วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๘ (ตอนที่ ๒) MO Memoir : Wednesday 29 June 2559

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog



เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เป็นการบันทึกการประชุมย่อยเกี่ยวกับผลการทดลองในช่วงบ่ายวันวาน


วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ความเป็นกรดของหมู่ไฮดรอกซิล (Hydroxyl group) ตอนที่ ๑ MO Memoir : Tuesday 28 June 2559

หมู่ไฮดรอกซิล (Hydroxyl group หรือ -OH) ที่จะคุยกันในที่นี้คือหมู่ที่อะตอม O นั้นสร้างพันธะโควาเลนซ์กับอะตอมไฮโดรเจน ๑ อะตอม และสร้างพันธะโควาเลนซ์กับอะตอมอื่นอีก ๑ อะตอมที่ไม่ใช่ H ตรงนี้หลายรายไปจำสับสนกับไฮดรอกไซด์ไอออน (Hydroxide ion หรือ OH-) ซึ่งเป็นกรณีที่ไอออน OH- นั้นสร้างพันธะไอออนิกกับไอออนบวกตัวอื่น 
  
ไฮดรอกไซด์ไอออนนั้นเป็นเบส (ไม่ว่าไอออนบวกนั้นจะเป็นไอออนอะไร) แต่หมู่ไฮดรอกซิลนั้นเป็นได้ทั้งกรดและเบส ขึ้นอยู่กับว่าอะตอม O นั้นไปสร้างพันธะอีกพันธะหนึ่งเข้ากับหมู่อะไร หมู่ -OH แสดงฤทธิ์เป็นกรดได้ด้วยการจ่าย H+ ออกมา และแสดงฤทธิ์เป็นเบสลิวอิสได้ด้วยการใช้อิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยว (lone pair electron) ของอะตอม O นั้นรับ H+ ซึ่งมักตามมาด้วยการหลุดของหมู่ -OH ออกมาในรูปของ H3O+ ดังรูปที่ ๑ ข้างล่าง
 
รูปที่ ๑ การแสดงฤทธิ์เป็นกรดและเบสของหมู่ไฮดรอกซิล

เรื่องความเป็นเบสของหมู่ไฮดรอกซิลนั้นขอเก็บเอาไว้ก่อน ใน Memoir ฉบับนี้จะคุยกันเพียงแค่ความเป็นกรด
 
โดยธรรมชาติของอะตอมที่มีประจุนั้น มันจะดึงดูดประจุที่ตรงข้ามกันเข้าหากัน ความสามารถในการดึงประจุที่ตรงข้ามกันนั้นขึ้นอยู่กับความหนาแน่นประจุ ความหนาแน่นประจุดูได้จากปริมาณประจุต่อขนาดอะตอมหรือกลุ่มอะตอมที่มีประจุนั้น ถ้าอะตอมนั้นมีความหนาแน่นประจุสูง มันก็จะแรงในการดึงประจุตรงข้ามที่สูง เพื่อสะเทินประจุของตัวมันเอง ประจุที่ตรงข้ามกันนั้นอาจอยู่ในรูปของไอออนที่มีประจุตรงข้าม หรือตำแหน่งของโมเลกุลที่มีขั้ว 
  
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีของกรด HX ที่ความแรงของกรดเรียงตามลำดับ HF < HCl < HBr < HI แม้ว่าทั้ง F- Cl- Br- และ I- ต่างเป็นไอออนที่มีประจุ -1 เหมือนกัน แต่ไอออน F- มีขนาดเล็กสุดจึงมีความหนาแน่นประจุมากที่สุด (หรือจะมองว่าอิเล็กตรอนที่เกินมา 1 ตัว มันหาตัวเพื่อสร้างพันธะได้ไม่ยากก็ได้) จึงสามารถดึงเอา H+ กลับเข้าหามันได้ง่ายกว่าตัวอื่น (ในสภาวะที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย HF จึงเป็นกรดอ่อน) ส่วนไอออน I- มีขนาดใหญ่สุด ประจุลบจึงแผ่กระจายออกไปมากกว่า (หรือจะมองว่าไอออนบวกที่จะเข้ามาสร้างพันธะกับอิเล็กตรอนที่เกินมา 1 ตัวจะสร้างได้ยากกว่าเพราะหาอิเล็กตรอนตัวนั้นได้ยากกว่า เนื่องจากมันมีพื้นที่ให้เคลื่อนที่ที่กว้างกว่า) HI จึงเป็นกรดที่แก่ที่สุดในกลุ่มนี้
 
ในกรณีของไอออนที่ประกอบขึ้นจากอะตอมหลายอะตอม ยังมีอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถลดความหนาแน่นประจุได้นั่นก็คือการเกิดทำให้ประจุนั้นเคลื่อนที่ไปยังอะตอมอื่นที่อยู่เคียงข้าง (จะเรียกว่าเกิด delocalization หรือ resonance ก็ตามแต่) ในทางเคมีอินทรีย์ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของกรณีนี้ก็คือ pi electron ของวงแหวนเบนซีนหรือในกรณีของ conjugated double bond (โครงสร้างโมเลกุลที่มีพันธะ C=C สลับกับพันธะ C-C) ตำแหน่งพันธะคู่ C=C นั้นมองได้ว่าเป็นเบสลิวอิสหรือเป็นบริเวณที่มีอิเล็กตรอนหนาแน่น แต่พอเกิด delocalization แล้วทำให้ความหนาแน่นของอิเล็กตรอน ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งลดลง การดึงอิเล็กตรอนจากวงแหวนเบนซีนจึงยากกว่าการดึงจากพันธะ C=C ปรกติ
ที่เล่ามาข้างต้นเป็นพื้นฐานเพื่อการทำความเข้าใจว่าทำไมหมู่ -OH จึงแสดงฤทธิ์เป็นกรดที่มีความแรงแตกต่างกันได้

ในกรณีของแอลกอฮอล์นั้น หมู่ -OH เกาะอยู่กับอะตอม C ของหมู่ R โดยอะตอม C ตัวที่มีหมู่ -OH เกาะอยู่ของหทู่ R นี้สร้างพันธะที่เหลือเข้ากับอะตอม C ตัวอื่น (ในรูปแบบของพันธะเดี่ยว C-C นะ ไม่ใช่พันธะคู่ C=C) หรืออะตอม H และโครงสร้างส่วนที่เหลือของหมู่ R เป็นหมู่ไฮโดรคาร์บอนอิ่มหรือไม่อิ่มตัว ถ้าหมู่ไฮดรอกซิลของแอลกอฮอล์นี้จ่ายโปรตอนออกไป ไอออนลบที่เกิดขึ้น (ที่เรียกว่าอัลคอกไซด์ไอออนหรือ alkoxide) จะมีประจุลบค้างอยู่ที่ตำแหน่งอะตอม O เท่านั้น เพราะอะตอม C ของหมู่ R ที่มีหมู่ -OH เกาะอยู่นั้นไม่มีความสามารถในการดึงอิเล็กตรอนออกไปจากอะตอม O ทำให้ความหนาแน่นประจุที่ตำแหน่งอะตอม O สูงมาก มันก็เลยไม่อยากปล่อยโปรตอนออกไป ยกเว้นแต่ว่าจะมีเบสที่แรงจริง ๆ เท่านั้นมาทำปฏิกิริยาด้วย (เช่นโลหะ Na) ดังนั้นหมู่ -OH ของแอลกอฮอล์จึงมีฤทธิ์เป็นกรดที่อ่อนมาก
 
ในกรณีของฟีนอลนั้น หมู่ -OH เกาะเข้าโดยตรงกับอะตอม C ของวงแหวนเบนซีน เมื่อหมู่ -OH จ่ายโปรตอนออกไป อะตอม C ที่มีหมู่ -OH เกาะอยู่นั้นก็ไม่มีความสามารถในการดึงอิเล็กตรอนจากอะตอม O เช่นกัน (เพราะ C มีค่าอิเล็กโทรเนกาติวิตี (electronegativity) ต่ำกว่า O) แต่อะตอม C ดังกล่าวมี pi electron ของพันธะไม่อิ่มตัว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คืออิเล็กตรอนที่ทำให้เกิดประจุลบที่อะตอม O จะเกิดการ delocalization กับ pi electron ของวงแหวนเบนซีน (ดังรูปที่ ๒ ข้างล่าง) ทำให้ประจุลบมีการแผ่กระจายออกไปทั้งโมเลกุล (หรือกล่าวได้ว่ามีความหนาแน่นประจุลดลง) ฟีนอลจึงเป็นกรดที่แรงกว่าแอลกฮอล์ (เพราะ phonoxide ion มีเสถียรภาพมากกว่า)
 
รูปที่ ๒ การเกิด charge delocalization ของ phenoxide ion

ทีนี้ลองมาดูกรณีของกรดอินทรีย์ (carboxylic acid) กันดูบ้าง ในกรณีนี้อะตอม O ของหมู่ -OH เกาะกับอะตอม C ของหมู่คาร์บอนบิล (carbonyl -CO-) อะตอม C ของหมู่คาร์บอนิลตัวนี้มีอะตอม O เกาะด้วยพันธะคู่อยู่อีก ๑ อะตอม และอะตอม O ตัวนี้เป็นตัวที่ดึงอิเล็กตรอนออกจากอะตอม C ทำให้อะตอม C มีความเป็นขั้วบวก ดังนั้นเมื่อหมู่ -OH จ่ายโปรตอนออกไปกลายเป็น -O- ประจุลบที่ -O- จะถูกอะตอม C ของหมู่คาร์บอนิลดึงเข้าหาให้เคลื่อนที่ไปทางฝั่งนี้บ้าง ทำให้ความหนาแน่นประจุลบของ -O- ลดลง แต่ที่สำคัญคือโครงสร้าง C=O ของหมู่คาร์บอนนิลนั้นสามารถทำให้ประจุลบของ -O- เกิด delocalization ได้ และเป็นตัวหลักที่ทำให้ความหนาแน่นประจุลดลง (เพราะแผ่ออกไปเป็นบริเวณที่กว้างขึ้น) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กรดอินทรีย์มีความเป็นกรดที่แรงกว่าแอลกอฮอล์และฟีนอล


รูปที่ ๓ การเกิด delocalization ของหมู่คาร์บอกซิล

แรงที่กระทำต่อไอออนที่อยู่บนพื้นผิวสารประกอบโลหะออกไซด์ที่เป็นของแข็งนั้นเป็นแรงที่ไม่สมมาตร ทำให้ด้านที่หันเข้าหาเฟสแก๊ส/ของเหลวนั้นสามารถดึงดูดโมเลกุลที่มีขั้วให้มาเกาะอยู่บนพื้นผิว (ที่เรียกว่าเกิดการดูดซับ) และโมเลกุลมีขั้วที่มีอยู่ทั่วไปมากที่สุดเห็นจะได้แก่น้ำ
 
ถ้าไอออนบวกนั้นเป็นกรดลิวอิส (Lewis acid) ที่แรงมาก มันจะดึงเอาส่วน OH- ให้มาเกาะกับตัวมันและแยก H+ ไปเกาะกับไอออน O ที่อยู่ข้างเคียงให้กลายเป็นหมู่ -OH ที่มีคุณสมบัติเป็น Brönsted acid site ที่สามารถจ่าย H+ ให้กับเบส (ฟัง ๆ ดูแล้วอาจจะงงหน่อย แต่ว่ามันไม่ใช่ไฮดรอกไซด์ไอออนนะ) และในสภาวะที่เหมาะสม (เช่นที่อุณหภูมิสูง มีไอน้ำ ฯลฯ) พื้นผิวก็จะคายโมเลกุลน้ำออกมา เปลี่ยนสภาพเป็น Lewis acid ได้


รูปที่ ๔ การเกิด Brönsted และ Lewis acid site บนพื้นผิวซีโอไลต์ที่เกิดจากการดูดซับน้ำหรือคายน้ำ หรือการแทนที่ Si4+ ด้วยไอออน 4+ ของโลหะตัวอื่น (จากบทความเรื่อง "Recent progress in the development of solid catalysts for biomass conversion into high value-added chemicals : Focus issue review", โดย Michikazu Hara, Kiyotaka Nakajima และ Keigo Kamata, Sci, Technol. Adv. Mater. 16 (2015) 22 pp.


รูปที่ ๕ การเปลี่ยนจากBrönsted มาเป็น Lewis acid site บนพื้นผิวซีโอไลต์อันเป็นผลจากไอน้ำและความร้อน ทำให้ Al3+ หลุดออกจากโครงสร้าง และตัว Al3+ ที่หลุดออกมาตัวนี้แหละที่เป็น Lewis acid site (จาก http://what-when-how.com/nanoscience-and-nanotechnology/catalytic-properties-of-micro-and-mesoporous-nanomaterials-part-1-nanotechnology/)
 
รูปที่ ๔ เป็นตัวอย่างกรณีของซีโอไลต์ (zeolite) ที่ทำให้เกิดความไม่สมมาตรด้วยการแทรกไอออน Al3+ เข้าไปในโครงสร้าง SiO2 (ที่ประกอบด้วย Si4+) เจ้าตัว Al3+ ที่ทำให้เกิดความไม่สมมาตรในโครงสร้าง ดึงดูดโมเลกุลน้ำเข้ามา ทำให้เกิดตำแหน่งที่เป็น Brönsted acid site บนพื้นผิว แต่ถ้าให้ความร้อนที่สูงมากพอและมีไอน้ำร่วม ไอออน Al3+ จะหลุดออกาจากโครงสร้างได้ และเจ้าตัว Al3+ ที่หลุดออกมาตัวนี้แหละที่เป็น Lewis acid site (รูปที่ ๕)
 
รูปที่ ๖ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของหมู่ -OH บนพื้นผิวโลหะออกไซด์ ที่แสดงฤทธิ์เป็น Brönsted acid site (ไอออนบวกของโลหะดึงอิเล็กตรอนออกจากอะตอม O แบบเดียวกับที่หมู่คาร์บอนิล -CO- ทำนั่นแหละ) แต่เป็นกรณีที่มีการใช้สารประกอบซับเฟต (SO42-) เข้าไปเสริมแรงของ Lewis acid site 
  
รูปที่ ๖ การเกิด Brönsted และ Lewis acid site บนพื้นผิวสารประกอบโลหะออกไซด์ (ซ้าย) พื้นผิวปรกติ (ขวา) ได้รับการเสริมด้วยซัลเฟต (SO42-) (จากบทความเรื่อง "Nanoporous catalysts for biomass conversion : Critial Review" โดย Liang Wang และ Feng-Shou Xiao, Green Chem, 2015, 17, pp 24-39)

อันที่จริงเรื่องความเป็นกรดของหมู่ -OH บนพื้นผิวมันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง เอาไว้ผมมีความรู้เรื่องนี้ดีก่อนแล้วค่อยเล่าให้ฟังก็แล้วกัน เพราะมันมีหลายแบบจำลองที่ขัด ๆ กันอยู่ ว่าแต่ตรงจุดนี้อาจมีคนสงสัยว่าเริ่มต้นเรื่องนี้ด้วยเคมีอินทรีย์แล้วมาจบลงที่เคมีอนินทรีย์ได้อย่างไร สาเหตุก็เป็นเพราะคิดว่ามีใครต่อใครหลายคนอาจต้องการความรู้พื้นฐานเรื่องความเป็นกรดของหมู่ไฮดรอกซิลเพื่อเอาไปใช้ในการสอบวิทยานิพนธ์ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ก็เลยเขียนเรื่องนี้เล่าสู่กันฟังเท่านั้นเอง
 
ส่วนภาพในหน้าถัดไปก็ไม่มีอะไร เห็นมีคนเขาโพสบนหน้า facebook ของเขาเมื่อช่วงหัวค่ำวันวานที่ผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย) ก็เลยขอเอามาบันทึกไว้กันลืมเท่านั้นเอง เพราะในความเป็นจริงผมเองก็ไม่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หรือกรรมการสอบของพวกเขาเลย เป็นเพียงแค่แวะไปกินกาแฟกับพวกเขาเท่านั้นเอง

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ตำราสอนการใช้ปิเปตเมื่อ ๓๓ ปีที่แล้ว (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๐๕) MO Memoir : Saturday 25 June 2559

ระหว่างจัดหนังสือก็ค้นเจอตำราเก่า ๆ ที่เคยใช้สมัยเรียนปี ๑ ก็เลยขอเอาบางส่วนมาให้ดูกัน เพื่อที่จะได้เห็นว่าในยุคสมัยหนึ่งนั้นบางสิ่งมันเป็นเรื่องที่เขาสอนให้ปฏิบัติกันเป็นเรื่องปรกติ แต่ต่อมาภายหลังก็มีการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นวิธีการปฏิบัติที่ไม่ปลอดภัย และห้ามกระทำกัน นั่นคือการ "ปาก" ดูดปิเปต
 
ตอนเรียนมัธยมปลายยังมีโอกาสทำการทดลองภาคปฏิบัติทั้งวิชา ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา (เจอทั้งผ่ากบและผ่ากระต่าย) พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยพอมีพื้นฐานในการทำการทดลองอยู่บ้าง การใช้ปากดูดปิเปตในยุคสมัยนั้นก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องปรกติที่มีการสอนให้ทำกัน วิธีการก็คือให้เอานิ้วชี้อุดปลายปิดเปตข้างที่จะดูดเอาไว้ จากนั้นก็เอาปากอมทั้งนิ้วชี้ทั้งปลายปิเปต เปิดนิ้วที่อุดปลายปิเปตเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ ดูดของเหลวให้ไหลเข้าปิเปต ตาก็ต้องคอยมองดูด้วยว่าของเหลวไหลขึ้นมาเกินระดับขีดบอกปริมาตรหรือยัง ถ้าเห็นว่ามันขึ้นมาสูงเกินแล้วก็ให้หยุดการดูด แล้วใช้การเปิด-ปิดปลายนิ้วชี้ในการปรับปริมาตรของเหลวในปิเปตให้ถูกต้อง
 
แต่ก็อย่างว่า ขีดบอกปริมาตรที่ถูกต้องมันอยู่ใกล้ปากดูด มันก็เลยมองยาก ดังนั้นอุบัติหตุประเภทดูดสารละลายเกินเข้ามาในปากจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
 
ส่วนอาคารที่เคยเป็นห้องเรียนแลปเคมีเดิม ตอนนี้กลายเป็นอาคารศิลปวัฒนธรรมไปแล้ว (ภาพข้างล่าง)







 

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

MO Memoir รวมบทความชุดที่ ๘ รถไฟ ปู๊น ปู๊น MO Memoir : Friday 24 June 2559

"รถไฟ" เป็นเรื่องราวที่ผมชอบมากที่สุดบนหน้า blog ของผมครับ 
  
ในขณะที่คนส่วนหนึ่งมองหาการมาถึงของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่มองหาความสงบเงียบและความงามของบรรยากาศสองข้างทางรถไฟเมื่อมองจากหน้าต่างรถไฟที่วิ่งไปเรื่อย ๆ ตรงนี้ก็คงขึ้นอยู่กับว่าคนเหล่านั้นเดินทางโดยรถไฟเพื่อวัตถุประสงค์ใด และให้คำจำกัดความของ "การท่องเที่ยว" ไว้อย่างใด
 
คนที่เดินทางโดยมีธุระติดต่อเป็นเป้าหมายหลัก ความรวดเร็วในการเดินทางจึงเป็นสิ่งสำคัญ คนที่ท่องเที่ยวโดยสนแต่ปลายทางเป็นจุดหมายหลัก ความรวดเร็วในการเดินทางจึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แต่สำหรับผู้ที่เห็นว่าการท่องเที่ยวคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตลอดเส้นทางเดินทางนั้น การได้มีเวลาสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ระหว่างเส้นทางจึงเป็นสิ่งสำคัญ
 
เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับรถไฟที่เขียนลง blog ลงไปนั้น ไม่ได้คิดจะเจาะลึกลงไปในแต่ละเรื่องหรอกครับ เป็นเพียงแค่บันทึกความจำว่าเคยเห็นเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟ (ที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงกัน) ที่ไหนบ้าง แต่ก็ไม่แน่นะครับ เกษียณอายุเมื่อใดอาจเอาเรื่องที่บันทึกไว้มาเป็นต้นเรื่องให้ค้นคว้าลงไปอย่างละเอียดอีกที ก็คนเราก็ต้องมีงานอดิเรกกันบ้างใช่ไหมครับ ไม่ใช่ว่าคุยได้แต่เรื่องเดียวคือเรื่องงาน

ดาวน์โหลดไฟล์ pdf กดที่นี่



วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

น้ำตาลในผลไม้ (คิดสักนิดก่อนกดแชร์ เรื่องที่ ๘) MO Memoir : Thursday 23 June 2559

ลองดู Infographic ข้างล่างดูก่อนนะครับ เห็นแล้วคุณรู้สึกอย่างไร ผมเห็นคนเขากดแชร์กันใหญ่เมื่อวานนี้ ดูเหมือนว่าใน facebook ต้นเรื่องนั้นเพิ่งจะนำขึ้นในวันอังคารที่ผ่านมา


ตอนแรกที่คุณเห็น คุณคิดว่าผลไม้ชนิดไหนมีน้ำตาลมากที่สุด และชนิดไหนมีน้ำตาลน้อยที่สุดครับ คุณเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับผลไม้บางชนิดหรือเปล่าครับเมื่อได้เห็นกราฟแท่งดังกล่าว
 
ทีนี้ลองดูใหม่อีกทีนะครับ ผมตัดมาบางส่วนและขีดเส้นใต้เน้นให้เห็นชัดเจน



ปรกติเวลาคุณกินกล้วยหอม คุณก็มักจะกินทั้งใบใช่ไหมครับ (มีสักกี่คนที่กินแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วทิ้งหรือเก็บไว้กินต่อ) แล้วเวลากินน้อยหน่า คุณกินทีละ "1.2 ผล" หรือครับ (แล้วอีก 0.8 ผลเอาไปไหน เก็บไว้อย่างไร) เวลากินมะม่วง คุณกินครั้งละ "0.3 ผล" เช่นนั้นหรือ และเวลากินฝรั่งก็เช่นกัน คุณกินทีละ "0.25 ผล" หรือเปล่าครับ 
  
มาถึงตรงนี้คงจะเห็นแล้วนะครับว่า กราฟแท่งที่เขาแสดงเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลนั้น เป็นการเปรียบเทียบที่ "เป็นธรรม" หรือไม่ ข้อมูลที่เขานำมาแสดงนั้นอาจจะถูกก็ได้ครับ (ตรงนี้ผมไม่รู้นะ) ถ้าคิดจากปริมาณน้ำตาลตามหน่วยบริโภคที่เขาแสดง แต่ในความเป็นจริงเราบริโภคผลไม้กันตามหน่วยบริโภคนั้นหรือไม่
 
ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่พอเห็นคนกดแชร์รูปมาก็มักจะกดแชร์ต่อ ๆ กันไป ไม่รู้ว่าจะมีสักกี่คนที่เข้าไปอ่านจากต้นตอ ซึ่งบางทีเราก็จะเห็นความเห็นแย้งกับรูปภาพดังกล่าว และเป็นความเห็นแย้งที่มีเหตุผลซะด้วย อย่างเช่นในกรณีของรูปนี้ก็มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นประกอบดังรูปข้างล่าง ลองอ่านเอาเองนะครับ


ความเห็นแย้งข้างบนยังไม่จบนะครับ ยังมีคนแสดงความเห็นโต้ตอบกันอยู่ ส่วนใครจะถูกใครจะผิดนั้นผมก็บอกไม่ได้ เพราะไม่ได้มีความรู้อะไรทางด้านนี้ เพียงแค่อยากยกตัวอย่างให้เห็นในสิ่งที่ผมมักจะกล่าวเสมอเวลาสอนสัมมนาว่า สิ่งสำคัญคือ"ฟังอย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก"

เดี๋ยวนี้เห็นบ่อยครั้งที่ Infographic ไม่ได้แสดงข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรอก คนอ่านต่างหากที่อ่านไม่ละเอียดเอง และสรุปไม่ดีเอง

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ภาพบันทึกความทรงจำ กว่าจะเป็นวิศวกรเคมี ๘๑-๙๐ MO Memoir : Tuesday 21 June 2559

กลับมาใหม่อีกครั้งหลังห่างหายไปกว่าปี มาคราวนี้การเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย คือชุดก่อนนี้ลงภาพเป็นขาว-ดำ แต่มาคราวนี้เปลี่ยนเป็นลงภาพสีแทน และมีการพลิกภาพที่อยู่ในแนวนอนให้วางตั้งขึ้นเพื่อให้ภาพมันขยายได้ใหญ่เต็มหน้ากระดาษ (เฉพาะในส่วนของไฟล์ pdf ที่แจกจ่ายทางอีเมล์)
 
วันที่ที่ปรากฏอยู่เหนือแต่ละภาพคือวันที่นำภาพดังกล่าวแสดงบนหน้า blog ในกล่อง "กว่าจะเป็นวิศวกรเคมี" ส่วนรายละเอียดของภาพนั้นอยู่ทางด้านล่างของแต่ละภาพ
 
อีก ๑๐ ภาพของสิ่งที่คนทั่วไปอาจะเห็นว่าเป็น เหตุการณ์ธรรมดา ๆ ของบุคคลธรรมดา ๆ ถ่ายในสถานที่ธรรมดา ๆ โดยตากล้องธรรมดา ๆ แต่สำหรับคนที่อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในภาพหรือไม่อยู่ในภาพนั้นนั้น มันจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ก็คงขึ้นอยู่กับความทรงจำของเขาเหล่านั้น


วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙
วันพฤหัสบดีที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ นิสิตป.ตรีเตรียมป้ายไว้ต้อนรับบัณฑิตที่จะมารับปริญญาในวันรุ่งนี้ วันนี้เป็นวันรับปริญญาของนิสิตบัณฑิตศึกษาของคณะ


วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙
วันพุธที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ นิสิตป.ตรี ปี ๓ ระหว่างการเรียนวิชา Unit Operation Lab I


วันอังคารที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙
วันจันทร์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ แลปเคมีอินทรีย์


วันจันทร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๙
วันอังคารที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙ แปล Unit Operation III นิสิตปี ๓



วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙
วันพฤหัสบดีที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ แลป Unit Operation II นิสิตปี ๔


วันเสาร์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๙
วันเสาร์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ วัน CU First Date บรรยากาศถนนระหว่างศาลาพระเกี้ยวไปยังหอประชุม (ถ่ายจากลานจักรพงษ์ (สระว่ายน้ำ ๕๐ เมตรเดิม)) ที่มีการขายเสื้อและกระเป๋าของนิสิตรุ่นพี่


วันจันทร์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๙
วันศุกร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗ การนำเสนอบอร์ดซีเนียร์โปรเจคนิสิตปี ๔ ก่อนสำเร็จการศึกษา


วันพุธที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๙
วันเสาร์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๐ นิสิตตัวแทนภาควิชาที่ไปร่วมแข่งขันกีฬาระหว่างภาควิชาวิศวกรรมเคมี "โลมาเกมส์" ที่มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน


วันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๙
วันจันทร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ การทดลองแลปเคมีอินทรีย์เรื่อง "ทอดไข่เจียวให้อร่อยต้องใช้น้ำมันหมู - จริงหรือเท็จ" ของนิสิตวิศวกรรมเคมีชั้นปีที่ ๒


วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙
วันเสาร์ที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๑ ทัศนศึกษาภาควิชา พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ ข้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว กาญจนบุรี

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เส้นทางรถไฟที่หายไป (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๐๔) MO Memoir : Monday 20 June 2559

"การสร้างทางรถไฟในประเทศไทยถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขทางการเมืองตั้งแต่แรก ไวเลอร์ได้รับรู้ถึงความขัดแย้งทางการเมืองนี้แต่เพียงผิวเผินในขณะที่เขายังเป็นวิศวกรหนุ่มประจำทางรถไฟสายโคราช แต่เขาก็ได้ติดตามเรื่องราวนี้ด้วยความสนใจ เขาทราบดีตั้งแต่แรกว่าการสร้างทางรถไฟจะช่วยสร้างความมั่นคงภายในให้ประเทศนี้ และสิ่งนี้จะช่วยรักษาความเป็นเอกราชของประเทศได้ ถ้าขัดขวางไม่ให้ประเทศมหาอำนาจทั้งสองมีอิทธิพลต่อการสร้างทางรถไฟได้สำเร็จ"
 
(จากหน้า ๔ ของหนังสือ "กำเนิดการรถไฟในประเทศไทย" ลูอิส ไวเลอร์ เขียน ถนอมนวล โอเจริญ และ วิลิตา ศรีอุฬารพงศ์ แปล โครงการเผยแพร่ผลงานวิขาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลำดับที่ ๑๔๙ พิมพ์ครั้งที ๒ พ.ศ. ๒๕๕๖) 
  
หนังสือ "Rails of the Kingdom : The History of Thai Railways" เรียบเรียงโดย Ichiro Kakizaki ให้ภาพปัญหาของการตัดสินใจสร้างทางรถไฟของประเทศไทยได้ดีมาก และได้ให้ภาพการรถไฟของไทยในยุคแรก ๆ ว่าเป็น "Political Railways" เพราะความจำเป็นในการก่อสร้าง แนวเส้นทาง ผู้ดำเนินการ หรือแม้แต่ขนาดราง ต่างก็มีปัจจัยทางด้านการเมืองที่ต้องหาจุดสมดุลระหว่างแรงกดดันจากชาติมหาอำนาจ และการคงไว้ซึ่งเอกราชของประเทศชาติ ผมว่าแทนที่จะไปโพสถามคำถามทำนองว่า "ไทยกับญี่ปุ่นมีรถไฟในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำไมรถไฟญี่ปุ่นจึงเจริญกว่ารถไฟไทย" ตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ถ้าหาหนังสือเหล่านี้มาอ่าน (อย่างน้อยก็สองเล่มที่ยกมาข้างต้น) ก็จะทราบคำตอบที่ถูกต้องได้เอง
 
รถไฟของไทยในยุคแรกใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้นจึงมีการสร้างทางรถไฟเข้าไปในป่าเพื่อนำฟืนมารวมไว้ที่สถานีหลัก ส่วนของเอกชนนั้นก็มีการสร้างทางรถไฟขึ้นใช้งาน (ในยุคแรกเรียกว่ารถไฟหัตถกรรม) พวกที่ทำเหมืองแร่ดีบุกในภาคใต้บางแห่งก็มีการวางทางรถไฟเพื่อนำแร่ออกมา เส้นทางขนแร่นั้นมักเป็นเส้นสั้น ๆ เส้นทางที่ยาวกว่ามักจะเป็นของพวกที่ทำป่าไม้ทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออก แต่เมื่อป่าไม้หมดไป บริเวณป่าเดิมกลายเป็นเขตเกษตรกรรมขึ้นแทน จากรถไฟขนไม้ก็กลายเป็นรถไฟขนอ้อยเข้าโรงงาน เช่นที่ศรีราชา หรืออาจมีการวางรางรถไฟเพื่อขนอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลโดยตรง เช่นทางภาคเหนือ เส้นทางรถไฟเหล่านี้ปัจจุบัน (เชื่อว่า) ไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว แนวเส้นทางรถไฟเดิมแปรเปลี่ยนกลายเป็นถนนไป รถไฟหัตถกรรมเดิมของเอกชนนั้นเดิมมีการกำหนดให้ใช้ความกว้างของรางที่แคบกว่าของกรมรถไฟหลวง (ของกรมรถไฟหลวงใช้รางมาตรฐานหรือกว้าง 1 เมตร ส่วนของเอกชนก็จะแคบกว่าเช่นกว้าง 0.75 เมตร) ตรงนี้มันมีเรื่องเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง (ต้องกลับไปดูสถานการณ์ยุคสมัยที่การล่าอาณานิคมยังมีอยู่) แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนแปลงไป รถไฟของการรถไฟรับหน้าที่ขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าไปรับส่งถึงในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเลย

"กิน ซื้อของฝาก ไหว้พระขอพร วิวถ่ายรูปสวย" ดูเหมือนจะเป็นแนวนิยมในการเที่ยวของคนไทย การเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นั้นยังไม่เป็นที่นิยมกันเท่าใด คงเป็นเพราะต้องมีการทำการบ้านกันก่อน ว่าสถานที่ที่จะไปนั้นมีความเป็นมาอย่างใด แต่ถึงกระนั้นก็ตามข้อมูลดังกล่าวก็มีอยู่น้อยมาก เว้นแต่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
 
Memoir ฉบับนี้เป็นเพียงการนำเอาแผนที่เก่า ๆ ที่สะสมไว้มารวมเข้าด้วยกัน เพราะวางแผนว่าจะนำเอาบทความที่เกี่ยวข้องกับรถไฟรวมเป็นรวมบทความอีกชุดหนึ่ง เลยไม่อยากให้มันตกหล่นแค่นั้นเอง


รูปที่ ๑ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตตั้งสุขาภิบาลเกาะคา อ.เกาะคา จ. ลำปาง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๖๐ ฉบับพิเศษหน้า ๗๑-๗๓ วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๙๙ แสดงให้เห็นว่าเส้นทางรถไฟของโรงงานน้ำตาลเป็นเครือข่ายที่ใหญ่เครือข่ายหนึ่ง (น่าจะรองจากเส้นทางขนไม้ที่ศรีราชา)

รูปที่ ๒ แผนที่ทหาร L509 ทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลในปีพ.ศ. ๒๕๐๐ ปรากฏเส้นทางรถไฟที่ อ.เกาะคา (Ko Kha) ทางด้านล่างของรูป

รูปที่ ๓ แผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. ๒๔๘๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๖ ตอนที่ ๑๑๒ วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๒ หน้า ๖๒๙-๖๓๑ ปรากฏเส้นทางรถไฟจากป่าสงวนมายังสถานีไร่อ้อย

รูปที่ ๔ แผนที่ทหาร L509 บริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์ (จัดทำโดยใช้ข้อมูลปีพ.ศ. ๒๕๐๐) ที่บ้านท่าข้าม (Ban Tha Kham) ก่อนถึงชุมทางบ้านดารา (Ban Dara) ที่แยกไป อ.สวรรคโลก) มีการระบุเส้นทางรถไฟจากสถานีไรอ้อยแยกออกไปทางตะวันตกไปบ้านนายาง (Ban Na Yang) ว่าอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

รูปที่ ๕ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งสุขาภิบาลสูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๔๕ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๙ ฉบับพิเศษหน้า ๒๓-๒๔ ปรากกฏเส้นทางรถไฟเล็กมายัง อ. สูงเนิน

รูปที่ ๖ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลสูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๘ ตอนที่ ๒ วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๑๔ หน้า ๒-๔ แสดงเส้นทางรถไฟเล็กในภาพที่กว้างกว่ารูปที่ ๕ เพราะมีการขยายเขตสุขาภิบาล


รูปที่ ๗ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านหมอ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๒ ตอนที่ ๗๔ วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๙๘ หน้า ๑๘-๑๙ ปรากฏเส้นทางรถไฟไปบ่อดินขาวแยกจากทางรถไฟสายเหนือไปทางทิศตะวันออก


รูปที่ ๘ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งสุขาภิบาลท่าลาน อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๘๔ ตอนที่ ๕ วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๑๐ หน้า ๑๓๙-๑๔๐ ปรากฏเส้นทางรถไฟไปบ่อดินขาวปลายทางด้านตะวันตก ที่มาสิ้นสุดที่โรงงานปูนซิเมนต์ไทยริมแม่น้ำป่าสัก


รูปที่ ๙ แผนที่ทหาร L509 ฉบับใช้ข้อมูลปีพ.ศ. ๒๕๐๐ จัดทำ ปรากฏเส้นทางรถไฟสายบ่อดินขาวที่ อ.บ้านหมอ (Ban Mo) ตรงบริเวณตอนกลางของภาพ นอกจากนี้ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งที่แยกลงมาทางบ้านไร่ (Ban Rai) ตรง PS9


รูปที่ ๑๐ แผนที่ทหารฉบับ L509 จ.พังงา ที่มุมขวาบนของแผนที่ปรากฏเส้นทางรถไฟ อยู่ทางด้านทิศเหนือของกิ่งอำเภอพนม จ.สุราษฎร์ธานี ไม่ทราบว่าเป็นของอะไร แต่ดูจากตำแหน่งเส้นรุ้ง-เส้นแวงเทียบกับแผนที่อื่นแล้วคาดว่าไม่น่าจะใช่ส่วนปลายทางของรถไฟสายคีรีรัฐนิคม


รูปที่ ๑๑ แผนที่ทหารฉบับ L509 จ.ระนอง ปรากฏร่องรอยของทางรถไฟที่ใช้ในการทำเหมือง ที่บริเวณบ้านปากน้ำและบ้านท่าใหม่ ทางด้านทิศใต้ของตัวจังหวัดระนอง