วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562

ลาก่อน จอ CRT ตัวเก่ง MO Memoir : Sunday 29 September 2562

คอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มีก็ใช้ CUP รุ่น NEC V20 ที่เป็นตัวลอกมาจาก Intel 8088 ราคาตอนปี ๒๕๓๒ ก็ราว ๆ สองหมื่นบาท มีดิสก์ขนาด 5 1/4" มาให้สองตัวกับ RAM 640 kB ตอนนั้นเวลาพิมพ์รายงานก็ใช้โปรแกรม Word ราชวิถี, Word รามา ตามด้วย CU Writer แต่ถ้าเป็น Spreadsheet ก็จะเป็น LOTUS 123
 
เปลี่ยนอีกทีตอนเรียนจบเอกกลับมาทำงานก็เป็น AMD486 80 MHz ที่เป็นตัวลอก Intel 80486 แต่ตัว AMD จะใช้วิธีทำ CPU ให้มี clock speed สูงกว่าของ Intel เล็กน้อย คือ Intel จะมี 80486 รุ่น 33 MHz และ 66 MHz ตัว AMD ก็จะวางตลาดที่ 40 MHz และ 80 MHz คอมพิวเตอร์ของภาควิชาที่ให้นิสิตใช้กันตอนนั้นดูเหมือนจะเป็น 80486 รุ่น DX4 ทำงานที่ clock speed 100 MHz กับแรม 4 MB

รูปที่ ๑ ขอถ่ายรูปจอ YAKUMO ขนาด 15 นิ้วตัวนี้เก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกหน่อย หลังจากที่ทำงานด้วยกันมานาน ในที่สุดก็ได้เวลาที่ต้องเอาไปเก็บ รอโอกาสที่จะหาคนมารับไปสงเคราะห์

เปลี่ยนอีกทีก็ด้วยการเอาเคสเดิมไปอัปเกรด เปลี่ยน mainboard ใหม่พร้อม CPU เป็น Cyrix MII 233 MHz ชื่อนี้หายไปจากตลาดนานแล้วเหมือนกัน คือช่วงเวลานั้นจะมีคนทำ CPU ออกมาแข่งกัน ๓ รายคือ Intel, AMD และ Cyrix แต่ตอนนี้เหลือเพียงแค่สองรายแรกเท่านั้น เครื่อง Cyrix เครื่องนี้ของผมก็ยังคงอยู่ ยังทำงานได้อยู่ (ด้วย DOS 6.2 และ Windows 3.1 ครับ) จอภาพเป็นจอสี CRT ขนาด 14 นิ้ว
พองานเริ่มหนักขึ้น ก็เลยต้องซื้อเครื่องใหม่อีก คราวนี้เป็น Pentium 4 ทำงานที่ Clock speed 1.8 MHz พร้อมกับแรม 4 MB กับจอ CRT ยี่ห้อ YAKUMO ขนาด 15 นิ้ว ไปซื้อที่ตึกคอมศรีราชา (เดิมมันคือห้างแหลมทองศรีราชา ที่เป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่แถวนั้น) เครื่องนี้ใช้งานนานและหนักเหมือนกัน MO Memoir ฉบับปีแรก ๆ ก็ใช้เครื่องนี้พิมพ์ ใช้งานมันถึงปี ๒๕๕๖ ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะคราวนี้เมนบอร์ดฟัง เลยได้เปลี่ยนเป็น AMD A6-5400K ทำงานที่ 3.6 MHz พร้อม RAM 4 GB ส่วนจอก็ยังเป็นตัวเดิม
 
ตอนน้ำท่วมปี ๒๕๕๔ นั้น จอ CRT ตัวนี้ก็โดนน้ำท่วมไปซะครึ่งจอ แต่พอทิ้งไว้จนแห้งก็ปรากฏว่าสามารถกลับมาทำงานได้ใหม่ เรื่องนี้เคยเล่าไว้ใน Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๗๑ วันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "ยังอุตสาห์เปิดได้อีก" และนับจากวันนั้นมันก็ทำงานคู่กันมาจนกระทั่งคืนวันพุธที่ ๒๕ กันยายนที่ผ่านมา
 
ระหว่างเตรียมเอกสารการสอนที่จะสอนใช้เช้าวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเพียงไม่กี่วินาที แล้วก็ติดกลับมาใหม่ พอเปิดคอมฯใหม่และนั่งทำงานไปได้สักพัก ภาพบนจอก็เริ่มสั่นและดูไม่ได้ ตามด้วยกลิ่นเหม็นไหม้ พอสัมผัสกับด้านบนของจอก็รู้สึกร้อนจัด เลยต้องรีบปิดเครื่องคอมฯ พอจอภาพเย็นลงก็ลองเปิดใหม่ คราวนี้เปิดไม่ติดแล้ว แสดงว่าคงถึงเวลาที่ต้องลาจากกันแล้ว
 
วันนี้ก็เลยไปขุดเอาจอเก่าที่ใช้กับเครื่อง Cyrix มาใช้ใหม่ เปิดตอนแรก ๆ ภาพก็ไม่เต็มจอ แต่พอเปิดทิ้งไว้หลายชั่วโมงมันก็กลับมาดูดีเหมือนเดิม เลยถือโอกาสส่งท้ายจอเก่ากับรื้อฟื้นจอเก่า (กว่า) ด้วยเรื่องราวของมันเสียเลย 

วันนี้ไม่มีสาระอะไรหรอกครับ เป็นเพียงแค่บันทึกความทรงจำแค่นั้นเอง

รูปที่ ๒ จอยี่ห้อ ASTRO ขนาด 14" ที่ต้องไปขุดกลับมาใช้งานใหม่

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562

สถานีรถไฟบ้านฉิมพลี MO Memoir : Wednesday 25 September 2562

การเข้าถึงของถนน นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างสู่ท้องถิ่น และก็ยังทำให้ความสำคัญของบางสิ่งหายไปได้เช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ "สถานีรถไฟ"

คำว่า "ฉิมพลี" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายเอาไว้ว่า [ฉิมพะลี] น. ไม้งิ้ว พอเอามาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นการบ่งบอกถึงต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เยอะในท้องถิ่นหรือเปล่า แต่ในอีกความหมายหนึ่งที่ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายไว้ก็คือ ครุฑมีวิมานที่สวยงามอยู่บนต้นงิ้วที่ยากที่ผู้ใดจะสามารถไปถึง ก็เลยมีการเปรียบเปรยสถานที่ที่สวยงามที่ยากที่ผู้ใดจะไปถึงได้นั้นว่า "วิมานฉิมพลี" ที่ถ้าแปลออกมาเป็นภาษาง่าย ๆ แบบไม่ยึดติดเรื่องเล่าก็น่าจะเป็น "บ้านบนต้นงิ้ว"
             
แต่เวลากล่าวถึงต้นงิ้วทีไร เราก็มักจะคิดถึงเรื่องราวทำนองชู้สาวเป็นประจำ และจะว่าไปเรื่องเล่าเกี่ยวกับครุฑก็มีการลักพาเมียคนอื่นไปเป็นเมียตัวเองด้วยเหมือนกัน
 
รูปที่ ๑ แผนที่ทหารกรุงเทพฝั่งตะวันตก จัดทำโดยกองทัพอังกฤษที่ประจำอยู่ในอินเดีย (British-India) ฉบับพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) โดยใช้ข้อมูลที่มีการสำรวจในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ (พ.ศ. ๒๔๘๗) ประกอบการทำ สถานีรถไฟบ้านฉิมพลีอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลือง จุดดำ ๆ เล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไปในแผนที่คือบริเวณที่ต้องของอาคารบ้านเรือน ซึ่งจะเห็นว่าจะเรียงตัวไปตามแนวคลองต่าง ๆ
  
แต่ก่อน ถ้าจะเดินทางโดยรถยนต์มายังบริเวณริมคลองมหาสวัสดิ์ ก็คงต้องใช้ถนนเพชรเกษม จากนั้นจึงค่อยตัดขึ้นเหนือโดยใช้ถนนพุทธมณฑลสายต่าง ๆ ที่มาสุดทางที่ชุมชนบริเวณริมคลองมหาสวัสดิ์ แต่พอมีถนนบรมราชชนนีและถนนสิรินธรตัดผ่าน บริเวณแถวนี้ก็เข้าถึงโดยรถยนต์จากทั้งสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและสะพานกรุงธนฯได้ง่ายขึ้น และเมื่อก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ก็มีการสร้างถนนเลียบทางรถไฟทั้งสองฝั่งจากทางขึ้นสะพานพระราม ๖ ไปจนถึงวงแหวนรอบนอก ตามด้วยการสร้างทางด่วนตามแนวทางรถไฟอีก ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่ห่างไกลจากถนนใหญ่และตัวเมืองกลายเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวกขึ้นมาทันที สถานนีรถไฟบางสถานีที่เคยเป็นสถานีหลักสำหรับให้คนท้องถิ่นอาศัยเดินทางเข้าเมืองก็เลยหมดความสำคัญไป อย่างเช่นสถานีรถไฟบ้านฉิมพลีนี้ ที่ตอนนี้กลายเป็นเพียงแค่ป้ายหยุดรถ
  
แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน ถ้าหากระบบรถไฟขนส่งมวลชนที่ตอนนี้มาสิ้นสุดที่ตลิ่งชัน เกิดในอนาคตมีการขยายเส้นทางออกมา สถานีนี้ก็อาจจะรุ่งเรืองกลับมาอีกก็ได้ เพราะมีสถานที่ราชการตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานี
 
รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๗๘ ตอนที่ ๙๕ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ เรื่อง "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องจัดตั้งสุขาภิบาลตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี" หน้า ๒๓๘๓-๒๓๘๔ ปรากฏสถานีรถไฟฉิมพลีในกรอบสี่เหลี่ยมในรูป ดูจากแผนที่แล้วจะเห็นว่าการเดินทางทางบกเข้ามายังบริเวณนี้ในเวลานั้นคงต้องอาศัยรถไฟเป็นหลัก สถานีนี้ตั้งอยู่ใกล้กับคลองมหาสวัสดิ์และยังใกล้กับจุดบรรจบของคลองบางตาลและคลองบัว ดูจากตำแหน่งการกระจายตัวของบ้านเรื่อน การที่มีสถานีตำรวจ และร้านค้าอยู่ใกล้ ๆ ก็แสดงว่าน่าในอดีตนั้นน่าจะมีคนอยู่บริเวณนี้เยอะอยู่เหมือนกัน

เมื่อวานตอนกลับบ้านเลยถือโอกาสแวะไปถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกหน่อย อันที่จริงตอนไปถึงดวงอาทิตย์ก็ลับขอบฟ้าแล้ว แต่ที่เห็นภาพมันสว่างเพราะใช้กล้องดิจิตอล (Nikon D3500) ถ่ายโดยตั้งโปรแกรม P มันก็เลยเพิ่มความไวแสงให้อัตโนมัติไปที่ ISO 25600 ภาพมันก็เลยออกมาสว่างเกินจริงไปมาก Memoir ฉบับนี้ก็ถือว่าเป็นการบันทึกสถานที่ธรรมดาแห่งหนึ่งเอาไว้ก็แล้วกัน ก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือเค้าเดิม
         
รูปที่ ๓ ป้ายบอกชื่อสถานีด้านทิศตะวันออก รูปนี้เป็นการมองไปยังเส้นทางที่มาจากสถานีศาลาธรรมสพน์ (มองไปยังทิศตะวันตก)
         
รูปที่ ๔ เดินเลยป้ายชื่อสถานีมาหน่อย ยังเหลือม้านั่งเก่า ๆ สำหรับคนนั่งรอรถไฟ กับป้ายบอกชื่อสถานีถัดไป
         
รูปที่ ๕ ป้ายบอกชื่อสถานีที่อยู่ถัดไฟ ป้ายข้างหลังที่เป็นป้ายโลหะน่าจะเป็นป้ายที่เก่ากว่าป้ายด้านหน้าที่เป็นคอนกรีต
           
รูปที่ ๖ ป้ายนี้สนิมเขรอะแล้ว ไม่รู้ว่าต่อไปจะโดนถอดออกไปขายเป็นเศษเหล็กหรือเปล่า
          
รูปที่ ๗ อาคารศาลานี้ดูแล้วน่าจะเป็นตัวที่ทำการสถานีเก่า ที่รื้อเอาผนังกั้นห้องออกไป
         
รูปที่ ๘ ข้ามมายังชานชาลาที่อยู่ตรงกลาง เดินเลยมาจนเกือบสุดชานชาลาด้านทิศตะวันตก
          
รูปที่ ๙ ระหว่างเดินกลับย้อนกลับไปทางทิศตะวันออก ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเสียหน่อย คิดว่าถ้าหากมีการตัดหญ้าให้มันเรียบร้อยไม่รก ก็น่าจะใช้เป็นสวนหย่อมพักผ่อนสำหรับผู้ที่อยู่บริเวณนั้นได้
           
รูปที่ ๑๐ อาคารเก่าที่ยังคงสภาพอยู่ ไม่รู้ว่าเป็นอาคารอะไร ดูจากการที่มันไม่มีหน้าต่างด้านข้างก็เลยสงสัยว่าเป็นห้องน้ำหรือเปล่า

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2562

สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๘ MO Memoir : Saturday 21 September 2562

"แล้ววิทยานิพนธ์มีการจำกัดการเข้าถึงด้วยหรือไม่
  
ผมถามคำถามนี้กับทางวิทยากรของมหาวิทยาลัย Tohoku เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ สิงหาคมที่ผ่านมา ในส่วนการจำกัดการเข้าถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูง พอได้เห็นปฏิกิริยาตอบสนองของเขา (ที่ต้องหันไปปรึกษาหารือกันอยู่สักพั) ก็ทำให้รู้สึกว่าคำถามนี้เป็นประเด็นใหม่สำหรับเขา หลังจากที่พวกเขาปรึกษากันเสร็จสิ้นแล้วตอบกลับมาว่า "ไม่มีการจำกัด" ทำให้ผมถามคำถามอีกคำถามตามมาคือ "แล้วใครเป็นผู้ควบคุมว่าเนื้อหาส่วนไหนที่ควรจะปรากฏในวิทยานิพนธ์" คำตอบที่ได้รับก็คือ "ขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษา"

รูปที่ ๑ กรณีนี้จะเรียกว่าเป็นกรณีสีเทาก็ได้ กล่าวคือมีนิสิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ (ที่อยู่ในรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยง) มาเรียนด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่มหาวิทยาลัย Tohoku การตรวจสอบตอนรับเข้าไม่พบว่าผู้สมัครมีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับกิจกรรมทางทหารหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง แต่เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาและกลับไปทำงาน มีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานที่แสดงให้เห็นชัดว่างานวิจัยของเขานั้นเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทหาร (ระบบป้องกันภัยทางอากาศและต่อต้านขีปนาวุธ) นอกจากนี้หลังจากที่นิสิตผู้นี้เรียนจบไปแล้ว ก็มีผู้สมัครจากจีนแผ่นดินใหญ่สมัครมาเรียนที่สาขาวิชาดังกล่าวมากขึ้น
  
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถนำมาใช้ผลิตอาวุธทำลายล้างสูงและสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้ในภาคการผลิตทั่วไปและในชีวิตประจำวัน ดังนั้นมาตรการการป้องกันจึงเน้นไปที่การควบคุมการส่งออก โดยในแง่ของภาคการผลิตก็คือการควบคุมการส่งออกสินค้า ในแง่ของภาคการศึกษาและวิจัยก็คือการควบคุมการเข้าถึงและถ่ายทอดองค์ความรู้
  
ประเทศไทยนั้นจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับประเทศญี่ปุ่น เพราะสภาพของเราในขณะนี้อยู่ในฐานะผู้รับเทคโนโลยีเป็นหลัก การวางมาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถนำมาใช้ผลิตอาวุธทำลายล้างสูงและสินค้าต่าง ๆ จึงควรที่จะเน้นไปที่การสร้างความมั่นใจให้เจ้าของเทคโนโลยีว่า มีการวางมาตรการป้องกันไม่ให้มีการส่งต่อเทคโนโลยีขั้นสูงดังกล่าวไปยังผู้รับที่ไม่เหมาะสมหรือนำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์หลัก (คือมีมาตราการป้องกันไม่ให้ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน) ซึ่งตรงนี้มันเกี่ยวข้องกันการที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนี้ในประเทศไทย การรับนักเรียน/นักวิจัยจากไทยเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่น และการลงนามการทำวิจัยร่วมระหว่างสถาบันของไทยกับญี่ปุ่นด้วย
  
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการศึกษาและวิจัยก็คือ การสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวให้กับประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีว่า งานวิจัยที่ประสงค์จะร่วมมือทำด้วยนั้น หรืออุปกรณ์ที่ต้องการเข้าถึง จะไม่มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม คำว่า "ไม่เหมาะสม" ในที่นี้หมายความเพียงแค่ตัวอาจารย์หรือนักวิจัยจะไม่มีใช้การเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงนั้นไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม แต่ยังครอบคลุมไปถึงการมีมาตรการป้องกันไม่ให้นิสิต/นักวิจัยต่างชาติ ที่มาจากประเทศ/สถาบันที่มีความเสี่ยง ที่เข้ามาทำเรียนหรือวิจัยอยู่ในสถาบัน สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้รับนิสิต/นักวิจัยต่างชาติเหล่านั้น กล่าวคือยังสามารถรับเข้ามาทำวิจัยในสถาบันได้ แต่ต้องเป็นงานวิจัยเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงนั้น

รูปที่ ๒ บทคัดย่อผลงานที่วิทยากรนำมาแสดงในรูปที่ ๑

ปัญหาของการตีความว่าการห้ามเข้าถึงของสถาบันการศึกษานั้นควรมีขอบเขตแค่ไหน ซึ่งตรงประเด็นนี้ทางแต่ละสถาบันที่ได้ไปเยี่ยมชมมาก็มีไม่เหมือนกัน (คงขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสถาบัน) ตัวอย่างเช่นกรณีหนึ่งที่วิทยากรได้ยกมาเป็นตัวอย่างคือ การสอนการใช้งานอุปกรณ์การขึ้นรูปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (คือตัวอุปกรณ์การผลิตตัวนี้เป็นสินค้าควบคุม) ในการขึ้นรูปชิ้นส่วนงานวิจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง ตรงประเด็นนี้มีการมองว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะเป็นการสอนเพียงแค่การใช้เครื่องมือ ไม่สามารถนำเอาวิธีการใช้เครื่องมือนั้นไปสร้างอุปกรณ์นั้นได้
  
แต่ถ้าเป็นการเข้าถึงซอร์ฟแวร์คอมพิวเตอร์ (ที่มีความสามารถในการสร้างแบบจำลองบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง) ที่ทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ก็น่าสนใจตรงที่ แม้ว่างานวิจัยที่นิสิต/นักวิจัยผู้นั้นทำวิจัย จะไม่ใช่งานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง แต่จะรู้ได้อย่างไรว่านิสิต/นักวิจัยผู้นั้นได้ซ่อนคำสั่งการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูงไว้ข้างใน คือให้คอมพิวเตอร์ทำงานสองงานไปพร้อม ๆ กัน โดยให้มหาวิทยาลัยเห็นเพียงแค่งานเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง
  
รูปที่ ๓ บัญชีรายชื่อประเทศที่อยู่ในกลุ่มปลอดภัย (White list) กลุ่มเสี่ยง (Non-white list) และกลุ่มที่โดนห้ามการส่งออก ที่ทางญี่ปุ่นจัดทำไว้ พึงสังเกตว่าไม่มีรายชื่อประเทศเกาหลีใต้ปรากฏ แต่สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ก็คือทางญี่ปุ่นปลดเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อใน White list และเกาหลีใต้ก็ตอบโต้แบบเดียวกัน

ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีปัญหาเรื่องการควบคุมการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทางจากภาคมหาวิทยาลัย เรียกว่าทางภาคอุตสาหกรรมนั้นเริ่มนำหน้าไปก่อนแล้วหลายปี ทางภาคมหาวิทยาลัยถึงได้ค่อยตามหลังมา สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการทำงานในมหาวิทยาลัยที่แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งนั้นอาจเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้ได้สองทางเพียงไม่กี่ชนิด ในขณะที่มหาวิทยาลัยมีการทำวิจัยที่หลากหลายกว่า (คืออาจมีทั้ง เคมี นิวเคลียร์ และชีวภาพ ในสถาบันเดียว) และบ่อยครั้งที่การส่งออกนั้นไม่ได้อยู่ในรูปของสินค้า แต่เป็นรูปขององค์ความรู้ที่อาจส่งออกในรูปของ การติดต่อทางจดหมาย/อีเมล์ การเข้าร่วมประชุมวิชาการ การตีพิมพ์บทความวิชาการ การส่งตัวอย่าง เป็นต้น
 
คำถามที่ผมนำมาเกริ่นไว้ตอนต้นเรื่องนั้น มันเริ่มมาจากกลไกการควบคุมที่มหาวิทยาลัยที่ได้ไปเยี่ยมชมนั้นได้จัดทำขึ้น กล่าวคือในกรณีที่ทางอาจารย์ต้องการไปประชุมวิชาการต่างประเทศ (หรือในประเทศ ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ) ซึ่งมักจะขอการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากทางมหาวิทยาลัย ในกรณีเช่นนี้ทางมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดให้อาจารย์ผู้นั้นต้องตรวจสอบว่างานที่จะนำไปนำเสนอนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าสองทางหรือไม่ และอาจขอสำเนาบทความที่จะไปนำเสนอมาตรวจสอบด้วยก็ได้ 
   
แต่วิธีการนี้ก็ไม่สามารถครอบคลุมไปยังการส่งบทความวิชาการไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เพราะมันเป็นการส่งไปรษณีย์ตรงไปยังบรรณาธิการวารสารฉบับนั้น และไม่จำเป็นต้องขอทุนสนับสนุนใด ๆ จากทางมหาวิทยาลัย ในการนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับตัวอาจารย์ผู้เขียนบทความเองว่าต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ โดยอาจทำการตัดทอนรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงออกไป
  
ประเด็นของคำถามที่ผมถามเขาก็คือ บทความวิชาการนั้นมันไม่มีที่ให้ใส่รายละเอียดมาก (เพราะมันมักถูกจำกัดจำนวนหน้าต่อเรื่อง) แตกต่างจากวิทยานิพนธ์ที่จะใส่เท่าใดก็ได้ (จำนวนหน้าไม่ถูกจำกัด) ในกรณีของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงของสินค้าที่ใช้ได้สองทางนั้น แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะทำการคัดกรองผู้เรียน/ผู้ที่จะมาร่วมทำวิจัย ไม่ให้ผู้ที่มาจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงเข้าทำวิจัยในงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว แต่รายละเอียดต่าง ๆ ของงานวิจัยนั้นมันมีโอกาสไปปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ของผู้เรียน (ที่อาจเป็นชาวญี่ปุ่นเอง) หรือไม่ และถ้ามันมีโอกาสไปปรากฏอยู่ตรงนั้น ทางมหาวิทยาลัยมีมาตรการใด ๆ ในการควบคุมผู้ที่สามารถเข้าไปอ่านวิทยานิพนธ์เล่มนั้นหรือไม่

รูปที่ ๔ สถาบันการศึกษาของประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ใช่ว่าจะโดนเพ่งเล็งเอาไว้ทั้งหมด มีการแยกประเภทเอาไว้เหมือนกัน และถึงแม้ว่าจะเป็นสถาบันที่มีรายชื่อในกลุ่มเสี่ยง ก็ยังมีการพิจารณาเป็นรายสาขาวิชา ไม่ได้เหมารวมหมด

ในช่วงระหว่างวันอังคารที่ ๓๐ กรกฎาคม- วันเสาร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ ผมได้มีโอกาสได้ร่วมคณะเดินทางกับกลุ่มคณาจารย์สาขาต่าง ๆ และผู้แทนจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยทุนของสถานฑูตสหรัฐอเมริกา ไปร่วม Capacity Building Workshop and Study Tour ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้นำเรื่องต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นมามาเขียนเป็นบทความชุดนี้ (ซึ่งตอนนี้เป็นตอนที่ ๘ แล้ว) หลังจากที่กลับมาแล้วก็ได้ทำบันทึกสรุปความเห็นส่วนตัวในส่วนของปัญหาและแนวทางปฏิบัติในการทำให้ มหาวิทยาลัยของไทยตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และเนื่องจากบันทึกดังกล่าวไม่ได้เป็นความลับอะไร จึงขอนำมาลงแนบท้าย Memoir ฉบับนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มันสูญหายไป ดังรายละเอียดในหน้าถัดไป
  
Capacity Building Workshop and Study Tour 
  for the Department of Foreign Trade (DFT) Thailand
Tokyo/Northern Japan, 30 July - 3 August 2019
บันทึกประสบการณ์จากการเดินทางและข้อคิดเห็นเพื่อพิจารณา
โดย รศ.ดร.ธราธร มงคลศรี
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของการเดินทางในครั้งนี้คือการเก็บรวบรวมประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ๓ แห่งด้วยกันคือ Tsukuba University, Tohoku University และ Hokkaido University ในการดำเนินการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ๒ ทาง (Duel Used Items - DUI) ในรูปแบบต่าง ๆ ตามบริบทการทำงานของสถาบันการศึกษา เช่น การให้นักศึกษา/นักวิจัยต่างชาติเข้ามาศึกษา/ทำวิจัยในสถาบัน, การที่นักวิจัยของสถาบันไปร่วมทำงานวิจัยกับสถาบันต่างประเทศหรือสถาบันมีการลงนามสัญญาความร่วมมือในการทำวิจัยกับสถาบันต่างประเทศ, การที่บุคลากรของสถาบันออกไปนำเสนอผลงานยังต่างประเทศ, การติดต่อสื่อสารส่งผ่านข้อมูลงานวิจัย/ซอร์ฟแวร์กับบุคลากรของสถาบันต่างประเทศผ่านทางระบบอีเมล์ เป็นต้น
  
บันทึกฉบับนี้เป็นบันทึก "ประสบการณ์การเดินทาง" และ "ข้อคิดเห็นที่ได้จากการเดินทางรวมกับประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อมองจากมุมมองของผู้เขียนเพียงผู้เดียว" เพื่อให้ทางคณะผู้ทำงานของกรมการค้าต่างประเทศนำไปประกอบกับบันทึกจากคณะผู้เดินทางผู้อื่น เพื่อพิจารณาดำเนินการตามสมควรต่อไป

. รูปแบบการทำงานของสังคมญี่ปุ่น

สังคมญี่ปุ่นจัดว่าเป็นสังคมที่มีระเบียบวินัยสูง มีการฝึกให้แต่ละบุคคลต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ดังนั้นกิจกรรมใด ๆ ที่แม้ว่าจะทำให้การทำงานส่วนตัวนั้นมีความยุ่งยากมากขึ้น แต่ถ้าเป็นการทำงานนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผู้ปฏิบัติงานก็พร้อมที่จะปฏิบัติ
  
ดังนั้นรูปแบบการทำงานของประเทศญี่ปุ่นที่ให้บุคลากรมหาวิทยาลัยแต่ละคน ทำการตรวจสอบตนเองก่อนว่างานที่กำลังจะทำนั้นเกี่ยวข้องกับสินค้า ๒ ทางหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยดำเนินการแจ้งให้หน่วยงานกลางทราบ จึงเป็นรูปแบบที่สามารถทำได้ และ รูปแบบการทำงานที่ทั้ง ๓ มหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นนำเสนอให้คณะผู้เดินทางได้รับทราบต่างก็เป็นรูปแบบนี้
  
แต่รูปแบบการทำงานแบบนี้จะไม่เหมาะกับสังคมที่บุคคลส่วนใหญ่มองเห็นความสะดวกสบายส่วนตัวที่ต้องมาก่อน หรือการใช้ข้ออ้างเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ที่อาจจะมีอาจารย์จำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการควบคุมนี้ จะทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือ (ถ้าไม่มีการบังคับ) หรือมีโอกาสสูงที่ผลการตรวจสอบนั้นจะออกมาเป็นไม่เกี่ยวข้อง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในช่วงแรกของการทำงานที่มีโอกาสจะใช้ข้ออ้างว่าตรวจสอบแล้วไม่พบเนื่องด้วยความไม่รู้ (ดังที่ผู้บรรยายรายหนึ่งกล่าวว่า ถ้าประเทศญี่ปุ่นมีการควบคุมที่เง้มงวดมากที่สุด ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการควบคุมที่หละหลวมมากที่สุด)


. ความท้าทายในการทำให้มหาวิทยาลัยของไทยตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินการเรื่องนี้

ถ้าใช้รูปแบบการทำงานจะสามารถแบ่งมหาวิทยาลัยของไทยออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่เน้นงานวิจัย และ กลุ่มที่เน้นการเรียนการสอน และถ้าใช้เกณฑ์พิจารณาจากสาขาที่แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดการสอน ก็ยังอาจจำแนกมหาวิทยาลัยออกได้เป็น ๓ กลุมคือ กลุ่มที่เปิดการเรียนการสอนสายวิทยาศาสตร์เป็นหลัก, กลุ่มที่เปิดการเรียนการสอนสายสังคมศาสตร์เป็นหลัก และกลุ่มที่เปิดการเรียนการสอนในสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
  
สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการได้มาซึ่งตัวผู้บริหารมหาวิทยาลัย และแนวความคิดในการกำหนดทิศทางการทำงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นไปได้ที่จะมีการมองความสำคัญของเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่เกี่ยวข้อง, เป็นเรื่องที่สร้างงานสร้างภาระเพิ่มมากขึ้นโดยไม่เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจน หรือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องดำเนินการ และยังส่งผลต่อความต่อเนื่องของการทำงาน เพราะเมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร นโยบายการทำงานก็มักจะเปลี่ยนไปด้วย และการจะให้ทางมหาวิทยาลัยจัดให้มีหน่วยงานทำงานนี้เพิ่มเติม ย่อมทำให้ทางมหาวิทยาลัยมองว่าต้องมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้น
  
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ได้แก่ การตรวจประเมินคุณภาพสถาบันการศึกษาโดยหน่วยงานตรวจประเมินภายนอก ที่จะส่งผู้ตรวจประเมินภายนอกมาทำการตรวจประเมิน ที่การทำงานมีปัญหาทั้งจากภายในตัวมหาวิทยาลัยเองในการหาบุคลากรมาทำงานและการได้รับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในสถาบันด้วยกัน (โดยเฉพาะเรื่องการให้ข้อมูล) และจากตัวผู้ตรวจประเมินและรูปแบบการทำงานของสถาบันที่ทำการตรวจประเมิน
  
ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่เน้นไปที่งานวิจัยเป็นหลักนั้น ในส่วนของอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีการว่าจ้างทำงานเป็นช่วงสั้น ๆ นั้น (เช่น ๓-๕ ปีต่อการจ้าง ๑ ครั้ง) การได้ต่อสัญญาการจ้าง, การได้เลื่อนตำแหน่ง และผลตอบแทนที่จะได้รับ ขึ้นอยู่กับผลงานวิจัยหรือจำนวนบทความที่มีการตีพิมพ์เป็นหลัก ดังนั้นการที่ต้องมาทำงานในส่วนที่ไม่ใช่งานวิจัย จะทำให้เกิดการมองว่าเป็นภาระงานที่ไม่ช่วยเสริมความมั่นคงในหน้าที่การทำงาน ดังนั้นการเข้ามารับผิดชอบงานด้านนี้จึงมีโอกาสสูงที่ยากจะหาผู้ทำงานหลัก เว้นแต่ทางมหาวิทยาลัยจะให้ความมั่นใจในการต่อสัญญาจ้างงาน
  
ทางผู้บริหารและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ถูกส่งตัวมารับฟังเรื่องนี้มักมีการเปลี่ยนคนอยู่เป็นประจำ ข้อมูลขาดการส่งต่อ ดังนั้นการจะให้ความรู้กับบุคลากรของมหาวิทยาล้ยแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องมีการเริ่มต้นปูพื้นกันใหม่ ว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร (เช่น Australia Group (AG), Nuclear Suppliers Group (NSG), Missile Technology Control Regime (MTCR), Wasseanaar Arrangement (WA) คืออะไรและสำคัญอย่างไร) และผู้บรรยายควรต้องระมัดระวังเรื่องการใช้คำย่อ (ไม่ว่าจะเป็นในเอกสารหรือคำพูดที่ใช้ในการบรรยาย) เพราะจะทำให้ผู้ฟังที่เพิ่งจะเข้ามารับฟังนั้นไม่เข้าใจว่ากำลังพูดถึงอะไร ปัญหาเรื่องผู้บรรยายใช้คำย่อจนติดปากแล้วส่งผลให้ผู้ฟังไม่เข้าใจเนื้อหานั้น เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ง่ายเป็นประจำ
  
เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลากหลายสาขาวิชา และผู้เข้าฟังมีพื้นความรู้ที่หลากหลาย ดังนั้นการยกตัวอย่างจึงควรที่จะพยายามให้ผู้ฟังที่มีความรู้ต่างกันได้เห็นความสำคัญ เช่นตัวอย่างควรมีทั้งทางด้าน วิศวกรรมศาสตร์ (เช่นวิศวกรรม ไฟฟ้า, สื่อสาร, เคมี, การวัดคุม, การขึ้นรูปชิ้นงาน ฯลฯ), วิทยาศาสตร์ (จุลชีววิทยา, คณิตศาสตร์, คอมพิวเตอร์, วัสดุศาสตร์ ฯลฯ), การแพทย์ และเภสัชกรรม
  
สำหรับมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องการสอนเป็นหลัก หรือการเรียนการสอนส่วนใหญ่อยู่ในสาย สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ อาจมองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องสนใจเรื่องนี้
  
การนำเสนอภาพตรงจุดนี้จึงจำเป็นต้องให้ทั้งระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัย (ที่อาจเป็นอาจารย์ทางด้านสายสังคมศาสตร์หรือสายวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้ทำวิจัยมาเป็นเวลานานแล้ว ที่อาจคำนึงถึงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก) และอาจารย์ในสายวิทยาศาสตร์ (กายภาพ/ชีวภาพ) และวิศวกรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้อง ให้เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร สำคัญอย่างไร และสามารถส่งผลกระทบต่องานวิจัยได้อย่างไร

ดังนั้นจึงอาจต้องมีวิธีการที่เหมาะสมสำหรับแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้ทั้งผู้บริหารและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เช่นอาจเริ่มด้วยการทำการประชาสัมพันธ์ (เช่นทางสื่อออนไลน์) เพื่อให้ได้ยินคำว่า "สินค้า ๒ ทาง" ทำนองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คุณอาจไม่รู้ และส่งผลกระทบต่อการทำงานโดยที่ไม่รู้ตัว เช่นการไม่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยต่างชาติ ที่เห็นว่ามหาวิทยาลัยทางฝั่งไทยไม่มีมาตรการรองรับ หรือการที่สั่งสินค้าที่เข้าข่าย แต่ผู้ประมูลได้ไม่สามารถนำส่งสินค้าได้ หรือต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบประวัติของผู้รับสินค้าไปใช้โดยหน่วยงานของประเทศต้นทาง จากนั้นจึงค่อยจัดการบรรยาย

. ตัวอย่างการปูพื้นฐานแนวทางการให้ความรู้เรื่องสินค้า ๒ ทาง

มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธและการทหาร) อุปกรณ์วัดคุมในห้องวิจัยทั่วไป รวมทั้งเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันในครัวเรือน ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ก็สามารถนำไปใช้ในการผลิตอาวุธทำลายล้างสูงได้
  
คำ "เทคโนโลยีขั้นสูง" ที่จะกล่าวต่อไปนี้หมายถึง วัสดุ/อุปกรณ์/เครื่องจักร/สารเคมี/สารออกฤทธิ์จากพืช/เชื้อจุลภาค ที่ปรากฏอยู่ใน EU list
  
การให้คำจำกัดความสินค้า ๒ ทาง (Dual Used Item - DUI) ต้องทำให้ผู้ฟังเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ใช้ได้ทั้งการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ทั่วไป และสามารถนำใช้ในการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง (นิวเคลียร์ เคมี ชีวภาพ) โดยเป็นส่วนที่ไม่ได้อยู่ใน การควบคุมของทางทหาร ไม่ได้เป็น สารเคมีทางการเกษตร, อาหาร หรือยา
  
โดยความหมายของ "การผลิต" ตรงนี้ควบคุมไปถึง "งานวิจัย" ด้วย
  
เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้มีทั้งสิ่งที่จับต้องได้ (tangible) และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (intangible)
  
ตัวอย่างของเทคโนโลยีขึ้นสูงที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ได้แก่ วัสดุต่าง ๆ เช่น โลหะ โลหะผสม เซรามิก พอลิเมอร์ (พวกความแข็งแรงสูง ทนการกัดกร่อน ทนอุณหภูมิ ฯลฯ), อุปกรณ์/เครื่องจักรขนาดใหญ่ (ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต ที่สามารถขึ้นรูปชิ้นงานขนาดใหญ่หรือมีความแม่นยำความเที่ยงตรงสูง), อุปกรณ์/เครื่องจักรขนาดเล็ก (ที่เกี่ยวข้องกับการวัด การควบคุม การผลิต/งานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ), สารเคมี สารพิษจากพืช/สัตว์ เชื้อจุลชีพ
  
ตัวอย่างของเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (intangible) ได้แก่ องค์ความรู้และซอร์ฟแวร์ (เช่น เทคนิคในการผลิต ซอร์ฟแวร์จำลองกระบวนการต่าง ๆ ซอร์ฟแวร์การเข้ารหัส)
  
โดยเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้มีการพิจารณาแยกเป็นกลุ่ม ๆ (AG, NSG, MTCR) ก่อนจะมีการนำมารวมกันและจัดทำเป็น EU List ที่มีการจัดกลุ่มเป็นหมวดหมู่ใหม่ ซึ่งเอาสิ่งที่มีซ้ำกันในกลุ่มที่มีการพิจารณาแยกกันนั้น มาจัดรวมให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน (เช่นเอาสิ่งที่เป็นวัสดุที่ยังไม่นำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้งานได้ มารวมอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน ทำให้หมวดหมู่วัสดุมีได้ทั้ง วัสดุสำหรับงานนิวเคลียร์ งานเคมีทนการกัดกร่อนสูง งานโครงสร้างที่ต้องการความแข็งแรงสูง) โดยประเทศผู้จัดทำรายการเป็นชาติมหาอำนาจทางตะวันตก หรือเป็นพันธมิตรกับชาติมหาอำนาจทางตะวันตกเป็นหลัก
  
สำหรับประเทศที่ครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ ในฐานะผู้ส่งออกเทคโนโลยี สิ่งที่เขาต้องการก็คือ ต้องการความมั่นใจว่าผู้รับนั้นจะไม่นำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือส่งต่อให้กับผู้อื่นที่อาจนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
  
หมายเหตุ : สิ่งที่เป็นความรู้ ซอร์ฟแวร์ ข้อมูลต่าง ๆ สามารถส่งออกได้ในรูปแบบ การสอนหนังสือ การส่งทางอีเมล์ การประชุมวิชาการ หรือการตีพิมพ์เผยแพร่
  
การควบคุมการส่งออกของประเทศญี่ปุ่นไปยังเกาหลีใต้ ที่เป็นปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศในขณะนี้ ก็เกิดจากการที่ญี่ปุ่นใช้กฎหมายนี้ระบุให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าจับตา

สำหรับประเทศที่ในขณะนี้อยู่ในฐานะผู้รับ เพื่อที่จะทำให้ผู้ส่งออกนั้นส่งมอบเทคโนโลยีขั้นสูงได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการและการปฏิบัติที่จริงจัง เพื่อทำให้ผู้ส่งมอบมั่นใจว่าจะไม่นำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือส่งต่อให้กับผู้อื่นที่อาจนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม มีการควบคุมการใช้งานสินค้าที่ได้รับมาไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมทั้งการป้องกันไม่ให้มีการส่งต่อ (ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสิ่งของหรือส่งออกข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์) ดังนั้นการมีมาตรการป้องกันจะเป็นการช่วยให้เจ้าของเทคโนโลยีมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นทางผ่านของการส่งออกสินค้า ๒ ทาง
  
โดยในประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายควบคุมสินค้า ๒ ทาง และจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ ที่จะถึงนี้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูงมีความมั่นใจว่า เขาสามารถมาลงทุนภาคการผลิต/ส่งออกอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มายังประเทศไทยได้ โดยจะไม่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือส่งต่อไปยังผู้รับที่ไม่เหมาะสม

. แนวทางการสร้างความเข้าใจเรื่องของการควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย

เรื่องนี้ไม่ครอบคลุมการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี เพราะถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะทั่วไปอยู่แล้ว แต่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในระดับปริญญาโท-เอก ที่มีการทำวิทยานิพนธ์และมีการทำการทดลอง โดยอาจารย์ในส่วนของไทยเองนั้นที่ต้องการการทำวิจัยร่วมสถาบันที่เป็นผู้ครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูง ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ในแง่ของ
  
- การนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูง (อุปกรณ์/ซอร์ฟแวร์) จากสถาบัน/ผู้ผลิตต่างประเทศ
- การเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง (อุปกรณ์/ซอร์ฟแวร์) ในสถาบันต่างประเทศ
- การสร้างความร่วมมือในการทำวิจัยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขึ้นสูง
  
แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทย/สถาบันการศึกษาในประเทศไทย จะไม่ได้ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อเฝ้าระวัง แต่ในอนาคตอันใกล้ มหาวิทยาลัยมีโอกาสที่จะได้รับความเสียหาย หากไม่มีการออกมาตรการควบคุม โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะไม่สามารถไปศึกษาต่อด้านที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศที่มีการควบคุมได้ และมีโอกาสที่จะทำให้ไม่สามารถทำงานวิจัยร่วมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกับประเทศที่มีการควบคุมได้
  
การมีมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ความมั่นใจกับสถาบันต่างชาติที่มีถึงเทคโนโลยีขั้นสูงในการทำวิจัยร่วมกับประเทศไทย ว่าถ้ายอมให้ผู้เรียนจากประเทศไทยหรือบุคลากรจากมหาวิทยาลัยไทยเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ก็จะไม่มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด หรือส่งต่อ เช่นด้วยการสอนนิสิต (ระดับโท-เอก) การทำวิจัยร่วมกับนักวิจัย ที่มาจากประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อต้องเฝ้าระวัง
ตัวอย่างที่ทางมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นนำเสนอต่อคณะผู้เดินทางคือ สิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นกระทำเมื่อมีนักเรียนต่างชาติสมัครเข้าเรียนและ/หรือนักวิจัยต่างชาติสมัครไปทำวิจัย ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการของ
  
- การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของประเทศที่มา สถาบันที่จบมา รวมไปทั้งแหล่งผู้ให้ทุน
- การติดตามการทำงานของผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว (กรณีศึกษาของTohoku University)
- การมีหน่วยงานกลางเป็นผู้จัดทำรายชื่อ และให้ทุกมหาวิทยาลัยใช้รายชื่อเดียวกัน
- แต่ทั้งนี้ควรต้องมีการพิจารณาเป็นบางสาขาวิชาด้วย ไม่ใช่การเหมารวม (เพราะสาขาด้านสายศิลปส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้มีการทดลองหรือใช้อุปกรณ์วิทยาศาตร์ภาคสนาม) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้า ๒ ทาง


. ประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบ ที่ยังต้องนำมาพิจารณา และประสบการณ์ของทางประเทศญี่ปุ่น

เนื้อหาในส่วนนี้เป็นการรวบรวมประเด็นปลีกย่อยต่าง ๆ ที่รวบไว้ในระหว่างการเดินทาง ที่มีทั้งประเด็นคำถามที่ทางมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นนั้นยังมีแนวความคิดที่แตกต่างกัน แต่ก็จำเป็นต้องออกแบบหามาตรการรองรับว่า ถ้าเกิดขึ้นจะให้ปฏิบัติอย่างไร

.๑ การเผยแพร่ผลงานวิจัย

ในกรณีของการนำเสนอผลงานต่างประเทศ ทางมหาวิทยาลัยมักจะสามารถขอตรวจสอบสิ่งที่จะนำไปเสนอได้ เพราะผู้จะไปนำเสนอมักจะขอทุนให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยออกค่าใช้จ่าย
  
แต่การนำเสนอผลงานในที่ประชุมที่มีนักวิจัยจากประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีเข้าร่วมด้วย หรือการนำเสนอผลงานที่อาจเป็นในประเทศของตน หรือประเทศในกลุ่มที่มีข้อตกลงร่วมกัน แต่มีผู้เข้าร่วมที่มาจากประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง ควรต้องมีมาตรการอย่างไร
   
การส่งบทความไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เป็นการติดต่อโดยตรงระหว่างผู้ทำวิจัยกับสำนักพิมพ์ ไม่จำเป็นต้องผ่านมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะให้มีการตรวจสอบหรือไม่อย่างไร หรือให้อยู่ในดุลพินิจของผู้เขียน
  
ในการทำวิจัยนั้น อาจป้องกันไม่ให้ผู้เรียนที่มากจากประเทศที่เฝ้าระวังเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้ แต่สำหรับผู้เรียนที่เข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้ สิ่งเหล่านี้อาจไปปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ที่ส่งมอบให้กับทางมหาวิทยาลัย และไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้ ในกรณีเช่นนี้มหาวิทยาลัยจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร
ในกรณีที่งานวิจัยนั้นเกี่ยวข้องกับสินค้า ๒ ทาง ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบเนื้อหาที่เขียน และวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้หรือไม่
  
สำหรับประเทศไทยนั้น ในแต่ละศาสตร์นั้นอาจมีอาจารย์รู้เรื่องเพียงผู้เดียวในมหาวิทยาลัย ดังนั้นอาจารย์คนดังกล่างต้องรับหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองผลงานของตนเองว่าเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย แต่ถ้าอาจารย์คนดังกล่าวไม่มีประสบการณ์หรือเกิดความไม่แน่ใจ จะสอบถามไปได้ที่ใคร

.๒ การดัดแปลงเพื่อไม่ให้เข้าข่ายและการตรวจสอบการดัดแปลง

การดัดแปลงตรงนี้คือการดัดแปลงคุณสมบัติสินค้าเพื่อไม่ให้เข้าข่ายรายการควบคุม แต่สามารถทำให้กลับกลายเป็นสินค้าที่เข้าข่ายรายการควบคุมได้ด้วยการดัดแปลง/แก้ไข ส่วนที่ไม่มีความสำคัญหลัก เพียงเล็กน้อยหรือทำได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่น
  
- การปนเปื้อนด้วยสารบางชนิด เพื่อไม่ให้มีความเข้มข้นหรือคุณสมบัติตามที่กำหนด แต่ทางผู้รับสามารถแยกเอาสิ่งที่ปนเปื้อนเข้าไปนั้นออกได้ง่าย
- การแทนที่ชิ้นส่วนบางชิ้นที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญและสามารถหาได้ทั่วไป เพื่อไม่ให้ตัวสินค้าทั้งชิ้นเป็นสินค้าควบคุมที่ประเทศต้นทางเนื่องจากการมีคุณสมบัติบางข้อไม่เข้าเกณฑ์เพื่อที่จะส่งออกโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ แต่ทางผู้รับสินค้าสามารถนำชิ้นส่วนนั้นออกและแทนที่ด้วยชิ้นส่วนใหม่ได้ง่าย ทำให้สินค้าชิ้นนั้นกลายเป็นสินค้าควบคุมได้ที่ประเทศปลายทาง (เช่นการเคลือบผิวด้วยวัดสุอื่น เพื่อให้ผิวชั้นนอกสุดไม่เข้าเกณฑ์ แต่สามารถกำจัดผิวชั้นนอกสุดออกได้ง่าย)
  
คำตอบของคำถามเรื่องการปนเปื้อนหรือแทนที่นี้ ทางผู้แทนจากหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า ต้องดูที่ "เจตนา" ของการกระทำดังกล่าว แต่จะพิสูจน์ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดย "เจตนา" หรือไม่นั้น จะทำอย่างไร
  
- ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะการตรวจสอบนั้นจำเป็นต้องทราบรายละเอียดการทำงาน/การออกแบบสินค้าชิ้นนั้น (ปัญหาเรื่องความลับทางการค้า) ผู้ขายสินค้าเองมีแรงกระตุ้นที่ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ขายได้ การมีมาตรการควบคุม/จำกัดการส่งออกถือได้ว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าดำเนินการ อุปสรรคในการจำหน่าย
- ประเด็นเรื่องสินค้าที่พิจารณาในแง่การใช้งานที่มันออกแบบมาแล้ว ไม่น่าจะเป็นสินค้าควบคุม แต่ไปปรากฏรายชื่อว่าถูกควบคุมด้วยรายการอื่นที่มองเผิน ๆ แล้วไม่น่าจะสัมพันธ์กัน ในกรณีเช่นนี้จะหามาตรการใดในการช่วยเหลือการตรวจสอบ (ตัวอย่างเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่ใช้ในการระบายความร้อนออกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลัง ที่สามารถนำไปใช้ระบายความร้อนในกระบวนการผลิตอาวุธเคมีได้)
- การตรวจสอบสิ่งที่เป็นซอร์ฟแวร์ที่ติดมากับอุปกรณ์ที่ซื้อมาประกอบเป็นสินค้าสุดท้าย จะกระทำได้อย่างไร ถ้าผู้พัฒนาซอร์ฟแวร์นั้นไม่ให้ความร่วมมือ

.๓ การสุ่มตรวจสินค้า/เทคโนโลยีที่มีการส่งออกและที่นำเข้า และการมีอยู่

- ใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการสุ่มตัวอย่างสิ่งค้าที่ส่งออก (กระทรวงพาณิชย์จะรับหน้าที่นี้หรือไม่) และใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ (ซึ่งคงต้องเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทางด้านเครื่องมือ แต่ไม่อยู่ในสายการบังคับบัญขาของกระทรวงพาณิชย์)
- การจัดทำประวัติการใช้งานเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันการศึกษาที่มีผู้เรียนมาจากหลากหลายสถานที่ ควรจะมีหรือไม่ ในระดับไหน
- การตรวจสอบการคงอยู่ของเทคโนโลยีที่มีการรับเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือซอร์ฟแวร์ ที่ล้าสมัย และการจัดการกับสิ่งที่ต้องการแทนที่ไม่ต้องการใช้ประโยชน์แล้ว

.๔ การอุทธรณ์คำสั่งห้ามการส่งออก

- ใครจะเป็นผู้พิจารณาว่าสินค้านั้นเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย และถ้าให้ทางผู้ส่งออกเป็นผู้พิจารณาเอง ใครจะทำหน้าที่สุ่มตรวจรายการสินค้าที่ทางผู้ส่งออกพิจารณาว่าไม่เข้าข่าย
- โครงสร้างทางกฎหมายและการอุทธรณ์ความเห็นต่างของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน
- สมมุติว่าการส่งออกของผู้ส่งออกไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยราชการ ผู้ส่งออกจะสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งห้ามดังกล่าวนั้นได้ที่ใคร ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น ผู้พิจารณาการร้องอุทธรณ์ยังเป็นหน่วยงานรัฐอยู่ แต่ในกรณีของประเทศไทยนั้น เนื่องจากคำสั่งห้ามเป็นคำสั่งปกครอบ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ ผู้ส่งออกทำการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความคุ้มครอง (คือการขอให้คำสั่งห้ามยังไม่มีผลบังคับใช้)
- ในกรณีที่ศาลให้ความคุ้มครอง ทำให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกสินค้าได้ แต่ต่อมาภายหลังมีการพิสูจน์ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าต้องห้าม จะไม่สามารถเรียกคืนกลับได้ ในกรณีเช่นนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดขอบ
- ในกรณีที่ศาลไม่ให้ความคุ้มครอง ทำให้ผู้ส่งออกส่งออกสินค้าไม่ได้ แต่ต่อมาภายหลังมีการพิสูจน์ว่าสินค้านั้นไม่ได้เป็นสินค้าต้องห้าม ทำให้ผู้ส่งออกได้รับความสูญเสีย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
- กระบวนการพิจารณาตรงนี้อาจกินระยะเวลานาน


.๕ การเปลี่ยนแปลงสถานะของประเทศ/สถาบันการศึกษา ของนิสิต/นักวิจัยที่เข้ามาทำวิจัย

- สมมุติว่าตอนสมัครเข้าเรียนนั้น ประเทศ/สถาบัน ที่ผู้สมัครจบมาหรือจะกลับไปทำงานนั้นไม่ได้ปรากฏอยู่ในรายชื่อต้องเฝ้าระวัง จะทำให้สามารถรับผู้สมัครเข้าทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงได้
- แต่ถ้าในระหว่างการทำวิจัยนั้น มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของประเทศ/สถาบันของผู้สมัครรายนั้น จะต้องทำอย่างไร
- ถ้ายังไม่เริ่มทำวิจัย หรือเพิ่งจะเริ่ม ก็อาจแก้ด้วยการเปลี่ยนแปลงหัวข้อวิจัยหรือขอบเขตงาน
- แต่ถ้าเป็นการวิจัยที่ผู้เรียนใกล้จะสิ้นสุดเพื่อจะสำเร็จการศึกษาแล้ว ควรจะต้องทำอย่างไร
- ตัวอย่างเช่นกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นปรับรายชื่อประเทศเกาหลีใต้ให้ไปอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง

.๖ ใครจะเป็นผู้วางระบบการตรวจสอบให้กับมหาวิทยาลัย

- ให้แต่ละมหาวิทยาลัยดำเนินการเอง ซึ่งไม่น่าจะทำได้ เพราะผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้มีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัย
- สร้างแผนผังการทำงานที่เป็นตัวอย่างกลางขึ้นมาก่อน แล้วค่อยทำการปรับเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่ได้รับ โดยอาจให้อิสระแต่ละมหาวิทยาลัยในการแก้ไข
- มหาวิทยาลัยอาจมองได้ว่าเป็นส่วนที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และไม่เห็นความสำคัญ โดยเฉพาะฝ่ายคณาจารย์ที่อาจมองว่าเป็นอุปสรรคในการตีพิมพ์หรือรับนิสิต หรือขอทุนเพื่อเดินทางไปประชุมวิขาการต่างประเทศ
- ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละมหาวิทยาลัยที่แตกต่างกัน และมุมมองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการให้ความสำคัญของงานนี้ (ภาระเพิ่มขึ้นที่มองเห็นได้ชัดว่ามีค่าใช้จ่ายและสร้างอุปสรรคในการทำงาน ในขณะที่ผลตอบแทนที่จะได้รับกลับเห็นไม่ชัด ยากที่จะประเมิน เนื่องจากงานวิจัยที่เข้าข่ายนั้นอาจเป็นส่วนที่น้อยมาก)
- การตรวจสอบการควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านั้นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแต่ละสถาบันการศึกษา (ให้มหาวิทยาลัยทำการตรวจสอบภายในด้วยตนเอง หรือมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยอื่น ที่มีการวางมาตรการร่วมกัน และใช้แนวปฏิบัติเดียวกัน เข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบด้วย)

.๗ การบังคับทางอ้อมให้ทางมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการ

- การบังคับผ่านผู้บังคับบัญชาโดยตรงของมหาวิทยาลัย (รัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการลงมายังอธิการบดี)
- สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหรืออยู่ในกำกับของรัฐ หรือบริษัทเอกชน ที่เป็นผู้ที่ให้ทุนวิจัย/ร่วมทำวิจัย ให้เห็นความสำคัญของปัญหานี้ เพื่อที่จะได้นำไปเป็นข้อกำหนดในการรับทุนว่า ผู้จะรับทุนวิจัย/ร่วมทำวิจัย (โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์) ได้นั้นจำเป็นต้องมาจากสถาบันที่มีการวางมาตรการในเรื่องนี้และมีการนำมาปฏิบัติการจริง และต้องได้รับการยืนยันจากระดับผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยว่า งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือเกี่ยวข้อง แต่ทางมหาวิทยาลัยมีระบบการตรวจสอบดูแลที่รัดกุม และต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบถ้าหากเกิดความผิดพลาดขึ้น