วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เขียวพระอินทร์ กินตุ๊กแก MO Memoir : Sunday 29 November 2558

เช้าวันวานหลังจากเดินลอดกิ่งมะยมต้นนี้ไปได้สองรอบ พอจะเดินผ่านรอบที่สามสายตาก็เหลือบไปเห็นพอดี
  
รูปที่ ๑ เขียวพระอินทร์มันก่อเรื่องไว้ที่มุมล่างขวา ก่อนจะเลื้อยหนีไปบนยอดกระถินไปค้างอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดง
 
สิ่งที่เห็นก็ตามรูปข้างล่างนั่นแหละครับ ตอนแรกนึกว่าเขียวหางไหม้ แต่พอพี่ชายมาดูแล้วบอกว่าไม่ใช่ เป็นเขียวพระอินทร์ ตัวนี้เลื้อยไต่ต้นไม้ได้ไวมาก ชอบอยู่บนที่สูงซะด้วย ทำเอาเช้านี้มีงานเพิ่ม จากแทนที่จะเก็บเศษใบไม้รอบบ้าน ก็กลายเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่ง เพราะต้นที่มันก่อเรื่องนั้นกิ่งมันยื่นเข้าไปใกล้กับหน้าต่างห้องนอนลูกคนเล็ก
  
รูปที่ ๒ ตอนแรกนึกว่ามันจะเข้าไปกินตับตุ๊กแก แต่พอดูดี ๆ มันจะกินทั้งตัวเลยต่างหาก
  
ตุ๊กแกตัวนี้มันอาศัยอยู่ข้างบ้านมานานแล้ว หลบอยู่ตรงชายคา นาน ๆ ทีมันก็ร้องทักทายที ให้เลือกระหว่างงูกับตุ๊กแก ผมขอเลือกตุ๊กแก ภรรยาผมมาดูแล้วจะเอาถุงพลาสติกคล้องปลายไม้เพื่อจะจับทั้งงูและตุ๊กแก เพื่อจะเอามันไปปล่อยที่อื่น งูมันก็เลยตกใจ ปล่อยทิ้งแกออกมา แล้วมันก็เลื้อยหนีขึ้นต้นมะยม เลื้อยผ่านต้นมะละกอ ไปอยู่บนยอดกระถิน
 
รูปที่ ๓ เห็นตุ๊กแกทำตาโตอย่างนี้ แต่อันที่จริงแน่นิ่งไปแล้ว
  
รูปที่ ๔ หลุดจากปากงูเขียวพระอินทร์ ลงมากองกับพื้น ก็แน่นิ่งอย่างที่เห็น คงจะโดนรัดจนตาย
  
รูปที่ ๕ ส่วนเจ้าตัวก่อเรื่องคงโมโหน่าดูที่อาหารเช้าถูกแย่งไป แต่ดันหนีไปยังทางตัน แต่พอหลีกทางให้มัน มันก็เลื้อยลงและข้ามกำแพงไปยังสวนที่อยู่ข้างบ้าน โชคดีที่ไม่ถูกส่งกลับไปเป็นพระอินทร์อยู่บนท้องฟ้า Memoir ฉบับนี้ก็ขอจบแบบดื้อ ๆ ที่รูปนี้แหละ

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ดูเผิน ๆ ก็ดูดีนะ MO Memoir : Friday 28 November 2558

ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เห็นมีการทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ หลายกิจกรรม เห็นว่ามีอะไรที่น่าสนใจ ก็เลยลองเอามาให้ดูเล่น ๆ กัน ไม่รู้ว่าพวกคุณจะคิดเหมือนผมหรือเปล่า หรือว่าผมคิดมากไปเอง

. ถนัดซ้ายหรือขวา

คุณเป็นคนถนัดซ้ายหรือถนัดขวา แล้วคุณสวมนาฬิกาข้อมือที่มือข้างไหนครับ
 

ที่เห็นทั่วไปคือเสื้อที่มีกระเป๋าเสื้อเพียงใบเดียว จะมีกระเป๋าเสื้ออยู่ที่อกเสื้อด้านซ้าย และถ้าจะทำตราหรือเครื่องหมายอะไรบนกระเป๋าเสื้อ ตรานั้นก็จะไปปรากฏบนอกเสื้อด้านซ้าย ในกรณีนี้เข้าใจว่าผู้ออกแบบคงต้องการให้เห็นตราของสถาบันที่ปรากฏบนเสื้อของผู้ใส่ด้วย ก็เลยต้องให้ผู้เป็นแบบทำท่าเขียนหนังสือด้วยมือซ้าย
  
แต่ที่สะดุดตาผมก็คือนาฬิกาข้อมือที่ปรากฏอยู่บนข้อมือซ้าย เพราะคนถนัดขวาจะสวมนาฬิกาที่มือซ้าย

. ใครเป็นคนจัด

การชักชวนคนไปทำ "ความดี" เป็นสิ่งที่ดี แต่มีข้อแม้ว่า "ความดี" ที่ชักชวนให้ไปกระทำนั้นต้องไม่มีผลประโยชน์อื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว (คือของผู้จัดที่อาจเป็นตัวบุคคลหรือองค์กร) แอบแฝงอยู่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นมันก็เหมือนกับการหลอกให้คนอื่นไปสร้างภาพให้ตัวเอง
  

หลายปีที่แล้วระหว่างนั่งกินข้าวอยู่ที่โรงอาหารกลางของมหาวิทยาลัย มีนิสิตถือกล่องมาขอรับบริจาคเงินทำบุญ พอผมถามเขาว่าทำบุญให้กับวัดไหน เขาก็ตอบว่า "วัดใหญ่" ผมก็ถามเขากลับไปว่า "วัดใหญ่" คือวัดไหน เขาก็ตอบแต่ว่ารุ่นพี่ให้ตอบแค่ว่า "วัดใหญ่" ผมก็เลยบอกว่าเขาไปว่าคุณน่าจะถอนตัวออกจากชมรมนี้จะดีกว่านะ ลองคิดดูซิว่า "วัดใหญ่" ของคุณน่ะมันไปก่อเรื่องราวอะไรเอาไว้มากน้อยแค่ไหน คนเขาถึงรังเกียจกันมากขนาดคนในชมรมเองยังต้องกำชับว่าเวลาออกไปทำกิจกรรมใด ๆ อย่าให้คนอื่นรู้ว่าจัดโดยวัดนี้ ขนาดชื่อยังต้องหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยถึง
  
การทำ Rebranding เป็นวิธีการหนึ่งที่มีการทำกันเป็นประจำในภาคธุรกิจ สาเหตุที่ทำให้ต้องทำ rebranding กันก็คือต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของธุรกิจหรือองค์กร ถ้าวัตถุประสงค์หลักของการทำ rebranding คือการสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาใหม่ที่ต้องการบอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (ซึ่งควรเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น) และมีการลงมือกระทำว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริง ก็เป็นการดี แต่ถ้าเป็นเพื่อการหลอกคนกลุ่มใหม่ให้หลงเข้าใจผิดเพื่อดึงมาเป็นลูกค้า โดยที่ยังคงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาในอดีตเอาไว้โดยไม่ยอมแก้ไข ผมเห็นว่ามันก็เป็นการหลอกลวงแบบหนึ่ง
  
กิจกรรมดังกล่าวจัดโดยใครก็ไม่ได้บอกไว้ชัดเจน และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไรนั้น ก็ขอให้พิจารณาเอาเอง

. ความ (ที่คิดว่า) เทห์ต้องมาก่อน ความปลอดภัยไว้ทีหลัง

สถาบันการศึกษาระดับสูงที่ได้ชื่อว่าสามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการให้กับสังคมได้นั้น เวลาที่จะเผยแพร่อะไรออกไปก็ควรต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องความถูกต้องของข้อมูล


การแต่งกายให้เหมาะสมกับพิธีการ เทศกาล หรือกิจกรรมใด ๆ ทั่วไป ที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยนั้น แต่ละสถาบันก็มีข้อกำหนดแตกต่างกันออกไปตามสภาพสังคมที่สถาบันนั้นตั้งอยู่หรือตามเอกลักษณ์ที่สถาบันต้องการฝึกฝนผู้ที่เข้ามาเรียนในสถาบันนั้น แต่การแต่งกายให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ที่เครื่องแต่งกายนั้นส่งผลถีงความปลอดภัยในการทำงาน จะใช้ข้ออ้างเรื่องอิสระภาพในการแต่งกายหรือใคร ๆ เขาก็ทำกันนั้น ว่าจะแต่งอย่างไรก็ได้นั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๒ ผมได้มีโอกาสไปฝึกงานที่โรงงานปิโตรเคมีแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตนั้นทุกคนจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายก่อน (ทางบริษัทจัดให้) เครื่องแบบของเขาเป็นเสื้อแบบแจ็กเก็ตแขนยาวไว้สวมทับเสื้อคอกลมข้างใน ไม่มีกระเป๋าใด ๆ ชายเสื้อเป็นแบบพอดีเอว แม้จะไม่สามารถสอดชายเสื้อเข้าในกางเกง แต่ก็ไม่มีชายเสื้อปล่อยรุงรัง ไม่มีที่ให้เหน็บปากกาหรือกลัดป้ายชื่อ (ใช้วิธีปักลงบนเสื้อ) กางเกงเป็นกางเกงขายาว กระเป๋ากางเกงมีอยู่ที่ขาทั้งสองข้างระดับประมาณหัวเข่า เรียกว่าเดินเอามือล้วงกระเป๋าไม่ได้ 
  
การที่เขาออกแบบเสื้อเช่นนี้ก็เพราะหลีกเลี่ยงปัญหาที่สิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อหรือที่เหน็บอยู่นั้น ตกร่วงหล่นลงไปในอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต (เช่นในขณะที่ก้มลงไปดู) ส่วนกางเกงที่มีกระเป๋าอยู่ต่ำจนเดินเอามือล้วงกระเป๋าไม่ได้นั้นก็เพื่อให้สามารถจับคว้าราวยึดต่าง ๆ ได้ทันเวลาถ้าหากมีการเสียหลักระหว่างการเดิน ชายเสื้อที่กระชับก็เพราะไม่ต้องการให้ถูกดึงด้วย rotating equipment ที่มีอยู่ทั่วไปในโรงงาน และแม้จะไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเสื้อที่สวมแล้วต้องกลัดกระดุมเสื้อให้เรียบร้อยทุกเม็ดหรือรูดซิปให้เรียบร้อย แต่ก็ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป (แต่เวลาที่สวมหมวกนิรภัยเขาจะมีการกำชับไว้อย่างชัดเจนว่าให้ใช้สายรัดคางด้วย เพราะหมวกส่วนใหญ่ที่เราใส่กันทั่วไปนั้นไม่มีสายรัดคาง) และในงานที่จำเป็นต้องสวมรองเท้านิรภัย ถุงมือ และแว่นตานิรภัย ก็จะมีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน
 
รูปที่เอามาแสดงนั้นเป็นรูปเชิญชวนนักเรียนระดับมัธยมปลายให้เข้ามาร่วมกิจกรรมที่นิสิตระดับมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัด ในรูปต้นฉบับนั้นผู้แสดงแบบก็ไม่ได้สวมแว่นตา ส่วนที่เหลือก็ขอให้พิจารณากันเองก็แล้วกันว่าการแต่งกายและกิจกรรมที่เขาแสดงในรูปนั้น มีความเหมาะสมกันมากน้อยแค่ไหนเพียงใด

ช่างภาพนั้นมักจะต้องการให้ภาพออกมาดูดี (ในสายตาของเขา) ส่วนจะถูกต้องหรือเหมาะสมนั้นเอาไว้ทีหลัง เรื่องการแต่งกายนั้นเห็นนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยออกมาโจมตีระเบียบข้อบังคับของทางสถาบันที่ว่าด้วยการแต่งกาย หาว่าล้าสมัยบ้าง จำกัดสิทธิเสรีภาพบ้าง แต่ตอนรับปริญญาไม่เห็นออกมาโวยวายว่าทำไต้องสวมครุย หรือพอเข้าไปทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการกำหนดเครื่องแบบการแต่งกายของพนักงานก็ไม่เห็นออกมาจับกลุ่มโจมตีโวยวายเรื่องการแต่งกายเลย

ในสังคมนั้น แต่ละกิจกรรมมันจะมีการแต่งกาที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้น ๆ ความเหมาะสมของการแต่งกายนั้นอาจกำหนดขึ้นจาก ความปลอดภัยในการทำกิจกรรม ความสะดวกในการทำกิจกรรม การลดความแตกต่างระหว่างผู้ทำกิจกรรม การสร้างจุดเด่นของผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานออกจากผู้เข้าร่วมงานทั่วไป เป็นต้น
 
การกำหนดเรื่องเครื่องแต่งกายก็เช่นกัน ถ้าหากกำหนดให้แต่งด้วยเครื่องแบบที่มีผู้ผลิต (เป็นใครก็ไม่รู้) อยู่เพียงรายเดียวโดยไม่มีผู้อื่นแข่งขันนั้น เป็นการสมควรหรือไม่ เพราะเห็นอยากจะแต่งตัวอย่างนั้นอย่างนี้เข้าเรียน แต่พอถามว่าเงินค่าเสื้อนั้นไปเข้ากระเป๋าใคร ใครได้ประโยชน์ และมันจำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำอย่างนั้น ก็ไม่เห็นจะมีใครตอบได้สักราย

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ผลกระทบของน้ำที่มีต่อการวัดคาร์บอนไดออกไซด์ ตอนที่ ๓ (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๗๖) MO Memoir 2558 Nov 26 Thu

สิ่งหนึ่งที่พบระหว่างการสร้าง calibration curve ของ CO2 ก็คือน้ำที่สะสมอยู่ในคอลัมน์ที่เราใช้วิเคราะห์นั้นส่งผลให้ขนาดพีค CO2 ลดลง ผลกระทบนี้เห็นได้ชัดเมื่อความเข้มข้น CO2 ในตัวอย่างนั้นต่ำมาก ดังเช่นรูปที่ ๑ และรูปที่ ๒ ที่เป็นการฉีดตัวอย่างเดียวกันที่ปริมาตรเท่ากัน จะเห็นว่าเมื่อทำการไล่น้ำที่ค้างอยู่ในคอลัมน์ออกไป พื้นที่พีค CO2 ที่ได้นั้น (รูปที่ ๒) เพิ่มขึ้นมาประมาณเท่าตัวก่อนการไล่น้ำ (รูปที่ ๑) ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราต้องหาอุณหภูมิการทำงานของคอลัมน์ที่ไม่เกิดผลกระทบจากน้ำ และอุณหภูมิต่ำสุดที่พบว่าสำหรับคอลัมน์ที่เราใช้นั้นจะไม่เกิดผลกระทบจากน้ำคือที่ประมาณ 230ºC
  
เรื่องถัดมาที่ต้องพิจารณาคือความสัมพันธ์ระหว่างความแรงสัญญาณกับปริมาณ CO2 ในตัวอย่าง จากการฉีดตัวอย่างปริมาตรต่าง ๆ กันพบว่าค่าที่ปริมาตรใดปริมาตรหนึ่งนั้นใกล้เคียงกัน (แสดงว่าการฉีดตัวอย่างมีความน่าเชื่อถือในระดับที่สูง) แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่พีคที่วัดได้กับปริมาณ CO2 นั้นไม่ใช่เส้นตรง ดังนั้นการสร้าง calibration curve จึงควรต้องมีจุดข้อมูลที่ปริมาณ CO2 ต่าง ๆ กันหลายจุด ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ที่ได้จากการฉีดตัวอย่างความเข้มข้นสูง (1.0 mol/l) แสดงไว้ในรูปที่ ๒-๕ แต่ช่วงความเข้มข้นที่เราจะวัดนั้นจะต่ำกว่านี้อีกประมาณ 10 เท่า
 
รูปที่ ๖ และ ๗ เป็นตัวอย่างผลการวัดที่ได้จากการฉีดตัวอย่างความเข้มข้นต่ำ (0.1 mol/l) พบว่าพีคที่เครื่องอินทิเกรเตอร์พิมพ์ออกมานั้นมีขนาดเล็กมาก และแม้ว่าจะพยายามปรับแต่งพารามิเตอร์การระบุพีคของเครื่องให้อ่านพีคขนาดเล็กแล้วก็พบว่าเครื่องยังไม่สามารถอ่านได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการดึงเอาข้อมูลที่วัดได้ออกมาและทำการประมวลผลใหม่ด้วยโปรแกรม fityk 0.9.8 (วิธีการดึงข้อมูลออกจากเครื่องอินทิเกรเตอร์อยู่ใน Memoir ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑๘๓ วันพุธที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "การบันทึกโครมาโทแกรมลงแผ่นดิสก์")
  
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือแม้ว่าพื้นที่พีคที่พิจารณาจากรูปร่างของพีคนั้นดูใกล้เคียงกัน แต่ค่าพื้นที่พีคที่เครื่องอินทิเกรเตอร์คำนวณออกมาให้นั้นแตกต่างกันมาก สาเหตุคาดว่าเกิดจากการกำหนดตำแหน่งสิ้นสุดของพีคที่เปลี่ยนแปลงไปตามการ drift ของ base line เพราะจากการทดสอบเมื่อวาน (ผลอาจนำมาแสดงในตอนต่อไป) พบว่าค่าพื้นที่ที่คำนวณได้จากการใช้โปรแกรม fityk (โดยกำหนดจุดเริ่มเกิดพีคและจุดสิ้นสุดพีคที่ตำแหน่งเดียวกัน) นั้นออกมาใกล้เคียงกัน แม้ว่าเครื่องอินทิเกรเตอร์จะคำนวณค่าออกมาแตกต่างกันมาก

สารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 0.1 mol/l ปริมาตร 0.3 microlitre เมื่อสลายตัวจะให้แก๊ส CO2 0.015 micromol ถ้าเราเก็บแก๊สตัวอย่างมาเป็นปริมาตร 2 ml ที่ 28ºC 1 atm จำนวนโมลของแก๊สนี้ก็คือ 80.984 micromol ดังนั้นถ้าแก๊สตัวอย่างนี้มี CO2 อยู่ 0.015 micromol ความเข้มข้นของ CO2 ในแก๊สตัวอย่างดังกล่าวก็จะเท่ากับ 0.0185 mol% หรือ 185 ppm
 
แต่ถ้าเราเปลี่ยนปริมาตรแก๊สตัวอย่างที่จะเก็บมาวิเคราะห์เป็น 2.5 ml (เต็มความจุของเข็ม syringe ที่มีอยู่) จำนวนโมลของแก๊สนี้ก็คือ 101.23 micromol ดังนั้นถ้าแก๊สตัวอย่างนี้มี CO2 อยู่ 0.015 micromol ความเข้มข้นของ CO2 ในแก๊สตัวอย่างดังกล่าวก็จะเท่ากับ 0.0148 mol% หรือ 148 ppm และนี่คือขอบเขตต่ำสุดที่อุปกรณ์ที่เรามีอยู่ในขณะนี้ที่พอจะวัดได้
 
รูปที่ ๑ โครมาโทแกรมการฉีดสารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 1.0 mol/l ปริมาตร 0.3 microlitre ในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (ก่อนทำการไล่น้ำจากคอลัมน์ โดยคงอุณหภูมิคอลัมน์ไว้ที่ 210ºC)
  

รูปที่ ๒ โครมาโทแกรมการฉีดสารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 1.0 mol/l ปริมาตร 0.3 microlitre ในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (หลังทำการไล่น้ำจากคอลัมน์ โดยคงอุณหภูมิคอลัมน์ไว้ที่ 210ºC) จะเห็นว่าพื้นที่พีคที่ได้นั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าของรูปที่ ๑ ประมาณเท่าตัว

รูปที่ ๓ โครมาโทแกรมการฉีดสารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 1.0 mol/l ปริมาตร 0.5 microlitre ในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (หลังทำการไล่น้ำจากคอลัมน์ โดยคงอุณหภูมิคอลัมน์ไว้ที่ 210ºC)
 
รูปที่ ๔ โครมาโทแกรมการฉีดสารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 1.0 mol/l ปริมาตร 0.3 microlitre ในช่วงบ่ายวันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (หลังทำการไล่น้ำจากคอลัมน์ และเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์เป็น 230ºC)
 
รูปที่ ๕ โครมาโทแกรมการฉีดสารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 1.0 mol/l ปริมาตร 0.7 microlitre ในช่วงเช้าวันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (หลังทำการไล่น้ำจากคอลัมน์ และเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์เป็น 225ºC)

รูปที่ ๖ โครมาโทแกรมการฉีดสารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 0.1 mol/l ปริมาตร 0.3 microlitre ในช่วงบ่ายวันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (หลังทำการไล่น้ำจากคอลัมน์ และเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์เป็น 225ºC)
  
รูปที่ ๗ โครมาโทแกรมการฉีดสารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 0.1 mol/l ปริมาตร 0.5 microlitre ในช่วงบ่ายวันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (หลังทำการไล่น้ำจากคอลัมน์ และเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์เป็น 225ºC)

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ผลกระทบของน้ำที่มีต่อการวัดคาร์บอนไดออกไซด์ ตอนที่ ๒ (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๗๕) MO Memoir : Wednesday 25 November 2558

สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังในการใช้ syringe ฉีดตัวอย่างที่เป็นของเหลวก็คือปริมาตรของเหลวที่จะทำการฉีดเมื่อเทียบกับขนาดของ syringe
  
จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่าปริมาตรของเหลวที่ฉีดนั้นไม่ควรจะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของ syringe เช่นถ้าใช้ syringe ขนาด 1.0 microlitre ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษถ้าจะฉีดของเหลวที่ระดับต่ำกว่า 0.3 microlitre เพราะค่าความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์ในการฉีดแต่ละครั้งนั้นค่อนข้างจะคงที่ แต่ค่าความคลาดเคลื่อนสัมพัทธ์นั้นจะเพิ่มขึ้นถ้าหากฉีดด้วยปริมาตรที่น้อยลง
  
ในกรณีที่กลุ่มของเรากำลังทำอยู่ก็คือคงจะมีการฉีดสารละลายในช่วงปริมาตร 0.1-1.0 microlitre โดยมี syringe ให้ใช้อยู่ ๒ ขนาดคือขนาด 0.5 microlitre และ 1.0 microlitre (รูปที่ ๑) ดังนั้นก่อนที่จะสร้าง calibration curve จึงควรที่จะทดสอบความถูกต้องของ syringe ทั้งสองขนาด (รวมทั้งคนฉีดด้วย) ด้วยการฉีดสารละลายปริมาตร 0.5 microlitre ด้วย syringe ทั้งสองขนาดและนำผลมาเปรียบเทียบกัน
  
รูปที่ ๑ syringe ขนาด (บน) 1.0 microlitre และ (ล่าง) 0.5 microlitre ที่ใช้ในการเปรียบเทียบ

รูปที่ ๒ และ ๓ เป็นโครมาโทแกรมการวิเคราะห์ปริมาณ CO2 ที่ทางกลุ่มเราทำการทดลองในวันจันทร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยใช้เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟ Shimadzu GC-8A ติดตั้ง Thermal Conductivity Detector (TCD) ตั้งอุณหภูมิ TCD ไว้ที่ 150ºC กระแส TCD ตั้งไว้ที่ 120 mA ส่วนอุณหภูมิคอลัมน์ตั้งไว้ที่ 210ºC อัตราการไหลของ He ที่ใช้เป็น carrier gas 40 ml/min ทั้งสองคอลัมน์ คอลัมน์ที่ใช้วิเคราะห์คือ molecular sieve 5A 60/80 mesh เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 mm ยาว 6 ฟุต คอลัมน์อ้างอิงคือ UNIBEED C 60/80 mesh เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 mm ยาว 6 ฟุต สารละลายที่ฉีดคือสารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 1.0 mol/l ปริมาตร 0.5 microlitre โดยรูปที่ ๒ เป็นผลที่ได้จากการใช้ syringe ขนาด 0.5 microlitre ฉีดสารละลาย (ผมเป็นคนลงมือเอง) และรูปที่ ๓ เป็นผลที่ได้จากการใช้ syringe ขนาด 1.0 microlitre ฉีดสารละลายโดยให้สมาชิกของกลุ่มเป็นผู้ทำการฉีด จะเห็นว่าพื้นที่พีคที่ได้นั้นออกมาใกล้เคียงกันผลที่ได้ ส่วนหนึ่งคงเป็นผลจากการอ่านตำแหน่งขีดบนตัว syringe ซึ่งขึ้นอยู่กับสายตาคนฉีด และผลของน้ำที่ตกค้างอยู่ในคอลัมน์
  
งานชิ้นถัดมาที่ได้กระทำไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาก็คือการปรับแต่งความว่องไวของการวัดเพื่อให้มองเห็นสัญญาณที่ต่ำลงไปอีก 10 เท่าของที่นำมาแสดง ซึ่งก็คิดว่าตอนนี้เราก็ได้สภาวะการวิเคราะห์ที่เหมาะสมที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดผล กระทบของน้ำที่มีต่อพื้นที่พีคคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้ว

รูปที่ ๒ โครมาโทแกรมที่ใช้จากการฉีดสารละลาย 0.5 microlitre ด้วย syringe ขนาด 0.5 microlitre
  
รูปที่ ๓ โครมาโทแกรมที่ใช้จากการฉีดสารละลาย 0.5 microlitre ด้วย syringe ขนาด 1.0 microlitre

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ผลกระทบของน้ำที่มีต่อการวัดคาร์บอนไดออกไซด์ ตอนที่ ๑ (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๗๔) MO Memoir : Monday 23 November 2558

ในการวัดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วยเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟและใช้คอลัมน์ molecular sieve 5A นั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ทราบคือถ้าหากตัวอย่างมีไอน้ำ (H2O) ผสมอยู่ และอุณหภูมิของคอลัมน์ต่ำเกินไป ไอน้ำนั้นจะสะสมอยู่ในคอลัมน์ และถ้าสะสมไว้มากก็จะทำให้ความแรงของพีค CO2 นั้นลดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่ปรากฏได้ (ทั้ง ๆ ที่ฉีด CO2 ในปริมาณเท่าเดิม)
  
ดังนั้นถ้า CO2 เป็นสารตั้งต้นของปฏิกิริยา (เช่นในปฏิกิริยา dry reforming) ก็จะเห็น CO2 ด้านขาออกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ก็จะทำให้หลงเข้าใจผิดได้ว่าได้ค่า conversion สูง ในทางกลับกันถ้าCO2 เป็นผลิตภัณฑ์ของปฏิกิริยา (เช่นในปฏิกิริยา oxidation สารอินทรีย์) ก็จะทำให้แปลผลผิดได้ว่าได้ค่า conversion ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
  
ดังนั้นในกรณีที่ตัวอย่างนั้นมีน้ำปะปนอยู่ ก็ต้องปรับตั้งเครื่อง GC เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อขนาดพื้นที่พีค CO2 ที่วัดได้ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่ทำการวิเคราะห์ และควรต้องมีการ regenerate (ฟื้นคืนสภาพ) คอลัมน์เป็นระยะด้วย โดยไม่ต้องรอให้พีค CO2 หายไปก่อน
  
รูปที่ ๑-๓ แสดงตัวอย่างการวิเคราะห์ปริมาณ CO2 ที่ทางกลุ่มเราทำการทดลองในวันศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยใช้เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟ Shimadzu GC-8A ติดตั้ง Thermal Conductivity Detector (TCD) ตั้งอุณหภูมิ TCD ไว้ที่ 130ºC กระแส TCD ตั้งไว้ที่ 120 mA ส่วนอุณหภูมิคอลัมน์ตั้งไว้ที่ 210ºC อัตราการไหลของ He ที่ใช้เป็น carrier gas 40 ml/min ทั้งสองคอลัมน์ คอลัมน์ที่ใช้วิเคราะห์คือ molecular sieve 5A 60/80 mesh เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 mm ยาว 6 ฟุต คอลัมน์อ้างอิงคือ UNIBEED C 60/80 mesh เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 mm ยาว 6 ฟุต
  
เหตุการณ์เริ่มจากวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ที่ได้ทำการทดลองฉีดสารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 1 mol/l ปริมาตร 10 microlitre ในช่วงเช้า พบว่าได้พื้นที่พีคออกมาประมาณ 100000 หน่วย จากนั้นพบว่าเกิดปัญหาพื้นที่พีคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และจากการตรวจสอบพบว่าปัญหาเกิดจากการมีฟองแก๊สเกิดขึ้นใน syringe (ที่เล่าไว้ใน Memoir ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา) และหลังจากปรับแก้ปัญหาฟองอากาศแล้ว พบว่าพื้นที่พีคที่ได้จากการฉีดสารตัวอย่างปริมาตรเดียวกันนั้นออกมาใกล้กัน แต่พื้นที่พีคที่ได้จากการวัดในช่วงบ่ายวันนั้นนั้น "ต่ำกว่า" ค่าที่วัดได้ในช่วงเช้าอยู่มาก (คือช่วงบ่ายพื้นที่จากระดับ 100000 เหลือประมาณ 370000 หรือเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น)
  
หลังจากเปิดเครื่องทิ้งไว้ทั้งคืนโดยคงอุณหภูมิคอลัมน์ไว้ที่ 210ºC แล้วมาทำการทดลองใหม่ซ้ำเดิมในเช้าวันศุกร์พบว่าพื้นที่พีคที่ได้นั้นกลับมีค่ามากขึ้นไปเท่ากับค่าที่วัดได้ในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี แต่เมื่อทำการฉีดสารตัวอย่างซ้ำปริมาตรเดิม (คือฉีด 5 microlitre 3 ครั้ง (รูปที่ ๑) ตามด้วย 3 microlitre 3 ครั้ง (รูปที่ ๒) และ 7 microlitre 3 ครั้ง (รูปที่ ๓) ส่วนเวลาที่ทำการฉีดสารตัวอย่างดูได้จากโครมาโทแกรม) พบว่าพื้นที่พีคที่ได้นั้นมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อย ๆ ในขณะที่แนวเส้น base line นั้นมีแนวโน้มเคลื่อนต่ำลงอย่างช้า ๆ ตลอดเวลา
  
การแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์ขึ้นอีก 10ºC และลดปริมาตรตัวอย่างที่ฉีดลงเหลือระดับต่ำกว่า 1 microlitre ที่ได้กระทำไปเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้ดูเหมือนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดจากน้ำได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องรอผลการทดลองยืนยันที่จะต้องกระทำกันต่อไป

รูปที่ ๑ โครมาโทแกรมจากการฉีดสารละลาย NaHCO3 1 mol/l 5 microlitre

รูปที่ ๒ โครมาโทแกรมจากการฉีดสารละลาย NaHCO3 1 mol/l 3 microlitre
 
รูปที่ ๓ โครมาโทแกรมจากการฉีดสารละลาย NaHCO3 1 mol/l 7 microlitre

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สิ่งที่น่ากลัวกว่ายุงลาย คือ ... MO Memoir : Sunday 22 November 2558

ไข้เลือดออกที่มีสาเหตุจากยุงลายยังมีการระบาดหนักแบบปีเว้นปี
แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่ากลัวกว่ายุงลาย ที่ใครที่เคยได้รับเข้าไปแล้วจะเข้าใจดี นั่นคือ ... อาจารย์ไลน์ ...


ผมไม่ได้เป็นคนตั้งชื่อพาหะนี้ขึ้นมาเองหรอกครับ เพียงแต่ได้มีโอกาสรู้จักกับผู้ที่ต้องประสบชะตากรรมได้รับผลกระทบจาก "อาจารย์ไลน์" ดังกล่าวจนเขาต้องโพสข้อความข้างบนออกมา และได้เห็นความทุกข์ทรมานของเขากว่าที่จะก้าวผ่านภาวะวิกฤตนั้นไปได้ (โดยที่ไม่เป็นข่าว) แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังมีเพื่อนพ้องอีกหลายคนที่ยังต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกับที่เขาได้ประสบมา แต่ที่ทำให้ความทุกข์ทรมานของผู้ที่ประสบชะตากรรมจาก "อาจารย์ไลน์" ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนั้น คงเป็นเพราะเกือบทั้งหมดมันมักเกิดกับผู้ที่เรียนระดับ "ปริญญาเอก" และเกิดกับประเทศในเขตเอเซียบางประเทศที่ผู้คนในประเทศชื่นชอบการส่งสติ๊กเกอร์
ต้นตอของกลุ่มอาการนี้มาจากประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทาง App Store และ Google Play ที่ต้องรีบนำเอาเรื่องนี้มาเผยแพร่ก็เพราะคิดว่าอีกไม่นานคงมีการระบาดหนักขึ้น (โดยเฉพาะคนไทยที่ชื่นชอบการติดต่อสื่อสารแบบจ่ายตังค์ทีเดียวแล้วใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) เพราะมันแพร่กระจายผ่านทางสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือ (ดังนั้นการระบาดจึงไม่ขึ้นกับฤดูกาล) เท่าที่ทราบโรคนี้มีอุบัติการครั้งแรกกับผู้ใช้มือถือระบบ 3G แต่หลังการประมูลคลื่น 4G ที่ผ่านไปเมื่อไม่นานนี้พร้อมกับการที่ผู้ให้บริการบางรายเปิดให้บริการระบบ 4G แล้ว ทำให้คาดว่าจะมีการระบาดที่รวดเร็วมากขึ้นไปอีก
  
ความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นอยู่กับผู้เผยแพร่และผู้ได้รับแต่ละราย ผู้เผยแพร่บางรายเป็นเพียงแค่พาหะที่ไม่แสดงอาการ เพียงแต่เฝ้าดูและเก็บข้อมูลอย่างเงียบ ๆ ส่วนใหญ่ของผู้เผยแพร่นั้นมักเป็นผู้ใหญ่อยู่ในช่วงวัยกลางคนขึ้นไป ในขณะที่ส่วนใหญ่ของผู้ได้รับนั้นมักจะมีอายุอยู่ในช่วง ๒๐-๓๐ ปีเป็นหลัก
  
เคยมีกรณีของผู้ที่ได้รับนั้นที่มีอาการหนักมากถึงขั้นชักจนต้องนอนโรงพยาบาล โดยหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ยังมีอาการทางระบบสมองหลงเหลือปรากฏให้เห็นชัดติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน กรณีหนึ่งที่เคยประสบได้แก่ผู้ป่วยที่ขอใช้นามแฝงว่า "โป๊ต สมมุติฐาน" ที่เปลี่ยนจากการเป็นผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมส์ต่อสู้บนคอมพิวเตอร์ทั้งวัน (แม้แต่เวลาทำงาน) กลายมาเป็นผู้ที่เคร่งเครียดจริงจังกับการทำ simulation ทั้งวัน การพูดการจาจากเดิมที่หาสาระไม่ค่อยได้กลับกลายเป็นคุยแต่เรื่องงาน
  

จากการเฝ้าสังเกตอาการ ยังพบอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ตัวอย่างเช่น
  
- ถ้าในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์อกหักจากเพศตรงข้ามแทรกเข้ามา อาจส่งผลให้เปลี่ยนไปรักเพศเดียวกันได้ (ทำเอาเพื่อนร่วมงานเพศเดียวกันแอบหนาวไปตาม ๆ กัน คือกลัวมันจะปล้ำเอา แต่มีบางคนก็แอบดีใจอยู่ภายในโดยไม่แสดงออกมา)
  
- ทำใจยากกับของรักของหวงที่ต้องสูญเสียไป เช่นในกรณีของ "โป๊ต สมมุติฐาน" ที่ปลามังกรที่เลี้ยงเอาไว้เสียชีวิต แต่แทนที่จะเอาไปทิ้ง (หรือทำอะไรกินเป็นการถอนทุน) กลับเอาไปแช่ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นนานเป็นเวลาหลายวันเพราะทำใจไม่ได้ ก่อนจะสามารถตัดใจกำจัดซากปลาไปได้
  
- น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่เลข ๓ หลัก ซึ่งเป็นผลจากการกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ คือกุ้งที่ซื้อมาแพง ๆ แทนที่จะกินเองกลับเอาไปให้ปลามังกรกิน ส่วนตัวเองนั่งกินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  
- อารมณ์อาจเปลี่ยนแปลงจากสุขเป็นเศร้าซึมกระทันหัน ถ้าหากได้รับเชื้อนี้ในช่วงเวลาสำคัญ เช่นกำลังจะออกไปกินข้าวเย็นและดูหนังกับเพื่อนฝูง แต่กลับกลายเป็นว่ามีงานต้องส่งหรือมีประชุมในเช้าวันรุ่งขึ้น หรือเย็นวันศุกร์กำลังจะหยุดยาวไปเที่ยวไกล ๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ กลับกลายเป็นว่าต้องมีงานส่งในเช้าวันจันทร์ เป็นต้น
  
- การติดต่อสื่อสารทำได้ช้าลง จากเรื่องที่คุยกันไม่กี่ประโยค ทำความเข้าใจกันได้ในเวลาไม่ถึงนาที กลับกลายเป็นว่ากว่าจะสื่อสารกันได้ต้องใช้เวลาไม่รู้กี่นาที ทั้งนี้เป็นเพราะความสามารถในการฟังและการพูดจาถดถอยน้อยลง กลายเป็นต้องใช้การสื่อสารผ่านทางตัวอักษร
  
- รักสันโดษ (เป็นข้ออ้างของผู้ได้รับรายหนึ่ง ที่จะไม่เลี้ยงเพื่อนฝูงฉลองในโอกาศที่เขาเรียนจบ โดยอ้างว่าจะหลบไปพักผ่อนเงียบ ๆ คนเดียว)
  
- ถ้าหากผู้ได้รับนั้นเกิดการพัฒนากลายเป็นผู้เผยแพร่ จะส่งผลต่อสภาพจิตใจ คือเห็นความสำคัญของผู้อื่นน้อยลง เกิดความหยิ่งผยอง รังเกียจที่จะพูดคุยด้วย คาดหวังว่าอีกฝ่ายต้องเฝ้านั่งหน้าจอโทรศัพท์ เมื่อส่งเชื้อนี้ออกไปเมื่อใด อีกฝ่ายต้องแสดงอาการติดเชื้อทันที ถ้าผู้ได้รับคนใดก็ตามประสบเหตุการณ์เช่นนี้ ก็พอจะเอาคืนได้ด้วยการถืออุเบกขา คือนิ่งเฉยเสีย แต่หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ดวง
  

สำหรับผู้ได้รับที่ประสบปัญหาดังกล่าวเข้าไปแล้วก็ต้องทำใจว่ามันไม่มีวิธีการรักษา ทำได้แค่เพียงประคองอาการไปเท่านั้น ในช่วงที่อาการกำลงรุนแรงก็อาจพอบรรเทาได้ด้วยการปิดการใช้สัญญาณ 3G  สำหรับผู้ที่ยังไม่ประสบปัญหาดังกล่าวก็พอจะป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการมีสมาร์ทโฟน หรือถ้าจำเป็นต้องมีก็ควรใช้เพื่อการโทรพูดคุยเพียงอย่างเดียว พยายามทำตัวให้ low tech มากที่สุดแล้วโอกาสที่จะรอดปลอดภัยจะสูง (ยิ่งนิยมใช้ช่องทางการติดต่อที่ติดต่อกันได้ฟรีแบบไม่จำกัดจำนวนแบบต้องพิมพ์ข้อความ โอกาสที่จะประสบปัญหาก็จะเพิ่มมากสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะปัญหานี้นิยมของฟรี ไม่นิยมช่องทางที่ต้องเป็นฝ่ายจ่ายตังค์เอง)
  
การป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำสามารถทำได้ด้วยการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ใหม่พร้อมกับการเปลี่ยน account ใหม่ (โดยต้องป้องกันไม่ให้ผู้เผยแพร่ทราบเบอร์ใหม่และ account ใหม่)

เนื่องด้วยจรรยาบรรณของผู้สื่อข่าวประจำแลป ผมจึงไม่สามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของผู้ได้รับผลกระทบจาก "อาจารย์ไลน์" ได้ แต่เชื่อว่าหลายต่อหลายคนในแลปคงเดากันได้ไม่ยากว่าเขาคือใคร :) :) :)

ในการติดต่อสื่อสารนั้น วิธีการที่ฝ่ายหนึ่งใช้ติดต่อกับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นตัวบอกว่า ผู้ส่งสารนั้นให้ความสำคัญกับผู้รับสาร หรือให้ความสำคัญกับข้อความที่ต้องการสื่อสารนั้นมากน้อยแค่ไหน ในเรื่องที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ การไปพบด้วยตัวเองก็ต้องเรียกว่าเป็นการให้เกียรติอีกฝ่ายหนึ่งมากที่สุด ในกรณีที่ไม่สามารถไปพบด้วยตัวเองได้หรือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน การต่อโทรศัพท์สายตรงเพื่อการพูดคุยติดต่อก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติที่สูงเช่นกัน (กรณีเช่นนี้เห็นได้จากเวลาที่ประมุขของคณะรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ มีการโทรศัพท์คุยกันเมื่อใด ก็จะมีข่าวปรากฏทุกที) จดหมายที่เขียนด้วยลายมือก็แสดงถึงความสำคัญที่ผู้ส่งมีให้แก่ผู้รับ

แต่เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นว่าเราไม่ได้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่มีการพัฒนาไปมากนั้นเพื่อการสร้างความรู้สึกและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน แต่กลายเป็นว่าเราใช้มันเพื่อให้มีข้ออ้างว่าได้ส่งข้อความไปแล้ว ส่วนผู้ที่เขาต้องการให้รับข้อความนั้นจะรับรู้ว่ามีข้อความส่งมาถึงหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหตุการณ์ทำนองนี้ดูเหมือนว่าในสถานที่ทำงานต่าง ๆ จะเกิดมากขึ้นทุก ๆ ที