วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ทางรถไฟแยกลงแควน้อยที่ท่ากิเลน (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๐๖) MO Memoir : Tuesday 19 July 2559

เรื่องเล่าจากแผนที่เก่าของทางรถไฟสายมรณะ ที่จัดทำขึ้นในปีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด (ค.ศ. ๑๙๔๕ หรือ พ.ศ. ๒๔๘๘) เรื่องใน Memoir ฉบับนี้เป็นการเพิ่มเติมข้อมูลให้กับ Memoir ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙๕๔ วันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๘ เรื่อง "ทางแยกลงแควน้อยที่ท่ากิเลนและลุ่มสุ่ม (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๙๐)" แต่คราวนี้เป็นการเพิ่มเติมรูปถ่ายที่เพิ่งแวะไปถ่ายรูปมาเมื่อวาน (วันนี้เล่าเรื่องด้วยรูปก็แล้วกัน)
 
รูปที่ ๑ แผนที่ทหารอังกฤษจัดทำช่วงปีค.ศ. ๑๙๔๕ บริเวณสถานีท่ากิเลน แสดงเส้นทางรถไฟสองเส้นแยกออกจากสถานีมายังวัดปากกิเลนและบ้านท่ามะเดื่อ (จาก http://www.nla.gov.au/apps/cdview/?pi=nla.map-vn2018580-s12-v)
 
หยุดยาว ๕ วันก็ไม่ได้วางแผนไปเที่ยวไหน ใช้เวลาเสียสองวันเก็บตกงานต่าง ๆ ที่คั่งค้าง เมื่อวานก็เลยถือโอกาสไปเที่ยวเมืองกาญจนบุรีอีกครั้ง แวะไปเรื่อย ๆ ไปจนถึงปราสาทเมืองสิงห์ ออกจากปราสาทเห็นสถานีรถไฟท่ากิเลนอยู่ใกล้ ๆ ก็เลยถือโอกาสสำรวจเส้นทางรถไฟที่เคยมีในอดีต (จากหลักฐานแผนที่ทหาร) เสียหน่อย โดยขับรถไปตั้งต้นที่สถานีรถไฟท่ากิเลนก่อน จากนั้นก็ขับรถและแวะถ่ายรูปตามเส้นทางตามจุดต่าง ๆ (1 - 7 ในรูปที่ ๒) ไปจนถึงสุดทาง


รูปที่ ๒ ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณจากสถานีรถไฟท่ากิเลนมายังบ้านท่ามะเดื่อ (จาก https://map.longdo.com/) เส้นประคือแนวทางที่น่าจะเป็นแนวทางรถไฟเดิม โดยวาดเทียบกับแผนที่ในรูปที่ ๑ หมายเลขกำกับคือบริเวณที่ถ่ายรูปแต่ละรูปเอาไว้ ปลายทางรถไฟ (เส้นล่าง) น่าจะอยู่ตรงปลายเส้นประสีเหลืองตรงอาคารหลังคาสีขาวที่เห็นในรูป ส่วนทางรถไฟเส้นบนดูเหมือนจะแทบไม่มีร่องรอยให้เห็นแล้ว

รูปที่ ๓ สถานีรถไฟท่ากิเลน ตอนไปถึงก็เป็นจังหวะที่รถไฟสาย น้ำตก-หนองปลาดุก มาถึงพอดี ที่สถานีมีทั้งรถตู้และรถทัวร์มาจอดรอนักท่องเที่ยวเต็มไปหมด พอรถขบวนนี้จอดก็มีนั่งท่องเที่ยวลงมาเต็มสถานี สักพักสารพัดรถตู้และรถทัวร์ก็หายไปจากหน้าสถานีพร้อมนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก


รูปที่ ๔ บริเวณหน้าสถานี (จุดที่ 1 ในรูปที่ ๓) ต้นทางของเส้นทางรถไฟแยกไปลงแควน้อยเริ่มต้นแถว ๆ นี้

รูปที่ ๕ จุดที่ 2 ในรูปที่ ๓ ขับจากสถานีรถไฟมุ่งหน้าไปยังถนนสาย ๓๔๕๕ เส้นทางช่วงนี้เป็นถนนลาดยางอย่างดี


รูปที่ ๖ จุดที่ 3 ในรูปที่ ๓ ดูเหมือนตรงนี้จะเป็นตำแหน่งที่มีน้ำหลากไหลผ่าน เพราะมีเศษหินเศษดินโดนน้ำพัดมากองอยู่บนผิวจราจร


รูปที่ ๗ จุดที่ ๔ ในรูปที่ ๓ เป็นจุดตัดกับถนนสาย ๓๔๕๕ มีซุ้มบอกทางเข้าวัดปากกิเลน ถ้าเลี้ยวไปทางขวาจะไปปราสาทเมืองสิงห์ ตรงบริเวณนี้น่าจะเป็นจุดที่ทางรถไฟแยกเป็นสองสาย แต่ตอนนี้ไม่เห็นมีร่องรอยของทางแยกแล้ว


รูปที่ ๘ จุดที่ ๕ ในรูปที่ ๓ ที่เห็นรั้วอยู่ข้างหน้าคือสถานีอนามัยท่ากิเลน ทางไปวัดปากกิเลน (เส้นทางที่น่าจะเป็นทางรถไฟเดิม) คือถนนที่ตรงไปข้างหน้า


รูปที่ ๙ จุดที่ 6 ในรูปที่ ๓ บริเวณหน้าวัดปากกิเลน น่าจะเป็นจุดที่ทางรถไฟ (สายล่าง) เลี้ยวขวาไปทางบ้านท่ามะเดื่อเพื่อไปยังแม่น้ำแควน้อย พอเลี้ยวถัดไปหน่อยถนนคอนกรีตจะไปสิ้นสุดตรงบริเวณเมรุเผาศพพอดี

รูปที่ ๑๐ บริเวณจุดที่ 7 ในรูปที่ ๓ พอพ้นเมรุเผาศพออกมาก็กลายเป็นถนนโรยหินแล้ว

รูปที่ ๑๑ พอพ้นถนนโรยหินก็มาเจอถนนลาดยางตัดขวางหน้าและวิ่งตรงไป (บริเวณอาคารหลังคาสีขาวปลายทางรถไฟในรูปที่ ๓) เส้นทางช่วงนี้น่าจะเป็นส่วนที่เลยจากปลายทางรถไฟมาแล้ว


รูปที่ ๑๒ จุดที่ 8 ในรูปที่ ๓ ขับมาจนสุดถนน กลายเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทร้าง

ไม่มีความคิดเห็น: