ AM

แม้ว่าวิทยุ AM จะมีเสียงไม่ชัดเจนเหมือนวิทยุ FM แต่วิทยุ AM ก็ส่งได้ไกลกว่าและไม่ค่อยมีปัญหาเวลาที่เจอภูมิประเทศที่ไม่ราบเรียบ (ประเภทมีภูเขาบัง) แต่ถ้าจะส่งข้ามประเทศกันแล้วก็ต้องขยับมาใช้ช่วงความถี่ที่เราเรียกกันว่าวิทยุคลื่นสั้น (Short wave - SW)

คลื่นวิทยุคลื่นสั้นนั้นจะถูกยิงขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศโลก แล้วสะท้อนกลับลงมายังพื้นดินมาหาเครื่องรับ (ไม่เหมือนพวก AM หรือ FM ที่เป็นการส่งตรงจากเสาไปยังเครื่องรับ) ทำให้ส่งสัญญาณได้ไกลมาก เช่น BBC ส่งจากลอนดอนมากรุงเทพ หรือ VOA ส่งจากวอชิงตันมากรุงเทพ โดยที่ไม่ต้องผ่านดาวเทียม (การส่งวิทยุคลื่นสั้นข้ามทวีปมีมาก่อนมีดาวเทียมอีก)

ถ้าสังเกตหน่อยก็จะเห็นว่าแต่ละสถานีนั้นจะมีการส่งวิทยุคลื่นสั้นที่สองความถี่ด้วยกัน คือความถี่ต่ำคลื่นหนึ่งและความถี่สูงอีกคลื่นหนึ่ง สาเหตุเป็นเพราะสภาพอากาศตอนกลางวันและตอนกลางคือไม่เหมือนกัน ตอนกลางวันอากาศในชั้นไอโอโนสเฟียร์ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มีการแตกตัวเป็นไอออน ก็จะสะท้อนคลื่นที่ความถี่หนึ่งได้ดี แต่พอกลางคือไม่มีการแตกตัวเป็นไอออนก็จะสะท้อนคลื่นอีกความถี่หนึ่งได้ดี

การฟังวิทยุคลื่นสั้นก็มีข้อดีตรงที่สามารถรับรู้ข้อมูลจากประเทศอื่นได้โดยที่ไม่ต้องผ่านสำนักข่าวของประเทศทางยุโรปหรืออเมริกา ในประเทศเรานั้นอาจกล่าวได้ว่าข่าวต่างประเทศเกือบทั้งหมดซื้อมาจากสำนักข่าวของอเมริกาหรือยุโรป (เช่น BBC ของอังกฤษหรือ AFP ของฝรั่งเศส) หรือบางครั้งทางโทรทัศน์ก็เป็นจากออสเตรเลีย (ซึ่งมีมุมมองแบบเดียวกันกับอเมริกาและอังกฤษ) หรือไม่ก็เยอรมัน (DW) ที่เห็นว่ามีการนำข่าวจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่พวกนี้มานำเสนอก็เห็นมีแต่เว็ปผู้จัดการที่มีคอลัมน์ข่าวจากประเทศจีนและย่านอาเซียน (เน้น เวียดนาม ลาว และกัมพูชา)

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมฟังวิทยุคลื่นสั้นตอนขับรถคือไม่ต้องกังวลว่าวิ่งไปเรื่อย ๆ แล้วสัญญาณมันจะขาดหาย เวลาขับรถต่างจังหวัดนี่เรียกว่าต้องเปลี่ยนคลื่นความถี่วิทยุทุก ๆ 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง เพราะพอออกนอกพื้นที่แต่ละครั้งสัญญาณก็หายไปแล้ว ไม่เหมือนวิทยุคลื่นสั้นที่มันมีสัญญาณอยู่ตลอด ที่ฟังอยู่บ่อยครั้งเห็นจะได้แก่วิทยุ CRI จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ช่วง 6 โมงครึ่งตอนเย็นจะเป็นภาคภาษาไทยไปจนถึงทุ่มครึ่ง จากทุ่มครึ่งถึงสองทุ่มครึ่งจะเป็นภาคภาษาลาว และจากสองทุ่มครึ่งถึงสามทุ่มครึ่งจะเป็นภาคภาษาไทยอีกครั้ง (เอาช่วง 6 โมงครึ่งมาออกอากาศใหม่)

แต่สิ่งที่ต้องทำใจในการรับฟังวิทยุคลื่นสั้นคือคุณภาพเสียง มันห่วยจริง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น: