จำนวนสารเคมีที่จัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางในหมวด 1C350 (พวกที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธเคมี) เพิ่มจาก ๖๕ รายการในฉบับปีค.ศ. ๒๐๑๙ (พ.ศ. ๒๕๖๒) เป็น ๘๙ รายการในฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖) และในฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๔ (พ.ศ. ๒๕๖๗) ก็มีการเพิ่มอีกหนึ่งรายการเป็นลำดับที่ 90 สารลำดับสุดท้ายที่เพิ่มเข้ามาคือไดโพรพิลเอมีน (Dipropylamine)
อันที่จริงสารอัลคิลเอมีนที่คล้ายกันที่ถูกจัดให้เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางก่อนหน้าก็มีลำดับที่ 48 ไดไอโซโพรพิลเอมีน (Diisopropylamine) และลำดับที่ 64 ไดเอทิลเอมีน (Diethylamine) ซึ่งสารสองตัวนี้มีปรากฏชัดในโครงสร้างโมเลกุลของ nerve agent (สารทำลายระบบประสาท) ใน V-series ดังแสดงในรูปที่ ๑
ในเอกสาร Australia Group Common Control List Handbook Volume 1 : Chemical Weapons-Related Common Control Lists, Revision 8 เดือนมกราคม ค.ศ. ๒๐๒๔ ได้เพิ่มไดโพรพิลเอมีนเข้ามาเป็นรายการที่ 90 (รูปที่ ๒) โดยบอกว่าเป็นสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิต nerve agent
แต่ส่วนตัวก็มีคำถามที่สงสัยคือ มันไปอยู่ใน nerve agent ตัวไหน
เมื่อลองค้นสูตรโครงสร้างโมเลกุลของสารต่าง ๆ ในหมวด 1C350 ก็พบว่ามีโครงสร้างไดอัลคิลเอมีนปรากฏอยู่ในลำดับที่ 89 คือสารเอ็น,เอ็น-ไดโพรไลโซบิวตานาไมไดน์ในรูปที่ ๓ ที่ถูกระบุว่าเป็นสารตั้งต้นในการผลิต nerve agent (การอ่านนี้นำมาจากฉบับแปลไทยที่กรมการค้าต่างประเทศจัดทำขึ้น โดยส่วนตัวเห็นว่าควรอ่านเป็น -ไดโพรพิลไอโซบิวทานามิดีน มากกว่า เพราะมันตรงกับสูตรโครงสร้างโมเลกุลของสารที่ต่ออยู่กับอะตอม N)
เมื่อลองค้นสูตรโครงสร้างโมเลกุลของ nerve agent ต่าง ๆ ใน V-series ก็ไม่เห็นว่าจะมีโครงสร้างไดโพรพิลให้เห็น แต่พอไปดูเรื่องการสังเคราะห์ก็พบว่ามีปรากฏอยู่ ดังเช่นบทความในรูปที่ ๔ ที่กล่าวถึงวิธีการสังเคราะห์ nerve agent ใน V-series ซึ่งจะว่าไปแล้วความแตกต่างของแต่ละตัวอยู่ตรงที่ หมู่ R1 ที่เกาะอยู่กับอะตอม O ที่เกาะอยู่กับอะตอม P, (X) ที่อาจเป็นอะตอม O หรือ S (ที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็น S), และหมู่ R2 และ R3
การสังเคราะห์อาวุธเคมีในตระกูลนี้มันมาจากการคิดค้นหายาฆ่าแมลง ตัวไหนที่มีพิษสูงเกินไปก็ไม่นำออกขายในท้องตลาด (แต่ทางทหารนำไปวิจัยต่อเพื่อใช้เป็นอาวุธ) นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาถึงระยะเวลาการสลายตัวด้วย เพราะถ้าตกค้างนานเกินไปก็ไม่ดี เพราะจะทำให้ไม่สามารถใช้พื้นที่นั้นในการทำประโยชน์อะไรได้
เหตุผลหนึ่งที่มีการเปิดเผยวิธีการสังเคราะห์สารเหล่านี้คงเป็นเพราะว่าสารเหล่านี้มันหาซื้อไม่ได้ แต่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการศึกษาหายาที่ใช้รักษา แต่ในขณะเดียวกันมันก็เปิดให้หาทางสังเคราะห์สารตัวใหม่ที่สามารถหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ป้องกันหรือยารักษาที่ฝ่ายตรงข้ามใช้อยู่ (ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่มีการใช้อาวุธเคมีหลายหลายก็ด้วยเหตุผลนี้ คือพอฝ่ายตรงข้ามสามารถป้องกันสารเคมีตัวเดิมที่ใช้อยู่ได้ ก็ต้องหาสารใหม่ที่อุปกรณ์ป้องกันของฝ่ายตรงข้ามนั้นไม่สามารถป้องกันได้)
สำหรับฉบับนี้ก็คงจบลงแค่นี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น