วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ถังความดัน หอ stripper และการลดอุณหภูมิเนื่องจากการระเหยของของเหลว

การเลือกวิธีการเก็บสำรองสารที่มีสถานะเป็นแก๊สที่อุณหภูมิห้องและความดันบรรยากาศ (ซึ่งอาจเป็นสารตั้งต้นหรือผลิตภัณฑ์) ในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นจะพิจารณาจากปริมาณที่ต้องการเก็บสำรองและคุณสมบัติของแก๊ส
  
การที่จะทำให้แก๊สชนิดใดเป็นของเหลวได้ด้วยการเพิ่มความดันนั้น อุณหภูมิของแก๊สนั้นจะต้องต่ำกว่าค่า "อุณหภูมิวิกฤต (critical temperature)" ของแก๊สนั้น ดังนั้นแก๊สใดก็ตามที่มีค่าอุณหภูมิวิกฤตสูงกว่าอุณหภูมิห้อง เราจะไม่สามารถใช้การเพิ่มความดันเพื่อทำให้แก๊สนั้นเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ ตัวอย่างของแก๊สนี้ได้แก่แก๊สมีเทนที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ ที่ใช้ความดันสูงถึง 200 bar ก็ยังคงเป็นแก๊สอยู่ ดังนั้นถ้าต้องการเก็บสำรองแก๊สประเภทนี้ในจำนวนไม่มาก ก็จะใช้การเก็บในถังความดันสูง (ถังจะมีความหนาของผนังมาก) แต่ถ้าต้องการเก็บสำรองในปริมาณมาก ก็จะใช้การเก็บในถัง cryogenic type (ลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่าจุดเดือดของสารนั้นที่อุณหภูมิห้อง) ตัวอย่างของการเก็บแก๊สประเภทนี้ได้แก่ถังเก็บแก๊สธรรมชาติเหลว (Liquified Natural Gas - LNG)
 
แต่ถ้าแก๊สนั้นมีอุณหภูมิวิกฤตสูงกว่าอุณหภูมิห้อง เราจะสามารถใช้ความดันอัดให้แก๊สนั้นเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ ส่วนความดันที่ต้องใช้นั้นจะมากน้อยเท่าใดก็ขึ้นอยู่ว่าค่าอุณหภูมิวิกฤตสูงกว่าอุณหภูมิห้องมากน้อยเท่าใด แก๊สที่มีค่าอุณหภูมิวิกฤตสูงกว่าอุณหภูมิห้องมาก ก็จะใช้ความดันที่ต่ำลงในการอัดให้แก๊สนั้นเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง (อุณหภูมิวิกฤตของ C3H8 คือ 96ºC และของ n-C4H10 คือ 152ºC)

รูปที่ ๑ ตัวอย่างรูปแบบถังเก็บแก๊สที่สามารถอัดให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ (บน) ถังเก็บแก๊สชนิด bullet type โดยปรกติมักจะวางนอน (ล่าง) ถังเก็บแก๊สชนิด spherical type 
  
แต่ถ้าแก๊สนั้นมีอุณหภูมิวิกฤตสูงกว่าอุณหภูมิห้อง เราจะสามารถใช้ความดันอัดให้แก๊สนั้นเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ ส่วนความดันที่ต้องใช้นั้นจะมากน้อยเท่าใดก็ขึ้นอยู่ว่าค่าอุณหภูมิวิกฤตสูงกว่าอุณหภูมิห้องมากน้อยเท่าใด แก๊สที่มีค่าอุณหภูมิวิกฤตสูงกว่าอุณหภูมิห้องมาก ก็จะใช้ความดันที่ต่ำลงในการอัดให้แก๊สนั้นเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง 
  
แก๊สหุงต้มหรือที่เราเรียกย่อว่า LPG (ย่อมาจาก Liquified Petroleum Gas) นั้นเป็นแก๊สที่สามารถใช้ความดันอัดให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ (อุณหภูมิวิกฤตของ C3H8 คือ 96ºC และของ n-C4H10 คือ 152ºC) การเก็บแก๊สชนิดนี้ในอุตสาหกรรมนั้น ถ้าเก็บในปริมาณไม่มากนักจะเก็บในถังความดันทรงกระบอกวางนอนที่เรียกว่า bullet type แต่ถ้าเก็บในปริมาณที่มากขึ้นไปอีกก็จะใช้ถังความดันทรงกลมที่เราเรียกว่าถังลูกโลกหรือ spherical type (ดูรูปที่ ๑) ถัง spherical type แม้ว่าจะสร้างยากกว่าถังชนิด bullet type แต่ก็มีข้อดีตรงที่ที่ความดันเดียวกันและขนาดถังระดับเดียวกัน ความเค้นในเนื้อโลหะของผนังถังจะต่ำกว่าของถังชนิด bullet type ทำให้โลหะที่ใช้ทำผนังถังนั้นมีความหนาน้อยกว่าของถังชนิด bullet type จึงทำให้ถังความดันขนาดที่ใหญ่นั้นนิยมสร้างในรูปแบบ spherical type
  
แต่ถ้าต้องการเก็บในปริมาณที่มากขึ้นไปอีก การใช้ถังชนิด cryogenic type จะเหมาะสมกว่า

ในกระบวนการกลั่นน้ำมันนั้น การให้ความร้อนแก่น้ำมันที่ทำการกลั่นอยู่ในหอกลั่นกระทำได้โดยการให้ความร้อนผ่านหม้อต้ม (reboiler) ที่อยู่ทางด้านล่างของหอ และ/หรือการฉีดไอน้ำเข้าไปในน้ำมันที่ทำการกลั่นโดยตรง การฉีดไอน้ำเข้าไปในน้ำมันโดยตรงนั้น การฉีดไอน้ำเข้าไปในน้ำมันโดยตรงนั้นมักจะกระทำที่ stripping column มากกว่า (stripping column คือคอลัมน์เล็ก ๆ ที่อยู่ข้างหอกลั่นหลัก ใช้ควบคุมคุณภาพน้ำมันที่ดึงออกทางข้างหอ เช่นถ้าเป็นstripping column สำหรับน้ำมันก๊าด (kerosene) ถ้าพบว่าน้ำมันก๊าดที่ดึงออกมาทางข้างหอนั้นมีปริมาณ gasoline ผสมอยู่มากเกินไป ก็จะทำการฉีดไอน้ำเข้าไปที่ stripping column นี้ เพื่อไล่ส่วนที่เป็น gasoline (ที่มีจุดเดือดต่ำกว่า) ให้ระเหยกลับไปยังหอกลั่นหลักใหม่ (ดูรูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ แผนผังการทำงานของหอ stripper ที่ใช้ในการควบคุมปริมาณส่วนที่มีจุดเดือดต่ำในผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ดึงออกทางข้างหอกลั่นหลัก
  
ไอน้ำที่ฉีดเข้าไปนี้บางส่วนอาจหลุดรอดติดไปกับผลิตภัณฑ์น้ำมันไปจนถึงถังเก็บ เนื่องจากน้ำนั้นไม่ผสมเป็นเนื้อเดียวกับไฮโดรคาร์บอนที่เป็นของเหลว และน้ำยังมีความหนาแน่นที่สูงกว่า ดังนั้นเมื่อไอน้ำหลุดรอดไปจนถึงถังเก็บก็จะควบแน่นเป็นน้ำที่เป็นของเหลวและสะสมอยู่ที่ก้นถัง ทำให้ต้องมีการระบายน้ำทิ้งออกจากก้นถังเป็นระยะ
  
นี่คือคำอธิบายหนึ่งที่ว่าทำไมในถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงหรือแก๊สหุงต้มที่ได้จากการกลั่น จึงมีอาจมีน้ำเข้าไปอยู่ในถังเหล่านั้นได้

ในการระบายน้ำที่ก้นถังเก็บทิ้ง พนักงานจะต้องไปเปิดวาล์วที่อยู่ที่ก้นถังเก็บเพื่อระบายน้ำออก และเมื่อเริ่มมีน้ำมันหลุดปนมากับน้ำที่ปล่อยออกก็แสดงว่าระบายน้ำออกจากถังเก็บเกือบหมดแล้ว ก็ปิดวาล์วระบายนั้น ในกรณีของผลิตภัณฑ์ไฮโดรคาร์บอนที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องนั้น ไฮโดรคาร์บอนที่หลุดรอดปนออกมากับน้ำไม่ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิใด ๆ ในขณะที่ไหลผ่านวาล์วระบายน้ำทิ้ง (ซึ่งอาจต้องมีการหรี่วาล์วเมื่อระบายน้ำใกล้หมด เพื่อไม่ให้มีไฮโดรคาร์บอนหลุดรอดออกมามากเกินไป)
  
แต่ถ้าเป็นกรณีของสารที่ปรกติจะเป็นแก๊สที่อุณหภูมิห้องแต่เก็บเป็นของเหลวภายใต้ความดันที่อุณหภูมิห้อง (เช่นแก๊ส LPG สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น) ในสภาพที่อยู่ภายใต้ความดันจะเป็นของเหลว แต่เมื่อไหลผ่านช่องทางการไหลขนาดเล็ก (เช่นรูขนาดเล็ก วาล์วลดความดัน หรือวาล์วเปิด-ปิดที่เปิดเพียงเล็กน้อย) ความดันจะลดต่ำลง สารนั้นก็จะเปลี่ยนสภาพจากของเหลวกลับกลายเป็นแก๊ส ในการเปลี่ยนสภาพนี้จะมีการดึงเอาความร้อนจากรอบข้างเข้าไป ทำให้อุณหภูมิรอบข้างนั้นลดลง ในกรณีของแก๊ส LPG ถ้าแก๊สที่ไหลออกมานั้นมีน้ำปนอยู่ด้วยและถ้าอุณหภูมิลดต่ำลงมากพอ ก็จะทำให้น้ำที่เดิมเป็นของเหลวที่ไหลผ่านวาล์วร่วมกับแก๊สนั้นแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็งอุดตันท่อระบายน้ำทิ้งได้ ถ้าการอุดตันดังกล่าวเกิดขึ้นที่ตัววาล์ว ก็จะทำให้ไม่สามารถปิดวาล์วได้

นี่คือจุดเริ่มต้นของการระเบิดครั้งใหญ่ของถังเก็บแก๊ส LPG ณ เมือง Feyzin ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ ๔ มกราคม ปีพ.. ๒๕๐๙ (รูปที่ ๓) และทำให้ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า BLEVE (ย่อมาจาก Boiling Liquid Expansion Vapour Explosion) เป็นที่รู้จักกัน เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่เรียนกันทั่วไปในวงการวิชาชีพวิศวกรรมเคมี


รูปที่ ๓ ภาพถัง butane (ชนิด spherical tank) หมายเลข 462 กำลังเผาไหม้จากการระเบิด ณ เมือง Feyzin
(จาก BLEVE in an LPG storage facility at a rafinery January 4, 1966 Feyzin France, sheet updated Feb 2008.
http://www.aria.developpement-durable.gouv.fr/ressources/1_feyzin_gc_ang.pdf)

วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เหตุเกิด ๒๒ มิถุนายน (Barbarossa และ Bagration) MO Memoir : Saturday 22 June 2556

"When Barbarossa begins, the world will hold its breath." เป็นคำกล่าวของ Adolf Hiter ในที่ประชุม OKW ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ปีค.. ๑๙๔๑ (.. ๒๔๘๔)

ช่วงเวลานี้ของปีจัดว่าเป็นฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะพวกที่อยู่ใกล้ขั้วโลก เช่นยุโรป อากาศช่วงนี้จะอบอุ่นและระยะเวลาช่วงกลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน
 
ในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองในสมรภูมิยุโรปตะวันออก ช่วงฤดูร้อนจัดเป็นช่วงที่มีการรบกันอย่างดุเดือดขนานใหญ่ และมีปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือวันที่ ๒๒ มิถุนายน แต่แตกต่างกัน ๓ ปี

ปฏิบัติการ Barbarossa หรือ Operation Barbarossa นี้จัดเป็นปฏิบัติการทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การรบของมวลมนุษย์ชาติ มีกำลังพลเข้าร่วมรบมากที่สุด และมีแนวรบยาวที่สุด คือจากทะเลบอลติกทางด้านเหนือไปจนจรดทะเลดำทางด้านใต้ เมื่อกองทัพเยอรมัน ๓ กลุ่มกองทัพคือ Army Group North, Army Group Centre และ Army Group South รวมกำลังกว่า ๓ ล้านนายบุกเข้าโจมตีดินแดนทางตะวันตกของรัสเซียที่มีทหารประจำการอยู่ในจำนวนพอ ๆ กัน ปฏิบัติการดังกล่าวนำไปสู่การรบต่อเนื่องที่มีการนองเลือดที่มีการสูญเสียชีวิตมากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อสงครามสิ้นสุด คือจำนวนผู้เสียชีวิตในสมรภูมิด้านยุโรปตะวันออกนี้มากกว่าผู้เสียชีวิตในสมรภูมิอื่นของสงครามโลกครั้งที่สองรวมกันทั้งหมด
 
ในบรรดา Army Group ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในปฏิบัติการ Barbarossa นั้น Army Group Centre จัดว่าเป็นกองกำลังที่มีแสนยานุภาพมากที่สุด และได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้เข้าตีกรุงมอสโคว์ แต่ไม่สำเร็จ ในช่วงฤดูร้อนของปีค.ศ. ๑๙๔๒ นั้นกองทัพเยอรมันได้หันไปทุ่มเทให้กับแนวรบด้านทิศใต้ คือการบุกเข้ายูเครนเพื่อเข้าครอบครองพื้นที่การเกษตรและแหล่งถ่านหินในยูเครน และแหล่งน้ำมันในคอเคซัส การบุกในปีนี้ซึ่งนำไปสู่การสู้รบที่เมือง Stalingrad ก่อนที่จะถูกตีโต้กลับในเดือนพฤศจิกายนจนถอยร่นกลับมายังแนวเริ่มต้นในช่วงต้นปีค.ศ. ๑๙๔๓ นายพล Paulus ผู้บังคับบัญชา 6th Army ได้รับการเลื่อนยศจากฮิตเลอร์ให้เป็นจอมพล พร้อมกับกล่าวว่าในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีจอมพลเยอรมันถูกจับเป็นเชลย นั่นหมายถึงต้องการให้จอมพล Paulus ฆ่าตัวตาย (แต่เขาไม่บ้าพอที่จะทำ)

"How many people do you think even know where Kursk is? It's a matter of profound indifference to the world whether we hold Kursk or not." คือความเห็นของนายพล Guderian ต่อปฏิบัติการ Citadel

ปฏิบัติการ Citadel (หรือ Zitadelle) หรือ Battle of Kursk ซึ่งเริ่มในวันที่ ๔ กรกฎาคมจัดได้ว่าเป็นการรบที่ดุเดือดที่สุดในปีค.ศ. ๑๙๔๓ การรบดังกล่าวนำไปสู่สมรภูมิการรบด้วยรถถังครั้งใหญ่ที่สุดของโลก (และคงไม่มีโอกาสเกิดอีกแล้ว) ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม เมื่อรถถังและยานเกราะจากทั้งสองฝ่ายร่วม ๒,๐๐๐ คันเข้าร่วมรบในวันเดียวที่สมรภูมิเมือง Prokhorovka การรบครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทางกองทัพรัสเซียไม่สามารถเพียงแต่ยันการบุกของเยอรมันในฤดูร้อนเอาไว้ได้ แต่ยังสามารถทำการตีโต้ให้กองทัพเยอรมันถอยร่นไปได้ด้วย

รูปที่ ๑ ส่วนหนึ่งของหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงครามที่สะสมไว้ (กว่า ๕๐ เล่ม)
(แถวซ้าย) เล่มบน "Barbarossa : The Russia-German Conflict 1941-45" โดย Alan Clark เขียนในปึ ๑๙๖๕ แต่เล่มที่ผมมีพิมพ์ในปี ๒๐๑๒ ถือเป็นการเปิดฉากตั้งแต่เริ่มบุกไปจนถึงการหยุดอยู่หน้ากรุงมอสโคว์ ส่วนเล่มล่าง "The Retreat : Hitler's first defeat" โดย Michael Jones พิมพ์ในปี ๒๐๐๙ เมื่อความหนาวมาเยือนที่ -40 องศา น้ำมันหล่อลื่นกลายเป็นของแข็ง ทหารยามยืนแข็งตายโดยไม่รู้ตัว กองทัพเยอรมันที่ไปถึงหน้าประตูกรุงมอสโคว์จึงต้องถอยกลับมาตั้งหลัก
(แถวกลาง) เล่มบน "Stalingrad" โดย Anthony Beever พิมพ์ครั้งแรกปี ๑๙๙๘ แต่เล่มที่ผมมีพิมพ์ปี ๒๐๑๑ ทหารเกือบหนึ่งแสนของ 6th Army ที่ถูกปิดล้อมที่เมืองนี้เหลือเพียงไม่ถึงห้าพันนายที่มีชีวิตได้กลับบ้านหลังสงครามสิ้นสุด ส่วนเล่มล่าง "The Battle of Kursk" เขียนโดยพันเอก David. Glantz และ Jonathan House พิมพ์ปี ๑๙๙๙ ทำการวิเคราะห์สงครามรถถังครั้งใหญ่สุดของโลก ทั้งสองเล่มนี้มีการใช้ข้อมูลที่เพิ่งจะได้รับการเปิดเผยจากทางฝั่งรัสเซียหลังจากรัสเซียเปิดประเทศ
(แถวขวา) เล่มบน "Hitler's Greatest Defeat : The collapse of army group centre, June 1944" โดย Paul Adair พิมพ์ปี ๑๙๙๔ ปฏิบัติการของกองทัพรัสเซียในแผนยุทธการ "Bagration" ในเดือนเดียวกับพันธมิตรชาติตะวันตกยกพลขึ้นบกที่ฝรั่งเศส ทัพรัสเซียจัดการทัพเยอรมันไปกว่าสามแสนนายในขณะที่พันธมิตรตะวันตกยังหาทางออกจากหาดไม่ได้ ส่วนเล่มล่าง "Battleground Prussia : The assault on Germany's eastern front 1944-45" โดย Prit Buttar พิมพ์ปี ๒๐๑๒ บรรยายโศกนาฏกรรมของชาวเยอรมันในปรัสเซียเมื่อทัพรัสเซียเป็นฝ่ายเข้ามาเหยียบดินแดนเยอรมัน

ปลายปีค.ศ. ๑๙๔๓ เป็นการถอยร่นครั้งใหญ่ของกองทัพเยอรมันในแนวรบด้านทิศใต้จากดินแดนรัสเซียมาทางตะวันตก ต่อเนื่องมาจนช่วงต้นปีค.ศ. ๑๙๔๔ นำไปสู่การปลดจอมพล Erich von Manstein ออกจากตำแหน่ง ในขณะที่แนวรบด้านทิศเหนือในส่วนของ Army Group North และ Army Group Centre นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
 
มิถุนายนปีค.ศ. ๑๙๔๔ ในขณะที่ชาติพันธมิตรตะวันตกชอบที่จะกล่าวถึงแต่ปฏิบัติ Overlord หรือการยกพลขึ้นบกในวัน D-Day 6 มิถุนายนที่หาดนอร์มังดีประเทศฝรั่งเศส แต่ปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวจัดว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสิ่งที่กองทัพรัสเซียกำลังจะกระทำต่อ Army Group Centre ของเยอรมันในปฏิบัติการ Bagration ที่เริ่มในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ในปฏิบัติการ Bagration นี้กองทัพรัสเซียใช้กำลังทหารกว่าสองล้านนายเข้าจัดการกับ Army Group Centre ผลคือ Army Group Centre ถูกทำลายโดยสูญเสียทหารไปกว่าสามแสนนายหรือประมาณ ๒๘ กองพลจาก ๓๔ กองพล เป็นความเสียหายที่สูงกว่า Stalingrand หลายเท่า ยังผลให้แนวรบด้านตะวันออกนี้ทัพเยอรมันต้องถอยร่นจาก Bellorussia (หรือ White russia หรือเบลลารุสในปัจจุบัน) กลับเข้าไปในโปแลนด์ แคว้นปรัสเซียของเยอรมัน และรัฐทางแถบทะเลบอลติก (เอสทัวเนีย ลิทัวเนีย และลัตเวีย)
 
ปฏิบัติการต่อเนื่องจากปฏิบัติการ Bagration คือการรบเพื่อตัดขาดปรัสเซียจากเยอรมัน แนวรบด้านนี้จัดเป็นแนวรบแรกที่ทหารเยอรมันต้องทำการรบในดินแดนของตนเอง การรบในดินแดนนี้ก่อให้เกิดการอพยพของประชาชนเยอรมันจำนวนมากจากปรัสเซียไปยังเยอรมัน ในช่วงท้ายของสงคราม ทหารเยอรมันทำการรบเพื่อหน่วงเวลาให้ทางกองทัพเรืออพยพประชาชนออกไปให้ได้มากที่สุด อาจจัดได้ว่าเป็นสมรภูมิแหล่งสุดท้ายที่ทหารเยอรมันยอมวางอาวุธ และเมื่อสงครามสิ้นสุดก็ได้มีการอพยพชาวเยอรมันที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้ออกไปจากดินแดนดังกล่าวจนหมด

๒๒ มิถุนายนปีนี้เป็นวันครบรอบ ๗๒ ปีของปฏิบัติการ Barbarossa ที่ได้เปลี่ยนโฉมยุโรปไปตลอดกาล และครบรอบ ๖๙ ปีของปฏิบัติการ Bagration ที่กองทัพรัสเซียทำการล้างแค้นกองทัพเยอรมัน

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชนิดของคอลัมน์ GC MO Memoir : Thursday 20 June 2556

เอกสารนี้ทำขึ้นเพื่อให้รู้จักรูปแบบต่าง ๆ ของคอลัมน์ GC ที่มีใช้ในห้องแลปของเรา 
  
คอลัมน์เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟ ในคอลัมน์จะบรรจุสารที่เป็นตัวดูดซับที่ทำหน้าที่แยกสาร สารดูดซับนี้อาจจะอยู่ในรูปผงของแข็งบรรจุอยู่ในคอลัมน์ที่เราเรียกว่า packed column หรือเป็นชั้นฟิลม์เคลือบอยู่บนผิวด้านในของคอลัมน์ในคอลัมน์ที่เรียกว่า capillary column การแยกสารจะทำได้หรือไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของสารดูดซับที่บรรจุอยู่ในคอลัมน์เป็นสำคัญ 
   
วัสดุที่ใช้ทำคอลัมน์ก็มีส่วนในการแยกสารด้วย โดยหลักก็คือวัสดุที่ใช้นั้นไม่ควรที่ดูดซับสารใด ๆ โลหะเป็นวัสดุที่นำความร้อนได้ดีและไม่ต้องกังวลเรื่องการแตกหัก (ในกรณีที่มีการถอดเข้าออกบ่อย ๆ) โลหะที่ใช้ทำคอลัมน์นั้นจะแตกต่างไปจากโลหะที่ใช้ทำท่อทั่วไป คือโลหะที่ใช้ทำคอลัมน์จะผ่านกระบวนการเพื่อทำให้ผิวด้านในนั้นมีความเฉื่อยมากขึ้น เพื่อลดการดูดซับสารตัวอย่างบนพื้นผิว แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องการดูดซับมากก็คงต้องหันไปหาคอลัมน์ที่ทำจากแก้ว
  
ส่วนในแลปเรานั้นมีคอลัมน์รูปแบบใดบ้างนั้นก็ดูรูปแต่ละรูปเอาเองก็แล้วกัน

รูปที่ ๑ Packed column ทำจาก stainless steel รูปนี้ถ่ายจากเครื่อง Shimadzu GC-8A ที่ติดตั้งตัวตรวจวัดชนิด TCD (Thermal conductivity detector)

รูปที่ ๒ Packed column ทำจากแก้ว รูปนี้ถ่ายจากเครื่อง Shimadzu GC-8A ที่ติดตั้งตัวตรวจวัดชนิด FID (Flame ionisation detector)

รูปที่ ๓ Micro packed column รูปนี้ถ่ายจากเครื่อง Shimadzu GC-2014 ที่ติดตั้งตัวตรวจวัดชนิด FPD (Flame photometric detector)

รูปที่ ๔ ระบบ packed column อันยุ่งเหยิงสำหรับวัด NH3 NO และ N2O ที่ติดตั้งอยู่กับเครื่อง Shimadzu GC-2014 ที่ติดตั้งตัวตรวจวัดชนิด ECD (Electron capture detector) และ PDD (Pulsed discharge detector)
  
รูปที่ ๕ Capillary column ขนาด OD 0.32 mm ยาว 30 m ติดตั้งอยู่กับเครื่อง Shimadzu GC-2010 ที่ติดตั้งตัวตรวจวัดชนิด FID (Flame ionisation detector) คอลัมน์นี้ใช้วิเคราะห์ ester ที่ได้จากการสังเคราะห์ไบโอดีเซล
  
จุดเด่นของ packed column คือสามารถรองรับตัวอย่างในปริมาณมากได้ (ยกเว้น micro packed column นะ) แต่พีคที่ได้ค่อนข้างจะกว้าง ดังนั้นจะไม่ค่อยเหมาะกับการแยกสารตัวอย่างที่มีสารมากมายหลายชนิดปนกันอยู่ ในกรณีที่สารตัวอย่างมีสารปนกันอยู่มากมายหลายชนิด การใช้ capillary column จะเหมาะสมมากกว่า capillary column นั้นจะมีความยาวที่มาก (มักจะเกิน 10 เมตร และบางชนิดอาจจะยาวในระดับ 100 เมตรก็ได้) จุดเด่นของ capillary column คือให้พีคที่มีความคม ไม่แผ่กว้างมากเหมือน packed column แต่คอลัมน์ชนิดนี้รับสารตัวอย่างได้ในปริมาณน้อย ๆ ดังนั้นจึงต้องมีการระบายสารตัวอย่างที่ฉีดเข้าไปนั้นทิ้งไปส่วนหนึ่ง อัตราส่วนปริมาณสารตัวอย่างที่ต้องทิ้งไปต่อปริมาณสารตัวอย่างที่ไหลเข้าคอลัมน์เรียก split ratio เช่นค่า split ratio 100 หมายถึงระบายตัวอย่างทิ้ง 100 ส่วน ป้อนเข้าคอลัมน์เพียง 1 ส่วน ค่า split ratio นี้เห็นหลายคนในแลปไม่สนใจ หรือไม่ก็ไม่รู้ด้วยว่ามันมี ทั้ง ๆ ที่ค่านี้มันส่งผลต่อขนาดพื้นที่พีคที่ได้
  
micro packed column ที่กลุ่มเรามีใช้กับเครื่อง GC-2014 FPD ที่ใช้วัด SO2 นั้นใช้การฉีดตัวอย่างด้วย sampling valve ขนาด sampling loop ที่ติดตั้งมาให้ตอนแรกนั้นมีขนาด 0.5 ml แต่พอทดสอบเข้าจริงปรากฏว่าคอลัมน์ไม่สามารถรองรับตัวอย่างในปริมาณนั้นได้ เลยต้องลดขนาด sampling loop ลงเหลือ 0.1 ml จึงพบว่าคอลัมน์ทำงานได้ดีขึ้น (ดู Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๗๐ วันพุธที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เรื่อง "GC-2014 FPD กับระบบ DeNOx ตอนที่ ๓ 0.1 ml") แสดงว่าความสามารถในการรับตัวอย่างของ micro packed column นี้อยู่ระหว่าง packed column กับ capillary column
  
รูปร่างของ packed column นั้นขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อของเครื่อง GC เป็นเรื่องปรกติที่จะเห็นเครื่อง GC ของบริษัทเดียวกันแต่ต่างรุ่นกันใช้คอลัมน์รูปร่างต่างกัน ดังนั้นเวลาที่จะสั่งซื้อคอลัมน์ GC นั้นจึงมักต้องระบุรุ่นและยี่ห้อของเครื่องที่ใช้ด้วย เว้นแต่ capillary column ที่มันมาเป็นขดม้วนมาเป็นวง แต่ก็ต้องระบุรุ่น GC อยู่ดีไม่เช่นนั้นอาจได้มาเป็นวงที่มีขนาดที่ไม่สามารถใส่เข้าไปใน oven ได้

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การแก้ปัญหา packing ในคอลัมน์ GC อัดตัวแน่น (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๔๗) MO Memoir : Wednesay 19 June 2556

ผมผัดผ่อนไว้หลายวันว่าจะลงไปดูปัญหาความดันขาเข้าของ carrier gas แกว่งไปมาของเครื่อง GC-8A ที่สาวเมืองขุนแผนใช้อยู่ เพิ่งจะมีบ่ายวันนี้ที่มีเวลาว่างลงไปดูแล
  
เครื่องนี้เราใช้ packed column ทำจากแก้ว ปัญหาที่ได้รับแจ้งมาคือปรกติความดัน carrier gas ด้านขาเข้าจะตั้งไว้ที่ 75 kPa แต่พบว่าในบางช่วงขณะนั้น (เช่นตอนที่เพิ่มอุณหภูมิ oven) จะเห็นความดันด้านขาเข้ากระโดดสูงขึ้น และตกกลับลงมา และก็มีปัญหาเวลาที่พีคออกมานั้นเปลี่ยนแปลงไป (ออกมาช้าลง)
  
สิ่งที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุคือ packing ในคอลัมน์ GC นั้นเมื่อผ่านการใช้งานไปนาน ๆ จะอัดตัวกันแน่นขึ้น โดยตัว packing เองนั้นจะถูกความดันแก๊สด้านขาเข้าดันให้เคลื่อนตัวไปยังด้านขาออก แต่เนื่องจาก packing ไม่สามารถเคลื่อนตัวออกจากคอลัมน์ได้ จึงทำให้เกิดการอัดตัวกันแน่นขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อใช้อุณหภูมิการวิเคราะห์ที่สูง carrier gas จะไหลผ่านได้ยากขึ้น (แก๊สร้อนจะมีความหนืดสูงกว่าแก๊สที่เย็นกว่า) สิ่งที่จะเกิดก็คือเมื่อแก๊สไหลผ่านคอลัมน์ได้ไม่สะดวก จะทำให้ความดันด้านขาออกของ pressure regulator (ที่เราใช้ปรับความดันแก๊สจ่ายเข้าคอลัมน์ โดยความดันด้านขาอออกของ pressure regulator ก็คือความดันด้านขาเข้าคอลัมน์) เพิ่มสูงขึ้น 
   
เมื่อความดันด้านขาออกจาก pressure regulator เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ pressure regulator ทำก็คือมันจะปิดตัวเองลง และปล่อยให้ด้านขาออกนั้นความดันตกลงเข้าหาระดับที่ตั้งไว้ ในขณะที่ความดันด้านขาออกลดลงมันก็จะเปิดตัวขึ้นเพื่อรักษาความดันด้านขาออกให้อยู่ในระดับที่กำหนด แต่ผลที่ตามมาก็คือที่ความดันเดียวกัน อัตราการไหลของ carrier gas ผ่านคอลัมน์จะไม่เท่ากัน โดยคอลัมน์ที่มีการอัดตัวแน่นขึ้นจะมีแก๊สไหลผ่านช้าลง จะทำให้เห็นว่าพีคออกมาช้าลงแม้ว่าจะตั้งความดันแก๊สเข้าคอลัมน์ไว้เท่ากัน 
   
(พีคจะออกเร็วหรือช้าขึ้นกับอัตราการไหลของ carrier gas ผ่านคอลัมน์ ส่วนอัตราการไหลของ carrier gas ผ่านคอลัมน์ขึ้นอยู่กับความดันด้านขาเข้าคอลัมน์ อุณหภูมิแก๊ส และระดับการอัดตัวแน่นของ packing ที่ความดันขาเข้าเดียวกัน ที่อุณหภูมิสูง หรือ packing อัดตัวแน่นสูง carrier gas จะไหลช้าลง)
  
ปรกติถ้าเป็น packed column ที่ทำจากโลหะ และถ้าตัวคอลัมน์นั้นไม่ได้สวมเข้ากับ injector port หรือ detector port ของเครื่อง GC โดยตรง (packed column ของเครื่อง GC Shimadzu ที่เราใช้อยู่จะเป็นแบบนี้) ก็เคยใช้วิธีกลับด้านคอลัมน์ โดยเปลี่ยนเอาด้านที่เคยต่ออยู่กับ detector port มาต่อเข้ากับ injector port และเอาด้านที่เคยต่อกับ injector port มาต่อเข้ากับ detector port ก็พบว่ามันแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าตัวคอลัมน์นั้นมีรูปทรงที่ต้องต่อเข้ากับ injector port และ detector port โดยตรงและไม่สามารถสลับด้านได้ ก็จะใช้วิธีถอดคอลัมน์นั้นออกมา และต่อด้าน detector port เข้ากับถังแก๊ส และเปิดแก๊สอัดให้ไหลย้อนทางลงไป (ค่อย ๆ เปิดเพิ่มความดันทีละน้อย ๆ)
  
คอลัมน์ที่เป็นปัญหานั้นเป็นคอลัมน์แก้ว และต่อเข้ากับ injector port และ detector port โดยตรง และไม่สามารถสลับด้านกันได้ (ปลายทั้งสองด้านยาวไม่เท่ากัน) คอลัมน์ตัวนี้ผ่านการใช้งานจน packing ในคอลัมน์เคลื่อนตัวไปจนติดด้าน detector port (ดูรูปที่ ๑) ตอนแรกก็กะว่าถอดคอลัมน์ออกมาก่อน จากนั้นก็จะใช้วิธีต่อท่อแก๊สเข้าทางด้าน detector port และเปิดแก๊สอัดให้ packing เคลื่อนตัวถอยหลังออกไป แต่พอคลายนอตยึดตัวคอลัมน์กลับพบว่า ferrule ด้าน detector port นั้นติดแน่นกับตัวข้อต่อของ detector port (ดูรูปที่ ๒) ก็เลยไม่อยากเสี่ยงที่จะออกแรงดึงหรือบิดมากเกินไป ด้วยเกรงว่าจะทำให้คอลัมน์แตก (จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นทันที)
 
รูปที่ ๑ ด้านซ้ายเป็นด้าน injector port จะเห็นว่าความดัน carrier gas ด้านขาเข้าดันจน packing เคลื่อนตัวต่ำลงไป (ตามเส้นสีแดง) ส่วนด้านขาออกนั้น packing ถูกดันไปจนสุดคอลัมน์


รูปที่ ๒ ferrule ด้าน detector port (ในกรอบสี่เหลี่ยม) ที่ติดแน่น
 
เมื่อลองดูโครงสร้างของ GC แล้วก็พบว่าไม่สามารถจะต่อท่อแก๊สเข้าด้าน detector port ได้ เพราะนั่นหมายถึงต้องทำการถอดชุด FID ออกมา ก็เลยมองหาทางเลือกอื่นคือจะลอง "ดูด" ทางด้าน injector port ดู เผื่อว่าจะทำให้ตัว packing เคลื่อนตัวถอยหลังออกมาได้
 
สิ่งที่ทดลองทำก็คือไปเอา syringe ที่กลุ่ม DeNOx ใช้ในการเก็บตัวอย่างแก๊สมาต่อเข้ากับ injector port ของเครื่อง GC (รูปที่ ๓) แล้วก็ดูดอากาศให้มันไหลเข้าทาง detector port โดยหวังว่าแรงดันอากาศจะช่วยดันให้ packing ลดการอัดตัวละมีการเคลื่อนตัวถอยหลังบ้าง ซึ่งก็พบว่าในช่วงแรก packing ก็มีการเคลื่อนตัวถอยหลังได้ดี แต่ก็เฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้ injector port (ด้านออกแรงดูด) ส่วนบริเวณที่อยู่ห่างออกไปนั้นแทบไม่มีการขยับตัว เกิดเป็นช่องว่างระหว่างกลาง ต้องใช้การเคาะเบา ๆ ช่วยตรงช่องว่างระหว่างกลางนั้นในระหว่างที่ทำการดูด ซึ่งก็พบว่าสามารถช่วยให้ packing ที่อยู่ตรงช่องว่างนั้นเคลื่อนตัวถอยหลังได้ดีขึ้น แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม ค่อย ๆ ดูดและเคาะคอลัมน์เบา ๆ ไปเรื่อย ๆ เสียเวลาทำดังกล่าวกว่าชั่วโมง ช่องว่างที่เกิดขึ้นก็เคลื่อนตัวไปอยู่ใกล้ทางด้าน detector port แสดงว่าการอัดตัวของ packing ทางด้าน detector port นี้ได้ลดลงแล้ว สังเกตได้จากการที่ packing ทางด้าน detector port มีการเคลื่อนตัวถอยหลังเมื่อทำการดูดด้าน injector port

รูปที่ ๓ การต่อ syringe เข้ากับ injector port เพื่อทำการดูดให้ packing เคลื่อนตัวย้อนกลับ
  
รูปที่ ๔ แสดงคอลัมน์หลังสิ้นสุดการดูด จะเห็นว่า packing ทางด้าน injector port นั้นมีการเคลื่อนตัวกลับมายัง injector port (ดูในกรอบสีแดงเทียบกับรูปที่ ๑) แต่เมื่อทำการต่อคอลัมน์คืนเดิมและเปิด carrier gas เข้าระบบก็พบว่า packing ทางด้าน injector port นั้นมีการเคลื่อนตัวต่ำลงไปเล็กน้อย แต่ไม่ถึงระดับของรูปที่ ๑


รูปที่ ๔ คอลัมน์หลังสิ้นสุดการดูด จะเห็น packing ด้าน injector port มีการเคลื่อนตัวถอยหลังกลับ (ในกรอบสีแดง)

รูปที่ ๕ เมื่อเปิด carrier gas เข้าคอลัมน์ จะเห็น packing ถูกดันกลับไปข้างหน้า (ในกรอบสีแดง)

สิ่งต่อไปที่ผมได้ให้สาวเมืองขุนแผนทดสอบก็คือ ทำการฉีดสารมาตรฐานโดยใช้ภาวะเดียวกันที่เคยทำไว้ก่อนที่จะมีปัญหาคอลัมน์ (เช่นใช้โทลูอีนหรือเอทานอล) การทดสอบนี้กระทำไปเพื่อทดสอบดูว่าเราสามารถลดการอัดตัวของคอลัมน์ได้มากแค่ไหน โดยดูจากเวลาที่พีคของสารมาตรฐานนั้นออกมาจากคอลัมน์ ที่ความดันขาเข้าเดียวกัน ถ้าเราสามารถลดระดับการอัดตัวของคอลัมน์มาอยู่ที่ระดับเดิมได้ เวลาที่สารมาตรฐานนั้นออกมาก็จะเท่าเดิม แต่ถ้าระดับการอัดตัวนั้นลดต่ำกว่าของเดิม เวลาที่สารมาตรฐานออกมานั้นจะเร็วขึ้น (เพราะ carrier gas ไหลได้เร็วขึ้น) แต่ถ้าระดับการอัดตัวหลังการลดระดับนั้นยังคงสูงกว่าระดับเดิม เวลาที่สามาตรฐานออกมาก็จะยังคงช้ากว่าเดิม

เย็นนี้ทราบผลการทดสอบเบื้องต้นว่าระบบกลับมาเหมือนเดิมแล้ว สิ่งที่ต้องคอยตามกันต่อไปก็คือมันจะคงอยู่เหมือนเดิมได้นานเท่าไร

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รั้วไม่ได้เตี้ยลงหรอก (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๔๘) MO Memoir : Sunday 16 June 2556

ตอนเย็นเลิกเรียนเสร็จจะกลับบ้านก็จะมานั่งรอรถเมล์หน้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นถนนหน้ามหาวิทยาลัยยังไม่มีสะพานลอยสักสะพาน สัญญาณไฟหน้ามหาวิทยาลัยยังใช้การกดปุ่มขอไฟข้ามถนน สะพานลอยเพิ่งจะมีหลังจากเรียนได้สักสองสามปี เวลานั่งรอรถเมล์ก็นั่งรอกับขอบปูนของรั้วมหาวิทยาลัยนั่นแหละ ความสูงกำลังพอดี นั่งได้สบาย ตัวรั้วนั้นข้างล่างจะเป็นแนวกำแพงก่อปูน สูงสักประมาณหัวเข่า ส่วนด้านบนนั้นเป็นรั้วเหล็ก (ดังรูปข้างล่าง) นั่นเป็นเรื่องเมื่อ ๒๙ ปีที่แล้ว ตอนนั้นมาบุญครองก็อยู่ระหว่างการก่อสร้าง สาย ๑๘ ยังวิ่งระหว่างสะพานพระราม ๖ กับสี่พระยา




รูปที่ ๑ รั้วบางตำแหน่งยังพอมองเห็นขอบปูนเดิมอยู่ (บน) ตรงเส้นสีแดง แต่บางที่นั้นมีการถมดินกันจนเสมอขอบปูน (ล่าง) จนดูเหมือนว่ารั้วมหาวิทยาลัยนั้นเป็นรั้วเหล็กอย่างเดียว

กลับมาอีกครั้งหลังจากไปทำงานและเรียนต่อในอีก ๖ ปีถัดมา ปรากฏว่าขอบรั้วปูนที่เคยใช้เป็นที่นั่งรอรถเมล์ตอนเรียนหนังสือมันหายไปแล้ว ที่นั่งในที่พักรอรถเมล์ก็มีอยู่ไม่กี่ที่ ก็เลยต้องยืนรอกัน ตอนแรก ๆ ก็คิดว่าถนนหน้ามหาวิทยาลัยมันยังคงเหมือนเดิม แต่จากขอบปูนที่เคยโผล่อยู่เหนือดินกลับไปอยู่ใต้ดินแทนแสดงว่าคงมีการปรับปรุงถนนและยกระดับขึ้นมากทีเดียว (คงราว ๆ ประมาณครึ่งเมตรได้)

พอเห็นอย่างนี้ก็เลยเข้าใจว่าทำไมเวลาฝนตกหนักถนนหน้ามหาวิทยาลัยจึงไม่มีน้ำท่วม แต่ท่วมในมหาวิทยาลัยแทน

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กาฝาก ณ บางพลัด MO Memoir : Friday 14 June 2556

ตอนเดือนเมษายนมีพายุฤดูร้อนมีลมกรรโชกแรง ต้นมะม่วงหน้าบ้านขนาดปลูกมา ๓๕ ปีเป็นพุ่มใหญ่ขนาดตอนบ่ายแดดยังส่องลงแทบไม่ถึงพื้นดิน ยังเจอลมพัดซะเอียงไปเล็กน้อย เห็นได้จากพื้นดินที่โคนต้นมันปูดบวมขึ้นทางด้านหนึ่ง ด้านที่มันทำท่าจะล้มก็ดันเป็นทิศของศาลพระภูมิและบ้านเพื่อนบ้านซะด้วย
 
คุณแม่ติดต่อคนตัดต้นเอาไว้ เขาบอกว่าขอให้เข้าหน้าฝนก่อนจะมาตัดให้ มันจะได้แตกกิ่งใหม่ แต่ก่อนจะถึงเวลาที่คนตัดต้นไม้เข้าจะมา ก็เลยต้องลงมือเล็มกิ่งเล็ก ๆ บางกิ่งออกก่อน เพื่อไม่ให้ต้นมันรับลมมากเกินไป ปลายเดือนที่แล้วก่อนเปิดเทอมก็เลยจัดการซะรอบบ้านไปหลายต้น ได้มาทั้งแผลหนามตำ มือพอง และห้อเลือด ยังไม่นับที่โดนมดแดงกัดอีกไม่รู้กี่แห่งเพราะไปตัดรังมันลงมาทั้งกิ่งหลายรัง โชคดีที่ปีนี้ต้นไม้ที่เล็งเอาไว้ว่าจะตัดแต่งกิ่งนั้นไม่มีนกมาทำรังวางไข่ ไม่เช่นนั้นก็คงต้องเลื่อนเวลาตัดแต่งกิ่งออกไปอีก
 
เปิดเทอมใหม่โรงเรียนลูกจัดงานผู้ปกครองพบปะกับคุณครู ครูสอนวิทยาศาสตร์มาเล่าเรื่องที่เด็กในกรุงเทพไม่รู้จักธรรมชาติแวดล้อมอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง (ชนิดที่ไม่รู้ว่าลูกมะพร้าวมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร) เป็นเพราะเขาไม่มีโอกาสได้ไปเห็นของจริง บ้านที่อาศัยอยู่ในเมืองก็มักจะปลูกไม่ใหญ่ไม่ได้ ถนนในเมืองก็มีต้นไม้เพียงไม่กี่ชนิด จะมีโอกาสเห็นไม้ชนิดอื่นได้ก็ทางอินเทอร์เน็ต ก็เลยคิดว่าเนื่องจากที่บ้านยังพอมีความเป็นธรรมชาติให้แบ่งปันบ้าง ก็เลยเอารูปต้นกาฝากที่ถ่ายเอาไว้ตอนตัดกิ่งมะม่วงมะเฟืองมาให้ดูกัน (ส่วนพวกคุณอายุก็มากแล้ว และไม่ได้โตในกรุงเทพด้วย คิดว่าคงจะรู้จักและเคยเห็นต้นกาฝากของจริงมาแล้ว)

รูปที่ ๑ ต้นกาฝากที่ตัดมาจากกิ่งมะเฟือง



รูปที่ ๒ ต้นกาฝากที่ตัดมาจากกิ่งมะม่วง

ส่วนต้นกาฝากมันมาเกาะต้นไม้ได้อย่างไร เอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างนั้น คงจะไม่ขอกล่าวถึง เพราะมีคนเขียนเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เอาไว้มากแล้ว เพียงแต่ต้องการเอารูปกาฝากมาแปะไว้บน blog เผื่อมีเด็กนักเรียนต้องการรูปไปทำการบ้านส่งคุณครู
 
รูปปิดท้ายอีกสองรูปในหน้าถัดไปก็ไม่มีอะไร เป็นเพียงแค่วิวมองจากหน้าต่างห้องนอนของลูกทั้งสอง สวนที่เห็นนั้นไม่ใช่ที่ดินของบ้านผมหรอก เป็นของคนอื่นเขา แต่ก็เห็นมันเป็นสวนอย่างนี้มานานตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ ผ่านน้ำท่วมมาหลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ยังเป็นสวนเหมือนเดิม ที่ตอนนั้นเคยมีหิ่งห้อยบินไปมาอย่างไร ตอนนี้ก็ยังคงมีอยู่ กระรอก กระแต วิ่งเล่นกันทั้งวัน ทั้งปีนต้นไม้และปีนรั้ว รวมทั้งเข้ามากินมะม่วงและมะละกอในบ้านด้วย วันดีคืนดีก็มีนกแซงแซวหางยาวแวะเข้ามาเยี่ยม กลางคืนไม่มีแม้แต่เสียงรถวิ่ง ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรยากาศเช่นนี้จะคงอยู่ไปได้อีกนานเท่าใด



รูปที่ ๓ วิวจากหน้าต่างห้องนอนของลูก (เป็นที่ของบ้านข้าง ๆ ไม่ใช่บ้านของผมนะ)

หลานของภรรยาเคยมาค้างที่บ้านที่นี้คืนนึง เขาเคยชินกับบ้านอยู่ริมถนนมีรถวิ่งไปมา เช้าวันรุ่งขึ้นบ่นให้ฟังเลยว่าที่นี่กลางคืนเงียบมาก เงียบจนน่ากลัว เพราะมันไม่มีเสียงคนหรือรถวิ่ง มีแต่เสียงจิ้งหรีดกรีดร้องและตุ๊กแกบ้างเป็นครั้งคราว แถมมืดมากด้วย ส่วนผมนั้นชินจนชอบซะแล้ว ถ้าไม่มืดและไม่เงียบจะนอนไม่หลับเอาซะเลย

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ท่อระบายของเหลวลงสู่ที่ต่ำด้วยแรงโน้มถ่วง MO Memoir : Wednesday 12 June 2556

ในอาคารบ้านเรือน หรือในอาคารต่าง ๆ นั้น จะมีการระบายของเหลวลงสู่ระบบท่อให้ไหลลงสู่ที่ต่ำโดยใช้แรงโน้มถ่วง สำหรับบ้านเรือนทั่วไปที่เห็นได้ชัดคือระบบสุขภัณฑ์ที่ระบายน้ำทิ้งจากชักโครกลงตามระบบท่อสู่บ่อพักที่อยู่ต่ำลงไป สำหรับอาคารพาณิชย์นั้นไม่เพียงแต่จะเป็นการระบายจากระบบสุขภัณฑ์ แต่ยังอาจมีการระบายน้ำฝนจากหลังคาหรือพื้นที่รองรับน้ำฝนต่าง ๆ ของอาคารลงสู่ระบบท่อระบายน้ำด้วย
  
ในกระบวนการผลิตในโรงงานนั้น บางครั้งก็อาจมีการใช้การถ่ายของเหลวจากภาชนะใบหนึ่งไปยังภาชนะอีกใบหนึ่งด้วยแรงโน้มถ่วง สิ่งหนึ่งที่กระบวนการผลิตในโรงงานแตกต่างไปจากการระบายน้ำทิ้งในอาคารทั่วไปคือ การถ่ายของเหลวในกระบวนการผลิตนั้นอาจเป็นการถ่ายของเหลวระหว่างภาชนะปิด (ไม่เปิดออกสู่อากาศภายนอก)

รูปที่ ๑ ข้างล่างเป็นตัวอย่างหนึ่งของระบบระบายของเหลวลงสู่ที่ต่ำด้วยแรงโน้มถ่วง ในกรณีนี้มีการป้อนของเหลวและแก๊สเข้าเครื่องปฏิกรณ์เพื่อให้สารตั้งต้นที่เป็นของเหลวและแก๊สทำปฏิกิริยากันภายใต้ภาวะการปั่นกวนอย่างรุนแรง เพื่อให้แก๊สกลายเป็นฟองเล็ก ๆ กระจายไปทั่วของเหลวเพื่อเพิ่มพื้นที่การถ่ายเทมวล ดังนั้นของเหลวที่อยู่ในเครื่องปฏิกรณ์จะเต็มไปด้วยฟองแก๊ส ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องแยกฟองแก๊สออกจากของเหลวก่อนที่จะปั๊มของเหลวไปยังหน่วยอื่น (ถ้ามีฟองแก๊สอยู่ในของเหลวจะก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานของปั๊ม)
   
ระบบที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ใช้การให้ของเหลว (ที่เต็มไปด้วยฟองแก๊ส) ไหลล้นจากถังปฏิกรณ์ลงสู่ถังใบที่สอง (ถังแยกของเหลว-แก๊ส) ที่อยู่ที่ระดับที่ต่ำกว่าระดับผิวของเหลวในถังปฏิกรณ์ ของเหลวที่อยู่ในถังแยกของเหลว-แก๊สนี้จะมีการรบกวนที่ต่ำกว่า ทำให้ฟองแก๊สค่อย ๆ ลอยตัวออกจากของเหลวที่ไหลเข้ามาสู่ผิวบน และของเหลวที่ไม่มีฟองแก๊สก็จะถูกปั๊มออกทางด้านล่างของถังออกไป

รูปที่ ๑ ตัวอย่างระบบท่อระบายของเหลวลงสู่ที่ต่ำด้วยแรงโน้มถ่วงระหว่างภาชนะสองใบ โดยใบแรกเป็นถังปฏิกรณ์ที่มีการป้อนของเหลวและแก๊สเข้า สารจะไหลออกจากถังปฏิกรณ์ผ่านทางท่อล้นและระบายลงสู่ถังแยกของเหลว-แก๊สที่อยู่ต่ำกว่า เพื่อแยกส่วนที่เป็นฟองแก๊สออกจากของเหลวก่อนที่จะทำการปั๊มไปยังหน่วยอื่นต่อไป (ดู Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๔๓ วันพุธที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "เมื่อระดับตัวทำละลายใน polymerisation reactor เพิ่มสูงขึ้น")

ของเหลวจากถังปฏิกรณ์จะไหลลงสู่ถังแยกของเหลว-แก๊สได้ดีก็ต่อเมื่อความดันเหนือผิวของเหลวในถังแยกของเหลว-แก๊สนั้นไม่สูงกว่าความดันเหนือผิวของเหลวในถังปฏิกรณ์ การทำเช่นนี้ทำได้โดยการเดินท่อปรับความดัน (สีเขียวในรูปที่ ๑) เชื่อมระหว่างด้านบนของถังแยกของเหลว-แก๊สเข้ากับถังปฏิกรณ์ ท่อดังกล่าวจะช่วยรักษาความดันเหนือผิวของเหลวในถังแยกของเหลว-แก๊สให้เท่ากับความดันเหนือผิวของเหลวในถังปฏิกรณ์ด้วยการะบายแก๊สที่หลุดออกมาจากของเหลวในถังแยกของเหลว-แก๊สกลับไปที่ถังปฏิกรณ์ใหม่
 
ถ้าหากไม่มีท่อปรับความดัน แก๊สที่หลุดออกมาก็จะสะสมในถังแยกของเหลว-แก๊ส ก่อให้เกิดแรงต้านการไหล ถ้าปลายท่อด้านถังแยกของเหลว-แก๊สนั้นจมอยู่ภายใต้ผิวของเหลวในถังแยกของเหลว-แก๊ส ความดันที่สะสมก็อาจทำให้ของเหลวหยุดการไหลได้ แต่ถ้าปลายท่อด้านถังแยกของเหลว-แก๊สนั้นอยู่เหนือผิวของเหลวในถังแยกของเหลว-แก๊ส แก๊สในถังแยกของเหลว-แก๊สก็อาจเกิดการไหลสวนทางของเหลวที่ไหลลงมาจากถังปฏิกรณ์ ทำให้ของเหลวไหลลงจากถังปฏิกรณ์ได้ไม่สะดวก หรือหยุดชะงักเป็นช่วง ๆ ได้


รูปที่ ๒ ท่อระบายน้ำฝนจากดาดฟ้าของอาคารแห่งหนึ่ง รูปบนเป็นภาพโดยรวมจะเห็นท่อระบายอากาศต่อแยกขึ้นไปทางด้านบน พึงสังเกตว่าจะวางท่อให้มีการลาดเอียงลงล่าง (ไม่วางขนานพื้น) รูปล่างซ้ายเป็นท่อระบายอากาศออกจากท่อระบายน้ำ รูปล่างขวาเป็นจุดบรรจบของท่อระบายสองท่อ จะเห็นว่าจุดบรรจบจะไม่ใช้ข้อต่อสามทางแบบตั้งฉาก แต่จะใช้ข้อต่อแบบต่อบรรจบเฉียง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้น้ำที่ไหลลงมานั้นปะทะกันตรง ๆ ซึ่งจะทำให้น้ำไหลไม่สะดวก
 
ท่อระบายน้ำฝนจากดาดฟ้าอาคารก็อาจเกิดปัญหาการที่น้ำฝนไหลลงได้ไม่สะดวกเนื่องจากอากาศในท่อไหลสวนทางขึ้นมาได้ เนื่องจากตัวท่อมีความสูงจากพื้นมาก เวลาที่มีน้ำฝนปริมาณมากไหลลงมาจะทำให้อากาศระบายออกไม่ได้ จะกีดขวางทางไหลลงของน้ำ ดังนั้นจึงต้องออกแบบให้ระบบท่อมีช่องทางระบายอากาศในท่อออกเวลาที่มีน้ำฝนไหลลงมา โดยทำเป็นท่อแยกออกทางไปทางด้านข้างเฉียงขึ้นไปทางด้านบน (ดูรูป ๒) เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลย้อน

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทำความรู้จักกับ Chromatogram (ตอนที่ ๕) MO Memoir : Sunday 9 June 2556

เรื่องมันเริ่มจากการที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สาวเมืองขุนแผนและสาวเมืองโอ่งมังกรพยายามจะทำให้เครื่อง Shimadzu GC-8A ใช้งานได้แบบคงเส้นคงวา เรื่องมันเริ่มจากการไม่มีพีคปรากฏ การหาพีคไม่เจอ ตำแหน่งเวลาปรากฏของพีคเอาแน่เอานอนไม่ได้ พีคมีรูปร่างประหลาด ความแรงของพีคลดลง ฯลฯ

ตอนนั้นผมก็ให้คำแนะนำไปว่า ให้แยกประเด็นออกมาพิจารณาทีละประเด็นคือ

๑. เห็นพีคหรือไม่เห็นพีค ถ้าไม่เห็นพีคก็แสดงว่าปัญหาอาจอยู่ที่ detector หรือแก๊สที่ไหลออกจากคอลัมน์ไปไม่ถึง detector ตรงนี้ขอให้ทดสอบด้วยการฉีดสารบริสุทธิ์เข้าไป (เช่นฉีดเอทานอลหรือโทลูอีนสัก 0.5-1 ไมโครลิตร) แล้วดูการตอบสนองของ detector

๒. ถ้ามองเห็นพีคก็ให้ดูว่าตำแหน่งเวลาที่พีคออกมานั้นคงเส้นคงว่าหรือไม่ ถ้าคงเส้นคงวาก็แสดงว่าอัตราการไหลของ carrier gas ที่ผ่านคอลัมน์นั้นคงที่ ถ้าคงเส้นคงวาแต่ออกมาช้ากว่าเดิมก็แสดงว่า carrier gas ไหลผ่านคอลัมน์ด้วยอัตราการไหลที่ลดลง ตรงนี้อาจมีสาเหตุมาจาก

(ก) คอลัมน์มีการอัดตัวกันแน่นขึ้น ความต้านทานการไหลก็สูงขึ้น การคงความดันด้านขาเข้าไว้คงเดิมก็ทำให้อัตราการไหลลดต่ำลง ถ้าเป็นกรณีนี้ พีคจะออกมาช้าลง เตี้ยลงแต่กว้างขึ้น โดยพื้นที่พีคจะคงเดิม (เพราะสารตัวอย่างที่ฉีดเข้าไปไม่ได้รั่วหายไปไหน) การแก้ปัญหาก็ทำโดยการเพิ่มความดันขาเข้า หรือไม่ก็ถอดเอาคอลัมน์ออกมาแล้วอัดแก๊สให้ไหลสวนทางทิศทางการไหลที่ใช้ในการวิเคราะห์ 
 
(ข) carrier gas มีการรั่วไหลก่อนเข้าคอลัมน์ ซึ่งแยกเป็น
- การรั่วไหลแบบข้อต่อไม่แน่น (จุดต่อคอลัมน์เข้ากับ injector port หรือตรงหัวนอตที่ใช้เป็นตัวยึด septum) เวลาที่พีคออกมาแม้ว่าจะช้าลง แต่จะคงที่ ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ในกรณีนี้พีคมักจะมีขนาดเล็กลงกว่าปรกติ แต่จะคงที่ การแก้ปัญหาก็ทำได้โดยการขันข้อต่อให้แน่น
- การรั่วไหลที่ septum กรณีนี้จะพบว่าเวลาที่พีคออกมานั้นจะช้าลงไปเรื่อย ๆ โดยมีขนาดเล็กลงตามไปด้วย สาเหตุก็เพราะแต่ละครั้งที่เราแทง syringe ทะลุผ่าน septum จะทำให้รูที่เข็มแทงทะลุนั้นขยายใหญ่ขึ้นทีละน้อย แก๊สก็จะรั่วออกได้มากขึ้นตามทุก ๆ ครั้งที่ฉีดสาร การแก้ปัญหาก็ทำได้โดยการเปลี่ยน septum

๓. ถ้าเวลาที่พีคออกมานั้นไม่เปลี่ยนแปลง แต่ขนาดพีคที่ได้เล็กลง ก็ให้ตรวจสอบพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของเครื่องวัด พวก RANGE และ ATTENUATION ว่าคงเดิมหรือไม่ ถ้าพบว่าคงเดิมก็แสดงว่าปัญหาอาจอยู่ที่มีการรั่วไหลของแก๊สด้านขาออกจากคอลัมน์ (ข้อต่อด้านต่อคอลัมน์เข้ากับ detector port มีการรั่วซึม) สำหรับ FID แล้วยังอาจเกิดจากการที่หัวฉีดไฮโดรเจนเกิดการอุดตัน ทำให้เปลวไฟติดได้ไม่ดี (ถ้าเป็นหนัก ๆ จะทำให้เปลวไฟไม่ติด) ถ้าเป็นแบบนี้ให้หาสายลวดเล็ก ๆ (เช่นสายกีต้าร์เส้นเล็กสุด) แยงรูหัวฉีดแก๊สไฮโดรเจน

ช่วงบ่ายวันศุกร์ก็ทราบว่าเขาทั้งสองสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว เช้าวันวานมีโอกาสแวะเข้าไปที่แลปก็เลยไปเอาโครมาโทแกรมที่ทั้งสองทำไว้ระหว่างการปรับแต่ง โดยเลือกมาบางรูปเพื่อนำมาเป็นตัวอย่างให้ได้เห็นกัน

ท้ายสุดก็ขอฝากเรื่องเกี่ยวกับโครมาโทแกรมที่พวกคุณควรต้องไปอ่านให้เข้าใจ เพราะจะว่าไปแล้วเรื่องที่เกิดในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งนั้น ขอให้ไปอ่านย้อนหลังกันเองก็แล้วกัน

ทำความรู้จักกับ Chromatogram (ตอนที่ 1) MO Memoir : วันศุกร์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๒
ทำความรู้จักกับ Chromatogram (ตอนที่ 2) MO Memoir : วันศุกร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ทำความรู้จักกับ Chromatogram (ตอนที่ 3) MO Memoir : Friday 27 November 2552
ทำความรู้จักกับ Chromatogram (ตอนที่ ๔) MO Memoir : Sunday 25 July 2553

การปรับความสูงพีค GC MO Memoir : Friday 9 July 2553

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๐ เมื่อพีค GC หายไป MO Memoir : Thursday 20 January 2554
การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๕ เมื่อพีค GC ออกมาผิดเวลา MO Memoir : Tuesday 1 March 2554
การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๒๑ เมื่อความแรงของพีค GC ลดลง MO Memoir : Wednesday 15 June 2554
การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๓๐ เมื่อพีค GC ออกมาผิดเวลา (อีกแล้ว) MO Memoir : Saturday 16 July 2554





รูปที่ ๑ (บน) ปุ่มปรับต่าง ๆ ของเครื่อง Shimadzu GC-8A ปุ่ม RANGE เป็นตัวปรับช่วงการวัด ถ้าใช้ RANGE ต่ำจะวัดสัญญาณที่มีความแรงน้อย ๆ ได้ดี แต่ถ้าสัญญาณแรงมากจะทำให้ detector อิ่มตัว ถ้าใช้ RANGE สูงจะวัดสัญญาณที่แรงมากได้ แต่จะเสียความละเอียดในการวัดพีคขนาดเล็ก ๆ ปุ่ม ATTENUATION เป็นตัวปรับความแรงสัญญาณที่ส่งออกทาง port ที่ไปยังเครื่อง RECORDER ค่า ATTENUATION เป็นตัวหารสัญญาณที่ส่งออก ค่ายิ่งมากทำให้สัญญาณส่งออกยิ่งน้อยลง ใช้ในการปรับความแรงสัญญาณไม่ให้พีคที่เครื่อง RECORDER วาดนั้นมีขนาดใหญ่เกินหน้ากระดาษ
(กลาง) ปุ่มปรับค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของเครื่อง integrator Shimadzu C-R8A เรายังสามารถปรับค่า ATTN (ย่อมาจาก attenuation) เพื่อให้เครื่องสามารถวาดพีคให้อยู่ในความกว้างของหน้ากระดาษได้ ค่า ATTN มีค่าเป็น 2n เมื่อ n เป็นจำนวนเต็ม ยิ่งใช้ค่า ATTN สูงจะได้รูปพึคที่มีขนาดเล็กลง แต่ไม่ส่งผลต่อความสูงและพี้นที่ที่คำนวณได้ (ดูรูปที่ ๔)
(ล่าง) สายเครื่อง C-R8Aต่อเข้าตรงจุดที่ป้ายติด INTEGRATOR
เครื่อง GC ของ Shimadzu รุ่น 8A 9A และ 14A ที่แลปเรามีใช้นั้น ใช้ระบบปรับพารามิเตอร์ต่าง ๆ ที่คล้ายกัน



รูปที่ ๒ พีคเอทานอล 0.5 ไมโครลิตร ตั้ง range ของเครื่อง GC-8A ไว้ที่ 102 จะเห็นว่าพีคที่ได้มีลักษณะหัวตัวและเมื่อพิจารณาค่าความสูงของพีคทั้งสอง (ที่เวลา 0.8-0.9 นาที) จะเห็นว่าค่าความสูงขึ้นไปจนสุดที่ระดับสูงประมาณ 1,230,000 แสดงว่า detector เกิดการอิ่มตัว ในกรณีเช่นนี้ถ้าหากฉีดเอทานอลในปริมาณที่มากกว่า 0.5 ไมโครลิตรเช่นฉีดเป็น 1.0 ไมโครลิตรก็จะเห็นพื้นที่พีคเพิ่มสูงขึ้น แต่จะไม่เป็นสองเท่า ทั้งนี้เป็นเพราะ detector มองไม่เห็นส่วนยอดของพีคที่มีความสูงจริงที่แตกต่างกัน พื้นที่ที่แตกต่างกันจะเกิดจากการที่พีคมีความกว้างที่แตกต่างกัน



รูปที่ ๓ พีคโทลูอีน 0.5 ไมโครลิตร พีคบนตั้ง range ของเครื่อง GC-8A ไว้ที่ 103 ส่วนพีคล่างตั้งไว้ที่ 104 จะเห็นว่าพีคที่ได้มีลักษณะหัวตัว แต่เมื่อดูความสูงพีคจะเห็นว่าแตกต่างกัน ลักษณะเช่นนี้แสดงว่าข้อมูลสัญญาณนั้นมีลักษณะเป็นพีค แต่การตั้งสเกลแกน y นั้นแคบเกินไป (ตั้งที่ค่า attenuation - ATTN ของเครื่อง C-R8A) ในกรณีนี้ยังเห็นอีกว่าการตั้งค่า range ที่เครื่อง GC-8A นั้นส่งผลต่อทั้งความสูงและพื้นที่พีคที่ได้ เมื่อเพิ่ม range จาก 103 เป็น 104 (เพิ่มขึ้น 10 เท่า) จะได้พีคที่มีขนาดเล็กลง 10 เท่าด้วย (เห็นได้จากการที่ค่าพื้นที่และความสูงลดลงมาประมาณ 10 เท่า)



รูปที่ ๔ พีคโทลูอีน 0.5 ไมโครลิตร ทั้งสองพีคตั้ง range ของเครื่อง GC-8A ไว้ที่ 104 แต่รูปบนตั้งค่า ATTN ของ C-R8A ไว้ที่ 5 (หารสัญญาณวาดรูปด้วย 25 = 24) ส่วนรูปล่างตั้งไว้ที่ 10 (หารสัญญาณวาดรูปด้วย 210 = 1024) จะเห็นว่าจากพีคหัวตัดที่ค่า ATTN ต่ำกลายเป็นรูปพีคที่สมบูรณ์ที่ค่า ATTN สูงขึ้นแต่จะมีขนาดเล็กลง แต่เมื่อพิจารณาค่าพื้นที่กับความสูงจะเห็นว่ายังคงเท่าเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามค่า ATTN ที่เปลี่ยนไป แสดงว่าค่า ATTN ของเครื่อง C-R8A ส่งผลต่อสัญญาณที่ใช้ในการวาดรูปเท่านั้น ไม่ส่งผลต่อสัญญาณที่นำไปคำนวณค่าพื้นที่พีคและความสูง



รูปที่ ๕ พีคโทลูอีน 0.5 ไมโครลิตร ทั้งสองพีคตั้งค่า ATTN ของเครื่อง C-R8A ไว้ที่ 10 แต่รูปบนตั้ง range ของเครื่อง GC-8A ไว้ที่ 104 แต่รูปล่างตั้งค่า range ของเครื่อง GC-8A ไว้ที่ 102 จะเห็นว่าการเปลี่ยนค่า range ส่งผลต่อขนาดรูปร่างพีคที่เครื่องวาด และพื้นที่พีคและความสูงพีคที่คำนวณได้ เมื่อลดช่วง range (เพิ่มความว่องไวในการวัด) จะได้พีคที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและพื้นที่พีคและความสูงพีคที่มากขึ้นไปด้วย พีคของรูปล่างนั้นเป็นพีคที่มีปัญหาในลักษณะพีคหัวแตก เห็นได้จากการรายงานผลยอดพีคมาสองตำแหน่งที่เวลาใกล้ ๆ กัน (อันที่จริงควรจะมีเพียงค่าเดียว) แสดงว่าพีคมีลักษณะเป็นพีคใหญ่ที่มียอดเป็นพีคขนาดเล็กสองพีค พีคลักษณะเช่นนี้มักมีปัญหาในการลากเส้น base line ที่ใช้ในการคำนวณพื้นที่และความสูง ผลที่ตามมาคือค่าพื้นที่และความสูงที่ได้นั้นมักจะเชื่อถือไม่ได้ ส่วนเครื่อง C-R8A ลากเส้น base line อย่างไรนั้นดูได้จากช่อง MK ที่อยู่ถัดจากช่อง HEIGHT ซึ่งจะพิมพ์สัญญลักษณ์บ่งบอกวิธีการลากเส้น base line (ดูความหมายของสัญญลักษณ์ได้จากคู่มือเครื่อง C-R8A)



รูปที่ ๖ พีคของ benzaldehyde 0.5 ไมโครลิตร จะเห็นว่าตอนเริ่มเกิดพีคนั้นสัญญาณจะค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปจนถึงจุดยอดพีค จากนั้นจะลดลง อัตราการลดลงจะเร็วกว่าอัตราการไต่ขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากพีคต่าง ๆ ที่แสดงในรูปที่ ๒-๕ ที่แสดงอัตราไต่ขึ้นสูงกว่าอัตราการลดลง ถ้าเป็นการวิเคราะห์ที่อุณหภูมิคอลัมน์คงที่ พีคลักษณะนี้บ่งบอกว่าปริมาณสารที่ฉีดเข้าไปนั้นมากเกินกว่าที่คอลัมน์จะรับได้ แต่ถ้าเป็นการวิเคราะห์ที่มีการเพิ่มอุณหภูมิให้ไต่ขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นไปได้ที่เป็นผลจากการเพิ่มอุณหภูมิที่เร็วจนทำให้สารที่หลุดจากการดูดซับของ packing (ที่บรรจุอยู่ในคอลัมน์) ที่ออกมาทีหลังนั้นออกมาวิ่งไล่อัดหลังตัวที่ออกมาก่อน
ตัวอย่างพีคลักษณะเช่นนี้ที่เกิดจากการเพิ่มอุณหภูมิในระหว่างการวิเคราะห์ดูได้จาก Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๕๘ วันศุกร์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๓๙ ตัวอย่างการแยกพีค GC ที่ไม่เหมาะสม" (http://www.tamagozzilla.blogspot.com/2012/08/gc-mo-memoir-friday-24-august-2555.html)