วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วรรณกรรมคำผวน MO Memoir : Wednesday 29 July 2558

"เป็นครูไม่มีรวยด้วยจนยาก
ยอมลําบากบางครั้งอยู่แบบครูป่วย
ถือคติไม่เป็นดังครูหวังรวย 
แต่บางครั้งแอบเล่นหวยด้วยมีคีย์

ครูคิดลึกศึกษาหาความรู้
กลับเป็นครูห่วยจนคนเมินหนี
เรียนจนจบด้วยหวังหันมั่งมี 
เกียรติศักดิ์ศรีครูถ้วยด้วยรางวัล
 
การกีฬาครูเล่นเห็นดีอยู่
ครูเล่นลู่ครูเล่นลานด้วยการหมั่น
นาฏศิลป์ครูต้องรําทําท่ากัน 
ไม่ห่างหันการดีศักดิ์ศรีครู"

กลอนสุภาพ ๓ บทข้างบนผมไม่ได้แต่งเองหรอกครับ เป็นบทประพันธ์ รวี วรวิสุทธิ์ ที่ปรากฏในจุลสารลายไทยฉบับพิเศษ วันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ในบทความเรื่อง "ควนผำ ... ควรศึกษา" ที่เขียนโดย สันเสก ผะวัดทะนน (ผวนกลับเป็น เสกสันต์ ผลวัฒนะ) ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ http://www.tu.ac.th/org/arts/tha/thai/journal45.pdf

อ่านกลอนข้างบนแล้วเห็นเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ไหมครับ ถ้ามองไม่เห็นก็ลองอ่านกลอนข้างล่างใหม่อีกครั้ง

"เป็นครูไม่มีรวยด้วยจนยาก
ยอมลําบากบางครั้งอยู่แบบครูป่วย
ถือคติไม่เป็นดังครูหวังรวย 
แต่บางครั้งแอบเล่นหวยด้วยมีคีย

ครูคิดลึกศึกษาหาความรู์
กลับเป็นครูห่วยจนคนเมินหนี
เรียนจนจบด้วยหวังหันมั่งมี 
เกียรติศักดิ์ศรีครูถ้วยด้วยรางวัล

การกีฬาครูเล่นเห็นดีอยู่
ครูเล่นลู่ครูเล่นลานด้วยการหมั่น
นาฏศิลป์ครูต้องรําทําท่ากัน 
ไม่ห่างหันการดีศักดิ์ศรีครู"

ผมเน้นข้อความตามที่บทความที่ปรากฏในจุลสารเขาเน้นให้นะครับ ถ้าท่านใดอ่านแล้วยังไม่เข้าใจอีกก็คิดว่าส่วนที่เหลือของ Memoir ฉบับนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อแล้วครับ โดยขอแนะนำให้ไปดาวน์โหลดบทความข้างต้นมาศึกษาก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจหลักการในการผวนคำ แล้วค่อยมาอ่านเนื้อหาส่วนที่เหลือต่อ

เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ Memoir ฉบับนี้ก็เลยขอเขียนเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยสักหน่อย ถือว่าเป็นการแนะนำหนังสือหรือบทความน่าสนใจให้อ่านก็แล้วกัน ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องนี้หรอกครับ บังเอิญเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหยิบหนังสือเรื่อง "ผูกนิพพานโลกีย์ ตำรากามสูตรสัญชาติไทย" เขียนโดยอภิลักษณ์ เกษมผลกูล ที่ผมซื้อเก็บไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วขึ้นมาอ่าน อ่านบทนำไปได้แค่สองหน้าก็ไปสะดุดเข้ากับหมายเหตุที่เขามีคำอธิบายไว้ในส่วนเชิงอรรถของหนังสือ เห็นเป็นเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง "พระเอ็ดยง" และบังเอิญจังหวะเวลามันกำลังจะถึงวันภาษาไทยแห่งชาติพอดี ก็เลยขอนำเรื่อง "คำผวน" นี้ขึ้นมานำเสนอ ส่วนเรื่อง "พระเอ็ดยง" เป็นยังไงนั้น ปรากฏเรื่องย่อในส่วนเชิงอรรถของหนังสือดังกล่าวดังนี้
  
รูปที่ ๑ (ซ้าย) "ผูกนิพพานโลกีย์ ตำรากามสูตรสัญชาติไทย" โดยอภิลักษณ์ เกษมผลกูล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ (กลาง) "วรรณกรรมปักษ์ใต้ - สรรพลี้หวน" หนังสือรวบรวม วรรณกรรมคำผวน วรรรกรรมพื้นบ้าน บทกล่อมลูก ปริศนาคำทาย ของเก่า รวบรวมโดย เพชร พุมเรียง จัดพิมพ์โดย ชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๕ (ขวา) "เรื่อง สรรพลี้หวน" โดยผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เขียนนำและชำระ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มายิก พิมพ์ครั้งที่ ๑ ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ แต่ห้องสมุดรับเข้ามาพ.ศ. ๒๕๔๘

"เรื่องย่อมีอยู่ว่า พระเอ็ดยงมีพระมเหสี ๒ องค์ คือ นางแหงดี และนางแต่งแวด พระเอ็ดยงไปเลียบเมือง ได้นางโหตีมาเป็นมเหสี สร้างความไม่พอใจให้แก่โลตึง (เนื้อเรื่องไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นใคร) จึงขับพระเอ็ดยงและพระมเหสีทั้งสามออกจากเมือง ขณะที่เดินไปกลางป่า ก็ได้พบกับนายเจ็ดโยนเป็นโจรป่า มีสมุน ๕๐๐ คน นายเจ็ดโยนพาสมุนมาสวามิภักดิ์กับพระเอ็ดยง พระเอ็ดยงจึงนำทัพเหล่าโจรป่าไปตีเมืองคีหันบุรี เพื่อแก้แค้นแก่โลตึง เนื้อเรื่องจบเพียงพระเอ็ดยงไปตั้งค่ายหน้าเมืองคีหัน"
  
เรื่อง "พระเอ็ดยง" นี้ผู้รู้ท่านก็ว่าเป็นบทประพันธ์ของ คุณสุวรรณ กวีหญิงมีชื่อในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง "พระมะเหลเถไถ" ด้วย แต่บางท่านก็บอกว่าหลักฐานยังไม่ชัดเจนว่าใครกันแน่ที่แต่ง พอผมลองค้นเรื่องนี้ดูมันก็นำไปสู่บทความที่ปรากฏในจุลสารลายไทยที่เล่ามาข้างต้น และบทกลอนเรื่อง "สรรพลี้หวน"
  
รูปที่ ๒ เรื่องย่อ "พระเอ็ดยง" ที่ปรากฏในเชิงอรรถของหนังสือ "ผูกนิพพานโลกีย์ ตำรากามสูตรสัญชาติไทย"
  
อันที่จริงบทกลอนเรื่อง "สรรพลี้หวน" นี่ผมเคยได้ยินอาจารย์ผู้ใหญ่บางท่านเล่าให้ฟัง เฉพาะท่อนแรก ๆ เท่านั้น ตอนแรกผมยังคิดว่าเป็นกลอนร้องกันเล่น ๆ ในวงเหล้าเสียอีก แต่พอค้นดูก็พบว่ามันเป็นบทประพันธ์เก่าที่เป็นวรรณกรรมของทางภาคใต้ อายุอานามก็กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว เรื่องนี้ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แต่ง และเรื่องก็แต่งไม่จบซะด้วย (ไม่รู้ว่าหัวใจวายตายก่อนเพราะบทประพันธ์ที่ตัวเองแต่งหรือเปล่า หนังสือในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยก็มีเรื่องนี้อยู่ ๒ เล่ม
  
บทกลอนเรื่อง "สรรพลี้หวน" (อ่าน สับ-ลี้-หวน) สามบทแรกเป็นอย่างไรก็ลองดูในรูปที่ ๓ ข้างล่างก่อนก็แล้วกัน ผมนำมาจากหนังสือ "เรื่อง - สรรพลี้หวน" ทางซ้ายเป็นสำนวนภาษาปักษ์ใต้ ส่วนทางขวาเป็นสำนวนภาษาภาคกลาง เพื่อความปลอดภัย ผมแนะนำว่ากรุณาอ่านในใจนะครับ อย่าอ่านออกเสียงเลย เว้นแต่จะมีความมั่นใจสูงมากพอ
  
รูปที่ ๓ บทกลอนเรื่อง "สรรพลี้หวน" ในหน้าแรกจากหนังสือ "เรื่อง - สรรพลี้หวน" รูปบนเป็นบทกลอนต้นฉบับสำเนียงปักษ์ใต้ ส่วนรูปล่างนั้นผู้เขียนหนังสือแปลงมาเป็นสำเนียงภาคกลางให้

ดูเหมือนว่าเรื่อง "คำผวน" หรือ "การผวนคำ" เป็นลักษณะเฉพาะของภาษาเพียงไม่กี่ภาษาในโลก นอกเหนือจากภาษาไทยแล้วในหนังสือ "เรื่องสรรพลี้หวน" ที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เขียนนำและชำระนั้น ในส่วนเริ่มเรื่องที่ผู้พิมพ์ (เขาขอเรียกตนเองว่าผู้พิมพ์) ได้เล่าประสบการณ์ของท่านนั้น ก็ทำให้ทราบว่าภาษาเขมรก็มีคำผวนเหมือนกัน (คำผวนในภาษาเขมรเรียกว่า "เปี๊ยะก้วยลัวะ")
  
หลักเกณฑ์ในการผวนคำหรือสร้างคำผวนก็พอมีอยู่ เรื่องนี้ สันเสก ผะวัดทะนน เขียนอธิบายไว้ในบทความของเขาแล้ว เชิญไปดาวน์โหลดอ่านกันเองนะครับ และในบทความดังกล่าวผู้เขียนก็ยังได้ยกตัวอย่างคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะว่าไปแล้วเราก็ใช้กันประจำโดยไม่คิดอะไร (ซึ่งก็ดีแล้ว) แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงใช้คำอื่นแทนได้ (เพื่อให้มันคิดไม่ได้) เช่น
  
ตากแดด      ให้ใช้เป็น     ผึ่งแดด กรําแดด
คนป่วย       ให้ใช้เป็น     คนเจ็บ คนไข้ ผู้ป่วย
เจ็ดอย่าง       ให้ใช้เป็น     เจ็ดประการ เจ็ดสิ่ง
เห็นควรด้วย     ให้ใช้เป็น     เห็นด้วย เห็นควรเช่นกัน
หอพักสตรี      ให้ใช้เป็น     หอพักหญิง
คนสวย      ให้ใช้เป็น     คนงาม หญิงสวย สาวสวย
ถอยห่าง      ให้ใช้เป็น     ถอยไปหน่อย
หูไม่ดี      ให้ใช้เป็น     หูไม่ได้ยิน หูตึง

ปิดท้ายฉบับนี้ก็ขอนำเอา "สรรพลี้หวน" สองบทครึ่งสุดท้ายมาปิดท้ายก็แล้วกัน เพราะเรื่องนี้ยังแต่งไม่จบ เผื่อว่าจะมีใครอยากจะประพันธ์ต่อไปจนจบ อ่านมาถึงจุดนี้ผมคงไม่ต้องไฮไลต์คำใดแล้วนะครับ น่าจะเข้าใจเองได้อยู่แล้ว :) :) :)

เดินริมฝั่งหังหยีไม่หมีเห็น
จำปอเด็นตามเฝ้าหาวลูกสี
ถ้าสีหวนจวนศพเอาหบกี
พร้อมไหหยีโบตักเที่ยวดักรอ

ถึงเวลาสายัณห์หันดังหวี
ชวนเห็กหลีกลับไปเถอะใดหยอ
ไม่พีพบหลบกันดันทุกออ
ดังกลับรอฟังข่าวอยู่อ่าวใด

พอเย็นย่ำค่ำดีจะคลีหำ
ชวนงามขำเห็กหลีเข้าสีไห


(ต้นฉบับเดิมมีเพียงเท่านี้)

ไม่มีความคิดเห็น: